ดิเรก ชัยนาม
ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (18 มกราคม พ.ศ. 2448 – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) เป็นนักการเมือง นักการทูต และอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน และกรุงบอนน์[1] รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้รับการเสนอชื่อจากนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง และเคยได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลไทย ต่อองค์การยูเนสโกให้ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญแห่งโลก แต่ไม่ได้รับพิจารณาเนื่องจากข้อเสนอของรัฐบาลไทยไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการพิจารณา[1]
ดิเรก ชัยนาม | |
---|---|
รองนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (1 ปี 166 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส |
ถัดไป | เดือน บุนนาค |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | |
ดำรงตำแหน่ง 22 สิงหาคม พ.ศ. 2484 – 14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (0 ปี 114 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ถัดไป | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ดำรงตำแหน่ง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2486 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (0 ปี 286 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) |
ถัดไป | พระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) |
ดำรงตำแหน่ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (0 ปี 319 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ปรีดี พนมยงค์ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
ถัดไป | พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 1 กันยายน พ.ศ. 2488 – 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 (0 ปี 154 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ทวี บุณยเกตุ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
ก่อนหน้า | เล้ง ศรีสมวงศ์ |
ถัดไป | พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 – 17 กันยายน พ.ศ. 2488 (0 ปี 17 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ทวี บุณยเกตุ |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) |
ถัดไป | พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | |
ดำรงตำแหน่ง 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (2 ปี 39 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง |
ถัดไป | หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) |
ดำรงตำแหน่ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 – 5 มกราคม พ.ศ. 2485 (0 ปี 21 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) |
ถัดไป | หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 18 มกราคม พ.ศ. 2448 เมืองพิษณุโลก ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (62 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | หม่อมหลวง ปุ๋ย (นพวงศ์) ชัยนาม |
บุตร | 4 คน |
ลายมือชื่อ | |
ประวัติ
แก้ดิเรก ชัยนาม เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2448 ที่ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรชายของพระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) อดีตข้าราชการตุลาการเมืองพิษณุโลก และคุณหญิงจันทน์ อุภัยพิพากษา เป็นพี่ชายต่างมารดาของพลอากาศโท อุสาห์ ชัยนาม สมัยที่ยังเป็นเด็กสุขภาพไม่แข็งแรง จนกระทั่งทางครอบครัวได้มายกถวายให้เป็นลูกของพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกและประเทศไทย สุขภาพจึงกลับมาแข็งแรงเป็นที่น่าพอใจ
ดิเรกศึกษาเล่าเรียนในระดับมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 โดยเริ่มต้นเป็นนักเรียนประจำ และออกมาเป็นนักเรียนไปกลับใน 2 ปีสุดท้าย จากนั้นได้ย้ายมาเรียนชั้นมัธยม 8 ที่ โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2466 และได้รับพระราชทานยศเป็น มหาดเล็กวิเศษ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2468 และมาเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายจนจบการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต ใน ปี พ.ศ. 2471
ชีวิตครอบครัว
แก้ดิเรกสมรสกับ ม.ล. ปุ๋ย นพวงศ์ บุตรีพระยารามราชเดช (ม.ร.ว. ปาล นพวงศ์) และคุณหญิงเนย รามราชเดช เมื่อ พ.ศ. 2468 มีบุตรชายด้วยกัน 4 คน ได้แก่[1]
- นายวัฒนา ชัยนาม
- นายชูศักดิ์ ชัยนาม
- นายเจษฎา ชัยนาม
- นายวรพุทธิ์ ชัยนาม
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้ดิเรกถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 เมื่ออายุ 62 ปี พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2511[1] ส่วน ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 รวมอายุ 94 ปี
ตำแหน่งในคณะรัฐบาล
แก้- วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481 เป็นรัฐมนตรี
- วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[2]
- วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2484 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2485 กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิญี่ปุ่น
- วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2486 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม [3]
- วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2488 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[4]
- วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[5]
- วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[6]
- วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
บทบาทในสหประชาชาติ
แก้ดิเรกขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) หลังจากที่สหประชาชาติก่อตั้ง 1 ปี โดยชี้แจงเหตุผลการสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ดังนี้
- เพื่อความมั่นคงของไทย เนื่องจากสหประชาชาติเป็นองค์การที่มีกำลังมากที่สุดที่สามารถธำรงสันติภาพ และความมั่นคง และให้ความยุติธรรมสำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย
- เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ชาติหนึ่ง เนื่องจากการที่เข้าเป็นสมาชิกขององค์การเป็นการยืนยันรับรองฐานะของไทยอีกครั้งหนึ่ง
- ไทยหวังความช่วยเหลือจากสหประชาชาติในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
- เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า ไทยประสงค์จะร่วมมือในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างจริงจัง
บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
แก้ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คณะเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมด้วยผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย คือ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม แต่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เนื่องจากไปตรวจดูสถานการณ์ชายแดนอรัญประเทศ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมารับแทน
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นแจ้งว่า ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และได้ตัดสินใจส่งกำลังทหาร เข้าโจมตีดินแดนของทั้งสองประเทศ ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 01.00 นาฬิกา ดินแดนบางส่วนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้า ต้องอาศัยผ่านดินแดนของไทย ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงใคร่จะขออนุญาตจากรัฐบาลไทย ให้ญี่ปุ่นส่งกำลังบำรุงผ่านดินแดนประเทศไทย เพื่อดำเนินการศึกต่อฝ่ายอังกฤษ โดยขอให้รัฐบาลตอบภายใน 4 ชั่วโมง
ซึ่งดิเรกกล่าวว่า "การที่จะอนุญาตหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่มีอำนาจแต่อย่างใด เพราะท่านก็ทราบดีแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อำนาจสั่งไม่ให้ต่อสู้นั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่ง ... ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศเป็นคำสั่งประจำไว้แล้วว่า ไม่ว่ากองทหารประเทศใด ถ้าเข้ามาแผ่นดินไทย ให้ต่อต้านอย่างเต็มที่ ฉะนั้นผู้ที่จะยกเลิกคำสั่งนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด" แต่ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังตรวจราชการอยู่ที่ชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สงครามกับมหามิตรที่กลายเป็นผู้รุกรานเพียงข้ามคืน ก็มิอาจเลี่ยงได้
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณากันถึงผลดีผลเสียหากต่อสู้กับญี่ปุ่น ในที่สุดนายกรัฐมนตรีได้ลงความเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้านเพราะไทยไม่มีกำลังพอ อังกฤษและสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางที่จะมาช่วยเหลือไทยได้ ขืนสู้ญี่ปุ่นไปประเทศไทยก็จะเสียหายอย่างหนัก คณะรัฐมนตรีจึงสั่งให้หยุดยิงเพื่อเจรจากับญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอทางเลือกให้ไทย 4 แผน ดังนี้
- แผนที่ 1 ไทยกับญี่ปุ่นทำสัมพันธ์ไมตรีในทางรุกและป้องกันร่วมกัน
- แผนที่ 2 ไทยเข้าเป็นภาคีกติกาสัญญาไตรภาคี ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 กล่าวคือ เข้าร่วมฝ่ายอักษะกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
- แผนที่ 3 ไทยให้ความร่วมมือทางทหารตามที่จำเป็นแก่ญี่ปุ่น รวมทั้งการอนุญาตให้ญี่ปุ่นผ่านอาณาเขตไทย และให้ความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็น พร้อมทั้งป้องกันมิให้เกิดปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น
- แผนที่ 4 ไทยกับญี่ปุ่นรับร่วมกันป้องกันประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีความเห็นแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย ดิเรกเสนอว่า โดยที่ประเทศไทยได้ยืนยันจะรักษาความเป็นกลางตลอดมา หากจำเป็นต้องยอมให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่น อย่างมากก็ควรจะยอมเพียงให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่าน ตามแผนที่ 3 เท่านั้น ถ้ายอม มากกว่านั้น โลกอาจจะมองไทยว่า ทั้ง ๆ ที่ประกาศจะเป็นกลาง ความจริงแล้วสมคบกับญี่ปุ่น ตลอดมามิใช่ ต้องยอมเพราะสู้ไม่ไหว พล.ต.อ. อดุล และ ปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนดิเรก ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่า แผนที่ 3 เหมาะสมที่สุด จึงได้นำข้อตกลงไปเสนอแจ้งแก่ญี่ปุ่น และมีการลงนามในข้อตกลงที่ไทย ยินยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทย ประเทศไทยจึงประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2485
