ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2492) เป็นนักการเมือง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานีอดีตรัฐมนตรี[1] ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี "พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว" ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์[2]
ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | |
นายกรัฐมนตรี | ปรีดี พนมยงค์ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | สงวน จูฑะเตมีย์ |
ถัดไป | หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | |
ดำรงตำแหน่ง 6 กุมภาพันธ์ – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 | |
นายกรัฐมนตรี | ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ |
ถัดไป | พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนะวณิชย์) |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี | |
ดำรงตำแหน่ง 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | |
เขตเลือกตั้ง | เขต 1 (2476,2480) เขต 2 (2481) เขต 3 (2489) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 (42 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | สหชีพ |
คู่สมรส | เจ้าศิริบังอร ณ จำปาศักดิ์ |
บุตร | 9 คน |
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็น 1 ใน 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถูกสังหารโหดเมื่อปี พ.ศ. 2492[3] ที่ ทุ่งบางเขน เมื่อปี พ.ศ. 2492 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยสาเหตุทางการเมือง ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอีสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง สิริอายุ 42 ปี
ประวัติ
แก้นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ที่บ้านหนองยาง ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรคนที่สามของนายชูและนางหอม มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 4 คน บิดามารดาประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย
ทองอินทร์ใช้ชีวิตคู่สมรสกับ เจ้าศิริบังอร ณ จำปาศักดิ์ มีบุตรด้วยกัน 9 คน จึงมีความเกี่ยวดองเป็นเขยของตระกูลเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ในประเทศลาวด้วย
การศึกษา
แก้- ประกาศนียบัตรชุดครูมัธยม
- เนติบัณฑิตไทย
การรับราชการ
แก้- พ.ศ. 2467 เป็นครูน้อยโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ต่อมาได้เลื่อนเป็นครูใหญ่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2477) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาได้รับพระราชทานยศทางพลเรือนเป็นรองอำมาตย์ตรี (เทียบเท่านายร้อยตรีทหารบก)[4]
- พ.ศ. 2483 โอนไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งเลขานุการ มณฑลนครราชสีมา
ตำแหน่งสุดท้ายทางราชการคือเป็นนายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลังจากนั้นจึงลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2476 เพื่อมาสมัครเป็นผู้แทนราษฎรของ จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2476[5][6][7]
งานการเมือง
แก้- ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี
- เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับคัดเลือกทุกสมัยที่ลงสมัคร สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล
- เป็นรัฐมนตรี 6 สมัย[8][9]
- ตั้งโรงเรียนศรีทองวิทยาและวิไลวัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ของเอกชนที่สำคัญใน จังหวัดอุบลราชธานี ในอดีต
- ผลงานเด่นคือ การพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชนในภาวะคับขัน หรือที่เรียกกันในเวลานั้นว่า "พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว" เพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้พ่อค้าเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ฝ่ายรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ในเวลานั้นจะไม่เห็นด้วยกับหลักการในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่มีมาตรการที่จะควบคุมราคา แต่ในที่สุดฝ่ายรัฐบาล ก็แพ้โหวตในสภาฯ ที่รับหลักการด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง และทำให้รัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ หลังจากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
การเสียชีวิต
แก้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคสหชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ภายหลังการ รัฐประหารใน พ.ศ. 2490 และเหตุการณ์ กบฏวังหลวง นักการเมืองฝ่ายนายปรีดี ที่อยู่ในประเทศก็ถูกฝ่ายรัฐบาล ดำเนินการกวาดล้างอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงนายทองอินทร์ด้วย
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมกับ อดีตรัฐมนตรีอีสานอีก 2 คน คือ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง รวมทั้ง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายปรีดีที่ถูกจับมาในอีกคดีหนึ่ง) ก็ถูกนำตัวไปสังหารที่บริเวณทุ่งบางเขน ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 14 ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 โดย กรมตำรวจ ในเวลานั้นอ้างเหตุว่า มีโจรคอมมิวนิสต์มลายู มาชิงตัว 4 อดีตรัฐมนตรี และเกิดการต่อสู้ขึ้น จนทำให้ทั้ง 4 คน ถูกลูกหลงเสียชีวิตทั้งหมด แต่ไม่ใคร่จะมีใครเชื่อข้ออ้างดังกล่าวนัก เนื่องจากไม่มีตำรวจเสียชีวิตหรือบาดเจ็บแม้แต่รายเดียว ในเวลาที่นายทองอินทร์เสียชีวิตนั้น สิริอายุ 42 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (นายโป - ระ สมาหาร, นายประจวบ บุนนาค, พันเอกเรือง เรืองวีระยุทธ, นายทองอิน ภูริพัธน์, พลอากาศตรี กาพย์ เทวฤทธิ์พันลึก ทัตตานนท์)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า. นักการเมืองถิ่นจังหวัดแพร่ กรุงเทพ : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. 2555
- ↑ พระราชทานยศ (หน้า 2606)
- ↑ อาร์วายทีไนน์,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรก
- ↑ ประกาศสภาผู้แทนราษฎร รายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ข้าราชการลาออกและย้ายบรรจุราชการ
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๙ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (พลโท จิระ วิชิตสงคราม, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๖, ๑๖ กันยายน ๒๔๘๔
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ฐานข้อมูลภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล โดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เก็บถาวร 2007-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มีภาพและประวัติโดยสังเขปของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์อยู่ในฐานข้อมูลนี้
- บทความเรื่อง รากเหง้าประวัติศาสตร์"ประชาธิปัตย์"หมดทางโตในอีสาน โดย เซี่ยงเส้าหลง เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่าถึงเหตุการณ์ "พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว" ใน พ.ศ. 2489