พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร)
พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นปลัดเมืองไทรบุรีระหว่าง พ.ศ. 2364–2383 เป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงาและเจ้าเมืองตะกั่วป่า ระหว่าง พ.ศ. 2383–2424 ได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองโท ถือศักดินา 10,000 เทียบเท่าเสนาบดี และเป็นเจ้าเมืองอาวุโสที่สุดทางหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก ชาวเมืองตะกั่วป่ายุคนั้นเรียกท่านว่า เจ้าคุณเฒ๋า
พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) | |
---|---|
ปลัดเมืองไทรบุรี ผู้ว่าราชการเมืองพังงาและเจ้าเมืองตะกั่วป่า | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2364–2424 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ถัดไป | พระยาเสนานุชิต (เอี่ยม) (เจ้าเมืองตะกั่วป่า) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ราว พ.ศ. 2350 เมืองนครศรีธรรมราช |
เสียชีวิต | ตะกั่วป่า |
บุตร | บุตรธิดา รวม 58 คน[1] |
บุพการี | |
ประวัติ
แก้พระยาเสนานุชิต (นุช) มีนามเดิมว่า นุช เป็นบุตรของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) ที่เกิดจากภรรยาน้อย เกิดที่เมืองนครศรีธรรมราช ราว พ.ศ. 2350 ขณะที่บิดาเป็นผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ด้านการศึกษาคงศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นที่นครศรีธรรมราช เมื่อย่างวัยรุ่นจึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแล้วกลับไปช่วยเหลือพี่ชายคือ พระภักดีบริรักษ์ (แสง ณ นคร) ในระยะที่ออกไปรักษาราชการในเมืองไทรบุรี เป็นปลัด[2] ระหว่าง พ.ศ. 2364–2383 และติดตามพี่ชายไปเป็นผู้ช่วยราชการเมืองพังงาระยะหนึ่ง จนเมื่อพระยศภักดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าถึงแก่อสัญกรรม จึงได้เลื่อนยศจากพระเสนานุชิต (นุช) เป็น พระยาเสนานุชิต (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ขึ้นตรงต่อเมืองพังงา
เมื่อ พ.ศ. 2404 พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา และหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกถึงแก่อสัญกรรม ทางฝ่ายรัฐบาลกลางจึงแต่งตั้ง พระยาเสนานุชิต (นุช) เจ้าเมืองอาวุโสสูงสุด ในหัวเมืองแถบนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ยศยังคงเดิมแต่เลื่อนศักดินา สูงขึ้นเป็น 10,000 มีเครื่องยศเทียบเท่าเสนาบดี พระยาเสนานุชิต (นุช) ไม่ไปรับตำแหน่งที่เมืองพังงา แต่ขอรับที่เมืองตะกั่วป่า โดยอ้างว่าเคยชินกับตะกั่วป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตะกั่วป่าขึ้นเป็นเมืองโท ในระหว่างเป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่า ท่านเป็นนักปกครองคนด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ปราบอั้งยี่ เก็บภาษีแร่ได้สูงสุด สร้างความมั่งคั่ง ความเจริญ ในช่วงยุคทองของตะกั่วป่า[3] พระยาเสนานุชิต (นุช) ถึงแก่อสัญกรรมราว พ.ศ. 2424[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "๕-สกุล ณ นคร เชื้อสาย พระยาเสนานุชิต (นุช)". หนังสือวงศ์สกุลเดิม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ "พังงาประชุมการบูรณปฏิสังขรณ์อัฐเจดีย์เจ้าเมืองพังงา พระยาบริรักษ์ภูธร(แสง ณ นคร,ขำ ณ นคร)เพื่อแสดงมุฑิตาจิตสักการะ ๑๔๓ ปี". สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพังงา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ "ตะกั่วป่า แถลงข่าวสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองตะกั่วป่า พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร)". สวท.พังงา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน.[ลิงก์เสีย]