พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (เดิม: เครือแก้ว อภัยวงศ์; 15 เมษายน พ.ศ. 2449 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528) เป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับเล็ก บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สุวัทนา ได้เข้ารับราชการฝ่ายใน ในตำแหน่ง “เจ้าจอมสุวัทนา” และได้รับการสถาปนาเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี” ตามลำดับ
พระนางเจ้าสุวัทนา | |
---|---|
พระวรราชเทวี | |
พระราชเทวี | |
ดำรงพระยศ | 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (1 ปี 107 วัน) |
ประสูติ | 15 เมษายน พ.ศ. 2449 บ้านคลองบางหลวง บางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี |
สิ้นพระชนม์ | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 (79 ปี) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พระสวามี | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบุตร | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี |
ราชวงศ์ | จักรี(อภิเษกสมรส) |
พระบิดา | พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) |
พระมารดา | เล็ก บุนนาค |
ศาสนา | พุทธ |
ลายพระอภิไธย |
พระองค์ได้ประสูติพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี หลังจากประสูติพระราชธิดาได้เพียงหนึ่งวัน พระราชสวามีเสด็จสวรรคต พระองค์และพระราชธิดาจึงได้เสด็จไปประทับยังสหราชอาณาจักร กว่า 20 ปี ภายหลังจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยประทับในวังรื่นฤดี เป็นการถาวรตั้งแต่พ.ศ. 2502[1]
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 19.09 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เนื่องจากพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ ณ โรงพยาบาลศิริราช[2] สิริพระชันษา 79 ปี 5 เดือน 25 วัน
พระประวัติ
พระประสูติกาล
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2449 เวลา 08.07 น. มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ หรือ ติ๋ว เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับเล็ก บุนนาค ต่อมาพระบิดาต้องไปสมรสใหม่ตามความเห็นของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ผู้เป็นบิดา พระมารดาจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านกับมารดา และมีพระประสูติกาลที่บ้านคลองบางหลวง ภายหลังพระมารดาได้ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์จึงอยู่ภายใต้ความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระมารดา และเป็นผู้อำนวยการละครหลวงฝ่ายในในกรมมหรสพ โดยที่พระบิดามิได้มาเหลียวแลเลย อนึ่งพี่สาวของพระอัยยิกา คือ เจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา ซึ่งเป็นทวดของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา[3] ดังนั้น คุณเครือแก้วจึงมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุด้วย[4]
พระองค์มีเชื้อสายเปอร์เซียและมอญจากตา คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ดังนั้นเธอจึงเป็นคนในสกุลบุนนาคสายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 6[5] ทั้งยังมีเชื้อสายเขมรจากสกุลอภัยวงศ์ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา แม้ทางฝ่ายบิดาจะมีคนจากสกุลบุนนาคซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซียอยู่ด้วย คือท่านผู้หญิงทิม โดยผ่านทางนักนางละออผู้เป็นย่า และมีเชื้อสายเขมรจากนักมุมผู้เป็นมารดาของนักนางละออ[6]พระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องด้วยพระมารดาของพระองค์กับพระมารดาของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นพี่น้องกัน
สู่ราชสำนัก
เครือแก้วได้รับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในพระราชสำนักจนได้รับเลือกเป็นต้นเสียง ทั้งยังได้แสดงละครที่เป็นบทพระราชนิพนธ์หลายโอกาสด้วยกันในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2467[7] เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2467 ในคราวนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นนิมิตว่าคุณพนักงานผู้นี้จะได้รับสถาปนาเป็นพระวรราชเทวี เจ้านายในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า
...วันหนึ่งขณะที่คณะละครหลวงกำลังอาบน้ำอยู่บริเวณบ่อน้ำ เสด็จพระนางฯ ซึ่งขณะนั้นเราเรียกกันเล่นๆ ว่าพี่ติ๋ว เดินเล่นมาคุยกับคุณข้าหลวงอีกคนที่เรียกว่า เจ๊นวล พอดีขณะนั้นมียายซิ้มแก่ๆ คนหนึ่ง ซึ่งเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ หอบปี๊บสนิมเขรอะ พอยายซิ้มที่มาเหลือบเห็นพี่ติ๋ว ก็ตกใจโยนปี๊บโครม แล้วไหว้ยกมือไหว้จนก้นกระดกก็พูดว่า "พระราชินี...พระราชินี" เจ๊นวลได้ฟังก็ชอบใจและพูดกับพี่ติ๋วว่า "นี่แม่ติ๋วลางมันมา ยังไงก็อย่าลืมเจ๊นะ" แล้วพวกเราก็ขำกันใหญ่
— คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ
เครือแก้วก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง ได้รับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาซึ่งในขณะนั้นเป็นพระบรมราชินี ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาวซึ่งต้องมีบทพูดจาโต้ตอบกับบรรดาสาวใช้ของนางจันทร์[7] ซึ่งคุณเครือแก้วก็ได้ฝึกซ้อมเต็มที่เล่นเสมือนจริง ทำให้เคืองพระทัยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา จึงโปรดให้ข้าหลวงส่งเสียงโห่ฮาขึ้น และใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธถึงกับเสด็จขึ้นทันที ภายหลังจากการซ้อมและการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วง ณ สโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีจิตประดิพัทธ์ต้องในอัธยาศัยของเครือแก้ว เนื่องด้วยความสุขุม ไม่ได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์กระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นจากผู้ทอดพระเนตรและผู้ชมละคร จึงได้ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ[7] ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามใหม่แก่เครือแก้วว่า สุวัทนา[7] พร้อมทั้งพระราชทานเข็ม "ราม ร" ประดับเพชรแก่คุณสุวัทนา ซึ่งคุณสุวัทนาได้ใช้ประดับไว้ที่ปอยผมในวันแสดงละครเรื่องพระร่วง ทำให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมละครคราวนั้นว่าสตรีผู้นี้ต้องพระราชประดิพันธ์ในองค์พระเจ้าอยู่หัวเสียแล้ว
อภิเษกสมรส
ต่อมา ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 ได้ทรงสถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง[7] ถือเป็นสตรีท่านสุดท้ายที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมในราชวงศ์จักรี[8]
เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอภิเษกสมรสและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าจอม พระสนมเอกนั้น ย่อมมีความริษยาตามมา ตามที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า
...เจ้าจอมมาพูดแม่ดิฉันว่า"แม่เหนย มาอยู่กับฉันเถอะ มาช่วยทำกับข้าวให้หน่อย ฉันกลัวยาเบื่อ" แม่ของดิฉันเลยปิดร้านอาหารที่ทำอยู่ และเข้าวังมาอยู่กับท่าน ถ้าร่วมโต๊ะเสวยกับล้นเกล้าฯ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีอันตรายอะไรหรอก เพราะของล้นเกล้าฯ มีคนเทียบเครื่อง แต่ถ้าอยู่เองตามลำพังแล้ว เรื่องอาหารการกินของเจ้าจอมนี่ต้องระวังมาก ไว้ใจใครไม่ได้เลย
— คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ
ในระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายูเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนา โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย[7]ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเข็มประจำกรมทหารเบา เดอรัม (Durham Light Infantry) ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวยุโรปที่นายทหารจะมอบเครื่องหมายสังกัดของตนแก่คนรัก เหมือนหนึ่งฝากชีวิตและเกียรติภูมิไว้ให้ โดยเจ้าจอมได้ใช้ประดับตลอดการเดินทาง และได้มีโอกาสร่วมงานอุทยานสโมสร เช่น ที่จวนผู้สำเร็จราชการสเตรส์เซ็ตเทิลเมนส์ และจวนเลขาธิการใหญ่สหภาพมลายา อีกทั้งได้ร่วมโต๊ะเสวยในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารในวาระต่าง ๆ ร่วมกับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ และสุลต่านแห่งรัฐเประ เป็นต้น[9] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาตามเสด็จไปในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เนือง ๆ[7] เช่น โดยเสด็จฯ พระราชสวามีไปดูแลกิจการของเสือป่า เป็นอาทิ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระสวามี[9] แม้ในขณะที่พระสวามีเสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาทเพื่อตรวจแถวทำความเคารพก็โปรดให้เจ้าจอมเดินคู่บนลาดพระบาท ในการเสด็จกลับพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีส่วนร่วม รวมถึงเจ้าจอมสุวัทนา ซึ่งได้รับพระราชทาน
