กบฏเจ้าอนุวงศ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
กบฏเจ้าอนุวงศ์ เป็นความพยายามของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ นำโดยเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ ในการแยกตัวออกจากการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชของอาณาจักรสยาม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2369–2371
กบฏเจ้าอนุวงศ์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
น้ำเงิน หมายถึง เส้นทางของกองทัพลาว แดง หมายถึง เส้นทางของกองทัพสยาม ฟ้า หมายถึง เส้นทางหลบหนีไปเวียดนามของเจ้าอนุวงศ์ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ สนับสนุนทางทหาร: จักรวรรดิเวียดนาม | อาณาจักรรัตนโกสินทร์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
เจ้าอนุวงศ์[1] ฟาน วัน ทวี้ (Phan Văn Thúy)[5] |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) พระยาสุริยเดช ท้าวสุรนารี นางสาวบุญเหลือ |
เหตุการณ์นำ
แก้อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
แก้ความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติของอาณาจักรล้านช้าง หลังจากที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2238 ทำให้อาณาจักรล้านช้างแตกแยกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ใน พ.ศ. 2308 อาณาจักรพม่าราชวงศ์คองบองรัชสมัยพระเจ้ามังระยกทัพเข้ายึดอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทำให้อาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์ตกเป็นประเทศราชของพม่า
ใน พ.ศ. 2310 ขุนนางเวียงจันทน์สองคนคือพระตา และพระวอ สองพี่น้องซึ่งมีเชื้อสายต้นวงศ์สามัญชนเชื้อสายไทพวนสืบเชื้อสายอุปราชนอง ปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว เกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ พระตาและพระวอจึงนำกำลังจากเมืองเวียงจันทน์อพยพย้ายมาตั้งเมืองใหม่คือเมือง "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" หรือหนองบัวลำภูในปัจจุบัน แยกตัวเป็นอิสระจากพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารส่งกองทัพพร้อมการสนับสนุนจากพม่ายกมาโจมตีนครเขื่อนขันธ์ฯของพระตาพระวอ พระตาถูกแสงปืนถึงแก่กรรมในที่รบ ฝ่ายเวียงจันทน์ยึดนครเขื่อนขันธ์ฯได้ พระวอหลบหนีไปตั้งอยู่ที่ดอนมดแดง (อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี) และขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าองค์ไชยหลวงกุมาร กษัตริย์แห่งจำปาศักดิ์ นอกจากนี้พระวอยังให้ท้าวเพี้ยถือศุภอักษรมายังพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขันธสีมาของกรุงธนบุรี ต่อมาใน พ.ศ. 2320 พระวอที่ดอนมดแดงเกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าองค์ไชยหลวงกุมารแห่งจำปาศักดิ์ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์จึงส่งทัพมาโจมตีพระวออีกครั้ง พระวอถูกจับประหารชีวิตไปในที่รบ
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธ ที่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ส่งทัพมาสังหารพระวอ ซึ่งเป็นข้าขันธสีมาของกรุงธนบุรี จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบอาณาจักรเวียงจันทน์ในสงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) ยกทัพเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ได้ ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม ทำให้อาณาจักรลาวทั้งสามอาณาจักรมาขึ้นเป็นอาณาจักรหัวเมืองประเทศราชของสยามนับตั้งแต่นั้นมา
ในการยึดเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 นั้น มีการกวาดต้อนชาวลาวจำนวนมากจากเมืองเวียงจันทน์อพยพเข้ามาอาศัยที่เมืองสระบุรีและเมืองราชบุรี เรียกว่า "ลาวเวียง" รวมทั้งโอรสธิดาต่างๆของพระเจ้าสิริบุญสารเช่น เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ ต่างถูกคุมตัวลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งให้เจ้านันทเสนพระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารเป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ แต่พระเจ้านันทเสนถูกปลดออกจากราชสมบัติใน พ.ศ. 2334 เนื่องจากข้อหาเป็นกบฏลักลอบติดต่อกับราชวงศ์เต็ยเซิน (Tây Sơn) ของเวียดนาม เจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนได้เป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์องค์ต่อมา เจ้าอินทวงศ์แต่งตั้งให้พระอนุชาคือเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้าอุปราช หรือเจ้าอุปฮาดแห่งเวียงจันทน์
เจ้าอุปราชแห่งเวียงจันทน์ หรือเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพลาวเข้าร่วมกับฝ่ายสยามในสงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345 และสงครามเชียงแสน พ.ศ. 2347[6]
ใน พ.ศ. 2347 เจ้าอินทวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงแต่งตั้งเจ้าอุปราชอนุวงศ์ขึ้นเป็น เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์ เจ้าน้อยแห่งเมืองพวนแข็งเมืองไม่ยอมรับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปกำราบเจ้าน้อยเมืองพวน และนำตัวเจ้าน้อยเมืองพวนมากุมขังไว้ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเจ้าอนุวงศ์จึงปล่อยตัวเจ้าน้อยกลับไปยังเมืองพวน จากนั้นเจ้าน้อยเมืองพวนจึงสานสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ามิญหมั่งแห่งเวียดนามราชวงศ์เหงียน
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
แก้ความขัดแย้งระหว่างจำปาศักดิ์กับสยามมีมายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองท่งศรีภูมิ (ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองหน้าด่านสำคัญซึ่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่ 3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี จึงก่อให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น การตีเมืองจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2319 สาเหตุเนื่องจากพระยานางรอง เกิดขัดใจกับ เจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทย ไปขอขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ โดยได้ร่วมมือกับเจ้าโอ (เจ้าเมืองอัตตะปือ), เจ้าอิน (อุปฮาดเมืองอัตตะปือ) และเจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ (พระบิดาของเจ้าโอและเจ้าอิน) และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจหรือคับแค้นใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองจำปาศักดิ์จึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต และไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง และเมืองอัตตะปือ ยึดได้ทั้ง 3 เมือง แล้ว ประหารชีวิต เจ้าโอ, เจ้าอิน และเจ้าอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุง สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมา ทุกนัคราระเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก นับเป็นการพระราชทานยศสูงที่สุดเท่าที่เคยมี และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นกันระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับอาณาจักร์ของชาวลาวล้านช้าง จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือสาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเริ่มหันเหและให้ความสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง3และหัวเมืองขึ้นอื่นๆอีกมากมาย จากกรณีกบฎพระยานางรอง ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 และรวบร่วมกำลังพล เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งศรีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง (สุวรรณภูมิ) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมส์ทางการเมือง และใช้กรณีพิพาทกันระหว่างพระวอพระตากับเจ้าสิริบุญสารเป็นปัจจัยเสริมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง[7][8]
ต่อมาหลังจากที่พระวอถูกฝ่ายเวียงจันทน์สังหารไปนั้น ท้าวคำผง และท้าวฝ่ายหน้า บุตรทั้งสองของพระตา ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ห้วยแจระแม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งท้าวคำผงขึ้นเป็น พระประทุมสุรราชภักดี[9] นายกองใหญ่คุมเลกเมืองจำปาศักดิ์
ใน พ.ศ. 2334 เกิด "กบฏอ้ายเชียงแก้ว" ขึ้นที่เมืองสีทันดอน อ้ายเชียงแก้วยกทัพเข้าล้อมเมืองจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ประชวรถึงแก่พิราลัย เจ้าหน่อเมืองโอรสของพระเจ้าองค์หลวงฯ รักษาการณ์เมืองจำปาศักดิ์ เจ้าหน่อเมืองไม่สามารถเตรียมการรับมือกับกบฏอ้ายเชียงแก้วได้ทันการ จึงหลบหนีจากจำปาศักดิ์ไปอยู่กับชาวข่า พระประทุมฯ (คำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ยกทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้วที่แก่งตะนะสามารถสังหารอ้ายเชียงแก้วได้สำเร็จมีความชอบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงยกเมืองห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมือง "อุบลราชธานี" และทรงแต่งตั้งให้พระประทุมฯ (คำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์[9] เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก รวมทั้งทรงแต่งตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าน้องชายของพระประทุมฯ เป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช" พระประเทศราชเมืองจำปาศักดิ์แทนที่พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่ถึงแก่พิราลัยไป วงศ์ของพระตาจึงได้ปกครองนครจำปาศักดิ์ แทนที่วงศ์เจ้าจำปาศักดิ์เดิมของพระเจ้าองค์หลวงฯ แต่ได้รับการแต่งตั้งฐานันดรที่ต่ำกว่ากลุ่มเจ้านครเดิม คือเป็นเพียงพระประเทศราช เทียบเท่าขุนนางชั้นผู้น้อยของสยามมานั่งเมือง พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) แต่งตั้งให้โอรสคือท้าวคำสิงห์เป็นอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ไปครองเมืองโขง[10]
ต่อมาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2353 ทางกรุงเทพฯ แต่งตั้งให้เจ้านูผู้เป็นโอรสของเจ้าหน่อเมืองซึ่งหลบหนีไปอยู่กับข่านั้น เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์องค์ต่อมา เจ้านูอยู่ในราชสมบัติได้สามวันถึงแก่พิราลัย ทางกรุงเทพฯ จึงแต่งตั้งเจ้าหมาน้อยขึ้นเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์ของพระเจ้าองค์หลวงฯ จึงได้กลับมาครองจำปาศักดิ์อีกครั้ง ฝ่ายวงศ์ของพระตาคือท้าวคำสิงห์เมืองโขงไม่สมัครใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของจำปาศักดิ์อีกต่อไป จึงย้ายมาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์ท่า ใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชโองการให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง "ยศสุนทร" หรือยโสธร และทรงแต่งตั้งท้าวคำสิงห์เป็นพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก
กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง
แก้ใน พ.ศ. 2362 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง ซึ่งเป็นพระภิกษุนำทัพชาวข่าขมุ เข้าปล้นสะดมยึดเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าหมาน้อย เจ้าเมืองจำปาศักดิ์หลบหนีออกจากเมือง ในขณะนั้นพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา กำลังปราบกลุ่มชาวข่าในแขวงเมืองโขง ยกทัพเข้าโจมตีอ้ายสาเกียดโง้งที่จำปาศักดิ์ อ้ายสาเกียดโง้งหลบหนีไปเขายาปุแขวงเมืองอัตตะปือ พระยาพรหมภักดีส่งพระสุริยภักดี (ป้อม อมาตยกุล)[10] ออกติดตามค้นหาจับกุมอ้ายสาเกียดโง้งแต่ไม่พบ พระสุริยภักดี (ป้อม) จึงนำเจ้าหมาน้อยเจ้าเมืองจำปาศักดิ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์จำปาศักดิ์มายังกรุงเทพ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ส่งโอรสคือเจ้าราชบุตร (โย้) ยกทัพเข้าจับกุมอ้ายสาเกียดโง้งที่เขายาปุได้สำเร็จ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงทูลขอ[11] พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ให้ทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์ เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แทนที่เจ้าหมาน้อย เจ้าหมาน้อยถูกปลดจากราชสมบัติ และวงศ์จำปาศักดิ์เดิมถูกนำตัวไปไว้ที่กรุงเทพฯ เจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2362 อาณาจักรลาวทั้งสามได้แก่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ จึงอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าอนุวงศ์แล้วถึงสองอาณาจักร จากในสามอาณาจักร ดังที่พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษมนตรี ซึ่งว่าราชการกรมมหาดไทยในขณะนั้น ตรัสว่า “…เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออกอีกด้านหนึ่ง ต่อไปจะได้ความร้อนใจด้วยเรื่องนี้”[11] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า การที่ฝ่ายสยามไว้วางใจ และมอบอำนาจให้แก่เจ้าอนุวงศ์เช่นนี้ เนื่องจากฝ่ายสยามเห็นว่า เจ้าหมาน้อยแห่งจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอ และมีความจำเป็นต้องรักษาเมืองจำปาศักดิ์ให้มั่นคงเพื่อต้านทานอิทธิพลของเวียดนามราชวงศ์เหงียน[11]
ความขัดแย้งที่เมืองขุขันธ์
แก้ใน พ.ศ. 2302 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีการแต่งตั้งชาวเขมรชาวส่วยให้เป็นหัวหน้าชุมชน[9] ในพื้นที่ "เขมรป่าดง" ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน มีการยกเมืองขึ้นใหม่ได้แก่เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองปะทายสมันต์หรือเมืองสุรินทร์ นายตากะจะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาไกรภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก ต่อมาใน พ.ศ. 2321 พระยาไกรภักดีฯ (ตากะจะ) ถึงแก่กรรม นายเชียงขันธ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาไกรภักดีฯเจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อมา พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ติดตามสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปในราชการการยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2322 ได้ชาวลาวเวียงจันทน์ชื่อนายบุญจันทร์มาเป็นบุตรบุญธรรม พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ขอพระราชทานแต่งตั้งให้นายบุญจันทร์บุตรบุญธรรมของตนเป็นพระไกรภักดีเพื่อช่วยราชการเมืองขุขันธ์ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) เรียกพระไกรฯ (บุญจันทร์) บุตรบุญธรรมของตนว่า "ลูกเชลย"[9] สร้างความไม่พอใจให้แก่พระไกร (บุญจันทร์) ต่อมามีพ่อค้าชาวญวนมาค้าขายที่เมืองขุขันธ์ พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ให้การต้อนรับแก่พ่อค้าญวนเป็นอย่างดี พระไกร (บุญจันทร์) ฟ้อง[9] ลงมาที่กรุงเทพฯว่า พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมของตนวางแผนกับชาวญวนก่อการกบฏ พระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) ถูกเรียกตัวไปสอบสวนและถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ พระไกรฯ (บุญจันทร์) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาไกรภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อมา
เมื่อนายบุญจันทร์ได้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์แล้ว นายอุ่นบุตรของนายตากะจะ ไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองขุขันธ์อีกต่อไป จึงเดินทางมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงตั้งเมืองใหม่ คือเมืองศรีสะเกษขึ้นใน พ.ศ. 2325 และให้นายอุ่นเป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองศรีสะเกษคนแรก ข้าราชการกรมการเมืองขุขันธ์ซึ่งเคยร่วมงานกับพระยาไกรภักดีฯ (เชียงขันธ์) อดีตเจ้าเมืองขุขันธ์ซึ่งจำคุกอยู่ที่กรุงเทพนั้น ต่างไม่พอใจเจ้าเมืองคนใหม่คือพระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) ซึ่งได้ตำแหน่งมาด้วยการกล่าวโทษบิดาบุญธรรมของตนเอง
มุมมองจากเอกสารพื้นเวียง
แก้"พื้นเวียง" หรือ "พื้นเวียงจันทน์" หรือ "พงศาวดารเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์" เป็น "วรรณกรรม" เชิงประวัติศาสตร์[12] เป็นบท "กลอนลำ" ภาษาอีสานซึ่งไม่ทราบผู้แต่ง สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2443[12] ต้นฉบับพื้นเวียงนั้นพบที่วัดต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม และจังหวัดหนองคาย[12] เอกสารพื้นเวียงสะท้อนมุมมองของชาวอีสานในยุคนั้นที่มีต่อเหตุการณ์การกบฏของเจ้าอนุวงศ์
เอกสารพื้นเวียงระบุว่า พระยาพรหมภักดี ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอนุวงศ์ และทางกรุงเทพฯ ไม่สู้ดี เกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ กับท้าวกิ่งหล้าผู้เป็นน้องชาย พื้นเวียงระบุว่าพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ให้การสนับสนุนแก่ท้าวกิ่งหล้า ทำให้พระยาไกรภักดีไม่พอใจ อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาพรหมภักดีกับเจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ เนื่องจากพระยาพรหมภักดีต้องการยกทัพไปปราบข่า ในเขตแดนเมืองจำปาศักดิ์ ในเวลาต่อมาพระยาพรหมภักดีได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยานครราชสีมา
เหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนรัชกาล
แก้ใน พ.ศ. 2365 นายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์ได้เข้าพบกับครอว์เฟิร์ด[11] เจ้าอนุวงศ์มีความเข้าใจว่าอังกฤษกำลังจะยกทัพเรือเข้ารุกรานกรุงเทพฯ
ใน พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เจ้าอนุวงศ์ พร้อมทั้งพระโอรสคือ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำไพร่พลชาวลาวจากเวียงจันทน์ มาเข้าร่วมพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังชาวลาว ขนท่อนไม้ต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีไปยังสมุทรปราการ[13] เพื่อทำฐานเตาหม้อของพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) คุมไพร่พลชาวลาวขนต้นตาลจากสุพรรณบุรีไปสมุทรปราการ
หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี เจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประการต่าง ๆ ดังนี้:
- ขอนักแสดงหญิงละครใน
- ขอเจ้าดวงคำ เจ้าหญิงลาวซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสระบุรี
- ขอชาว "ลาวเวียง" เมืองสระบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2324 กลับคืนสู่เวียงจันทน์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวินิจฉัยไม่พระราชทานดังคำขอของเจ้าอนุวงศ์[13] เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) ได้จัดมอบนักร้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ให้แก่เจ้าอนุวงศ์แทน
ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2367 มีพระราชกำหนดให้สักเลกหัวเมืองลาวตะวันออก[10] โดยมีเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่กอง และพระสุริยภักดี (ป้อม) ไปตั้งกองสักเลกที่เมืองยโสธร นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองสักเลขที่กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และสุวรรณภูมิ[14] พื้นเวียงระบุว่าเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นผู้ทูลเสนอให้มีการสักเลกชาวลาว เนื่องจากหากเจ้าอนุวงศ์ทวีอำนาจขึ้น ชาวลาวจะอพยพไปอยู่เวียงจันทน์เสียหมด[12] ในพ.ศ. 2369 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ยกทัพไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) และท้าวกิ่งหล้าที่เมืองขุขันธ์ และในปีเดียวกันนั้นเองนายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ผู้แทนอังกฤษเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพแจ้งไปยังเจ้าอนุวงศ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์อังกฤษโจมตีกรุงเทพของให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาช่วย[15] เกิดข่าวลือในหัวเมืองลาวว่าอังกฤษจะยกทัพมาโจมตีกรุงเทพ
การรุกรานของเจ้าอนุวงศ์ (มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370)
แก้การเตรียมการของเจ้าอนุวงศ์
แก้เอกสารฝ่ายไทยระบุว่า เจ้าอนุวงศ์มีเป้าหมายเพื่อยึดกรุงเทพ เจ้าอุปราช (ติสสะ) พระอนุชาของเจ้าอนุวงศ์ คัดค้านการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ “…เมืองไทยเป็นกรุงใหญ่ มาตรแม้นตีได้ก็จะไปตั้งเป็นเจ้าอยู่ที่นั่นได้หรือ”[13] แต่เจ้าอนุวงศ์ยืนยันว่า หากยึดครองกรุงเทพไม่ได้ก็จะกวาดต้อนผู้คนมาไว้ที่เวียงจันทน์ เจ้าอุปราช (ติสสะ) จึงจำยอมเข้าร่วมกบฏกับเจ้าอนุวงศ์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าอนุวงศ์มีเป้าหมายเพียงเพื่อกวาดต้อนไพร่พลชาวลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนมายังนครราชสีมา และสระบุรีตั้งแต่สมัยธนบุรี และเพื่อโจมตีกองสักเลขต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการสักเลขชาวลาวเท่านั้น[14] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2369 เกิดลมพายุใหญ่ที่เวียงจันทน์ พัดช่อฟ้าใบระกา ของหอพระแก้วพระบางพังลง วังของเจ้าอนุวงศ์ได้รับความเสียหายและบ้านเรือนราษฎรชาวลาวถูกทำลายลงประมาณ 40-50 หลัง ต่อมาในเดือนตุลาคม เกิดแผ่นดินไหวแผ่นดินแยกออกที่กำแพงท้ายเมือง เป็นลางบอกเหตุ
เจ้าอุปราชเข้าเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวต่าง ๆ ในภาคอีสานได้แก่เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองชนบท และเมืองขอนแก่น ให้เข้าร่วมกับการกบฏในครั้งนี้ เจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพจากเวียงจันทน์ถึงเมืองสกลนคร พระธานี (มั่ง) เจ้าเมืองสกลนครเตรียมการรับมือไม่ทัน จึงยินยอมให้เจ้าอุปราชยกทัพผ่านสกลนครแต่โดยดี[9] จากสกลนครเจ้าอุปราชยดทัพต่อไปยังเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ไม่ยอมเข้าร่วมฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอุปราชจึงให้ประหารชีวิตพระยาไชยสุนทรและอุปราช (สุย) เมืองกาฬสินธุ์ไปเสีย จากนั้นเจ้าราชวงศ์ยกต่อไปที่เมืองร้อยเอ็ด สังหารข้าราชการฝ่ายไทยซึ่งกำลังสักเลกอยู่ที่ร้อยเอ็ด[10] เจ้าอนุวงศ์ยังมีคำสั่งให้เจ้าราชบุตร (โย้) พระโอรสที่เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ยกทัพเข้าเกลี้ยกล่อมโจมตีและกวาดต้อนผู้คนเมืองต่างๆทางอีสานใต้ฝั่งโขงได้แก่เมืองเขมราฐ เมืองอุบล เมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม และเมืองยโสธร กวาดต้อนผู้คนมายังเมืองเวียงจันทน์
