พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน | |
---|---|
Chitralada Palace | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | พระตำหนัก |
สถาปัตยกรรม | ตะวันตก |
ที่ตั้ง | ภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2456 (111 ปี) |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2500 (67 ปี) |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | พระตำหนัก และพื้นที่ทำการเพาะปลูก |
ประวัติ
แก้พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดสร้างพระตำหนักขึ้น โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการก่อสร้าง เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน"[1] บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อประตูตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และ
ท้าวโลกบาล คือ ด้านทิศตะวันออก ชื่อประตู “พระอินทร์อยู่ชม” ด้านทิศใต้ ชื่อประตู “พระยมอยู่คุ้น” ด้านทิศตะวันตก ชื่อประตู “พระวรุณอยู่เจน” และด้านทิศเหนือ ชื่อประตู “พระกุเวนอยู่เฝ้า” ในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง 3 ทิศ เว้นทิศตะวันออก มีสะพาน 2 สะพาน มีประตูน้ำ 2 ประตู และมีซุ้มทหารยาม 30 ซุ้ม ความสำคัญของประตู “พระวรุณอยู่เจน” เป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างเป็นตึก 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นครั้งคราว เมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ทรงกระทำการที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเช่นเดียวกับพระราชวัง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับที่วังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกสวนจิตรลดาเป็นเขตพระราชฐานในพระราชวังดุสิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารต่าง ๆ เช่น โรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก รวมถึงศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์ ส่วนภายในพระตำหนัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์
อาคารอื่น ๆ ในสวนจิตรลดา
แก้- เรือนต้น (จำลอง) เป็นเรือนไม้ทรงไทยที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบเรือนต้นภายในพระราชวังดุสิต โดยใช้เป็นสถานที่จัดงานถวายเลี้ยงแบบไทยในการรับรองแก่องค์พระประมุขและพระราชวงศ์ และพระราชทานเลี้ยงแก่ประมุขของนานาประเทศที่เสด็จ หรือเดินทางมาเยือนประเทศไทย
- ศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจำนวนมากซึ่งเรือนต้น (จำลอง) ไม่สามารถรองรับได้หมด
- พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น เป็นพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2517 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2519 อยู่ตรงข้ามถนน
- พระตำหนักใหม่ เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เพื่อใช้เป็นตำหนักหอของดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน พระสวามี
- สวนพรรณไม้ในวรรณคดี เป็นสวนพรรณไม้ในวรรณคดี ภายในสวนเป็นที่ตั้งของพระตำหนักใหม่
- อาคารชัยพัฒนา (เดิม) เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยเป็นที่ทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
สถานที่สำคัญโดยรอบสวนจิตรลดา
แก้- พระราชวังดุสิต
- วชิราวุธวิทยาลัย
- โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
- โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส ดุสิต
- สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กรมทางหลวง
- อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
- มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แก้นามพระโรง และพระราชทานนามพระตำหนัก,เล่ม 29, ตอน 0 ก, 30 มิถุนายน พ.ศ. 2455, หน้า 111