การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481 ถือเป็น การเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของประเทศไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481

← พ.ศ. 2480 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 มกราคม พ.ศ. 2489 →

91 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไทย
ผู้ใช้สิทธิ35.05% ลดลง
  First party
 
ผู้นำ หลวงพิบูลสงคราม
พรรค คณะราษฎร
ที่นั่งที่ชนะ 91

นายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง

พระยาพหลพลพยุหเสนา
คณะราษฎร

ว่าที่นายกรัฐมนตรี

หลวงพิบูลสงคราม
คณะราษฎร

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่มีขึ้นก่อนหน้านั้นไม่ถึง 1 ปี สืบเนื่องจากการที่ พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน ปีเดียวกัน อันถือเป็นการยุบสภาฯ เป็นครั้งแรกด้วยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะควบคุมความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรได้ อันเนื่องจากรัฐบาลได้เสนออนุมัติต่อสภาฯ เรื่องขอรวมพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายและมหานิกายเข้าด้วยกัน และเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 (ส.ส.ประเภทที่ 1) หรือ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนหลายคน เช่น นายถวิล อุดล ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เป็นผู้อภิปรายในเรื่องนี้อย่างดุเดือด อีกทั้งก่อนหน้านั้นไม่นาน มีการทำร้ายร่างกายสมาชิกสภาฯกัน คือ การจับนายเลียง ไชยกาล ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี โยนลงสระน้ำหลังอาคารรัฐสภา (พระที่นั่งอนันตสมาคม ในขณะนั้น) รัฐบาลไม่สามารถสอบสวนหาตัวผู้กระทำการมาลงโทษได้ แม้จะรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นการกระทำของ ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง ตลอดจนการโจมตีการทำงานของรัฐบาลอย่างดุเดือด ตรงไปตรงมาของหนังสือพิมพ์หลายฉบับด้วย เช่น "ชุมนุม" ของ ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ (ซึ่งต่อมาได้ลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพระนคร ในครั้งนี้)

ผลการเลือกตั้ง มีการเลือก ส.ส. มาทั้งหมด 91 คน คิดเป็นร้อยละ 49.35 ของสภาฯ โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 35.05 จังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากที่สุดคือ จังหวัดนครนายก คิดเป็นร้อยละ 67.36 และจังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดตรัง คิดเป็นร้อยละ 16.28[1]

หลังการเลือกตั้งแล้ว พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ประกาศว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ อันเนื่องจากสภาพร่างกายที่เจ็บป่วยจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้มีการเชิญตัวบุคคลสำคัญและรัฐมนตรีหลายคนไปปรึกษาหารือกันอย่างเป็นความลับที่วังปารุสกวัน อันเป็นที่พำนักของ พ.อ.พระยาพหลฯ รักษาการนายกฯ และในวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน ก็ได้มีการแต่งตั้ง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, เจ้าพระยายมราช, เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน) ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

อนึ่งระหว่างการเลือกตั้ง ทั้งก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์การลอบสังหาร พ.อ.หลวงพิบูลฯหลายครั้ง ทำให้สถานการณ์ในประเทศขณะนั้นเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญแทรกเข้ามา คือ การเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงเพียง 3 วัน

หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ และการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.อ.หลวงพิบูลฯ แล้ว ก็ได้มีการจับกุมหลายบุคคลในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช ในเวลาต่อมา[2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เก็บถาวร 2013-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คณะกรรมการการเลือกตั้ง. สืบค้น 6-7-2554.
  2. พายัพ โรจนวิภาค. ยุคทมิฬ. นนทบุรี : ศรีปัญญา, พ.ศ. 2554 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 216 หน้า. หน้า 22, 27, 33, 35, 36. ISBN 978-616-7146-22-5