เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)
พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา พระนามเดิม หนู เป็นพระมหากษัตริย์นครศรีธรรมราช ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และเป็นพระเจ้าประเทศราชนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พระเจ้านครศรีธรรมราช | |||||||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2319 – พ.ศ. 2325 | ||||||||
ราชาภิเษก | 15 กันยายน พ.ศ. 2319 | ||||||||
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้านราสุริยวงศ์ | ||||||||
รัชกาลถัดไป | ลดจากประเทศราชลงเป็นหัวเมือง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) | ||||||||
เจ้านครศรีธรรมราช | |||||||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2310–2312 | ||||||||
ก่อนหน้า | พระองค์เอง (ในฐานะเจ้าเมือง) | ||||||||
ถัดไป | พระเจ้านราสุริยวงศ์ | ||||||||
พระชายา | หม่อมทองเหนี่ยว | ||||||||
พระราชบุตร | เจ้าหญิงชุ่ม กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เจ้าจอมมารดาปราง เจ้าจอมมารดาจวน เจ้าหญิงสั้น เจ้าหญิงนวล | ||||||||
|
ประวัติ
แก้พระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นเชื้อสายขุนนางกรุงศรีอยุธยา มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อพระยาวิชิตณรงค์ ต่อมาได้รับราชการมีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก ต่อมาพระยาราชสุภาวดีนครฯ (พระยาราชสุภาวดีละคร) ลงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลวงสิทธิ์นายเวรจึงได้เป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชในคราวนั้น หลวงสิทธิ์นายเวร (หนู) สมรสกับหม่อมทองเหนียว ซึ่งเป็นธิดาของจีนปาด[1] ต่อมาเมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถูกเรียกให้ยกทัพเข้าไปช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา ในการรุกรานของพม่าเมื่อพ.ศ. 2308 แล้วมีความผิดและถูกถอด พระปลัด (หนู) จึงรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไว้อยู่
ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร จัดตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราชขึ้น มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู เจ้าพระยานครฯ (หนู) แต่งตั้งหลวงฤทธิ์นายเวร (จันทร์) ซึ่งเป็นหลานเขยของตนเองและเป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) เป็นอุปราช แต่งตั้งนายวิเถียน ซึ่งเป็นญาติของตนเอง เป็นเจ้าเมืองสงขลา และแต่งตั้งให้หลานชายของตนเองไปเป็นพระยาพัทลุงเจ้าเมืองพัทลุง[2] ต่อมาพ.ศ. 2312 หลานของเจ้าพระยานคร (หนู) ที่เป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้เสียชีวิตลง เจ้าพระยานครฯ (หนู) จึงแต่งตั้งให้พระพิมล (ขัน) สามีของคุณหญิงจันเป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อมา[2]
เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นแม่ทัพ และมีแม่ทัพอื่นๆได้แก่ พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และพระยาศรีพิพัฒน์ เจ้าพระยานคร (หนู) ส่งทัพเมืองนครฯไปรบกับทัพธนบุรีที่ท่าหมาก นำไปสู่การรบที่ท่าหมาก ซึ่งฝ่ายนครศรีธรรมราชได้รับชัยชนะ แม่ทัพธนบุรีพระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ถูกสังหารในที่รบ[3]
สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพเรือด้วยพระองค์เอง ทัพเรือหลวงจำนวน 10,000 คน[3] ยกออกจากธนบุรีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2312 พระยายมราชธนบุรีเข้าตีทัพฝ่ายเมืองนครฯที่ท่าหมากแตกพ่ายไป แล้วนำทัพธนบุรีเข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (หนู) มอบหมายให้อุปราชจันทร์นำทัพเมืองนครฯออกต่อสู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งเจ้าขรัวเงินซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับอุปราชจันทร์ มาเจรจาเกลี้ยกล่อมให้อุปราชจันทร์ยอมสวามิภักดิ์ต่อธนบุรี[4] อุปราชจันทร์พ่ายแพ้ให้แก่ทัพธนบุรีในการรบที่ท่าโพ[5]ทางเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) ต้องพาครอบครัวรวมทั้งบุตรเขยคือเจ้าพัฒน์หลบหนีไปยังเมืองสงขลา สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 10[3] (21 กันยายน พ.ศ. 2312) หลวงสงขลา (วิเถียน) นำเจ้าพระยานคร (หนู) พร้อมทั้งครอบครัว และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) เดินทางหลบหนีไปยังเมืองปัตตานี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยกทัพเรือติดตามเจ้าพระยานครฯ (หนู) และพระยาพิชัยราชายกทัพติดตามทางบก เจ้าพระยาจักรี (หมุด) มีหนังสือถึงสุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานี ขอให้ส่งตัวเจ้าเมืองทั้งสามให้แก่ฝ่ายธนบุรี สุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานี[6]จึงยินยอมส่งตัวเจ้าพระยานครฯ (หนู) เจ้าพัฒน์ หลวงสงขลา (วิเถียน) และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) ให้แก่เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยานครฯ (หนู) จึงถูกจับกุมและนำตัวพร้อมครอบครัวไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ขุนนางธนบุรีปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตเจ้าพระยานคร (หนู) แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไม่เห็นด้วย เนื่องจากเจ้าพระยานครฯ (หนู) ไม่ได้เป็นข้าฯของพระองค์มาก่อน ต่างคนต่างเป็นใหญ่ไม่ถือว่าเป็นกบฏ[1] ให้กลับไปพิจารณาความที่ธนบุรีใหม่อีกครั้ง[3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งพระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา โดยมีพระยาราชสุภาวดีนครฯ อดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระศรีไกรลาศ เป็นผู้กำกับราชการ[3] ชุมนุมนครศรีธรรมราชจึงสิ้นสุดลงและถูกผนวกรวมเข้ากับธนบุรีในที่สุด
เจ้าพระยานครฯ (หนู) พร้อมครอบครัวถูกนำตัวไปยังกรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2313 เจ้าพระยานครฯ (หนู) อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรีเป็นเวลาเจ็ดปี โดยที่บุตรสาวคือท่านหญิงฉิมและท่านหญิงปรางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในพ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยานคร (หนู) อดีตผู้นำชุมนุมนครศรีธรรมราช ให้พระเจ้านครศรีธรรมราช กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา ดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าประเทศราช[7] รับสั่งเมื่อวันอังคารขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11[8] (15 กันยายน พ.ศ. 2319)
ครั้งพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองๆนครหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมา ก็ได้พึ่งพาอาไศรยสัปยุทธชิงไชยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ ขัณฑสิมาก็จะระส่ำระสายเปนไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิ กฤษฎานุภาพคงขัติยราชผู้หนึ่ง ครั้งนี้ ราชธิดาก็ได้ราชโอรส ฝ่ายพระยานครก็ได้ไปตามเสด็จพระราชดำเนินช่วยทำการยุทธชิงไชยเหมมันพม่าข้าศึก...ฝ่ายเจ้านราสุริวงษ์สวรรค์ครรไล ควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้านราสุริวงษ์สืบไป แลซึ่งจะบำรุงพระเกียรติยศนั้น ฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาฝ่ายซึ่งผู้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน
โดยมีเจ้าพัฒน์ผู้เป็นบุตรเขยเป็นที่อุปราช นอกจากนี้เจ้าจอมมารดาฉิมยังได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระมเหสีฝ่ายซ้าย กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ประสูติพระโอรสคือเจ้าฟ้าทัศพงษ์ เจ้าฟ้าทัศไพ เจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร และพระธิดาคือเจ้าฟ้าปัญจปาปี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้เกียรติยศอย่างเจ้าประเทศราชรับพระโองการ ส่วนหม่อมทองเหนียวเป็นพระมเหสีรับพระเสาวณีย์[9] มีขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นของตนเอง ที่ว่าราชการเรียกว่า ท้องพระโรง[1]
ในพ.ศ. 2320 เจ้าพระยานครฯ (หนู) มีหนังสือกราบทูลฯสมเด็จพระเจ้าตากสินขอให้ทรงแต่งทัพไปปราบหัวเมืองมลายู สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตอบว่าราชการสงครามกับพม่ายังคงติดพันอยู่ ให้สงครามกับพม่าแล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะให้เมืองนครศรีธรรมราชออกไปตีมลายู[5]
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำริว่าเกียรติยศของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมากเกินไป จึงมีพระราชโองการให้ลดยศของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชดังเดิม[10] ทางกรุงเทพฯได้ส่งข้าหลวงมายังเมืองนครศรีธรรมราชทำการสักเลกปรากฏว่าสักได้น้อยกว่าแต่ก่อน อุปราชพัฒน์ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้าพระยานครฯ (หนู) เดินทางไปที่กรุงเทพฯ ฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ (หนู) ว่าแก่ชราว่าราชการฟั่นเฟือนไป[1] ทรงมีตราให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) ไปเข้าเฝ้าที่กรุงเทพสองครั้ง เจ้าพระยานครฯ (หนู) ก็บิดพลิ้วเสียไม่ไปตามพระราชโองการ[10] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงปลดเจ้าพระยานครฯ (หนู) ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในพ.ศ. 2327[10] โปรดฯให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) เข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ และทรงแต่งตั้งอุปราชพัฒน์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่
...พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาผ่านพิภพ เสนามุขลูกขุนปฤกษาให้เจ้านครถอยยศลดเสนาบดีลงเสีย ฝ่ายเจ้านครก็หามีความชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อแผ่นดินไม่ แต่หากว่าทรงพระเมตตาเห็นว่า เปนผู้ใหญ่ ประหนึ่งจะมีความคิดเห็นผิดแลชอบ จะตั้งใจทำราชการแผ่นดินโดยสุจริต จึงให้คงว่าราชการรั้งเมืองครองเมืองสืบมา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งจำเภาะให้เจ้านครเกณฑ์เลขเข้ามาร่อนทอง เจ้านครมิได้จัดแจงกะเกณฑ์เลขให้ครบตามเกณฑ์ ให้ข้าหลวงไปสักเลขเมืองนคร ก็ได้เลขสักน้อยต่ำลงกว่าจำนวนสักแต่ก่อน แล้วมีตรารับสั่งให้หาเจ้านครเข้ามาคิดราชการถึงสองครั้ง ก็บิดพลิ้วมิได้เข้ามา เห็นว่า เจ้านครหาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ขวนขวายทำราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา เจ้านครผิด ประการหนึ่ง เจ้านครก็แก่ชราพฤฒิภาพ เกลือกมีการณรงค์สงครามทำมิได้จะเสียราชการไป จะให้เจ้านครคงว่าราชการเมืองนครสืบไปมิได้ ละไว้จะเปนเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน ให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านครศรีธรรมราช เอาตัวเข้ามาใช้ราชการณกรุง...
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) รับราชราชในกรุงเทพได้ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) บุตรเขยได้เข้าไปรับอัฐิทั้งของพระเจ้านครศรีธรรมราชและหม่อมทองเหนี่ยว ซึงถึงแก่กรรมในเวลาไล่เลี่ยกัน ออกไปก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดแจ้งวรวิหาร เมืองนครศรีธรรมราช[1][11]
พระราชธิดา
แก้พระเจ้านครศรีธรรมราช มีพระราชธิดากับหม่อมทองเหนี่ยว ธิดาจีนปาด 6 พระองค์
- เจ้าหญิงชุ่ม เป็นภรรยาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์ ณ นคร) [12]
- กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เป็นพระมเหสีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- เจ้าจอมมารดาปราง เดิมเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) มีพระราชโอรส 1 พระองค์
- เจ้าจอมมารดาจวน เดิมเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) มีพระราชโอรส 1 พระองค์
- เจ้าหญิงสั้น ภริยาพระยาวิเศษสุนทร (นาคนกเล็ก)
- เจ้าหญิงนวล ภรรยาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์)
และมีภรรยากับอนุภรรยาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่[13]
- หม่อมทองอยู่
- พระรามคำแหง
- แม่ม่วง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๓ พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช.
- ↑ 2.0 2.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ พงษาวดารเมืองพัทลุง
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
- ↑ 5.0 5.1 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
- ↑ Bradley, Francis R. Forging Islamic Power and Place: The Legacy of Shaykh Daud bin ‘Abd Allah al-Fatani in Mecca and Southeast Asia. University of Hawaii Press; พ.ศ. 2558.
- ↑ บทที่ ๑ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) - มูลนิธิสกุล ณ นคร และสายสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 8.0 8.1 8.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
- ↑ พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
- ↑ 10.0 10.1 10.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
- ↑ "ประวัติสกุล ณ นคร - Nanagara". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-31. สืบค้นเมื่อ 2017-07-15.
- ↑ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สุนทร ธานีรัตน์, มกราคม 2546
- ↑ รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (PDF). พระนคร: รุ่งเรืองรัตน์. 2505. p. 66.