เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร)

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช หรือ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิบดี หรือ เจ้าพระยานครน้อย นามเดิม น้อย ณ นคร หรือ พระองค์เจ้าน้อย (27 สิงหาคม พ.ศ. 2319 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2382) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชโอรสองค์รองสุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นผู้มีบทบาทในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช
(น้อย ณ นคร)
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2354 - 2382
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)
ถัดไปเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 สิงหาคม พ.ศ. 2319
เมืองนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2382 (62 ปี)
เมืองนครศรีธรรมราช
คู่สมรสท่านผู้หญิงอิน
บุตรเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ในรัชกาลที่ 3
เจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยเมือง)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)
บุพการี

ประวัติ

แก้

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมนครศรีธรรมราชหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หนึ่งในธิดาของเจ้าพระยานครฯ (หนู) คือคุณหญิงชุ่มได้สมรสเป็นภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) แห่งเมืองนครฯ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชได้ใน พ.ศ. 2312 ธิดาอีกคนของเจ้าพระยานครฯ (หนู) คือคุณหญิงปราง ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นเจ้าจอมปราง หลังจากที่ท่านผู้หญิงชุ่มภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) ถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระดำริจะยกเจ้าจอมปรางให้เป็นภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) แต่ท้าวนางฝ่ายในได้กราบทูลว่าเจ้าจอมปรางขาดระดูได้สองเดือนแล้ว (หมายถึงกำลังจะมีพระครรภ์ให้แด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน) พระเจ้าตากสินรับสั่งว่าตรัสแล้วไม่คืนคำต้องให้ออกไป พระอุปราช (พัฒน์) จึงจำต้องรับเจ้าจอมปรางมาไว้ที่เมืองนครฯ ตั้งขึ้นไว้เป็นนางเมืองไม่ได้เป็นภรรยา เจ้าจอมปรางให้กำเนิดบุตรชายที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2319[1] ชื่อว่า น้อย ดังปรากฏในบันทึกในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า

"เจ้าจอมมารดาปรางในพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานแก่อุปราชพัฒน์ มีความชอบชนะศึกชายาถึงแก่กรรม รับสั่งว่าอย่าเสียใจนักเลยจะให้เลี้ยงหลาน ท้าวนางกราบทูลว่า เริ่มตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนแล้ว แต่รับสั่งตรัสแล้วไม่คืนคำ พระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕ ว่าไม่ทรงทราบหรือเป็นราโชบายให้เชื้อสายไปครองเมืองให้กว้างขวางออกไป แนวเดียวกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปครองเขมร เจ้าพัฒน์รับตั้งไว้เป็นนางเมือง มิได้เป็นภรรยาเป็นเรื่องเล่ากระซิบกันอย่างเปิดเผย บุตรติดครรภ์เป็นชายชื่อ น้อย เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจวาสนากว่าเจ้านครทุกคน"

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เกิดที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[2] ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง และเป็นบุตรบุญธรรมของพระอุปราช (พัฒน์) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ใน พ.ศ. 2329 เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สองต่อจากเจ้าพระยานครฯ (หนู) เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เจริญวัยขึ้น เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมได้นำเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานตำแหน่งเป็นนายสรรพวิไชย มหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช โปรดเกล้าฯให้กลับไปรับราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถเลขาเรียกชื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ตอนนี้ว่า "น้อยคืนเมือง"

เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางและภูเก็ตใน พ.ศ. 2352 พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ได้ติดตามบิดาบุญธรรมเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ไปตั้งทัพเรือขึ้นที่เมืองตรังเพื่อยกทัพเข้าต่อสู้กับพม่าที่ภูเก็ต ฝ่ายพม่าซึ่งเข้ายึดเมืองภูเก็ตไว้ได้ยินเสียงคลื่นลมเข้าใจว่าทัพเรือไทยยกมาจึงถอยออกจากภูเก็ต พระบริรักษ์ภูเบศร์จึงนำทัพเรือของเมืองนครฯ เข้ายึดเมืองภูเก็ตได้สำเร็จ

ใน พ.ศ. 2354 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า ตนเองมีความชราภาพขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯจึงโปรดฯ ให้ตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ขึ้นเป็นพระยานครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่ออายุได้สามสิบห้าปี เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และให้เลื่อนอดีตเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นสุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฮาลิมชาฮ์ (Ahmad Tajuddin Alim Shah) แห่งไทรบุรี หรือ "ตวนกูปะแงหรัน" (Tunku Pangeran) เกิดความขัดแย้งกับตนกูบิศนู (Tunku Bisnu) ผู้เป็นน้องชาย จนฝ่ายสยามต้องไกล่เกลี่ยด้วยการให้ตนกูพิศนุมาเป็นเจ้าเมืองสตูล ตนกูบิศนูเข้านอบน้อมต่อพระยานครฯ (น้อย) ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2357

