พระเจ้าจักกายแมง

พระเจ้าจักกายแมง (พม่า: ဘကြီးတော် บะจี้ดอ หรือ စစ်ကိုင်းမင်း ซะไก้ง์มี่น) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์โก้นบอง มีนโยบายขยายอำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ ทำให้มีปัญหากับอังกฤษ และนำไปสู่การเกิดสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง

พระเจ้าจักกายแมง
พระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงประชุมเสนาบดีเพื่อแย่งชิงเบงกอลจากจักรวรรดิบริติช พ.ศ. 2366
พระมหากษัตริย์พม่า
ครองราชย์5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 – 15 เมษายน พ.ศ. 2380[1]
ราชาภิเษก7 มิถุนายน พ.ศ. 2362
ก่อนหน้าพระเจ้าปดุง
ถัดไปพระเจ้าแสรกแมง
ประสูติ23 กรกฎาคม พ.ศ. 2327
สวรรคต15 ตุลาคม พ.ศ. 2389 (62 ปี)
มเหสีพระนางแมนุ
พระนามเต็ม
สิริ ตริภวนาทิตย์ บวรบัณฑิต มหาธัมมราชาธิราช
(သီရိ တြိဘဝနာဒိတျ ပဝရပဏ္ဍိတ မဟာဓမ္မရာဇာဓိရာဇာ)
ราชวงศ์ราชวงศ์โก้นบอง

การขึ้นครองราชย์ แก้

พระเจ้าจักกายแมงประสูติเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2327 เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง โดยเป็นพระราชโอรสของตะโดเมงสอพระโอรสองค์โตของพระเจ้าปดุงที่ได้เป็นรัชทายาท เมื่อพระราชบิดาของพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2351 พระเจ้าปดุงจึงแต่งตั้งพระเจ้าจักกายแมงซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งซะไกง์หรือ ซะไก้ง์มี่น ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน

เมื่อพระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2362 พระเจ้าจักกายแมงจึงขึ้นครองราชสมบัติแทนเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 ในขณะที่มีพระชนม์ 35 พรรษา พระองค์มีอัธยาศัยอ่อนโยนและมีความอ่อนแอด้วย ทำให้พระมเหสีคือพระนางแมนุ และพี่ชายของนางคือมี่นต้าจี้ สามารถกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ หลังจากครองราชย์สมบัติได้ไม่นาน เจ้าชายตองอูและเจ้าชายแปรซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าปดุงก่อกบฏ พระเจ้าจักกายแมงทรงเป็นฝ่ายชนะ จับผู้ก่อกบฏและบริวารประหารชีวิต หลังจากนั้น ใน พ.ศ. 2366 พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอมรปุระกลับมาที่เมืองอังวะ

สงครามกับอังกฤษ แก้

พระองค์มีนโยบายแผ่อำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ โดยยกทัพเข้าไปในมณีปุระเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 เพราะไม่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในงานพระบรมราชาภิเษก เจ้าผู้ครองแคว้นมณีปุระจึงหนีเข้าไปในแคว้นกระแซและขับไล่เจ้าผู้ครองแคว้นออกไป เจ้าผู้ครองแคว้นกระแซจึงหนีเข้าไปในแคว้นชยันตียา และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ อังกฤษจึงผนวกแคว้นกระแซและชยันตียาใน พ.ศ. 2363

พระเจ้าจักกายแมงทรงให้มหาพันธุละนำกองทัพไปโจมตีอัสสัมใน พ.ศ. 2364 เพราะพระเจ้าจันทรกานต์ สิงห์ หันไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ พม่าจึงยกเข้าไปยึดอัสสัมได้สำเร็จใน พ.ศ. 2365 ต่อมา พม่าเชื่อว่านักล่าช้างที่รับจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ออกจากจิตตะกองเข้ามาในแคว้นยะไข่ของพม่า กองทัพพม่าจึงข้ามแม่น้ำนาฟไปตามล่านักล่าช้าง และเข้าไปยึดเกาะศาหปรีที่ปากแม่น้ำในเดือนกันยายน พ.ศ. 2366 แต่อังกฤษก็ยึดคืนมาได้ พม่าจึงยกทัพเข้าไปตีจิตตะกองและแคว้นกระแซ แต่แพ้อังกฤษจึงต้องถอยมาที่มณีปุระ ในที่สุดอังกฤษจึงประกาศสงครามกับพม่าเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2366

