สนธิสัญญาเบอร์นี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สนธิสัญญาเบอร์นี (อังกฤษ: Burney Treaty) คือ สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อมาคือประเทศไทย) ทำกับประเทศตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
สำเนาสนธิสัญญาเบอร์นี | |
ประเภท | สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี สนธิสัญญาทางการค้า |
---|---|
วันลงนาม | 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 |
ที่ลงนาม | กรุงเทพมหานครฯ ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
ผู้ลงนาม | เจ้าพระยาอภัยภูธร (สมุหนายก) เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สมุหพระกลาโหม) |
ภาคี | รัตนโกสินทร์ จักรวรรดิบริติช |
ภาษา | ไทยและอังกฤษ |
ข้อความทั้งหมด | |
สนธิสัญญาเบอร์นี ที่ วิกิซอร์ซ |
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฮนรี เบอร์นีได้เป็นทูตบริเตนเดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2368 เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้า ในด้านการค้า รัฐบาลสหราชอาณาจักรประสงค์ขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับรัตนโกสินทร์ และขอความสะดวกในการค้าได้โดยเสรี การเจรจาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 และมีการลงนามในสนธิสัญญากัน
สนธิสัญญาเบอร์นีประกอบด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีรวม 14 ข้อ และมีสนธิสัญญาทางพาณิชย์แยกออกมาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า ได้แก่ ข้อ 5 ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ 6 ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย และข้อ 7 ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือนและเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง[2]
สนธิสัญญาเบอร์นีนั้น หนึ่งท่านผู้ลงนามในสัญญาคือ เจ้าพระยาอภัยภูธร(สมุหนายก)นั้นคือเจ้าพระยาอภัยภูธร(น้อย บุณยรัตพันธุ์) ตามประวัติศาสตร์ ในปีที่ลงนาม 2369 ตามเอกสารอ้างอิง https://th.m.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาอภัยภูธร_(น้อย_บุณยรัตพันธุ์)
เบื้องหลัง
แก้หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งอาณานิคมขึ้นบนเกาะปีนัง ใน พ.ศ. 2329 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษก็เริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรก และเป็นที่คาดว่าอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบครองคาบสมุทรมลายูต่อไป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพมาตีเมืองไทรบุรี ซึ่งเจ้าเมืองคนเก่าได้ยกปีนังให้อังกฤษ สุลต่านไทรบุรีก็ทิ้งเมืองหนีไปยังเกาะปีนัง ทหารไทยไล่ติดตามไปก็ถอยกลับ เนื่องจากไม่ต้องการรบกับอังกฤษ[3] ยอน ครอเฟิดเข้ามาเจรจากับไทยทั้งในด้านการค้าและขอให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองอย่างเดิมก็ไม่ประสบผลแต่อย่างใด
สาเหตุที่ไทยกับอังกฤษกลับมาเจรจากันอีกครั้งมีหลายสาเหตุด้วยกัน อธิบายได้ว่า การที่ไทยได้ไทรบุรีอยู่ในปกครองนั้น ทำให้เประและสลังงอของอังกฤษเสี่ยงต่อการถูกยึดครอง อังกฤษต้องการให้ไทยถอนตัวจากไทรบุรี และให้สุลต่านกลับไปปกครองดังเดิม ครั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2367 รอเบิร์ต ฟุลเลอตันได้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนใหม่ ต้องการขับไล่ไทยจากไทรบุรี ก็ขอให้รัฐบาลอินเดียส่งทูตมาบังคับไทยไม่ให้แผ่อิทธิพลในคาบสมุทรมลายู ด้านการสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก การรบไม่คืบหน้าเท่าที่ควร อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบ นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้รับคำฟ้องจากพ่อค้าอังกฤษว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขายกับไทย จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีมาเป็นทูตเจรจากับไทย[4]
จุดประสงค์ของสหราชอาณาจักร
แก้ในทางการเมือง บริเตนต้องการให้ไทยช่วยรบกับพม่า และส่งยานพาหนะให้แก่สหราชอาณาจักร ตลอดจนต้องการให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองดังเดิม และให้ไทยเลิกแผ่อำนาจลงไปใต้เมืองปัตตานี ส่วนในทางการค้า บริเตนต้องการให้ไทยผ่อนปรนการผูกขาดการค้าและเรียกเก็บภาษีอากรในการค้า ให้เหมือนกับที่พ่อค้าไทยมีเสรีภาพทางการค้าเมื่อค้าขายกับอาณานิคมของบริเตน[5]
การเจรจา
แก้สัญญาลำลอง
แก้เฮนรี เบอร์นีได้ลองทำหนังสือสัญญาลำลองกับเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน เพื่อดูว่าไทยต้องการทำสนธิสัญญาหรือไม่ โดยสัญญาลำลองมีใจความว่า
- (1) เจ้าพระยานครสัญญาว่าจะไม่ส่งทหารไปยังเประและสลังงอ บริษัทอังกฤษให้สัญญาว่าจะไม่ยึดครองเประ
- (2) บริษัทอังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับไทรบุรี แต่ถ้าสุลต่านไทรบุรีได้กลับมาครองเมือง ก็สัญญาจะส่งเครื่องบรรณาการถวายทุกสามปี และเงินปีละ 4,000 เหรียญสเปน เจ้าพระยานครสัญญาว่าถ้าสุลต่านไทรบุรีได้กลับครองเมืองก็จะไม่ขัดขวางและไม่รุกราน
- (3) เจ้าพระยานครสัญญาจะช่วยปราบโจรสลัดในทะเลด้านตะวันตกของคาบสมุทรมลายู และยินดีช่วยอังกฤษในการเจรจาที่กรุงเทพต่อไป[5]
เมื่อรัฐบาลบริติชราชพิจารณาสัญญาลำลองดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าไทยยินยอมเจรจาตามแนวทางที่ตนต้องการ จึงให้เบอร์นีเดินทางไปเจรจาที่กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
แก้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 ทูตอังกฤษได้บันทึกข้อเรียกร้องทั้งหลายในระหว่างการเจรจาว่า
- ไทยควรปล่อยให้พ่อค้าอังกฤษมีเสรีภาพทางการค้าเหมือนกับที่พ่อค้าไทยได้รับเสรีภาพดังกล่าวเมื่อไปค้าขายกับดินแดนในบังคับอังกฤษ และขอให้เปิดเผยพิกัดอัตราค่าธรรมเนียม อย่าปิดบัง
- ไม่ควรให้การค้ากับชาวต่างชาติขึ้นกับเจ้าพระยาพระคลังคนเดียว เพราะไม่เคยอนุญาตให้พ่อค้าไทยคนใดขายให้หรือซื้อสินค้าจากพ่อค้าอังกฤษ
- กรมพระคลังสินค้าโก่งราคาสินค้ามาก
- พ่อค้าต่างชาติไม่สามารถขายสินค้าแก่เอกชนได้ ต้องรอข้าราชการกรมท่าเลือกซื้อ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
- มีการเก็บภาษีรุนแรงเกินควร ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมโดยไม่แจ้งให้ทราบ
- ต้องการให้ไทยลดค่าธรรมเนียมแก่เรือที่สัญจรไปมาบ่อย[6]
ทั้งนี้ได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยพิจารณา ความว่า
- ให้เรือต่างชาติยื่นรายชื่อคนบนเรือ และเครื่องสรรพาวุธต่อเสนาบดีกรมท่า หากรายการที่ยื่นไม่ตรงให้ริบได้
- ให้เจ้าพนักงานวัดส่วนกว้างของเรือ แล้วเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นอัตราที่ชัดเจน โดยเสนอว่าควรเก็บวาละ 1,500 บาท
- ขอให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมแก่เรือที่สัญจรไปมาบ่อย และไม่ควรเรียกเก็บค่าจ้างเรือลำเลียงสินค้าขนาดเล็กในการช่วยขนสินค้า
- ขอให้พ่อค้าอังกฤษและสุหรัดมีเสรีภาพในการซื้อขายอย่างเต็มที่
- ขอให้ไทยแต่งตั้งเจ้าพนักงานไว้ตรวจการตวงข้าวและเกลือ และกำหนดให้เสียค่าจ้างเป็นพิกัดอัตราแน่นอน
- เมื่อเรือมาถึงปากน้ำ ขอให้ขนเฉพาะกระสุนปืนและดินดำขึ้นบก
- หากคนในบังคับอังกฤษจะเรียกหนี้สินจากคนไทย ให้ยื่นคดีต่อเจ้าพระยาพระคลังและข้าราชการ และหากไต่สวนพบว่าผิดตามที่กล่าวหา ให้ลูกหนี้มาชำระหนี้แก่คนนั้น
- ขอให้เรืออังกฤษและพ่อค้าอังกฤษ มีเสรีภาพจะไปค้าขายตามเมืองท่าของไทยได้ทุกเมือง และคนในบังคับอังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย[7]
ภายหลังการยื่นบันทึกดังกล่าวได้ 11 วัน รัฐบาลไทยทราบว่าพม่ายอมแพ้อังกฤษ ทำให้เป็นการไม่เหมาะที่จะไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวตามที่อังกฤษต้องการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้รับกราบทูลให้ทำสนธิสัญญาไว้ พระองค์จึงทรงเชิญเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำสนธิสัญญายังที่พัก[8]
การลงนาม
แก้วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ไทยและอังกฤษได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับ เป็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถอดพระยาชุมพร (ซุย) ออกจากตำแหน่ง "เพราะมีความผิดไปตีครัวมะริดของอังกฤษ อังกฤษเข้ามาตามขอดี ๆ ก็ไม่ให้ ได้สู้รบกันก็แพ้เขา ทำให้เสียพระเกียรติยศ"[2]
ในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย พบว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยได้รักษาเกียรติยศและผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ดีที่สุด โดยไม่ยอมให้อังกฤษตั้งกุงสุลและเอากฎหมายอังกฤษมาใช้ในไทย โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ผู้กำกับกรมท่าและกรมมหาดไทย เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในการเจรจาดังกล่าว ทรงถูกมองว่าเป็นผู้ให้ "ความเห็นของรัฐบาลไทย"[1]
หนังสือสัญญาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ไทยยอมทำกับต่างประเทศ รัฐบาลไม่ค่อยเต็มใจทำเนื่องจากเนื้อหาทำให้รัฐบาลและขุนนางกรมท่าขาดรายได้
สาระสำคัญ
แก้- ให้เรือพ่อค้าอังกฤษปฏิบัติตามธรรมเนียมไทย ห้ามมิให้ขายกระสุนดินดำแก่เอกชน ให้ขายเฉพาะในหลวงเท่านั้น แต่สินค้าอื่นสามารถค้าขายได้อย่างเสรี ค่าธรรมเนียมสลุบกำปั่นรวมเบ็ดเสร็จ ถ้ามีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,700 บาท ถ้าไม่มีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,500 บาท โดยไม่เรียกเก็บจังกอบ ภาษี และค่าธรรมเนียมเพิ่ม
- เรือพ่อค้าชาวอังกฤษจะต้องมาทอดสมอคอยอยู่นอกสันดอนปากแม่น้ำก่อน นายเรือจะต้องให้คนนำบัญชีรายชื่อสินค้าที่บรรทุกมาตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ แจ้งแก่เจ้าเมืองปากน้ำ เจ้าเมืองปากน้ำจะให้คนนำร่องและล่ามกฎหมายมาส่ง แล้วจึงจะนำเรือนั้นเข้ามายังแผ่นดิน
- เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบเรือสินค้าได้ แล้วเอาสินค้ายุทธภัณฑ์ไว้ ณ เมืองปากน้ำ แล้วเจ้าเมืองจึงอนุญาตให้เรือมาถึงกรุงเทพมหานคร
- เมื่อเรือสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว เจ้าพนักงานตรวจสอบเรือสินค้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ค้าขายกันอย่างเสรี (ตามข้อ 1) เวลาจะขนสินค้ากลับ จะไม่คิดค่าธรรมเนียมเรือลำเลียง
- ถ้าเรือบรรทุกสิ่งของเสร็จ ก็ให้นายเรือขอเบิกล่องต่อเจ้าพระยาพระคลัง แล้วไปหยุดทอดสมอตรงที่เคยทอด (ตามข้อ 2) เจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วรับเอายุทธภัณฑ์กลับไป
- พ่อค้าอังกฤษ ตลอดจนผู้บังคับการเรือและลูกเรือทั้งหลายซึ่งเข้ามาค้าขายยังเมืองไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ คนอังกฤษและคนไทยย่อมได้รับโทษเท่ากัน
ผลที่ตามมา
แก้ปฏิกิริยาต่อเบอร์นี
แก้เบอร์นีถูกกรมการเมืองปีนังและชาวอังกฤษในแหลมมลายูตำหนิเป็นอันมาก เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวเสียเปรียบไทยทั้งในด้านการเมืองและการค้า มีคนหนึ่งถึงกับส่งหนังสือจะท้าดวลกับเบอร์นีเลยทีเดียว แต่รัฐบาลอินเดียกล่าวยกย่องเบอร์นี และปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ฝ่ายเบอร์นีเองก็เป็นห่วงว่าไทยอาจจะหลีกเลียงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับรอเบิร์ต ฟุลเลอตัน เจ้าเมืองปีนัง[9]
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
แก้การที่ไทยไม่ยอมส่งออกข้าวแม้จะได้รับการโน้มน้าวจากทูตอังกฤษ ให้โทษแก่เศรษฐกิจไทยมากกว่าให้คุณ[1] เพราะในอดีตที่พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทรงห้ามมิให้ส่งออกข้าวนั้น เป็นเพราะเกิดศึกสงครามและมีการขาดแคลนข้าว นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันว่างศึกมาก็มีการผ่อนผันให้ส่งออกข้าวได้เป็นครั้งคราว[1]
สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยเสียผลประโยชน์ จึงมีการเพิ่มภาษีอากรให้ชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป โดยมีการเรียกเก็บภาษีอากรใหม่ถึงเกือบ 40 อย่าง[10] ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองกลับมีสงครามมากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2[11] อันทำให้รัฐบาลมีรายได้มากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 มาก ถึงกับสามารถให้เงินเดือนแก่เจ้านายได้ และเพิ่มเบี้ยหวัด (โบนัส) ให้แก่เจ้านายและข้าราชการได้อีกด้วย[12]
แต่เดิมการผูกขาดการค้านั้นมีไว้เพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายบำรุงบ้านเมืองและการศาสนา เมื่อรัฐบาลไม่สามารถผูกขาดสินค้าได้อีกแล้วก็ใช้วิธีโอนสิทธิ์ให้แก่เจ้าภาษีแทน ทำให้สินค้าแพงขึ้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อน สวนทางกับข้าวเปลือกที่ราคาตกต่ำมาก ในขณะที่รัฐบาลมีรายได้ปีละหลายล้านบาท[11]
การเข้ามาทำสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกา
แก้ความสำเร็จของอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี ทำให้สหรัฐอเมริกาสนใจต้องการเข้ามาทำสนธิสัญญาด้วยอีกประเทศหนึ่ง โดยใน พ.ศ. 2376 แอนดรูว์ แจ็คสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์มายังประเทศไทย นับเป็นทูตอเมริกันคนแรก[13] สนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกับสนธิสัญญาเบอร์นี แต่มีความพิเศษตรงที่สหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิ์ให้สามารถตั้งกงสุลได้หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาตั้งกงสุลขึ้นก่อนหน้านั้น[10]
การขอแก้ไขสนธิสัญญา
แก้หลังจากที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไปแล้ว พ่อค้าฝรั่งยังรู้สึกไม่พอใจเพราะรู้สึกเสียค่าธรรมเนียมแพงเกินควร ต้องอยู่ใต้บังคับกฎหมายและธรรมเนียมไทย อีกทั้งยังไม่พอใจที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่าง ๆ[12] ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทูตชื่อ โจเซฟ บัสเลสเตีย มาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา โดยจะขอตั้งกงสุลอเมริกัน และขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมเหมา แต่การแก้ไขสนธิสัญญาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบัลเลสเตียปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับฐานะทูต ที่สำคัญคือเป็นเพียงพ่อค้ามิใช่ขุนนาง ทำให้คนไทยที่เห่อยศศักดิ์มีปฏิกิริยาชิงชังฝรั่ง ว่าไม่เคารพพระเจ้าแผ่นดินไทย บัสเลสเตรียก็เดินทางออกจากประเทศเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2393[14]
