สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ นามเดิม ดิศ[1] เป็นขุนนางตระกูลบุนนาค ผู้มีบทบาทในการต่างประเทศของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ฯลฯ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2394 – 26 เมษายน พ.ศ. 2398
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเริ่มตำแหน่งใหม่
ถัดไปสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
สมุหพระกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2373 – 26 เมษายน พ.ศ. 2398
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย)
ถัดไปสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เสนาบดีกรมพระคลัง
ดำรงตำแหน่ง
เมษายน พ.ศ. 2364 – 26 เมษายน พ.ศ. 2398
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระคลัง (สังข์)
ถัดไปเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ดิศ

พ.ศ. 2331
พระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต26 เมษายน พ.ศ. 2398 (67 ปี)
พระนคร ประเทศสยาม
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสท่านผู้หญิงจันทร์
บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)
พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
บุพการี
สกุลบุนนาค

ประวัติ

แก้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2331 เดิมชื่อ ดิศ เป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เกิดในสายสกุลบุนนาคซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกชาวเปอร์เชียในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์คือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บ้านของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาอยู่ที่บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวังทางทิศใต้ บริเวณวัดพระเชตุพนฯในปัจจุบัน[2] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์มีพี่สาวร่วมมารดาได้แก่เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) เจ้าคุณวังหน้า (คุ้ม) และเจ้าคุณปราสาท (ต่าย) และมีน้องชายร่วมมารดาคือคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

ดิศเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในตำแหน่งเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก หลังจากนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร และจมื่นไวยวรนาถตามลำดับ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดิศได้รับตำแหน่งพระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก ในขณะที่น้องชายคือทัตเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ใน พ.ศ. 2361 มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) จึงย้ายที่อยู่ไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้บ้านกุฎีจีน[3] บริเวณบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วัดประยุรวงศเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2362 เจ้าเมืองมาเก๊าส่งนายคาร์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวียรา (Carlos Manoel da Silveira) หรือ "นายกาลส" เข้ามายังกรุงเทพฯเพื่อเป็นตัวแทนของโปรตุเกสเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) จัดการต้อนรับคณะทูตโปรตุเกส เป็นการต้อนรับแขกเมืองชาวยุโรปครั้งแรกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

รับทูตครอว์เฟิร์ด

แก้

ในพ.ศ. 2363 สุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฮาลิมชาฮ์ (Ahmad Tajuddin Alim Shah) แห่งไทรบุรี หรือ "ตวนกูปะแงหรัน" (Tunku Pangeran) แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อกรุงเทพฯ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) ยกทัพไปยึดเมืองไทรบุรีใน พ.ศ. 2364 สุลต่านตวนกูปะแงหรันหนีไปยังเกาะหมากหรือเกาะปีนัง ซึ่งไทรบุรีได้ยกให้แก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2329 สยามจึงเข้าปกครองไทรบุรีโดยตรง ฝ่ายอังกฤษมีความกังวลว่าเมื่อสยามผนวกไทรบุรีแล้วตนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งอยู่ที่เกาะปีนังอีกต่อไป มาร์เควสแห่งเฮสติงส์ (Marquess of Hastings) ผู้ปกครองบริติชอินเดีย ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เป็นทูตเข้ายังกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและดูท่าทีของสยามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2364 พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุริยวงศ์โกษาที่พระคลัง พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) ให้การตอนรับแก่นายครอว์เฟิร์ด โดยให้พักที่ตึกหน้าวัดประยุรวงศ์[4]และนำนายครอว์เฟิร์ดเข้าเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ การเจรจาระว่างสยามและอังกฤษในครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากฝ่ายอังกฤษเสนอให้ตั้งกงสุลและลดภาษี ฝ่ายสยามร้องขอซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการศึกกับพม่า ฝ่ายอังกฤษตอบว่าจะขายอาวุธให้แก่สยามก็ต่อเมื่อสยามงดทำศึกกับพันธมิตรของอังกฤษ (หมายถึงพม่า) อีกทั้งนายครอว์เฟิร์ดยังถือจดหมายของพระยาไทรบุรีตวนกูปะแงหรันมาสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายสยาม หลังจากการเจรจากับครอว์เฟิร์ด พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง

สนธิสัญญาเบอร์นี

แก้
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังใน พ.ศ. 2371 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) โดยเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในการสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2364 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) น้องชายของเจ้าพระยาพระคลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ทั้งเจ้าพระยาพระคลังและพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา สองพี่น้องจึงได้รับราชการในพระคลังด้วยกัน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2368 เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) หรือ "หันตรีบารนี" เป็นตัวแทนของอังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นตัวแทนฝ่ายสยามในการเจรจาสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ นำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2369

ใน พ.ศ. 2371 เจ้าพระยาพระคลังสร้างวัดประยุรวงศ์ขึ้นในนิวาสสถานบริเวณบ้านกุฎีจีนริมคลองสาน ถวายเป็นพระอารามหลวงได้รับพระราชทานนามวัดว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ใน พ.ศ. 2373 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เลื่อนขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังปฏิเสธเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหาเสนามักจะ "อายุสั้น"[5] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นที่สมุหพระกลาโหมแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหกลาโหมจึงรับผิดชอบทั้งกรมกลาโหมและกรมคลัง ถือทั้งตราคชสีห์ของสมุหพระกลาโหมและตราบัวแก้วของเสนาบดีคลังในเวลาเดียวกัน[4]

สงครามที่หัวเมืองมลายู

แก้

ใน พ.ศ. 2375 ตนกูกูเด็น (Tunku Kudin) ผู้เป็นหลานของตนกูปะแงหรันปลุกระดมชาวไทรบุรีลุกฮือขึ้น[6]และเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่กรุงเทพฯจึงมีคำสั่งให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เกณฑ์ทัพในหัวเมืองปักษ์ใต้รวมถึงหัวเมืองปัตตานีเจ็ดหัวเมืองไปปราบตนกูกูเด็น ฝ่ายเจ้าเมืองปัตตานีห้าเมืองจากเจ็ดเมืองเมื่อทราบว่าถูกเกณฑ์คนไปสู้รบกับไทรบุรีจึงก่อการกบฏขึ้นบ้าง โดยทั้งสุลต่านแห่งกลันตันและสุลต่านแห่งตรังกานูต่างส่งทัพมาช่วยฝ่ายปัตตานี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหพระกลาโหมยกทัพไปช่วยเจ้าพระยานครฯและพระยาสงขลา[4] เจ้าพระยาพระคลังยกทัพถึงเมืองสงขลาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2375 แต่เจ้าพระยานครฯสามารถเข้ายึดเมืองไทรบุรีไว้ได้แล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงช่วยพระยาสงขลาในการเข้ายึดเมืองปัตตานี

เจ้าพระยาพระคลังและพระยาสงขลายกทัพถึงเมืองปัตตานีในเดือนกรกฎาคม และเข้าโจมตีเมืองปัตตานีทั้งทางบกและทะเล พระยาตานี (ต่วนสุหลง) สู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปยังเมืองกลันตัน เจ้าพระยาพระคลังจึงเข้ายึดเมืองปัตตานีได้สำเร็จและยกทัพต่อไปที่กลันตัน สุลต่านมูฮาหมัด (Muhammad) แห่งกลันตันผู้เป็นญาติของพระยาตานีไม่สู้รบขอเจรจาแต่โดยดีและมอบตัวพระยาตานีให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง หลังจากเสร็จสิ้นสงครามหัวเมืองมลายูแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้สร้างเจดีย์ขึ้นบนเขาแดงเมืองสงขลาเรียกว่า "เจดีย์องค์ดำ"[7]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2376 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ส่งนายเอดมันด์ โรเบิตส์ (Edmund Roberts) มาถึงยังกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี เรือของนายโรเบิตส์ติดสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เจ้าพระยาพระคลังจึงส่งเรือออกไปรับทูตอเมริกันและจัดที่พำนักให้ที่ตึกหน้าวัดประยุรวงศ์ นายเอดมันต์ โรเบิตส์ มอบสารจากประธานาธิบดีแจ็กสันให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง รวมทั้งประชุมที่บ้านของเจ้าพระยาพระคลังในการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม นำไปสู่สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 (Treaty of Amity and Commerce of 1833) หรือสนธิสัญญาโรเบิตส์ (Roberts Treaty) ในเดือนเมษายน

อานามสยามยุทธ

แก้

ใน พ.ศ. 2376 สงครามอานามสยามยุทธ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหกลาโหม ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองไซง่อนของเวียดนามราชวงศ์เหงียนร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งยกทัพไปทางบก เจ้าพระยาพระคลังเข้ายึดเมืองห่าเตียนหรือเมืองบันทายมาศได้และนำทัพเรือไปตามคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế) เข้าโจมตีและยึดเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc จังหวัดอานซางในปัจจุบัน) ได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2377 เมื่อทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตามมาสมทบที่เมืองโจดกแล้ว ทั้งเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกทัพสยามไปตามแม่น้ำบาสักไปยังเมืองไซ่ง่อน และพบกับทัพเรือของเวียดนามที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) ปรากฏว่าบรรดาแม่ทัพนายกองเรือต่างไม่ยอมถอนสมอเรือขึ้นเพื่อเข้าโจมตีข้าศึก[4] แม้ว่าเจ้าพระยาพระคลังจะลงเรือป่าวประกาศให้เรือถอนสมอแล้วก็ตาม เป็นผลให้ฝ่ายสยามต้องล่าถอยกลับไปยังเมืองโจดก เจ้าพระยาพระคลังนำทัพเรือล่าถอยมายังคลองหวิญเต๊ไปยังเมืองบันทายมาศ น้ำในคลองหวิญเต๊นั้นตื้นเขินทำให้เจ้าพระยาพระคลังต้องนำเรือบางส่วนขึ้นบกแล้วให้ช้างลากไปยังเมืองกำปอต ชาวกัมพูชาในขบวนนั้นลุกฮือขึ้นสังหารผู้คุมช้างแล้วนำช้างไปหมดสิ้น[4] เจ้าพระยาพระคลังล่าถอยจากเมืองบันทายมาศไปยังเมืองจันทบุรีและกลับถึงกรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม

หลังจากการศึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำกำลังชาวจีนต่อเรือแบบญวนขึ้นแปดสิบลำ และรื้อกำแพงเมืองจันทบุรีลงแล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่ย้ายเมืองจันทบุรีไปที่ค่ายเนินวง (ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี) เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการรุกรานของเวียดนาม รวมทั้งสร้างวัดโยธานิมิตขึ้นที่จันทบุรี

ปราบจีนตั้วเหี่ย

แก้

ใน พ.ศ. 2390 พระยามหาเทพ (ปาน) จับกุมชาวจีนที่เมืองสาครบุรี (สมุทรสาคร) ชื่อว่าเผียวในข้องหาค้าฝิ่นหลายครั้ง พระยามหาเทพเรียกเก็บเงินจากนายเผียวเพื่อแลกกับการปล่อยตัว ทำให้นายเผียวชาวจีนไม่พอใจรวมพรรคพวกขึ้นเป็นอั้งยี่หรือจีนตั้วเหี่ย (แต้จิ๋ว: 大兄 dua7 hian1) ขึ้นที่ตำบลลัดกรุด เมืองสาครบุรี ขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) คุมทัพเรือออกไปปราบนายเผียว เจ้าพระยาพระคลังจึงมีคำสั่งให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) นำกำลังไปปราบ จมื่นราชามาตย์จึงกล่าวว่าพระยามหาเทพติดสินบนจากนายเผียวเพื่อปล่อยตัวไปหลายครั้ง[4]ขอให้พระยามหาเทพยกกำลังไปปราบ พระยามหาเทพ (ปาน) จึงยกกำลังเรือออกไปปราบแต่ถูกปืนที่ท้องเสียชีวิต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงยกกองกำลังในกรมพระตำรวจของพระยามหาเทพไปปราบจีนตั้วเหี่ยและให้ฝ่ายเมืองสมุทรสงครามและราชบุรีตั้งกำลังคอยสกัด เจ้าพระยาพระคลังยกทัพถึงตำบลลัดกรุดเข้าโจมตีฝ่ายจีนตั้วเหี่ยแตกไปได้ นายเผียวและพรรคพวกหลบหนีไปยังพม่าแต่ถูกกองกำลังของสมุทรสงครามเข้าโจมตีและถูกจับได้ที่ราชบุรี

ในขณะที่การปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรียังไม่เรียบร้อยนั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2390 ที่เมืองฉะเชิงเทรากลุ่มชาวจีนวิวาทกันจนเกิดเป็นจีนตั้วเหี่ยพระยาวิเศษฤๅไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ถูกสังหาร เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) รักษาการณ์อยู่ที่สาครบุรีและยกทัพไปปราบจีนตั้วเหี่ยที่ฉะเชิงเทราพร้อมกับจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) และให้เมืองพนัสนิคมจัดทัพชาวลาวยกมาทางบก เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดินทางกลับจากกัมพูชาหลังจากเสร็จสิ้นสงครามอานัมสยามยุทธพอดี เจ้าพระยาพระคลังพบเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินทรเดชาคอยสนับสนุนเจ้าพระยาพระคลังในการปราบจีนตั้วเหี่ย ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกตีแตกพ่ายไปจึงหลบหนีออกจากเมืองแต่ถูกชาวเมืองฉะเชิงเทราสังหารไปจำนวนมาก หลังจากเสร็จสิ้นการปราบจีนตั้วเหี่ยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ปราบจีนตั้วเหี่ยหลายครั้งจนเป็นที่เลื่องลือของราษฎรว่า "เจ้าพระยาพระคลังเดือนสี่เล่นตรุษเมืองนครไชยศรี เดือนห้าเล่นสงกรานต์เมืองฉะเชิงเทรา"[4]

ใน พ.ศ. 2392 เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปสักเลกเกณฑ์ไพร่พลในหัวเมืองตะวันตกได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช และสงขลา

เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ

แก้
 
ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นตราประจำสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ต่อมาเป็นตราประจำกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

ครั้นเจ้าพระยามหาเสนา(น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เลื่อนเป็นที่เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาไม่รับ อ้างว่าเป็นเจ้าพระยามหาเสนามักอายุสั้น จึงโปรดให้ว่าทั้งกลาโหมและกรมท่าในแผ่นดินนั้น เรียกว่า เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2394 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ว่าเจ้าพระยาอัครมหาอุดม บรมวงศเสนาบดี ไปก่อน ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการให้จารึกแผ่นสุพรรณบัฏเนื้อแปด แต่งตั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ขึ้นเป็นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนารถ สกลราชวราณาจักราธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชานุกูล สรรพกิจมูลมเหศวรเชษฐามาตยาธิบดี ศรีสรณรัตนธาดา อดุลยเดชานุภาพบพิตร[4] ที่ศักดินา 30,000 พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม สำเร็จราชการทั้งสี่ทิศตลอดทั่วพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ รวมทั้งถือตราคชสีห์และตราบัวแก้วด้วยในเวลาเดียวกัน คนทั่วไปกล่าวขานนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" ในขณะที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) น้องชายได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ คนทั่วไปเรียกขานนามว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์มีบุตรชายทั้งสองช่วยราชการได้แก่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ช่วยราชการในกรมกลาโหม (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) และเจ้าพระยาผู้ช่วยราชการกรมท่า (ขำ บุนนาค) ช่วยราชการในกรมท่า (ต่อมาคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นหนึ่งในคณะผู้ปรึกษาฝ่ายสยามในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2398

หนึ่งเดือนหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2398[8] ขณะอายุ 67 ปี ด้วยสาเหตุเป็นแผลที่หลังเท้าซ้ายจากการถูกเสี้ยนตำ เป็นพิษลามจนถึงแก่ชีวิต[9] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุจัตุรมุขขึ้นที่วัดประยุรวงศ์ ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2398 จึงเชิญโกศของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ลงเรือแห่ไปขึ้นที่หน้าวัดประยุรวงศ์ ทำการฉลองสามวันสามคืน และพระราชทานเพลิงที่เมรุที่วัดประยุรวงศ์ ตามความประสงค์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ที่ให้ประกอบพิธีที่วัดประยุรวงศ์เพื่อพิราลัยแล้ว

บุตรธิดา

แก้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) มีบุตรธิดา 44 คน ดังนี้