สรุปปฏิกิริยาของหัวเมืองอีสานต่าง ๆ ต่อการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ ดังนี้:
- นครพนม: เมื่อพระบรมราชา (สุตตา) เจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2347 เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ คือ พระบรมราชา (อุ่นเมือง) อยู่ในตำแหน่งได้เพียงหกเดือนก็ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2348 เจ้าอนุวงศ์ได้กราบทูลขอพระราชทานตั้งราชบุตรเมืองนครพนม (มัง) บุตรของพระบรมราชา (สุตตา) เป็นเจ้าเมืองนครพนม แทนที่จะเป็นอุปราชเมืองนครพนม (ศรีวิชัย) ซึ่งเป็นน้องของพระบรมราชา (อุ่นเมือง) ราชบุตรเมืองนครพนม (มัง) จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ เมื่อเจ้าอนุวงศ์เริ่มการกบฏในพ.ศ. 2370 พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมจึงให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์
- สกลนคร: พระธานี (มั่ง) เจ้าเมืองสกลนคร เตรียมรับมือทัพของเจ้าอุปราช (ติสสะ) ไม่ทัน จึงยินยอมให้เจ้าอุปราชยกทัพฝ่านสกลนครแต่โดยดี ต่อมาพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ตัดสินว่าพระธานีเมืองสกลนครย่อหย่อนต่อการศึก จึงตัดสินให้ประหารชีวิตพระธานี (มั่ง) รวมทั้งกวาดต้อนชาวเมืองสกลนครไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีและเมืองประจันตคาม[9]
- กาฬสินธุ์: พระยาไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ไม่ยอมเข้าร่วมกับเจ้าราชวงศ์ จึงถูกเจ้าราชวงศ์ประหารชีวิตไป
- ร้อยเอ็ด: เจ้าราชวงศ์ (ติสสะ) ต้องการประหารชีวิตพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิธิบดี (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด แต่พระยาขัติยวงศ์ฯ (สีลัง) มอบบุตรสาวทั้งสามได้แก่นางหมานุย นางตุ่ย และนางแก้ว ให้แก่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงไว้ชีวิตพระยาขัติยวงศ์ฯ (สีลัง)[9]
- สุวรรณภูมิ: เจ้าราชวงศ์ต้องการประหารชีวิตพระรัตนวงศา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่พระรัตนวงศา (โอ๊ะ) ได้มอบนางอ่อม บุตรสาวของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนก่อนให้แก่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงไว้ชีวิตพระรัตนวงศา (โอ๊ะ)[9]
- เขมราฐ: พระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐ ผู้เป็นบุตรของพระวอ ไม่ยอมเข้าร่วมกับเจ้าราชบุตร (โย้) จึงถูกเจ้าราชบุตรประหารชีวิต
การรุกรานของเจ้าอนุวงศ์
แก้เดือนยี่ แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1188[13] เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพหน้ามายังเมืองนครราชสีมาก่อน โดยแจ้งแก่กรมการเมืองหัวเมืองอีสานต่างๆว่า ทางกรุงเทพได้ร้องขอให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงไปช่วยป้องกันกรุงเทพจากการโจมตีของอังกฤษ เจ้าราชวงศ์ยกทัพมาถึงนครราชสีมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 ตั้งทัพอยู่ที่ชานเมืองนครราชสีมา เจ้าราชวงศ์ให้แสนสุริยพหลไปทำทางที่ช่องเขาดงพญาไฟเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์เข้าไปยังภาคกลาง และส่งเพียเมืองซ้ายไปขอเบิกข้าวจากเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมือง กำลังยกทัพไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาธที่เมืองขุขันธ์อยู่ มีพระยาพรหมยกกระบัตรเป็นผู้รักษาต่อเมืองนครราชสีมา พระยาพรหมยังไม่ทราบว่าฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เตรียมการก่อกบฏจึงเดินทางออกไปพบกับเจ้าราชวงศ์ที่นอกเมือง สอบถามว่าเหตุใดจึงยกกำลังพลมาจำนวนมาก เจ้าราชวงศ์ตอบว่าทางกรุงเทพขอให้ช่วยยกทัพลงไปป้องกันเมืองจากอังกฤษ พระยาพรหมจึงเบิกข้าวให้แก่กองทัพของเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์ยกทัพต่อไปจากนครราชสีมาไปทางดงพญาไฟไปตั้งอยู่ที่ขอนขว้าง (ตำบลขอนขว้าง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) และให้เพียเมืองขวาและพระยาเชียงใต้ยกทัพไปยังเมืองสระบุรีก่อน เพียเมืองขวาและพระยาเชียงใต้นำตัวพระยาสุราราชวงศ์ เจ้าเมืองสระบุรีซึ่งเป็นชาว”ลาวพุงดำ” (ไทยวนล้านนา) ไปพบกับเจ้าราชวงศ์ที่ขอนขว้าง เจ้าราชวงศ์แจ้งแก่พระยาสุราราชวงศ์ว่าขณะนี้อังกฤษกำลังเข้าโจมตีกรุงเทพ พระยาสุราราชวงศ์จึงยอมเข้ากับเจ้าราชวงศ์กวาดต้อนไพร่พลราษฏรเมืองสระบุรีไป
เจ้าอนุวงศ์พร้อมกับโอรสอีกองค์คือเจ้าสุทธิสาร (โป้) ยกทัพจากเวียงจันทน์ลงมาถึงเมืองนครราชสีมาในวันแรม 6 ค่ำ เดือนสาม (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370) ตั้งทัพอยู่ที่ทะเลหญ้าหรือทุ่งหญ้านอกเมืองนครราชสีมาทางด้านตะวันออก มีกำลังพลทั้งสิ้น 80,000 คน[13] พระยาพรหมยกกระบัตรนครราชสีมาออกไปพบกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์กล่าวว่าเจ้าพระยานครราชสีมาเบียดเบียนไพร่พลได้รับความเดือนร้อนมีผู้มาร้องทุกข์ตลอด และสั่งให้พระยาพรหมกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดไปยังเมืองเวียงจันทน์ พระยาพรหมเห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีเจ้าอนุวงศ์มีกำลังมากไม่อาจสู้รบต้านทานได้จึงจำยอมทำตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์ อพยพชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดไปยังเวียงจันทน์รวมทั้งครอบครัวของเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาสุริยเดชด้วย นอกจากนี้ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยังนำอาวุธปืนและดาบทั้งหมดจากนครราชสีมากลับไปด้วย เจ้าอนุวงศ์ตั้งให้พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมเป็นผู้รักษาเมืองนครราชสีมา
ฝ่ายเจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพถึงเมืองยโสธร พบกับพระสุริยภักดี (ป้อม) ซึ่งตั้งกองสักเลขอยู่ที่ยโสธร เจ้าอุปราชกล่าวแก่พระสุริยภักดีว่าตนเองไม่เต็มใจเข้าร่วมการกบฏในครั้งนี้ และออกอุบายให้พระสุริยภักดีนำจดหมายไปส่งให้แก่เจ้าอนุวงศ์ เพื่อเปิดทางให้พระสุริยภักดีสามารถเดินทางไปแจ้งข่าวให้แก่กรุงเทพได้ พระสุริยภักดีเดินทางไปพบกับเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาและมอบจดหมายให้แก่เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์เมื่ออ่านจดหมายแล้วจึงอนุญาตให้พระสุริยภักดีเดินทางไปยังกรุงเทพ และกล่าวว่าในครั้งนี้เจ้าอนุวงศ์เองไม่ได้ตั้งใจกบฏเพียงแต่ราษฎรชาวเมืองสระบุรีและนครราชสีมาร้องทุกข์ต่อเจ้าอนุวงศ์ว่า เจ้าพระยานครราชสีมากดขี่ข่มเหงจะขอย้ายไปอยู่เวียงจันทน์ จึงยกทัพลงมาพาราษฏรเหล่านั้นไปอยู่เวียงจันทน์ แต่เจ้าอนุวงศ์ได้ขอตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) น้องชายของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกไว้เป็นตัวประกัน พระสุริยภักดี (ป้อม) จึงเดินทางต่อไปยังดงพญาไฟพบกับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าราชวงศ์ต้องการจับกุมตัวพระสุริยภักดี แต่พระยาเชียงใต้ทัดทานว่าเจ้าอนุวงศ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวพระสุริยภักดีแล้ว หากจะจับซ้ำอีกจะไม่เคารพคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์ พระสุริยภักดีจึงสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพเพื่อแจ้งข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ได้
เจ้าราชวงศ์ยกทัพเข้ายึดเมืองสระบุรีซึ่งมีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯเพียงสองวันแต่กลับไม่ยกทัพมาโจมตีกรุงเทพ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ให้เหตุผลว่าเหตุที่เจ้าอนุวงศ์ยังไม่ยกลงมาตีกรุงเทพเลยในครั้งเดียวนั้น เนื่องจากยังไม่สามารถรวมอำนาจในหัวเมืองอีสานได้เรียบร้อย[13] หากยกลงมาโจมตีกรุงเทพอาจถูกโจมตีทางด้านหลังได้ จึงเน้นการกวาดต้อนผู้คนมากกว่า ในขณะที่เอกสารฝ่ายลาวเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อยึดกรุงเทพ[14]
วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์
แก้ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ซึ่งยกทัพไปไกล่เกลี่ยเหตุพิพาธที่เมืองขุขันธ์นั้น ปรากฏว่าพระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ยกทัพออกมาต่อสู้กับทัพเมืองนครราชสีมา ฝ่ายนครราชสีมาสามารถเอาชนะทัพเมืองขุขันธ์ได้พระยาไกรภักดีเจ้าเมืองขุขันธ์หลบหนีไปยังเมืองนางรอง เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาสุริยเดชทราบข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ และการเสียเมืองนครราชสีมาแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เห็นว่ากำลังพลของตนเองมีน้อยจึงตัดสินใจเดินทางหลบหนีไปยังเมืองสวายจิกที่กัมพูชา[13] ในขณะที่พระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา เห็นว่าครอบครัวของตนกำลังถูกเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปเวียงจันทน์ จึงเดินทางกลับไปหาครอบครัวของตน โดยไปพบกับชาวเมืองนครราชสีมาที่กำลังเดินทางอยู่ พระยาปลัดฯเข้าพบกับเจ้าอนุวงศ์แจ้งว่าเจ้าพระยานครราชสีมาหลบหนีไปยังกัมพูชาแล้ว ส่วนตนเองนั้นเป็นห่วงครอบครัวจึงขอติดตามเจ้าอนุวงศ์ไปยังเวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์เชื่อจึงให้พระยาสุริยเดชปลัดฯกับพระยาพรหมยกกระบัตรเป็นหัวหน้าคุมชาวเมืองนครราชสีมาไปเวียงจันทน์ พื้นเวียงกล่าวว่า พระยาไกรภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์คนเก่า เข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์และอาสายกทัพไปตามจับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ด้วยความเจ็บแค้นในอดีต[12]
