การสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เวลา 19.09 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติ หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 18 มกราคม พ.ศ. 2529 ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ระหว่างวันที่ 7 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2529 ซึ่งพระราชพิธีจะมีขึ้น ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในรัชกาลที่ 6
พระโกศทองน้อยทรงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6
พระโกศทองน้อยทรงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6
การสิ้นพระชนม์
พระนามพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
วันสิ้นพระชนม์10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 (38 ปีที่แล้ว)
สถานที่สิ้นพระชนม์โรงพยาบาลศิริราช
ประดิษฐานพระศพพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระโกศพระโกศทองน้อย
ฉัตรฉัตรตาดทอง 5 ชั้น
พระเมรุพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส
วันพระราชทานเพลิงพระศพ8 มีนาคม พ.ศ. 2529 (38 ปีที่แล้ว)
ประดิษฐานพระอัฐิหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ประดิษฐานพระสรีรางคารวัดพระปฐมเจดีย์

พระพลานามัยก่อนสิ้นพระชนม์ แก้

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 มีพระพลานามัยแข็งแรง หลังจากทรงเข้ารับการผ่าตัดกล่องพระสกุล (มดลูก) ที่ประเทศอังกฤษแล้ว ก็ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลอีก ต่อมามีพระอาการประชวรตามพระชันษา โดยพระอาการเริ่มแสดงตั้งแต่พระชันษา 70 ปี โดยในปีนั้นมีการเรียกร้องทางการเมือง ทำให้ทรงระลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ทำให้ทรงต้องย้ายที่ประทับครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ประชวรด้วยพระโรคอัลไซเมอร์ โดยเหมือนพระองค์ทรงย้อนเวลากลับไปในอดีต ทรงกวดขันพระราชธิดาราวกับพระราชธิดายังทรงพระเยาว์ ในตอนแรกก็ทรงควบคุมพระสติได้ แต่ต่อมาก็ทรงมีพระอาการทรุดลง โดยทรงจำรหัสตู้นิรภัยไม่ได้และทรงสลับเอกสารระหว่างกระเป๋าถือกับกระเป๋าทรงสำอาง ในคราวหนึ่งนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเยี่ยมพระอาการ พระองค์ก็เสด็จลงมารับตามปกติ แต่พอถึงกลางบันไดกลับทรงนั่งลงอยู่ประมาณ 10 นาที นางสนองพระโอษฐ์ผู้นั้นจึงแจ้งแพทย์ประจำพระองค์ ต่อมาทรงเข้ารับการรักษาและพบว่าพระวักกะ (ไต) พิการ เมื่อพระอาการทุเลาลงจึงเสด็จกลับ ต่อมาประชวรด้วยพระโรคอัลไซเมอร์ จนกระทั่งทรงจำข้าหลวงที่ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่เยาว์วัยได้ ต่อมาประชวรพระปับผาสะ (ปอด) อักเสบ คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษาและเฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีพลเอกประพัทธ์ กุวานนท์ ราชองครักษ์ประจำพระองค์และราชเลขานุการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์ด้วย รับสนองพระบัญชาโดยตลอด

ในเวลาต่อมาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 เริ่มมีพระอาการพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ มีรับสั่งน้อยลง แต่ทรงทราบกิจทุกเรื่อง คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถ มีพยาบาลมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ต่อมาพระองค์ประชวรด้วยพระอาการแทรกซ้อนภายในพระปัปผาสะ คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนสุดความสามารถ จนสิ้นพระชนม์

สิ้นพระชนม์ แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังประกาศเรื่อง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ และโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ความว่า

เลขาธิการพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ ม.จ.ก., ป.จ. สิ้นพระชนม์เนื่องจากพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๙ นาที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ๓๐ วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

สำนักพระราชวัง

วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

พระราชพิธีพระราชทานน้ำสรงพระศพ แก้

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เวลา 17.09 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชทานสรงน้ำพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเข้าในพระฉาก ซึ่งพระศพบรรทมอยู่บนพระแท่น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง​ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร ทรงรับหม้อน้ำพระสุคน ธ์และโถน้ำขมิ้นจากเจ้าพนักงานสนมพลเรือนพระราชทานสรงทรงพระอุระพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับโถน้ำพระสุคนธ์ ถวายสรงที่พระบาทพระศแล้วทรงคม จบ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร ทรงหวีพระเกศาพระศพขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วทรงหวีลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ จบ เสด็จประทับราบพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และพระประยูรญาติกราบถวายบังคมพระศพ ​พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร เสด็จไป​​พระราชทานซองพระศรีบรรจุดอกบัวและธูปเทียนที่ปากพระโกศ แล้วทรงรับแผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ ทรงรับพระชฎาทองคำสวมพระเศียรพระศพ แล้วเสดอกไปประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระโกศ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จตามพระโกศ ตำรวจหลวงเชิญพระโกศพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง 3 ชั้น ประกอบพระลองทองน้อย ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น แวดล้อมด้วยเครื่องสูง บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปทรงวางพวงมาลาที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงกราบ แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 40 รูป สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงคมไปที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ทรงคม เสด็จพระราชดำเนินกลับ

การสวดพระอภิธรรมพระศพ แก้

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำทั้งกลางวันและกลางคืน ในเวลา 18.00 น.ไปจนถึงเวลา 07.00 น. รุ่งขึ้นรับพระราชทานฉันเช้า และเพล มีกำหนด 100 วัน

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ โดยมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เฝ้าฯรับเสด็จ ทรงวางพวงมาลา เจ้าพนักงานประโคม ปี่ สังข์ กลองชนะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สักการะพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจัตตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม เสด็จฯกลับ วันต่อมาทรงให้พระราชวงศ์ชั้นสูง เสด็จแทนพระองค์ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม เสด็จฯกลับ [1]

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เจ้าพนักงานประโคม ปี่ สังข์ กลองชนะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจัตตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เสด็จจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม เสด็จฯกลับ วันต่อมาทรงให้พระราชวงศ์ชั้นสูง เสด็จแทนพระองค์ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม ทรงสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมจนจบ พระพิธีธรรมขึ้นยังอาสน์สงฆ์ ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ พระพิธีธรรม ๘ รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จฯ กลับ[2]

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าพนักงานประโคม ปี่ สังข์ กลองชนะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจัตตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เสด็จจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ วันต่อมาทรงให้พระราชวงศ์ชั้นสูง เสด็จแทนพระองค์ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 20 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานเชิญพระสงฆ์ที่จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา บนอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงคมไปยังพระโกศและทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เสด็จจุดธูปเทียนที่เตียงสวดพระอภิธรรม เสด็จพระดำเนินกลับ อนึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระอนุวงศ์ ข้าราชบริพารจัดการบำเพ็ญพระราชกุศลกงเต็ก โดยได้จำลองพระตำหนักหลุยส์เครเซนต์ ที่ประทับคราวเสด็จไปประเทศอังกฤษ[3]

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ แก้

ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2529 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานถึงยังพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี แล้วประทับพระราชอาสน์ จบแล้วทรงถวายพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุพระศพฯ แด่ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สวดศราทธพรต 20 รูป พระสงฆ์ที่สดัปกรณ์ 81 รูปเท่าพระชันษา และบรรพชิตจีนและญวน 20 รูป จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพฯ ทรงธรรมสมเด็จพระราชาคณะ ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ 20 รูป สวดศราทธพรต จบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ แล้วทรงทอดผ้าไตรถวายสมเด็จพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรตสดัปกรณ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ต่อจากนั้นเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 81 รูป และบรรพชิตจีนและญวน สวดมาติกา จบแล้วทรงทอดผ้าไตรและย่ามที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุก สำหรับพระพิธีธรรมที่สวดพระอภิธรรมพระศพฯ จนถึงเวลา 24 นาฬิกา[4] อนึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้เช่าตึกแถวของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในเยาวราช จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลกงเต็ก โดยได้จำลองวังรื่นฤดี มาเป็นเครื่องกระดาษ

