สยามมกุฎราชกุมาร

รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงแห่งราชบัลลังก์ไทย

สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารของประเทศไทย ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ไทย โดยสยามมกุฎราชกุมารจะดำรงพระยศนี้ไปจนกว่าพระมหากษัตริย์จะสวรรคตหรือสละราชสมบัติ

สยามมกุฎราชกุมาร
ธงประจำพระอิสริยยศ
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
ตำแหน่งว่าง
ตั้งแต่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559
การเรียกขานใต้ฝ่าละอองพระบาท
สมาชิกของราชวงศ์จักรี
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ไทย
วาระตลอดพระชนม์ชีพหรือจนกว่าจะสืบราชสมบัติ
ผู้ประเดิมตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สถาปนา14 มกราคม พ.ศ. 2430

พระอิสริยยศนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงแต่งตั้งไว้แล้ว

ประวัติ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงตรากฎมนเทียรบาลซึ่งมีการลำดับยศของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั่วไป ในกฎมณเฑียรบาลนั้นลำดับพระยศของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเป็น "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" มีพระเกียรติยศเหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แต่ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท จนกระทั่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระราชกำหนดศักดินาพลเรือนขึ้น จึงทรงกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสนดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช แต่ตำแหน่งพระมหาอุปราชก็หาได้แต่งตั้งในทุกแผ่นดินไม่[1]

ส่วนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ในทุกรัชกาล โดยเป็นตำแหน่งสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้มีความดีความชอบยิ่งใหญ่เฉพาะพระองค์ เมื่อพระมหาอุปราชพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีความชอบเสมอเหมือน พระมหากษัตริย์ก็มิทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่พระมหาอุปราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พระองค์มีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท[2] จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 และโปรดให้มีตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทรงเป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์สืบไป

ธงประจำพระอิสริยยศ

ธงประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เรียกว่า ธงเยาวราช มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ธงมีพื้นสีขาบ ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน รูปเครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช กล่าวคือ ตรงกลางเป็นรูปโล่ ในโล่แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นสีเหลืองบอกนามสยามเหนือ สยามใต้ และสยามกลาง ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพูหันออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างซ้ายเป็นรูปกฤชคดและตรง สองอันไขว้กันอยู่บนพื้นแดงบอกนามสัญญามลายูประเทศ เบื้องบนแห่งโล่มีจักรีไขว้กันและมีพระมหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี แต่เครื่องสูงข้างโล่ของธงเยาวราชนั้นเป็น 5 ชั้น ธงเยาวราชนี้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จโดยอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น [3]

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้ยกเลิกธงเยาวราชแล้วเปลี่ยนเป็น ธงเยาวราชใหญ่ และ ธงเยาวราชน้อย[4] ปัจจุบัน ธงเยาวราชใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมี 2 สี พื้นรอบนอกสีขาบ พื้นรอบในสีเหลืองกว้างยาวครึ่งส่วนของพื้นรอบนอก ตรงกลางรอบในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ส่วนธงเยาวราชน้อยแบ่งความยาวออกเป็น 2 ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงเยาวราชใหญ่แต่กว้างไม่เกินกว่า 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ[5]

เครื่องราชอิสริยยศ

 
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (บางส่วน)

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประจำตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในปัจจุบัน ประกอบด้วย[6]

  • พระสุพรรณบัฏ พร้อมหีบทองคำลงยา ภปร. ประดับเพชร และพระราชลัญจกร
  • หมวดเครื่องศิราภรณ์
    • พระอนุราชมงกุฎ
    • พระมาลาเส้าสูงเครื่องทองคำลงยา
  • หมวดเครื่องศัสตราวุธ
    • พระแสงฝักทองเกลี้ยง
    • พระแสงกระบี่สันปรุทองคำลงยาศีรษะนาคสามเศียร
  • หมวดเครื่องราชภรณ์อันเป็นมงคล
    • พระสังวาลพระนพน้อย พระประคำทองคำ พระดิ่งทองคำสายทอง พระตะกรุดทองคำลงยาประดับเพชรสายทอง พระธำมรงค์นพรัตน์
  • หมวดเครื่องราชูปโภค
    • พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม พระคนโททองคำลงยาพร้อมพานรอง พระสุวรรณศรีทองคำลงยา หีบพระศรีไม้แดงหุ้มทองคำลงยาพร้อมพานรอง ที่ชงทองคำเครื่องพร้อม กากระบอกทองคำ

รายพระนามสยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 3 พระองค์ ได้แก่

พระบรมฉายาลักษณ์ พระนามาภิไธย ความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ สถาปนา สิ้นสุดตำแหน่ง
ความสัมพันธ์ พระมหากษัตริย์ พระราชสมภพแต่ วันที่ สาเหตุ
  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรส (ชั้นเจ้าฟ้า) พระองค์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 14 มกราคม พ.ศ. 2430[1] 4 มกราคม พ.ศ. 2438 สวรรคต
  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชโอรส (ชั้นเจ้าฟ้า) พระองค์รอง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 4 มกราคม พ.ศ. 2438[7] 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สืบราชสมบัติ
  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515[8] 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  2. "พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-09. สืบค้นเมื่อ 2010-08-07.
  3. พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖
  4. พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
  6. "ภาพเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-26. สืบค้นเมื่อ 2010-08-10.
  7. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗, หน้า ๓๔๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2009-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙, ตอน ๒๐๐ ก, ฉบับพิเศษ, ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕, หน้า ๑