กบฏหวันหมาดหลี
กบฏหวันหมาดหลี หรือ กบฏไทรบุรี พ.ศ. 2381-82 เป็นการกบฏของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตสุลต่านอะฮ์มัด ตาจุดดิน ฮาลิม ชะฮ์ที่ 2 (Ahmad Tajuddin Halim Shah) แห่งไทรบุรี หรือตวนกูปะแงหรัน (Tunku Pengeran) เป็นความพยายามในการกอบกู้รัฐไทรบุรีจากการปกครองของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้นำการกบฏในครั้งนี้ได้แก่ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) และตนกูมูฮาหมัดทาอิบ (Tunku Muhammad Taib) สองพี่น้องผู้เป็นหลานชายของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรัน ร่วมมือกับหวันมาลี (Wan Mali) ซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามัน เข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ใน พ.ศ. 2381 จากนั้นยึดได้เมืองตรังและเข้ารุกรานเมืองสงขลาและปัตตานี
กบฏหวันหมาดหลี | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
การปราบปรามและการสู้รบของกรุงรัตนโกสินทร์กับเจ้าเมืองปัตตานี | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ จักรวรรดิบริติช | รัฐไทรบุรี | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สุลต่านอะฮ์มัด ตาจุดดิน ฮาลิม ชะฮ์ที่ 2 (ตวนกูปะแงหรัน) |
เหตุการณ์นำ
แก้สุลต่านอะฮ์มัด ตาจุดดิน ฮาลิม ชะฮ์ (Ahmad Tajuddin Halim Shah) แห่งไทรบุรี หรือตวนกูปะแงหรัน (Tunku Pengeran) แข็งเมืองไม่ขึ้นต่อสยามและหันไปสร้างสัมพันธไมตรีกับฝ่ายพม่า[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำทัพเข้ายึดไทรบุรีใน พ.ศ. 2364 เมื่อพระยานครฯ (น้อย) เข้ายึดไทรบุรีแล้ว สุลต่านตวนกูปะแงหรันเดินทางหลบหนีไปยังเกาะปีนัง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (ไทรบุรีได้มอบเกาะปีนังให้แก่อังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2329) ฝ่ายสยามผนวกไทรบุรีเข้ามาปกครองโดยตรงขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช พระภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรชายของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทน ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรี หลังจากที่สยามเข้ายึดเมืองไทรบุรีแล้ว มีชาวมลายูไทรบุรีจำนวนมากรวมทั้งเชื้อวงศ์ของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันหลบหนีไปยังเกาะลังกาวี[2] ในปีต่อมา พ.ศ. 2365 เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ยกทัพเรือเข้าโจมตีและยึดเกาะลังกาวีได้สำเร็จ[2] หวันมูฮาหมัดอาลี (Wan Muhammad Ali) ผู้เป็นบุตรชายของผู้ปกครองเกาะลังกาวี หลบหนีจากเกาะลังกาวีไปยังหมู่เกาะมะริดและตะนาวศรี[2] ในขณะที่ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) หลานชายของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันหลบหนีไปยังแขวงเมืองอาเจะฮ์เกาะสุมาตรา[2]
สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ระหว่างสยามและอังกฤษในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2369 อังกฤษยอมรับอำนาจของสยามเหนือไทรบุรี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้สยามงดเว้นการรุกรานรัฐเปรักและเซอลาโงร์ ตามสัญญาข้อที่สิบสาม อังกฤษให้สัญญาเรื่องการวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างสยามและไทรบุรี สัญญาว่าจะนำตัวอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันออกจากเกาะปีนังไปพำนักที่อื่น และจะไม่ให้การสนับสนุนแก่กองกำลังของอดีตสุลต่านแห่งไทรบุรีในการกบฏต่อสยาม แม้ว่าอังกฤษจะให้สัญญาเช่นนี้แล้ว แต่เกาะปีนังและทะเลอันดามันยังคงเป็นแหล่งของผู้ที่สนับสนุนอดีตสุลต่านในการกอบกู้รัฐไทรบุรี[3]
ใน พ.ศ. 2374 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตนกูกูเด่น (Tunku Kudin) ผู้เป็นบุตรของพี่ชายอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรัน ยกทัพทางบกจากโปรวินซ์เวลส์เลย์เข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์เมืองหลวงของไทรบุรีได้สำเร็จ พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีหลบหนีมาอยู่ที่พัทลุง ฝ่ายหัวเมืองปัตตานีห้าหัวเมืองจากเจ็ดหัวเมืองนำโดยต่วนสุหลง (Tuan Sulong) เจ้าเมืองปัตตานี เมื่อถูกเกณฑ์กำลังพลไปสู้รบกับไทรบุรีจึงก่อการกบฏขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู เจ้าพระยานครฯ (น้อย) สามารถยึดเมืองอาโลร์เซอตาร์คืนมาได้ตนกูกูเด่นฆ่าตัวตาย และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เข้ายึดเมืองปัตตานีได้ หลังจากการกบฏหัวเมืองมลายูใน พ.ศ. 2375 ทางฝ่ายอังกฤษจึงบังคับให้อดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันย้ายจากเกาะปีนังไปพำนักที่เมืองมะละกา
ใน พ.ศ. 2380 กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้าเมืองข้าราชการกรมการต่าง ๆ ในหัวเมืองภาคใต้รวมทั้งเจ้าพระยานครฯ (น้อย) และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ต่างอยู่ที่กรุงเทพฯเพื่อร่วมพระราชพิธี โดยมีพระวิชิตสรไกร (กล่อม) และพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เป็นผู้รักษาเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลาตามลำดับ กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันจึงอาศัยโอกาสนี้ในการกอบกู้รัฐไทรบุรี หวันมูอาหมัดอาลีบุตรของผู้ครองเกาะลังกาวี หรือหวันหมาดหลี หรือหวันมาลี (Wan Mali) ได้ตั้งตนขึ้นเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามันประกอบด้วยกองกำลังของขาวมลายูและชาวอูรักลาโว้ย โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่เกาะยาวในแขวงเมืองถลาง รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเตรียมทัพฝ่ายไทรบุรีปรากฏในบันทึกของนายเชอราร์ด ออสบอร์น (Sherard Osborn) แม่ทัพเรือชาวอังกฤษผู้นำเรือเข้าล้อมเมืองไทรบุรี ในหนังสือชื่อเรื่องว่า The Blockade of Kedah in 1838: A Midshipman’s Exploits in Malayan Waters[4] ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2400 ตนกูมูฮาหมัดซาอัดซึ่งได้หลบหนีไปยังแขวงเมืองอาเจะฮ์ได้จัดตั้งกองกำลังขึ้นอย่างเป็นความลับที่บาตูปูเตะ (Batu Puteh) บนเกาะสุมาตราใกล้กับเมืองอาเจะฮ์ ประกอบด้วยกำลังพล 2,000 คน[4]และเรือ 40 ลำ โดยได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธยุทโปกรณ์จากชาวมลายูและพ่อค้าชาวอังกฤษบนเกาะปีนังซึ่งให้การสนับสนุนแก่อดีตสุลต่าน
