โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ย่อ: ป.ร.) เป็นโรงเรียนสหศึกษาของเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 3 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย โรงเรียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2430 ในชื่อ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" โดย ศาสนาจารย์ ชาวอเมริกัน เดวิด คอลลินส์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" ซึ่งมีความหมายว่า "โรงเรียนของเจ้า ชาย" เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ละติน: The Prince Royal's College under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Bejaratana Rajasuda
The Prince Royal's College
ที่ตั้ง
แผนที่
117 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
ข้อมูล
ชื่ออื่นโรงเรียนชายวังสิงห์คำ
ป.ร. (P.R.C.)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
โรงเรียนโปรเตสแตนต์
คำขวัญLUX ET VERITAS
"แสงสว่างและความจริง"
ศาสนาคริสต์
นิกายโปรเตสแตนต์
สถาปนา• 2 มกราคม พ.ศ. 2449 (โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่)
ผู้ก่อตั้งศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์
โรงเรียนพี่น้องโรงเรียนดาราวิทยาลัย
เขตการศึกษาเชียงใหม่
ผู้อำนวยการผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร
สี   น้ำเงิน-ขาว
เพลงเพลงประจำโรงเรียน
สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
เว็บไซต์www.prc.ac.th

ประวัติ

แก้

โรงเรียนชายวังสิงห์คำ

แก้

โรงเรียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2430 โดยมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์ ในชื่อ "Chiangmai Boys' School" หรือ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" บริเวณหมู่บ้านวังสิงห์คำ อันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์[1] ทำการสอนโดยใช้ภาษาล้านนาและพระคัมภีร์เป็นหลัก เป็นโรงเรียนแบบตะวันตกสำหรับเด็กชายแห่งแรกในล้านนา[2]

ในปี พ.ศ. 2442 ศาสนาจารย์คอลลินส์ได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ศาสนาจารย์ ดร. วิลเลียม แฮรีส ซึ่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 เข้ารับตำแหน่งแทน เมื่อเห็นว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงคับแคบ จึงได้ย้ายมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งซื้อจากบริษัทอังกฤษในราคา 2,600 รูปี[1]

ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

แก้

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า "The Prince Royal's College" และพระราชทานสีน้ำเงิน - ขาวให้เป็นสีประจำโรงเรียน ปีเดียวกันนั้น ศาสนาจารย์แฮรีสได้ซื้อที่ดินติดกับโรงเรียนเพิ่มอีก 71 ไร่ รวมมีพื้นที่ 90 ไร่ โดยปัจจุบัน มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต[1]

ในปี พ.ศ. 2455 ได้เริ่มใช้ภาษาไทยในการสอนแทนคำเมือง ตามการสนับสนุนการใช้ภาษาไทยกลางของรัฐบาล[3] ตลอดจนการสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนได้รับรองฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลในปี พ.ศ. 2464[2]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทางโรงเรียนได้ปิดการเรียนการสอน[4] รัฐบาลได้ยึดโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในชื่อ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ"[2] หลังสงครามสิ้นสุด โรงเรียนจึงได้เปิดทำการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้เสด็จเยือนโรงเรียน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จเยือนโรงเรียน

เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิดอาคาร Powers Hall

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แก้

ในช่วงที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์เป็นอาจารย์ใหญ่ ทางโรงเรียนได้จัดตั้ง "แผนกสหเตรียมอุดมศึกษาปรินส์ - ดารา" ขึ้นในระดับมัธยมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2499 อันเป็นจุดเริ่มต้นของชั้นเรียนแบบสหศึกษาของโรงเรียน[2]

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนและทรงลงพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมโรงเรียน มีข้อความว่า "รู้สึกยินดีที่เชียงใหม่มีโรงเรียนดี ๆ ที่สง่างามและมีบริเวณกว้างขวาง ยินดีที่มีโอกาสพบครูที่ดีมีน้ำใจ อุตส่าห์สั่งสอนเด็กด้วยใจรักเป็นเวลานาน ขอให้ครูทุกท่านจงช่วยกันสั่งสอนเด็กเถิด เป็นบุญเหลือหลายที่ได้ช่วยเหลือเยาวชนของชาติ ยินดีที่เห็นเด็กนักเรียนทุกคนเรียบร้อย ได้อยู่ในโรงเรียนดี มีบริเวณงามมาก"

เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระอุปถัมภ์และพระราชทานนามอาคารว่า "อาคารเพชรัตน์-สุวัฒนา"

แต่เดิมที่เคยรับสมัครเฉพาะนักเรียนชาย แต่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เปิดเป็นแบบสหศึกษา และในปี พ.ศ. 2536 ได้รับสมัครนักเรียนหญิงระดับชั้นอนุบาล 3 เป็นปีแรก[2] ทางโรงเรียนได้จัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการพระราชทานนามโรงเรียน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และวันที่ 3 มกราคม 2549[5]

ผู้จัดการ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ

แก้
ลำดับ รายนามผู้จัดการ/อาจารย์ใหญ่/ผู้อำนวยการ ตำแหน่ง ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง (นับจากปีการศึกษา) รวม(ปี) หมายเหตุ
1 ศาสนาจารย์ เดวิด กอร์มเลย์ คอลลินส์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2442 12
2 ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม แฮรีส อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2482 40
3 ศาสนาจารย์ ดร.เคนเนธ เอลเมอร์ แวลส์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2484 2 พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488 ได้เว้นระยะไปเนื่องด้วยเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้จัดการ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2493 4
4 อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2491 2
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2510 16
5 อาจารย์กำราบ ไชยาพันธ์ รักษาการอาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2494 2
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512 2
6 อาจารย์ ดร.จำรูญ ไชยลังการณ์ ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2533 20
7 อาจารย์ พงษ์ ตนานนท์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2548 14
8 ผู้ปกครอง ดร.สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2554 6
9 คุณถวิล กัลชาญพิเศษ รักษาการผู้จัดการ พ.ศ. 2551 1
10 ผู้ปกครองสมบูรณ์ ปัญญาพฤกษ์ ผู้จัดการ พ.ศ. 2552 1
11 คุณสเปญ จริงเข้าใจ ผู้จัดการ พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2558 5
12 ผู้ปกครอง ดร.สิรินันท์ ศรีวีระสกุล ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2564 10
ผู้จัดการ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2564 6
13 ผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ยังอยู่ในวาระ
ผู้จัดการ พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ยังอยู่ในวาระ

กิจกรรม

แก้

ลูกเสือ

แก้

พ.ศ. 2456 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ตั้งลูกเสือกองที่ 5 มณฑลพายัพ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "กองลูกเสือมณฑลพายัพที่ 3 ปรินส์รอยแยลส์คอลเลซ" ในอีกสองปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2539 ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชากองลูกเสือของโรงเรียนมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และได้รับการแต่งตั้งกองลูกเสือเป็น "กองลูกเสือเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งประเทศสวีเดน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย"[6] นับเป็นกองลูกเสือกองเดียวในโลก ทั้งยังได้รับพระราชทานธงประจำกองลูกเสือและเครื่องหมายกองลูกเสือพระมหากษัตริย์สวีเดน และมีตราประจำพระองค์อยู่กลางเครื่องหมาย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ได้เสด็จเยี่ยมกองลูกเสือเกียรติยศในพระองค์ของโรงเรียน[6] นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดตั้งกองลูกเสืออาสา กกต. เพื่อประชาธิปไตย ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือเป็นกองลูกเสือของโรงเรียนเอกชนกองแรกในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งโดยสุจริต[6]

โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ

แก้

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติให้เป็นโรงเรียนเครือข่ายในการจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้จัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสม[7]

ปัจจุบัน ใน ระดับประถมศึกษามีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ(IEP, EEP) วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ และ คอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ(MEP) ห้องเรียนเตรียมวิศวะฯ(TEP) และ สสวท.(SMEP) และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนพิเศษสสวท. และห้องเรียนดิจิตอลอาร์ทแอนด์เกม(DAG)

เศรษฐกิจพอเพียง

แก้

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมีกิจกรรมเด่นในด้านเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชื่อกิจกรรม "ออมเพื่อการลงทุน" โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนสามารถนำเงินที่ได้จากการออมไปใช้ในการลงทุนได้[8] นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้การศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการโรงเรียนต้นแบบ เงินทองของมีค่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีทั้งการจัดกิจกรรม "จ้างฮิ จ้างหา ปายหน้าสบาย" "1 คน 1 อาชีพ" และ "ธนาคารขวด" ซึ่งทำให้เครือข่ายโรงเรียนพอเพียงขยายไปอีก 10 โรงเรียนแล้วในจังหวัดเชียงใหม่[9]

กรีฑาสีประจำปี

แก้

กรีฑาสีจัดขึ้นทุกปี แบ่งเป็น 6 สี ได้แก่ สีแดง เหลือง เขียว แสด ฟ้า และ ม่วง แบ่งเป็นกรีฑาสีระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมดังกล่าวที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนระดับประถมศึกษาจะจัดภายในสนามฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมกรีฑาสีที่สนามกรีฑาของโรงเรียน

กิจกรรมที่โดดเด่น

แก้

ราตรีเพลินเพลง

แก้

ราตรีเพลินเพลิง หรือ Music Night เป็นงานประจำปีของโรงเรียนที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อส่งเสริมการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีและทางการแสดงของนักเรียนทุกระดับชั้น โดยจะมีการจัดงานนี้ก่อนทางโรงเรียนปิดคริสต์มาสทุกปี

ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป.

แก้

ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป. เป็นงานประจำปีของโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนได้มาพบปะสังสรรค์และมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอพรจากครูเก่าของโรงเรียน งานดังกล่าวจัดขึ้นก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเป็นผู้จัดกิจกรรมทุกปี

แฮรีสมินิมาราธอน

แก้

การแข่งขันแฮรีสมินิมาราธอนเป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกปีตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส อดีตอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน ตลอดจนสมทบทุนมูลนิธิวิลเลียมแฮรีสอนุสรณ์และกองทุนของโรงเรียน แต่ในปี 2559 ไม่มีการจัดขึ้นเนี่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (วิ่งเพื่อโบสถ์นี้ที่เรารักษ์ ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560 เพื่อนำเงินสมทบทุนมาซ่อมแซมโบสถ์ของโรงเรียนแทน)

อาคารและสถานที่

แก้

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส

แก้

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีสเป็นอาคารหลักแรกของโรงเรียนที่สร้างด้วยไม้สัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานนามโรงเรียนในปี พ.ศ. 2449 สมัยศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีสได้ใช้เป็นบ้านพักและอาคารอำนวยการ ต่อมา ได้ใช้เป็นอาคารดนตรีและห้องซ้อมดุรยางค์[1] วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้านแฮรีส ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างบ้านแฮรีสขึ้นใหม่ตรงที่ตั้งเก่าตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมทุกประการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536[1]

พ.ศ. 2540 อดีตผู้อำนวยการ พงษ์ ตนานนท์ ดำริจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขึ้นมา เมื่อเสร็จแล้วจึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์โรงเรียนแห่งแรกในภาคเหนือ[1] ภายในอาคารเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญมากกว่า 500 ภาพ

สถาบันแฮรีส

แก้

สถาบันแฮรีส หรือ "อาคาร 100 ปี" (Harris Institute) จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญา ส่งเสริมทักษะความสามารถของนักเรียนในการคิด ทำและวิเคราะห์ ตลอดจนเพื่อให้เป็นอาคารศูนย์กลางการค้นคว้าด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการจัดเตรียมสถานที่การเรียนการสอนตามที่โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการเรียนรู้ในโครงการจัดการการเรียนรู้บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง[10] รูปแบบของอาคาร เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิษย์เก่าที่เรียนจบทางด้านสถาปนิก เน้นการออกแบบให้เด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรมและการแสดงออกให้มากที่สุด โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างประมาณตารางเมตรละ 1 หมื่นบาท มีการทำพิธีวางฐานรากเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2549[10]

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดสถาบันแฮรีสอย่างเป็นทางการ[11]

คริสตจักรโรงเรียน

แก้

โบสถ์ประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อสร้างขึ้นจากเงินบริจาคโดยคริสตศาสนิกชนชาวไทยและอเมริกัน ซึ่งพ่อครูดร.วิลเลียม แฮรีส ก็ถือเป็นบุคคลผู้ริเริ่มในการก่อสร้างโบสถ์ในปี พ.ศ. 2472 เมื่อโรงเรียนสามารถรวบรวมทุนได้มากเพียงพอแล้ว นายแวน แอลเล็น แฮรีส (Van Allen Harris) น้องชายของพ่อครูแฮรีสซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกร ก็ได้เดินทางมาเชียงใหม่ แล้วทำการดำเนินการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2473

สำหรับตัวอาคารโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นโดยมีการนำเอารูปแบบศิลปะแบบกอทิกมาประยุกต์ใช้ โครงสร้างของโบสถ์เป็นรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่ว ภายในอาคารเป็นเพดานยกสูงแบบจั่วซึ่งสามารถรองรับน้ำหนักได้ด้วยโครงสร้างหลังคาแบบ Hammer-beam roof ซึ่งเป็นรูปแบบการทำหลังคาแบบซุ้มโค้งแหลม ปัจจุบันโบสถ์ก็ยังเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจที่สำคัญของโรงเรียน[12]

โรงละคร

แก้

สร้างขึ้นพร้อมกันกับโบสถ์ของโรงเรียน เมื่อปี ค.ศ.1929 เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมสร้าง เสริม การเรียนรู้ของนักเรียน การประชุม การแสดงและรวมถึงใช้จัดอบรมจริยธรรม โรงละครนี้สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากสหายร่วมชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัยปรินสตันของ พ่อครู ดร.วิลเลียม แฮรีส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยน้องชายของพ่อครูชื่อ วอลเตอร์ และแวน เอลเล็น แฮรีส

อนุสาวรีย์หินหัวมุม

แก้

สร้างขึ้นโดยสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เพื่อเป็นที่ระลึกในการก่อตั้งโรงเรียน และได้นำแผ่นจารึกเมื่อครั้นพระราชทานนามโรงเรียน ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 ไปประดิษฐานไว้

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

ด้านสังคมและการเมือง

ด้านวิชาการ

  • ศาสตราจารย์ สวาสดิ์ ไชยคุณา อดีตอธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน)
  • ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ / อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

นักสื่อสารมวลชน

  • ชมพูนุช ตัณฑเศรษฐี ผู้ประกาศข่าวช่องเวิร์คพอยท์
  • พิสิทธิ์ กีรติการกุล พิธีกร และผู้ประกาศข่าว
  • วัฒนากร ทิพจร ดีเจ, พิธีกร และผู้ประกาศข่าว

นักกีฬา

บุคคลในแวดวงบันเทิง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ประวัติโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2002-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  3. ประวัติ P.R.C. : ยุคที่สี่ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย[ลิงก์เสีย]. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
  4. ทะเบียนประธานรุ่นและสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ส.น.ป.) เก็บถาวร 2010-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  5. รำลึก 100 ปี ปรินส์รอยแยลส์ฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี "มาถึงวันแรกผมนั่งร้องไห้ใต้ต้นฉำฉา". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  6. 6.0 6.1 6.2 "กองลูกเสือเกียรติยศ" ในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  7. โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ เก็บถาวร 2009-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
  8. เอกสารกิจกรรมเด่นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2010-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้น 6-12-2553.
  9. ติดอาวุธทางปัญญา นำ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สู่รั้วโรงเรียน เก็บถาวร 2010-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย. สืบค้น 06-12-2553.
  10. 10.0 10.1 จาก 100 ปี 100 ล้าน สู่ปรินส์รอย 2. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
  11. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด "อาคาร 100 ปี สถาบันแฮรีส" โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯจังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 29-7-2554.
  12. อาคารอนุรักษ์ดีเด่น;โบสถ์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 27-10-2560.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้