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการนี้พระบรมวงศานุวงศ์ หม่อมหลวงบัว กิติยากร และนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน โดยเสด็จฯในการนี้ด้วย เมื่อเสด็จฯถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพ จากนั้นทรงศีล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จฯขึ้นพระเมรุ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพทรงธรรมบนพระเมรุ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมและเทียนดูหนังสือเทศน์ ทรงธรรม จบแล้วทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ จากนั้นทุกพระองค์เสด็จขึ้นพระเมรุทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงพระศพ เสร็จแล้วโปรดให้ข้าราชการ พระสงฆ์ ประชาชนถวายดอกไม้จันทน์บนพระเมรุ จากนั้นเสด็จฯกลับ

ต่อมาในเวลา 21.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการพระราชทานเพลิงพระศพจริง ในการนี้พระบรมวงศานุวงศ์ และนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน โดยเสด็จฯในการนี้ด้วย เมื่อเสด็จฯ ถึงพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงในพระลองไม้จันทน์ปิดทอง ทรงถวายสรงน้ำมะพร้าวแก้วที่พระพักตร์ ทรงวางกระทงข้าวตอกและกระทงดอกไม้ขมาพระศพ ทรงจุดช่อดอกไม้จันทน์จากชนวนที่ตำรวจวังชูถวายพระราชทานเพลิงพระศพจริง จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางกระทงข้าวตอกและกระทงดอกไม้ขมาพระศพ ทรงวางดอกไม้จันทน์จากชนวนที่ตำรวจวังชูถวายพระราชทานเพลิงพระศพ และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงจุดดอกไม้จันทน์ถวายพระเพลิงพระศพ เสด็จฯลงจากพระเมรุ เจ้าพนักงานปิดพระวิสูตรและฉากบังเพลิง ปฏิบัติการถวายพระเพลิงในเตาสุมฟืน เมื่อเพลิงผลาญพระศพจนใกล้หมดสิ้น เจ้าพนักงานได้ใช้แท่งเหล็กที่มีก้านพันด้วยผ้าขาว แทงลงไปกลางพระอัฐิที่มีเพลิงลุกอยู่ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯทอดผ้าสดับปกรณ์กองฟอน พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ เสร็จแล้ว เสด็จฯ ลงจากพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ กลับ เมื่อเจ้าพนักงานงานสรงน้ำสุคนธ์ดับพระเพลิงแล้วยกฉัตรสุมพระอัฐิแล้วพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จกลับ[5]

หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

  • วันที่ 7 มีนาคม 2529
  • บำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
    • แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจุลจอมเกล้า
  • วันที่ 8 มีนาคม 2529**
  • บำเพ็ญพระราชกุศล เชิญพระโกศทองน้อยออกพระเมรุ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยรถวอพระวิมาน ถึง หน้าวัดเทพศิรินทราวาส
    • แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี
  • เชิญพระโกศทองน้อยด้วยกระบวนอิสริยยศจากหน้าวัดไปยัง พระเมรุภายในฌาปนสถานหลวง ด้วยราชยาน
    • แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี
  • เชิญพระโกศทองน้อย ขึ้นพระราชยานเวียนรอบพระเมรุ โดยอุตราวัตร 3 รอบ
    • แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี
  • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
    • แต่งกาย เต็มยศสายสะพายมหาจักรี
  • พระราชทานเพลิงพระศพ (จริง)
    • สากล ไว้ทุกข์
  • วันที่ 9 มีนาคม 2529
  • เก็บพระอัฐิ
    • แต่งกายปกติขาว ไว้ทุกข์
  • วันที่ 10-14 มีนาคม 2529
  • บำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ เป็นการส่วนพระองค์
    • แต่งกายปกติขาว ไว้ทุกข์
  • วันที่ 15 มีนาคม 2529
  • ฉลองพระอัฐิ
    • แต่งกายปกติขาว
  • วันที่ 16 มีนาคม 2529
  • บำเพ็ญพระกุศล และเชิญพระสรีรางคาร โดยรถยนต์พระที่นั่งไปเทียบที่ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
    • แต่งกายปกติขาว
  • เชิญผอบพระสรีรางคารขึ้นราชยานกง ไปยังพระวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์
    • แต่งกายปกติขาว
  • บรรจุพระสรีรางคาร
    • แต่งกายปกติขาว
  • วันที่ 15 เมษายน 2529
  • บำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ พระบุพการี และเชิญฉัตรสุมพระอัฐิ
    • แต่งกายปกติขาว