พระยาปลัดฯและพระยาพรหมคุมชาวเมืองนครราชสีมาและเพี้ยเมืองแพนคุมกองกำลังลาวคอยเฝ้าดูชาวนครราชสีมาอยู่ พระยาทั้งสองออกอุบายให้ชาวเมืองนครราชสีมาแสร้งถ่วงเดินทางอย่างช้าๆ และเดินทางไปพบเจ้าอนุวงศ์แจ้งว่าชาวนครราชสีมาอดอยากขาดอาหารขอมีดพร้าขวานและปืนไว้ล่าสัตว์เป็นอาหารบ้าง เจ้าอนุวงศ์ยินยอมมอบอาวุธเหล่านั้นให้แก่ชาวนครราชสีมา เมื่อเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ (ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) ซึ่งในพื้นเวียงเรียกว่า ”ค่ายมูลเค็ง” พระยาปลัดฯ และพระยาพรหมแจ้งแก่เพี้ยเมืองแพนว่าขอตั้งพักอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ก่อน จากนั้นในเวลากลางคืนพระยาปลัดฯและพระยาพรหมจึงนำกำลังใช้อาวุธเหล่านั้นเข้าสังหารผู้รักษาการณ์ชาวลาวไปจนหมดสิ้น และตั้งค่ายขึ้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่าชาวเมืองนครราชสีมาลุกฮือขึ้นจึงให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) พระโอรสยกทัพลาวจำนวน 3,000 คน[13] มาโจมตีชาวเมืองนครราชสีมาที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พระยาปลัดฯจึงจัดทัพเข้าสู้กับฝ่ายลาว จัดผู้ชายเป็นปีกซ้ายปีกขวา พระยาปลัดฯและพระยาพรหมเป็นกองกลาง คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ภริยาของพระยาปลัดฯนำทัพผู้หญิงเป็นกองหนุน ผู้ที่ไม่มีอาวุธก็ตัดไม้มาทำเป็นหลาว นำไปสู่วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พระยาปลัดฯนำทัพเข้าสู้กับทัพของเจ้าสุทธิสารสามารถเอาชนะทัพของเจ้าสุทธิสารได้และสังหารทหารลาวไปได้ 2,000 คน เจ้าสุทธิสารแม่ทัพลาวต้องล่าถอยไป ปรากฏตำนานวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ ผู้แย่งดาบจากเพี้ยรามพิชัย เพี้ยรามพิชัยวิ่งตามนางสาวบุญเหลือ นางสาวบุญเหลือจึงโยนคบไฟใส่ดินระเบิดเสียชีวิตไปทั้งนางสาวบุญเหลือและเพี้ยรามพิชัย[9]
ในเวลานั้นเองเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ซึ่งคุมไพร่พลเชลยมาจากสระบุรีเดินทางมาพบกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ปรึกษากับเจ้าราชวงศ์ว่าเมื่อไม่สามารถปราบการลุกฮือของชาวนครราชสีมาได้ ประกอบกับข่าวลือว่าทางกรุงเทพกำลังจัดเตรียมขนาดใหญ่เข้ามาโจมตีเจ้าอนุวงศ์จากหลายทิศทาง และนครราชสีมาไม่ใช่จุดตั้งรับที่ดีเนื่องจากจะถูกโจมตีจากหลายด้าน เจ้าอนุวงศ์จึงตัดสินใจปล่อยเชลยชาวเมืองนครราชสีมาและถอยทัพขึ้นทางเหนือไปอยู่ที่หนองบัวลำภู และสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกทัพไปตั้งรับที่เมืองหล่มสัก (อำเภอหล่มเก่า)
การรุกรานของเจ้าราชบุตร
แก้เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพจากเมืองจำปาศักดิ์เข้าโจมตีและเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆในอีสานใต้ พระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐ ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระวอ ไม่ยอมเข้าร่วมการกบฏ เจ้าราชบุตร (โย้) จึงเข้ายึดเมืองเขมราฐและสังหารพระเทพวงศา (ก่ำ) ไป จากนั้นเจ้าราชบุตรจึงยกทัพต่อไปยังเมืองขุขันธ์ พระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) ซึ่งขัดแย้งกันกับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นั้น ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าราชบุตร (โย้) แต่เจ้าราชบุตรไม่ไว้ใจพระไกรภักดีฯ จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) พร้อมทั้งพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ และพระแก้วมนตรี (เทศ) ยกกระบัตรเมืองขุขันธ์ ต่างถูกประหารชีวิตไปสิ้น[9] เจ้าเมืองสุรินทร์และเจ้าเมืองสังขะหลบหนีรอดไปได้ เจ้าราชบุตร (โย้) ให้กวาดต้อนชาวเขมรและชาวส่วยจากทั้งสามเมืองนั้นไปที่จำปาศักดิ์ จากนั้นเจ้าราชบุตรจึงยกทัพไปเมืองศรีสะเกษ
เจ้าอนุวงศ์ถอยไปที่ช่องเขาสาร
แก้หลังจากวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพไปทางเมืองชัยภูมิ พระนรินทร์สงคราม (ทองคำ ลาวัณบุตร) เจ้าเมืองจัตุรัส เข้าร่วมกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ส่งเจ้าสุทธิสาร (โป้) ยกทัพไปยึดเมืองชัยภูมิ เกลี้ยกล่อมพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ให้เข้าพวกกับเจ้าอนุวงศ์ แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์ถึงให้ประหารชีวิตพระยาภักดีชุมพลที่ริมหนองปลาเฒ่า จากนั้นเจ้าอนุวงศ์จึงถอยทัพต่อไปยังเมืองภูเขียว เจ้าเมืองภูเขียวไม่ยอมเข้าร่วมด้วย เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพเข้าสังหารเจ้าเมืองภูเขียวและยึดเมือง ส่วนเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพไปเมืองหล่มสัก พระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักยอมเข้าด้วยแต่โดยดี เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปตั้งรับที่ช่องเขาสาร (ช่องเขาระหว่างจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน) และจัดทัพตั้งรับทัพฝ่ายไทย ดังนี้:
- พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) เจ้าเมืองจัตุรัสเป็นทัพหน้า คุมกำลังพลลาว 3,000 คน ตั้งที่หนองบัวลำภู
- เจ้าอนุวงศ์ตั้งทัพบนเขาสาร ให้พระยาสุโพและพระยาชานนนำทัพ 2,000 คน ตั้งอยู่ที่ช่องเขาสาร พระยาเชียงสาตั้งอยู่สนมค่าย ให้นายกองคำตั้งอยู่ที่ช่องงัวแตก
- เจ้าอุปราช (ติสสะ) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ
การตอบโต้ของฝ่ายไทย (มีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2370)
แก้การเตรียมทัพของฝ่ายไทย
แก้พระยาไชยวิชิตฯเจ้าเมืองอยุธยากรุงเก่าฯ ทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ยกทัพมายึดเมืองสระบุรี จึงนำความลงมากราบทูลฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2370 ว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมา และเมืองสระบุรี พร้อมกวาดต้อนครัวเรือนผู้คนชาวลาวต่างสมัครใจไปกับเจ้าอนุวงศ์ทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้จัดเตรียมทัพเข้าปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ โดยมีการเตรียมตั้งทัพไว้ที่ทุ่งวัวลำพองไปจนตลอดถึงทุ่งบางกะปิและทางทิศเหนือของพระนครซึ่งเป็นทางที่ทัพลาวอาจยกลงมา รวมทั้งมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เสด็จเป็นจอมพลยกทัพ พร้อมข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ และเจ้าต่างกรมไปเมืองสระบุรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2370 เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพถึงเมืองกรุงเก่าฯ อยุธยาแล้วนั้น พระสุริยภักดี (ป้อม) เดินทางมาถึงอยุธยา เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลฯ ความให้ทรงทราบ แล้วพระสุริยภักดีจึงเดินทางลงมายังพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชโองการว่า พระสุริยภักดีเป็นผู้ที่รู้การงานที่เมืองลาวอยู่แล้ว ให้เดินทางกลับขึ้นไปตามทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงตั้งค่ายทัพอยู่ที่ท่าเรือพระพุทธบาท (อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เมื่อกำลังไพร่พลจากกรุงเทพฯเดินทางมาถึงโดยพร้อมเพรียงแล้ว จึงมีพระราชบัณฑูรให้จัดเตรียมทัพดังนี้;
- ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เสด็จยกทัพไปทางดงพญาไฟ ประกอบด้วย
- ทัพหน้าที่ 1: พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิชัยบุรินทรา และพระยาณรงค์วิไชย
- ทัพหน้าที่ 2: กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (พระโอรสในเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์)
- ทัพหน้าของทัพหลวง: กรมหมื่นเสนีเทพ
- ปีกซ้าย: กรมหมื่นนรานุชิต
- ปีกขวา: กรมหมื่นสวัสดิวิไชย
- ยกกระบัตรทัพ: กรมหมื่นรามอิศเรศร
- จเรทัพ: กรมหมื่นธิเบศร์บวร
- เกียกกาย: กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
- ทัพหลัง: พระนเรนทรราชา (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ)
- ทัพกองมอญของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) ยกทัพไปทางดงพญากลาง (ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี)
- ทัพของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก จำนวน 5,000 คน ยกไปทางเหนือไปทางเมืองเพชรบูรณ์เข้าตีทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่หล่มสัก
- ทัพของพระยาเพชรพิไชย (เกศ เกตุทัต) และพระยาไกรโกษา จำนวน 3,000 คน ยกขึ้นไปทางเมืองพิษณุโลก เมืองนครไทย เพื่อเข้าโจมตีเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่หล่มสักอีกทางหนึ่ง เป็นการโจมตีกระหนาบสองข้าง
ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพไปถึงเมืองนครราชสีมา ในครั้งนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพหลวง ทำให้สูญเสียไพร่พลล้มตายไปมาก[13] ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งหลบหนีไปยังเมืองสวายจีบนั้น ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกทัพหลวงมาตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงเดินทางมาเข้าเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) รวบรวมผู้คนซึ่งกระจัดกระจายไปฟื้นฟูเมืองนครราชสีมาขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯยังมีพระราชโองการให้แต่งทัพเข้าเพิ่มเติม ดังนี้:
- ทัพที่ 1: พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกไปทางบ่อโพงไปยังปราจีนบุรี และไปตั้งทัพที่เมืองประจันตคาม
- ทัพที่ 2: เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)
- ทัพที่ 3: กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์
- ทัพที่ 4: กรมหมื่นพิทักษเทเวศร์
ทัพของเจ้าพระยาพระคลัง ทัพของกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ และทัพของกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์ ยกไปทางคลองสำโรงไปยังเมืองปราจีนบุรี และไปสมทบกับทัพของพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่เมืองประจันคาม ทัพของพระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปก่อนทางดงพญาไฟ จากนั้นทัพของเจ้าพระยาพระคลังจึงยกต่อมาตามลำดับ ในเวลานั้นเอง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำความเข้ามากราบทูลฯ ว่า ฝ่ายอังกฤษนำเรือจำนวนสี่ถึงห้าลำมาประจำไว้ที่เกาะปีนังหรือเกาะหมากไม่น่าไว้วางใจ[13] จึงไม่ได้เตรียมทัพเข้ามาตามพระราชกำหนด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ และกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์ ยกทัพกลับลงมาป้องกันเมืองสมุทรปราการเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของอังกฤษที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) นั้นให้ยกทัพเข้าสมทบรวมกับทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯไป เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งยกทัพไปถึงนครราชสีมาแล้วนั้น ทราบท้องตราจึงกราบทูลฯลากรมพระราชวังบวรฯแล้วยกทัพกลับลงมาพร้อมกับกรมพิพิธภูเบนทร์และกรมหมื่นพิทักษเทเวศร์
กรมพระราชบวรมหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชบัณฑูรให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจำนวน 6,000 คน ไปตีเมืองจำปาศักดิ์ ส่วนทัพหลวงจะยกทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อเข้าโมตีเจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสาร
พระยาราชสุภาวดีตีเมืองจำปาศักดิ์
