คณะลูกเสือแห่งชาติ

คณะลูกเสือแห่งชาติ หรือ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (อังกฤษ: National Scout Organization of Thailand) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการลูกเสือของประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เข้าร่วมสมัชชาลูกเสือโลกเมื่อ พ.ศ. 2465

คณะลูกเสือแห่งชาติ
คําขวัญเสียชีพอย่าเสียสัตย์
ก่อตั้ง1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (113 ปี)
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเภทนิติบุคคล
ที่ตั้ง
สมาชิก (พ.ศ. 2553)
1,360,689 คน
ประมุขลูกเสือแห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระมหากษัตริย์ไทย)
องค์อุปถัมภิกา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
นายกสภาลูกเสือไทย
แพทองธาร ชินวัตร
(นายกรัฐมนตรีไทย)
เลขาธิการ
สุทิน แก้วพนา
องค์กรปกครอง
กระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์http://www.scoutthailand.org

ประวัติกิจการลูกเสือไทย

แก้
 
เด็กนักเรียนไทยในเครื่องแต่งกายลูกเสือ ณ จังหวัดนครปฐม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศสหราชอาณาจักร ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด โรเบิร์ต เบเดน-โพเอลล์ (Lord Robert Baden-Powell) ซึ่งตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boer) จนประสบผลสำเร็จ และเป็นที่มาของการตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง นับเป็นประเทศกลุ่มที่ 3 ของโลก ต่อจากประเทศในเครือจักรภพอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่มีการสถาปนากองลูกเสือขึ้น

จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรก ขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือ ตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้นประกาศใช้เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม รศ.130 (พ.ศ. 2454) กำหนดให้ลูกเสือเป็นสาขาหนึ่งของเสือป่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญไว้ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โดยผู้ที่นับว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง

  • พ.ศ. 2463 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือนานาชาติ ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา
  • พ.ศ. 2467 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก

หลังจากนั้นกิจการลูกเสือก็ได้ซบเซาลง จนในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภิกา พร้อมกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงรับไว้ในพระอนุเคราะห์ (โดยไม่ออกพระนาม) ทำให้กิจการลูกเสือไทยกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง ซึ่งแม้ทั้งสองพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ดอกผลแห่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก็ยังใช้จุนเจือกิจการคณะลูกเสือแห่งชาติต่อมา และยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน

ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นประมุขแห่งคณะลูกเสือแห่งชาติ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นองค์อุปถัมภิกาคณะลูกเสือแห่งชาติ

องค์กรบริหารกิจการลูกเสือของไทย

แก้
 
ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ องค์กรซึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของคณะลูกเสือแห่งชาติ

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการลูกเสือของชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
  2. ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติ หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
  3. ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงอื่น
  4. รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  5. ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบของทางราชการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติรวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
  6. จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
  7. จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุลเสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  8. จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
  9. ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัดและสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
  10. ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
วัตถุประสงค์คณะลูกเสือแห่งชาติ
  1. ให้มีนิสัยในการสังเกตจดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
  2. ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  3. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
  4. ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
  5. ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณีวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ
วิสัยทัศน์

มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณภาพ

ค่านิยมองค์กร
SCOUT
  • Sincerity ความจริงใจ
  • Courtesy ความสุภาพอ่อนโยน
  • Obedience ความเชื่อฟัง การปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ
  • Unity ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความเป็นเอกภาพ
  • Thrifty ความประหยัด การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานและชีวิตส่วนตัว
พันธกิจ
  1. พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการฝึกอบรมลูกเสือ
  2. ปรับปรุง พัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือ
  3. บริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือ
  4. พัฒนามาตรฐานบุคลากรทางการลูกเสือและเครือข่าย
  5. ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการ

ประเภทของลูกเสือ

แก้

ไม่ว่าประเทศใดในโลกที่มีกิจการลูกเสือของตน จะมีการแบ่งประเภทเอาไว้เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ หลักการ และวิธีการขององค์การลูกเสือโลก ซึ่งบางอยางอาจถูกปรับเปลี่ยนไปบางตามลักษณะสังคม วัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้วจะแบ่งประเภทลูกเสือตามเกณฑ์อายุ ด้วยการที่คำนึงถึงพัฒนาการทางรางกาย และจิตใจของเด็กเป็นพื้นฐานในการฝึกอบรม เพื่อไม่ให้ฝืนธรรมชาติของเด็ก ซึ่งสามารถทำให้เด็กพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมากแล้วทั่วโลกจะมีการแบงประเภทลูกเสือเป็น 2 แบบใหญ่ คือแบบอังกฤษ ซึ่งถือเอาแบบแผนตามที่ BP เคยปฏิบัติเอาไว้ กับแบบอเมริกา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย

สำหรับประเทศไทยนั้นยึดถือตามแบบอังกฤษ คือ

  1. ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง
  2. ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ
  3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่
  4. ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ

ธงในคณะลูกเสือแห่งชาติ

แก้
 
ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ
 
ธงลูกเสือจังหวัด

ธงลูกเสือแบ่งออกเป็น 4 อย่างดังต่อไปนี้[1]

  1. ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ
  2. ธงลูกเสือจังหวัด
  3. ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ
  4. ธงประจำหมู่ลูกเสือ

ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด

แก้

ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 หมวด 4 มาตรา 50 ได้ระบุถึงธงลูกเสือทั้งสองชนิด ความว่า ให้มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัดโดยได้รับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ และได้กำหนดลักษณะของธงทั้งสองไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 หมวด 6 ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด ความว่า

ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ

ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 52 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีตราธรรมจักรสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 32 เซนติเมตร

ธงลูกเสือจังหวัด

ธงลูกเสือจังหวัด มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 27 เซนติเมตร มีขอบรอบดวงกลมเป็นสีดำ 2 ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง 2 มิลลิเมตร ขอบในกว้าง 1 มิลลิเมตร ระยะระหว่างขอบนอกกับขอบในห่างกัน 2 มิลลิเมตร ตรงกลางของดวงกลมมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติเป็นสีเหลือง และใต้ตรานั้นให้มีชื่อจังหวัดเป็นอักษรสีดำ

ซึ่งรูปแบบดังกล่าว ยังคงไว้ตามลักษณะเดิมของ ธงประจำกองคณะลูกเสือแห่งสยาม หรือ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อครั้งรัชกาลที่7 และธงลูกเสือจังหวัดเมื่อครั้งรัชกาลที่ 8 ส่วนคันธงนั้น ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 มาตรา 13 ธงประจำคณะลูกเสือและธงประจำกองลูกเสือ ความว่า คันธงยาว 2.60 เมตร ที่ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิร

ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด เป็นธงสำคัญของคณะลูกเสือแห่งชาติอันเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ รวมถึงสถาบัน ชาติ ศาสนาอันควรเคารพยิ่ง ในปัจจุบัน ธงทั้งสองชนิดจะเชิญเข้าใช้ในกิจการต่าง ๆ ตามแต่โอกาส อาทิ พิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ หรือเชิญเข้าประจำในกองลูกเสือเกียรติยศ โอกาสพระราชพิธี รัฐพิธี และ พิธีของลูกเสือ หรือรับเสด็จพระราชดำเนินในการประพาสต่างท้องถิ่น สำหรับพระเกียรติยศประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ พระรัชทายาท องค์อุปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งนี้ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนธงสำคัญต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติธง เมื่อเชิญไปในพิธีการใด ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบพิธีและธรรมเนียม เช่น มีการจัดกองเกียรติยศสำหรับธงเวลาเชิญไปในงานพิธีและเชิญกลับ มีการบรรเลงเพลงมหาชัยเป็นเกียรติยศสำหรับธง รวมไปถึงการเก็บรักษาและแสดงความเคารพต่อธงเป็นพิเศษ เมื่อชำรุดก็จะมีการขอรับพระราชทานธงแทนธงเดิมที่ชำรุด หรือขอรับพระราชทานธงใหม่เมื่อมีจังหวัดเกิดขึ้น เป็นต้น

     เมื่อได้รับพระราชทาน​ธงผืนใหม่ เป็นอันว่าธงที่ได้รับพระราชทาน​มาแต่เดิมนั้นพ้นสมัย​การเชิญออกใช้แล้ว ดังนั้น ธงผืนเดิมควรเก็บรักษาไว้เป็นที่เคารพ และเกียรติประวัติ​ของจังหวัด โดยคลี่ออกจากถุงคลุมธง เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของเนื้อผ้าจากการม้วนเก็บรักษาเป็นเวลานานก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายธงผืนเดิม เช่นเปลี่ยนสถานที่เก็บรักษา ยังคงต้องใช้ระเบียบการเชิญธงตามปกติ เพียงแต่ไม่เชิญธงผืนเดิมออกใช้ในพิธีการใดๆ เท่านั้น

