การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย

การทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง

การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย คือ การทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ทั้งนี้ เพื่อจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยขึ้นใหม่ การยุบสภาเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร อาจนำมาใช้แก้ปัญหาทางตันทางการเมือง นอกจากทางอื่น เช่น รัฐบาลลาออก

อนึ่ง เหตุผลในการยุบสภานั้น หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติไว้ไม่ ดังนี้ จึงเป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น อาทิ เกิดความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การใช้เป็นเครื่องมือในการชิงความได้เปรียบทางการเมือง เช่น ขณะที่ตนมีคะแนนนิยมสูงมาก การที่สภาวการณ์ต่าง ๆ สุกงอมพอสมควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบอายุสภา เช่น ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว

หลักการสำคัญในการยุบสภา

แก้

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หลักการสำคัญในการยุบสภาสามารถพิจารณาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ ดังนี้[1]

  1. การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108 วรรคหนึ่ง) พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอเท่านั้น
  2. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 108 วรรคสอง) พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเมื่อใดแล้วแต่กำหนดไว้ในนั้นเองแต่ต้องหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในการนี้ ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ
  3. การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน (มาตรา 108 วรรค 3) หากมีจะการยุบสภาอีกครั้ง มิอาจอ้างเหตุผลที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนได้
  4. การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีได้เฉพาะก่อนสภาสิ้นอายุ การยุบสภากระทำในเวลาใดก็ได้ก่อนสภาสิ้นอายุ แม้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา อย่างไรก็ตาม กรณีมีการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว ย่อมไม่สามารถยุบสภาได้
  5. การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง (มาตรา 106)

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ได้แก่

  • ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
  • ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
  • ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
  • ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาหาได้สิ้นสุดลงจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ ดังนั้น จึงยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา 132)

ลำดับการยุบสภาผู้แทนราษฎร

แก้

การยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นมาแล้วรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง[2][3][4]

ครั้งที่ วันที่ นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ เหตุผล
1 11 กันยายน พ.ศ. 2481 พระยาพหลพลพยุหเสนา 2 รัฐบาลขัดแย้งกับสภา
2 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3 สภาผู้แทนยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา
3 12 มกราคม พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 11 ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
4 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เปรม ติณสูลานนท์ 13 สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
5 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 14 รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด
6 29 เมษายน พ.ศ. 2531 15 ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
7 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 อานันท์ ปันยารชุน 17 เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
8 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ชวน หลีกภัย 18 ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
9 28 กันยายน พ.ศ. 2539 บรรหาร ศิลปอาชา 19
10 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ชวน หลีกภัย 20 ปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จแล้ว
11 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณ ชินวัตร 22 เกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
12 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 23 วิกฤตการณ์ทางการเมือง
13 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 24 ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ (วิกฤตการณ์ทางการเมือง) ต่อมาเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
14 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 ประยุทธ์ จันทร์โอชา 25 เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนผ่านการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป[5]

อ้างอิง

แก้
  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  2. มานิตย์ จุมปา. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7. การยุบสภา. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544. 41 หน้า. ISBN 974-00-8337-4
  3. สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539. 632 หน้า. ISBN 974-599-876-4 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  4. "ด่วน พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-03-20. สืบค้นเมื่อ 2023-03-20.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. เลือกตั้ง 2566: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ยุบสภาแล้ว นับถอยหลังศึกเลือกตั้ง

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้