แก้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจากนครราชสีมาไปทางตะวันออก พบกับทัพของเจ้าโถงหลานของเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองพิมาย พระราชสุภาวดีตีทัพของเจ้าโถงแตกพ่ายไปยึดเมืองพิมายได้แล้ว จึงยกทัพต่อไปตั้งที่เมืองขอนแก่น พระยาราชสุภาวดีแต่งหนังสือไปถึงเจ้าอุปราช (ติสสะ) ที่เมืองสุวรรณภูมิว่า[13] ครั้งก่อนเมื่อเจ้าอุปราช (ติสสะ) อยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น เคยบอกความไว้ว่าเจ้าอนุวงค์จะเป็นกบฏ บัดนี้เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏจริงแล้ว ให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) หันกลับมาเข้ากับฝ่ายไทย ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จากนั้นทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯจะเสด็จยกตามขึ้นไป เจ้าอุปราช (ติสสะ) ได้รับจดหมายของพระยาราชสุภาวดีแล้ว จึงส่งจดหมายนั้นให้แก่เจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสารได้อ่าน บอกว่าเป็นอุบายของฝ่ายไทยที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์และเจ้าอุปราชแตกร้าวต่อกัน ทำให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความระแวงสงสัย ว่าแม่ทัพนายกองขุนนางคนใดบ้างที่เป็นไส้ศึกให้แก่ฝ่ายไทย
ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ส่งสาส์นให้แก่เจ้าอุปราช (ติสสะ) แล้ว เจ้าอุปราชไม่ตอบ จึงยกทัพเจ้าโจมตีค่ายเวียงคุกของเมืองยโสธร ฝ่ายเมืองยโสธรพระสุนทรราชวงษา (สีชา) เจ้าเมืองยโสธรถึงแก่กรรมไปตั้งแต่พ.ศ. 2366 ยังไม่ทันแต่งตั้งเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่ มีอุปราช (บุตร) ซึ่งเป็นบุตรของพระสุนทรราชวงษา (ท้าวคำสิงห์) และราชวงศ์ (เสน) บุตรของพระวอ อยู่รักษาการณ์เมืองยโสธรอยู่ วงศ์เมืองยโสธรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอุปราช (บุตร) อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ในขณะที่ท้าวฝ่ายบุตรโอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชแห่งจำปาศักดิ์ (ท้าวฝ่ายหน้า) และเป็นน้องชายของท้าวคำสิงห์ เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาราชสุภาวดี อุปราชเมืองยโสธร (บุตร) เข้าต่อสู้ป้องกันค่ายเวียงคุก นำไปสู่การรบที่เวียงคุก พระยาราชสุภาวดีและท้าวฝ่ายบุตรยกทัพเข้าตีค่ายเวียงคุกแตกพ่ายและเข้ายึดเมืองยโสธร พระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้จับอุปราช (บุตร) แห่งเมืองยโสธรที่อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์พร้อมครอบครัวมาจุดดินประสิวเผาคลอกไฟถึงแก่กรรม[13]
พระยาราชสุภาวดีตั้งค่ายอยู่ที่ยโสธร เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ตั้งทัพอยู่ที่ศรีสะเกษ เมื่อทราบว่าพระยาราชสุภาวดียกมาตั้งที่ยโสธรแล้ว จึงย้ายทัพลาวใหญ่มาตั้งที่เมืองอุบล ให้อนุชาคือเจ้าปาน และเจ้าสุวรรณยกทัพลาวเข้ามาโมตีพระยาราชสุภาวดีที่ยโสธร พระยาราชสุภาวดียกทัพไปสู้กับเจ้าปานเจ้าสุวรรณ นำไปสู่การรบที่ยโสธร ทัพลาวของเจ้าปานเจ้าสุวรรณแตกพ่ายไป จากนั้นพระยาราชสุภาวดียกทัพไปโจมตีเจ้าราชบุตร (โย้) ที่เมืองอุบล เวลานั้นชาวเมืองอุบลลุกฮือขึ้นเป็นกบฏขึ้นต่อต้านเจ้าราชบุตร (โย้) และเข้าโจมตีทัพของเจ้าราชบุตร เจ้าราชบุตร (โย้) จึงต้องหลบหนีออกจากเมืองอุบลไปยังเมืองจำปาศักดิ์ เชลยศึกที่เจ้าราชบุตรเคยกวาดต้อนไปไว้ที่เมืองจำปาศักดิ์ก็ได้ลุกฮือขึ้นเผาเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เจ้าราชบุตร (โย้) ไม่สามารถเข้าเมืองจำปาศักดิ์ได้ จึงหลบหนีข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงโดยมีผู้ติดตามเพียง 30-40 คน พระยาราชสุภาวดีเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ได้โดยปราศจากการต่อต้าน พระยาราชสุภาวดีให้คนไปตามจับเจ้าราชบุตร (โย้) พร้อมทั้งเจ้าปานและเจ้าสุวรรณผู้เป็นอนุชามาได้
การรบที่หนองบัวลำภู ช่องเขาสาร และส้มป่อย
แก้เจ้าอนุวงศ์ตั้งค่ายที่ช่องเขาสารเพื่อเตรียมการรับทัพของฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ตั้งค่ายใหญ่อยู่บนเขาสาร ให้พระยาสุโพและพระยาชานนตั้งค่ายที่ช่องเขาสารมีกำลัง 20,000 คน ให้พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ตั้งค่ายอยู่ที่หนองบัวลำภู 3,000 คน
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2370 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชบัณฑูรให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) และพระองค์เจ้าขุนเณร ยกทัพจำนวน 8,400 คนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปโจมตีพระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ที่หนองบัวลำภูก่อน นำไปสู่การรบที่หนองบัวลำภู ทัพหน้าตีค่ายของพระยานรินทร์สงครามแตกพ่าย จับตัวพระยานรินทร์สงครามส่งกลับมาถวายกรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังบวรฯตรัสถามพระยานรินทร์สงครามว่าจะให้สวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยพระยานรินทร์สงครามจะยอมหรือไม่ พระยานรินทร์สงครามไม่ยอม กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้นำตัวพระยานรินทร์สงครามไปประหารชีวิตด้วยการให้ช้างแทงเสีย[13]
เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก ยกทัพขึ้นเหนือไปทางเพชรบูรณ์ พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาไกรโกษยกทัพไปทางพิษณุโลกนครไทย เข้าโจมตีทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่เมืองหล่มสักสองข้างกระหนาบพร้อมกัน ทำให้ทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) แตกพ่ายไป เจ้าราชวงศ์และพระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักหลบหนีจากเมืองหลบสักไปหาเจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสาร เจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสารเมื่อทราบว่าทัพของพระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ที่หนองบัวลำภู แลทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่หล่มสัก ล้วนแตกพ่ายถูกฝ่ายไทยยึดไปหมดแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ โดยสั่งพระยาสุโพและพระยาชานนให้คอยรักษาช่องเขาสารไว้
เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เดินทางถึงเมืองเวียงจันทน์ มีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) น้องชายของเจ้าพระยาอภัยภูธรซึ่งจับกุมไว้เป็นตัวประกันเสีย เจ้าอนุวงศ์ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ เดินทางออกจากเวียงจันทน์ไปตามแม่น้ำโขงไปยังเมืองนครพนม เดินทางขึ้นบกไปทางเมืองมหาไชยกองแก้ว (Mahaxay) และเดินบกขึ้นเหนือไปยังจังหวัดเหงะอาน หรือเมืองแง่อาน หรือเมืองล่าน้ำ พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม และพระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยกองแก้ว ติดตามสมทบเจ้าอนุวงศ์ไปเมืองญวนด้วยกัน
การรบที่ช่องเขาสารและส้มป่อย
แก้ทัพหน้าของทัพหลวงหลังจากที่เอาชนะทัพลาวได้ที่หนองบัวลำภูแล้ว จึงเดินทัพต่อไปทางบ้านสามหมอไปตั้งที่บ้านส้มป่อย (ตำบลนาด่าน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) กรมพระราชวังบวรฯเสด็จมาตั้งทัพหลวงที่น้ำเชิน ฝ่ายพระยาสุโพ พระยาชานน และพระยาเชียงสา แม่ทัพฝ่ายลาวซึ่งรักษาช่องเขาสารอยู่นั้น เมื่อทราบข่าวว่าฝ่ายไทยมาตั้งทัพอยู่ที่ส้มป่อย จึงยกทัพมาเข้าล้อมทัพไทยที่ส้มป่อยอย่างไม่ทันตั้งตัว นำไปสู่การรบที่ส้มป่อย ฝ่ายทัพไทยนำโดยพระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา และเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เห็นว่าฝ่ายลาวมีกองกำลังจำนวนมาก ไม่ออกสู้รักษาค่ายไว้ก่อน ทัพลาวล้อมทัพไทยอยู่นานเจ็ดวันที่ส้มป่อย ฝ่ายไทยเริ่มขาดเสบียงอาหาร ทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธียกทัพไปถึงส้มป่อยจึงยกทัพเข้าโจมตีทัพลาวเพื่อช่วยทัพหน้า แต่ฝ่ายลาวก็ล้อมทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธีไว้เช่นกัน จนกระทั่งทัพของกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ยกตามหลังมาถึงจึงเข้าโจมตีทัพลาวเพื่อช่วยทัพของกรมหมื่นนเรศร์โยธีออกมาจากที่ล้อม พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา และเจ้าพระยามหาโยธา เมื่อได้ยินเสียงปืนด้านนอกเข้าใจว่ายไทยยกทัพมาช่วยแล้ว จึงโจมตีทัพลาวฝ่าวงล้อมออกมาได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2370 ทัพลาวแตกพ่ายไปถอยจากช่องเขาสารกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์
ยึดเมืองเวียงจันทน์
แก้เมื่อฝ่ายไทยสามารถเอาชนะทัพลาวได้ในการรบที่ส้มป่อยแล้วนั้น จึงยกทัพข้ามช่องเขาสารไปตั้งที่เมืองพานพร้าว (ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองเวียงจันทน์ กรมหมื่นนเรศร์โยธีและกรมหมื่นเสนีบริรักษ์เสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำโขงเข้าเมืองเวียงจันทน์ สามารถยึดเมืองเวียงจันทน์ได้แต่เจ้าอนุวงศ์ได้หลบหนีไปแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกทัพหลวงมาตั้งที่เมืองพานพร้าว มีพระราชบัณฑูรให้รื้อกำแพงอิฐเมืองเวียงจันทน์ลงและเผาเมืองเวียงจันทน์[13] รวมทั้งตัดต้นไม้ที่มีผล ทัพของหัวเมืองล้านนาและหลวงพระบางจำนวน 20,000 คน ยกทัพมาถึงเมืองพานพร้าวในเวลาเดียวกัน รวมทั้งเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาไกรโกษายกทัพจากหล่มสักมาติดตามทัพหลวงถึงเมืองพานพร้าวเช่นกัน
ฝ่ายเจ้าอุปราช (ติสสะ) ที่เมืองสุวรรณภูมิเมื่อพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยึดเมืองจำปาศักดิ์ได้แล้ว จึงถอยทัพมาตั้งที่เมืองหนองหาร และเมื่อทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้หลบหนีไปแล้วและทัพหลวงมาตั้งที่เมืองพานพร้าว จึงเดินทางมายังเมืองพานพร้าวเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯขอสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย กราบทูลว่าตนเองนั้นไม่เห็นด้วยกับการกบฏของเจ้าอนุวงศ์แต่จำใจยอมทำตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์เพื่อรักษาชีวิต โดยมีพระสุริยภักดี (ป้อม) เป็นพยานอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) ถือน้ำพิพัฒนสัตยาและไปรวบรวมราษฏรชาวลาวกลับมาตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองดังเดิม
ฝ่ายพระยาเชียงสาแม่ทัพลาว หลังจากที่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่ส้มป่อยแล้ว หลบหนีไปตั้งทัพที่โพนเชียงหวังคอยสู้กับฝ่ายไทยอยู่ กรมพระราชวังบวรฯมีพระราชบัณฑูรให้พระยาไกรโกษายกทัพจากพานพร้าวไปปราบพระยาเชียงสาที่โพนเชียงหวัง ปรากฏว่าพระยาไกรโกษาถูกพระยาเชียงสาตีแตกทัพพ่ายกลับมา กรมพระราชวังบวรฯทรงพระพิโรธมีพระราชบัณฑูรจะให้ประหารชีวิตพระยาไกรโกษา แต่ทรงเห็นว่าเป็นข้าหลวงเดิมจึงลดโทษเหลือปลดออกจากตำแหน่ง จากนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยาเพชรพิไชย (เกศ) และพระยาเกษตรรักษายกทัพจากพานพร้าวไปตีทัพของพระยาเชียงสาที่โพนเชียงหวังอีกครั้ง นายกองคำแม่ทัพลาวนำทัพเข้าตีด้านหลังของทัพพระยาเพชรพิไชย แต่พระยาเพชรพิไชยสามารถเอาชนะทัพลาวได้นายกองคำถูกปืนเสียชีวิตในที่รบ พระยาเชียงสายกทัพหลบหนีจากโพนเชียงหวังไปตามแม่น้ำโขง พระยาเพชรพิไชยยกทัพติดตาม ไปพบกับพระยาเชียงสาอีกครั้งที่ห้วยหลวง พระยาเพชรพิไชยเอาชนะพระยาเชียงสาได้อีกครั้ง พระยาเชียงสาจึงหลบหนีไปพบกับพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่เมืองยโสธร ขอเข้าสวามิภักด์ต่อฝ่ายไทย เมื่อพระยาเพชรพิไชยทราบว่าพระยาเชียงสาได้สวามิภักด์ต่อฝ่ายไทยแล้วจึงยกทัพกลับ
ในเวลานั้นเกิดโรคระบาดไข้ป่วงขึ้นในกองทัพฝ่ายไทยที่เมืองพานพร้าว เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกซึ่งตั้งทัพอยู่ที่พานพร้าวล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรม กรมพระราชวังมหาศักดิพลเสพย์เสด็จยกทัพหลวงจากเมืองพานพร้าวกลับมายังกรุงเทพฯในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2370 กราบทูลข้อราชการและผู้มีความดีความชอบในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในครั้งนี้ คุณหญิงโม ภริยาของพระยาสุริยเดช (ทองคำ) เมืองนครราชสีมา ได้รับการแต่งตั้งเป็น "ท้าวสุรนารี" เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงมีพระราชโองการ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก แทนที่เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่ถึงแก่อสัญกรรมไป และเลื่อนพระสุริยภักดี (ป้อม) ขึ้นเป็นพระราชวรินทร์
เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จัดการบ้านเมืองลาวเป็นเวลาประมาณแปดเดีอน เรียบร้อยรวบรวมผู้คนตั้งบ้านเมืองแล้ว จึงค้นหาพระบางจนพบ และเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯพร้อมกับเจ้าอุปราช (ติสสะ) และพระพุทธรูปพระบางในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2371 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า “ตัวอ้ายอนุก็ยังจับไม่ได้ จะกลับมาตั้งบ้านเมืองอีกประการใดก็ยังไม่แจ้ง เมืองเวียงจันทน์นี้เป็นกบฏมาสองครั้งแล้ว ไม่ควรจะเอาไว้เป็นบ้านเมืองให้อยู่สืบไป ให้กลับไปทำลายล้างเสียให้สิ้น อย่าให้ตั้งติดอยู่ได้”[13] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ว่าที่สมุหนายกไปก่อน ยังไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นสมุหนายกอย่างเป็นทางการ[13] และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส สร้างพระวิหารไว้ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง ส่วนเจ้าอุปราช (ติสสะ) โปรดฯให้ไปพำนักอยู่ที่บ้านเจ้าอนุวงศ์เดิมที่บางยี่ขัน ทางเมืองยโสธรเจ้าฝ่ายหน้าผู้มีความชอบในการช่วยเหลือเจ้าพระยาราชสุภาวดีในการรบที่เวียงคุกได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่ และท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ได้เป็นอุปราชเมืองยโสธร
เจ้าอนุวงศ์ลี้ภัยที่เวียดนาม
แก้เจ้าอนุวงศ์ พร้อมทั้งพระโอรสคือเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์และข้าราชบริพารจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500 คน[13] อพยพหลบหนีจากเมืองเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2370 ล่องไปตามแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมคือ พระบรมราชา (มัง) ติดตามขบวนของเจ้าอนุวงศ์เดินบกไปทางเมืองมหาชัยกองแก้ว ขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองพวนแคว้นเชียงขวาง และเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดเหงะอานของเวียดนามราชวงศ์เหงียนในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2370 เจ้าอนุวงศ์และคณะผู้ลี้ภัยพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองกวี่เหิป (Quỳ Hợp, 葵合)[14] ในแคว้นเหงะอาน พระเจ้ามิญหมั่งแห่งเวียดนามมีพระราชโองการให้ฟาน วัน ทวี้ (Phan Văn Thúy, 潘文璻) เป็นแม่ทัพยกทัพญวนไปประจำการที่ชายแดนแคว้นเหงะอาน เพื่อคอยระวังไม่ให้ทัพฝ่ายไทยยกล่วงล้ำตามเจ้าอนุวงศ์เข้ามาในเขตแดนของเวียดนาม เจ้าอนุวงศ์ส่งพระโอรสเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) และพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม นำคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามิญหมั่งที่เมืองเว้ พระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยถึงแก่กรรมที่เมืองญวน ขุนนาง องต๋ากวน (Ông Tả Quân, 翁左軍) หรือเล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) และฮว่างกิมฮว่าน (Hoang Kim Hoan)[14] ทูลเสนอพระเจ้ามิญหมั่งให้เปิดศึกสงครามกับสยามโดยตรงเพื่อช่วยเจ้าอนุวงศ์ให้กลับไปครองอาณาจักรเวียงจันทน์ดังเดิม แต่พระเจ้ามิญหมั่งทรงไม่เห็นชอบด้วย พระเจ้ามิญหมั่งมีพระประสงค์ที่จะรักษาเสถียรภาพ[14] ที่ชายแดนลาวญวนทางเมืองเหงะอาน
หลังจากที่เจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์ลาวประทับอยู่ที่เมืองกวี่เฮิปอยู่เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีกับสองเดือน พระเจ้ามิญหมั่งทรงตัดสินพระทัยที่จะส่งเจ้าอนุวงศ์คืนให้แก่ฝ่ายไทยเพื่อเปิดการเจรจา[14][13] ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2371 พระเจ้ามิญหมั่งมีพระราชโองการให้ฟาน วัน ทวี้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ไปส่งที่ชายแดนลาวญวนเมืองเหงะอาน เมื่อฟาน วัน ทวี้นำเจ้าอนุวงศ์และคณะไปส่งถึงชายแดนแล้ว เจ้าอนุวงศ์ร้องขอให้ฟาน วัน ทวี้จัดกองกำลังไปส่งเจ้าอนุวงศ์ถึงเมืองเวียงจันทน์ ฟาน วัน ทวี้จึงมีคำสั่งให้เหงียน จ่ง ท้าย (Nguyễn Trong Thai)[14] แบ่งกองกำลังญวนคุ้มครองเจ้าอนุวงศ์และคณะไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์
การกบฏในช่วงหลัง (กรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2371)
แก้เจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง
แก้ในขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์พระยาพิไชยสงครามขุนนางฝ่ายไทยเป็นผู้รักษาการณ์อยู่ ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) กำลังเดินทัพถึงเมืองพานพร้าว เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ส่งข้อความมาถึงเมืองจันและเมืองซ้ายขุนนางลาวที่เมืองเวียงจันทน์ว่า ญวนได้พาเจ้าอนุวงศ์เจ้าราชวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์ลาวและข้าราชบริพารชาวลาวจำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน[13] กลับมายังเมืองเวียงจันทน์ เมืองจันและเมืองซ้ายจึงนำความมาแจ้งแก่พระยาพิไชยสงคราม พระยาพิไชยสงครามจึงนำความแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีทราบความว่าญวนกำลังนำตัวเจ้าอนุวงศ์กลับมาเวียงจันทน์ จึงรีบเดินทางไปถึงเมืองพานพร้าว
เหงียน จ่ง ท้ายนำกองกำลังญวน 80 คน นำเจ้าอนุวงศ์และคณะชาวลาวมาถึงเมืองเวียงจันทน์ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2371 เหงียน จ่ง ท้ายกล่าวผ่านล่ามแก่พระยาพิไชยสงครามว่า “อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ ท่านแม่ทัพมาถึงแล้ว อนุราชวงศ์จะมาหาท่านแม่ทัพให้พาลงไปกรุง แล้วพระเจ้าเวียดนามได้มีพระราชสาสน์ไปขอโทษอนุทางเรือ อนุเคยขึ้นแก่กรุงไทยอย่างไร ญวนก็ไม่ขัดขวาง”[13] เจ้าอนุวงศ์พูดคุยกับพระยาพิไชยสงคราม แล้วนำของต่างๆเช่นข้าวสาร หมากพลู และหม้อทองเหลือง มาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการไทยในเวียงจันทน์เป็นอันมาก อยู่ต่อมาวันรุ่งขึ้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพมาถึงเมืองพานพร้าวตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ทางแม่น้ำโขง เจ้าอนุวงศ์นำกองกำลังลาวเข้าล้อมฝ่ายไทยในเมืองเวียงจันทน์อย่างไม่ทันตั้งตัว สังหารพระยาพิไชยสงครามและข้าราชการฝ่ายไทยไปจำนวนมาก บรรดาชาวไทยวิ่งมาที่ริมแม่น้ำเตรียมจะขึ้นเรือหนีข้ามฝั่งโขงมายังพานพร้าว แต่ฝ่ายลาวได้เก็บเรือไปหมดสิ้น ชาวไทยจึงว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงมา ฝ่ายลาวติดตามมาฆ่าฟันชาวไทยในแม่น้ำโขงเสียชีวิตไปจำนวนมาก เหลือชาวไทยเพียง 40-50 คนเท่านั้นที่สามารถรอดข้ามฝั่งโขงมาถึงเมืองพานพร้าวได้
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) เห็นการรบราฆ่าฟันเกิดขึ้นที่หาดทรายหน้าเมืองเวียงจันทน์ เข้าใจว่าเจ้าอนุวงศ์ได้ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้เรียบร้อยแล้ว จะยกทัพข้ามไปช่วยยังไม่มีความพร้อมกำลังคนไม่เพียงพอ หมื่นรักษานาเวศซึ่งว่ายน้ำข้ามโขงรอดชีวิตมาได้ นำความมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นว่าที่ตั้งเมืองพานพร้าวไม่ปลอดภัยเนื่องจากสถานการณ์แย่ลง ควรจะถอยทัพลงไปแต่ถ้าถอยไปถึงนครราชสีมาก็จะไกลเกินไป พระยาเชียงสาเสนอว่าให้ถอยทัพไปอยู่ที่เมืองยโสธรก่อน เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นด้วยจึงถอยทัพลงไปทางใต้ ฝ่ายญวนเหงียน จ่ง ท้ายเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นยึดอำนาจคืนจากฝ่ายไทย ผิดพระราชโองการของพระเจ้ามิญหมั่งที่ให้เจ้าอนุวงศ์มาเจรจากับฝ่ายไทย จึงนำกำลังญวนออกจากเวียงจันทน์กลับไปยังเมืองเหงะอานนำความทูลพระเจ้ามิญหมั่งให้ทรงทราบ
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2371 ราชทูตของพระเจ้ามิญหมั่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ถวายสาส์นของพระเจ้ามิญหมั่ง ใจความว่าเจ้าอนุวงศ์หนีกองทัพไทยไปอยู่เมืองเหงะอานของญวน เจ้าอนุวงศ์ไม่ทราบว่าตนเองกระทำความผิดอันใดทัพไทย พระเจ้าเวีดยนามมีความสงสารเจ้าอนุวงศ์จึงให้พำนักอาศัยอยู่เมืองเหงะอานหนึ่งปี แล้วแต่งไพร่พลคุมเจ้าอนุวงศ์มาส่งคืนให้แก่ไทย พระเจ้าเวียดนามทรงย้ำแก่เจ้าอนุวงศ์ให้จงรักภักดีต่อฝ่ายไทย และแต่งสาส์นเข้ามากรุงเทพเพื่อขอโทษแทนเจ้าอนุวงศ์ เพื่อให้อาณาจักรเวียงจันทน์เป็นขันธสีมาของทั้งสยามและเวียดนามต่อไป นอกจากนี้ "องเหลโบะ" (Ông Lễ bộ, 翁禮部) เจ้ากรมพิธีการของเวียดนาม แต่งหนังสือผ่านทางเขมรมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กล่าวโทษกองทัพฝ่ายไทยที่เมืองเวียงจันทน์ว่าไม่ยอมให้ข้าวให้อาหารแก่เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงลุกฮือขึ้นขับไล่ฝ่ายไทยออกไปจากเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระประสงค์จะพระราชทานพระราชสาส์นตอบพระเจ้ามิญหมั่งฝากทูตญวนไป แต่ทูตญวนไม่รับแจ้งว่าตามธรรมเนียมญวนฝ่ายไทยต้องตั้งคณะทูตไปถวายสาส์นที่เมืองเว้เอง เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงฝากจดหมายของตนไปถึงองเหลโบะ ชี้แจงว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นสังหารพระยาพิไชยสงครามและข้าราชการไทยที่เมืองเวียงจันทน์ ทูตญวนออกจากกรุงเทพฯไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2371
การรบที่บกหวาน
แก้เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ถอยทัพจากเมืองพานพร้าวลงทางใต้ไปยังเมืองยโสธรแล้ว เจ้าอนุวงศ์จึงมีคำสั่งให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระโอรสยกทัพลาวจากเมืองเวียงจันทน์ติดตามเจ้าพระยาราชสุภาวดีลงไป ทัพของเจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่สามารถเคลื่อนที่ลงทางใต้ได้ทันเวลา เจ้าพระยาราชสุภาวดีและท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) อุปราชเมืองยโสธร จึงตัดสินใจตั้งรับทัพลาวของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่บกหวาน (ตำบลบกหวาน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย) นำไปสู่การรบที่บกหวาน ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2371[13] ทัพฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเข้าสู้กัน เจ้าพระยาราชสุภาวดีและเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ต่อสู้กันตัวต่อตัว เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแผลถลอกตั้งแต่อกลงไปจนถึงท้องน้อยแต่ไม่เข้าตัว เจ้าพระยาสุภาวดีตกจากม้าล้มลง เจ้าราชวงศ์จะใช้ดาบฟันเจ้าพระยาราชสุภาวดี หลวงพิพิธน้องชายของเจ้าพระยาราชสุภาวดีออกรับแทน เจ้าราชวงศ์ฟันหลวงพิพิธเสียชีวิต เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้โอกาสจึงใช้มีดแทงเข้าที่ต้นขาของเจ้าราชวงศ์ ในเวลานั้นเองท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) นำทัพฝ่ายไทยมาช่วยเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทันเวลา ฝ่ายไทยยิงปืนถูกเข่าของเจ้าราชวงศ์ล้มลง บรรดาบ่าวของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) จึงยกเจ้าราชวงศ์ขึ้นแคร่ หามออกจากสนามรบไป ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเสื้อใหม่และขึ้นแคร่ติดตามเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ไปแต่ไม่ทันไม่พบตัว เจ้าราชวงศ์ซึ่งได้รับบาดเจ็บหลบหนีกลับไปยังเวียงจันทน์
ติดตามเจ้าอนุวงศ์
แก้ทัพฝ่ายลาวพ่ายแพ้ในการรบที่บกหวาน แตกพ่ายถอยกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) และท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ยกทัพฝ่ายไทยกลับขึ้นไปที่เวียงจันทน์ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่าทัพฝ่ายลาวพ่ายแพ้ที่บกหวานแล้ว จึงปรึกษากับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) และเจ้าสุทธิสาร (โป้) ตัดสินใจเดินทางหลบหนีออกจากเวียงจันทน์อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 ไปพึ่งญวนเวียดนาม เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์เดินทางออกจากเวียงจันทน์ไปก่อน เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เนื่องจากได้รับบาดเจ็บเดินทางทางบกไม่ไหว จึงหลบหนีจากท่าข้ามช้างไปทางแม่น้ำโขงขึ้นบกที่เมืองมหาชัยกองแก้ว[13] เจ้าสุทธิสารไม่ทราบจึงเดินทางติดตามไปวันรุ่งขึ้น ขาดแคลนช้างจึงต้องเดินเท้า เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพมาถึงพานพร้าว แต่งคน 600 คนยกข้ามแม้น้ำโขงไปยึดเมืองเวียงจันทน์ พบว่าเจ้าอนุวงศ์เจ้าสุทธิสารและพระราชวงศ์เวียงจันทน์ไปอพยพหนีออกจากเวียงจันทน์ไปแล้วหนึ่งวันก่อนหน้านี้ เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้คนออกติดตามจับกุมเจ้าอนุวงศ์ สามารถจับเจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์ส่วนหนึ่งมาได้และส่งให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่พานพร้าว ได้ความว่าเจ้าอนุวงศ์กำลังเดินทางไปเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งให้ทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบ เหลือไว้เพียงวัดวาอารามเท่านั้น และกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์ทั้งหมดมาไว้ที่พานพร้าว เจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งตัวเจ้าสุทธิสาร (โป้) ลงมาที่กรุงเทพฯ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เดินทางไปยังเมืองเหงะอานผ่านทางเมืองพวน โดยพำนักอยู่ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่มีผู้ติดตามอารักขา 50 คน[13]
ฝ่ายเวียดนามพระเจ้ามิญหมั่งเมื่อทรงทราบว่าเจ้าอนุวงศ์ลุกฮือขึ้นต่อฝ่ายไทยอีก ไม่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยตามพระราชโองการ จึงมีพระราชโองการให้ฟาน วัน ทวี้เจ้าเมืองเหงะอานส่งสาส์นมาถึงเจ้าพระยาราชสุภาวดีและเจ้าอนุวงศ์ ให้สงบศึกแล้วต่อกัน ฟาน วัน ทวี้เจ้าเมืองล่าน้ำจัดให้กาย ด่ย ท้ง (Cai đội Thống, 該隊統) หรือฟาน วัน ท้ง (Phan Văn Thống, 潘文統) และเล ดิ่ญ ส็วต (Lê Đình Duật, 黎廷遹) เป็นทูตญวนเดินทางนำสาส์นมามอบให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี คณะทูตญวนเดินทางมาถึงเมืองมหาชัยกองแก้ว จากนั้นเข้าพบกับฝ่ายไทยที่เมืองนครพนม ที่เมืองนครพนมมีพระวิชิตสงครามรักษาการณ์อยู่ พระวิชิตสงครามส่งหนังสือทูตญวนมามอบแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีคำสั่งว่า ครั้งก่อนเพื่อหลงเชื่อฝ่ายญวน ฝ่ายไทยจึงเพลี่ยงพล้ำพระยาพิไชยสงครามถูกสังหาร ครั้งนี้อย่าไปเชื่อเลย ให้สังหารทูตญวนไปเสีย[13] พระวิชิตสงครามที่เมืองนครพนมจึงออกอุบายจัดงานเลี้ยงให้แก่คณะทูตญวน แล้วนำกำลังเข้าสังหารทูตญวนไปเกือบหมดสิ้น เหลือเล ดิ่ญ ส็วตทูตญวนได้รับบาดเจ็บ พระวิชิตสงครามส่งตัวเล ดิ่ญ ส็วตให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองเวียงจันทน์
เจ้าน้อยเมืองพวน ซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์ เกรงว่าทัพฝ่ายไทยจะยกติดตามเจ้าอนุวงศ์เข้ามาในเมืองพวน จึงส่งคนนำความมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2371 ว่า เจ้าน้อยเมืองพวนจะส่งจนออกตามจับเจ้าอนุวงศ์มามอบให้แก่ฝ่ายไทย ขอฝ่ายไทยอย่ายกทัพเข้าไปในเมืองพวนเลย เจ้าน้อยเมืองพวนอบหมายให้เพี้ยนามโคตรกับเพี้ยอุทุม ตามค้นหาเจ้าอนุวงศ์จนพบกับเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่ เจ้าน้อยเมืองพวนจึงให้เพี้ยนามโคตรเดินทางไปแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เวียงจันทน์และแจ้งแก่เจ้ามันธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า ขณะที่พบตัวเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮแล้ว ขอให้จัดกำลังไปจับกุมโดยเร็ว เจ้ามันธาตุราชแห่งหลวงพระบางจึงจัดให้ท้าวมหาพรหมนำกำลังไปจับกุมเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮพร้อมกับพระราชวงศ์เวียงจันทน์มาได้ เจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งพระอินทรเดชะและพระยาเชียงสายกกำลังไปจับเจ้าอนุวงศ์ที่น้ำไฮ พระอินทรเดชะและพระยาเชียงสาพบกับท้าวมหาพรหมพร้อมกับเจ้าอนุวงศ์ที่หาดเดือย พระอินทรเดชะและพระยาเชียงสาจึงนำตัวเจ้าอนุวงศ์พร้อมพระราชวงศ์เวียงจันทน์มามอบให้แก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองเวียงจันทน์ ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2371 แต่ไม่พบตัวเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีให้ค้นหาตัวเจ้าราชวงศ์ทั้งทางบกและทางน้ำแต่ไม่พบ
วาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์
แก้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) มีคำสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา และพระโยธาสงคราม นำกำลัง 300 คน คุมเจ้าอนุวงศ์พร้อมทั้งพระราชวงศ์เวียงจันทน์เดินทางมายังกรุงเทพฯ เมื่อเดินทางถึงเมืองสระบุรี พระอนุรักษ์โยธาและพระโยธาสงครามจึงสร้างกรงขึ้นกลางเรือ ให้เจ้าอนุวงศ์อยู่ในกรงนั้น และล่องเรือกรงเจ้าอนุวงศ์ลงมาจนถึงกรุงเทพฯในเดือนมกราคมพ.ศ. 2372 มีพระราชโองการฯให้สร้างกรงเหล็กใหญ่ขึ้นที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์[13] มีรั้วตารางเหล็กสี่ด้าน สำหรับจองจำเจ้าอนุวงศ์ และมีกรงเล็กๆอื่นอีกสิบสามกรงสำหรับพระราชวงศ์เวียงจันทน์องค์อื่นๆ มีการเตรียมเครื่องลงทัณฑ์ต่าง ๆ เช่นครกใหญ่ เบ็ดเกี่ยว กระทะต้ม ขวานผ่าอก ในทุกวันตอนเช้าให้เจ้าอนุวงศ์ไปในกรงใหญ่ ให้เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าสุทธิสาร (โป้) และพระราชวงศ์เวียงจันทน์อื่น ๆ รวมทั้งสิ้นสิบสี่องค์ เข้าไปอยู่ในกรงต่าง ๆ ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครมเหสีของเจ้าอนุวงศ์ถึงพัดกาบหมากเข้าไปปรนนิบัติดูแลเจ้าอนุวงศ์อยู่ในกรง ราษฎรชาวกรุงเทพต่างพากันมาดูเจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์เวียงจันทน์ บรรดาราษฎรที่มีญาติพี่น้องไปเสียชีวิตในสงครามต่างมาสาปแช่ง[13] ถึงเวลาบ่ายให้สมาชิกพระราชวงศ์เวียงจันทน์ขึ้นขาหยั่ง พอถึงเวลาเย็นจึงให้กลับเข้าไปในที่กุมขังตามเดิม เป็นเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาเจ็ดวัน เจ้าอนุวงศ์ล้มป่วยลงและถึงแก่พิราลัยในที่สุด ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2372[16]
นายจาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) มิชชันนารีชาวอังกฤษได้ไปดูวาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ และบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง Journal of a Nine Months Residence in Siam ของนายทอมลินเองว่า "เจ้าลาวผู้ชราภาพถึงแก่พิราลัยแล้วจึงรอดพ้นจากความทรมาน เจ้าลาวนั้นค่อยๆตรอมพระทัยลงทีละเล็กน้อย จนถึงแก่พิราลัยอย่างพระทัยสลาย พระศพถูกนำไปที่ลานประหารพระเศียรถูกบั่นออก และพระศพถูกนำไปแขวนไว้ที่ตะแลงแกงริมแม่น้ำแห่งหนึ่งทางใต้ของกรุงเทพฯ ซึงสัตว์และนกต่างมากัดกิน ข่าวลือว่าเชื้อพระวงศ์ลาวองค์อื่นนั้นจะได้รับการละเว้นชีวิต แต่อาจถูกจองจำไปชั่วชีวิต"[16] นายคาร์ล กึตซลาฟ (Karl Gützlaff) มิชชันนารีชาวเยอรมันซึ่งอยู่ในกรุงเทพเวลาเดียวกับนายทอมลิน บันทึกในหนังสือ Journal of Three Voyages Along the Coast of China, in 1831, 1832 and 1833 With Notices of Siam, Corea, and the Loo-Choo Islands ว่า "พระโอรส (ของเจ้าอนุวงศ์ อาจหมายถึงเจ้าราชบุตร) หลบหนีแต่ถูกติดตามจึงปลิดชีพพระองค์เอง"
เรื่องราววาระสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Kingdom and People of Siam ของเซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2400 ว่า "[เจ้าอนุวงศ์]ถูกจองจำในกรงเหล็กขนาดใหญ่ท่ามกลางดวงสุริยันที่แผดเผา ต้องป่าวประกาศว่าพระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงพระเมตตา แต่เจ้าอนุวงศ์เองนั้นกระทำความผิดใหญ่หลวงและสมควรได้รับการลงโทษ ในกรงนั้นมีครกใหญ่สำหรับตำ หม้อขนาดใหญ่สำหรับต้ม มีตะขอขนาดใหญ่สำหรับเกี่ยว มีดาบไว้เพื่อบั่นพระเศียร และมีหอกแหลมเพื่อให้นั่งเสียบ บางครั้งพระโอรสได้รับอนุญาตให้เข้าไปประทับด้วยกันในกรงนั้น เจ้าอนุวงศ์เป็นชายชราผมขาว และมีพระชนม์ชีพเพื่อทรมานหลังจากนั้นไม่นาน ความตายได้ดับความทุกข์ทรมานของเจ้าอนุวงศ์ลง พระศพถูกแขวนไว้ที่ริมแม่น้ำ ทางใต้ของกรุงเทพฯไปประมาณสองหรือสามไมล์"[17]
หลังจากที่หลบหนีขึ้นที่เมืองมหาชัยกองแก้วไปแล้ว เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) หายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ ทั้งสยามและเวียตนามต่างค้นหาตัวเจ้าราชวงศ์ไม่พบ มีตำนานลาวกล่าวว่าเจ้าราชวงศ์ซ่อนตัวอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเขตเมืองเซกอง[14] ทางตอนใต้ของลาว
ผลลัพธ์และบทสรุป
แก้แต่งตั้งขุนนางและเจ้าเมืองใหม่
แก้เมื่อจัดการบ้านเมืองลาวและภาคอีสานเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) พร้อมทั้งบรรดาแม่ทัพนายกองจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้แต่งตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก และพระราชวรินทร์ (ป้อม) เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาเทพ (ป้อม) บรรดาชาวลาวที่กวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์นั้น โปรดฯให้ไปอาศัยอยู่ที่สระบุรี สุพรรณบุรี นครชัยศรี[13]
เมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นราชธานีของลาวมาเป็นเวลากว่า 265 ปี ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง วัดวาอารามปราสาทราชวังบ้านเรือนต่างๆล้วนแต่ถูกทำลายสิ้น ยกเว้นวัดศีรษะเกษ เมืองเวียงจันทน์ยังคงสภาพปรักหักพังทรุดโทรมป่าขึ้นรกชัฎอยู่เป็นเวลาประมาณหกสิบปี จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2436 เมื่อลาวตกเป็นของฝรั่งเศส ทางการอาณานิคมฝรั่งเศสจึงฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองและวัฒนธรรมอีกครั้ง[18]
หลังจากสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ลิ้นสุดลง ทางกรุงเทพฯยุบอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ผนวกเมืองต่างๆในลาวภาคกลางมาปกครองโดยตรง ส่วนอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ของลาวใต้นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งให้เจ้าฮุย ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าโอเมืองอัตตะปือ แห่งวงศ์จำปาศักดิ์เดิม ไปครองเมืองเป็นเจ้าอาณาจักรจำปาศักดิ์ และเจ้านากอนุชาของเจ้าฮุยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์จำปาศักดิ์เดิมจึงได้กลับไปครองอาณาจักรจำปาศักดิ์อีกครั้ง
หลังการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ทางกรุงเทพฯได้แต่งตั้งเจ้าเมืองต่างๆในภาคอีสานขึ้นใหม่ดังนี้;
- ยโสธร: ท้าวฝ่ายบุตร โอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชแห่งจำปาศักดิ์ (ท้าวฝ่ายหน้า) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนอง และเข้าร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาในการรบที่เวียงคุก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนใหม่
- นครพนม: ชาวเมืองนครพนมถูกกวาดต้อนไปยังเมืองพนมสารคาม และเมืองพนัสนิคม ทางกรุงเทพฯจัดให้พระสุนทรราชวงศ์ (ท้าวฝ่ายบุตร) เจ้าเมืองยโสธร ปกครองเมืองนครพนมควบคู่กับเมืองยโสธรอีกเมือง มีตำแหน่งเป็นพระประเทศราชเช่นเดิม ฝ่ายพระบรมราชา (มัง) อดีตเจ้าเมืองนครพนมยังคงหลบหนีอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้ว พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายบุตร) เกลี้ยกล่อมให้พระบรมราชากลับเข้ามอบตัวต่อฝ่ายไทย จนในที่สุดในพ.ศ. 2381 พระบรมราชา (มัง) ยินยอมเดินทางกลับมามอบตัวที่เมืองนครพนม พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายบุตร) มีความชอบจึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น พระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชวาเวียงฯ
- หนองคาย: มีการตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ ยกบ้านไผ่[9]ขึ้นเป็นเมืองหนองคายเป็นเมืองใหม่ ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) อุปราชเมืองยโสธร ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนอง และมีความชอบในการช่วยเหลือเจ้าพระยาบดินทรเดชาในการรบที่บกหวาน ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายคนแรก
- สกลนคร: เจ้าอุปราช (ติสสะ) อนุชาของเจ้าอนุวงศ์ซึ่งหันมาเข้ากับฝ่ายไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองรักษาการณ์เมืองสกลนคร จนกระทั่งอุปราชเมืองมหาชัย (ติ) และราชวงศ์เมืองมหาชัย (คำ) บุตรทั้งสองของพระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัยซึ่งหนีไปถึงแก่กรรมที่เมืองญวนนั้น เดินทางกลับมาขอสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย ในพ.ศ. 2381 ทางกรุงเทพฯจึงแต่งตั้งราชวงศ์เมืองมหาชัย (คำ) ขึ้นเป็น พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร
- กาฬสินธุ์: ท้าววรบุตร (เจียม) หลานของพระยาไชยสุนทร (แพง) ซึ่งถูกเจ้าอุปราช (ติสสะ) ประหารชีวิตไปนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนใหม่
- ชัยภูมิ: นายเกตุ นักเทศน์ชาวเมืองกรุงเก่าอยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อมา
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหิศราธิบดี ที่ปรึกษากรมการเมืองนครราชสีมา
- ร้อยเอ็ด: เมื่อคราวกองทัพกบฏเจ้าอนุวงศ์ถูกตีแตกถอยร่น กำลังทหารจากเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งนำโดย พระขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมือง ได้เข้าโจมตีซ้ำเติมจนพวกกบฏแตกพ่าย พระขัติยะวงษา (สีลัง) มีความดีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี ตำแหน่งพระยาประเทศราชครองเมืองร้อยเอ็ด[19]
- โพนพิสัย: ท้าวตาดี บุตร พระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ด เชื้อสายเจ้าจารย์แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก จากความดีความชอบที่ได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า "เจ้าโพนแพง" ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็นเมืองโพนแพง ท้าวตาดีได้เป็น พระยาพิสัยสรเดช เจ้าเมืองคนแรก[20]
- สุวรรณภูมิ: พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ให้ท้าวภู บุตรชายของพระขัติยะวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก และยังเป็นน้องชายของพระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนที่ 2 ไปเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ สืบต่อมา เนื่องด้วยความดีความชอบจากการช่วยราชการสงครามครั้งไปช่วยรบในคราวศึกปราบเจ้าอนุวงศ์ เป็นที่ พระรัตนวงษา ตำแหน่งพระประเทศราช[19]
ความสัมพันธ์กับเวียดนาม
แก้สงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์สาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเวียดนามเสื่อมถอยลง เมื่อพระเจ้ามิญหมั่งทรงทราบว่าเจ้าอนุวงศ์ถูกฝ่ายไทยจับกุมตัวไปและคณะทูตเวียดนามถูกสังหารที่นครพนม ก็พิโรธมีพระราชโองการให้เจ้าน้อยเมืองพวนพร้อมทั้งครอบครัวไปเข้าเฝ้าที่เมืองเว้ พระเจ้ามิญหมั่งลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนและมเหสี จับกุมวงศ์และขุนนางเมืองพวนไว้ที่เมืองเว้ และผนวกเอาเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามโดยตรง เรียกว่า มณฑลเจิ๊นนิญ (Trấn Ninh, 鎮寧) พระเจ้ามิญหมั่งแต่งทูตเชิญราชสาส์นมาถึงกรุงเทพฯในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2372 ใจความว่าคณะทูตญวนถูกสังหารขอให้สยามส่งตัวผู้กระทำความผิดให้แก่ฝ่ายเวียดนาม และขอให้ฝ่ายไทยตั้งเมืองเวียงจันทน์ขึ้นดังเดิม ฝ่ายไทยจะตอบพระราชสาส์นทูตญวนไม่รับ แจ้งว่าให้ไทยแต่งคณะทูตเชิญราชสาส์นไปเอง เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงแต่งหนังสือไปหาองเหลโบะ แจ้งว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครคือผู้กระทำผิด เนื่องจากเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพฝ่ายไทยในภาคอีสานนั้นยังไม่กลับทูลข้อราชการ ต้องใช้เวลาสอบสวนหาความจริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชโองการให้แต่งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปยังเมืองไซ่ง่อนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2372[13]
ในคราวที่พระพรหมอาสา (จุลนี) เจ้าเมืองมหาชัย หลบหนีไปเมืองญวนพร้อมกับเจ้าอนุวงศ์เมื่อพ.ศ. 2370 นั้น ทำให้เมืองมหาชัยแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระไปจากกรุงเทพ ในสงครามอานัมสยามยุทธพ.ศ. 2377 พระมหาเทพ (ป้อม อมาตยกุล) ยกทัพไปตั้งที่นครพนม และเข้าโจมตียึดเมืองมหาชัยได้ และพระราชวรินทร์ (ขำ ณ ราชสีมา) ยกทัพจากหนองคายเข้าโจมตีและยึดเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางมาจากญวน
อ้างอิง
แก้- ↑ Stuart-Fox 2008, pp. 11.
- ↑ Stuart-Fox 2008, pp. 237.
- ↑ Stuart-Fox 2008, pp. 349.
- ↑ Stuart-Fox 2008, pp. 231.
- ↑ Trần Trọng Kim, Việt Nam sử lược, Quyển 2, Chương 3
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
- ↑ "พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว". silpa-mag.com. 2022-08-04.
- ↑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล) หน้า 33Link
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เมษายน พ.ศ. 2546.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ. คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 วรรณกรรมภาคอีสาน (North-Eastern Thai Literature). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
- ↑ 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 13.14 13.15 13.16 13.17 13.18 13.19 13.20 13.21 13.22 13.23 13.24 13.25 13.26 13.27 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 14.8 Ngaosyvathn, Mayoury. Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Cornell University Press, 6 ส.ค. 2561.
- ↑ จดหมายเหตุนครราชราชสีมา. กรมศิลปากร, พ.ศ. 2497.
- ↑ 16.0 16.1 Tomlin, Jacob. Journal of a Nine Months' Residence in Siam. Westley & Davis, 1831.
- ↑ Bowring, John. The Kingdom and People of Siam: With a Narrative of the Mission to that Country in 1855. J.W. Parker, 1857.
- ↑ Askew, Marc et al. Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. Routledge, 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549
- ↑ 19.0 19.1 ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดมหาสารคาม. มหาสารคาม : โรงพิมพ์ปรีดาการพิมพ์, 2542
- ↑ "ประวัติความเป็นมา โพนพิสัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-03-08.
บรรณานุกรม
แก้- Baird, Ian G. (2007). Contested History, Ethnicity, and Remembering the Past: The Case of the Ay Sa Rebellion in Southern Laos. Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies. 18(2): 120-160.
- Wyatt, David (2003). A Short History of Thailand. New Haven, Connecticut: Yale University Press. ISBN 9780300084757.
- Stuart-Fox, Martin (2008). Historical Dictionary of Laos. Lanham, Maryland: The Scarecrow Press, Inc. ISBN 9780810856240.
- Ngaosyvathn, Mayoury; Pheuiphanh Ngaosyvathn (1998). Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam, 1778-1828. Ithaca, New York: Cornell University Press. ISBN 0877277230.
- Simms, Peter; Sanda Simms (1999). The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History. Richmond, Surrey: Curzon Press. ISBN 9780700715312.
- Stuart-Fox, Martin (1998). The Lao Kingdom of Lan Xang: Rise and Decline. Bangkok, Thailand: White Lotus Press. ISBN 9748434338.
- Askew, Marc; William S. Logan; Colin Long (2007). Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. New York, New York: Routledge. ISBN 9780415596626.
- ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 67-71.