เล็ก บุนนาค เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) และเป็นพระชนนีในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6

เล็ก บุนนาค
คู่สมรสพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)
หลวงบริหารยุคลบาท (แหวน จารุดุล)
บุตรพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
สุประเกต จารุดุล
สัตยวดี กุวานนท์
กาญจนีย์ จารุดุล
มณีพันธุ์ จารุดุล
บุพการี

ประวัติ แก้

เล็ก เป็นธิดาคนเล็กของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่เกิดกับท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ซึ่งทั้งบิดาและมารดามาจากตระกูลขุนนาง จำเดิมท้าวศรีสุนทรนาฏผู้มารดาได้กำพร้าบิดามาแต่เยาว์วัยเพราะบิดาถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ในกัมพูชา ท้าวศรีสุนทรนาฏจึงเข้ามาอยู่ในอุปการะในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้ตกเป็นอนุภริยาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) จนมีบุตรด้วยกันสองคน เล็กมีพี่สาวร่วมบิดามารดาคือคุณหญิงมณี พิพิธภัณฑ์วิจารณ์ ครั้นเวลาต่อมาท้าวศรีสุนทรนาฏได้สมรสใหม่กับหลวงอำนาจณรงค์ราญ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน) เล็กมีน้องชายต่างบิดาคือหม่อมหลวงต่อ พนมวัน[1] แม้เธอจะเป็นธิดาที่เกิดแต่อนุภริยา แต่ก็ได้รับการศึกษาอย่างดีโดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองปีนัง[2]

เล็กถือเป็นดรุณีแรกรุ่นที่มีรูปลักษณ์สวยงาม ครั้นเวลาต่อมาได้เป็นภริยาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ได้ไม่ช้านาน สามีก็สมรสกับสตรีตามความเห็นชอบของบิดามารดาขณะที่เล็กยังตั้งครรภ์ เมื่อการณ์เป็นเช่นนั้นเล็กจึงออกจากเคหาสน์ของสามีกลับมาอยู่กับท้าวศรีสุนทรนาฏผู้มารดา และให้กำเนิดธิดา ณ บ้านคลองบางหลวงของมารดา ท้าวศรีสุนทรนาฏจึงตั้งนามแก่ธิดานั้นว่า "เครือแก้ว" และเรียกโดยทั่วไปว่า "ติ๋ว"[2] ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6[1][3]

เล็กสมรสหนที่สองกับหลวงบริหารยุคลบาท (แหวน จารุดุล) มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คน ได้แก่

  1. นายแพทย์สุประเกต จารุดุล สมรสกับคุณหญิงอรุณธดี จารุดุล (นามเดิม อาบ วิเศษกุล)
  2. คุณหญิงสัตยวดี กุวานนท์ (นามเดิม กิ่งแก้ว จารุดุล) สมรสกับพลเอกประพัทธ์ กุวานนท์
  3. กาญจนีย์ จารุดุล
  4. มณีพันธุ์ จารุดุล สมรสกับอุษา จารุดุล

เล็กเสียชีวิตปีใดไม่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าขณะนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวียังเยาว์ชันษา ท้าวศรีสุนทรนาฏจึงอุปการะหลานสาวสืบมา พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีจึงเข้ามาประจำกับยายและเข้ารับราชการในราชสำนัก[2]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 201
  2. 2.0 2.1 2.2 วินิตา ดิถียนต์. ดวงแก้วแห่งพระมงกุฏเกล้า. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2552, หน้า 80-82
  3. "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ สืบเชื้อสายพระมารดา "อภัยวงศ์"". เดลินิวส์. 26 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]