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเก็บพระอัฐิ แก้

 
เก็บพระอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการเก็บพระอัฐิ เมื่อเสด็จถึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระอัฐิ ทรงถวายน้ำพระสุคนธ์สรงพระอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนสำหรับพระอัฐิบูชาพระสงฆ์ เจ้าพนักงานถวายผ้าตาดปิดคลุมพระอัฐิ ทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์ พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์ จากนั้นทรงประมวลพระอัฐิลงในพระโกศทองคำลงยา และประมวลลงในพระโกศทองคำลงยาองค์เล็ก พระราชทานพระอนุญาตให้เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิลงจากพระเมรุ ไปประดิษฐานบนบุษบก ภายในพลับพลาอิศริยาภรณ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระอัฐิและทรงจุดธูปเทียนสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงประเคนภัตตาหารสามหาบ ระหว่างนี้เจ้าพนักงานเชิญพระสรีรางคารที่เหลือลงบรรจุในถ้ำศิลา พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ พระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญพระโกศทองคำลงยาทั้งสององค์ขึ้นรถยนต์พระประเทียบรถแรก จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระสรีรางคารขึ้นรถยนต์พระประเทียบรถที่สอง โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประทับรถยนต์พระที่นั่งตามเสด็จ โดยกระบวนพระอิสริยยศมุ่งหน้าไปยังวัดเบณจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อถึงแล้วเจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้า ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น และเชิญพระสรีรางคารประดิษฐานบนม้าหมู่หน้าพระแท่นแว่นฟ้า ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ เสด็จกลับ[6]

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระอัฐิ แก้

 
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

ในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระอัฐิ เมื่อเสด็จถึงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประยูรญาติจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้ารูปของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์), พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์), คุณหญิงเล็ก บุนนาค, เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และ ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ทรงจุดธูปเทียนสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ทรงประเคนจตุปัจจัยบูชากัณฑ์เทศน์ ทอดผ้าสดับปกรณ์พระอัฐิ พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์ เสร็จแล้วทรงทอดผ้าสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์ ทรงทอดผ้าส่วนพระองค์บังสุกุลพระบุพการีในสกุลอภัยวงศ์และบุนนาค พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา พระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญพระโกศทองคำลงยาองค์เล็กกลับวังรื่นฤดี ด้วยรถยนต์พระประเทียบ ตั้งขบวนพระอิสริยยศไปประดิษฐานเคียงคู่พระบรมโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งตามในกระบวนพระอิสริยยศ

พระราชพิธีบรรจุพระอัฐิ แก้

เมื่อทรงฉลองพระอัฐิ เสร็จการแล้ว จึงได้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ต่าง ๆ ดังนี้

พระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร แก้

 
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ในพระราชพิธีทรงบรรจุพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