การสู้รบ
แก้กบฏยึดเมืองไทรบุรี
แก้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2381 ตนกูมูฮาหมัดซาอัดอาศัยจังหวะซึ่งทัพเรือของอังกฤษที่รักษาเกาะปีนังนั้นย้ายไปทำการปราบโจรสลัดที่ตรังกานู[4] ยกทัพเรือจากเกาะสุมาตรามายังเซอเบอรังเปอไร (Seberang Perai) หรือโปร์วินซ์เวลส์เลย์ซึ่งเป็นเขตแดนของประเทศอังกฤษ สมทบกับกองกำลังโจรสลัดของหวันมาลี ตนกูมูฮาหมัดซาอัดป่าวประกาศร้องเรียกให้ชาวมลายูผู้สนับสนุนอดีตสุลต่านฯออกมารวบรวมเป็นกองกำลังที่แม่น้ำมุดา (Muda River) และแม่น้ำเมอร์บก (Merbok River) ซึ่งเป็นเขตแตนรอยต่อระหว่างไทรบุรีและโปร์วินซ์เวลส์เลย์ ในเดือนพฤษภาคมตนกูมูฮาหมัดทาอิบ (Tunku Muhammad Taib) ผู้เป็นน้องชายของตนกูซาอัด[5] นำกองกำลังชาวมลายูตั้งขึ้นที่แม่น้ำเมอร์บกรวมกับทัพของตนกูซาอัดได้กำลัง 1,000 คน ตนกูซาอัดยกทัพมลายูเข้าโจมตีป้อมกัวลาเกอดะฮ์ (Kuala Kedah) หรือป้อมปากน้ำไทรบุรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2381 โดยที่ฝ่ายสยามไม่ทันตั้งตัว นำไปสู่การรบที่กัวลาเกอดะฮ์ ส่วน พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีในขณะนั้นรวบรวมกำลังพลจัดตั้งทัพขึ้นประกอบด้วยชาวไทยได้ 200 คน ได้ชาวมลายู 800-900 คน มาตั้งรับ ในชั้นแรกฝ่ายสยามสามารถป้องกันป้อมปากน้ำไทรบุรีไว้ได้ ตนกูซาอัดจึงเข้ายึดป้อมปากน้ำไม่สำเร็จ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ตนกูทาอิบได้นำตัวครอบครัวของทหารชาวมลายูซึ่งป้องกันป้อมอยู่ฝ่ายสยาม ประกอบด้วยเด็กสตรีและคนชรามาเดินนำหน้าทัพ เมื่อเด็กสตรีและคนชราเหล่านั้นถูกสังหารในที่รบ ทำให้ทหารฝ่ายมลายูซึ่งอยู่ฝ่ายสยามแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายกบฏ ตนกูทาอิบจึงเข้ายึดป้อมปากน้ำไทรบุรีได้ พระยาอภัยธิเบศร์และทัพสยามจึงล่าถอยกลับเข้าเมืองอาโลร์เซอตาร์ ทัพฝ่ายมลายูของตนกูซาอัดและตนกูทาอิบเข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์ได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2381 พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) รวมทั้งพระเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีผู้เป็นน้องชายและครอบครัวหลบหนีไปยังกูปังบาซู และหลบหนีต่อไปจนถึงเมืองพัทลุงในที่สุด
การรบฝั่งอันดามัน
แก้เมื่อยึดเมืองอาโลร์เซอตาร์ไว้ได้แล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2381 ตนกูมูฮาหมัดซาอัดจึงส่งหวันมาลี หรือเจ๊ะหมัดอาลี ยกทัพเรือไปยึดเมืองปะลิส ยึดเกาะลังกาวี และยกทัพเรือจำนวน 95 ลำ 1,000 คน[6] เข้าโจมตีเมืองตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ต่อเรือของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) นำไปสู่การยึดเมืองตรัง พระสงครามวิชิตเจ้าเมืองตรังนำทัพออกสู้รบกับทัพของหวัดมาลีที่ปากน้ำพระม่วงและเขาราชสีห์[6]แต่ชาวมลายูซึ่งอยู่ด้านหลังเขาโจมตีกระหนาบหลังทำให้ทัพของพระสงครามวิชิตแตกพ่ายไป หวันมาลีจึงสามารถเข้ายึดเมืองตรังได้ กวาดต้อนผู้คนเมืองตรังไปอยู่ที่เกาะลังกาวี
