ทอง กันทาธรรม เป็นอดีตรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ 5 สมัย สังกัดพรรคชาตินิยม และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวของพรรคชาตินิยมที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายแพร่[1][2][3]

ทอง กันทาธรรม
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
31 สิงหาคม – 17 กันยายน พ.ศ. 2488
นายกรัฐมนตรีทวี บุณยเกตุ
ดำรงตำแหน่ง
17 กันยายน พ.ศ. 2488 – 31 มกราคม พ.ศ. 2489
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
1 ธันวาคม พ.ศ. 2489 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490
นายกรัฐมนตรีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
30 พฤษภาคม – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
นายกรัฐมนตรีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 เมษายน พ.ศ. 2454
อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
เสียชีวิต17 กันยายน พ.ศ. 2526 (72 ปี)
พรรคการเมืองชาตินิยม

ประวัติ

แก้

ทอง กันทาธรรม หรือเป็นที่รู้จักว่า ''พ่อเลี้ยงทอง'' เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2454 ที่อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่[4] เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของนายเทพ กันทาธรรม กับนางศรีเวย กันทาธรรม บิดามีเชื้อสายเจ้านายของเมืองเชียงแสน ส่วนมารดาสืบเชื้อสายจากเจ้านายของพวกไทลื้อ มีพี่ชายเติบโตมาด้วยกันคือ นายอุทัย หรือพ่อเลี้ยงอุทัย กันทาธรรม และน้องชายคือ นายสม หรือพ่อเลี้ยงสม กันทาธรรม เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 7 จากนั้นจึงย้ายเข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 เข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3]

การทำงาน

แก้

รับราชการ

แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2477 ทอง กันทาธรรม เข้าทำงานประจำที่แผนกตรวจสอบเรื่องและความเห็น สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี จากนั้นย้ายไปประจำที่แผนสัญญาทางพระราชไมตรี กองการต่างประเทศ กรมมหาดไทย กระทั่งในปี พ.ศ. 2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ทำงานได้เพียง 9 เดือน ก็ลาออกจากราชการเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[3]

ฝ่ายนิติบัญญัติ

แก้

ทอง กันทาธรรม เป็นนักการเมืองชาวจังหวัดแพร่ เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง ต่อมาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคสหชีพ[5]

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้รับเลือกตั้งในนามพรรคชาตินิยม ซึ่งในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวของพรรคชาตินิยมที่ได้รับเลือกตั้ง

ทอง กันทาธรรม เคยตั้งกระทู้ถามกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับอำนาจในการออกหมายค้น เมื่อปี พ.ศ. 2482[6]

ฝ่ายบริหาร

แก้

ทอง กันทาธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นาวาเอก บุง ศุภชลาศัย) ในปี พ.ศ. 2487[3] และเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวงในปี พ.ศ. 2488 ในรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ[7] และรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช[8] และในรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ยศขณะนั้น)[9] และในปี พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย[10][11]

การต่อสู้ทางการเมือง

แก้

ทอง กันทาธรรม ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และเขาต้องรับโทษจำคุกถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเวลา 100 วัน ครั้งที่สองเป็นเวลากว่า 2 เดือน และครั้งที่สามเป็นเวลา 20 วัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์สังหารรัฐมนตรีที่เคยร่วมงานกับขบวนการเสรีไทย คือ ถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ส่งผลให้นายทอง กันทาธรรม ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองยองห้วย เขตเชียงตุง ประเทศพม่า จนเหตุการณ์คลี่คลายขึ้น นายทอง กันทาธรรม จึงกลับมาสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง[3]

อ้างอิง

แก้
  1. พิพิธภัณฑ์เสรีไทย[ลิงก์เสีย]
  2. แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 สถาบันพระปกเกล้า. นักการเมืองถิ่นจังหวัดแพร่ กรุงเทพ : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. 2555
  4. "รักชาติแรงกล้านายทอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-25. สืบค้นเมื่อ 2018-07-16.
  5. [1]
  6. กระทู้ถามที่ ๒๖๒/๒๔๘๑ ของนายทอง กันทาธรรม ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เรื่อง การออกหมายค้น
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๙ ราย)
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)
  9. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (นายทอง กันทาธรรม)
  10. "ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2018-07-14.
  11. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)