จังหวัดสุรินทร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สุรินทร์ (กูย: เหมืองสุลิน: เขมรถิ่นไทย:สเร็น ) เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีชื่อเสียงด้านการจับช้างเลี้ยงช้าง (กูยอาจีง) การทอผ้าไหม ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และภาษา มีชาวกูย เป็นชนพื้นเมือง เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายขอม อาศัยร่วมกับเขมรและลาว (ไทยอีสาน) เป็นอาทิ มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 11 และมีพื้นที่กว้างเป็นอันดับที่ 24
จังหวัดสุรินทร์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Surin |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
| |
คำขวัญ: สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์เน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | พิจิตร บุญทัน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 8,124.056 ตร.กม. (3,136.716 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 24 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 1,367,842 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 11 |
• ความหนาแน่น | 168.36 คน/ตร.กม. (436.1 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 19 |
รหัส ISO 3166 | TH-32 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | กันเกรา |
• ดอกไม้ | กันเกรา |
• สัตว์น้ำ | ปลานวลจันทร์น้ำจืด |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนเลี่ยงเมืองสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000 |
• โทรศัพท์ | 0 4451 1387 |
เว็บไซต์ | http://www.surin.go.th |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
แก้- คำขวัญประจำจังหวัด : สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม
- ถิ่นช้างใหญ่ หมายถึง มีคชอาณาจักร และศูนย์คชศึกษาซึ่งมีช้างอยู่มาก เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
- ผ้าไหมงาม หมายถึง มีการทอผ้าไหมที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทอผ้าไหมปักทอง ที่สวยงามมากติด 1 ใน 10 เมืองทอผ้าไหมในประเทศไทยที่บ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์
- ประคำสวย หมายถึง มีการประคำเงินขึ้นชื่อ ที่อำเภอเขวาสินรินทร์
- ร่ำรวยปราสาท หมายถึง มีปราสาทกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก และมีที่อายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย หนึ่งในนั้น คือ ปราสาทภูมิโปน
- ผักกาดหวาน หมายถึง มีการทำผักกาดดองที่หวานอร่อยขึ้นชื่อ
- ข้าวสารหอม หมายถึง มีข้าวสารที่ปลูกที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และหอมอร่อยที่สุดในโลก
- งามพร้อมวัฒนธรรม หมายถึง ดูจากการเล่นสงกรานต์ของชาวสุรินทร์และงานประเพณีมากมาย
- ตราประจำจังหวัด : พระอินทร์ทรงประทับช้างเอราวัณอยู่หน้าปราสาทหินศีขรภูมิ (เดิมเรียกว่าปราสาทหินบ้านระแงง)
- พระอินทร์ หมายถึง เทพเจ้าผู้ทรงเก่งกาจสามารถ
- ช้าง หมายถึง เมืองที่มีช้างอยู่มากมาย
- ปราสาทหิน คือ ปราสาทศีขรภูมิ
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกกันเกรา
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นกันเกรา
- พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด : มะค่าแต้
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลานวลจันทร์น้ำจืด
- ธงประจำจังหวัด : ธงสีเขียว-เหลือง-แสด ตรงกลางมีตราประจำจังหวัดติดอยู่
-
ตราประจำจังหวัดสุรินทร์
-
ต้นกันเกรา
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
แก้บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
การตั้งถิ่นฐาน
แก้สมัยทวารวดี พบมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาก่อนแล้วในดินแดนแถบอิสานใต้ ไปจนถึงบริเวณแถบอิสานกลางโดยชนชาติแรก ๆ ที่ได้เข้าอาศัยอยู่ ชาติพันธุ์ตระกูลมอญ ละว้า ลัวะ และขอม
สมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นต้นมา ซึ่งชาวขอม ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบดินแดนอิสานใต้ และแถบลาว สยาม กัมพูชา และญวน
สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเป็นมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ข้อมูลในพงศาวดาร เรื่องเล่าตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งกูย ลาวเขมร ทำให้มีภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
เมืองโบราณเขตเมืองเก่าของเมืองสุรินทร์ อยู่พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์มีมนุษย์เข้ามาตั้งชุมชนแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ลักษณะชุมชนเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ รูปวงรี หรือวงกลม ขนาดกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,300 เมตร เป็นลักษณะเฉพาะของแผนผังเมืองโบราณตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นซึ่งพบทั่วไปในเขตภาคอีสานตอนล่าง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุรินทร์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 98 ลงวันที่ 19 กันยายน 2521
จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 6 ในปี พ.ศ. 2534 พบว่าตัวเมืองยังมีสภาพที่สมบูรณ์เห็นแนวคูน้ำ-คันดินแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก
เมืองชั้นใน มีลักษณะเป็นรูปวงรีแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น มีขนาดกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,300 เมตร สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์ มีบางส่วนเท่านั้นที่ขาดหายไป
เมืองชั้นนอก มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชุมชนขอมโบราณ มีคูน้ำ 2 ชั้น คันดิน 1 ชั้นล้อมรอบ ขนาดกว้าง 1,500 เมตร ยาว 2,500 เมตร สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์ ยกเว้นด้านทิศใต้ พื้นที่บริเวณวังเก่าของเจ้าเมืองสุรินทร์ อยู่บริเวณที่เป็นโรงพยาบาลสุรินทร์ บริเวณวัดศาลาลอยและพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนสุรวิทยาคารและโรงเรียนสิรินธรในปัจจุบัน แต่อาคารโบราณสถานต่าง ๆ ได้ถูกรื้อถอนและทำลายทิ้งหมดแล้วเหลือแต่เพียงคูน้ำไว้ให้เห็นบริเวณด้านข้างโรงเรียนสิรินธร สะท้อนว่า พื่นที่ของเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เคยมีการตั้งถื่นฐานมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณเป็นเวลาลายพันปี
จากการศึกษาวิจัยการและสำรวจพบแหล่งโบราณคดีในจังหวัดสุรินทร์ กว่า 59 แห่ง ส่วนมากเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบรูปวงรี หรือวงกลม ได้แก่
แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี หมู่บ้านเป็นเนินสูงเกือบ 3 เมตร พบโบราณวัตถุได้แก่ เศษภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ รวมทั้งภาชนะเคลือบสีน้ำตาลแบบขอม และพบภาชนะที่ใช้บรรจุมีลักษณะเป็นภาชนะก้นมนขนาดใหญ่ ที่ใช้ในการฝังศพครั้งที่สองของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุอยู่ในราว 2,000-1,500 ปี มาแล้ว พบมากไปตลอดลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลางแถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และขอนแก่น เป็นลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นที่ตั้งของปราสาททนง เป็นโบราณสถานขอมชึ่งกรมศิลปากรมีโครงการขุดแต่ง ในปี พ.ศ. 2536 และได้ขุดตรวจชั้นดินทางด้านหลังของโบราณสถาน พบหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงการอยุ่อาศัยของมนุษย์มาก่อนจะสร้างปราสาท คือ โครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุประมาณ 35- 40 ปี ปัจจุบันได้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
นอกจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแหล่งนี้แล้ว ยังไม่มีการขุดค้นตามหลักวิชาการในอีกกว่า 50 แห่ง อาศัยเพียงเทียบเคียงค่าอายุกับแหล่งอื่น ๆ พอสรุปได้ว่ามีอายุอยู่ในราว 2,000-1,500 ปีมาแล้ว
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง (เป็นการเรียกไปเองของสมัยกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า "กูย (กวย)" ซึ่งยังมีอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างปราสาทหิน และจากอิฐดินเผาจำนวนมากมีกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอิสานใต้ ละโว้ (ลพบุรี) ไปจนถึงในเขตภาคกลาง (สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือสมัยอาณาจักร ทวารวดี) และภาคเหนือตอนล่าง
จากหลักฐานที่พบภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณจังหวัดสุรินทร์ และพบแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่ง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ มีผู้คนอาศัยนานมาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ใน พ.ศ. 2538 นายเจริญ ไวรวัจยกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พร้อมคณะได้ศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ห้วยลำพลับพลาด้านบน และลำน้ำมูลด้านใต้ เนื่องจากพบเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจสันนิษฐานว่าเนินเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบหลักฐานชุมชนสมัยทวารวดีทั้งภูมิภาค เมืองโบราณที่สำคัญ เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์, เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม, เมืองกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, เมืองโบราณบ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ, เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทวารวดี นั่นคือ การนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งก่อให้เกิดงานศิลปกรรมที่เนื่องในศาสนา ตามเมืองหรือชุมชนโบราณสมัยทวารวดีจะพบว่ามีการสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือรูปเคารพในศาสนาพุทธขึ้น ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ใบเสมา เป็นต้น
แหล่งวัฒนธรรมทวารวดีในสุรินทร์
แก้วัฒนธรรมทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือราว 1,000-1,400 ปีมาแล้ว
ในภาคอีสานตอนล่าง ชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุเดียวกับชุมชน ในจังหวัดต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล เช่น เมืองเสมา, เมืองเก่าโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, เมืองโบราณบ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์, เมืองโบราณบ้านประเคียบ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์, เมืองคงโคก อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, ชุมชนโบราณบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี (กรมศิลปากร, 2532 : 114-116) เป็นต้น
ลักษณะชุมชนวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดสุรินทร์มักจะมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนา เช่น ใบเสมา พระพุทธรูป พระพิมพ์ เป็นต้น ชุมชนบ้านพระพืด ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นแหล่งชุมชนโบราณลักษณะคันคูดินรูปวงกลม ชุมชนโบราณบ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ บริเวณบ้านตรึม มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า "หนองสิม" ภายในวัดตรึม เป็นเนินดินมีใบเสมาปักอยู่ 16 ใบ ลักษณะเป็นแบบแผ่นรูปกลีบบัว ทำด้วยศิลาแลงและหินบะชอลต์ ใบเสมาทุกใบจะมีลักษณะของการตกแต่งที่เหมือนกัน นั่นคือ แกะสลักเป็นรูปหม้อน้ำ อยู่ตรงกลางใบทั้งสองด้าน ยอดเป็นกรวยแหลมบรรจบกับส่วนบนของใบเสมาพอดี ขอบใบเสมาแกะเป็นเส้นตรงโค้งไปตามขอบ ทำให้ดูเหมือนว่าผิวหน้าทั้งสองด้านของใบเสมายื่นออกมา ปัจจุบันทางวัดได้สร้างอาคารคลุมใบเสมาและเนินดินไว้
ชุมชนโบราณบ้านไพรขลา ตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบใบเสมา ที่โนนสิมมาใหญ่และโนนสิมมาน้อย
โนนสิมมาใหญ่ อยู่ภายในหมู่บ้านทางทิศใต้ มีกลุ่มใบเสมาจำนวนมาก ปักอยู่ในตำแหน่งทิศทั้งแปด บางส่วนถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรวมกันไว้ในอาคารขนาดเล็ก ใบเสมาทั้งหมดทำจากศิลาแลง เป็นแผ่นรูปกลีบบัว ตรงกลางใบเป็นรูปหม้อน้ำมียอดเป็นรูปกรวยแหลม หรือเป็นสันขึ้นมาทั้งสองด้าน ลักษณะการตกแต่งเหมือนกับใบเสมาที่บ้านตรึม
โนนสิมมาน้อย
อยู่ทางทิศตะวันตกภายในหมู่บ้าน บริเวณนี้พบใบเสมาจำนวนเล็กน้อยอยู่รวมกันเพียงจุดเดียว ใบเสมาบางใบน่าจะปักอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยมีการย้ายใบเสมาใบอื่น ๆ มาวางรวมกันไว้ ลักษณะของใบเสมาเหมือนกับใบเสมาที่โนนสิมมาใหญ่ เป็นใบเสมาแบบแผ่นรูปกลีบบัว ตรงกลางใบทำเป็นสันทั้งสองด้าน ทั้งหมดทำจากศิลาแลง
ใบเสมาที่พบสันนิษฐานว่าปักไว้เพื่อกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนั้น
ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ จังหวัดสุรินทร์มีการสร้างปราสาทภูมิโพน ที่ ตำบลดม อำเภอสังขะ เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ในศาสนาฮินดูศิลปะขอมโบราณสมัยไพรกเมง (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ,2532) ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง พบชิ้นส่วนจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต 1 ชิ้น ซึ่งมีใช้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ทับหลังรูปสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งนก ประกอบวงโค้งที่มีวงกลมรูปไข่ ศิลปะขอมโบราณแบบไพรกเมง จำนวน 1 แผ่น
บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาท 500 เมตร มีหนองปรือซึ่งเป็นบารายขนาดใหญ่ แบบวัฒนธรรมขอมโบราณ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 300X500 เมตร อยู่ 1 แห่ง
ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 (ประมาณ 1,100 ปีมาแล้ว) ในเขตจังหวัดสุรินทร์ มีชุมชนวัฒนธรรมขอมโบราณที่สำคัญอีก 2 แห่ง คือ ชุมชนปราสาทหมื่นชัย บ้านถนน และชุมชนปราสาทบ้านจารย์ ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ
ปราสาทบ้านจารย์ เป็นปราสาทศิลปะขอมโบราณสมัยเกาะแกร์ ราวกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นปราสาทองค์เดียว ก่อด้วยอิฐ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ ปัจจุบันตัวปราสาทมีสภาพหักพังเหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ บนตัวปราสาทมีทับหลังขนาดใหญ่สลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ปราสาทหมื่นชัย เป็นปราสาทองค์เดียว ก่อด้วยอิฐ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ ปัจจุบันตัวปราสาทมีสภาพหักพังเหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ
ปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง
ปราสาททนง บ้านปราสาท ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ หินทราย และศิลาแลง ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ พลับพลาและปราสาทประธาน
ปราสาทบ้านไพล บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทอิฐ 3 องค์ มีขนาดเท่ากันตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ
ต่อมาในช่วงอารยธรรมขอมในประเทศกัมพูชาได้เจริญถึงขีดสุดราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย พบปราสาทหินและเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบขอม เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เมืองพิมาย อันมีปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลางของเมือง ตัวเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นต้น ช่วงระยะเวลานี้มีหลักฐานว่าเมืองสุรินทร์ได้รับอิทธิพลอารยธรรมของขอมโบราณอย่างมากเช่นกัน มีการปรับแผนผังเมืองให้ใหญ่ขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบขอมโบราณมีคูน้ำ 2 ชั้น คันดิน 1 ชั้น ล้อมรอบ ขนาดกว้าง 1,500 เมตร ยาว 2,500 เมตร ล้อมรอบตัวเมืองเดิมรูปวงรีในสมัยก่อนหน้านั้นไว้ภายในอีกชั้นหนึ่ง ส่วนพื้นที่อำเภอต่าง ๆ พบปราสาทขอมโบราณอีกหลายแห่ง
นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดีลงความเห็นว่า บริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำมูลด้านตะวันออกและชุมชนทุ่งสำริด ในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ และลุ่มแม่น้ำมูล-ชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี คือ แหล่งอารยธรรมโบราณ บรรพชนของชุมชนเหล่านี้ ได้ประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบหนา ในยุคแรก ๆ ไม่มีลวดลายเขียนสี ในยุคต่อมาพัฒนาเป็นการเขียนสีและชุบน้ำโคลนสีแดง นอกจากนี้ยังได้ค้นพบหลักฐานแสดงการเปลี่ยนแปลงทางคติชนวิทยา ที่สำคัญของมนุษยชาติ คือ ประเพณีฝังศพครั้งที่สองโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะก่อนการนำไปฝัง ซึ่งการฝังครั้งแรกนั้นจะนำร่างผู้ตายลงในหลุมระยะหนึ่ง แล้วจึงขุดขึ้นเพื่อทำพิธีฝังครั้งที่สอง ลักษณะสำคัญของชุมชนเหล่านี้อีกอย่างหนึ่ง คือ โครงสร้างของชุมชนมักแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่อาศัยมักอยู่บนเนินหรือที่ดอน โดยรอบเป็นที่ลุ่มสำหรับเป็นแหล่งทำกิน ด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นศาสนสถาน ด้านตะวันตกเป็นป่าช้า การขยายตัวของชุมชนมักขยายไปทางทิศตะวันตก ชุมชนเหล่านี้มีการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง มีการสั่งสมหรือกวาดต้อนประชากรจากพื้นที่ต่าง ๆ จัดตั้งขยายเป็นชุมชนเมือง เป็นรัฐยุคต้นประวัติศาสตร์ ชุมชนเหล่านี้นี่เองที่หลอมรวมกันขึ้นเป็นอาณาจักรเจนละ หรืออีสานปุระ มีหลักฐานแสดงความเจริญหลายอย่าง เช่น การถลุงเหล็ก การทำเกลือ ปลูกข้าว การขุดคูกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและความปลอดภัย
ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์
แก้เมืองสุรินทร์เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่ปรากฏหลักฐานบ่งบอกชัดเจน ได้แก่ คูเมือง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพง สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ดังที่ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเรียบเรียง ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการรายงานตรวจราชการมณฑลอีสานและนครราชสีมา ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ดังนี้
เมืองสุรินทร์เป็นเมืองที่สร้างอย่างมั่นคงในปางก่อน มีคูถึง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพงเมือง น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นเมืองหน้าด่านทั้งทางตะวันออกและทางใต้ซึ่งมีช่องข้ามเขาบรรทัดต่อจังหวัดสุรินทร์อยู่หลายช่อง คือ ช่องปราสาทตาเมิน ช่องเสม็ก ช่องดอนแก้ว เป็นต้น ซึ่งมีทางเดินไปสู่ศรีโสภณและเมืองจงกัน ยังมีคนและเกวียนเดินอยู่ทุกช่อง แต่เป็นทางลำบาก คงสะดวกแต่ช่องตะโก ต่อมาทางตะวันตก ซึ่งกรมทางได้ไปทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว บริเวณเมืองสุรินทร์เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมตลอดปี แต่ก็ทำไร่นาได้ เป็นทุ่งใหญ่ บ้านเมืองกำลังจะเจริญขึ้น เพราะเป็นปลายทางรถไฟ มีห้องแถวคึกคักไม่หย่อนกว่าอุบล และกำลังสร้างทำอยู่อีกก็มีมาก
พลเมืองแห่งจังหวัดสุรินทร์ส่วนมากเป็นเขมร เช่น บุรีรัมย์ นางรอง มีลาวเจือปนบ้างเป็นส่วนน้อย และชาวกูยที่ผู้ก่อตั้งเมือง และเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งพูดภาษาของตนต่างหาก และเป็นชนชั้นปกครองเมืองนี้ ส่วนเขมรซึ่งเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ของเมืองสุรินทร์ที่อพยพขึ้นมาอาศัย ยังคงพูดภาษาเขมร อยู่ทั่วไปและที่กล่าวว่าไม่รู้ภาษาไทยก็มีต้องใช้ล่ามเนือง ๆ ผู้ปกครองท้องถิ่น เห็นว่าเป็นการดิ้นรน แสร้งทำเป็นพูดไทยไม่ได้ก็มีอยู่มาก ชาวเขมรเข้ามาในแถบเมืองสุรินทร์มากในปี พ.ศ. 2324 ซึ่งทางฝ่ายเขมรต่ำเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปราม โดยเกณฑ์กำลังจากเมืองกูย เช่น ขุขันธ์ ประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) สังขะ ไปช่วยปราบปรามเมืองประทายเพชร ประทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ กำปงสวาย และเสียมราฐ
ในอดีตการไปมาถึงกันกับพวกเขมรต่ำในการปกครองฝรั่งเศสนั้น สอบสวนได้ความว่ายังมีอยู่เสมอแต่มีข้างฝ่ายคนเรื่องเขมรต่ำอพยพเข้ามาอยู่ทางเราเสียมากกว่า ปีหนึ่ง เข้าประมาณ 50 - 100 คน โดยมากเป็นเรื่องหนีส่วยอากรที่ทางฝ่ายโน้นเก็บแรงกว่าทางนี้
จังหวัดสุรินทร์ มีลำดับการพัฒนาทางประวัติศาสตร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งทางด้านการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จากการตั้งบ้านเรือนที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายในอดีต มาเป็นวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสะท้อนความเคลื่อนไหวของผู้คนที่มีมิติความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา อันเป็นลักษณะโดดเด่นของผู้คนชาวจังหวัดสุรินทร์
ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้พระยาประชากรกิจกรจักรเชื่อว่า ชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่ของอีสานล่าง คือ สุรินทร์ นครราชสีมาหรือโคราช (เมืองโคราชเก่า บริเวณอำเภอเสิงสาง เมืองพิมาย และบริเวณใกล้เคียง มีโบราณสถานเหลืออยู่ให้เห็น 3 แห่งด้วยกัน คือ ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก และปราสาทเมืองเก่า การเดินทางใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ไปจนถึงกิโลเมตร ที่ 221-222 เลี้ยวขวาไปตามทางเข้าสู่อำเภอสูงเนิน 2.7 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวามือตรงมุมวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่เมืองโบราณโคราช รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร) บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีบางส่วน กลุ่มแรกคือ กูย/กวย แล้วแต่จะเรียกตามสำเนียงของภาษาพูดในแต่ละท้องถิ่น
อีริค ไซเดนฟาเดน นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก สันนิษฐานว่าพวกกูย(กวย) เคลื่อนย้ายจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่า และมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 3,000 ปีเศษมาแล้ว ชาวกูย(กวย)เหล่านี้อาศัยอยู่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่ภาคใต้ของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พวกที่อพยพเข้ามาเป็นระรอกที่ 2 และที่ 3 คือ เขมรและลาว
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ซึ่งยังมีอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างปราสาทหินและอิฐดินเผาจำนวนมากมีกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอิสานใต้ ละโว้ (ลพบุรี) ไปจนถึงในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง
สมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้แพร่ขยายอิทธิพลทางการเมืองทำให้กัมพูชาตกอยู่ในฐานะประเทศราชและในระหว่างปีพ.ศ. 2103 อาณาจักรลาวมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091-พ.ศ. 2111) กษัตริย์ของลาวได้สร้างนครเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง
ใน พ.ศ. 2257 ลาวแตกออกเป็น 3 รัฐอิสระ คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ มีชาวกูย - ลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดพร้อมด้วยนักศึกษาวัด ทั้งที่กำลังศึกษา เป็นพระภิกษุสามเณรอยู่และที่จบการศึกษาแล้วเป็นอ้ายเชียง อ้ายทิด (บันฑิต) อ้ายจารย์ (อาจารย์) กับพวกข้าทางใต้ไปบูรณะพระธาตุพนม และไปจนถึงเขมร แล้วกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์
เมืองจำปาศักดิ์นั้นเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองอัตตะปือแสนแปง (แสนแปง) ซึ่งต่างเป็นเมืองของพวกลัวะ ละว้า ขอม กูย (กลุ่มพวกเดียวกัน) ขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ปกครองโดยนางแพง เจ้าหญิงข่า-ลัวะ (กูย กวย ขอม) ด้วยคุณงามความดีของเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ด นางแพงจึงมอบอำนาจการปกครองเมืองจำปาศักดิ์ให้ เจ้าราชครูหลวงจึงได้อัณเชิญเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจากนครเวียงจันทน์ไปปกครองนครจำปาศักดิ์นับตั้งแต่พ.ศ. 2261-พ.ศ. 2281 เป็นต้นมา เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ปกครองจำปาศักดิ์แล้ว เจ้าราชครูแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดจึงขยายอำนาจ โดยตั้งผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ออกไปปกครองเมืองของลัวะ ละว้า ข่าต่าง ๆ ภายในเขตเมืองจำปาศักดิ์ เช่น ส่งจารย์หวดเป็นเจ้าเมืองโขงสี่พันดอน ให้ท้าวมั่นไปตั้งบ้านโพนขึ้นเป็นเมืองสาระวันแต่ชาวบ้านชอบเรียกเมืองมั่นตามชื่อท้าวมั่นและเรียกควบกับเมืองคำทองใหญ่ว่าเมืองมั่นคำทอง ให้จารย์แก้วไปตั้งบ้านทุ่ง (ท่ง) เป็นเมืองสุวรรณภูมิ (ในจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)
การแยกเป็นรัฐอิสระของอาณาจักรลาว ทำให้ทั้ง 3 รัฐ เกิดการแข็งต่อเมืองกันและต่างสะสมแสนยานุภาพไว้ต่อสู้ ป้องกันการรุกราน เมืองจำปาศักดิ์จึงบังคับให้อัตตะปือแสนปางส่งช้างป้อนกองทัพให้แก่จำปาศักดิ์ตามที่ต้องการ ทำให้ชาวอัตตะปือแสนปางทนต่อสภาพถูกบีบบังคับไม่ได้ ส่วนหนึ่งจึงข้ามลำน้ำโขงเข้ามาอาศัยกับพวกกูย (กวย) ดั้งเดิมบริเวณป่าดงดิบแถบอีสานล่าง คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และบางส่วนของนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ
ชาวกูยหลายกลุ่มพากันข้ามมาตั้งหลักแหล่งทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เพิ่มเติม (ซึ่งแต่เดิมมีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณภูมิภาคนี้มานานเป็นพันปีแล้ว) เมื่อพ.ศ. 2260 แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนและมีหัวหน้าปกครองตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน คือ
- กลุ่มที่ 1 มาอยู่ที่บ้านเมืองที (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์) มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม
- กลุ่มที่ 2 มาอยู่ที่บ้านกุดหวายหรือเมืองเตา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนบุรี) มีหัวหน้าชื่อ เชียงสีหรือตากะอ่าม
- กลุ่มที่ 3 มาอยู่ที่บ้านเมืองลีง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมพระ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง
- กลุ่มที่ 4 มาอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (ปัจจุบันคือบ้านพื้นที่โดยรอบของปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนหรือสมัยหลังถูกบิดเบือนชื่อมาเป็นปราสาทกุด(ปัจจุบันในบริเวณภายในพื้นที่ของวัดเจ็ก) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) มีหัวหน้าชื่อ ตากะจะ(ผู้พี่)และเชียงขันธ์(ผู้น้อง)
- กลุ่มที่ 5 มาอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขะ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ
- กลุ่มที่ 6 มาอยู่ที่บ้านกุดปะไท (ปัจจุบันคือบ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงไชย
ชาวกูย(กวย)เหล่านี้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการทหาร ด้านวิศวกรรม ด้านการแพทย์ ทำการเกษตร หาของป่า ป่าดงแถบนี้เดิมมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เช่น โขลงช้างพัง ช้างพลาย ฝูงเก้ง กวาง ละมั่ง และโคแดง ในอดีตแต่ละชุมชนชาวกูยมีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ซึ่งไม่ได้มีเส้นเขตแดนีดแบ่งกันในแบบสมัยปัจจุบัน
สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกเขตกรุงหนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตพิมาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ขุนนางสองพี่น้อง (เข้าใจว่า คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) กับไพร่พล 30 คน ออกติดตามช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย ได้มาสืบถามร่องรอยช้างจากชาวเมืองพิมายซึ่งเป็นผู้ชำนาญภูมิประเทศในแถบนั้น ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปสืบถามพวกกูย (กวย) มอญ แซก โพนช้างอยู่ริมเขาดงใหญ่เชิงเขาพนมดงรัก เมื่อได้รับคำแนะนำจากชาวเมืองพิมายว่าช้างเผือกหนีไปทางไหนแล้ว ขุนนางสองพี่น้องพร้อมด้วยไพร่พลออกติดตามต่อมาตามลำน้ำมูลมาพบเชียงสีหรือตากะอาม หัวหน้าบ้านกุดหวาย เชียงสีได้พาขุนนางสองพี่น้องไปพบหัวหน้าหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อจะได้ช่วยกันตามหาช้างเผือกต่อไป โดยไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที เชียงปุมได้ร่วมสมทบกับขุนนางสองพี่น้องพากันไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต) ไปหาตากะจะและเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน(หรือชือเรียกเต็มว่าบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน) ไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง จึงทราบข่าวจากเชียงฆะว่า "ได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาพาบริวารซึ่งเป็นช้างป่ามาเล่นน้ำที่หนองโชก หรือหนองบัวในเวลาบ่ายทุกวัน"
เชียงฆะก็พาขุนนางสองพี่น้องและพวกไปยังหนองโชก พากันขึ้นต้นไม้ที่ริมหนองโชกเพื่อดูช้างโขลงนั้น ครั้นเวลาบ่ายช้างโขลงนั้นก็ออกจากชายป่ามาเล่นน้ำตามเคย ปรากฏว่าช้างเผือกที่หายมานั้นอยู่กลางฝูงพากันลงเล่นน้ำที่หนองโชก ขุนนางทั้งสองจึงเอาก้อนอิฐแปดก้อนที่นำมาจากบ้านเมืองทีขึ้นเสกเวทมนตร์ตามพิธีกรรมคชศาสตร์ อธิษฐานแล้วขว้างไปยังโขลงช้างทั้งแปดทิศ ฝ่ายช้างป่าก็แตกตื่นหนีเข้าป่าหมด คงเหลืออยู่แต่ช้างเผือกเชือกเดียวขุนนางสองพี่น้องก็ลงจากต้นไม้พากันขึ้นขี่หลังช้างโดยง่าย เมื่อจับช้างได้แล้ว ขุนนางสองพี่น้องและบริวารพากันเดินทางกลับ หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายที่มาช่วยเหลือในการติดตามช้าง ก็ได้อำนวยความสะดวกในการควบคุมช้างเผือกมาส่งที่กรุงศรีอยุธยาด้วย เมื่อมาถึงพระนครแล้ว ขุนนางสองพี่น้องจึงได้นำหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายเข้าเฝ้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ และกราบบังคมทูลเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งบรรดาหัวหน้าชาวกูย (กวย) ให้มีฐานันดรศักดิ์ คือ
- ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
- เชียงขันธ์ เป็น หลวงปราบ
- เชียงฆะ เป็น หลวงเพชร
- เชียงปุม เป็น หลวงสุรินทรภักดี
- เชียงลี เป็น หลวงศรีนครเตา
- เชียงไชย เป็น ขุนไชยสุริยง
กลับไปปกครองคนในหมู่บ้านของตน โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย [3]
พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายหมู่บ้านจากเมืองทีซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการทำมาหากินไปตั้งที่บ้านคูประทายหรือบ้านคูประทายสมันต์ คือที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง 2 ชั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี เมื่อได้รับอนุญาตแล้วหลวงสุรินทร์ภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูประทาย ส่วนญาติพี่น้อง ชื่อเชียงบิด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะตา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) กับญาติร่วมกันสร้างเจดีย์ 3 ยอด สูง 18 ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง 4 ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูประทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง 5 จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา นำสิ่งของไปทูลเกล้าถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เป็นการส่งเครื่องราชบรรณาการตามราชประเพณี เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งฐิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้
- หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูประทาย เป็น เมืองประทายสมันต์ ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง ต้นตระกูล "อินทนูจิตร'
- หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็น พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น เมืองสังฆะ ให้พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เป็นเจ้าเมืองปกครอง
- หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็น พระศรีนครเตาท้าวเธอ ยกบ้านกุดหวาย เป็น เมืองรัตนบุรี ให้พระศรีนครเตาท้าวเธอ เป็นเจ้าเมืองปกครอง
- หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็น เมืองขุขันธ์ ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองคนแรกปกครอง
ส่วนชุมชนบ้านกุดไผทสิงขร ซึ่งมี “ขุนไชยสุริยง”(เชียงไชย) ตำแหน่งนายกองนอก โปรดเกล้าฯให้ ขึ้นตรงต่อเมืองสังฆะ
การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา
สมัยกรุงธนบุรี
แก้เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองสุรินทร์ก็ขึ้นต่อกรุงธนบุรี
ครั้นเมื่อปีพ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) จึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปสมทบกำลังเกณฑ์เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะบุรี และกองทัพช้างคูประทายสมันต์ ขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองนครพนม บ้านหนองคาย เวียงจันทน์ เป็นกำลังสำคัญในการขยายอิทธิพลสู่เขมร
ใน พ.ศ. 2324 ทางฝ่ายเขมรเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปราม โดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ ประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) สังขะ ไปช่วยปราบปรามเมืองประทายเพชร ประทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ กำปงสวาย และเสียมราฐ การปราบปรามยังไม่ราบคาบ เกิดความไม่สงบขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวจึงเลิกทัพกลับคืนมายังกรุงธนบุรี
ในระหว่างสงครามครั้งนี้ได้มีพวกเขมรหลบหนีสงครามจากเมืองเสียมราฐ กำปงสวาย ประทายเพชร และเมืองอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองประทายสมันต์และสังขะเป็นจำนวนมาก อาทิ ออกญานินทร์เสน่หา จางวาง ออกไกรแป้น ออกญาตูม นางดาม บุตรีเจ้าเมืองประทายเพชร (ซึ่งอาจจะเป็นชาวกูย) รวมทั้งพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐ (ซึ่งอาจจะเป็นชาวกูยและเขมร ซึ่งยังคงมีการอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ก็ได้พากันมาอยู่เมืองประทายสมันต์ด้วย ต่อมานางดามได้แต่งงานกับสุ่นหลานชายของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ภายหลังชาวเขมรทราบว่า นางดามซึ่งเป็นนายของตนมาเป็นสะใภ้เจ้าเมือง จึงพากันอพยพมาอยู่ที่เมืองคูประทายมากขึ้น ดังนั้น ชาวเมืองคูประทาย ซึ่งเป็นชาวกวยจึงปะปนกับเขมรและเพราะเหตุที่ชาวเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน วัฒนธรรมตลอดทั้งความเป็นอยู่ จึงผันแปรไปทางเขมรมากขึ้น
เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทน์และเมืองเขมรแล้ว เจ้าเมืองประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยา" ทั้ง 3 เมือง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แก้- สมัยรัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2325 และตั้งกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี
พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายหมู่บ้านจากเมืองทีที่คับแคบไปตั้งที่บ้านคูประทายคือที่ตั้งเมืองสุรินทร์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่ มีกำแพงค่ายคูล้อมถึงสองชั้นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้สร้างเจดีย์สามยอด สูง 18 ศอก สร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง 4 ศอก ยังปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาถึงปัจจุบัน ต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านชาวกูยทั้งห้าคนได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา และได้นำสิ่งของไปถวาย คือ ช้าง ม้า แกนสม ยางสน นอระมาด งาช้าง ปีกนก ขี้ผึ้ง เป็นการส่งเครื่องราชบรรณาการตามราชประเพณีมาแต่โบราณ และประกอบกับเป็นเมืองเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้ง มีความชอบเป็นอันมากมาก จึงโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น "พระยาสุรินทรภักดีศรีจางวาง (เชียงปุม)" (1) บรรดาศักดิ์ "พระยา" เป็นบรรดาศักดิ์ สำหรับขุนนางระดับสูง หัวหน้ากรมต่าง ๆ เจ้าเมืองชั้นโท และแม่ทัพสำคัญ ในพระไอยการฯ มีเพียง 33 ตำแหน่ง ดังนั้น จึงมีประเพณี พระราชทานเครื่องยศ (โปรดดูเรื่อง เครื่องราชอิสริยยศไทย) ประกอบกับบรรดาศักดิ์ด้วย โดย พระยาที่มีศักดินามากกว่า 5,000 จะได้รับพระราชทานพานทอง ประกอบเป็นเครื่องยศ จึงเรียกกันว่า พระยาพานทอง ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับสูง ส่วนพระยาที่มีศักดินาต่ำกว่านี้ จะไม่ได้รับพระราชทานพานทอง 2)บรรดาศักดิ์ จางวาง เป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสูงในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งผู้กำกับการ)
พ.ศ. 2329 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองประทายสมันต์ เป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในการเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็นเมืองสุรินทร์ครั้งนี้ได้โปรดเกล้า ให้เจ้าเมืองพิมาย แบ่งปันอาณาเขตให้เมืองสุรินทร์ ดังนี้
- ทิศเหนือ จดลำห้วยพลับพลา
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับแขวงเมืองรัตนบุรี ตั้งแต่แม่น้ำมูล ถึงหลักหินตะวันออกบ้านโพนงอยถึงบ้านโคกหัวลาว และต่อไปยังบ้านโนนเปือย และตามคลองห้วยถึงบ้านนาดี บ้านสัจจังบรรจง ไปทางตะวันออกถึงห้วยทับทัน
- ทิศตะวันออก จดห้วยทับทัน
- ทิศตะวันตก ถึงลำห้วยตะโคง หรือชะโกง มีบ้านกก บ้านโคกสูง แนงทม สองขั้น และห้วยราช
ส่วนทางทิศใต้ไม่ได้บอกไว้ เพราะขณะนั้นเมืองเขมรบางส่วนอยู่ในความปกครองของไทย เช่นบ้านจงกัลในเขตเขมรปัจจุบัน เคยเป็นอำเภอจงกัลของไทย ขึ้นกับเมืองสังขะ
พ.ศ. 2337 พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองกูยสุรินทร์ถึงแก่กรรม
พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) มีบุตร 4 คน เป็นชาย 2 คน ชื่อนายตีและนายมี เป็นหญิง 2 คน ชื่อนางน้อยและนางเงิน เมื่อพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้า ตั้งให้นายตี บุตรชายคนโต เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์คนต่อมา
พ.ศ. 2342 มีตราโปรดเกล้า ให้เกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เมืองละ 100 รวม 300 เข้ากองทัพยกไปตีกองทัพพม่า ซึ่งยกมาตั้งอยู่ในเขตแขวง เมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันไปถึงได้ข่าวว่ากองทัพพม่าถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้าให้ยกกองทัพกลับ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนนามพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ตี) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์
พ.ศ. 2350 ทรงพระราชดำริว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้ง มีความชอบมาก จึงโปรดเกล้า ให้ทั้ง 3 เมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เลยทีเดียว มีอำนาจชำระคดีได้เอง ไม่ต้องขึ้นต่อเมืองพิมายเหมือนแต่ก่อน [4]
พ.ศ. 2351 พระสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เจ้าเมืองกูยสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตั้งหลวงวิเศษราชา (มี) ผู้เป็นน้องชาย เป็นพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อไป
- สมัยรัชกาลที่ 2
พ.ศ. 2354 พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ตั้งให้นายสุ่น บุตรพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อไป
ต่อมาเมืองขุขันธ์ ขออนุญาตยกบ้านลังเสนเป็นเมืองกันทรลักษณ์ แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านลาวเดิม และยกบ้านแบบเป็นเมืองอุทุมพรพิสัย แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านปรือ
- สมัยรัชกาลที่ 3
เขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์อยู่ในอำนาจเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์กับเจ้าโย่บุตรที่ครองเมืองจำปาศักดิ์ พ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตแขวงและกำลังผู้คนมากขึ้นก็มีใจกำเริบคิดกบฏต่อกรุงเทพ เมื่อปีพ.ศ. 2369 เจ้าอนุแต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์ คุมกองทัพยกเข้าตีหัวเมืองรายทางเข้ามาจนถึงจังหวัดนครราชสีมา
ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ก็เกณฑ์กำลังยกเป็นกองทัพมาตีเมืองขุขันธ์แตกจับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์กับพระภักดีภูธรสงครามปลัด (มานะ) พระแก้วมนตรียกกระบัตร (เทศ) กับกรมการได้และฆ่าเสีย ส่วนเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ ได้มีการป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็งทั้งกลางวันและกลางคืน และได้เกณฑ์กำลังไพร่พลไปสมทบกับกองทัพหลวงจนเสร็จสงคราม สาเหตุการกบฏครั้งนี้มีหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและเอกสารพื้นเวียง เสนอประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าเมืองนครราชสีมากับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ไว้ 3 ประเด็น คือ
- ประเด็นที่ 1 การสักเลก (การสักข้อมือคนในบังคับ) ในหัวเมืองอีสาน สำหรับการสักเลกนี้ไม่มีหลักฐาน่วาเริ่มเมื่อใดแต่อย่างน้อยที่สุดประมาณปีพ.ศ. 2317 ช่วงสมัยธนบุรี จนเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2369 [5] การส่งข้าหลวงมาสักเลกสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในหัวเมืองเขมรป่าดงอย่างมาก ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเจ็บตัวจากการสักเลกแล้วยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการสักเลกอีก คนละ 1 บาท 1 เฟื้อง
- ประเด็นที่ 2 ความขัดแย้งระหว่างเจ้าเมืองนครราชสีมากับเมืองขุขันธ์ เอกสารพื้นเวียงกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ กับพระยาพรหมภักดีเจ้าเมืองนครราชสีมา จากการศึกษาของพรรษา สินสวัสดิ์ กล่าวไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีความเชื่อมั่นและวางพระทัยในความสามารถของพระยาพรหมภักดีเจ้าเมืองนครราชสีมาดำเนินการบางประการที่ทำให้เดือดร้อนแก่หัวเมืองลาวและหัวเมืองต่าง ๆ ของชาวกูย (เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ เป็นต้น) จนเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางกับหัวเมืองในกลุ่มดังกล่าว เช่น ในครั้งพระยาพรหมภักดีมีคำสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองอุบลราชธานี เมืองจำปาศักดิ์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ และเมืองสุรินทร์จะยกไปตีชาวข่า ในเขตแดนจำปาศักดิ์เพื่อกวาดต้อนส่งเข้ามากรุงเทพในครั้งนั้น พระยาไกรภักดีเจ้าเมืองขุขันธ์ได้เกิดขัดแย้งกับพระยาพรหมภักดีอย่างรุนแรงถึงกับพระยาไกรภักดีมีใบบอกฟ้องเข้ามายังกรุงเทพ ว่าพระยาพรหมภักดีทำการกดขี่ข่มเหง ทางกรุงเทพ จึงได้ส่งขุนนางผู้ใหญ่ขึ้นไปสอบสวนผลการสอบสวนปรากฏว่า พระยาพรหมภักดีไม่ผิด ความขัดแย้งระหว่างพระยาพรหมภักดีกับพระยาขุขันธ์ได้เกิดบานปลายออกไปเมื่อ พระยาพรหมภักดีสนับสนุนให้เจ้าทิงหล้า ซึ่งเป็นน้องชายของพระยาขุขันธ์ ก่อการกบฏต่อพระยาขุขันธ์และพระยาพรหมภักดีนำ (กองทัพ) จังหวัดนครราชสีมาขึ้นมาสนับสนุนเจ้าทิงหล้า และได้จุดไฟเผาเมืองขุขันธ์จนพระยาขุขันธ์ต้องหนีไปอยู่เมืองนางรอง
- ประเด็นที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างเจ้าเมืองนครราชสีมากับเจ้านครจำปาศักดิ์ (เมืองของชาวกูย กวย) ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย แต่ในเอกสารพื้นเวียงกล่าวว่าเป็นฉนวนสำคัญที่สุดที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ [6] กล่าวคือ พระยาพรหมภักดีครองเมืองโคราชได้ 2 ปี มีความขัดข้องใจที่ไม่ได้ครองเมืองจำปาศักดิ์ จึงจัดสร้างด่านใกล้เมืองพระยาไกรภักดี เจ้าเมืองขุขันธ์จนเกิดเรื่องกับพระยาไกรภักดี ดังกล่าวมาแล้ว ภายหลังพระยาพรหมภักดีเจ้าเมืองนครราชสีมามีหนังสือสารตรา ไปยังเมืองจำปาศักดิ์ (เจ้าราชบุตรโย่) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์โกรธจึงไปทูลเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์โกรธแค้นมาก
จาก 3 ประเด็นที่กล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์กับเจ้าเมืองนครราชสีมา (ทองอิน) และนำไปสู่กบฏเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์แต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทรน์ คุมกองทัพบกเข้าตีเมืองรายทางเข้ามาจนถึงเมืองนครราชสีมา ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (เจ้าโย่) เกณฑ์กำลังยกทัพมาตีเมืองขุขันธจับพระไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ กับพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ) ปลัดเมืองกับพระแก้วมนตรี (ทศ) ยกกระบัตรกับกรมการได้ ฆ่าตายทั้งหมด เจ้าเมืองสังฆะ และเมืองสุรินทร์หนีได้ทัน กองทัพจำปาศักดิ์ ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองขุขันธ์ค่ายหนึ่งและค่ายอื่น ๆ สี่ค่าย กวาดต้อนครอบครัวไทยเขมรไปเมืองจำปาศักดิ์
เมื่อข่าวเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏได้ททราบถึงกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นทัพหน้าพร้อมด้วย พระยาราชนิกุล พระยากำแหง พระยารองเมือง พระยาจันทบุรี คุมไพร่พลไปทางเมืองพระตะบองขึ้นไปเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เกณฑ์เขมรป่าดงไปเป็นทัพขนาบกองทัพกรุงเทพ ได้ตามตีกองทัพลาวเรื่อยไปจนถึงเวียงจันทน์และตีเมืองเวียงจันทน์แตกเมื่อพ.ศ. 2370
เมื่อพ.ศ. 2371 ทรงพระโปรดเกล้า ให้เลื่อนพระยาสุรินทร์ภักดีศรีประทาย-สมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์เป็นเจ้าพระยาสุรินทร์ภักดีศรีประทายสมันต์
ส่วนทางเมืองสังขะ โปรดให้พระยาสังขะเป็นพระยาภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ให้บุตรพระยาสังขะ เป็นพระยาสังขะบุรีศรีนครอัจจะปะนึง
ใน พ.ศ. 2372 หัวเมืองฝ่ายตะวันออกไม่เรียบร้อยดี เนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์เพราะราษฏรพากันหนีหลบภัยสงครามไปต่างเมือง เช่น หัวเมืองเขมรป่าดง ราษฎรพากันหลบหนีไปยังแถบเขมร ราษฎรเมืองนครราชสีมาก็พากันหลบหนีไปทางเมือง ลพบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรี เป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาขณะดำรงตำแหน่งพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่กองออกไปจัดการหัวเมืองอีสาน-ลาว ทั้งหมด [7] และได้ไปจัดตั้งราชการสำมะโนครัว แต่งตั้งกองสักเลกอยู่ ณ กุดผไท (อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์)
ใน พ.ศ. 2385 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้เกณฑ์คน หัวเมืองในแถบอิสานใต้ หัวเมืองขุขันธ์ 2,000 คน เมืองสุรินทร์ 1,000 คน เมืองสังขะ 300 คน เมืองศรีสะเกษ 2,000 คน เมืองเดชอุดม 400 คน รวม 6,200 คน [8] และในปี พ.ศ. 2381 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้กำลังจากเมืองลาว หัวเมืองชาวกูย เมืองนครราชสีมา 12,000 คน เกณฑ์กำลังขึ้นไปสมทบทัพกรุงเทพ ที่เมืองอุดมมีชัยไปรบในกัมพูชา [9]
- สมัยรัชกาลที่ 4
เจ้าพระยาสุรินทร์ภักดีศรีประทายสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อพ.ศ. 2394 กรมการเมืองสุรินทร์ได้เข้าไปเฝ้าถึงกรุงเทพจึงโปรดเกล้า ให้พระยาบดินทรเดชา สมุหนายกปรึกษากับกรมการเมืองสุรินทร์ ที่ประชุมเห็นว่า พระยาพิชัยราชวงศา (ม่วง) ผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมันต์ (สุ่น) เป็นผู้มีปัญญารู้หลักราชการและมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแก่ไพร่บ้านพลเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานสัญญาบัตรให้พระยาพิชัยราชวงศา (ม่วง) เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมันต์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ตั้งแต่เดือนอ้าย ปีชวด จัตวาศก พ.ศ. 2395 [10] และในปีเดียวกันได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงนรินทร์ราชวงศา (นาก) บุตรเจ้าพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมันต์ (สุ่น) เป็นพระไชยณรงค์ภักดี ปลัด
ให้พระมหาดไทย (จันทร์) บุตรเจ้าวงศา หลานเจ้าพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมันต์ (สุ่น) เป็นพระยาพิชัยบวรวุฒิ ยกกระบัตร รักษาราชการเมืองสุรินทร์ต่อไป
- สมัยรัชกาลที่ 5
พ.ศ. 2412 พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมืองชาวกูยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดไผท หรือจารพัตเป็นเมือง ขอหลวงไชยสุริยง (คำมี) บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์ (หมื่น) กองนอกไปเป็นเจ้าเมือง ส่วนตำแหน่งปลัดและยกกระบัตรเมืองสังฆะว่าง ขอพระสุนทรพิทักษ์บุตรพระปลัดคนเก่าขึ้นเป็นปลัด และขอหลวงศรีสุราชผู้หลานเป็นยกกระบัตรเมืองสังฆะ ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ในปีมะเส็งนั้น (พ.ศ. 2412) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้มีตราพระราชสีห์ ตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัต เป็นเมืองศีขรภูมิพิไสย ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเป็นพระศีขรภูมานุรักษ์เจ้าเมือง ขึ้นเมืองสังฆะ
ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมันต์ เห็นว่าพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศีขรภูมิแล้ว ก็เกรงว่าพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ จะเอาบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย จึงได้มีใบบอกขอตั้ง้านลำดวนเป็นเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก) ปลัดเมืองสุรินทร์ เป็นเจ้าเมืองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมืองนามว่า เมืองสุรพินทนิคม ให้พระไชยณรงค์ภักดี ปลัด (บุนนาก) เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคมขึ้นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น
พ.ศ. 2415 ฝ่ายพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลุมพุกเป็นเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเป็นเจ้าเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านลุมพุกขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์ ให้พระมหาดไทยเป็นพระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ ขึ้นกับเมืองสังฆะ
พ.ศ. 2416 พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรม พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เห็นว่าหลวงงพิทักษ์สุนทรบุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัครมาอยู่เมืองสุรพินทนิคมเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงดี จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคมหลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคมได้สามปีก็ถึงแก่กรรมแต่นั้นมาเจ้าเมืองสุรพินทนิคมจึงว่างตลอดมา
พ.ศ. 2419 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระศักดิ์เสนีย์ เป็นข้าหลวงออกไปตั้งสืบสวนจับโจรผู้ร้ายหัวเมืองตะวันออก เนื่องจากพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) และพระยาสังขะได้บอกมายังกรงเทพ ว่าเกิดโจรผู้ร้ายปล้นลักทรัพย์สิ่งของราษฎรในเขตของเมืองทั้งสองแล้วหนีเข้าไปแขวงเมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง เมืองประโคนชัย ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก ข้าหลวงที่ส่งไปเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เมื่อปราบโจรผู้ร้ายเสร็จแล้วก็กลับกรุงเทพ ข้าหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งลักษณะนี้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดได้ทุกเมือง
พ.ศ. 2424 ฝ่ายทางเมืองจงกัล ตั้งแต่โปรดเกล้า ให้หลวงสัสดี (ลิน) เป็นพระวิไชย เจ้าเมืองจงกัล พระวิไชยรับราชการได้ 7 ปี ก็ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกไปกรุงเทพ ขอให้พระสุนทรนุรักษ์เป็น พระทิพชลสินธุ์อินทรนฤมิตร
ทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง ขอพระมหาดไทยเป็นพระยกกระบัตร เมื่อวันศุกร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้พระมหาดไทยเป็นพระไชยนครบวรวุฒิ ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์
พ.ศ. 2425 คนทางเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมาก ข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่าย เป็นต้น พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) จึงได้มีใบบอก ขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เป็นเจ้าเมือง วันอังคารขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (นัยหนึ่งว่า หลวงราชวรินทร์ ทองอิน) เป็นพระฤทธิรณยุทธ เจ้าเมืองและโปรดเกล้า ให้ตั้งท้าวเพชรเป็นที่ปลัด ให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) และท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี พร้อมกันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ตั้งนายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคม แทนคนเก่าที่ถึงแก่กรรมและตำแหน่งเจ้าเมืองยังว่าง
พุทธศักราช 2431 อุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิ ในฐานะผู้รักษาเมืองและกรมการเมืองมีใบบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ ว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือ เมืองมหาสารคาม ขอตั้งบ้านนาเลา เป็น เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็น เมืองชุมพลบุรี เมืองศรีสะเกษขอตั้งบ้านโนนหินกองเป็น เมืองราษีไศล ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์และข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี ไต่สวนว่ากล่าวเรื่องนี้ แม้ว่าจะไต่สวนได้ความจริง แต่ก็รื้อถอนไม่ไหว เพราะเมืองทั้ง 3 นี้ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองทั้งสามมาหลายปีแล้ว จึงเป็นอันโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คงเป็นเมืองขึ้นของทั้ง 3 เมืองตามเดิม
พ.ศ. 2429 พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองจำปาศักดิ์ ได้เชิญประชุมเจ้าเมืองภาคอีสานขึ้น ณ เมืองอุบล เพื่อสำรวจชายฉกรรจ์และแก้ไขระเบียบการจัดเก็บภาษีอากร ในระหว่างการประชุมข้าราชการอยู่นั้น ได้รับรายงานว่า ทัพฮ่อเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์แตกการประชุมต้องยุติลง พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ต้องรีบระดมกำลังขึ้นไปยังเมืองหนองคายโดยด่วนเพื่อสมทบกับกองทัพเมืองนครราชสีมา ส่วนกองทัพจากกรุงเทพนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปสมทบที่เมืองหนองคาย ซึ่งเป็นจุดชุมนุมพล สำหรับพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์นั้นได้มีคำสั่งให้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบล เพราะเจ้าเมืองและกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพในครั้งนั้นด้วย พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบลอยู่ 2 ปี จึงได้กลับเมืองสุรินทร์ เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ย่างเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว ไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เต็มที่ จึงได้มอบให้นายเยียบ (บุตรชาย) ช่วยราชการเป็นการภายใน
พ.ศ. 2432 พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งมีอำนาจเต็มในภาคอีสานทั้งหมด ได้แต่งตั้งใบประทวนให้ ยานเยียบ เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2433 พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) จึงต้องกลับมาเป็นเจ้าเมือง อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้นเอง
พ.ศ. 2434 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาลวัน เมืองอัตตะปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสะเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ 21 เมือง เมืองขึ้น 43 เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว
พ.ศ. 2435 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ซึ่งย้ายมาแทนพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้ทรงแต่งตั้งให้พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาก) น้องชาย พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ (เปลี่ยนจากเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง)
ในสมัยที่พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาก) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์นี้ เป็นยุคที่บ้านเมืองกำลังปรับปรุงระบบบริหารใหม่ ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลอีสานได้ทรงวางระเบียบให้มีข้าราชการจากส่วนกลาง มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการทุกหัวเมือง สำหรับเมืองสุรินทร์ หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงกำกับราชการ มีอำนาจเด็ดขาด ทัดเทียมผู้ว่าราชการเมือง นับเป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่เชื้อสายบรรพบุรุษชาวสุรินทร์ ด้วยความไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีและความเป็นอยู่ของชาวเมืองได้ดีพอจึงทำให้ดำเนินการบางอย่างผิดพลาด มิชอบโดยหลักการ แต่พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาก) เจ้าเมืองไม่อาจขัดขวางได้เพราะเห็นว่า ถ้าเข้าขัดขวางแล้วก็จะมีแต่ความร้าวฉาน ขาดความสามัคคีในชนชั้นปกครอง
พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร และเมืองสมโบก ซึ่งสมันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรในฐานะผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการป้องกันราชอาณาจักร ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 เมืองสุวรรณภูมิและเมืองยโสธร เมืองละ 500 ฝึกการรบแล้วส่งกำลังรบเหล่านี้เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด สถานการณ์สงครามสงบลงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2436 ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังรบ กำลังรบของเมืองสุรินทร์จึงได้กลับคืนบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่านับแต่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดศึกสงครามจากข้าศึกนอกราชอาณาจักร ชาวสุรินทร์จะมีบทบาทในการป้องกันบ้านเมืองด้วยเสมอ
กรณีพิพาทกับฝรั่งเศสสงบลงไม่นานนัก ในปีเดียวกันนี้ พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาก) ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เป็นที่ พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ตามตำแหน่ง ในช่วงระยะนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้สั่งย้ายหลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) และแต่งตั้งหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองสุรินทร์แทน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องจัดการปกครองภายในหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองลาวกาวและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า มณฑลลาวกาว สืบแทนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ระหว่างที่เสด็จกลับกรุงเทพผ่านเมืองสุรินทร์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้ทรงแต่งตั้งพระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) ยกกระบัตรเมือง เป็นผู้รักษาเมืองสุรินทร์และเมื่อเสด็จถึงกรุงเทพ แล้วได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งให้พระพิชัยนครบวรวุฒิเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์สืบต่อมาและถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2438 (รัตนโกสินทรศก 114)
ระหว่างนี้ ได้มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตัวข้าหลวงกำกับราชการโดยลำดับกล่าวคือ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) ดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ย้ายไปอยู่จังหวัดศรีสะเกษสับเปลี่ยนกับจมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) จมื่นวิชัยยุทธเดชาคณี ดำรงตำแหน่งประมาณ 1 ปี ก็ย้ายไปโดยมีหลวงวิชิตชลชาญมาดำรงตำแหน่งแทน ชั่วระยะเวลาอันสั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ก็ได้ย้ายหลวงสาทรสรรพกิจมาดำรงตำแหน่งในประมาณปีพ.ศ. 2438
พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2438 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงโปรดให้ พระพิชัยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา สันนิษฐานว่าพระพิชัยณรงค์ภักดีเป็นบุตรของนายพรหม ซึ่งเป็นบุตรของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์คนที่ 3 พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2450 และเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว จึงได้รับสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นที่พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงโปรดให้หลวงประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) ซึ่งเป็นบุตรพระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาก) ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์คนที่ 8 เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์แทน แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2451 และในต้นปี พ.ศ. 2451 นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังเป็นช่วงเวลาที่ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินในราชการบริหารส่วนภูมิภาค (เข้าสู่แบบเทศาภิบาล) ส่วนกลางได้เริ่มแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายปกครองมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดบ้าง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง บุคคลแรกที่ได้รับแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ ใน พ.ศ. 2451 คือ พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์)
- สมัยรัชกาลที่ 6 – ปัจจุบัน
จังหวัดสุรินทร์มีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลจนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ยกเลิกการปกครองแบบมณฑล
ภูมิศาสตร์
แก้ที่ตั้ง
แก้จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างลองติจูด 103 และ 105องศาตะวันออก ละติจูด 15 และ 16 องศาเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 420 กิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์
ภูมิประเทศ
แก้จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้
- ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ลาดเทมีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อย ๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด
- ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และอำเภอศรีณรงค์)
- ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระและอำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตของทุ่งกุลาร้องไห้
- ภูเขา
จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ย ๆ 3 ได้แก่ ยอดเขาชาย เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม และที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืองสุรินทร์และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดเขาหญิง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง และยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฐะมุขเพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย
- แหล่งน้ำ
แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่
- แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากภูเขาดงพญาเย็น เขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ทางเขตอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเพาะปลูก การคมนาคม นอกจากนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของราษฎร หากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง จะมีน้ำตลอดทั้งปี
- ลำน้ำชี ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก เป็นลำน้ำที่แบ่งเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ลำน้ำพลับพลา ต้นน้ำเกิดจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด
- ลำห้วยทับทัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล
- ลำห้วยระวี ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอจอมพระ และอำเภอท่าตูม ทางจังหวัดได้ทำการขุดลอก และสร้างฝายน้ำล้นกั้นเป็นช่วง ๆ เพื่อใช้ประโยขน์ทางการเกษตร การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
- ลำห้วยเสน ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ และอำเภอศรีณรงค์เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางช่วงของลำห้วย
- ลำห้วยระหาร ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ในฤดูฝนน้ำจะท่วมหลาก แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
- ลำห้วยแก้ว ไหลผ่านเขตอำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล ฤดูแล้งบางช่วงของลำห้วยน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
- ลำห้วยสำราญ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดศรีสะเกษ ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดัจ (เขาขาด) และพนมซแร็ยซระน็อฮ (เขานางโศก) ไหลผ่านเขตอำเภอบัวเชด และอำเภอสังขะ
- ลำห้วยจริง เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขต อำเภอศรีขรภูมิ กับอำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์มีโครงการชลประทาน 1 แห่ง คือ เขื่อนห้วยเสนง (สะเนง=เขาสัตว์) อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นโครงการส่งน้ำทดน้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการทำนาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 46,180 ไร่
- ลำห้วยไผ่ ต้นน้ำเกิดจากท้องทุ่งนาในเขตอำเภอสนม ไหลผ่านเขตตำบลโพนโก อำเภอสนม เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ โดยปลายน้ำอยู่ที่แม่น้ำมูล ตำบลน้ำเขียว อำเภอรัตนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยลำพอก อำเภอศรีขรภูมิ
- ป่าไม้
จังหวัดสุรินทร์ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งจังหวัดประมาณ 1,434,001 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณ 187,343 ไร่ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1,382,625 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.23 ของพื้นที่ โดยสามารถแยกได้ดังนี้ คือ
- เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 26 ป่า
- วนอุทยาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ เนื้อที่ 2,500 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อำเภอสังขะ เนื้อที่ 625 ไร่
- เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อยู่ในพื้นที่อำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด เนื้อที่ 313,750 ไร่
- ป่าชุมชน
พื้นที่ระหว่างอำเภอสังขะกับอำเภอลำดวน มีป่าสนสองใบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวสุรินทร์เรียกบริเวณนี้ว่า "ป่าพนาสน" ป่าสนสองใบที่จังหวัดสุรินทร์นี้ไม่เหมือนป่าสนทั่วไป เนื่องจากเป็นป่าสนที่ขึ้นอยู่บนพื้นราบ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 กว่าเมตรเท่านั้น และขึ้นปะปนอยู่กับไม้เบญจพรรณ เช่น ไม้ยางนา กระบาก เหียง ตาด นนทรีป่า ประดู่ ลำดวน และมะค่าแต้ ในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือจากประเทศเดนมาร์ก มอบให้กรมป่าไม้จัดตั้งเป็น สถานีอนุรักษ์พันไม้ป่าหนองคู เพื่อดำเนินการศึกษาและวิจัย และจัดการเขตอนุรักษ์พันธ์ไม้สนสองใบ ป่าสนสองใบที่บ้านหนองคูนี้ นับเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์
วังทะลุ ห่างจากหมู่บ้านช้าง (บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม) เพียง 3 กิโลเมตร ที่นี่เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี “วังทะลุ” เป็นสายน้ำที่แวดล้อมไปด้วยป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามซึ่งหาชมได้ยาก ยังมีความอุดมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นที่อาบน้ำของช้างในหมู่บ้านยามเย็น
เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2540 มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการเกษตรกรรม ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอสังขะ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก และยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน และอำเภอศีขรภูมิ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้ง ต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นยางพารา ต้นตะกู และต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น (พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของ ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
- ทรัพยากรธรณี
ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญ ได้แก่ ทรายแม่น้ำมูล พบที่อำเภอท่าตูมและอำเภอชุมพลบุรี บ่อหินลูกรัง พบที่ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอสังขะ หินภูเขา เป็นหินภูเขาที่ได้จากเขาสวาย ท้องที่ตำบลสวาย และตำบลนาบัว สำหรับป้อนโรงงานโม่หินเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง
ความหลากหลายทางชีวภาพ
แก้จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรสัตว์ป่าอยู่มากมายทั่วทั้งจังหวัด แต่ปัจจุบันนี้สัตว์ป่าจะมีอยู่เฉพาะตามพื้นที่ป่าที่อนุรักษ์ไว้และอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ได้แก่ เก้ง กวาง ลิ่น วัวแดง กระจง ลิง ค่าง ชะนี เสือโคร่ง เลียงผา อีเห็น แมวดาว ชะมด เม่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่าและกระจงมีอยู่จำนวนมากทั่วพื้นที่ สัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง และที่พบเห็นในวนอุทยานพนมสวาย ได้แก่ กระรอก กระต่ายป่า สัตว์ปีกมีบ้างแต่ไม่มากนักได้แก่ นกกระเต็น บ่าง นกกระทาดง นกกวัก นกกระปูด นกกางเขนดง นกเขาหลวง นกเป็ดน้ำ และนกเหยี่ยว และที่พบในวนอุทยานป่าสนหนองคู ได้แก่ กระรอก บ่าง กระต่ายป่า งู แย้ นกเขา นกกะปูด และนกเอี้ยง บางครั้งก็จะมีพบนกเงือกมาอยู่บ้าง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่สามารถพบเห็นได้ในป่าชุมชนต่าง ๆ ที่มีการอนุรักษ์ผืนป่าไว้
สิ่งแวดล้อม
แก้จังหวัดสุรินทร์ มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีชุมชนเมือง (ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์) ที่อยู่อย่างแออัด มียานพาหนะมากส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจร โดยเฉพาะบริเวณตลาดสดในเขตเทศบาล และบริเวณสถานศึกษา มีผลกระทบทางด้านมลภาวะบ้าง แต่ไม่รุนแรงนัก ปัญหาขยะและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมีค่อนข้างน้อย เพราะได้รับการเอาใจใส่ ดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์
เศรษฐกิจ
แก้จากรายงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2562 จังหวัดสุรินทร์ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ตามราคาประจำปี 81,007 ล้านบาท เป็นลำดับที่6 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ต่อหัว (Per capita GPP) 75,556 บาทต่อปี
สำหรับอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ ยังคงประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม มีการทำนาข้าวเจ้า (ข้าวหอมมะลิ) ทำสวน และเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อาชีพที่สำคัญรองลงมา คือ การปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม
การขนส่ง
แก้จังหวัดสุรินทร์ เป็นเมืองหลักของภาคอีสานตอนล่าง เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางรถยนต์ รถไฟ มีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และเส้นทางมาตรฐานหลายสาย ทำให้การเดินทางติดต่อภายในจังหวัด การเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียง และกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความสะดวก
- ทางรถยนต์
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดสุรินทร์ใช้ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ แยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (ตรงแยกอำเภอปราสาท) จนถึงจังหวัดสุรินทร์ หรือใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ได้เช่นเดียวกัน
- การเดินทางในตัวจังหวัด
การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ของจังหวัดสุรินทร์ระหว่างชนบท หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ มีความสะดวก เพราะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมติดต่อกัน การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างจังหวัดกับอำเภอ ระยะทางที่ไกลที่สุด คือ อำเภอชุมพลบุรี ระยะทาง 91 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง ระยะทางที่ใกล้ที่สุด คือ อำเภอเขวาสินรินทร์ ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 30 นาที โดยระยะทางจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์) ไปยังอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ เรียงจากใกล้ไปไกล ดังนี้
- อำเภอเขวาสินรินทร์ 14 กิโลเมตร
- อำเภอจอมพระ 25 กิโลเมตร
- อำเภอลำดวน 26 กิโลเมตร
- อำเภอปราสาท 28 กิโลเมตร
- อำเภอศีขรภูมิ 34 กิโลเมตร
- อำเภอสังขะ 51 กิโลเมตร
- อำเภอสนม 51 กิโลเมตร
- อำเภอท่าตูม 52 กิโลเมตร
- อำเภอสำโรงทาบ 54 กิโลเมตร
- อำเภอกาบเชิง 58 กิโลเมตร
- อำเภอศรีณรงค์ 64 กิโลเมตร
- อำเภอรัตนบุรี 70 กิโลเมตร
- อำเภอบัวเชด 70 กิโลเมตร
- อำเภอโนนนารายณ์ 75 กิโลเมตร
- อำเภอพนมดงรัก 78 กิโลเมตร
- อำเภอชุมพลบุรี 91 กิโลเมตร
สำหรับการเดินทางในตัวจังหวัด จะใช้การจราจรโดยรถส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์รวมทั้งจักรยาน สำหรับระบบมวลชนจะมีรถสองแถว รถเมล์ชมพู ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง/สามล้อปั่น บริการในจังหวัดสุรินทร์ มีสถานีขนส่งภายในตัวจังหวัดเชื่อมต่อจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ดังนี้คือ
- สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอปราสาท
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอสังขะ
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอรัตนบุรี
- ทางรถไฟ
การคมนาคมทางรถไฟ ปัจจุบันมีรถไฟสายกรุงเทพฯ-สุรินทร์ โดยผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ จนถึงสุรินทร์ เปิดการเดินรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถดีเซลรางปรับอากาศ ใช้เวลาในการเดินทาง 6-8 ชั่วโมง เป็นระยะทาง 420 กิโลเมตร
- ทางอากาศ
จังหวัดสุรินทร์มีท่าอากาศยานสุรินทร์ภักดี ซึ่งในอดีตได้เปิดทำการบินโดยบริษัท บางกอกแอร์เวย์-แอร์อันดามัน-พีบีแอร์ ซึ่งเมื่อปลายปี 2552 สายการบินพีบีแอร์จะเปิดทำการบิน แต่เนื่องจากทางบริษัทประสบปัญหาทางการเงินจึงได้ปิดกิจการไปก่อน จึงไม่สามารถทำการบินได้ ในปัจจุบันสามารถใช้การเดินทางอากาศที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ มีเที่ยวบินวันละ 5 เที่ยวบิน โดยห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 80 กิโลเมตร