เมื่อเข้ายึดไทรบุรีได้แล้ว ฝ่าายกบฏนำโดยตนกูซาอัดได้เชิญตนกูอับดุลเลาะฮ์ (Tunku Abdullah) ผู้เป็นบุตรชายคนโตของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันมาเข้าร่วมขบวนการในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2381 โดยตนกูอับดุลเลาะฮ์ตั้งอยู่ที่บ้านตะพานช้างหรืออาลูร์กานู (Alur Ganu) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2382 หวันมาลียกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองสตูลปล้นสะดมนำอาหารเสบียงไป[6]
ฝ่ายอังกฤษเมื่อทราบว่าผู้สนับสนุนอดีตสุลต่านเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้สำเร็จ นายจอร์จ บอแนม (George Bonham) เจ้าเมืองสิงคโปร์และผู้ปกครองอาณานิคมช่องแคบได้เดินทางมายังเกาะปีนังและส่งเรือรบอังกฤษจำนวนสี่ลำ[4]ได้แก่ เรือไฮยาซินท์ (HMS Hyacinth) เรือเพิร์ล (HMS Pearl) เรือเอเมอราลด์ (HMS Emerald) และเรือไดมอนด์ (HMS Diamond) นำโดยกัปตันเชอราร์ด ออสบอร์น (Sherard Osborn) เข้าปิดกั้นกัวลาเกอดะฮ์หรือปากน้ำเมืองไทรบุรีในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2381 เพื่อปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายกบฏไทรบุรียกทัพเรือออกทางทะเลและตัดการติดต่อระหว่างไทรบุรีและเกาะปีนัง แต่เรือรบอังกฤษไม่ได้โจมตีหรือสู้รบกับฝ่ายมลายูไทรบุรีแต่อย่างใด เมื่ออังกฤษเข้ามาปิดปากน้ำ ตนกูซาอัดจึงมาประจำการณ์ที่ป้อมปากน้ำเพื่อคอยระวังท่าทีของอังกฤษ
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)[7] เจ้าเมืองตรัง กลับมาถึงก็ระดมกำลังทหารตั้งค่ายอยู่ที่ ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง (ในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมยกโอบไปตีหวันหมาดหลีซึ่งยึดชัยภูมิอยู่ที่ควนธานี โดยส่งกองกำลังลำเลียงไปทางคลองลำเลียง เมื่อหวันหมาดหลีทราบข่าวว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) ยกทัพมา ประกอบกับรับรู้ถึงกิตติศัพท์การออกทัพจับศึกของเจ้าพระยานคร (น้อย) ว่าเก่งกาจ จึงถอยร่นหนีไป
การรบที่สงขลาและปัตตานี
แก้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2381 ตนกูมูฮาหมัดซาอัดส่งตนกูมูฮาหมัดทาอิบ และตนกูมูฮาหมัดยิหวา (Tunku Muhammad Jiwa) นำทัพจำนวน 3,000 คน จากไทรบุรีไปทางเหนือเข้ารุกรานเมืองสงขลา ฝ่ายเมืองสงขลาพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้รักษาเมืองสงขลาส่งพระยาไชยานอกราชการยกทัพจากเมืองสงขลาจำนวน 800 คน เข้าสู้รบกับทัพของตนกูทาอิบ ตนกูทาอิบถอยไปอยู่ที่สะเดา[6] ในขณะที่พระยาไชยานอกราชการคอยตั้งรับอยู่ที่บ้านปริก ตนกูทาอิบส่งทัพแยกย้ายกระจายไปตั้งตามที่ต่าง ๆ ได้แก่ ปังลิมาโปปและปังลิมามระ ตั้งอยู่ที่บ้านสะเดา จำนวน 1,000 คน โต๊ปดังตั้งที่ยางงาม 300 คน โต๊ะนุเระอยู่ที่ตะพานสูง 400 คน ปังลิมาที่สบาเพน 300 คน ตนกูยิหวาตั้งที่ทุ่งบ้านโพธิ์ 1,000 คน
ข่าวการกบฏของไทรบุรีไปถึงกรุงเทพฯในเดือนกันยายนพ.ศ. 2381 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) รีบเดินทางลงมาเพื่อป้องกันเมืองของตน รวมทั้งมีพระราชโองการให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองชุมพร เมืองไชยา และเมืองปะทิว เพื่อนำไปสู้รบกับฝ่าบกบฏอีกด้วย พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เดินทางถึงเมืองสงขลาในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2381 ยกทัพจากเมืองสงขลาประกอบไปด้วยคนไทยและคนจีนออกไปพร้อมกับพระยายะหริ่ง (พ่าย) เจ้าเมืองยะหริ่ง และพระยาสาย (ต่วนหนิดะ) เจ้าเมืองสาย ไปตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ พระยาสงขลาส่งพระยายะหริ่ง (พ่าย) และพระยาสาย (ต่วนหนิดะ) ยกทัพสยามเข้าโจมตีทัพของตนกูทาอิบที่สะเดาแตกพ่ายและถอยร่นไปอยู่ที่ทุ่งโพธิ์ฝั่งไทรบุรี พระยายะหริ่งและพระยาสายยกทัพติดตามตนกูทาอิบไปที่ทุ่งโพธิ์แต่ฝ่ายมลายูวกโจมตีด้านหลังตัดเส้นทางเสบียง พระยายะหริ่งและพระยาสายจึงถอยกลับมาอยู่ที่คลองหินเหล็กไฟ ตนกูทาอิบยกทัพติดตามกลับมาโจมตีทัพของฝ่ายสยามที่คลองหินเหล็กไฟ พระยายะหริ่งและพระยาสายแบ่งทัพกระจายออกไปตั้งรับที่เขาลูกช้าง (ปัจจุบันคือเขารูปช้าง) เขาเก้าเส้ง และที่คลองสำโรง คุมเชิงกันอยู่
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2381 ตนกูทาอิบได้แบ่งทัพ 300 คน นำโดยตนกูมูฮาหมัดยิหวาไปทางตะวันออกเข้าโจมตีเมืองจะนะ ในเวลานั้นเจ้าเมืองจะนะคือพระยาจะนะ (บัวแก้ว) ไม่อยู่ไปราชการที่สงขลา ปลัดเมืองจะนะเป็นผู้รักษาป้องกันเมือง ฝ่ายไทรบุรีสามารถเข้ายึดเมืองจะนะได้และเผาทำลายเมือง จากนั้นจึงยกไปตั้งอยู่ที่บ้านนาเกลี้ยกล่อมเมืองเทพาและหนองจิกให้เข้าร่วมการกบฏ เมืองหนองจิกจึงเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ[6] ตนกูยิหวายกทัพต่อเข้าโจมตีเมืองปัตตานี พระยาระแงะ (ตุวันบอซู) และพระพิทักษ์ธานีเมืองสายสามารถป้องกันเมืองปัตตานีไว้ได้ ตนกูยิหวาถอยร่นออกไป ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2382 พระยาสงขลาส่งหลวงไชยสุรินทร์ยกทัพ 500 คน ไปโจมตีทัพฝ่ายมลายูของตนกูยิหวาที่บ้านนา ตนกูยิหวาเอาชนะหลวงไชยสุรินทร์ได้ หลวงไชยสุรินทร์จึงถอยกลับมาตั้งอยู่ที่ปลักแรด (ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ) ตนกูยิหวายกทัพติดตามมาสู้รบที่ปลักแรด พระยาสงขลาให้กำลังเสริมแก่หลวงไชยสุรินทร์ที่ปลักแรด 500 คน หลวงไชยสุรินทร์จึงต้านทานตนกูยิหวาได้ คุมเชิงกันอยู่อีกเช่นกัน
ในเดือนกุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ[6]ว่าสถานการณ์ทางเมืองสงขลาและปัตตานีไม่สู้ดี จึงมีพระราชโองการให้พระวิชิตณรงค์และพระราชวรินทร์นำทัพเรือจำนวน 700 คน ยกลงไปช่วยเมืองสงขลา พระวิชิตณรงค์โดยสารเรือกำปั่นแกล้วกลางสมุทรและพระราชวรินทร์ลงเรือกำปั่นอีกลำหนึ่งยกทัพไปจากกรุงเทพฯในเดือนกุมภาพันธ์ และในเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) และเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพเรือออกไปช่วยปราบกบฏทางใต้อีกทัพหนึ่ง
สยามยึดไทรบุรีคืน
แก้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เดินทางถึงเมืองนครศรีธรรมราชในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2382 ประสบกับปัญหาขาดแคลนกำลังพล ไพร่พลที่จะเกณฑ์มาจาก ชุมพร ไชยา และปะทิว ยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ใช้เวลารวบรวมไพร่พลจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงและส่งคนไปซื้อเรือรบจากสิงคโปร์ รวมทั้งส่งพระยาวิชิตภักดีเจ้าเมืองไชยานำทัพไปตั้งที่เมืองพังงาเพื่อคอยสังเกตการณ์ทางภูเก็ต จนกระทั่งในเดือนมีนาคม เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งล้มป่วยมาตั้งแต่กรุงเทพฯต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่นครศรีธรรมราชไม่สามารถนำทัพเองได้ จึงมอบหมายให้บุตรชายทั้งสามคือพระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรี พระเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรี และพระวิชิตสรไกร (กล่อม) นำทัพเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงจำนวน 3,995 คน[6] ยกลงไปทางใต้พบกับทัพของตนกูมูฮาหมัดซาอัดที่สะเดา ฝ่ายตนกูซาอัดมีกองกำลังเพียง 500 คนจึงแตกพ่ายหนีไป โดยที่ตนกูซาอัดเหลือกองกำลังติดตามตัวเพียง 50 คนเท่านั้นและถอยไปตั้งรับที่กูปังบาซู พระยาอภัยธิเบศร์ พระเสนานุชิต และพระวิชิตสรไกร ยกทัพฝ่ายสยามเข้าโจมตีเมืองกูปังบาซู และสามารถเข้ายึดเมืองกูปังบาซูได้สำเร็จ ฝ่ายตนกูซาอัดเมื่อเสียเมืองกูปังบาซูแล้วจึงถอยไปอยู่ที่ตะพานช้างและมีคำสั่งให้ตนกูมูฮาหมัดทาอิบและตนกูมูฮาหมัดยิหวาถอนกำลังถอยออกจากสงขลามาช่วยต้านทัพของนครศรีธรรมราช
ในเดือนมีนาคม พระยาสงขลาให้นำปืนใหญ่จ่ารงค์ขึ้นไปไว้บนเขาลูกช้าง ระดมยิงใส่ค่ายทหารต่าง ๆ ของตนกูมูฮาหมัดทาอิบ ถูกหอรบพังทลายลงห้าหอและถูกชาวมลายูเสียชีวิตจำนวนมาก พระยายะหริ่ง (พ่าย) พระยาสาย (ต่วนหนิดะ) และหลวงไชยสุรินทร์ ยกทัพเข้าโจมตีค่ายต่าง ๆ ของฝ่ายไทรบุรีจนแตกพ่ายไป เมื่อทัพเรือของพระวิชิตณรงค์และพระราชวรินทร์มาถึงเมืองสงขลาในเดือนมีนาคมพบว่าทางทัพของฝ่ายไทรบุรีได้ถอยไปจากสงขลาแล้ว
ทัพนครศรีธรรมราชเข้าโจมตีค่ายตะพานช้างทางเหนือของเมืองอาโลร์เซอตาร์ ตนกูอับดุลเลาะฮ์และตนกูมูฮาหมัดทาอิบไม่สามารถป้องกันค่ายได้แตกพ่ายไป ทัพนครศรีธรรมราชเข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์ เมืองหลวงของไทรบุรีได้ในเดือนมีนาคมนั้น การกบฏจึงสิ้นสุดลง
ผลลัพธ์
แก้หลังจากที่ฝ่ายสยามเข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์และรัฐไทรบุรีคืนได้แล้ว บรรดาผู้นำการกบฏในครั้งนี้ต่างหลบหนีไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตนกูมูฮาหมัดซาอัดหลบหนีไปยังเซอเบอรังเปอไรหรือโปร์วินซ์เวลส์เลย์ซึ่งเป็นเขตแดนของอังกฤษ หวันมาลีหลบหนีไปยังเกาะลังกาวี และหลบหนีต่อไปยังหมู่เกาะมะริด จากนั้นไม่ปรากฏตัวอีกเลย[2] ตนกูอับดุลเลาะฮ์หลบหนีไปยังเกาะปีนังและมอบตัวให้แก่ทางการอังกฤษ ตนกูมูฮาหมัดทาอิบหลบหนีไปยังเมืองมะละกา ใน พ.ศ. 2383 ตนกูมูฮาหมัดซาอัดถูกทางการอังกฤษจับกุมในข้อหาโจรสลัด[8] แม้ว่าทางการอังกฤษตัดสินให้ตนกูมูฮาหมัดซาอัดพ้นข้อกล่าวหาแต่ก็ถูกบังคับให้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ยังเมืองกัลกัตตาของบริติชอินเดีย (ในเวลาต่อมาตนกูซาอัดได้รับอนุญาตให้กลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะปีนัง)
ทัพเรือของพระวิชิตณรงค์และทัพเรือของพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) มาถึงเมืองสงขลาหลังจากที่การกบฏจบสิ้นลงแล้ว แต่จะมีบทบาทในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองกลันตันซึ่งเกิดขึ้นต่อมาในปีพ.ศ. 2382
เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมที่นครศรีธรรมราชในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2382 เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค) เข้ามาเป็นผู้จัดการปกครองของหัวเมืองมลายูเสียใหม่ โดยแต่งตั้งให้ผู้ที่ได้รับความนับถือในหมู่ชาวมลายู[6]ขึ้นเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ แทนที่จะให้ฝ่ายสยามเข้าปกครองโดยตรงดังเช่นที่เป็นในยุคสมัยของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ตนกูอาหนุ่ม (Tunku Anom) ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันขึ้นเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี รัฐไทรบุรีถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนได้แก่สตูล ปะลิส กูปังบาซู และไทรบุรีเดิม ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแก่กรุงเทพฯ ต่อมาใน พ.ศ. 2384 อดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันส่งตนกูอับดุลเลาะฮ์หรือตนกูดาอี (Tunku Daik) ผู้เป็นบุตรชายคนโตมายังกรุงเทพฯ เพื่อเจรจาขอให้อดีตสุลต่านฯ กลับมาครองรัฐไทรบุรีดังเดิม หลังจากที่หลบหนีออกจากเมืองไทรบุรีเป็นเวลาประมาณยี่สิบปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้อดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันหวนคืนสู่ตำแหน่งเจ้าเมืองไทรบุรีอีกครั้งในที่สุดใน พ.ศ. 2385 เป็นเจ้าประเทศราชถวายบรรณาการแก่กรุงเทพฯดังเดิม
อ้างอิง
แก้- หนังสือตรัง โดย ยืนหยัด ใจสมุทร สำนักพิมพ์มติชน (พ.ศ. 2539) ISBN 974-7115-60-3[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ (จัน)[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- อริน, คอลัมน์ พายเรือในอ่าง, นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 395 วันที่ 19-25 มกราคม พ.ศ. 2556 หน้า 13
- ↑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Maziar Mozaffari Falarti (2013). Malay Kingship in Kedah: Religion, Trade, and Society. Rowman & Littlefield.
- ↑ Wynne, Mervyn Llewelyn (2000). Triad Societies: Western Accounts of the History, Sociology and Linguistics of Chinese Secret Societies. Taylor & Francis.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Stearn, Duncan. Slices of Thai History: From the curious & controversial to the heroic & hardy. Proglen Trading Co
- ↑ continued from the previous page.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 กรมศิลปากร. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ. พุทธศักราช ๒๕๓๐.
- ↑ siamsouth from the previous page.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Naval War College (U.S.). (1988). International Law Studies. U.S. Government Printing Office.