ท่านผู้หญิงจันทร์

ท่านผู้หญิงจันทร์เป็นธิดาพระยาพลเทพ (ทองอิน) มีบุตรธิดา ดังนี้

หม่อมรอด

หม่อมรอดเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

หม่อมอินใหญ่

หม่อมอินใหญ่เป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

หม่อมปราง
  • พระยาราชานุวงศ์ราชินิกุล (โต บุนนาค)
หม่อมเกษ

หม่อมเกษเป็นหม่อมพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

หม่อมทับทิม
  • พระยาศรีสรราชภักดี (วัน บุนนาค)
หม่อมพึ่ง

หม่อมพึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยาพลเทพ เป็นหม่อมพระราชทานจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

หม่อมก้อนทอง
  • พระยาพรหมธิบาล (จร บุนนาค)
  • คุณชายเจิม บุนนาค
  • คุณชายจู บุนนาค
หม่อมสายบัว
  • พระรัตนาญัปติ (ตู้ บุนนาค)
หม่อมทับ
  • พระสัจจาภิรมย์ (เปาะ บุนนาค)
  • คุณชายบุตร บุนนาค
หม่อมสุ่น
  • นายรักษ์ภูวนารถ (ยอด บุนนาค)
  • คุณชายเป้า บุนนาค
หม่อมคล้าย
  • พระยาอุไทยธรรม (จีน บุนนาค)
  • คุณหญิงพูน บุนนาค
หม่อมหรุ่น
หม่อมอิน
หม่อมปาน

หม่อมปานเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

  • คุณหญิงเปี่ยม ภรรยาพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) ต้นสกุลสวัสดิ์-ชูโต
  • ท่านผู้หญิงเผือก ภรรยาเจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยใหญ่) ต้นสกุลโกมารกุล ณ นคร
หม่อมม่วง
  • คุณหญิงพลอย บุนนาค
หม่อมทรัพย์
  • คุณหญิงนวม บุนนาค
หม่อมถมยา
  • คุณหญิงปริก ภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
หม่อมแก้ว
  • คุณหญิงเกสร บุนนาค
  • คุณชายแย้ม บุนนาค
หม่อมบัว
  • คุณหญิงเนิน บุนนาค
หม่อมแย้ม
  • คุณหญิงสายหยุด ภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
หม่อมพลับ

หม่อมพลับเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี

  • คุณหญิงเม้า บุนนาค
หม่อมพุ่ม
  • คุณหญิงเลี่ยม บุนนาค
หม่อมกลั่น
  • คุณหญิงอิ่ม บุนนาค

เกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมยศของ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
 
ตราประจำตัว
การเรียนใต้เท้ากรุณาเจ้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ

บรรดาศักดิ์

แก้

ในสมัยรัชกาลที่ 1

  • นายสุจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก
  • หลวงศักดินายเวร

ในสมัยรัชกาลที่ 2

  • จมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
  • พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก
  • พระยาสุริยวงศ์โกษา ว่าที่พระคลัง
  • เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีพระคลังเต็มตำแหน่ง

ในสมัยรัชกาลที่ 3

  • เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม

สมัยรัชกาลที่ 4

  • เจ้าพระยาอัครมหาอุดม บรมวงศเสนาบดี
  • สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

สาแหรก

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ชมรมสายสกุลบุนนาค. "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-12. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ถิ่นฐานและบ้านเมืองสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2020-05-04.
  3. ถิ่นฐานและบ้านเมืองสกุลบุนนาค[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  5. "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-12. สืบค้นเมื่อ 2013-12-06.
  6. ประวัติความเป็นมา[ลิงก์เสีย]
  7. เจดีย์องค์ดำและองค์ขาว อนุสรณ์แห่งชัยชนะ ณ เมืองสงขลา www.hatyaifocus.com/บทความ/622-เรื่องราวหาดใหญ่-เจดีย์องค์ดำและองค์ขาว-อนุสรณ์แห่งชัยชนะ-ณ-เมืองสงขลา
  8. สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 404 หน้า. หน้า 53-55. ISBN 974-417-534-6
  9. เท้าซ้ายจากการถูกเสี้ยนตำ เป็นพิษลามจนถึงแก่ชีวิต