ฉัตร
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ฉัตร เป็นเครื่องสูงสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เพื่อเป็นเกียรติยศ ฉัตรมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ฉัตรถือเป็นของสูง เปรียบเสมือนสวรรค์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจักรวาล
ฉัตรแขวนหรือปัก
แก้เป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศของผู้ทรงฉัตร แยกเป็น 4 ชนิดคือ
เศวตฉัตร
แก้เป็นฉัตรผ้าขาวกว้าง มี 4 แบบ ดังนี้
- พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (นพ; เก้า, ปฎล; ชั้น, เศวต; สีขาว) เป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ฉัตรแบบนี้เรียกโดยย่อว่า "พระมหาเศวตฉัตร" เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด มีที่ใช้คือ ปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักพระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพ เป็นต้น แต่โบราณมาไทยถือเศวตฉัตร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เศวตฉัตร หมายถึง ความเป็นพระราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับมงกุฎของชาวยุโรป ตามประเพณีของพราหมณ์แต่เดิม เป็นเศวตฉัตร 6 ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น ตั้งแต่ชั้นจตุมหาราชิกาจนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ความหมายของฉัตร 9 ชั้นที่ใช้ในปัจจุบันหมายถึง ผู้ที่ชนะทั้ง 8 ทิศ ชั้นล่างสุด หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงแบกภาระอันใหญ่หลวงในการดูแลประชาชนทั้ง 8 ทิศ ปัจจุบันมีพระมหาเศวตฉัตรแห่อยู่จำนวน 7 องค์ ได้แก่
- พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ท้องพระโรงกลางเหนือพระที่นั่งพุดตานถม)
- พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ท้องพระโรงเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก)
- พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (เหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ท้องพระโรง)
- พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ท้องพระโรง)
- พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (มี 2 องค์ คือ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์และเหนือพระแท่นเครื่องพระสำอาง)
- พระที่นั่งอนันตสมาคม (ท้องพระโรงกลางเหนือพระแท่นราชบัลลังก์)
- พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต (ห้อง วปร. เปลี่ยนแทนสัปตปฎลเศวตฉัตรหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- สัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรขาว 7 ชั้น ซึ่งมีลักษณะอื่น ๆ เหมือนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก, สมเด็จพระอัครมเหสี, สมเด็จพระบรมราชินี, สมเด็จพระบรมราชชนก, สมเด็จพระบรมราชชนนี, สมเด็จพระยุพราช, สมเด็จพระบรมราชกุมารี ตลอดจนพระบรมราชาธิบดีพระเจ้าเชียงใหม่[1] และพระเจ้ากรุงกัมพูชาประเทศราช โดยหากใช้กับสมเด็จพระอัครมเหสี , สมเด็จพระบรมราชชนนี , สมเด็จพระบรมราชกุมารี เรียกว่า สัปตปฎลเศวตฉัตร หรือ พระเศวตฉัตร 7 ชั้น แต่ถ้าใช้กับสมเด็จพระยุพราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือปัจจุบันคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เรียกว่า พระบวรเศวตฉัตร ปัจจุบันมีสัปตปฎลเศวตฉัตรแห่อยู่จำนวน 2 องค์ ได้แก่
- พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์)
- พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (เหนือพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน)
- เบญจปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรขาว 5 ชั้น มีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน 2 ชั้น ใช้สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยยศชั้น เจ้าฟ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
- เศวตฉัตร 3 ชั้น เป็นฉัตรขาว 3 ชั้น มีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน 2 ชั้น ใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราช
ฉัตรขาวลายทอง
แก้เป็นฉัตรพื้นสีขาวเขียนลายทอง มี 5 ชั้น สำหรับพระมเหสีชั้น สมเด็จพระอัครราชเทวี, พระบรมราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรมชั้น สมเด็จกรมพระยา , สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ พระเจ้านครเชียงใหม่ รวมทั้งเคยใช้สำหรับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา[2]
ฉัตรตาด
แก้มี 3 แบบคือ
- ฉัตรตาดขาว 5 ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้น กรมพระ
- ฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้น กรมหลวง กับเป็นฉัตรสำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และเคยใช้สำหรับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ในงานพระศพ และตอนออกพระเมรุ
- ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น เคยใช้สำหรับ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ใน ร.6 , พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใน ร.6 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ในงานพระศพ และตอนออกพระเมรุ
ฉัตรโหมด
แก้มี 5 แบบคือ
- ฉัตรโหมดขาว 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้น กรมขุน
- ฉัตรโหมดเหลือง 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้น กรมหมื่น
- ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า แต่มิได้ทรงกรม, พระนางเธอ ,พระวรราชชายา
- ฉัตรโหมดเงิน 3 ชั้น สำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้าที่ดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม
- ฉัตรโหมดทอง 3 ชั้น สำหรับพระราชโอรส หรือพระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้าที่มิได้ทรงกรม
ฉัตรตั้งในพิธี หรืออัญเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ
แก้- พระมหาเศวตฉัตรกรรภิรมย์ เป็นฉัตร 5 ชั้น ทรงชะลูดลงเลขยันต์ ใน 1 สำรับมี 3 องค์ ได้แก่ พระเสนาธิปัตย์ พระฉัตรชัย และ พระเกาวพ่าห์
- พระอภิรุมชุมสาย หรือ ฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง เป็นฉัตรเครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ผู้ทรงสัปตปฎลเศวตฉัตร ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง ใช้ปักประจำพระที่นั่งหรือแห่ในกระบวนแห่ทางสถลมารคและชลมารค ใน 1 สำรับ ประกอบด้วยฉัตรชุมสายหักทองขวาง 3 ชั้น ฉัตรหักทองขวาง 5 ชั้นและ 7 ชั้น รวมทั้งบังแทรกและบังพระสูรย์หักทองขวาง
- ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด เป็นฉัตรเครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศสำหรับพระบรมวงศ์ชั้น เจ้าฟ้า และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานเบญจปฎลเศวตฉัตร ทำด้วยผ้าปักทองแผ่ลวด ใช้ปักประดับพระเกียรติยศหรือแห่ในกระบวนแห่ทางสถลมารคและชลมารค ใน 1 สำรับ ประกอบด้วยฉัตรชุมสายทองแผ่ลวด 3 ชั้น (เฉพาะสำหรับเจ้าฟ้า) ฉัตรทองแผ่ลวด 5 ชั้นและ 7 ชั้น รวมทั้งบังแทรกและบังพระสูรย์ทองแผ่ลวด นอกจากนี้ ยังใช้แห่ในกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูปสำคัญ
- ฉัตรเครื่องสูงวังหน้า เป็นฉัตร 3 ชั้น สำหรับเป็นเครื่องสูงของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ฉัตรเครื่อง เป็นฉัตร 5 ชั้น ทำด้วยผ้าปักทองแผ่ลวด สำหรับใช้เชิญออกในกระบวนแห่ศพของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นเจ้าพระยา (ทั้งชั้นสุพรรณบัฏและหิรัญบัฏ) ประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะอยู่ในตำแหน่ง (ผู้ได้รับพระราชทานโกศกุดั่นน้อย โกศราชวงศ์ โกศมณฑป และโกศไม้สิบสอง) เวลาตั้งประกอบเกียรติยศตั้งจำนวน 6 คัน บริเวณคันฉัตรประดับด้วยดอกไม้และเส้นสีขาวพันเลื้อย
- ฉัตรเบญจา เป็นฉัตร 5 สี ซึ่งหมายรวมไปถึงฉัตรที่เขียนลายที่เรียกว่า "ฉัตรกำมะลอ" ด้วยฉัตรชนิดนี้ใช้สำหรับเชิญตั้งหรืออัญเชิญเข้าร่วมขบวนแห่ในงานศพของพระราชวงศ์ชั้น "หม่อมเจ้า" ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย หรือ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จและชั้นธรรม ขุนนางชั้นพระยา - พระยาพานทอง (ผู้ได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม โกศราชินิกุล โกศโถ รวมทั้งหีบทองทึบและหีบทองลายสลักในบางกรณี) เวลาตั้งประกอบเกียรติยศตั้งจำนวน 4 คัน
- ฉัตรราชวัติ เป็นฉัตรที่ใช้ปักเป็นระยะในงานพระราชพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์
ฉัตรประดับยอดพระโกศพระบรมอัฐิของพระราชวงศ์
แก้- ฉัตรปรุทองคำกรุผ้าขาว 9 ชั้น สำหรับพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์
- ฉัตรปรุทองคำกรุผ้าขาว 7 ชั้น สำหรับพระบรมอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี
- ฉัตรปรุทองคำ 7 ชั้น สำหรับพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้า สมเด็จพระยุพราช และพระบรมวงศ์ที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพิเศษ (พระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้นพระโกศพระศพ)
- ฉัตรปรุทองคำ 5 ชั้น สำหรับพระอัฐิของสมเด็จรัชทายาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่ได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชเทียบเท่ากับสมเด็จพระรัชทายาท และสมเด็จเจ้าฟ้า พระอรรคชายา
ฉัตรปรุทองคำ 3 ชั้น สำหรับพระสังฆราชหรือพระพุทธรูปที่ประดิษฐาน
อ้างอิง
แก้- ↑ อาณาจักรล้านนา กำเนิดและการล่มสลาย :พระบารมีปกเกล้า ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปีนามพระราชทาน หน้า ๕๐
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2472/D/994.PDF
- ISBN 974-527-684-7 รอบรู้ประเทศไทย
- กกุธภัณฑ์ จาก ราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2012-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พระเศวตฉัตร เก็บถาวร 2011-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน