พระตำหนักสวนหงส์

พระตำหนักสวนหงส์ เป็นพระตำหนักภายในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เคยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีตรียัมปวาย รวมทั้ง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

พระตำหนักสวนหงส์
พระราชวังดุสิต
พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต ก่อนการบูรณะ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระตำหนัก
สถาปัตยกรรมวิกตอเรียน กอทิค
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2445
ปรับปรุงพ.ศ. 2525
พ.ศ. 2561
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างพระราชวังดุสิต

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตโดยแบ่งอาณาเขตของพระราชวังเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นในดังเช่นแบบแผนการสร้างพระราชวังโดยทั่วไป ในเขตพระราชฐานชั้นในนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักและตำหนักต่าง ๆ ขึ้น โดยแต่ละแห่งขึ้นต้นด้วยคำว่า "สวน" โดยพระตำหนักที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีนั้นพระราชทานนามว่า "พระตำหนักสวนหงส์" ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประตูนกร้อย

ก่อนหน้านั้นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักศรีราชาเพื่อพักฟื้นจากพระอาการประชวร ระหว่างนั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหูกทอผ้าพื้นบ้านขึ้นภายในพระตำหนัก เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์จึงได้จัดตั้งกองทอผ้าส่วนพระองค์ขึ้นภายในพระตำหนัก ผ้าจากกองทอนี้โปรดให้นำออกจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชน เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงข้าราชบริพารเรื่อยมา

พระองค์เสด็จพระทับภายในพระตำหนักสวนหงส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 จนถึง พ.ศ. 2453 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสด็จไปประทับกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่พระราชวังพญาไทเป็นเวลาหลายเดือน และได้กลับมาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์เป็นครั้งคราว ก่อนที่จะเสด็จไปประทับยังวังสระปทุมเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุฉาเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดให้ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาประทับ จนถึงเดือนเมษายน ๒๔๗๕ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จไปประทับที่ พระตำหนักพัชราลัย ในฤดูร้อน แล้วเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ซึ่งพระตำหนักสวนหงส์อยู่ใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ก่อการ ทำให้ยากต่อการถวายอารักขา เพื่อความปลอดภัยส่วนพระองค์ จึงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และหลังจากนั้นก็ไม่มีเจ้านายเสด็จมาประทับที่พระตำหนักนี้อีกเลยจนปัจจุบัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 พื้นที่บางส่วนของพระราชวังดุสิตตกไปอยู่ภายใต้ความดูแลของกองทัพบก รวมทั้ง พระตำหนักสวนหงส์ด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายคืนพื้นที่ภายใต้ความดูแลของกองทัพบกให้แก่สำนักพระราชวัง พระตำหนักสวนหงส์จึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีความสมบูรณ์อีกครั้ง

พระตำหนักสวนหงส์เคยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีตรียัมปวาย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเสด็จทางสถลมารคและชลมารค รวมทั้ง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น พระฉายาลักษณ์เมื่อผนวชและพระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงบริเวณภายในพระราชวังดุสิต พระตำหนักสวนหงส์ได้ถูกชะลอย้ายมาปลูกสร้างใหม่บริเวณอุทยานด้านหลังพระที่นั่งอัมพรสถาน หรือฝั่งถนนนครราชสีมา

สถาปัตยกรรม แก้

พระตำหนักสวนหงส์ เป็นพระตำหนักไม้ 2 ชั้น บริเวณเชิงชาย ระเบียง และคอสองตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลวดลายขนมปังขิง ตัวอาคารทาสีเขียวและขาว บริเวณด้านหน้าพระตำหนักตั้งรูปปฏิมากรรมรูปหงส์ประดับไว้ด้วย พระตำหนักออกแบบและก่อสร้างโดยกลุ่มนายช่างประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นชาวตะวันตก ได้แก่ ชาวอิตาเลียน เยอมัน และอังกฤษ สถาปัตยกรรมของพระตำหนักสวนหงส์นั้นเมื่อพิจารณาตามส่วนต่าง ๆ แล้วน่าจะมีสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียน กอทิค ซึ่งเป็นศิลปะร่วมสมัยกับพระที่นั่งวิมานเมฆ แต่เมื่อพิจารณาแบบองค์รวมแล้วจัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Picturesque มากกว่า และนับเป็นสถาปัตยกรรมแนวสัญลักษณ์นิยมที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน และแขกได้อย่างลงตัว

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้

พระตำหนักที่ประทับในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าแห่งอื่น ๆ ได้แก่

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′34″N 100°30′43″E / 13.7761869°N 100.5119365°E / 13.7761869; 100.5119365