ในภายหลังดิเรกได้เขียนหนังสืออธิบายถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอธิบายให้เห็นภาพเหตุการณ์ บุคคลแวดล้อม ชั้นเชิงทางการทูต กุศโลบายทางการเมือง กลวิธีทางการทหารของประเทศที่ร่วมในสงคราม ตลอดจนวิธีคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ให้รอดพ้นมหาภัยในครั้งนั้น ในหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
บทบาทในเสรีไทย
แก้"ขบวนการเสรีไทย" รวมตัวกันเป็นขบวนการได้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2487 ถึงต้นปี พ.ศ. 2488 พร้อม ๆ กับที่ฝ่ายอักษะเริ่มพ่ายแพ้ในยุโรปไล่ไปตั้งแต่การที่เยอรมนีพ่ายแพ้ต่อสหภาพโซเวียต ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบกที่บริเวณชายฝั่งนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสจากการยึดครองของนาซีเยอรมนีได้ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 นาซีเยอรมนีเริ่มประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิสำคัญหลายจุด ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้ามาหนุนช่วยในภาคพื้นเอเชียได้เต็มที่ แต่กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นที่ยึดครองภาคพื้นเอเชียบูรพา ก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะยอมแพ้แต่อย่างใด ดังนั้นปฏิบัติการปลดอาวุธทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 จึงเกิดขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นสืบทราบว่าทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้ทำงานช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร
นั่นก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนขบวนการเสรีไทยว่า การที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้มิได้ง่ายดายเหมือนอย่างที่ใครบางคนคิด เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งกองบัญชาการเสรีไทยขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 โดยมีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า และดิเรก ชัยนาม เป็นหัวหน้ากองกลาง
บทบาทในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แก้ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนามได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2492 จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2495 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2497 และเป็นลำดับที่ 5 ของผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางคณะได้สร้างอนุสาวรีย์รูปของท่านไว้เป็นที่ระลึกในบริเวณคณะ
ยศ
แก้- 1 มิถุนายน พ.ศ. 2468 มหาดเล็กวิเศษ[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้ดิเรก ชัยนาม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของต่างประเทศต่าง ๆ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2506 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[10]
- พ.ศ. 2510 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[11]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[12]
- พ.ศ. 2489 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (อ.ป.ร.1)[13]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ไรช์เยอรมัน :
- พ.ศ. 2482 – เครื่องอิสริยาภรณ์อินทรีเยอรมัน ชั้นที่ 2[14]
- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2483 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นกร็องตอฟีซีเย[15]
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2485 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1[16]
- สหรัฐ :
- เยอรมนี :
- พ.ศ. 2508 – เครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นที่ 1 (พิเศษ)[17]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ดิเรก ชัยนาม. อดีตของปัจจุบัน รวมปาฐกถาพิเศษว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2512, สำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม, ตีพิมพ์ใหม่ โอเพ่นบุ๊คส์ เนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล, 2548. 191 หน้า. ISBN 974-93144-2-5
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม และนายดิเรก ชัยนาม)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๙ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๑๖ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๑๖ ราย)
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๔๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๓๑ ง หน้า ๑๒๔๓, ๑๑ เมษายน ๒๕๑๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๔๗, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๑๗ ง หน้า ๔๒๖, ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๔๐, ๕ สิงหาคม ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘๔๗, ๒๔ กันยายน ๒๔๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๔๘ ง หน้า ๑๗๗๖, ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๑ ตุลาคม ๒๕๐๙