สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระราชธิดาพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสุวัทนา พระว

พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่พระบรมชนกนาถจะเสด็จสวรรคตในวันต่อมา พระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ โดยมีคำนำหน้าพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ ในรัชกาลที่ 7 และเป็นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโดยพระชันษาพระองค์จึงเคยเป็นพระกุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี พระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง)ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและเป็นพระปิตุจฉาเธอในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี
เจ้าฟ้าชั้นโท
ประสูติ24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ พระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (85 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระราชทานเพลิง9 เมษายน พ.ศ. 2555
พระเมรุ ท้องสนามหลวง
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระวัยและทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ กอปรกับพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้นจึงเสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่สืบสานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และโดยส่วนพระองค์เองไว้ในพระอุปถัมภ์มากกว่า 30 แห่ง

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริพระชันษา 85 ปี[1][2]

พระประวัติ

ประสูติ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู สัปตศก จ.ศ. 1287 ตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 12 นาฬิกา 52 นาที ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยประสูติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นอกจากนี้ เมื่อนับพระญาติทางฝ่ายพระมารดานั้น พระองค์นับเป็นพระญาติชั้นที่สามของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา และเป็นพระญาติชั้นที่สี่ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี[3][4]

ก่อนมีพระประสูติกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา[5] และมีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศที่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ทั้งนี้เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"[6]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปีติโสมนัสอย่างพ้นประมาณ ทรงเฝ้ารอพระประสูติการของพระหน่อพระองค์แรกอย่างจดจ่อ ด้วยทรงคาดหวังว่าจะประสูติเป็นพระราชโอรส ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า "...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่..."[7] ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบทำนองปลาทองไว้ล่วงหน้าอีกด้วย [note 1]

แต่แล้วเมื่อใกล้มีพระประสูติกาล ความชื่นบานทั้งหลายกลับกลายเป็นความกังวล เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างมิคาดฝัน ในยามนั้น พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่ง พระนางเจ้าสุวัทนา มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[8] จนรุ่งขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ พระบิดาซึ่งกำลังทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต[8]

พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ บุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง เพราะสมเด็จเจ้าฟ้า เสวยพระกษิรธาราจากพระมารดา มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6 โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร

พระนาม

พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[9] และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) โดยก่อนสมโภชมีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี[10] ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน[8]
โดยพระนาม แปลว่า เจ้าฟ้าพระราชธิดาผู้มีพระชาติกำเนิดเป็นศรีดั่งดวงแก้ว เป็นพัชรแห่งมหาวชิราวุธ มีพระฉวีพรรณสิริโฉมงามพร้อม[11]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2478) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระปิตุลา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนาม “สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ” เป็น “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ”[12] เทียบเท่าพระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง)

จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ที่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ดังเดิม เนื่องจากคำว่า "ภคินี" หมายถึง ลูกพี่ลูกน้องหญิง[13] เนื่องจากสังคมไทยจะพิจารณาจากความเป็น "ลูกผู้พี่" และ "ลูกผู้น้อง"[14] จึงทรงพระนามตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ดังปรากฏในปัจจุบันว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ส่วนพระนามในภาษาอังกฤษตามทางราชการใช้ว่า "Her Royal Highness Princess Bejaratana Rajasuda Sirisobhabannavadi"[15]

เมื่อทรงพระเยาว์

หลังจากประสูติไม่นาน สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[16] ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่นแวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ

ขณะสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าทรงมีพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[8]

ระหว่างทรงพระเยาว์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และกบฏบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม

จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส[16] ตำหนักแห่งนี้พระราชทานนามว่า พระตำหนักสวนรื่นฤดี มีหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร (ต่อมาได้ทรงขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองทัพบก)

สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ได้ทรงพระอักษรเบื้องต้นโดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าเสมอภาค โสณกุล และพิศ ภูมิรัตน เป็นต้น จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2476[17] (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) โดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทั้งอาจารย์และผู้ปกครอง พระองค์มีพระสหายสนิทในขณะนั้นคือ หม่อมราชวงศ์กอบศรี เกษมสันต์, โรสลิน เศวตศิลา และงามเฉิด อนิรุทธเทวา[17]

ต่อมาพระองค์ได้ทรงลาออกจากโรงเรียนราชินีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ขณะทรงพระอักษรในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4[17] เพื่อทรงพระอักษรต่อ ณ สวนรื่นฤดี โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงจ้างมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษและวิชาการคำนวณ[17] ยังได้นำเด็ก ๆ ชาวต่างชาติมาร่วมกิจกรรมสนทนาภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำและดื่มน้ำชาร่วมกับพระองค์เพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับชาวต่างชาติและฝึกการรับสั่งภาษาอังกฤษด้วย[17] นอกจากนั้นยังได้ทรงศึกษากับพระอาจารย์ไทยเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนัก โดยมีหม่อมเจ้าเสมอภาค โสณกุล ถวายพระอักษรวิชาวรรณคดีไทยและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ โดยมีการถวายพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด[17]

ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ

 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ ประเทศอังกฤษ

ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นักจึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว[18] พระองค์ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค[18] ทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานัปการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ[18] โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด[18]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ ครั้นในช่วงเสด็จลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2473 พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนเซเครดฮาร์ต แคว้นเวลส์[17] ส่วนพระมารดาทางสถานทูตได้จัดให้ทรงพำนักในโรงแรมอิมพีเรียลในเมืองแลนดัดโน (อังกฤษ: Landudno) ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยโปรดให้เข้าเฝ้าและจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ[18] และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรเป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา[18] และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

นิวัตประเทศไทย

พระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อ พ.ศ. 2500 โปรดให้สร้างวังในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) โดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[18] ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบจนสิ้นพระชนม์[19] ส่วนในช่วงฤดูร้อนพระองค์จะเสด็จแปรที่ประทับไปยังตำหนักพัชราลัย ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระมารดาสิ้นพระชนม์

 
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อ พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญดอกไม้และผลไม้ และสังเกตพระอนามัยของพระองค์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ มีการจัดตำรวจคอยอารักขาตลอดเวลา และโปรดฯ ให้ห้องเครื่องสวนจิตรลดาจัดเครื่องเสวยมาทุกวัน[20] นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังจัดกรมวัง และสารถีมาปฏิบัติหน้าที่ประจำทั้งภายในวังที่ประทับ และจัดเจ้าหน้าที่มาตกแต่งสถานที่ และปฏิบัติในเวลาที่มีงานพิเศษ เช่น งานวันคล้ายวันประสูติ และการทรงบำเพ็ญพระกุศลอย่างสมพระเกียรติยศทุกประการ[20] ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็โปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน มาเฝ้าและคอยติดตามพระอนามัย และใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย เช่น คลุมพระบรรทมและปลอกพระเขนยที่สวยงาม รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่พระองค์โปรดมาไว้ในห้องพระบรรทม เพื่อให้ทรงชื่นพระทัย[20]

สิ้นพระชนม์

 
พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชันษา 85 ปี 8 เดือน 3 วัน[1][21]

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระโกศ ประดิษฐานบนพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง[22]

ต่อมา วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) กางกั้นพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ [23]

นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา กับทั้งให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ ทั้งนี้มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป (ยกเว้นวันที่ 12 สิงหาคม เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)[24][25] ซึ่งพระราชพิธีพระศพจะจัดสมพระเกียรติเช่นเดียวกับพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555[26][27] ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

ส่วนพระอังคารนั้นถูกแบ่งเป็นสองส่วน[28] ส่วนแรกได้อัญเชิญไปบรรจุในเสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงบรรจุพระอังคารส่วนแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555[29]

ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงบรรจุพระอังคารส่วนที่สอง ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม[28] โดยได้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคียงข้างพระราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดา และพระอังคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา[30]

ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ข้าราชบริพารนำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ได้อัญเชิญพระอังคารส่วนสุดท้ายที่จำเริญจากเตาเผาพระศพก่อนการรื้อพระเมรุไปลอยกลางอ่าวไทย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อนึ่ง สัปตปฎลเศวตฉัตรสุมพระอัฐิ ได้เชิญไปถวายพระพุทธรูปปางประสูติ ในวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์

พระจริยวัตร

 
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรัดเกล้าพระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในส่วนพระจริยวัตรส่วนพระองค์นั้น ทรงแสดงความกตัญญูต่อพระบุพการี เช่น ทรงตั้งพระกระยาหารสังเวยแก่พระบรมอัฐิและพระอัฐิของพระพระบิดาและพระมารดา ทั้งเวลาเช้าและกลางวัน ครั้นเมื่อค่ำแล้วก็ทรงสวดมนต์ถวายพระราชกุศล และถวายพระราชสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์[31] พระองค์ได้รับการปลูกฝังจากพระมารดาให้มีความกตัญญูต่อพระบิดา ดังความตอนหนึ่งที่พระองค์เคยตรัสไว้กับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ ขณะเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ความว่า "...ฟ้าหญิงรักทูลกระหม่อมก๊ะมาก ชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นลูกทูลกระหม่อมก๊ะ ขอนับถือพระพุทธศาสนา และขอให้ได้เกิดเป็นคนไทย"[31] และเมื่อพระมารดาสิ้นพระชนม์ก็ตรัสกับข้าราชบริพารว่า "...ฟ้าหญิงอยากมีอายุสัก 100 ปี จะได้อยู่ทำบุญให้แม่ก๊ะ ฟ้าหญิงทำให้แม่ก๊ะลำบากเพราะฟ้าหญิงมามาก"[32]

พระองค์ทรงศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)[20] นอกจากนี้ยังมีพระอุปนิสัยทรงเคร่งครัดในการตรงต่อเวลา ทรงปฏิบัติพระกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาและไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงประหยัดอดออมและโปรดความเรียบง่าย[20] ทั้งยังทรงนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทย โปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตภายในประเทศ เช่น ชุดผ้าไหม, ฉลองพระบาท, กระเป๋า และพระสุคนธ์ซึ่งโปรดน้ำอบเป็นพิเศษ[31]

ส่วนการใช้ภาษาไทยนั้น ก็เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชบริพารว่าไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ มีรับสั่งด้วยวาจาอันสุภาพอ่อนโยน [33] และโดยส่วนพระองค์เองก็มีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจนเสมอ เช่น ทีวี ให้กราบทูลว่า โทรทัศน์, แอร์ ให้กราบทูลว่า เครื่องปรับอากาศ และล็อกประตู ให้กราบทูลว่า ลงกลอนประตู เป็นต้น[31] พระองค์จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น[20]