เดิมรัฐกลันตันเป็นเมืองขึ้นของรัฐตรังกานู สุลต่านมูฮัมหมัด (Muhammad) แห่งกลันตันมีความขัดแย้งกับสุลต่านแห่งตรังกานู จึงร้องขอเข้ามายังพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเศษภักดีไม่เห็นด้วย สุลต่านมูฮัมหมัดจึงร้องขอต่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) โดยตรงใน พ.ศ. 2358 ขอเป็นประเทศราชต่อกรุงเทพฯ โดยตรงไม่ผ่านตรังกานู จึงมีพระราชโองการให้เมืองกลันตันเป็นประเทศราชแยกต่างหากส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองแก่กรุงเทพฯ โดยตรงและขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช

กบฏไทรบุรีครั้งแรก

แก้

ใน พ.ศ. 2363 พระเจ้าจักกายแมงแห่งพม่ามีพระราชโองการให้เตรียมเกณฑ์ทัพจากเมืองมะริดและตะนาวศรีเข้ารุกรานไทย ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อทรงทราบข่าวทัพพม่าจึงมีพระราชโองการให้จัดเตรียมทัพไปตั้งรับ ในขณะนั้นพระยานครฯ (น้อย) ล้มป่วยลง จึงมีพระราชโองการให้พระวิชิตณรงค์ไปรักษาการณ์เมืองนครศรีธรรมราช และให้พระพงษ์นรินทร์ซึ่งเป็นหมอหลวงเดินทางมารักษาอาการป่วยของพระยานครฯ และมีตราว่าหากทัพพม่าบุกเข้ามาให้พระยานครฯเป็นแม่ทัพ พระวิชิตณรงค์เป็นปลัดทัพ และพระพงษ์นรินทร์เป็นยกกระบัตรทัพ แต่สุดท้ายแล้วทัพพม่าก็ไม่ได้ยกมารุกรานแต่อย่างใด

ฝ่ายสุลต่านตวนกูปะแงหรันแห่งไทรบุรีเมื่อทราบข่าวว่าพม่าจะยกทัพมายังภาคใต้จึงติดต่อสัมพันธไมตรีกับฝ่ายพม่า ตนกูมอม (Tunku Mom) น้องชายของสุลต่านตวนกูปะแงหรันมาแจ้งความแก่พระยานครฯ (น้อย) ว่าตวนกูปะแงหรันลักลอบติดต่อกับพม่า นอกจากนี้พ่อค้าชาวจีนในทะเลอันดามันชื่อว่าลิมหอยพบสาส์นของพม่าถึงสุลต่านตวนกูปะแงหรัน ฝ่ายกรุงเทพฯ จึงมีตราเรียกเข้ามาพบสุลต่านไม่ไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพไปตีเมืองไทรบุรี พระยานครฯ (น้อย) ยกทัพเรือจากเมืองพัทลุงและสงขลาแสร้งว่าจะโจมตีมะริดและตะนาวศรี โดยพระยานครฯ (น้อย) แจ้งแก่ทางไทรบุรีว่าขอเสบียงสนับสนุน แม่ฝ่ายไทรบุรีไม่ได้ส่งเสบียงมาสนับสนุนตามที่ขอพระยานครฯ (น้อย) จึงยกทัพเรือไปยังเมืองอาโลร์เซอตาร์เมืองหลวงของไทรบุรี ฝ่ายเมืองไทรบุรียังไม่ทราบเจตนารมณ์ของพระยานครฯจึงให้การต้อนรับ เมื่อพระยานครฯเข้าไปอยู่ในเมืองอาโลร์เซอตาร์แล้วจึงเข้าโจมตี[3]และยึดเมืองได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2364 สุลต่านตวนกูปะแงหรันสามารถหลบหนีได้ทันไปยังเกาะปีนังหรือเกาะหมาก ซึ่งไทรบุรีได้ยกให้แก่อังกฤษให้เช่าตั้งแต่ พ.ศ. 2329 เมื่อยึดไทรบุรีได้แล้วพระยานครฯ (น้อย) จึงตั้งให้บุตรชายคือพระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทน และให้บุตรชายอีกคนคือนายนุชมหาดเล็กเป็นปลัดเมืองไทรบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นพระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรี และแต่งตั้งนายนุชมหาดเล็กเป็นพระเสนานุชิตปลัดเมืองไทรบุรี

เจรจากับอังกฤษ

แก้

เมื่อพระยานครฯ (น้อย) ยึดไทรบุรีแล้ว สยามจึงเข้าปกครองเมืองไทรบุรีโดยตรงโดยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช มีข้าราชการกรมการฯสยามเข้าปกครองไม่มีการแต่งตั้งสุลต่าน อดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันพำนักอยู่ที่เกาะปีนังภายใต้ความคุ้มครองของอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษที่เกาะปีนังเพื่อเห็นว่าสยามเข้าปกครองไทรบุรีโดยตรงเกรงว่าสยามจะส่งทัพมาโจมตีเกาะปีนัง มาร์เควสแห่งเฮสติงส์ (Marquess of Hastings) ผู้ปกครองบริติชอินเดีย ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เป็นทูตมายังสยามเพื่อดูท่าที นายครอว์เฟิร์ตเดินทางถึงเกาะปีนังในเดือนธันวาคม พระยานครฯ (น้อย) จึงส่งสาส์นถึงนายครอว์เฟิร์ตที่เกาะปีนังว่าฝ่ายสยามไม่มีเจตนาที่จะยกทัพบุกเกาะปีนัง เมื่อนายครอว์เฟิร์ตเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2365 ได้ยื่นหนังสือของตวนกูปะแงหรันให้แก่พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) กล่าวโทษพระยานครฯ (น้อย) การเจรจาระหว่างสยามและอังกฤษครั้งนั้นยังไม่ประสบผล หลังจากการปราบกบฏไทรบุรีและการเจรจากับอังกฤษ พระยานครฯ (น้อย) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช[4] ต่อมาใน พ.ศ. 2368 เจ้าพระยานครฯ (น้อย) จัดเตรียมทัพเรือเพื่อเข้าโจมตีรัฐเปรักและเซอลาโงร์ เนื่องจากรัฐเซอลาโงร์ได้เคยขัดขวางมิให้รัฐเปรักถวายบรรณาการให้แก่กรุงเทพฯ นายโรเบิร์ต ฟุลเลอร์ตัน (Robert Fullerton) เจ้าเมืองปีนัง แจ้งแก่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ว่าถ้าฝ่ายสยามนำทัพเข้ารุกรานเปรักและเซอลาโงร์จะเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลันดา (Anglo-Dutch Treaty of 1824) และส่งเรือรบของอังกฤษมาปิดกั้นปากแม่น้ำตรัง[5] ซึงเป็นทางออกของทัพเรือของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ไว้ การรุกรานรัฐเประก์และเซอลาโงร์จึงยุติ

ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2368 ฝ่ายอังกฤษส่งนายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) หรือ "หันตรีบารนี" เป็นตัวแทนของอังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม นายเบอร์นีเดินทางถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำนายเบอร์นีเข้าไปยังกรุงเทพฯ นำไปสู่การตกลงสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2369 โดยมีผู้แทนฝ่ายสยามได้แก่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ฝ่ายอังกฤษยอมรับอำนาจของสยามเหนือไทรบุรีโดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าสยามงดการรุกรานรัฐเซอลาโงร์และอนุญาตให้มีการค้าขายระหว่างสยามและเกาะปีนัง[6]

ใน พ.ศ. 2369 กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีตราให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เกณฑ์พลหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นไปรบกับลาว แต่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถวายรายงานว่าอังกฤษนำเรือมาไว้ที่เกาะปีนัง จึงให้พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) บุตรชายยกทัพไปส่วนหนึ่งตามท้องตราไปแทน

กบฏไทรบุรีครั้งหลัง

แก้

ใน พ.ศ. 2375 ตนกูกูเด่น (Tunku Kudin) ผู้เป็นหลานของอดีตสุลต่านตวนกูปะแปหรันปลุกระดมชาวเมืองไทรบุรีให้ลุกฮือขึ้นและเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีและพระเสนานุชิต (นุช) บุตรทั้งสองของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) หลบหนีไปยังเมืองพัทลุง เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่กรุงเทพมีคำสั่งให้พระสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าหลวงในกรมพระราชวังบวรฯลงไปช่วงพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ในการเกณฑ์หัวเมืองปัตตานีมารบกับไทรบุรี และเจ้าพระยานครฯได้รีบรุดลงมายังเมืองนครฯ ฝ่ายบรรดาเจ้าเมืองปัตตานีห้าเมืองจากเจ็ดเมืองนำโดยพระยาตานี (ต่วนสุหลง) ทราบว่าต้องนำพลไปรบกับไทรบุรีจึงก่อการกบฏขึ้นบ้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพลงมาช่วยเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯยกทัพเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนได้สำเร็จ ตนกูกูเด่นฆ่าตัวตาย

เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพมาถึงเมืองสงขลาในเดือนมีนาคม พบว่าเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เข้ายึดเมืองไทรบุรีได้แล้ว ทั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เจ้าพระยานครฯ (น้อย) และพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ยกทัพเข้าตีเมืองปัตตานี พระยาตานี (ต่วนสุหลง) สู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปยังกลันตัน ฝ่ายสยามยกตามไปต่อที่กลันตัน สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกลันตันผู้เป็นญาติของพระยาตานีไม่สู้รบขอเจรจาแต่โดยดีและมอบตัวพระยาตานีให้แก่ฝ่ายสยาม หลังจากปราบกบฎไทรบุรีลงได้แล้ว เจ้าพระยานครฯจึงให้พระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตบุตรทั้งสองครองเมืองไทรบุรีตามเดิม

ต่อมาใน พ.ศ. 2380 กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยสิ้นพระชนม์ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) และข้าราชการกรมการของหัวเมืองปักษ์ใต้เดินทางไปยังกรุงเทพฯเพื่อร่วมพระราชพิธี ในหลานสองคนของตวนกูปะแงหรันได้แก่ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) และตนกูมูฮาหมัดอากิบ (Tunku Muhammad Akib) ร่วมมือกับหวันหมาดหลีซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามัน นำทัพเรือเข้าบุกยึดเมืองไทรบุรีในเดือนกุมพาพันธ์พ.ศ. 2381 นำไปสู่กบฏหวันหมาดหลี พระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตหลบหนีไปตั้งมั่นที่เมืองพัทลุง ในขณะนั้นเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ล้มป่วยอยู่ที่กรุงเทพจำต้องรีบรุดเดินทางลงมายังเมืองนครฯเพื่อปราบกบฏไทรบุรีอีกครั้งพร้อมกับพระวิชิตไกรสร เจ้าพระยานครฯล้มป่วยอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต) ยกทัพมาช่วยเจ้าพระยานครฯ พระยาอภัยธิเบศร์ พระเสนานุชิต และพระวิชิตไกรสรเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้อีกในเดือนเดียวกันนั้นเอง

ถึงแก่อสัญกรรม

แก้

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2381 สิริอายุ 61 ปี 260 วัน [7] หลังจากที่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) จัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ใหม่ โดยยกตนกูอาหนุ่มซึ่งเป็นญาติของตวนกูปะแงหรันขึ้นเป็นสุลต่านแห่งไทรบุรี และให้ชาวมลายูเข้าปกครองเมืองไทรบุรีอีกครั้ง การปกครองไทรบุรีโดยตรงของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาสิบแปดปีจึงสิ้นสุดลง ส่วนพระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตนั้น พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ตั้งให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เป็นเจ้าเมืองพังงา และให้พระเสนานุชิต (นุช) เป็นปลัดเมืองพังงา นอกจากนี้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ยังตั้งให้บุตรชายคนที่สองของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) คือ พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สี่ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นพระยานครศรีธรรมราช ส่วนบุตรชายคนโตของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) คือพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) โปรดฯเข้าไปช่วยราชการที่กรุงเทพฯ เนื่องจาก"เป็นคนไม่ชอบกันกับพี่น้อง"[8]

ครอบครัวและบุตรธิดา

แก้

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) สมรสกับท่านผู้หญิงอิน ซึ่งเป็นธิดาของพระยาพินาศอัคคี เจ้าพระยานครฯ (น้อย) มีบุตรธิดากับภรรยาต่างๆรวมกันทั้งสิ้น 34 คน อาทิ;

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บทที่-๓-เจ้าพระยานครศรีธรรมราช-น้อย เก็บถาวร 2018-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิสกุล ณ นคร สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
  2. อนุสาวรีย์เจ้าพระยานคร (น้อย) ราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
  3. Maziar Mozaffari Falarti (2013). Malay Kingship in Kedah: Religion, Trade, and Society. Rowman & Littlefield.
  4. เจ้าพระยานคร (น้อย)[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
  5. Hall, Daniel George Edward (1 May 1981). History of South East Asia. Macmillan International Higher Education.
  6. Treaty between the King of Siam and Great Britain, June 20, 1826
  7. ประวัติสกุล ณ นคร เก็บถาวร 2017-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
  8. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓
  9. "ประวัติความเป็นมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-16. สืบค้นเมื่อ 2020-05-15.