ประชากรศาสตร์
แก้ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 [11] จังหวัดสุรินทร์มีประชากรทั้งสิ้น 1,380,399 คน แยกเป็นชาย 690,644 คน หญิง 689,755 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 170 คน/ตร.กม. มีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศไทย และมีความหนาแน่นเฉลี่ยเป็นลำดับที่ 18 ของประเทศไทย
กลุ่มชาติพันธุ์
แก้กูย หรือกวย คำที่ใช้เรียกชนชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง คำว่า กูย หรือ กวย เป็นคำนาม เมื่ออยู่โดดๆ ไม่ได้แปลว่า คน หรือ ใคร เพียงเท่านั้น แต่หมายถึง ชื่อเรียกชนชาติพันธุ์เก่าแก่ชนชาติพันธุ์หนึ่ง และเป็นชนชั้นปกครองและเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งมีอารยธรรมอันดีงามร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในดินแดนสุวรรณภูมิ เช่นชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆแถบอีสานใต้ในปัจจุบัน และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและลาว ก็ยังพบชนชาติพันธุ์นี้อาศัอยู่กันเป็นจำนวนมากหลายหมู่บ้านตำบล และนอกจากนี้ คำว่า กูย ยังหมายรวมถึง ภาษากูย อีกด้วย ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดคุยสื่อสารกันในชีวิตประจำวันที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวกูย หรือกวย มีรูปร่างลักษณะผิวค่อนข้างคล้ำ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ รวมไปถึง ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา ชาวกูยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เคยครอบครองดินแดนแถบที่ราบสูงในเขตเทือกเขาพนมดงรัก และลงไปจนถึงแถบทะเลสาบในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน รวมไปถึงถึงในเขตลาวใต้ (เช่น จำปาศักดิ์ อัตตะปือ แสนปาง เป็นต้น) และเวียดนามใต้บางส่วน ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิม ในสมัยอยุธยาเคยส่งราชทูตเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา และมีการบันทึกไว้ว่ามีสิทธิทางการค้าเท่าเทียมพ่อค้าชาวตะวันตก บรรพบุรุษในอดีตมีการเดินทางค้าขาย การย้ายถิ่นที่อยู่ไปมาระหว่างกันเสมอ ชาวกูยมีภาษาพูด มีการนับเลขเป็นระบบฐานสิบ และในอดีตมี อักษรเป็นของตนเองแต่ได้ขาดหายไปอย่างไม่ปรากฏร่องรอย ชาวกูย/กวยในปัจจุบันเชี่ยวชาญด้านการจับช้าง ครูบาอาจารย์ นักบวช ชาวกูยส่วนใหญ่สามารถพูดสื่อสารภาษาถิ่นในแถบอิสานใต้ได้หลายภาษา ทั้งภาษากูย กวย ภาษาลาว และภาษาเขมร นิยมพูดภาษาเป็น 2 กลุ่ม คือ กูย - ลาว อยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ และนครราชสีมาบางพื้นที่ ซึ่งพูดภาษากูยในปัจจุบันมีคำภาษาลาวปนอยู่ด้วยบางคำ และกูย - เขมร อยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีตอนล่าง ชาวไทยกูยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่อำเภอศีขรภูมิ สำโรงทาบ จอมพระ สังขะ บัวเชด ศรีณรงค์ สนม ลำดวน ท่าตูม บางส่วนของอำเภอเมือง เขวาสินรินทร์ และกาบเชิง ปัจจุบันนับถือพุทธศาสนา พราหมณ์ ผสมความเชื่อผีบรรพบุรุษ
- ชาวไทยเขมร (ขะแมร์)
มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์-ศรีสะเกษ ชาวเขมรส่วนใหญ่มีลักษณะผิวขาวเหลือง - ค่อนข้างคล้ำ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ภาษาเขมรคล้ายภาษาเขมรในกัมพูชา แต่เสียงเพี้ยนกันอยู่บ้าง เขมรแต่เดิมนับถือศาสนาพราหมณ์และผีบรรพบุรุษ ปัจจุบันหันมานับถือพุทธศาสนา ชาวเขมรส่วนใหญ่ชอบและเชี่ยวชาญงานด้านการเกษตร ประมง การเลี้ยงสัตว์ งานบริการ และการละเล่นดนตรี เนื่องบริเวณแอ่งที่ราบลุ่มทะเลสาบโตนเลไปจนถึงบริเวณแถบเวียดนามใต้ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตรและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญมาแต่สมัยโบราณ ชาวเขมรอาศัยอยู่ในแถบสุรินทร์มานานแล้ว และอิสานใต้ต่อเนื่องมา มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ1.คนที่อยู่ดั้งเดิม และใน 2.ช่วงปีพ.ศ. 2324 ทางฝ่ายเขมรเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน และสมัยที่นางดามบุตรีเจ้าเมืองประทายเพชร ซึ่งเป็นนายของตนมาเป็นสะใภ้หลานชายชาวกูยเจ้าเมืองสุรินทร์ จึงพากันอพยพตามเจ้านายมาอยู่ที่เมืองคูประทาย (เมืองสุรินทร์) เป็นอันมาก และอพยพเข้ามาอีกหลายครั้งในช่วงฝรั่งเศสปกครองและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ จึงมีเชื้อสายไทยลาวเหมือนกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยได้ใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่เมือนกันกับชาวไทยลาวโดยทั่วไป แต่ก็จะมีอยู่ที่แตกต่างในเรื่องของภาษาบ้างในแต่ละท้องถิ่น ชาวไทยลาวอพยบเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้งด้วยเหตุหลาย ๆ ประการ ลาวบางส่วนแต่เดิมก็เป็นกูย เดิมนั้นกูย พูดทั้งภาษากูยและภาษาลาว แต่เมื่อกาลผ่านไป ลูกหลานกูย ไม่สามารถพูดภาษาตนได้ จะได้แค่ภาษาลาว จึงกลายเป็นลาวไปโดยปริยาย
ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาก่อตัวเป็นชุมชนขึ้นในจังหวัดสุรินทร์นั้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาการลี้ภัยสงคราม การแตกพ่ายของก๊กต่าง ๆ การเกณฑ์แรงงานทาสที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาหลายพันปีของราชวงศ์ต่าง ๆ สงครามฝิ่นกับอังกฤษและชาติต่าง ๆในยุโรป ซึ่งสร้างความวุ่ยวายในแผนดินจีนถึง 100 ปี และต่อเนื่องมาถึงยุคการปฏิวัติประชาธิปไตยสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น การปฏิวัติคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตง และสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกจีน ที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 54 ปี ในระหว่าง พ.ศ. 2438–2492 ทำให้ประชาชนเดือดร้อนลำเค็ญโดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง และทางแถบตอนใต้ของประเทศจีนในปัจจุบันได้อพยพลี้ภัยเข้ามายังเมืองไทยเป็นจำนวนมาก สายหนึ่งมาทางเรือ ขึ้นฝั่งที่เมืองบางกอก (กรุงเทพมหานคร) อีกสายหนึ่งผ่านเข้ามาทางเวียดนามและลาว ชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสุรินทร์อาจแบ่งออกเป็นสองถึงสามช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่ ก่อนการสร้างทางรถไฟผ่านเมืองสุรินทร์ (อพยบข้ามมาจากทางฝั่งชายแดนที่ติดต่อกัน เช่น กัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม) และระหว่าง - หลังจากทางรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว ซึ่งการคมนาคมสะดวกขึ้นทำให้เกิดการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดและภาคต่าง ๆของประเทศสะดวกขึ้น ประเทศจีนในปัจจุบันประกอบกันขึ้นมาด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลายชนเผ่าพันธุ์ ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม มีรวม ๆ กันประมาณ 56 กลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างน้อย กระจายอาศัยอยู่ทั่วประเทศจีน เช่น มองโกล อุยกูร์ ถู่จีอา ยี ไต ฮั่น จ้วง หุย แมนจู แม้ว ฯลฯ เป็นต้น เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคแถบเอเชียทั้งหมด
ชาวไทยเชื้อสายญวน บ้างอาจปรากฏว่า แกว หรือเวียดนาม (ญวนหรือเวียดนามก็มีหลากหลายชาติพันธุ์/ภาษา/วัฒนธรรม) หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย (สยาม) ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายญวนแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ญวนเก่าและญวนใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มญวนเก่าได้อพยพจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม และผสมกลมกลืนไปกับคนไทยหมดแล้ว ส่วนญวนใหม่ คือคนที่อพยพเข้ามาในไทยในปี พ.ศ. 2488 (เริ่มการประกาศราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง) และในปี พ.ศ. 2489 (ปีที่เวียดนามเหนือรบชนะสงครามเวียดนาม) และชาวญวนใหม่เหล่านี้ได้ทยอยเข้ามาในไทยจนถึงปี พ.ศ. 2499 ซึ่งกระจายอยู่ในภาคอิสานของไทย ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งจริงแล้วในประเทศญวนนั้นก็มีลักษณะทางสังคม ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ในปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจพบว่าในประเทศเวียดนามมี 54 ชนเผ่า กระจายอาศัยอยู่ทั่วประเทศ แต่เรียกบรรดาผู้คนที่จากบริเวณประเทศเวียดนามในปัจจุบันว่า "ชาวญวน"
- ชาวไทยอื่น ๆ
ในปัจจุบันทุกชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์และบริเวณจังหวัดใกล้เคียงได้อาศัยอยู่กันอย่างกลมกลืนตามความเชื่อของตนเอง มีการผสมผสานกันทางภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ภาษา
แก้ประชากรในจังหวัดสุรินทร์ยังใช้ภาษาท้องถิ่นเขมร ส่วย และลาว เป็นภาษาที่ 1 ควบคู่กับภาษาไทย ประชากรจังหวัดสุรินทร์ ภาษากูย ร้อยละ 30 ใช้ภาษาเขมร ประมาณร้อยละ 50 ภาษาลาวร้อยละ 12 ภาษาจีนและอื่น ๆ ร้อยละ 8
- ภาษาส่วยหรือภาษากูย นับเป็นภาษาพูดของกลุ่มชนเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง ภาษาเขียนแต่เดิมคือปัลลวะ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว ภาษากูยใช้กันมากที่อำเภอสำโรงทาบ อำเภอท่าตูม อำเภอศรีณรงค์ อำเภอจอมพระ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ
อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอพนมดงรัก อำเภอสนม
- ภาษาเขมร เป็นภาษาที่พูดที่กระจายอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ แต่หนาแน่นที่สุดที่อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอลำดวน อำเภอบัวเชด อำเภอปราสาท อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ อำเภอพนมดงรัก อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ และอำเภอจอมพระ
- ภาษาลาว ใช้มากในอำเภอสนม อำเภอรัตนบุรี อำเภอชุมพลบุรี อำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอท่าตูม
(รวมไปถึงอำเภอต่างๆที่พูดภาษากูยจะพูดลาวด้วย)
- ภาษาผีปะกำ เป็นภาษาพิเศษของชนชาวกูยเลี้ยงช้าง ใช้สื่อสารกันเฉพาะระหว่างกำลวงพืด หมอช้างและมะข่างกับเทพเจ้า ผีปะกำ และบริวารของผีปะกำ ในช่วงเวลาของการเดินทางไปกูบเทวะด้า (คล้องช้าง) แต่เมื่อกลุ่มผู้จับช้างอยู่บ้านตามปกติจะใช้ภาษากูยโดยทั่วไป
จากการรวบรวมภาษาผีปะกำของจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 365 คำ พบว่าตรงกับภาษาบาลี สันสกฤต ประมาณร้อยละ 20 ต่างกันเฉพาะสำเนียง เป็นภาษาขอมโบราณร้อยละ 40 - 50 ที่ยังหาไม่ได้ว่าเป็นภาษาใดอีกร้อยละ 30 [12]
การศึกษา
แก้การเมืองการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้ในด้านของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จังหวัดสุรินทร์แบ่งการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ แบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 159 ตำบล และ 2,011 หมู่บ้าน
ชั้น | หมายเลข | อำเภอ | ประชากร (พ.ศ. 2560) |
พื้นที่ (ตร.กม.) |
ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) |
รหัสไปรษณีย์ |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 1 | อำเภอเมืองสุรินทร์ | 262,951 | 1,066.26 | 246.61 | 32000 |
2 | 2 | อำเภอชุมพลบุรี | 71,787 | 526.256 | 136.41 | 32190 |
1 | 3 | อำเภอท่าตูม | 96,901 | 714.0 | 135.70 | 32120 |
3 | 4 | อำเภอจอมพระ | 60,337 | 429.0 | 140.64 | 32180 |
1 | 5 | อำเภอปราสาท | 157,429 | 908.386 | 173.30 | 32140 |
3 | 6 | อำเภอกาบเชิง | 61,344 | 576.0 | 106.50 | 32210 |
2 | 7 | อำเภอรัตนบุรี | 94,103 | 383.812 | 245.17 | 32130 |
3 | 8 | อำเภอสนม | 58,117 | 354.49 | 230.68 | 32160 |
2 | 9 | อำเภอศีขรภูมิ | 135,909 | 634.538 | 214.18 | 32110 |
1 | 10 | อำเภอสังขะ | 131,123 | 1,009.0 | 129.95 | 32150 |
3 | 11 | อำเภอลำดวน | 31,270 | 343.0 | 91.10 | 32220 |
3 | 12 | อำเภอสำโรงทาบ | 53,086 | 421.37 | 125.98 | 32170 |
4 | 13 | อำเภอบัวเชด | 41,157 | 479.0 | 85.90 | 32230 |
4 | 14 | อำเภอพนมดงรัก | 38,013 | 318.0 | 119.50 | 32140 |
4 | 15 | อำเภอศรีณรงค์ | 46,891 | 410.0 | 114.36 | 32150 |
4 | 16 | อำเภอเขวาสินรินทร์ | 35,020 | 191.135 | 183.22 | 32000 |
4 | 17 | อำเภอโนนนารายณ์ | 35,419 | 161.4 | 219.44 | 32130 |
รวม | 1,397,180 | 8,925.277 | 171.98 |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดสุรินทร์ มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 36 คน
ในพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์แบ่งออกเป็นเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างหรือระดับพื้นฐานจำนวนทั้งหมด 173 แห่ง ได้แก่ 1 เทศบาลเมือง, 27 เทศบาลตำบล และ 144 องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับเทศบาลมีรายชื่อดังนี้
- อำเภอเมืองสุรินทร์
- อำเภอกาบเชิง
- อำเภอพนมดงรัก
- อำเภอสังขะ
- อำเภอลำดวน
- อำเภอศีขรภูมิ
- อำเภอสำโรงทาบ
- อำเภอเขวาสินรินทร์
- อำเภอรัตนบุรี
- อำเภอบัวเชด
- อำเภอท่าตูม
- อำเภอชุมพลบุรี
- อำเภอจอมพระ
- อำเภอสนม
วัฒนธรรม
แก้โบราณวัตถุ
แก้- รูปเคารพและส่วนประกอบของปราสาท ได้จากชิ้นส่วนของปราสาทที่ขุดพบทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์ เช่น ทับหลังจำหลักกลีบขนุน ฐานเทวรูป เศียรเทวรูป พระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ เป็นต้น
- อาวุธ พบน้อยมากในจังหวัดสุรินทร์ จะพบก็เป็นอาวุธที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น เช่น หอก ดาบ ขอช้าง และง้าว
- เครื่องประดับ พบว่าอยู่ในสมัยขอมโบราณที่เรียกว่าศิลปะลพบุรี เช่น กำไล กระพรวนที่ทำด้วยสำริด และห่วงคานหาม เป็นต้น
- เครื่องถ้วยและภาชนะดินเผา พบว่าอยู่ในสมัยขอมโบราณ พบที่ตำบลสวาย อำเภอศรีณรงค์ และอำเภอสังขะ เช่น ลูกประคำ ไห โถ ชาม กระปุก เป็นต้น
- สังเค็ด เป็นสังเค็ดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้วัดจำปา เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศิลปะ
แก้- ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
- งานแกะสลักจากงาช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม
- วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหมแบบโบราณของชาวกวย
- หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมชาวกูยบ้านเมืองลีง (ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์)
- เครื่องเงิน
- ผ้าไหม
- ประคำ
- หมอนขิด
- การละเล่นพื้นบ้าน นาฎศิลป์ และดนตรี
- แกลอะมอล
- เรือมอันเร
- รำตรุษ
- เจรียง เบริน
- กันตรึม
- หมอลำ
- ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
- พิธีกรรมการคล้องช้างและการเซ่นปะกำของชาวกูย กวย
- ศาลปะกำ ที่เป็นเสมือนเทวาลัยสิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ตามความเชื่อของ ชาวกวย หรือกูย นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์จาก ศาลปะกำ กันได้ ซึ่งเชื่อกันว่า ขอสิ่งได้ ได้สมปรารถนาดั่งที่ตั้งใจไว้