พระองค์มีพระจริยาวัตรที่บริสุทธิ์สะอาด ทรงได้รับการอบรมจากพระชนนี ไม่ทรงรู้จักคำหยาบคายเลยแม้แต่คำเดียว ถ้าจะทรงบริภาษผู้ใดอย่างรุนแรงจะรับสั่งว่า ซีด เท่านั้น แต่ส่วนมากเมื่อทรงกริ้วก็จะทรงสามารถระงับพระพิโรธไว้ได้ โดยทรงเคยแสดงธรรมประจำพระทัยแก่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ความว่า “โทสะก็เหมือนไฟในตะเกียง ถ้าแรงนักก็ค่อยๆ หรี่ลง แล้วโทสะจะดับหายไปเอง”[34]

พระองค์ทรงใช้จ่ายทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ไม่โปรดให้ผู้ใดเปิดไฟไว้ล่วงหน้า และเมื่อเสด็จออกก็ปิดไฟด้วยพระองค์เอง[31] เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีสุขภาพเอื้ออำนวย ได้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายส่วนพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ[31]

พระองค์โปรดการถักนิตติ้งมากที่สุด เมื่อครั้งที่ยังมีพระพลานามัยเอื้ออำนวย พระองค์ทรงถักไหมพรมพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และผ้าพันคอพระราชทานแก่ทหารและตำรวจที่ประจำการแถบภาคเหนือที่ต้องรักษาการท่ามกลางความหนาวเย็น[33] พระองค์โปรดการเล่นเปียโน สามารถเล่นเพลงที่สดับนั้นได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวโน้ต[33] โปรดการจัดดอกไม้และการจัดสวน ตั้งแต่ประทับในอังกฤษ[33] และยังทรงมีอัจฉริยภาพในเรื่องความทรงจำและการคำนวณที่แม่นยำ เวลามีผู้เข้าเฝ้าจะรับสั่งถามถึงวันเดือนปีเกิดแล้วจะทรงบอกได้ว่า ตรงกับวันอะไร แต่เมื่อมีพระชันษาสูงได้มีผู้เข้าเฝ้าถามถึงการจำชื่อและวันเดือนปีเกิดที่เคยโปรดได้ไหม พระองค์จึงรับสั่งว่า "สมองฟ้าหญิงแก่แล้ว ทำ (คิดเลข) ไม่ได้แล้ว"[33] แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงใฝ่รู้อยู่เสมอ มีรับสั่งกับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ที่เข้าเฝ้าประจำว่า "ฟ้าหญิงอยากเรียนหนังสือ" คุณหญิงศรีนาถจึงถวายบทเรียนง่าย ๆ แก่พระองค์[33]

พระกรณียกิจโดยสังเขป

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชันษาครบ 61 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต

— สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี[35]

นับแต่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2502 พระกรณียกิจก็ได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการเสด็จแทนพระองค์ไปในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์พระองค์เสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง[31][36] เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนือง ๆ[20]

การพุทธศาสนา

 
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงทอดพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512.

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงกำหนดธรรมเนียมเป็นแบบแผนไว้สำหรับพระองค์และพระธิดา เป็นพระกรณียกิจแบบฉบับเฉพาะพระองค์ที่ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพ เล่ากันว่าในเทศกาลทอดกฐิน นอกจากจะทรงเป็นผู้แทนพระองค์เชิญพระกฐินหลวงไปถวายตามพระอารามหลวงแล้วปีละ 2 วัด โดยส่วนมากจะเสด็จวัดพระปฐมเจดีย์ ในส่วนพระองค์ทรงเลือกวัดราษฎร์ที่ยากจนและอยู่หัวเมืองไกล ๆ อีก 3 วัด เพื่อเสด็จไปทอดกฐิน เล่ากันถึงวิธีการเลือกวัดดังกล่าวไว้ว่า จะโปรดให้คนในวังไปสำรวจหาวัดที่มีคุณสมบัติดังที่ทรงประสงค์ และเก็บข้อมูลมาเล่าถวายว่าสมควรจะได้รับพระอุปการะอย่างไร ด้านไหน ก็จะทรงช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการและยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่มหาดเล็กในวังเล่าไว้ว่า “...โปรดที่จะเสด็จไปทำบุญกับวัดที่ยากจน หรือไม่ก็ไม่มีใครเหลียวแลจริง ๆ...”[37] ส่วนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็โปรดที่จะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลอยู่เสมอ อาทิ วันมาฆบูชา ก็โปรดจะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลและทรงเวียนเทียนที่วัดพระปฐมเจดีย์ นอกจากนี้ยังทรงเคยเสด็จไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ๆ มาแล้วทั่วประเทศ อาทิ พระพุทธบาทสระบุรี พระแท่นดงรัง พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุดอยตุง พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ และในบางแห่งยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องราชสักการะถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ทรงสร้างต้นไม้เงินต้นไม้ทอง จากทองคำและเงิน สูงกว่า 1 ฟุต ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธชินราช[38]

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง ทั้งในส่วนที่สืบสานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโดยส่วนพระองค์เอง ในด้านการศึกษานั้น พระองค์ทรงอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนห้องสอนศึกษา [39] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้ทรงตั้ง “ทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” เพื่อมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้แก่ โรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา โรงเรียนราชินีบูรณะ โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ โรงเรียนศรียานุสรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[39] ในส่วนพระองค์นั้น พระองค์ทรงให้การอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา และสถานศึกษาไว้ในพระอุปถัมภ์หลายแห่ง เช่น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ โรงเรียนเพชรรัชต์ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนสยามธุรกิจและพณิชยการ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนกองทัพอุปถัมภ์ เพชราวุธวิทยา [39][40]

ด้านการสาธารณสุข

ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระองค์ทรงตั้งกองทุนและมูลนิธิในโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น ทุนเพชรรัตนการุญ ในศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร[39] นอกจากนี้ทรงรับมูลนิธิวชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย และมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพไว้ในพระอุปถัมภ์[40] และทรงให้การอุปการะกิจการของโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[39]

ด้านงานอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบิดา

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อรวบรวมข้อมูลพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและจัดตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือกิจการของหอวชิราวุธานุสรณ์[41][39]

ด้านการลูกเสือ เนตรนารี

พระองค์ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายกิจการ เช่น กิจการลูกเสือ-เนตรนารี พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอุปถัมภิกา คณะลูกเสือแห่งชาติ และทรงรับองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับลูกเสือและเนตรนารีไว้ในอุปถัมภ์หลายแห่ง ได้แก่ คณะลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ สโมสรเนตรนารีเพชรรัชต์ สมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย และสโมสรลูกเสือวิสามัญกรุงเทพฯ[39][40] ด้วยพระกรุณาที่พระองค์ทรงมีต่อกิจการลูกเสือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษแก่พระองค์เมื่อ พ.ศ. 2533 [42]

งานด้านสตรี

นอกจากนี้ ทรงรับองค์กรสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน ได้แก่ สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย สหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย และสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร ไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยองค์กรสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากได้ตระหนักถึงพระราชดำริของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะให้สตรีไทยได้มีส่วนรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเป็นสมาชิกแม่เสือควบคู่กับเสือป่า[39]

ด้านศิลปวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้แก่ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และ พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า[43] โดยพระองค์ทรงรับเป็นประธานในคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จนกระทั่งการบูรณะเสร็จสมบูรณ์ และมีการน้อมเกล้าถวายพื้นที่คืนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาค้นคว้า รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ[44] ในส่วนของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี นั้น พระองค์ทรงจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพื่อนำเงินที่ได้รับบริจาคของผู้มีจิตศรัทธามาบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและทรงรับมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์[45] นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทไว้ในพระอุปถัมภ์ด้วย[46]

ด้านสังคมสงเคราะห์

ส่วนกิจกรรมสังคมสังเคราะห์ พระองค์ทรงบุกเบิกกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 โดยจัดขึ้นที่วังรื่นฤดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานหารายได้เพื่อการกุศลสงเคราะห์ต่าง ๆ เมื่อวังสร้างเสร็จได้สองปี ก็มีงานการกุศลงานแรกคืองานเมตตาบันเทิง รื่นฤดี ซึ่งมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน เพื่อหารายได้สมทบทุนสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมายังมีอีกหลายงาน เช่น งานหาทุนสร้างหอพักเพชรรัตน ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, งานหาทุนสร้างตึกอุบัติเหตุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, งานหาทุนสร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ วชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น[47] นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดาในพระองค์นั้น ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อการกุศล เช่น สงเคราะห์ผู้สละชีวิตเพื่อป้องกันประเทศชาติ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บำรุงโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ [39]

พระอัจฉริยภาพ

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีพระอัจฉริยภาพด้านเปียโน โดยทรงเรียนเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างชาติที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงจ้างมาสอน ตั้งแต่เมื่อคราวที่ประทับ ณ พระตำหนักสวนรื่นฤดี จนเมื่อเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จนทรงสามารถบรรเลงเปียโนได้อย่างคล่องแคล่ว แม้จะทรงทอดพระเนตรโน้ตเพลงเพียงครั้งเดียว หรือทรงสดับเพลงนั้นเพียงครั้งเดียว ซึ่งพระอัจฉริยภาพนี้คล้ายคลึงกับพระบิดายิ่งนัก[48]

พระอัจฉริยภาพด้านภาษา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระอักษรภาษาอังกฤษจากครูที่พระมารดาทรงจ้างมาสอน ตั้งแต่ประทับ ณ สวนรื่นฤดี จนทรงสามารถมีรับสั่งกับชาวต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่ว และพระองค์ยังทรงสื่อสารภาษาฝรั่งเศสได้อย่างดี แต่มิทรงโปรดที่จะทรงภาษาต่างประเทศกับภาษาไทยอย่างเด็ดขาด ห้ามมิให้คนไทย ข้าราชบริพารพูดภาษาต่างประเทศปนภาษาไทย และไม่ทรงโปรดให้กราบทูลภาษาต่างประเทศโดยจะต้องสรรหาคำภาษาไทยมากราบทูลให้จงได้โดยจะทรงใช้คำที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ เช่น แบงก์ กราบทูลว่า ธนบัตร, ล็อกประตู กราบทูลว่า ลงกลอนประตู, เน็ตคลุมผม กราบทูลว่า ร่างแหคลุมผม หรือหากไม่มีก็จะทรงบัญญัติขึ้นเอง เช่น ฟาร์มจระเข้ กราบทูลว่า ที่เลี้ยงจระเข้ หากผู้ใดกราบทูลปะปนกันก็จะตรัสว่า“เราเป็นคนไทย ต้องใช้ภาษาไทยนะจ๊ะ”[49]

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงสนพระทัยและทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ ขี่จักรยาน โคร์เกต ฯลฯ ตั้งแต่ประทับที่สวนดุสิต และ วังสระปทุม ต่อมาเมื่อเสด็จไปประทับ ณ สหราชอาณาจักร ก็ทรงโปรดที่จะทรงกอล์ฟ หรือจะทรงพระดำเนินเป็นระยะทางไกล แม้จะเสด็จกลับมานิวัติประเทศไทยก็ทรงพระดำเนินรอบพระตำหนักวันละ 6 รอบ หรือ ถ้าประทับ ณ ตำหนักพัชราลัน หัวหินก็จะทรงพระดำเนินไปกลับตามชายหาดเป็นระยะทางร่วม 4 กิโลเมตร และจะทรงแกว่งพระกรทุกเช้าวันละ 200 ครั้ง[50]

พระอัจฉริยภาพด้านการคำนวณและความจำ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีพระอัจฉริยภาพด้านการคำนวณโดยทรงสามารถคำนวณเลขได้เพียงไม่กี่วินาที ทั้งยังทรงสามารถคำนวณปฏิทินร้อยปีได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ หรือแม้ผู้ที่มาเฝ้าเคยมาเฝ้านานแล้วเป็นสิบปีก็ทรงจำได้อย่างแม่นยำ ตามที่ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ได้เล่าไว้ว่า คราวหนึ่งเมื่อเสด็จหัวเมือง ดิฉันทูลท่านว่าทรงจำชายคนนี้ได้ไหม ทรงตอบว่าชื่ออะไร ทูลว่าพัฒนพงศ์ ทรงตอบว่าไม่รู้จัก เลยทูลว่าเมื่อก่อนชื่อจุ้นเค็ง ตรัสกับชายคนนั้นว่ายินดีด้วยวันนี้เป็นวันเกิดครบ 50 ปีของจุ้นเค็ง[51]

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร

 
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างด้วยเงิน มีพุทธลักษณะบรรทมแบบสีหไสยาสน์ พระกรซ้ายวางแนบเสมอพระองค์ พระกรขวาหนุนพระเศียร บรรทมทอดพระเนตรลงต่ำ พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรเปิดพระอังสาขวา เบื้องหลังมีแผ่นประภามณฑลประดับอยู่ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระขนงโก่ง พระโอษฐ์เรียว พระบาทเหยียดเสมอกันทั้งสองข้าง แบบพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย ฐานทำเป็นดอกบัวบาน ประดับอีกษรพระนาม พร สร้างเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เนื่องในวันคล้ายวันประสูติพระชันษาครบ 80 ปี โดยได้ประกอบพิธี ณ มณฑลพิธีวังรื่นฤดี พระพุทธรูปประจำพระชนมวารองค์นี้จะเชิญออกมาประดิษฐานในพระพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ เช่น งานบำเพ็ญพระกุศลวันประสูติ งานพระศพ หรืองานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย แต่เดิมถ้ามีงานพระพิธีบำเพ็ญพระกุศลในวังรื่นฤดีก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ออกมาประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ยังประดิษฐาน ณ ห้องพระวังรื่นฤดี เช่นเดิม แม้พระอัฐิจะเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วก็ตาม[52] นอกจากนี้เมื่อคราวเชิญพระสรีราประดิษฐาน ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง ทางวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สร้างจากโลหะปิดทอง พุทธลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อประดิษฐานคู่กับพระสรีรางคารต่อไป

พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
 
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468)
  • สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)

สถาปนาพระอิสริยยศ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีสกุลยศชั้นเจ้าฟ้า ดังนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ จึงได้รับพระราชทานเบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) กางกั้นพระโกศ เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ต่อมา ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ว่าเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นสมเด็จพระปิตุลาธิราช และเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นลำดับมา บัดนี้ ถึงวาระที่จะได้พระราชทานเพลิงพระศพเป็นอวสานแห่งการพระราชกุศล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ อีกทั้งทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ขึ้น โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป[53]

เครื่องอิสริยยศราชูปโภค

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชูปโภคสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้[54]

  • พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา เครื่องพร้อม (ภายในบรรจุด้วย ผอบทรงมณฑปย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง 1 คู่ จอกหมากทรงมังสี ทองคำลงยา 1 คู่ ซองพลูทองคำลงยา 1 ซอง ตลับภู่สำหรับใส่สีผึ้งสีพระโอษฐ์ ฝาและก้นตลับใส่ยอดแบบปริก 1 ตลับ มีสายสร้อยทองพร่อมจิ้มพระทนต์ทองคำ 1 และแคะพระกรรณทองคำ 1 และมีดเจียนหมาก 1)
  • พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
  • หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พระคนโททองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือนกับพระสางเสนียดสอดในซองเยียรบับ และพระกรัณฑ์ทองคำลงยาสำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
  • ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค 2 ตน ขนดหางพันเกลียวเป็นเสาราว ผินเศียรไปทางซ้ายและขวาเป็นราวพาด 2 กิ่ง พร้อมซับพระพักตร์จีบริ้วพาดบนราว 2 องค์
  • พระฉายกรอบทองคำลงยาทำเป็นรูปพญานาคขนดพันกันโดยรอบบานพระฉาย ด้านบนเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี

เครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศ

  • ฉัตรหักทองขวาง 7 ชั้น 4 คัน
  • ฉัตรหักทองขวาง 5 ชั้น พื้นสีแดง 2 คัน
  • ฉัตรหักทองขวาง 5 ชั้น พื้นสีเขียว 2 คัน
  • ฉัตรหักทองขวาง 5 ชั้น พื้นสีน้ำเงิน 2 คัน
  • ฉัตรชุมสาย 4 คัน
  • บังแทรก 4 คัน
  • พระกลดหักทองขวาง 1 คัน
  • บังสูรย์หักทองขวาง 1 คัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเรียงลำดับตามปีที่ได้รับพระราชทาน ดังนี้

พระยศทางทหาร และตำแหน่งทหาร

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี
รับใช้  ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพบกไทย, กองทัพเรือไทย และกองทัพอากาศไทย
ประจำการ
ชั้นยศ
  •   พลเอกหญิง
  •   พลเรือเอกหญิง
  •   พลอากาศเอกหญิง

ปริญญากิตติมศักดิ์

รางวัล

การเทิดพระเกียรติ

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา 5 รอบ 60 ปี

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีการบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา 5 รอบ 60 ปี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 โดยเสด็จกลับจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์มาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีการบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา 5 รอบและพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ โดยในช่วงเช้าสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ เสด็จพระดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ เมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

พระราชพิธีเฉลิมฉลองพระชันษา 80 ปี

ในปี พ.ศ. 2548 เป็นอภิลิขิตสมัย 2 วาระมาบรรจบกัน คือ วาระที่ 1 อภิลิขิตสมัยที่ครบรอบพระประสูติกาลพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดาครบ 100 ปี และ วาระที่ 2 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มีพระชันษาครบ 80 ปี ทางกองทัพบก โดยกรมแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และหน่วยงานในสังกัดร่วมกับชมรมคนรักวัง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ ได้ร่วมกันจัดงาน เพชรรัตน-สุวัทนา สองราชนารีในรัชกาลที่ 6 ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่วังพญาไท โดยจะเป็นงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่โดยมีการแสดงดนตรีวงโยธวาทิตและวงปี่สก๊อต การแปรขบวนด้วยธงเสือป่า ของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้น และการแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระร่วง"

นอกจากนี้จะมีการแสดงเพลงโหมโรง เพชรรัตน์-สุวัทนา ซึ่งแต่งโดย อ.ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า มือเดี่ยวระนาดเอกแห่งยุค ซึ่งแต่งให้มีความหมายว่าอันเป็นที่รักและสวัสดิ์มงคลควรค่า"ราชนารี" จึงใช้ชื่อโหมโรงเพชรัตน-สุวัทนา โดยการแสดงจะใช้ระนาดมากที่สุดถึง 81 รางซึ่งไม่เคยมีการละเล่นเช่นนี้มาก่อน โดยใช้คนตีระนาด 1 คนต่อ 2 ราง ส่วนอ.ณรงค์ฤทธิ์เล่นนำวง 1 ราง การเล่นระนาดแบบนี้จะให้ความสนุกสนานไพเราะ รวมทั้งท่วงทำนองที่เร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

พระราชพิธีเฉลิมฉลองพระชันษา 84 ปี

 
ตราสัญลักษณ์งานฉลองพระชันษา 7 รอบ

โดยใช้ชื่อการจัดงานเป็นภาษาไทยว่า "งานฉลองพระชันษา 84 ปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี" สำหรับชื่องานภาษาอังกฤษ คือ "The Celebrations of the 84th Birthday Anniversary of Her Royal Highness Princess Bejaratana" นอกจากนี้ยังมีการจัดพระราชพิธี รัฐพิธี และกิจกรรม ดังนี้

  • จัดงานพระราชพิธีฉลองพระชันษา 84 ปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 285 รูป ถวายเป็นพระกุศล โดยในกรุงเทพมหานครจัด ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำหรับจังหวัดอื่นๆ นั้น ขอเชิญชวนประชาชนร่วมทำบุญตักบาตรตามความเหมาะสมต่อไป
  • กิจกรรมการบริจาคโลหิตถวายเป็นพระกุศล
  • จัดทำสารคดีพระประวัติ พระกรณียกิจ และพระเกียรติคุณ เผยแพร่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
  • จัดทำหนังสือเรื่อง "ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า" ฉบับพ็อคเก็ตบุ๊ค
  • จัดทำหนังสือจดหมายเหตุการจัดงานฉลองพระชันษา 84 ปี สมเด็จพระเจ้า ภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • กรมธนารักษ์จัดทำเหรียญที่ระลึก
  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก
  • พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ออกแบบภาพวัว เพื่อจัดทำเสื้อจำหน่ายให้แก่มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
  • มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำนาฬิกาที่ระลึกจำหน่าย


หนังสือ

หนังสือดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า

เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเรียบเรียงโดยคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร สำนักนายกรัฐมนตรีให้จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงเจริญพระชันษา 84 ปี จำนวน 711 หน้า โดยผู้เรียบเรียงได้มอบลิขสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา

เหรียญกษาปณ์

กรมธนารักษ์ออกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดังต่อไปนี้

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ฉลองพระชันษา 80 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 มีลักษณะดังนี้[72]
    • ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสายสร้อยเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1, เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1, และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"
    • ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระนามย่อ "พ.ร." ภายใต้มงกุฎขัตติยราชนารี และมีพระวชิระ ดอกบัว และดารารัศมีประดับอยู่โดยรอบ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระชนมายุ ๘๐ พรรษา ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘" เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาและ "ประเทศไทย" ตามลำดับ
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ฉลองพระชันษา 84 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีลักษณะดังนี้[73]
    • ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสายสร้อยเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1, เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1, และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"
    • ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระนามย่อ "พ.ร." ภายใต้มงกุฎขัตติยราชนารี ล้อมด้วยลายไทยประดิษฐ์ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระชนมายุ ๘๔ พรรษา ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒" เบื้องล่างมีข้อความว่า "ประเทศไทย" โดยมีจุดกลมคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่าง
  • เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555 มีลักษณะดังนี้
    • ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสายสร้อยเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1, เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1, และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"
    • ด้านหลัง กลางเหรียญเป็นรูปพระเมรุมาจัดวาง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ หลังรูปพระเมรุมีรูปแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีผ่าน ปุยเมฆ สื่อความหมายว่าแสงสุดท้ายและเป็นการน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ตราไปรษณียากร

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดออกตราไปรษณียากรที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดังต่อไปนี้

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 80 ปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา 80 ปี - เป็นพระรูปทรงฉลองพระองค์ชุดไทยสีเทาเข้ม ประดับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 ที่พระอังสาเบื้องขวาประดับเข็มกลัดเพชรอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.6 ในรัชกาลที่ 6 ฉากพื้นเป็นสีชมพูซึ่งเป็นสีวันประสูติ-วันอังคาร (วันแรกจำหน่าย: 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548) [74]
  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 84 ปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา 84 ปี เป็นพระรูปทรงฉลองพระองค์ชุดไทยสีน้ำเงินเข้ม ประดับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 อักษรบอกราคา 3 บาทเป็นสีชมพูซึ่งเป็นสีวันประสูติ-วันอังคาร (วันแรกจำหน่าย: 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552) [75]

บทเพลง

สิ่งอันเนื่องด้วยพระนาม

พระพุทธรูป

  • พระพุทธเพชรรัตนสุวัทนามัยมหามุนีชินสีห์วิสุทธิโสภาคย์ วัดสิริจันทรนิมิตร
  • พระพุทธเพชรกาญจน์ วัดโมลีโลกยาราม
  • พระเจ้าศรีสรรเพชรรัตนาทร – วัดโนนสว่าง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี[81]

พันธุ์ไม้

  • กล้วยไม้สิงโตเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ เป็นกล้วยไม้คู่ผสมใหม่ของโลก ผสมโดยนายภวพล ศุภนันทนานนท์ ได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้เชิญพระนามมาตั้งเป็นนามกล้วยไม้สิงโตคู่ผสมใหม่ว่า สิงโตเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ ขึ้นทะเบียนกับสมาคมพืชสวนอังกฤษเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในชื่อ Bulbophyllum "Princess Bejaratana"[82]

สถานที่

ทุน

พงศาวลี

เชิงอรรถ

  1. บทพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมบทนี้ ไม่ได้นำมาใช้ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติพระราชธิดา อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีการนำบทพระราชนิพนธ์นี้มาใส่ทำนองและใช้ชื่อว่า เพลง "พระหน่อนาถ" เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ (อ้างอิง : “พระหน่อนาถ” จาก “บทกล่อม” ร.6 สู่ “บทเพลง” โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง[ลิงก์เสีย])

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ประกาศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  2. แถลงการณ์สำนักพระราชวัง “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ” สิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นข้อมูลวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
  3. Soravij. A Regal Princess a Remembered - Her Rayal Highness Princess Bejaratana เก็บถาวร 2013-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 20 ตุลาคม 2555
  4. Sokheounpang. Khmer-Siam Royal Family Tree. เรียกดูเมื่อ 27 มกราคม 2556
  5. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 205
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๑๙๑
  7. "หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ - สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 เฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  9. ราชกิจจานุเบกษา, การสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ที่ในพระบรมมหาราชวัง, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 10 มกราคม พ.ศ. 2468, หน้า 3094
  10. "พระนามและคำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ดวงแก้วแห่งมงกุฎเกล้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-05-11.
  11. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์, เล่ม 52, ตอน 0 ง, 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1179
  13. บ. บุหงามาศ. "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ" เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2555. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 24
  14. บ. บุหงามาศ. "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ" เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2555. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 25
  15. Office of His Majesty's principal private secretary: Royal Signatures เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นข้อมูลวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554
  16. 16.0 16.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 207
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. พระประวัติ เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 17 เมษายน 2555
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 234
  19. พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 20.6 "สกุลไทย - พระผู้ทรงเป็น "เพชรรัตน" แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-09-11.
  21. "NNT - HRH Princess Bejaratana Rajasuda passes away at 85". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-07-28.
  22. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เล่ม ๑๒๙, ตอน พิเศษ ๖๑ ง, วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕, หน้า ๑
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๘, ตอนพิเศษ ๘๒ ง, ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๕
  25. "เปิดให้ประชาชนเข้า สักการะ พระศพหลังครบ 7 วัน". นสพ.ไทยรัฐ. 29 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. ""ในหลวง-พระราชินี"เสด็จฯพระราชทานเพลิงพระศพ" (Press release). เดลินิวส์. 10 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. ""ในหลวง-พระราชินี" เสด็จพระราชทานเพลิงจริง สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ" (Press release). ผู้จัดการออนไลน์. 9 เมษายน 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-04. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. 28.0 28.1 CH7NEWS (12 ธันวาคม 2555). พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงบรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และทรงยกฉัตรไปกางกั้นถวายพระพุทธรูปปางประสูติที่วัดพระปฐมเจดีย์ เก็บถาวร 2016-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 14 ธันวาคม 2555
  29. "ในการบรรจุพระสรีรางคาร ณ ผนังทางมุขด้านใต้ของเสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ" (Press release). เดลินิวส์. 12 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. "พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จมาทรงบรรจุพระสรีรางคารเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ" (Press release). เดลินิวส์. 12 ธันวาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-15. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 31.5 31.6 บ้านจอมยุทธ - พระราชสุดาได้ จากฟ้ามาแทน
  32. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 33.4 33.5 "สกุลไทย - พระจริยวัตรในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-09-11.
  34. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  35. พระประวัติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี : พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สำนักงานผู้บริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา, เข้าถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  36. ผลพระกรณียกิจ เก็บถาวร 2012-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  37. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  38. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 39.4 39.5 39.6 39.7 39.8 พระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, สำนักบริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  40. 40.0 40.1 40.2 เว็บไซต์มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา : องค์กรในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  41. พระกรณียกิจบางประการ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  42. เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ กับพระกรณียกิจเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ - เนตรนารี เก็บถาวร 2012-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  43. พระกรณียกิจบางประการ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕) เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  44. พระราชวังสนามจันทร์ เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  45. พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  46. มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท เก็บถาวร 2012-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  47. ""วังรื่นฤดี" จุดเริ่มต้นของงานสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย" (Press release). แนวหน้า. 7 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  48. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  49. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  50. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  51. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  52. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
  53. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เล่ม ๑๒๙, ตอน พิเศษ ๖๑ ง, วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕, หน้า ๑
  54. การประดิษฐานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร,หน้า 12
  55. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์, เล่ม ๗๔ ตอน ๑๐๗ ง หน้า ๒๙๙๒, ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
  56. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๔๒ ตอน ๐ ง หน้า ๓๑๐๔, ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘
  57. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๕, ตอน ๓๙ ง หน้า ๑๕๕๐, ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
  58. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอน ๑๕๔ ง หน้า ๑, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
  59. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๔ ตอน ๑๒๘ ง หน้า ๒๗, ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
  60. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒, ตอน ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
  61. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ, เล่ม ๑๐๗ ตอน ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓
  62. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ รัตนวราภรณ์
  63. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ง หน้า ๓๑๕๕, ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙
  64. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๓, ตอน ๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙
  65. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (พันเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี), เล่ม 126, ตอน พิเศษ 73 ง , 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552, หน้า 16
  66. ราชกิจจานุเบกษา, [1]เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหารเป็นกรณีพิเศษ [พันเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็น พลเอกหญิง , เล่ม 126, ตอน 13 ข, 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552, หน้า 14
  67. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์เป็นกรณีพิเศษ (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี) เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , เล่ม 127, ตอน 4 ข, 23 เมษายน พ.ศ. 2553, หน้า 1
  68. 68.0 68.1 68.2 สนเทศน่ารู้ :สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  69. 69.0 69.1 69.2 69.3 69.4 69.5 ปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัล (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552) เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์สื่อมวลชนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  70. รายพระนามและรายนามผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2550 เก็บถาวร 2015-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  71. รายงานพิเศษเรื่อง สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ถวายรางวัลมหิดลวรานุสรณ์ ประจำปี 2546 แด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  72. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระชนมายุ ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๙, เล่ม ๑๒๓, ตอนพิเศษ ๑๑ ง, ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑
  73. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระชนมายุ ๘๔ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๗, ตอนพิเศษ ๑๐๖ ง, ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓, หน้า ๔๔
  74. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๘๐ พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เล่ม ๑๒๒, ตอน ๑๒๐ ง, ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑๕
  75. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๘๔ พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เล่ม ๑๒๖, ตอนพิเศษ ๑๘๓ ง, ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒, หน้า ๒๗
  76. เพลงเพชรแห่งพระมงกุฎเกล้า, บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน), เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  77. “พระหน่อนาถ” จาก “บทกล่อม” ร.6 สู่ “บทเพลง” เก็บถาวร 2011-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  78. เพลงพสุธากันแสง, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  79. เพลงใบไม้ร่วง, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  80. เพลงเพชร, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  81. "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงยกช่อฟ้าวิหารเฉลิมพระเกียรติฯ วัดโนนสว่าง จังหวัดอุดรธานี". สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7. 3 ตุลาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  82. สิงโตเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ (Bulbophyllum 'Princess Bejaratana'), เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  83. ห้องระบบสืบค้นข้อมูล เพชรรัตน, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เรียกดูเมื่อ 25 *กุมภาพันธ์ 2556
  84. ห้องสมุดเพชรรัตนราชสุดา เก็บถาวร 2008-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์
  85. ค่ายลูกเสือวชิราวุธ, เรียกดูเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
  86. "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ สืบเชื้อสายพระมารดา "อภัยวงศ์"". เดลินิวส์. 2555. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  87. คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3

หนังสือ

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(2 มกราคม พ.ศ. 2551 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร