เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)

เสนาบดีชาวสยาม

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2373 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) กับหม่อมพึ่ง ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ (บุญนาก บ้านแม่ลา) เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 4 เป็นนายไชยขรรค์ หุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเป็นจมื่นทิพรักษา และจมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ตามลำดับ จนในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งครั้งนั้นมีพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตนั้น จมื่นราชามาตย์ (ท้วม บุนนาค) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ ที่จะนำไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อกลับมา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรี ท่านเป็นแม่กองคุมการก่อสร้างพระนครคีรี ที่เขาวัง จังหวัดเพชรบุรี สร้างสะพานช้างข้ามแม่น้ำเพชรบุรี สร้างถนนจากเขาวังไปเขาหลวง และถนนราชวิถี เป็นต้น

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี
(ท้วม บุนนาค)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2373
เสียชีวิต13 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 (83 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงสุ่น (หย่า)
บุพการี

ประวัติ แก้

เมื่อพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือถึงอนิจกรรมลง รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระเพชรพิไสยฯ เป็นพระยาเทพประชุน ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกรมกลาโหม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปราชการเรื่องสายโทรเลข ที่เมืองสิงคโปร์และเมืองภูเก็ต เมื่อกลับเข้ามาพระนคร ในปี พ.ศ. 2411 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองการทำพลับพลาค่ายหลวงที่ว่าการแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเสด็จประทับทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านทำหน้าที่กราบทูลพระกรุณามอบถวายสรรพสิ่งซึ่งเป็นเครื่องประดับพระบรมราชอิสริยยศ และราชสมบัติทั้งปวงตามพระราชประเพณีแทน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต่อมา พ.ศ. 2412 ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง และกรมท่า ทั้งว่าการต่างประเทศด้วย และในปี พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ชุดนี้ขึ้นและได้รับพระราชทานให้แก่เสนาบดีชั้นเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดีคนแรกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 หลังจากมีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้น แยกราชการฝ่ายการคลังออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมากราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่า การต่างประเทศ เนื่องจากมีโรคภัยเบียดเบียน ท่านถึงอสัญกรรมเนื่องจากอัมพาต เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 เวลา 12.35 น. สิริอายุได้ 83 ปี ต่อมาเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านของเจ้าพระยาภาณุวงศ์เพื่อพระราชทานน้ำอาบศพ [1]

ครอบครัว แก้

 
ครอบครัวของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม)

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีมีบุตรธิดารวม 25 คน เป็นชาย 17 คน หญิง 8 คน โดย สมรสกับคุณหญิงสุ่น มีบุตร 2 คน ได้แก่

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีแยกกันอยู่กับคุณหญิงสุ่นราว 50 ปี และเกิดการพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์การเก็บค่าเช่าตึกจากที่ดินริมวังบูรพาภิรมย์ จนถึงขั้นฟ้องศาลเมื่อ พ.ศ. 2446 แต่ศาลพิเศษยกฟ้อง โดยชี้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกที่ดินผืนให้แก่เจ้าพระยาภาณุวงศ์กับคุณหญิงสุ่นในฐานะสินสมรส ทั้งสองจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน แต่ต่อมาคุณหญิงสุ่นได้ขอรับพระราชทานฟ้องหย่าเพื่อแบ่งสินสมรส เจ้าพระยาภาณุวงศ์ได้รับสินสมรสไปสามส่วน ส่วนคุณหญิงสุ่นในฐานะภรรยาได้รับสินสมรสไปสองส่วน[2]

และมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ที่สำคัญ ได้แก่[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ข่าวอสัญญกรรม
  2. ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 155-160
  3. "สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 4 สายเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-22. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "บัญชีพระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ (หน้า ๓๘๖)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-29.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๖๔