ส่วนธงผืนใหม่นั้น เมื่อได้รับพระราชทาน​มาแล้ว จะต้องเชิญกลับไปยังจังหวัดด้วยความเคารพ ตามระเบียบการเชิญธง คือมีหมู่เชิญ​ธง​ และกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ ทั้งไม่นำธงเก็บในที่ไม่สมควร เช่น ไม่เก็บไว้ในที่เก็บของใต้ท้องรถ ในกรณีที่เขิญขึ้นรถคันเดียวกับที่ใช้เดินทาง ธงจะต้องขึ้นรถก่อน เมื่อถึงจุดหมายจะเชิญลงที่หลัง โดยมีกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ตั้งรอรับ

การเก็บรักษา หากมีสถานที่ประจำอันเคยใช้เก็บรักษา​ธงลูกเสือ​จังหวัด​ผืน​เดิม ก็สามารถ​นำไปเก็บรักษาร่วมกันได้ หรือสถานที่อันเหมาะสม เช่น ห้องประดิษฐาน​พระพุทธ​นวราช​บพิตร​ ห้องเก็บรักษา​พระแสงราช​ศัสตรา​ ฯลฯ หรือเก็บไว้ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นผู้รักษาธง และมีหน้าที่ประจำธงมาแต่เดิม โดยการเชิญธงไปเก็บรักษานั้น จะต้องปฏิบัติตาม​ระเบียบการจัดกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ในการรับส่งธงด้วย

เมื่อเก็บรักษาปกติ ย่อมจะอยู่ในถุงคลุมเสมอ จะคลี่ธงออกก็ต่อเมื่อเชิญธงไปในพิธีของลูกเสือ เชิญ​ธงเข้าประจำในกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ ซึ่งจัดสำหรับเชิญธงในพิธีการทางลูกเสือ หรือเป็นกองลูกเสือ​เกียรติยศ​รับเสด็จพระราชดำเนิน​ประมุข และองค์อุปถัมภ์​คณะ​ลูกเสือ​แห่งชาติ​ในการเสด็จพระราชดำเนิน​มาปฏิบัติ​พระราชกรณียกิจ​ พระกรณียกิจ​ในจังหวัด หรือพระราชพิธี​ รัฐพิธี​ หรือพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังห้ามดัดแปลงธง หรือส่วนประกอบของธงโดยพลการ เช่น การทาสีเสาธงเป็นสีอื่น การตัดทอนเสาธง ฯลฯ เมื่อธงเกิดชำรุดจนไม่สามารถ หรือไม่สมควร​เชิญออกใช้ สำนักงาน​ลูกเสือ​จังหวัด​จะต้องมีหนังสือ​แจ้งให้สำนักงาน​ลูกเสือ​แห่งชาติ​ ดำเนินการขอรับพระราชทาน​ธงผืนใหม่แทนธงที่ชำรุดนั้น

ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ และธงประจำหมู่ลูกเสือ

แก้
 
จากซ้าย : ธงประจำกองลูกเสือสำรอง ธงประจำกองลูกเสือสามัญ ธงประจำกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ธงประจำกองลูกเสือวิสามัญ

ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ มีลักษณะตามข้อ 309 แห่งข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ดังต่อไปนี้

ธงลูกเสือสำรอง

ทำด้วยผ้าสีเหลืองขนาด 90×60 ซม. มีครุยสีเขียวยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเขียว ขนาด 40×25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน

ธงลูกเสือสามัญ

ทำด้วยผ้าสีเขียว ขนาด 120×80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลือง ขนาด 40×25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน

ธงลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

ทำด้วยผ้าสีเลือดหมู ขนาด 120×80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลืองขนาด 40×25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน[1]

ธงลูกเสือวิสามัญ

ทำด้วยผ้าสีขาบ ขนาด 120×80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลือง ขนาด 40×25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะสีเงิน[1]

ธงประจำหมู่ลูกเสือ

ธงประจำหมู่ลูกเสือ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหนังสือการลูกเสือสำหรับเด็กชาย ตามข้อ 310 แห่งข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "ข้อบังคับลูกเสือว่าด้วยการปกครอง พ.ศ. 2509" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-08-18.