ในเวลาไล่เลี่ยกันน้น สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็ได้ทรงส่งทูตมายังกรุงเทพ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2393 โดยมีจุดประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่การเจรจาคราวนี้ล้มเหลวอีกเช่นกัน เพราะราชทูต เซอร์เจมส์ บรุค ถือหนังสืออัครมหาเสนาบดีมาให้เสนาบดีกรมท่า จึงทำให้ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ[14] ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรู้สึกไม่ได้รับเกียรติจากทูตอังกฤษ เพราะไม่ได้เชิญพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาถวายด้วย[14]
สำหรับเนื้อหาที่ขอแก้ไขสนธิสัญญานั้น สามารถสรุปได้ว่า
- (1) ห้ามมิให้ขายฝิ่นในกรุงเทพ หากฝ่าฝืนให้ใช้เงินหรือจำไว้
- (2) สินค้าเจ็ดประการ ได้แก่ น้ำมัน, ปืน ลูกปืน และดินปิน, เหล็ก, กะทะเหล็ก, เหล็กกล้า, สุรา และไม้สัก ให้กรุงเทพคิดอัตราภาษีได้ตามความเห็นชอบ เรือพ่อค้าอังกฤษที่มีสินค้าเหล่านี้จะนำเข้าหรือส่งออกไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากข้าราชการไทย
- (3) ขออย่าให้เสียภาษีสินค้าทั้งปวง ยกเว้นที่กำหนดในคำสัญญานี้ (ดูข้อ 5)
- (4) ขอให้คนอังกฤษและคนไทยค้าขายอย่างเสรี (ยกเว้นสินค้าในข้อ 2) และอย่าให้มีการเก็บภาษีเพิ่มจากที่ได้จ่ายไปครั้งแรกแล้ว
- (5) ขอให้ใช้ภาษีตามนี้แทนภาษีเก่า: ข้าวสาร - หาบละสลึง, น้ำตาลทราย - หาบละ 2 สลึง, ครั่ง - หาบละ 2 สลึง, เขาสัตว์ - หาบละสลึง, น้ำตาลทรายแดง - หาบละสลึง, เกลือ - เกวียนละ 2 บาท, ไม้ฝาง -หาบละเฟื้อง
- (6) ขอให้เรืออังกฤษคิดค่าปากเรือวาละ 500 บาท โดย 1 วาคิดเป็น 78 นิ้วอังกฤษ ใช้แทนค่าปากเรือและภาษีเก่าทั้งหมด กรณีไม่ได้นำสินค้ามาขาย ขอให้ไม่เสียค่าปากเรือ[15]
ฝ่ายไทยปฏิเสธไม่ยอมรับการแก้ไขสนธิสัญญาด้วยเหตุผลยืดยาว ราชทูตอังกฤษข่มโทสะไม่ได้ก็ขู่ว่าจะไปบอกรัฐบาล แล้วก็เดินทางกลับประเทศไป มิชชันนารีทั้งหลายก็เกรงว่าจะเกิดสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ หรือไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็เร่งจะหนีออกจากไทย[15]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 157.
- ↑ 2.0 2.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 155.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 149.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 150.
- ↑ 5.0 5.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 151.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 152-153.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 153-154.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 154.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 157-158.
- ↑ 10.0 10.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 159.
- ↑ 11.0 11.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 169.
- ↑ 12.0 12.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 164.
- ↑ ห้องนิทรรศการ 1 เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐอเมริกาในแง่ประวัติศาสตร์ ก. สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 เก็บถาวร 2015-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 17-12-2553.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 166.
- ↑ 15.0 15.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 168.
บรรณานุกรม
แก้- ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.