ธงพระอิสริยยศในประเทศไทย

(เปลี่ยนทางจาก ธงมหาราช)

ธงพระอิสริยยศ เป็นธงสำหรับใช้หมายพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในทางราชการ

ประวัติ

แก้

ธงพระอิสริยยศตามอย่างธรรมเนียมตะวันตกมีจุดเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้สถาปนาธงประจำพระองค์ขึ้นอย่างหนึ่งตามอย่างธรรมเนียมยุโรป คือ ธงมหามงกุฎ หรือ ธงจอมเกล้า ใน พ.ศ. 2398 พร้อมกับกับการกำหนดให้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและมีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง ซึ่งจำลองจากตราพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เพื่อใช้ชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่งเป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาธงในพระบรมมหาราชวัง เพื่อระบุว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระนคร และให้ใช้เป็นธงประจำกองทหารเกียรติยศในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินประทับในพระนครด้วย นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงอีกอย่างหนึ่งขึ้นประจำเสาธงในพระบรมมหาราชวัง คือ ธงไอยราพต เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระนคร ธงนี้เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นแดง มีรูปตามอย่างพระราชลัญจกรไอยราพต กล่าวคือ เป็นรูปช้างเอราวัณสามเศียรยืนหันหน้าเข้าเสาธง เทินบุษบกอุณาโลม ด้านซ้ายขวาล้อมด้วยเครื่องสูงเป็นฉัตร 7 ชั้นข้างละ 2 คัน ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้ ธงจุฑามณี หรือ ธงปิ่น เป็นธงประจำพระองค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีขาบ กลางธงมีรูปพระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ตั้งบนพานแว่นฟ้าซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือตั่ง และมีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง โดยจำลองแบบจากตราพระราชลัญจกรพระจุฑามณี อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาธงในพระบวรราชวัง เพื่อระบุว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระนคร

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 เพื่อจัดระเบียบการใช้ธงต่างๆ ในประเทศสยามขณะนั้นเป็นครั้งแรก ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้น ได้มีการกำหนดขึ้นจำนวน 3 ชนิด โดยเป็นธงสำหรับพระมหากษัตริย์ 2 ชนิด สำหรับราชตระกูล 1 ชนิด

ธงประจำพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์นั้น อย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ ลักษณะคล้ายกับธงมหามงกุฎ แต่เปลี่ยนเครื่องหมายกลางธงจากรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและฉัตร 7 ชั้น เป็นรูปโล่อาร์มอย่างตะวันตก ลวดลายในโล่นั้นแบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียรยืนแท่นหน้าตรงในพื้นสีเหลือง ช่องซ้ายล่างเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในพื้นสีแดง ช่องขวาล่างเป็นรูปกริชมลายู 2 เล่มไขว้กันบนพื้นสีแดง มีพระมหาพิชัยมงกุฏและตราจักรีคร่อมอยู่ด้านบน ขนาบด้วยฉัตร 7 ชั้นทั้งสองข้างแทน ตราดังกล่าวนี้นำมาจากตราแผ่นดินในเวลานั้น ธงอีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า "ธงจุฑาธิปไตย" มีลักษณะอย่างธงไอยราพต เว้นแต่ว่าในบุษบกนั้นเปลี่ยนจากรูปอุณาโลมเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายใต้พระเกี้ยว สำหรับชักขึ้นในพระนครเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ส่วนธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลนั้นกำหนดขึ้นชั้นเดียว เรียกว่า ธงเยาวราชธวัช ลักษณะเป็นธงพื้นแดงมีรูปโล่ตราแผ่นดินภายใต้เครื่องหมายจักรี ใช้สำหรับพระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ที่ทรงกรม และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ราชตระกูลนอกจากนี้ถ้ามีราชการไปที่ใดต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษเสียก่อนจึงจะใช้ธงเยาวราชธวัชได้

 
ธงเยาวราชธวัช

ถึงปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 เพื่อปรับปรุงระเบียบการใช้ธงใหม่ ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้นได้เปลี่ยนชื่อ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช มีการกำหนดลักษณะสัดส่วนของธงและการใช้ธงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกเลิกธงจุฑาธิปไตยและฟื้นฟูการใช้ธงไอยราพตอีกครั้ง และยกเลิกธงเยาวราชธวัชพร้อมทั้งจำแนกธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลเสียใหม่ออกเป็น 4 ชั้น คือ ธงราชินี ธงเยาวราช ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช และธงราชวงศ์ เมื่อรวมธงมหาราชด้วยแล้วจะมีธงพระอิสริยยศทั้งหมด 5 ชั้น อนึ่ง ธงราชวงศ์ที่บัญญัติขึ้นในครั้งนั้นมีแต่เพียงธงราชวงศ์ฝ่ายหน้าเท่านั้น ภายหลังจึงได้เพิ่มธงราชวงศ์ฝ่ายในขึ้นอีกชั้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2442

ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติแบบอย่างของธงพระอิสริยยศขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 โดยทรงจำแนกธงพระอิสริยยศเป็น 6 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช พระวรชายาในพระยุพราช พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ตามลำดับ และทรงเปลี่ยนตราแผ่นดินในธงใหม่จากตราอาร์มเป็นตราพระครุฑพ่าห์ แบบธงที่บัญญัติขึ้นดังกล่าวนี้ยังคงได้ใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มธงพระอิสริยยศขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือ "ธงบรมราชวงศ์" ในปี พ.ศ. 2522 เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นราชประเพณีสืบไป

ธงพระอิสริยยศในปัจจุบัน

แก้

ธงพระอิสริยยศตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522

แก้

ปัจจุบันธงพระอิสริยยศของไทยแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ดังนี้

1. ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงมหาราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงมหาราชใหญ่
 
ธงมหาราชน้อย
  1. ธงมหาราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
  2. ธงมหาราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
2. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชินี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงราชินีใหญ่
 
ธงราชินีน้อย
  1. ธงราชินีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วนพื้นธงสีเหลือง ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงมหาราชใหญ่ ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
3 ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงบรมราชวงศ์" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงบรมราชวงศ์ใหญ่
 
ธงบรมราชวงศ์น้อย
  1. ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ มีขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบมีรูปมงกุฎขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้นเหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว 5 ชั้น อยู่สองข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเข้ม
  2. ธงบรมราชวงศ์น้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายดัดแปลงหางนกแซงแซวให้ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง และความยาวของชายต่อเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ตอนปลายทั้งหมดเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
4. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงเยาวราชใหญ่
 
ธงเยาวราชน้อย
  1. ธงเยาวราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมีสองสี รอบนอกสีขาบ รอบในมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ คือมีสีเหลืองกว้างยาวครึ่งหนึ่งของรอบนอก มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
  2. ธงเยาวราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
5. ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราชฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน
 
ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน
  1. ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
6. ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า
 
ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า
  1. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาบ มีดวงกลมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธงอยู่ตรงกลางของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง
  2. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตรตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
7. ธงสำหรับพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน
 
ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน
  1. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

ธงพระอิสริยยศเฉพาะพระองค์

แก้

ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยและเฉลิมพระนามาภิไธยพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประธานข้าราชบริพารในพระองค์จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 กับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการใช้ การเชิญ การแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพล พ.ศ. 2562 เพื่อให้การใช้ การประดับ การเชิญหรือการแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารในกรณีต่างๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องเรียบร้อย มีความเหมาะสม และถวายซึ่งพระเกียรติยศ

ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีธงพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เพิ่มเติมเป็นการเฉพาะพระองค์ จำนวน 3 ธง ดังนี้

1. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่
 
ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงน้อย
 
ตราพระนามาภิไธยย่อ สก
  1. ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า​ กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง และมีพระนามาภิไธย สก
  2. ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้น มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
2. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่
 
ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีน้อย
 
ตราพระนามาภิไธยย่อ สธ
  1. ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีขาบ ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง และมีพระนามาภิไธย สธ ประดิษฐานที่มุมบน
  2. ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
3. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

 
ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่
 
ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีน้อย
 
ตราพระนามาภิไธยย่อ จภ
  1. ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีขาบ ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปวงกลมสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง และมีพระนาม จภ ประดิษฐานที่มุมบน
  2. ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ หมายความว่าโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

ทั้งนี้ ในหมวดที่ 1 ข้อ 15 ของระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า ธงพระอิสริยยศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นการเฉพาะแก่พระราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระองค์ใด อาจจะกำหนดรูปแบบไว้ในภาคผนวกแนบท้ายระเบียบนี้ก็ได้

ลำดับเกียรติ

แก้

ตามระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการใช้ การเชิญ การแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพล พ.ศ. 2562 หมวดที่ 1 ข้อ 5-14 ได้จัดลำดับเกียรติของธงพระอิสริยยศไว้ดังนี้

  1. ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ (ธงมหาราช)
  2. ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
  3. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี (ธงราชินี)
  4. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี (ธงบรมราชวงศ์)
  5. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช (ธงเยาวราช)
  6. ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
  7. ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี)
  8. ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช (ธงเยาวราชฝ่ายใน)
  9. ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล (ธงราชวงศ์)
  10. ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล (ธงราชวงศ์ฝ่ายใน)
  11. อนึ่ง ทรงพระกรุณาฯ ให้ใช้ธงราชวงศ์ฝ่ายใน กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ อีกด้วย

ตัวอย่างการเชิญธงพระอิสริยยศออกใช้ในราชการ

แก้

อ้างอิง

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้