16 มีนาคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร ทรงบรรจุพระสรีรางคาร ณ ผนังเบื้องพระปฤศฎางค์ (เบื้องหลัง) ของพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 9:30 น. โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ เมื่อราชยานยนต์หลวงเชิญพระสรีรางคารจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เชิญผอบพระสรีรางคารประดิษฐานบนราชยานกงด้วยกระบวนพระอิสริยยศ โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงเสด็จตามพระสรีรางคาร เมื่อถึงเชิงบันไดพระวิหารหลวง เจ้าพนักงานเชิญผอบพระสรีรางคารขึ้นประดิษฐานที่ม้าหมู่หน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเสด็จถึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ ธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และทรงเชิญพระสรีรางคารออกบรรจุในกล่องศิลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระสรีรางคาร ทรงศีล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม และ ทรงจุดสำหรับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงธรรม จากนั้นทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์พระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 40 พับ และไตรสดัปกรณ์ของส่วนพระองค์เอง 40 พับ รวม 80 พับ เทียบเท่าพระชันษาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีพระชนนี พระสงฆ์ทั้งนั้นสดัปกรณ์ จากนั้นทรงให้เจ้าพนักงานเชิญกล่องศิลาบรรจุพระสรีรางคารสู่ห้องพระประสูติ เสด็จเข้าห้องพระประสูติทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ จากนั้นทรงเลื่อนกล่องบรรจุพระสรีรางคารเข้าสู่ช่องบรรจุ จากนั้นทรงวางพวงมาลาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และของส่วนพระองค์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระสรีรางคาร ทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งสักการะพระประสูติ เสด็จกลับ อนึ่ง ฉัตรที่ใช้ถวายสุมพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทูลขอพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเชิญฉัตรที่ใช้ถวายสุมพระอัฐิ ไปกางกั้นถวายพระพุทธรูปปางอภัยทานอันเป็นพระพุทธรูปประธานในวัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นวัดประจำสกุล อภัยวงศ์

การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ แก้

วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2529 มีการพระราชทานเพลิงพระบุพโพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณที่จัดขึ้นสืบต่อกันมาในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย ในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงพระบุพโพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

โดยพิธีการเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระโกศทรงพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และประทับพระเก้าอี้ข้างพระราชอาสน์ จากนั้นเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายบังคมพระศพทางด้านหน้าที่ประดิษฐานพระศพ เปลื้องพระโกศทองน้อยออก เชิญไปพักที่ในพระฉาก เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญถ้ำพระบุพโพออกจากพระแท่นแว่นฟ้า เชิญลงจากพระที่นั่งทรงธรรม เมื่อถึงลานหน้าบันได เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายพระกลดกางกั้นถ้ำพระบุพโพ ไปขึ้นเกยและประดิษฐานหีบเครื่องพระบุพโพบนพระวอวิมาน ส่วนถ้ำพระบุพโพเชิญโดยรถยนต์พระที่นั่ง เข้าขบวนเชิญออกจากวัดเบญจมบพิตร ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อขบวนเดินทางถึง ได้เชิญพระบุพโพเทียบที่บันไดเมรุหลวงหน้าพลับอิศริยาภรณ์ทางด้านหลัง แล้วเชิญขึ้นพระเมรุแล้วปิดม่าน จากนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จขึ้นเมรุทรงทอดผ้าไตร วางธูปเทียนดอกไม้จันทน์ พระราชวงศ์ พระประยูรญาติและข้าราชบริพาร วางธูปเทียนดอกไม้จันทน์ แล้วสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทานเพลิงพระบุพโพ (จริง) ที่หน้าหีบเครื่องพระบุพโพ เป็นอันเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงพระบุพโพ ซึ่งการถวายพระเพลิงพระบุพโพ หรือ น้ำเหลือง ตามประเพณีโบราณจะกระทำก่อนการถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงพระสรีระพระศพที่บรรจุลงในพระโกศ

ฉัตรสุมพระอัฐิ แก้

เมื่อเสร็จการพระศพของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีแล้ว และได้อัญเชิญพระสรีรางคารสู่ที่ประดิษฐานเป็นอันเสร็จการ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอัญเชิญพระฉัตรตาดทองที่ถวายสุมกางกั้นพระอัฐิบนพระเมรุแล้ว จึงทรงพระราชานุญาต ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 จึงเสด็จพระดำเนินเชิญฉัตรตาดทองและเครื่องสักการะสงกรานต์ไปยังวัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเสด็จถึง ทรงจุดธูปเทียนกระบะมุกบูชา พระพุทธรูปพระอภัยวงศ์ จากนั้นทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระฉายาลักษณ์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะอังคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) พระอัยกาในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี อังคารพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) พระชนกในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ รูปคุณหญิงเล็ก บุนนาค พระชนนี ใน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จากนั้นทรงถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ เนื่องในวันประสูติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จากนั้นทรงเจิม สุหร่ายแล้วยกฉัตรถวายกางกั้นพระอภัยวงศ์ จากนั้นทรงถวายสรงน้ำ ถวายเจิมพระอภัยวงศ์เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ และทรงเสด็จที่ด้านหลังพระประธาน ทรงถวายสรงน้ำที่หน้าช่องอังคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) พระอัยกาในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี อังคารพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) พระชนกในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ที่อยู่ใต้ฐานของพระอภัยวงศ์ ทรงวางพวงมาลัย และจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงเสด็จกลับ ต่อมาในเวลา 15.30 น. ทรงเสด็จยังวัดประยุรวงศาวาส ทรงเสด็จจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระประธาน ถวายสรงและเจิมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เสด็จต่อไปยังที่บรรจุอัฐิของพระบุพการีในสายสกุล บุนนาค ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะอังคารของพระบุพการี ทรงเสด็จถวายสรงที่บรรจุอังคาร และทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยตรงที่บรรจุอังคารของคุณหญิงเล็ก บุนนาค ทรงสรงน้ำ เสด็จพระดำเนินกลับวังรื่นฤดี

สถาปนาพระเกียรติยศ แก้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระอนุสรณ์ถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2528 ว่าเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นสมเด็จพระปิตุลาธิราช และเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันมีศักดิ์รองจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้น ทรงพระราชดำริว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ อีกทั้งทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ขึ้น โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดพระโกศทองน้อย และฉัตรตาดทองกางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป

ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2528 เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

การประโคมย่ำยาม แก้

การประโคมย่ำยาม ในงานพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นการประโคมเฉพาะของงานเครื่องสูง สังกัดสำนักพระราชวังเท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

  • ยาม 1 เวลา 06.00 น.
  • ยาม 2 เวลา 09.00 น.
  • ยาม 3 เวลา 12.00 น.
  • ยาม 4 เวลา 15.00 น.
  • ยาม 5 เวลา 18.00 น.
  • ยาม 6 เวลา 21.00 น.
  • ยาม 7 เวลา 24.00 น.

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประโคมเต็มตามพระอิสริยยศเป็นเวลา 100 วัน

ภาคผนวก แก้

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร แก้

 
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี องค์นี้เป็นพระพุทธรูปนาคปรก สำหรับองค์พระพุทธรูปนั้นเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะ (ขัดสมาธิเพชร) แสดงธยานะมุทราด้วยการวางพระหัตถ์ขวาซ้อนบนพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระเพลา พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม ก้มพระพักตร์ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งพระโอษฐ์เรียว พระกรรณสั้น องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์จีบเป็นริ้วเหมือนริ้วผ้าตามธรรมชาติ ห่มแบบห่มคลุม โดยมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสร้างเมื่อคราวทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา 15 เมษายน 2510 ณ มณฑลพิธีวังรื่นฤดี เพื่อทรงนมัสการ ภายหลังจะเชิญออกในงานที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายเนื่องในวันคล้ายวันประสูติและวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในห้องทรงนมัสการ วังรื่นฤดี สุขุมวิท 38

วันสำคัญในพระองค์ แก้

  • 15 เมษายน - วันสุวัทนา
  • 10 ตุลาคม - วันที่ระลึกพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, [1], เล่ม ๑๐๒, ตอน ๑๔๘, ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๙๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, [2], เล่ม ๑๐๒, ตอน ๑๗๖, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๙๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, [3], เล่ม ๑๐๓, ตอน ๙, ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๒๓๒
  4. ราชกิจจานุเบกษา, [4], เล่ม ๑๐๓, ตอน ๓๖, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๑๐๐๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, [5], เล่ม ๑๐๓, ตอน ๓๖, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๑๐๐๐
  6. ราชกิจจานุเบกษา, [6], เล่ม ๑๐๓, ตอน ๓๖, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๑๐๐๐