กองทัพของพม่าบุกเข้ายึดจิตตะกองได้ แต่อังกฤษก็เข้ายึดพม่าทางภาคใต้รวมทั้งย่างกุ้งได้ มหาพันธุละถอนทัพจากจิตตะกองมารบกับอังกฤษที่ย่างกุ้ง และถูกปืนเสียชีวิตเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2368 กองทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป อังกฤษเข้ายึดเมืองแปร สิเรียม เมาะตะมะ เย่ ทวาย และมะริด รวมทั้งยะไข่ เจ้าชายสารวดี พระอนุชาของพระเจ้าจักกายแมง กราบทูลขอให้พระเจ้าจักกายแมงเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ แต่พระนางแมนุและมี่นต้าจี้ไม่เห็นด้วย การรบจึงดำเนินต่อไปจนเสียทหารไปอีกราว 20,000 คน พระเจ้าจักกายแมงจึงยอมแพ้ และต้องยกอัสสัม ยะไข่ มณีปุระ และตะนาวศรี ให้อังกฤษ ตอนแรกพม่าไม่ยินยอม อังกฤษจึงยกทัพบุกต่อไปถึงเมืองรานตะโบ พม่าจึงต้องยอมทำสนธิสัญญารานตะโบยกดินแดนให้ตามที่อังกฤษต้องการ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นการปราชัยครั้งสำคัญของราชวงศ์โก้นบอง

ความวุ่นวายปลายรัชกาล แก้

พระเจ้าจักกายแมงสะเทือนพระทัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2374 พระองค์เริ่มมีอาการทางประสาท จนอาการกำเริบ ไม่อาจว่าราชการได้ จน พ.ศ. 2380 จนมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านายและขุนนางพม่าเพื่อแย่งชิงอำนาจ พระนางแมนุกับมี่นต้าจี้ต้องการกำจัดเจ้าชายสารวดี และจะยกพระโอรสของพระเจ้าจักกายแมง คือเจ้าชายญองย่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์ เจ้าชายสารวดีจึงเสด็จหนีไปรวบรวมผู้คน กลับมายึดอำนาจ ปลดพระเจ้าจักกายแมงลงจากราชบัลลังก์เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2380 และขึ้นครองราชสมบัติแทน ในพงศาวดารไทยเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าแสรกแมง

หลังจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระเจ้าแสรกแมงประหารชีวิตพระนางแมนุ มี่นต้าจี้ และเจ้าชายญองย่าน ส่วนพระเจ้าจักกายแมงถูกกักบริเวณไว้ ต่อมามีขุนนางพม่าจะพยายามนำพระเจ้าจักกายแมงกลับมาครองราชย์ พระเจ้าพระเจ้าแสรกแมงจึงสั่งให้คุมขังพระเจ้าจักกายแมงไว้อย่างแข็งแรงกว่าเดิม จนพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2389[2] ส่วนพระเจ้าแสรกแมงก็มีพระสติวิปลาสและถูกพระโอรสควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2385 และสวรรคตในปี พ.ศ. 2389 หลังพระเจ้าจักกายแมงไม่กี่เดือน

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "พระเจ้าบาจีดอว์." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A–B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 330–333.
  1. Buyers, Christopher. "The Konbaung Dynasty Genealogy". royalark.net. สืบค้นเมื่อ 2009-09-19. บทที่ 11
  2. Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พระเจ้าจักกายแมง ถัดไป
พระเจ้าปดุง   พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(พ.ศ. 2362–2380)
  พระเจ้าแสรกแมง