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1
- ชุดเครื่องสำอาง พร้อมประกาศนียบัตร
- เข็ม ราม ร ประดับเพชร ลงยาสีขาบ ด้านหลังบรรจุเส้นพระเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวไว้
ต่อมาเจ้าจอมสุวัทนาก็ตั้งครรภ์ สร้างความปิติปราโมทย์แก่พระสวามีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้ารอพระประสูติการด้วยพระราชหฤทัยอันจดจ่อ โปรดฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนามาเข้าเฝ้าเพื่อที่พระองค์จะได้มีพระกระแสรับสั่งกับพระราชกุมารที่อยู่ในครรภ์[9]ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า "...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่..."[10] พร้อมกันนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า[11][note 1]
แต่ต่อมานับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังจากพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรด้วยพระโลหิตเป็นพิษในอุทร การนี้เจ้าจอมสุวัทนาที่มีพระครรภ์แก่ก็ได้พยาบาลพระราชสวามีมาโดยตลอดและมิเห็นแก่ความยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงบันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ในพระราชพินัยกรรม ความว่า "...ตั้งแต่เราล้มเจ็บลง สุวัทนาได้พยาบาลอย่างดีที่สุดโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยากลำบากกายตามวิสัยของหญิงที่มีครรภ์แก่ อุตส่าห์มานั่งพยาบาลป้อนฃ้าวหยอดน้ำ และทำกิจอื่น ๆ เป็นอเนกประการ วันละหลายชั่วโมง, นับว่าเป็นเมียที่ดีจริง ๆ"[12]
สถาปนาพระอิสริยยศและมีพระประสูติการพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6
ในพระราชพิธีฉัตรมงคลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกการพระราชพิธีทุกวันแม้พระพลานามัยมิใคร่จะสมบูรณ์นัก ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468 เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเจ้าจอมสุวัทนาจะมีสูติกาลพระหน่อในไม่ช้า ประกอบกับการทำหน้าที่ของพระภรรยาที่ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยเหตุผลดังปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ดังนี้[13]
เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะทรงยกย่องให้เปนใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า
และทรงโปรดเกล้าให้แปลพระนามเป็นภาษาอังกฤษว่า Her Majesty Queen Suvadana ในพระราชโทรเลขแจ้งข่าวพระประสูติการ จนในวันสุดท้ายของการพระราชพิธีฉัตรมงคลอันเป็นการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรอาการหนักมิอาจเสด็จออกได้ บรรดาเจ้านายก็ต่างมาเฝ้าแหนกันเรื่อยมา อาทิ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายชั้นสูง รวมถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีที่ทรงพระครรภ์แก่ใกล้มีพระประสูติการ
จนในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน เวลาค่ำพระวรราชเทวีประชวรพระครรภ์หนักจนเช้าก็ยังไม่ประสูติ คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาพระเจ้าอยู่หัวจึงลงความเห็นว่าจะใช้เครื่องมือช่วยให้มีพระประสูติการวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 12.52 น. คณะแพทย์ก็ใช้เครื่องมือช่วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ให้ประสูติเจ้าฟ้าพระองค์น้อยอย่างปลอดภัย เจ้าฟ้าหญิง เช่นนั้นชาวพนักงานประโคมดุริยสังคีต ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เดิมทรงเข้าใจว่าปืนใหญ่ที่ยิงบอกเวลาที่เรียกว่าปืนเที่ยงเป็นปืนยิงสลุตถวายพระราชโอรสจึงทรงปิติอย่างยิ่ง แล้วมีผู้กราบบังคมทูลว่าไม่ใช่ปืนใหญ่ถวายความเคารพแต่เป็นปืนเที่ยง จึงทรงนิ่งไป ต่อมาทรงสดับเสียงดุริยสังคีต จึงทรงแน่พระทัยว่าเจ้าฟ้าเป็นพระราชธิดาจึงตรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[14] แต่ก็มีพระอาการเพียบหนักขึ้น เจ้าพระยาอัศวินฯ จึงปรึกษากับเจ้าพระยารามราฆพว่าจะให้ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรพระราชธิดาอย่างใกล้ชิดในเวลาบ่าย เจ้าคุณอัศวินฯ จึงเข้าไปกราบบังคมทูลว่า “Your Majesty, you want to see your baby” ทรงตอบว่า “Yes, sure” ในบ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ก็มิสามารถมีพระราชดำรัสได้แล้ว จากนั้น ก็ทรงรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคต เมื่อเวลา 1.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนพระนามของพระราชธิดาที่ประสูตินั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[15] และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
การดำรงพระชนมชีพในสมัยรัชกาลที่ 7
หลังจากประสูติการของเจ้าฟ้าหญิงได้ไม่นาน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดาได้ย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเจ้าฟ้าทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[16] ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่นแวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของเจ้าฟ้าหญิง ในครั้งนั้นท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นยายก็ร่วมในการอภิบาลเจ้าฟ้าหญิงด้วย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม[17]
ส่วนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ก็ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[14]
ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฏบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม
ต่อมาพระองค์โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส[16] ตำหนักแห่งนี้พระราชทานนามว่า พระตำหนักสวนรื่นฤดี มีนายหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร ในกาลต่อมาได้ขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ
ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นัก จึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว[18] พระองค์ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค[18] ทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานัปการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ[18] โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด[18]
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ เสด็จพระนางฯ มีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยโปรดให้เข้าเฝ้าและจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ[18] และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรเป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา[18] และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระธิดาได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ
พระองค์ทรงประสบความยากลำบากนานาประการ โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองอันเนื่องจากภาวะสงคราม พระองค์ทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งทรงทำงานบ้านเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ ทรงเรียนรู้วิธีซื้อขายหุ้น ตลอดจนการทำธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และทรงดำเนินการดังกล่าวได้อย่างชำนาญ
นิวัติประเทศไทย
เมื่อพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศไทยเป็นปกติสุขเรียบร้อย กอปรกับการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วระยะหนึ่ง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าบ้านที่แท้จริงของพระองค์และพระราชธิดาคือประเทศไทยอันเป็นมาตุภูมิ จึงมีพระดำริจะเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ดังนั้น ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดา ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อทรงเตรียมการที่จะเสด็จนิวัตเป็นการถาวรในโอกาสต่อไป วันที่เสด็จกลับพระนคร เสด็จถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ เวลา 0.20 น. ณ ที่นั้น นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีและภริยา พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เลขาธิการพระราชวัง ตลอดจนอดีตข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เฝ้ารับเสด็จ
เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว จึงทรงซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) จากนายแมนฟุ้ง เนียวกุล จำนวน 7 ไร่ และทรงซื้อที่ดินส่วนที่เป็นแนวขนานปิดทางเข้าออกเพิ่มเติมจากนายเอ อี นานา ด้วย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังโดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ตำหนักแห่งใหม่นี้แล้ว จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท สี่พระยาวัตถุโบราณ จำกัด แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกใน พ.ศ. 2501 เพื่อเพื่อทรงขายตำหนัก ณ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษและทรงย้ายสิ่งของต่าง ๆ กลับประเทศไทย และเพื่อเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[18] ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์
ปลายพระชนม์
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี นับตั้งแต่นิวัตประเทศไทย ก็ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจไม่เคยขาด เพราะมีพระอนามัยดีไม่เคยประชวรจนขนาดเสด็จเข้าประทับในโรงพยาบาล จนเริ่มมีพระชันษา 70 ปี เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมีผลทำให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กบฏบวรเดช สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ทรงระวังการกระทำของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทุกฝีก้าวเสมือนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์มีพระชันษาไม่กี่ปี ต่อมาจึงประชวรด้วยพระโรคอัลไซเมอร์[19] โดยในช่วงแรกยังไม่แสดงอาการอีกทั้งยังทรงระงับพระอาการได้ทำให้ไม่มีผู้ใดล่วงรู้นอกไปจากแพทย์ประจำพระองค์ และข้าหลวงผู้เฝ้าใกล้ชิด จนกระทั่งวันหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางสนองพระโอษฐ์มาเยี่ยมพระนางเจ้าสุวัทนาฯและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนาฯก็เสด็จลงมาต้อนรับนางสนองพระโอษฐ์เช่นเคย แต่เมื่อทรงดำเนินลงบันไดมาถึงช่วงกลางบันไดก็ทรงทรุดพระองค์ลงประทับที่กลางบันไดนั้นเป็นเวลาเกือบ 10 นาที เหมือนกับทรงคำนึงอะไรอยู่ แล้วจึงเสด็จพระดำเนินต่อ นางสนองพระโอษฐ์ผู้นั้นจึงแจ้งแก่แพทย์ประจำพระองค์ว่าพระอาการทรุดหนักแล้ว แพทย์จึงถวายพระโอสถรักษา แต่พระโอสถนี้ยังมีผลข้างเคียงทำให้พระองค์ทรงดุษณีภาพต่างๆ ขึ้นมา ทั้งยังทำให้วิตกพระจริต เช่น เมื่อหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง มาเฝ้าทูลพระบาท พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็มีรับสั่งด้วยดี จนกระทั่งหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้นทูลลากลับไป พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงตรัสกับข้าหลวงที่เฝ้าอยู่นั้นว่า "เขาพกปืนเข้ามา ยิงทะลุเพดาน" ซึ่งเหตุการณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้เมื่อหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนั้น คุ้นเคยกับชาววังรื่นฤดีอย่างยิ่ง เพราะ เคยมาเฝ้าฯ อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งร่องรอยกระสุนบนเพดานก็ไม่มี แพทย์จึงเชิญเสด็จเจ้ารักษาพระอาการ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงรักษาอยู่ 4 เดือน ก็มีพระอาการทุเลาลงมาก และเสด็จไปพักพระวรกายที่พระตำหนักพัชราลัย อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็ประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะอักเสบ จนต้องรักษาพระองค์เป็นเวลานาน ณ โรงพยาบาลศิริราช[20]
สิ้นพระชนม์
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประชวรด้วยพระอาการพระปัปผาสะอักเสบและมีพระอาการแทรกซ้อน กระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เวลา 19.09 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะพระชันษา 79 ปีเศษ
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อ 60 ปีก่อน พระราชทานพระโกศทองน้อย ประดิษฐานพระศพภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
เมื่อถึงงานพระเมรุ ได้อัญเชิญพระโกศโดยรถวอพระวิมานไปยังพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2529 และพระราชทานเพลิงพระศพในวันเดียวกันนั้น[21] และมีการเก็บพระอัฐิในวันที่ 9 มีนาคม และวันฉลองพระอัฐิเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งทั้งสองงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์[21] ส่วนพระอัฐิของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ได้ประดิษฐาน ณ หอพระนากในพระบรมมหาราชวัง[21]และส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐานยังวิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี
ส่วนพระสรีรางคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้ประดิษฐาน ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เคียงข้างพระบรมราชสวามี ตามพระราชพินัยกรรมที่ทรงเขียนไว้ว่า "...ส่วนเรื่องพระอัษฐินั้น, ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม, แต่เราเห็นโดยจริงใจว่า สุวัทนาสมควรที่จะได้ตั้งคู่กับเรา"[12] และภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา จึงได้มีการนำพระสรีรางคารส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้เคียงข้างกับพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระชนนี[22][23]
ที่ประทับ
บ้านคลองบางหลวง ของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) เป็นที่ประทับแรกของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในช่วงตั้งแต่ประสูติ ขณะทรงพระเยาว์ ต่อมาย้ายที่ประทับไปประทับ ณ บ้านสวนสาลี่ ต่อมาเป็น บ้านนรสิงห์ ที่ในปัจจุบัน คือ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)เป็นผู้อภิบาลเพราะคุณหญิงเล็ก บุนนาคถึงอนิจกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ บางครั้งก็ไปประทับที่เรือนพระกรรมสักขี ในพระราชวังสนามจันทร์ กับพระชนก ต่อมาเมื่อทรงถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ย้ายมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท ถ้าประทับที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ราชนิเวศน์กรีฑาสถาน จะประทับ ณ พระที่นั่งสมุทรพิมาน ต่อมาเมื่อใกล้พระประสูติกาลพระหน่อพระองค์แรกในรัชกาล ก็ทรงย้ายมาประทับ ณ พระที่นั่งเทพยสถานพิลาส พระปรัศว์ขวาของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเพื่อเตรียมพระประสูติการ[24] เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตจึงได้ย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดีพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาแพ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาวต่างมารดาของพระชนนีในพระองค์ เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วมีเครื่องบินเล็กตกใกล้พระตำหนักที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาประทับที่พระราชวังสวนสุนันทา เมื่อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงจึงตามเสด็จสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไปประทับที่สงขลา เมื่อเหตุการณ์สงบกก็เสด็จกลับมาประทับกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่วังสระปทุม จนเมื่อเหตุการณ์สงบก็ย้ายกลับไปประทับที่สวนสุนันทาตามเดิม ต่อมาเมื่อพระราชธิดาเจริญพระวัยขึ้นก็ทรงซื้อพระตำหนักพลับป่า ข แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า พระตำหนักพัชราลัย ซึ่งพระตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับฤดูร้อน ต่อมาสมเด็จพระพันวัสสาฯโปรดให้ย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต จน โปรดให้สร้างพระตำหนักสวนรื่นฤดี ที่บริเวณที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระสวามี แต่ถึงกระนั้นสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็โปรดให้รับมาทอดพระเนตรภาพยนตร์ ณ วังสระปทุมอยู่เนืองๆ[25] เมื่อเสด็จยังสหราชอาณาจักรก็ประทับ ณ พระตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์ เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทรงลี้ภัย แล้วมาประทับ ณ พระตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ ซึ่งเป็นแฟลตในเมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค แต่เนื่องด้วยพระตำหนักแห่งนี้คับแคบไม่เพียงพอต่อการรับผู้มาเฝ้าทูลละอองพระบาทและจัดงานรื่นเริงตามที่ทรงตั้งพระทัยไว้ จึงทรงซื้อพระตำหนักใหม่ชื่อว่า พระตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค ซึ่งเป็นที่ประทับสุดท้ายในพ.ศ. 2502 นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในเบื้องแรกทรงไปประทับ ณ บ้านพระญาติฝ่ายพระชนนี บริเวณซอยสุขุมวิท ต่อมาทรงซื้อที่ดินด้วยการขายมรกตเพียงเม็ดเดียว และโปรดให้สร้างวังขึ้นบริเวณ ซอยสันติสุข สุขุมวิท 38 โดยพระราชทานนามว่า วังรื่นฤดี โยในฤดูร้อนยังโปรดที่จะประทับ ณ พระตำหนักพัชราลัย หัวหิน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์[26]
พระจริยวัตร
พระกตัญญุตา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระกตัญญญุตาต่อพระบุพการีอย่างยิ่ง โดยในวันตรุษจีนของทุกปี จะโปรดให้ตั้งเครื่องบวงสรวงสังเวยพระราชทานถวายพระบุพการี อาทิ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) พระชนก คุณหญิงเล็ก บุนนาค พระชนนี เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) พระอัยกาฝ่ายพระชนก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พระปัยกา เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระอัยกาฝ่ายพระชนนี ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี ในทุกเย็นที่ไม่มีพระภารกิจเร่งด่วนจะเสด็จพระดำเนินไปทรงสักการะอัฐิคุณหญิงเล็ก บุนนาคและพระบุพการีสายสกุลบุนนาคที่พระเจดีย์ใหญ่และเขามอ วัดประยุรวงศาวาส เมื่อทรงว่างจากพระภารกิจจะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทานอุทิศพระราชทานแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)และ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ที่วัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี[27]
ภาคภูมิพระทัยในชาติกำเนิด
เมื่อทรงได้รับพระราชทานพระราชมรดกบางส่วน ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีมีค่าก็ทรงเก็บรักษาไว้อย่างดีด้วยทรงถือว่าเป็นของสูงเหมาะสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น พระธิดาจึงมีเครื่องประดับอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระอัยยิกา และสมเด็จพระบรมชนกนาถเพื่อทรงประดับไปในพระราชพิธีและงานสำคัญต่าง ๆ
แม่แก้วของลูก
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระชนนีผู้ประเสริฐ ดังจะเห็นได้จากพระอุปนิสัยและพระอัธยาศัยงดงามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ล้วนแล้วแต่บังเกิดด้วยพระวิริยภาพและพระปรีชาสามารถในการอบรมพระราชธิดาให้ทรงงามสมพระอิสริยศักดิ์เป็นที่เคารพเทิดทูนของมหาชนโดยทั่ว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระอุปนิสัยร่าเริง ทรงสามารถรับสั่งกับบุคคลทุกอาชีพ ทุกวัยได้เป็นอย่างดี โปรดการเลี้ยงสุนัข โปรดการปลูกไม้ดอกไม้ใบโปรดธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง[28] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงยกย่องพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ในฐานะพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นประจำ เช่น ในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2515 หรือในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์ในวันครบรอบราชาภิเษกสมรส เป็นต้น[29]
พระวรราชเทวีผู้ปิดทองหลังพระ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพอพระหฤทัยที่จะปฏิบัติพระกรณียกิจแบบไม่เปิดเผยพระองค์ คือ ทรงนิยมที่จะทำดีแบบปิดทองหลังพระ ตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสวามี และตามพระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “...การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นการบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว...”[30]
ใต้ร่มพระบารมี
ในรัชกาลที่ 9 เมื่อถึงโอกาสพิเศษแห่งพระชันษาเช่นเมื่อคราวฉลองพระชันษา 5 รอบ 15 เมษายน พ.ศ. 2508 ก็พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ ในขณะที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงหมอบเฝ้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทรุดพระองค์จากพระเก้าอี้ลงมาประทับราบกับพื้น แสดงพระกิริยานอบน้อมอันยังความปีติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเป็นล้นพ้น ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน) แก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี[31] เป็นเหตุให้ทรงโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่งถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “ดีใจที่สุดในชีวิต” เพราะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้เป็นเครื่องทรงเฉพาะราชตระกูล เช่น พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าตลอดจนพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น [32]
นอกจากนั้น นับแต่ทรงเจริญพระชันษา 60 ปีเป็นต้นมาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงในเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี เมื่อประชวรก็โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงอภิบาลรักษา พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด[7]
สายพระเนตรอันกว้างไกล
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีสายพระเนตรอันกว้างไกล ทรงจัดหาทุนรอนต่าง ๆ ไว้อย่างเพรียบพร้อม ทรงซื้อเพชรพลอยที่มาค่าไว้เป็นหลักในพระชนม์ชีพ โดยเพชรพลอยที่ทรงเลือกแต่เพชรที่น้ำงาม ไม่ต้องมีขนาดใหญ่มาก ทรงสามารถนำทรัพย์ส่วนพระองค์จากการขายมรกตเพียงเม็ดเดียวซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัง และมีสายพระเนตรอันกว้างไกลโดยจะทรงให้ข้าหลวงในพระตำหนักศึกษาภาษาอังกฤษ จนสามารถพูดคุยกับฝรั่งได้[33]
พระกรณียกิจโดยสังเขป
ด้านการศึกษา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยทรงกำพร้าพระชนนีและไม่ได้ติดต่อกับพระชนก จึงทรงไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยในปี พ.ศ. 2502 ก็ทรงสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยโปรดพระราชทานเงินเพื่อสร้างอาคารเรียน ตามโรงเรียนต่าง ๆ เช่น วชิราวุธวิทยาลัย และยังทรงร่วมกับพระธิดาในการสนับสนุนการศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น พระราชทานเงินสบทบสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร พระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เรียนดี เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์และเปิดอาคารเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตลอดจนการเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงและผลงานของนักเรียน นักศึกษาสถาบันต่างๆ และพระราชทานกำลังใจอย่างใกล้ชิด[34]
การศาสนา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ทรงศรัทธาร่วมการก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เสนาสนะ และพระพุทธรูป ดังเช่น ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างม้าหมู่ชุดใหญ่ 3 ชุด พระราชทานแก่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เพื่อใช้ประดิษฐานเป็นประธานในห้องประชุม อีกทั้งยังโปรดเสด็จไปทรงทอดผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั้งใกล้และไกลทั่วทุกภาค พร้อมทั้งทรงเยี่ยมประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและพระราชทานเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคแก่ผู้ยากไร้ตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกลที่เสด็จไปทรงทอดกฐินเป็นประจำทุกปี เล่ากันว่าในเทศกาลทอดกฐิน นอกจากจะทรงเป็นผู้แทนพระองค์เชิญพระกฐินหลวงไปถวายตามพระอารามหลวงแล้วปีละ 2 วัด (เสด็จบ่อยที่วัดพระปฐมเจดีย์) ในส่วนพระองค์ทรงเลือกวัดราษฎร์ที่ยากจนและอยู่หัวเมืองไกล ๆ อีก 3 วัด เพื่อเสด็จไปทอดกฐิน เล่ากันถึงวิธีการเลือกวัดดังกล่ าวไว้ว่า จะโปรดให้คนในวังไปสำรวจหาวัดที่มีคุณสมบัติดังที่ทรงประสงค์ และเก็บข้อมูลมาเล่าถวายว่าสมควรจะได้รับพระอุปการะอย่างไร ด้านไหน ก็จะทรงช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการและยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่มหาดเล็กในวังเล่าไว้ว่า “...โปรดที่จะเสด็จไปทำบุญกับวัดที่ยากจน หรือไม่ก็ไม่มีใครเหลียวแลจริง ๆ...” ซึ่งประเพณีเฉพาะพระองค์นี้ตกทอดมาสู่พระราชธิดาพระองค์เดียวอย่างแนบแน่น[35]
งานสังคมสงเคราะห์
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้เริ่มทรงงานเพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาคมมูลนิธิ และองค์กรการกุศลต่าง ๆ อาทิ ตัวอย่างงานที่ทรงจัดขึ้นและเป็นที่ประทับใจของคนจำนวนมากและเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างยิ่งก็คืองานเมตตาบันเทิง “รื่นฤดี” ใน พ.ศ. 2503[36] ที่เป็นงานการกุศลซึ่งจัดขึ้นในบริเวณสวนอันสวยงามของวังรื่นฤดี สวนดังกล่าวนั้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงปลูกไม้ดอกพันธุ์ใหม่ ๆ แปลกกว่าพันธุ์ไม้ที่เคยพบเห็นกันมาช้านานแล้ว ดังนั้นสวนดอกไม้ของพระองค์จึงมีผู้ปรารถนาจะมาชมกันมากในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นเจ้าภาพในงานเมตตาบันเทิงดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร การนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงานด้วย ในงานวันนั้นมีการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์หลายรูปแบบผู้แสดงล้วนแต่เป็นบุตรหลานของผู้เป็นที่รู้จักกันดีในวงสังคม นอกจากการแสดงแล้วยังมีการออกร้านอาหาร เครื่องดื่ม และขายสินค้างานฝีมือที่จัดทำอย่างประณีต ยิ่งไปกว่านั้นในบริเวณงานยังประดับไฟฟ้าตามต้นไม้ใหญ่อย่างงดงาม ผู้มาร่วมงานต่างชื่นชมในความแปลกใหม่ของงานกลางแจ้งซึ่งไม่เคยได้เห็นมานานแล้ว การจัดงานครั้งนั้นได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก[37] ดังนั้น ต่อมา จึงมีหน่วยงานสาธารณกุศลต่าง ๆ กราบทูลขอประทานพระอนุญาตใช้วังรื่นฤดี เป็นสถานที่จัดงานในรูปแบบต่าง ๆ กันหลายราย เช่น งานแสดงแบบเสื้องานประกวดสักวาเพลงเรือในสระน้ำขนาดใหญ่ของวัง ฯลฯ โดยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เต็มพระทัยประทานพระอนุญาต ทั้งยังทรงร่วมด้วยอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งจัดงาน ทั้งเก็บดูแลภายหลังเสร็จงาน โดยเฉพาะการซ่อมแซมพื้นสนาม บำรุงต้นไม้ที่เสียหายไปบ้างในระหว่างงาน[38] และมีหลายคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชโอรสธิดา เช่น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานการกุศลซึ่งจัดขึ้น ณ วังรื่นฤดีแห่งนี้[37]
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอุปการะกิจการเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สมาคม องค์กร และชุมนุมซึ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เช่นเมื่อครั้งทรงเจริญพระชันษา 60 ปี ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2508 ได้ทรงจัดงานฉลองพระชันษา ณ วังรื่นฤดี มีเจ้านายพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ตลอดจนพระอนุวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้จงรักภักดีเสด็จและเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นอาทิ การนั้นได้มีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระกุศลตามพระอัธยาศัยเป็นจำนวนมากจึงได้ทรงสมทบเพิ่มเติมและประทานแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจนสามารถสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[36] ทางด้านสวนลุมพินีได้ 1 หลัง แต่มิได้โปรดให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก หากแต่ได้พระราชทานนามว่า “ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน” โอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึก ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ด้วย นอกจากนี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับมรดกคือที่ดินและบ้านของพระบุพการี ณ จังหวัดปราจีนบุรี ก็ทรงพระกรุณาประทานกรรมสิทธิ์ให้แก่ทางราชการ เมื่อทางราชการได้ใช้สถานดังกล่าวสร้างโรงพยาบาลก็ไม่ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามโรงพยาบาลแห่งนี้ หากแต่โปรดพระราชทานทานนามว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบรรพบุรุษ[6]
ในกาลต่อมาเป็นเวลา 8 ปีหลังจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์แล้ว โรงพยาบาลได้สร้างอาคารเพิ่มเติมเป็นอาคารสูง 4 ชั้น และขอพระราชทานพระอนุญาตขนานนามว่า “อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา” นับเป็นครั้งแรกที่มีพระนามปรากฏต่อสาธารณชนบนถาวรวัตถุสถาน[39]นอกจากนี้ ยังทรงอุปการะกิจกรรมซึ่งเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับพระธิดาอยู่มิได้ขาด[39]
การเสด็จเยี่ยมราษฎร
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ เจ้าฟ้าพระราชธิดา โปรดที่จะเสด็จประพาสรถทุกเย็นเพื่อทรงชมพระพุทธรูป หรือ สิ่งศักดิสิทธิ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพและจังหวัดปริมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมราชบุพการี หรืออัฐิของพระบุพการีในสายสกุลบุนนาค โดยจะเสด็จเพียงสองพระองค์ พร้อมกับสารถีและข้าราชบริพาร เป็นการเสด็จอย่างเงียบ ๆ ไม่มีรถนำขบวน ไม่ปักธงพระบรมราชวงศ์ใหญ่ เมื่อไฟแดงรถพระที่นั่งก็หยุดอย่างสามัญชน แต่เพียงว่าในสมัยนั้นรถและการจราจรยังไม่ติดขัด ด้วยพระอุปนิสัยเช่นนี้จึงมักจะได้ทอดพระเนตรวิถีชีวิตของราษฎรโดยปราศจากการปรุงแต่งของทางราชการ โดยมักจะมีรับสั่งกับชาวบ้านแถวพระตำหนักสวนรื่นฤดีเสมอ บางคราวก็เสด็จไปประทับเสวยพระกระยาหารที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ และ จะพระราชทานอาหารแก่นกนางนวลที่หนีหนาวมา บางครั้งก็เสด็จไปต่างจังหวัดโดยเงียบ ๆ ไม่แจ้งแก่ทางราชการ หรือสำนักพระราชวัง[40] เช่น เมื่อคราวเสด็จจังหวัดสมุทรสาคร ก็เสด็จไปในตลาด ทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตตามปกติ โดยในวันนั้นมีการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) ที่ตลาดแห่งนั้น เมื่อทอดพระเนตรเห็นเก้าอี่ไม้ธรรมดาเหมือนตามโรงเรียนประชาบาลสองตัวว่างอยู่ ก็เสด็จประทับทอดพระเนตรการแสดงอย่างชาวบ้านทั่วไป พร้อมมีรับสั่งอย่างสนุกสนาน เมื่อการแสดงจบเจ้าของคณะงิ้วก็นำตัวพระกับตัวนางมากราบแทบฝ่าพระบาท พร้อมทั้งรับพระราชทานเงินของขวัญจากทั้งสองพระองค์ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ โปรดที่จะมีรับสั่งกับประชาชนทั่วไปอย่างไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ด้วยเจียมพระองค์ว่าเดิมทรงเป็นสามัญชนแม้ในปัจจุบันจะดำรงพระยศสูงส่งก็ตามที เช่น เมื่อคราวเสด็จอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีรับสั่งกับชาวบ้านสูงอายุอย่างออกรสว่า "...ยายจ๋าเป็นอย่างไรบ้างจ๊ะ สบายดีไหม...ไหนดูสิ ยายปวดหลังเหมือนฉันไหม?..." ชาวบ้านเห็นว่ามีรับสั่งเช่นนี้ก็ตกใจที่พระราชวงศ์ ลงมานับญาติด้วย แต่ก็กล้าตอบด้วย เพราะเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ก็เจ็บเป็นปวดเป็น ทำให้ทรงใกล้ชิดกับราษฎรและทอดพระเนตรเห็นปัญหาของราษฎรอย่างแท้จริง[41]
ด้านการเศรษฐกิจ
ได้โปรดที่จะเสด็จประพาสตลาดแทบทุกเย็น และโปรดจะประพาสตลาดหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งทรงสนับสนุนสินค้าของราษฎร เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสาน รวมถึงผัก ผลไม้ ต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าของราษฎร เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้ และยังพระราชทานเงินสำหรับซื้อผ้าห่มและผ้านุ่งจากตลาดต่าง ๆ เวลาเสด็จหัวเมืองและนำมาเก็บไว้ที่วัง เมื่อเสด็จในที่ทุรกันดารก็จะโปรดให้เอาไปพระราชทานแก่ราษฎร[42]
ด้านกิจการลูกเสือ เนตรนารี
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสนับสนุนกิจการลูกเสือโดยพระราชทานเงินสนันสนุนกิจการลูกเสือที่พระสวามีทรงก่อตั้งไว้ ทั้งยังทรงอบรมพระราชธิดาด้วยความทรงจำเมื่อครั้งตามเสด็จพระสวามีไปยังพระราชวังสนามจันทร์และมีการสวนสนามของเสือป่าและลูกเสือ ทั้งยังทรงเป็นเบื้องหลังในการสนับสนุนการก่อตั้งคณะเนตรนารีเพชราวุธ โดยมิได้ทรงออกพระนาม[43]
ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
ด้านนาฏศิลป์ เมื่อสิ้นรัชกาลพระสวามี ก็ทรงสนับสนุนการละครหลวง โดยจะเสด็จพระดำเนินไปทอดพระเนตรละครที่โรงละครของพระยาอนิรุธเทวา เมื่อเสด็จไปประเทศอังกฤษ ก็ทรงเผยแผ่วัฒนธรรมไทยอาทิ การรำ การละครซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงเป็นละครจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว[44] โดยอาศัยงานสมาคมชาวไทยในอังกฤษ งานสามัคคีสมาคม หรืองานภายในพระตำหนัก โดยจะเป็นประธานนำรำวง โดยชาวต่างชาติต่างชื่นชมในวัฒนธรรมไทย ด้วยทรงเคยรับราชการในกรมมหรสพมาก่อนจึงทรงรำวงได้งดงามมาก เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้วก็โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงนาฏศิลป์ไทย
ด้านการเกษตร
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดไม้ดอกไม้ประดับอย่างยิ่ง ในวังของพระองค์มีสวนดอกไม้อันงดงาม เต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับมากมาย จึงมีคนที่อยากจะยลโฉมสวนดอกไม้ของพระองค์มากมาย โปรดที่จะซื้อต้นไม้จากเกษตรกรเพาะปลูกจากตลาดนัดท้องสนามหลวง จนเต็มท้ายรถพระที่นั่งทุกสัปดาห์ และยังโปรดเพาะพันธุ์ต้นไม้อีกด้วย[45]
พระอัจฉริยภาพ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีมีพระอัจฉริยภาพ ในด้านต่าง ๆ
พระอัจฉริยภาพด้านการทำอาหาร
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระอัจฉริยภาพด้านการทำอาหารอย่างยิ่ง ทำได้ทั้งของคาวของหวาน ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง โดยว่ากันว่าอาหารและขนมฝรั่งทรงเรียนจากนิตยสารประจำสัปดาห์และหนังสือสอนทำอาหาร ส่วนอาหารไทยทรงเรียนมาจากคุณท้าวแก้ว ผู้เป็นยาย เมื่อทรงพระเยาว์ที่บ้านสวนสาลี่ (ทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน) พระนางเจ้าสุวัทนาฯ โปรดที่จะทำอาหารเลี้ยงบรรดานักเรียนไทยในอังกฤษ โดยจะเป็นอาหารไทยทั้งสิ้น ส่วนงานจัดปาร์ตี้ก็จะทรงจัดทั้งอาหารไทยและฝรั่ง โดยถ้ามีงานก็จะทรงประกอบอาหารอยู่ในห้องเครื่องทั้งวัน ด้านขนมนั้น ทรงทำอร่อยหลายอย่าง อาทิ เค้ก มารากรอง ฯลฯ ตามคำบอกเล่าของข้าหลวงในตำหนักถึงฝีพระหัตถ์ในการทำเค้กคริสมาส ว่า
พอถึงเดือนกันยา-ตุลา เสด็จพระนางฯ จะทรงเตรียมทำฟรุตเค้ก และคริสต์มาสพุดดิ้ง ล่วงหน้าก่อนงานคริสต์มาสเป็นเดือน ๆ ทรงเตรียมแป้ง น้ำตาล ผลไม้แห้ง ถั่ว เครื่องเทศต่างๆ และเหล้าบรั่นดี หมักใส่ชามใหญ่ห่อผ้าเก็บไว้ใต้ถุนตำหนัก สองเดือนผ่านไปก็ได้ที่ พอวันงานก็ทรงนำมานึ่งอีกตั้ง ๔-๕ ชั่วโมงจนสุก แล้วราดด้วยบรั่นดีซ็อส ...น่าเสียดายที่ไม่รู้สูตรของท่าน จำได้แต่ว่าไม่เคยรับประทานคริสต์มาสพุดดิ้งที่ไหน อร่อยเท่าของเสด็จพระนางฯ[46]
— คุณสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่
พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
พระนางเจ้าสุวัทนา มีพระอัจฉริยภาพในด้านการถ่ายภาพ โดยเมื่อคราวที่เสด็จประพาสปีนังจวบจนเสด็จไปยังอังกฤษ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงโปรดการถ่ายภาพและสนพระทัยการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ทรงศึกษาการใช้กล้องถ่ายภาพต่าง ๆ รวมทั้งโปรดที่จะถ่ายภาพในขณะที่ประพาสที่ต่าง ๆ[47]
พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีโปรดที่จะทรงกีฬามาตั้งแต่ประทับในสวนดุสิต สนพระทัยกีฬาหลายประเภท ตามพระราชนิยมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่โปรดทรงกีฬาหลายประเภท แต่กีฬาส่วนใหญ่มักเป็นแบบฝรั่ง ตามอย่างเจ้านายเล่นกัน เมื่อเสด็จประทับ ณ ประเทศอังกฤษ โปรดที่จะทรงกอล์ฟและเทนนิส[48] ตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่โปรดจะทรงกีฬากอล์ฟและโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันกอล์ฟขึ้น
พระอัจฉริยภาพด้านภาษา
พระนางเจ้าสุวัทนา ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูที่ทรงจ้างมาสอนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา พระราชธิดาพระองค์เดียว จนทรงสามารถมีรับสั่งกับชาวต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่ว มีรับสั่งกับพนักงานร้านทิฟฟานี่ที่ดูแคลนพระเกียรติของพระองค์ อย่างคล่องแคล่ว พร้อมเคยรับสั่งกับผู้จัดการธนาคารในสหรัฐอเมริกาอย่างคล่องแคล่ว สั่งกับเลขาเจ้าระเบียบของมิสเตอร์แพตเดอร์สันอย่างคล่องแคล่วและยังทรงใช้สำนวนจนเลขาผู้นั้นยอมให้พระองค์พบกับมิสเตอร์แพตเดอร์สัน[49]
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี องค์นี้เป็นพระพุทธรูปนาคปรก สำหรับองค์พระพุทธรูปนั้นเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะ (ขัดสมาธิเพชร) วางพระหัตถ์ขวาซ้อนบนพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระเพลา พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งพระโอษฐ์เรียว พระกรรณสั้น ไม่มีพระเกตุมาลาองค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มคลุม จีบเป็นริ้วเหมือนริ้วผ้าตามธรรมชาติ ประทับบนฐานนาคขดสามชั้นนาคสร้างเป็นลักษณะคล้ายงูใหญ่แผ่แม่เบี้ย แต่ส่วนหัวเป็นนาค มีหนึ่งเศียร อ้าปาก โดยแผ่ปรกพังพานองค์พระเป็นซุ้ม มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างในคราวทรงเจริญพระชันษา 5 รอบ 60 ในพ.ศ. 2508 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในห้องพระเจ้า วังรื่นฤดี [50]
พระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะย่ะค่ะ/เพคะ |
พระอิสริยยศ
- เครือแก้ว อภัยวงศ์ (15 เมษายน พ.ศ. 2448 - 3 เมษายน พ.ศ. 2467)
- สุวัทนา อภัยวงศ์ (3 เมษายน พ.ศ. 2467 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467)
- เจ้าจอมสุวัทนา (10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468)
- พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี [51](11 ตุลาคม พ.ศ. 2468 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528)
เครื่องราชูปโภค
- พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา พร้อมพานรองลายสลัก
- พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
- หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
- พระคนโททองคำลงยา พร้อมพานรอง
- หีบพระศรีนาก พร้อมพานรอง
- กากระบอกสลักลายดอกไม้ ฝาตรามงกุฎพร้อมถาดรอง
- พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือนและพระสางเสนียดสอดในซองผ้าเยียรบับ สำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
- ขันน้ำพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำลงยา
- ขันสรงพระพักตร์ทองคำขอบลายสลักพร้อมผ้าคลุมปัก
เครื่องบำเหน็จในพระองค์ รัชกาลที่ 6
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักในพ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดเครื่องบำเหน็จพระราชทานแก่ผู้ที่มีส่วนในการพยาบาลพระองค์ [52] พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงพยาบาลพระบรมราชสวามีเป็นอย่างดี แม้จะทรงพระครรภ์แก่ พระบรมราชสวามีจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องบำเหน็จชั้นพิเศษ ดังนี้
- ซองทองคำลงยาราชาวดี มีตราพระปรมาภิไธยย่อ รร ๖ ประดับเพชร
- ซองทองลงยามีสายสร้อย สำหรับผู้หญิง
- กำไลทองคำลงยา อักษรพระนาม รร ๖ ประดับเพชร
- กำไลงาช้าง อักษรพระนาม รร ๖
- ชุดพระสางและเครื่องพระสำอาง
- เข็มนายทหารของประเทศอังกฤษ
- เข็มเสมาประดับเพชร
- ผ้าซับพระพักตร์ ประดับอักษรพระนาม รร ๖ และอักษร ส ขมวดหางเป็นเลข ๖
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2510 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)[53]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า)[54]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[55]
- พ.ศ. 2467 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[56]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 2 (ป.ป.ร.2)[57]
- พ.ศ. 2510 – เหรียญกาชาดสรรเสริญ
เครื่องเชิดชูพระเกียรติต่างประเทศ
ในสมัยที่ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสด็จพระดำเนินพร้อมด้วยพระราชธิดาไปยังสภากาสชาดอังกฤษ เพื่อทรงช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของสภากาชาดอังกฤษ เช่น ทรงม้วนผ้าพันแผล เป็นต้น สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายเครื่องบำเหน็จของสภากาชาดอังกฤษ ดังนี้
- เหรียญเชิดชูเกียรติอุปถัมภ์สภากาชาดอังกฤษ
- ประกาศนียบัตรของสภากาชาดอังกฤษ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นธงเป็นสีม่วง ประดับอักษรพระนามาภิไธย ส. ผูกเป็นรูปงูอยู่ใต้ เลข ๖ เปล่งรัศมี มีความหมาย ดังนี้
- สีพื้นธง คือ สีม่วง อันเป็นสีประจำวันประสูติ คือ วันเสาร์
- อักษรพระนามาภิไธย ส. ย่อมาจาก สุวัทนา
- อักษรพระนามาภิไธยผูกเป็นรูปงู คือ ปีมะเส็ง ปีประสูติ
- ภายใต้เลข ๖ พร้อมรัศมี หมายถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามี
พระอนุสรณ์
ชื่ออันเนื่องมาจากพระนาม
- พระพุทธเพชรรัตนสุวัทนามัยมหามุนีชินสีห์วิสุทธิโสภาคย์ พระประธานวัดสิริจันทรนิมิตร (วัดเขาพระงาม)
- วันที่ระลึกพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี 10 ตุลาคม ของทุกปี
- มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เพื่อบำรุงบวรพุทธศาสนา และ ทหารผ่านศึก
- อาคารสุวัทนา พระราชวังสวนสุนันทา กรุงเทพมหานคร
- อาคารสุวัทนา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร
- ตึกสุวัทนา วชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
- ตึกสุวัทนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
- ห้องอนุสรณ์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
- ตึกสุวัทนา-เพชรรัตน พระตำหนักสวนรื่นฤดี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร
- อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
- อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
- ห้องประชุมพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
- อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ทุนการศึกษา
- ทุนเพชรรัตน-สุวัทนา เพื่อการศึกษา
การเฉลิมพระเกียรติ
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
อภิลิขิตสมัย 100 ปีวันประสูติ
เนื่องในวโรกาสอภิลิขิตสมัยครบรอบ 100 ปีวันประสูติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพ.ศ. 2548 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีและพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าในพระองค์ ได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ ดังนี้ ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2548 คณะพระประยูรญาติ ข้าราชบริพาร ผู้แทนองค์กรที่เคยได้รับพระกรุณาธิคุณ และผู้จงรักภักดี ได้ร่วมบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวาย ณ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายในพระวิหารทิศเหนือบริเวณผนังเชื่อมกับฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นสถานที่บรรจุพระสรีรางคาร เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องไทยธรรม ไตรสดับปกรณ์ และเงินบำรุงองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมอันเนื่องด้วยพระชนนีมาพระราชทานด้วย ส่วนงานนิทรรศการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจะมีตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2548 ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบังเกิดพระราชประดิพัทธ์ต้องพระราชอัธยาศัยในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในงานจะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ของพระชนนีมาจัดแสดง เช่น ฉลองพระองค์พร้อมมงกุฎดอกส้มของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ในวันราชาภิเษกสมรส พระภูษาทรง พระกลดแพรที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖ หีบพระศรีนาก ฯลฯ ตลอดจนมีการแสดงดนตรีทั้งไทยและสากล ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2548 จะมีการถวายเครื่องสักการะที่หน้าพระฉายาลักษณ์ซึ่งประดิษฐานกลางท้องพระโรง พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ อันเป็นสถานที่แรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมแสดงละครเรื่องพระร่วงกับ "คุณติ๋ว" ซึ่งต่อมาคือ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในงานจะมีหนังสือ "เฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖" ทั้งยังมีเข็มที่ระลึกจำหน่ายเพื่อนำรายได้สมทบมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
อภิลิขิตสมัย 9 รอบ 108 ปีวันประสูติ
เนื่องในวโรกาสอภิลิขิตสมัยครบรอบ 108 ปีวันประสูติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพ.ศ. 2556 พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าในพระองค์ พ่อค้า ประชาชน ได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ ดังนี้ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 พระอนุวงศ์ พระประยูรญาติ ข้าราชบริพาร ผู้แทนองค์กรที่เคยได้รับพระกรุณาธิคุณ และผู้จงรักภักดี ได้ร่วมบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวาย ณ พระวิหารหลวง ทิศตะวันออก ขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม นำโดยท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ ยุคล บุญจิตราดุลย์ โดยเริ่มจากทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธสิหิงค์ พระบรมสารีริกธาตุ พระแท่นวัชรอาสน์(จำลอง)จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ จากนั้นเจริญพระพุทธมนต์ ฉันเพล ถวายผ้าสดับปกรณ์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ต่อมาพระอนุวงศ์ คณะข้าราชบริพาร พระประยูรญาติ ผู้จงรักภักดี ได้ร่วมถวายถวายเครื่องราชสักการะ พวงมาลัย ดอกไม้ และพระกระยาหารสังเวยแด่ดวงพระวิญญาณ ณ สถานที่บรรจุพระสรีรางคาร บริเวณผนังพระปฤฎางค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556 จะมีการถวายพานพุ่ม เครื่องสักการะที่หน้าพระฉายาลักษณ์ซึ่งประดิษฐานกลางท้องพระโรง พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ อันเป็นสถานที่แรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมแสดงละครเรื่องพระร่วงกับ "คุณติ๋ว" ซึ่งต่อมาคือ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
งานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี พระประสูติกาล
เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในโอกาสอภิลักขิตสมัย 100 ปีแห่งพระประสูติกาล โดยจัดแสดงสิ่งของในพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี อาทิ กล่องพระโอสถมวนที่มีเศษพระโอสถมวนอยู่ก้นหีบ พระกลดแพร ของพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอาทิ กล่องเฉลิมพระขวัญรูปโคอุสุภราช และของที่รื้อจากการพระเมรุมาศ สิ่งของส่วนพระองค์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีมาจัดแสดง เช่น ฉลองพระองค์พร้อมมงกุฎดอกส้มของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในวันราชาภิเษกสมรส พระภูษาทรง หีบพระศรีนาก ฯลฯ
งานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยเป็นนิทรรศการถาวรตั้งอยู่ที่พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สิ่งของส่วนพระองค์ และสิ่งของจากงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อาทิ ธงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฉลองพระองค์ ลายพระหัตถ์ เข็มพระราชทาน รูปท้าวจตุโลกบาลประดับพระจิตกาธาน โดยมีพิธีเปิดโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธี
งานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสามขัตติยนารีแห่งสยาม
เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ จัดขึ้นที่ท้องพระโรงวังรื่นฤดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสามขัตติยนารีแห่งสยาม ได้แก่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยได้จัดแสดงเรื่องราวพระกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และสิ่งของส่วนพระองค์ อาทิ พระสไบของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ชุดเครื่องเสวยของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ฯลฯ โดยจัดระหว่างวันที่ 9 -14 ธันวาคม พ.ศ. 2557
หนังสือ
- หนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงพระศพ มี 3 เล่ม คือ เล่มแรกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือแนวพระราชดำริรูปแบบการปกครองในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงโดยนายสนธิ เดชานนท์ จำนวน 71 หน้า เล่มที่ 2 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์บทพระราชนิพนธ์โคลงสุภาสิตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ จำนวน 246 หน้า เล่มที่ 3 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์บทละครเรื่องพระยาราชวังสัน กับ สามัคคีเสวก ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบรมชนกนาถ และเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในวโรกาสฉลองอายุ 20 ปีของเจ้าจอมสุวัทนา
- หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสงานประสูติครบ 100 ปีพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรกเป็นพระประวัติและพระกรณียกิจในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และเป็นการรวมพระฉายาลักษณ์ของเสด็จพระนางฯ ตอนที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสกุลอภัยวงศ์ เรียบเรียงโดยนายวิษณุ เครืองาม และตอนสุดท้าย เป็นประวัติของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จำนวน 107 หน้า
- หนังสือพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการสนองพระคุณ เป็นหนังสือประมวลพระประวัติ พระกรณียกิจของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีในวโรกาสเจริญพระชันษา 76 ปี จำนวน 43 หน้า
- หนังสือดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเรียบเรียงโดยคุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร สำนักนายกรัฐมนตรีให้จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงเจริญพระชันษา 84 ปี จำนวน 695 หน้า
- หนังสือยศ ศรี เกียรติ เจริญ เป็นหนังสือที่คณะข้าราชบริพารในพระองค์ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระประสูติการครบ 9 รอบ 108 ปี เขียนโดย ดร.ชัชพล ไชยพร พิมพ์แจกในงานบำเพ็ญกุศลทักษณานุปทาน อุทิศถวายพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ พระวิหารตะวันออก องค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 โดยเป็นหนังสือประมวลพระฉายาลักษณ์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีไว้มากที่สุด
บทเพลง
- โหมโรงเพชรรัตน-สุวัทนา ในโอกาส 100 ปีวันประสูติ
- ดวงแก้วจากฟ้า ในโอกาส 100 ปีวันประสูติ
สุนัขและสัตว์ทรงเลี้ยง
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงโปรดการเลี้ยงสุนัชอย่างมาก โดยทรงโปรดตั้งแต่ทรงประทับ ณ พระตำหนักสวนรื่นฤดี จนกระทั่งเสด็จไปประทับ ณ สหราชอาณาจักร ประจวบเหมาะกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงทรงงดเลี้ยงไประยะหนึ่งเมื่อมาประทับ ณ พระตำหนักหลุยส์เครเซน จึงทรงเลี้ยงสุนัช ชื่อเจ้า มอนตี้ โดเยเป็นสุนัขพันธุ์พูเดิ้ลสีดำ จนเมื่อทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักไดก์โรดหรือพระตำหนักบ้านรื่นฤดีทรงโปรดให้สร้างกรงนกไว้หลังพระตำหนัก พระราชธิดาพระราชทานชื่อกรงนกนั้นว่า บุหงาลันตา ก็ทรงได้สุนัขทรงเลี้ยงตัวใหม่ เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่เนื่องด้วยพระราชธิดาทรงโปรดชื่อเจ้า โดปี้ตามที่คุณสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่ ข้าหลวงรุ่นเล็กในพระตำหนัก เล่าว่า
โดปี้เป็นสุนัขพันธุ์บ๊อกเซอร์ตัวโต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ โปรดมากเพราะท่านโปรดสุนัขพันธุ์ใหญ่ ฉะนั้นเจ้ามอนตี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นของเสด็จพระนางฯ ส่วนเจ้าโดปี้เป็นของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ โดปี้นี่เสียงเห่าน่ากลังมาก ใครได้ยินแล้วก็ผวา แต่หารู้ไม่ ถ้าได้มาเห็นตัวมันเวลาเห่าแล้วก็จะขำ เพราะจริงๆ โดปี้เป็นสุนัขขี้กลัวมากๆ เห่าไปตัวสั่นไป พอเอจคนแปลกหน้าก็ถอดกรูดทั้งๆที่เห่าเสียงดังนั่นแหละ[58]...
— คุณสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่
จนเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยทรงเลี้ยงสุนัข,นก,ปลา แต่ก็มิได้ทรงเลี้ยงเอง เพราะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดา โปรดการเลี้ยงนก,ปลา จึงโปรดให้สร้างสร้างกรงนก และ บ่อปลาขนาดใหญ่ไว้ในวัง เพื่อให้เจ้าฟ้าพระราชธิดาได้ทรงสำราญพระหฤทัย โดยเมื่อนิวัตประเทศไทยก็ทรงเลี้ยงสุนัขอีกตัวชื่อ ปิแอร์ โดยสุนัขตัวนี้โปรดมาก โดยเป็นพันธุ์พูเดิ้ลสีขาว และ ยังปรากฏพระฉายาลักษณ์ที่มีเจ้า ปิแอร์ อยู่มาก อาทิ พระฉายาลักษณ์ที่ฉายในวันรับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น[59]
พงศาวลี
พงศาวลีของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี[60] | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
พงศาวลีสายพระชนนี
พงศาวลีสายพระชนนี |
---|
พระราชบุพการีฝ่ายพระชนนีสืบเชื้อสายมาจากสกุลบุนนาค ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) อันมีต้นธารมาจากเมืองกุม ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน[61] ดังนี้[62]
|
เชิงอรรถ
- ↑ บทพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมบทนี้ ไม่ได้นำมาใช้ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติพระราชธิดา อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีการนำบทพระราชนิพนธ์นี้มาใส่ทำนองและใช้ชื่อว่า เพลง "พระหน่อนาถ" เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ (อ้างอิง : “พระหน่อนาถ” จาก “บทกล่อม” ร.6 สู่ “บทเพลง” โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง[ลิงก์เสีย])
อ้างอิง
- ↑ กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 234
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 208
- ↑ อ้างอิงดังกล่าวมีส่วนคลาดเคลื่อนจากจริงบ้างแต่ก็มีส่วนใกล้เคียง ดูใน Sokheounpang. Khmer-Siam Royal Family Tree. เรียกดูเมื่อ 27 มกราคม 2556
- ↑ Soravij. A Regal Princess a Remembered - Her Rayal Highness Princess Bejaratana เก็บถาวร 2013-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 20 ตุลาคม 2555
- ↑ "ชมรมสายสกุลบุนนาค - เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-15. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
- ↑ 6.0 6.1 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ:บันทึกสยาม, 2552. หน้า 149
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 231
- ↑ "Phra Nang Chao Suvadhana Kreuakaew Abhayavongsa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2013-04-11.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา - พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
- ↑ "หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ - สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-29.
- ↑ "พระเอยพระหน่อนาถ งามพิลาศดังดวงมณีใส - ขอน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30. สืบค้นเมื่อ 2012-02-03.
- ↑ 12.0 12.1 บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๑๙๑
- ↑ 14.0 14.1 เฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ที่ในพระบรมมหาราชวัง, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 10 มกราคม พ.ศ. 2468, หน้า 3094
- ↑ 16.0 16.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 207
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 205
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 234
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ 21.0 21.1 21.2 ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการที่ ๔/๒๕๒๙ พระราชทานเพลิงพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ม.จ.ก., ป.จ. ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙, เล่ม ๑๑๓, ตอน ๓๖, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๑๐๐๐
- ↑ "พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จมาทรงบรรจุพระสรีรางคารเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ" (Press release). เดลินิวส์. 12 ธันวาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-15. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2555.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ CH7NEWS (12 ธันวาคม 2555). พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงบรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และทรงยกฉัตรไปกางกั้นถวายพระพุทธรูปปางประสูติที่วัดพระปฐมเจดีย์ เก็บถาวร 2016-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 14 ธันวาคม 2555
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คณะข้าราชบริพารใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6, โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2548
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี, เล่ม ๘๔, ตอน ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า ๒๖
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ 36.0 36.1 สมเด็จพระราชินีศรีแผ่นดิน / พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2550
- ↑ 37.0 37.1 สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547, 2547 พิมพ์ครั้งที่ 1
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ 39.0 39.1 พระมเหสีและพระสนมเอกใน ร.6 [จุลสาร] / จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ,2545
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี หน้า ๑๙๑ เล่ม ๔๒ , ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
- ↑ [1]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี, เล่ม ๘๔, ตอน ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า ๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ง, ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๑๔๗๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ง, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๔๑, ตอน ๐ ง, ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๒๔๒๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๔๓, ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๑๕๖
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม. กรุงเทพฯ:ยิปซี. 2557, หน้า 196-197
- ↑ สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-เปอร์เซีย. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. หน้า 138
- ↑ แผนผังลำดับสายสกุลบุนนาคทางพลตรีพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค)
บรรณานุกรม
- วินิตา ดิถียนต์, ชัชพล ไชยพร. ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า. กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, 2550.
- เว็บไซต์มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เก็บถาวร 2014-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- คณะข้าราชบริพารใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6, โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2548
- พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3