โรงเรียนจิตรลดา

โรงเรียนจิตรลดา (อังกฤษ: Chitralada School) เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต[1]

โรงเรียนจิตรลดา
Chitralada School
ไฟล์:Cdlogo1.gif
ข้อมูล
ชื่ออื่นCD
ประเภทโรงเรียนเอกชน
คำขวัญ
"รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่ความรู้ คู่คุณธรรม"
สถาปนา10 มกราคม พ.ศ. 2498 (69 ปี 69 วัน)
ผู้อำนวยการผศ. ดร. ยุวดี นาคะผดุงรัตน์
สีเหลือง ฟ้า
เพลงเพลงมาร์ชจิตรลดา
เว็บไซต์http://www.chitraladaschool.ac.th/

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้โรงเรียนจิตรลดาได้ดำเนินงานมาโดยตลอด ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์บริหาร โรงเรียนจึงได้รับสนองพระราโชบายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระราโชบายมาบริหารและดำเนินการ[2]

โรงเรียนจิตรลดาได้รับการยอมรับว่าเป็น "the most exclusive school in Thailand"[3]

ประวัติโรงเรียนจิตรลดา[4] แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาในระดับอนุบาลขึ้น ณ พระที่นั่งอุดรภาค ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ประทับของพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2498 เนื่องด้วยขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชนมายุพร้อมที่จะทรงพระอักษรได้ จึงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียน โดยมีพระอาจารย์คนแรกที่ถวาย ฯ การสอนเพียงคนเดียว คือ ดร.ทัศนีย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระสหายร่วมศึกษาอีก 7 คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจิตรลดา 

จากนั้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ หรือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุพอที่จะทรงพระอักษรได้ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มชั้นอนุบาลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และเพิ่มนักเรียนขึ้นอีก 4 คน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระอาจารย์เพิ่มอีกคนหนึ่งคือ นางสาวอังกาบ ประนิช (ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนอนุบาล 2 ระดับ ระดับละ 8 คน

ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการถาวร จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนถาวรในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนจิตรลดา" และได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2507 ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา 2511 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับนักเรียนทั่วไปตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนในแต่ละปีการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ตามพระบรมราโชวาท “ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นศิษย์ของโรงเรียนจิตรลดา[5] แก้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เริ่มทรงพระอักษรชั้นอนุบาล 1 ณ พระที่นั่งอุดร ณ วันที่ 10 มกราคม 2498

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เริ่มทรงพระอักษรในชั้นอนุบาล 1 ณ วันที่ 10 มกราคม 2499

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เริ่มทรงพระอักษร ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2501

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เริ่มทรงพระอักษร ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2504

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1 เมื่อ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2504

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จมาทรงพระอักษรในระดับอนุบาล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2528

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เสด็จมาทรงพระอักษรในระดับอนุบาล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2530

ประธานบริหารและผู้บริหารโรงเรียนจิตรลดาในปัจจุบัน[6] แก้

  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานบริหาร
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้จัดการและผู้อำนวยการ
  • นางสมสมร หนูมา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป
  • หม่อมหลวงนลินทิพย์ เทวกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับประถมศึกษา
  • นางสาวจรินทร์ทิพย์ วรกิจสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับมัธยมศึกษา
  • นางชฏามาศ นพสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • นางปานใจ ดวงวิจิตรกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
  • นางคณัสนันท์ ผ่องพันธุ์งาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลงานบุคคล)
  • นางอาภรณ์ ตันสงวน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลงานการเงิน บัญชี และ พัสดุ)
  • นางสาวกนกพร จรินทร์รัตนากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับประถมศึกษา
  • นางนติยา ปัญญาเสวนมิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • นางจิราพร ลิ้มตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
  • นายธีรพล สาตราภัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับอนุบาล)
  • นางสาวพรทิพย์ บุญเชิด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับประถมศึกษา)
  • นายพิทยา ตุลาธร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับมัธยมศึกษา)

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้