- งานแซนโฎนตา
- รำมะม๊วด
- เลี้ยงปู่ตา
- สินค้าและของฝาก
- ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งมีคุณสมบัติ หอม ยาว ขาว นุ่ม มีคุณภาพดีที่สุดในโลก (สินค้า GI: สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)
- เม็ดบัวอบกรอบ มาย ขนมขบเคี้ยวที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวของประเทศไทย
- ผ้าไหมชาวกูยและผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์
- งานแกะสลักจากงาช้างและกระดูกสัตว์ของชาวกูย ณ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม
- ผ้าไหมมัดหมี่ บ้านม่วงบุญมี ตำบลแก อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
• กาละแม ของชาว อำเภอศีรขรภูมิ ซึ่งมีรสชาติกลมกล่อม • หมูหยอง เกรดพรีเมี่ยง • กุนเชียงเนื้อแน่น แสนอร่อย
- เทศกาลท่องเที่ยว
- ประเพณีเทศกาลงานช้างและงานกาชาดจังหวัด (มีการแสดงแสงสี การแสดงของช้าง ทั้งในงานและนอกงานที่ปราสาทศีขรภูมิ และงานจัดเลี้ยงโต๊ะอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) รวมสถิติโลกโดย กินเนส เวิรลด์ เรคคอร์ด)
- เทศกาลกันตรึมดนตรีพื้นเมืองสุรินทร์
- การท่องเที่ยวเพื่อตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ณ แหล่งโบราณสถานของอำเภอต่าง ๆ
- ประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ
- ประเพณีขึ้นเขาพนมสวาย บูชาเทพเจ้า สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9
- ประเพณีบวชนาคบนหลังช้าง ณ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม
- เทศกาลงานข้าวหอมมะลิสุรินทร์
- ประเพณีแข่งเรือ ณ แม่น้ำมูล อำเภอท่าตูม
- ประเพณีนมัสการขึ้นกลุ่มปราสาทตาเมือน
- เทศกาลสนมเมืองดอกจาน ประสานใจไหว้ปู่ตา (มีการประกวดธิดาเมืองดอกจาน ผ้าใหมลายดอกจาน พร้อมแสงสีเสียง และยังมีขบวนแห่ที่ยาวมาที่สุดในภูมิภาคสุรินทร์เหนือ งานจัดแสดงสินค้าของดีเมืองดอกจาน) ณ อำเภอสนม
- ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ (มีการแสดงแสงสีเสียง ตำนานเนียงด็อฮฺธม ช่วงวันที่ 8 - 12 เมษายน ทุกปี)
- ประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี ณ.อำเภอรัตนบุรี มีการประกวดขบวนแห่ ขบวนรำ และจุดบั้งไฟขึ้นสูงใหญ่ที่สุดใน จังหวัดสุรินทร์ ช่วง เดือน พฤษภาคมของทุก ๆ ปี อ.รัตนบุรี
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์ลอยฟ้า วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษาของทุกปี
- งานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและสิ่งศักสิทธิ์คู่เมืองสุรินทร์ (มีการแสดงบนเวทีมากมาย การเชิดสิงห์โต การแสดงงิ้ว มหกรรมอาหารดีหลากหลายของเมืองสุรินทร์)
- ประเพณีเทศกาลไหว้เจ้าพ่อตาดาน ปลายเดือน พ.ย ของทุกปี อ.สังขะ
- เทศกาลปลาไหล ข้าวใหม่หอมมะลิ และงานกาชาด อำเภอชุมพลบุรี จัดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ที่สามในเดือนธันวาคมของทุกปี
- งานสืบสานตำนานปราสาทยายเหงา ช่วงปลายเดือน เม.ย ของทุกปี ต.บ้านชบ อ.สังขะ
- ประเพณีปอ๊อกเปรี๊ยะแค (พิธีไหว้พระจันทร์) วัดดาราธิวาส บ้านขนาดมอญ ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
- งานไหว้พระธาตุ และงานแสดงแสง สี เสียง “ประวัติศาสตร์ นครธีตา-บ้านธาตุ-เมืองรัตนบุรี” โดยกำหนดงานบุญ 3-5 วันในช่วงงานบุญเดือนสาม วันมาฆบูชา (ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี) ส่วนงานเฉลิมฉลองการสร้างเมืองรัตนบุรี หรืองาน “ไหว้เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ” เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก นั้นกำหนดช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี หลังจากงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์
- มหกรรมอนุรักษ์หนังกลางแปลงจังหวัดสุรินทร์ จัดโดย สมาคมอนุรักษ์หนังกลางแปลงจังหวัดสุรินทร์
กีฬา
แก้การท่องเที่ยว
แก้- คชอาณาจักร (องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์: อสส.) ตั้งอยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน (ติดกับศูนย์คชศึกษา) ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ 3,000 ไร่
- ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ (ภายใต้การอำนวยการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์)
- วังทะลุ ห่างจากหมู่บ้านช้างบ้านตา (คชอาณาจักร) กลางเพียง 3 กิโลเมตร ที่นี่เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี “วังทะลุ” เป็นสายน้ำที่แวดล้อมไปด้วยป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามซึ่งหาชมได้ยาก ยังมีความอุดมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นที่อาบน้ำของช้างในหมู่บ้านยามเย็น ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ได้
- วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์
- วนอุทยานพนมสวาย ตำบลสวาย-ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์
- น้ำตกไตรคีรี เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกถ้ำเสือ เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกปะอาว ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง
- น้ำตกวังตะเคียน (ทะมอบั๊ก) ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก
- น้ำตกโอตราว เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกโอทะลัน เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกกรูงคลา เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกโตงใหญ่ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- น้ำตกผาดอกบัว วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- ผาถ้ำพระ เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- พุทธอุทยานเขาศาลาอตุลฐานจาโร หรือ วัดเขาศาลาอตุลฐานจาโร เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- เขื่อนห้วยตาเกาว์ใหม่ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อำเภอกาบเชิง
- จุดชมวิวช่องปลดต่าง ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง
- ชุมชนบ้านสันปันน้ำ อำเภอพนมดงรัก
- หมูบ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณ บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์
- หมู่บ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ยกดอกโบราณบ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- หมูบ้านทำเครื่องเงิน ปะเกือม บ้านโชค ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์
- พระดินปั้นพันปี วัดตาตอมจอมสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- ทะเลสาบทุ่งกุลา ตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี
- บ้านอาลึโฮมสเตย์ สำผัสวัฒนธรรมองค์กรชาวกูยที่หมู่บ้านอาลึ หมู่ที่ 4 ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
หมายเหตุ ชื่อปราสาทและโบราณสถานต่าง ๆ เป็นการกำหนดชื่อเอาเองในภายหลัง สำหรับชื่อ-คำอ่าน (เป็นสำเนียงแบบปัลลวะ หรือสำเนียงของบาลี - สันสฤต ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากเหล่าพราหมณ์/นักบวชจากแถบอินเดียในปัจจุบัน) ที่ถูกต้องและชื่อที่แท้จริงยังต้องค้นคว้าตามจารึกต่าง ๆ ต่อไป
- โบราณสถาน
- กลุ่มปราสาทตาเมือน อยู่ที่ ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทภูมิโปน ชื่อที่แท้จริงตามจารึกที่ค้นพบ คือ "กฤตฺชญนคร" เป็นชุมชนขอมโบราณดั้งเดิม ตั้งอยู่ที่ บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย อยู่ที่ บ้านจาน ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทหมื่นชัย อยู่ที่ บ้านถนน ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทเต่าทอง อยู่ที่ บ้านตาโมม ตำบลสะกาด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทยายเหงา อยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทบ้านพลวง อยู่ที่ บ้านพลวง ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทบ้านไพล หรือวัดโคกปราสาท อยู่ที่ บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาททนง อยู่ที่ บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทอังกัญโพธิ์ อยู่ที่ บ้านอังกัญโพธิ์ ตำบลโคกยาง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทโอรงา อยู่ที่ บ้านโคกสะอาด ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทเขาพนมสวาย อยู่ที่ในวัดพนมศิลาราม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทเมืองที อยู่ที่บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทบ้านอนันต์ อยู่ที่วัดโพธิญาณ ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทบ้านระแงง อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทช่างปี่ อยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทนางบัวตูม อยู่ที่บ้านสระถลา ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทโนนแท่น อยู่ที่บ้านโพนครก ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทตาเมือนธม อยู่ที่ ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทตาเมือนโต๊จ อยู่ที่ บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทตาเมือน หรือ ปราสาทบายกรีม อยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทจอมพระ อยู่ที่บ้านศรีดงบัง ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทบ้านตระเปียงเตีย หรือปราสาทระเบียงเตีย อยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์
- เจดีย์บ้านลำดวน อยู่ที่โรงเรียนบ้านลำดวน ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทหมื่นศรีน้อย อยู่ที่บ้านหมื่นศรีกลาง ตำบลหมื่นศรี อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทตามอยหรือปราสาทตามอญ อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาททอง อยู่ที่บ้านแสรออ ตำบลปราสาททอง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทแก้ว อยู่ที่บ้านพระปืด ตำบลแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
- ปราสาทบ้านสนม (ปราสาทวัดธาตุ) อยู่ที่วัดธาตุ ภายในศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาเท้าเธอ (พระเจ้าจินดา) บ้านสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ สร้างสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจประมาณ พ.ศ. 1800 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระองค์โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลขึ้นในชุมชนต่าง ๆ มากมาย ปราสาทแห่งนี้มีขนาดโดยประมาณ กว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เดิมมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ประมาณ 2 - 3 โอบ จำนวนมาก ได้แก่ ประดู่ ตะแบก ยาง ตะคร้อ ตาเสือ คำไก่ ซึ่งปราสาทหลังนี้มองจากทุ่งนา นอกบ้านเห็นเด่นชัด บริเวณรอบ ๆ ปราสาทมีสระน้ำเรียงรายทั้งสี่ด้าน ในบริเวณวัด ในบริเวณปราสาท ทางวัดได้รื้อปราสาทลง และก่อสร้างอุโบสถแทน เมื่อ พ.ศ. 2478 และนำชิ้นส่วนปราสาทไปทิ้งไว้ด้านหลังวัด อดีตเคยขุดได้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ และเทวรูป ปัจจุบันมี 2 องค์ 1 องศ์ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ และอีก 1 องค์ อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ คาดว่าสร้างสมัยเดียวกับปราสาทจอมพระ แต่รูปร่างเป็นแบบเดียวกันกับปราสาทศีขรภูมิ
- ปราสาทบ้านธาตุ (วัดโพธิ์ศรีธาตุ) ตั้งอยู่ที่ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากอำเภอรัตนบุรี ไปตามเส้นทางสายรัตนบุรี-ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2076 ประมาณกิโลเมตรที่ 8 เคยเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณเดิมเป็นเมืองของขอมโบราณ ชื่อว่า “นครธีตา” บ้างก็ว่า “นครจำปา” ซึ่งมีอายุนับได้พันปีมาแล้ว ต่อมาอาจจะมีข้าศึกจากเมืองอื่น ยกทัพมารุกราน ทำลาย หรือเกิดโรคระบาด จนทำให้ผู้คนอพยพหนีจากไป จนกลายเป็นเมืองร้าง ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ คือ 1. กำแพงเมือง คูเมือง ซึ่งเป็นแบบโบราณล้อมรอบบ้านธาตุทางทิศตะวันตกและทิศใต้ 2. บึง หรือหนองน้ำ ซึ่งขุดด้วยมนุษย์ ล้อมรอบบ้านธาตุ ทางทิศเหนือและตะวันออก ( ปัจจุบัน คือ หนองบัว-หัวช้าง หนองเบือก หนองแก หนองกอลอ ฯลฯ ) 3. ประตูเมือง ซึ่งเป็นทางเข้า – ออก 4 ด้าน คือ ประตูด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ตามสภาพที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน 4. เขตพระราชวัง ( โฮง ) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง ( คือ บริเวณตะวันตกวัดโพธิ์ศรีธาตุในปัจจุบัน ) 5. สถานที่ประกอบศาสนกิจหรือพิธีกรรมตามความเชื่อ คือ “ วิหาร ” หรือ “ เจดีย์ ” หรือ “ ธาตุ ” หรือ “ เทวสถาน ” ( บริเวณวัดโพธิ์ศรีธาตุ ซึ่งได้แก่ ธาตุ หิน ที่ก่อด้วยศิลาแลงหินทราย ในปัจจุบันทางวัดได้ใช้เป็นฐานในการสร้างพระธาตุมณฑป ) นอกจากนี้ ยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและเป็นเนินดิน มีคูน้ำล้อมรอบและมีหมู่บ้านกระจัดกระจายโดยรอบเป็นทุ่งนากว้าง
- ปราสาทบ้านขุมดินอยู่ที่วัดปราสาทบ้านขุมดิน บ้านขุมดิน ตำบลหนองหลวง อำเภอโนนนารายณ์
หมายเหตุ ชื่อปราสาทและโบราณสถานต่าง ๆ เป็นการกำหนดชื่อเอาเองในภายหลัง สำหรับชื่อที่ถูกต้องแท้จริงยังต้องค้นคว้าตามจารึกต่าง ๆต่อไป
- แหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี
-
ศาลหลักเมืองสุรินทร์
-
บุญบั้งไฟ อำเภอรัตนบุรี เป็นงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ่นอย่างยิ่งใหญ่ของชาวอำเภอรัตนบุรี และยิ่งใหญ่มากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์
-
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก
-
วัดบูรพาราม
-
ปราสาทตาเมือนธม
-
ปราสาทตาเมือนโต๊ด
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้บุคคลในประวัติศาสตร์
แก้- พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เซียงปุม) เจ้าเมืองประทายสมันต์ หรือเจ้าเมืองกูย (เมืองสุรินทร์) ต้นตระกูล อินทนูจิตร (พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าชาวกูยเมืองประทายสมัน เป็นต้นสกุล “อินทนูจิตร” เนื่องด้วยช่วยราชการสงครามกับรัชกาลที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ทองด้วง) แห่งกรุงรัตนโกสินธุ์ฯ ดำรงยศ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก แห่งกรุงธนบุรี) และพระราชอนุชาไว้มาก ความดีความชอบครั้งสำคัญ ในสงคราม 9 ทัพ ในปี พ.ศ. 2328 จึงได้รับการปูนบำเหน็จอวยยศเป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ในปีถัดมา และมีการเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันเป็น “เมืองสุรินทร์” เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษแด่ท่าน ซึ่งราชทินนาม ณรงค์ แปลว่าสงคราม จางวาง คือข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็กรับใช้เจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือเจ้านายที่ทรงกรม ซึ่งท่านมาจากเมืองสุรินทร์เมืองช้างโดยเชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เป็นพิเศษ
- พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เซียงฆะ) เจ้าเมืองสังฆะ ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอสังขะ
- พระศรีนครเตาท้าวเธอ (เซียงสี หรือตากะอาม) เจ้าเมืองรัตนบุรี ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอรัตนบุรี
- พระไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- พระยาศีขรภูมิมานุรักษ์ (หลวงไชยสุริยงค์) เจ้าเมืองศีขรภูมิ (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาศีขรภูมิมานุรักษ์ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ศีขรภูมิพิสัย) ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอศีขรภูมิ
- พระยาภักดีพัฒยากร (ท้าวอุทา) เจ้าเมืองสนม ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอสนม
- เจ้าแม่โนนนารายณ์ เจ้าเมืองโนนนารายณ์ปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอโนนนารายณ์
พระภิกษุสงฆ์ / พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์
แก้- พระสาสนโสภณ (โกศล สิรินฺธโร) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา
- พระพรหมวชิรโมลี (ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ), ดร. (ป.ธ.9, พธ.ด.) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 (นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, สุรินทร์)และอดีตเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดศาลาลอย จังหวัดสุรินทร์
- พระธรรมมหาวีรานุวัตร (อำนวย จนฺทสโร) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองโพธิ์
- พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ)
- พระเทพสิทธิญาณรังสี (จันทร์ คเวสโก) หรือ "หลวงตาจันทร์" อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าชัยรังสี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- พระเทพรัตนดิลก (วิจิตร) จร.วัดศาลาลอย ธ./นครราชสีมา
- พระเทพมงคลวัชราจารย์ (เหลือง ฉนฺทาคโม) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์(ธรรมยุต) อดีต จร.วัดกระดึงทอง ธ./บุรีรัมย์
- พระเทพวชิรญาณโสภณ (เยื้อน ขนฺติพโล) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานจาโร อำเภอบัวเชด
- พระราชวุฒาจารย์ (ดุลย์ อตุโล) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ศิษย์พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)
- พระราชวิสุทธิธรรมรังษี (เปลี่ยน โอภาโส) (ธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโยธาประสิทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดกะทมวนาราม
- พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) และอดีตเจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์
- พระราชวิสุทธินายก (บุญเรียด พุทฺธวํโส) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) และอดีตเจ้าอาวาสวัดไตรรัตนาราม
- พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) อดีตเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดบูรพาราม พระอารามหลวง เฉลิมพระเกียรติ
- พระราชมุกดาหารคณี (ยอด) จล.วัดศรีมงคลใต้/มุกดาหาร
- พระราชวราจารย์ (วิวัฒน์ จิณฺณธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล(ธรรมยุติ)
- พระราชสุตาลังการ (ฉัตต์ สจฺจวโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 (นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, สุรินทร์) ฝ่ายมหานิกาย,เจ้าอาวาสวัดพรหมสุรินทร์
- พระราชวิมลโมลี (มานพ ปิยสีโล) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ , ดร. (ป.ธ.9, พธ.บ., อ.ม.,พธ.ด.) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดศาลาลอย จังหวัดสุรินทร์
- พระราชมงคลวัชรินทร์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง เจ้าอาวาสวัดโพนทอง
- พระคุณรสศีลขันธ์ (เปาว์ มุตฺตจาโค/กฤชทอง) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) และอดีตเจ้าอาวาสวัดจุมพลสุทธาวาส
- พระโพธิธรรมาจารย์เถร (สุวัจน์ สุวโจ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเขาน้อย (ธ) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
- พระประภากรคณาจารย์ (เดื่อ ปภากโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม)
- พระโพธินันทมุนี วิ.(พนมศักดิ์ พุทุธญาโน), ดร. เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธคยา (ธ) ตำบลพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
- พระมงคลรังษี (สุวัฒน์ จนฺทสุวณฺโณ) หรือหลวงปู่ธรรมรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทพนมดิน อำเภอท่าตูมพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง
- พระสิทธิการโกศล (เมธ ปญฺญาวโร) (ป.ธ.5, น.ธ.เอก) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาท อำเภอศีขรภูมิ
- พระพิมลพัฒนาทร (พวน วรมงฺคโล) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง แห่งวัดมงคลรัตน์ อำเภอเมืองสุรินทร์
- พระรัตโนภาสวิมล (ชาลี โชติธมฺโม) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) และอดีตเจ้าอาวาสวัดกลางรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี
- พระเมธีธรรมสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดบวรมงคลราชวรวิหาร (ธ) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
- พระศรีรัตนโมลี (สมคิด สุรเตโช) (ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดราชสิทธาราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
- พระปริยัติวรคุณ (สุคนธ์ คนฺธวํโส) (น.ธ.เอก, ป.ธ.6) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์รูปที่ 2 (ม) และอดีตรองเจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์
- พระศรีปริยัติวิมล (ตึ๋ง) เจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดคลองโพธิ์/อุตรดิตถ์
- พระปิฎกคุณาภรณ์ (สวี) จล.วัดมงคลทับคล้อ/พิจิตร
- พระศรีโพธิวิเทศ (สุพจน์) จร.วัดไทยลุมพินี/ประเทศเนปาล
- พระมงคลวชิรคุณ (บุญทัน อคฺคเตโช) เจ้าอาวาสวัดกาพระคุณาราม ตำบลหัวงัว อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
- พระวชิรดิลก (สมพงษ์ สิริมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระแก้ว (จังหวัดเชียงราย)
- พระครูปรีชาวชิรธรรม (วิเชียร สุวชิโร),(น.ธ.เอก,ป.ธ.,พธ.บ.,ค.ม.,Ph.D.)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร
- พระครูวิมลขันติธรรม (อภิสิทธิ์ ขนฺติสาโร) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) อดีตเจ้าอาวาสวัดจุมพลสุทธาวาส
- พระครูบรรณสารโกวิท (แป สุปญฺโญ) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์
- พระครูปัญญาวุฒิสุนทร (คุน ปญฺญาวุฑฺโฒ) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดแสงบูรพา ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- พระครูประสาทพรหมคุณ (หงษ์ พฺรหฺมปญฺโญ) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง แห่งวัดเพชรบุรี (สุสานทุ่งมน) อำเภอปราสาท
- พระครูวิสุทธิ์กิติญาณ (คีย์ กิติญาโณ) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง แห่งวัดศรีลำยอง อำเภอปราสาท
- พระครูอุดมวรเวท (เจียม อติสโย)พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง แห่งวัดอินทราสุการาม ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- พระครูพิพิธประชานาถ (นาน สุทธสีโล) พระสงฆ์นักพัฒนา เจ้าอาวาสวัดสามัคคี บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
- พระครูสุภัทรโพธิคุณ (เผือก สุภทฺโท) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอท่าตูม และอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยบ้านหมากมี่อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- พระครูอนุวัตปัญญาภรณ์ (หาด ปญฺญาวโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออำเภอเมืองสุรินทร์,เจ้าอาวาสวัดหนองบัว
- พระครูคัมภีรธรรมวิสุทธิ์ (ทองคำ คมฺภีโร) เจ้าคณะตำบลระแงง เจ้าอาวาสวัดป่าเทพประทาน อำเภอศีขรภูมิ
- พระครูบุญสิริโสภณ (บุญศรี ปารคามี) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสนม อดีตเจ้าคณะอำเภอสนม
- พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) เจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์ และรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายมหานิกาย
- พระครูปทุมสังฆการ (สุพรรณ ฐิตปญฺโญ),ดร. เจ้าอาวาสวัดประทุมเฆม และรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายมหานิกาย
- พระครูอาภัสร์ธรรมคุณ (บุญรอด อาภสฺสโร) พระเกจิชื่อดัง แห่งวัดโคกกรม อำเภอพนมดงรัก
- พระครูโสภณธรรมาภิมณฑ์ (วิรัติ โสภณสีโล) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร อดีตรักษาการเจ้าอาวาสวัดอาม็อง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์
- พระครูวิกรมสมาธิวัตร (จรัญ จนฺทสีโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ประทับช้าง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
- พระครูรัตนโสภณ (สุรัฐ สิริปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดนายโรง ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
- พระครูเกษมวิริยคุณ (มี เขมจาโร) อดีตเจ้าคณะตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาลอยบ้านยางกระจับ ตำบลพรมเทพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- พระครูพิพิธวรการ (บัณฑิต อคฺควณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าห้วยเสนง ตำบลหนองใหญ่ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอปราสาท
พระภิกษุสงฆ์/พระเปรียญธรรม/พระฐานานุกรม
- หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค จังหวัดนครสวรรค์
- พระครูปลัดวชิรโสภณญาณ (ศิลา สิริจนฺโท) ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจนฺโท ป.(เปรียญ) เลขที่193 หมู่ที่5 บ้านแกเปะ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
- พระอาจารย์โสภา สมโณ
วัดแสงธรรมวังน้ำเขียวจังหวัดนครราชสีมา
- พระมหาเจริญสุข คุณวีโร ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดศรีวิหารเจริญ อำเภอศีขรภูมิ และรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (มหานิกาย)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พระมหาวิศิต ธีรวํโส ป.ธ.9 เจ้าคณะอำเภออำเภอพนมดงรัก (มหานิกาย)
- พระครูปลัดสุวัฒนอุดมคุณ (บุญชอบ ปุญฺญสาทโร) ป.ธ.6 รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดศาลาลอย (พระอารามหลวง) จังหวัดสุรินทร์
- พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมฺโม, ผศ.ดร.อดีตรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พระครูสรการธีรคุณเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมวงศาราม
ข้าราชการ
แก้- นายเสนอ มูลศาสตร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์
- พลตำรวจตรี ชัยทัต อินทนูจิตร (เชื้อสายพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุ่ม) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส หนองบัวลำภู และสุรินทร์ ดำรงตำแหน่งคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- นายประสงค์ จักรคำ อดีตผู้ตรวจราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
- นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ยโสธร กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร
- พันเอกสุธี สุขสากล กรมทหารสื่อสาร กองทัพบก กระทรวงกลาโหม
- นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- รองศาสตราจารย์ ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
นักการเมือง
แก้- ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
- พิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
- สมบัติ ศรีสุรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีต ส.ส.สุรินทร์เขต7 พรรคเพื่อไทย
- กำชัย เรืองกาญจนเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- เกษม รุ่งธนเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย
- เนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ศุภรักษ์ ควรหา อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- กรรณิกา เจริญพันธ์ อดีต ส.ส.สุรินทร์
- ฟารีดา สุไลมาน อดีตรองโฆษกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- นายแพทย์อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุรินทร์, อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2
- ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย
- ปิยะดา มุ่งเจริญพร อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
- คุณากร ปรีชาชนะชัย อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
- ตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
- ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
- ชูศักดิ์ แอกทอง อดีต ส.ส.สุรินทร์ เขต 8 พรรคเพื่อไทย
- อธิวัฒน์ บุญชาติ โฆษกพรรคความหวังใหม่
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย,รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย)
- สมบูรณ์ เรืองกาญจนเศรษฐ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุรินทร์
- กิตติภัทร์ รุ่งธนเกียรติ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์
นักกีฬา
แก้- บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก
- ประสิทธิ์ แดงดา โค้ชทีมฟุตบอลไทยหลายทีม และเป็นบิดาของธีรศิลป์ แดงดา
- สิโรจน์ ฉัตรทอง นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ฤทธิชัย เกียรติประภัสร์ นักมวยสากลชาวไทย
- อนุสรณ์ ศรีชาหลวง นักฟุตบอลชาวไทย
- สิงห์มณี แก้วสัมฤทธิ์ นักมวยไทยชาวไทยที่มีชื่อเสียง
- อิกคิวซัง ก.รุ่งธนเกียรติ นักมวยไทยชาวไทยที่มีชื่อเสียง
- ปวีณา ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองจากโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ
- บุญมี บุญรอด นักฟุตบอลชาวไทย
- พนิดา คำศรี นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองจากซีเกมส์ 2011 ที่ประเทศอินโดนีเซีย
- สินธุ์เพชร กรวยทอง นักยกน้ำหนักชายทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงจากโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล
- ศิริภุช กุลน้อย นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทย เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล
ผู้กำกับ/นักแสดง/ผู้ดำเนินรายการ
แก้- ศักดิ์ชาย ดีนาน ผู้กำกับภาพยนตร์
- สุรางคณา สุนทรพนาเวช นักแสดง/พิธีกร อดีตรองนางสาวไทย 2534
- ทัชชกร ยีรัมย์ (จา พนม) นักแสดงภาพยนตร์โลดโผน/ตัวแสดงเสี่ยงแทน
- เกศรินทร์ น้อยผึ้ง นักแสดง/นางแบบ
- พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล พิธีกร/นักแสดง
- อรอุมา เกษตรพืชผล ผู้ประกาศข่าว/พิธีกร
- คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน
- พัฒนะชัย อดิเรก (แจ็คเกอรีน ทีวีพูล )ผู้สื่อข่าวบันเทิง พิธีกร ดีเจ
- สุภาพชาย บุตรจันทร์ พิธีกร
- อธิวัฒน์ บุญชาติ พิธีกร ทีวีดาวเทียม ช่อง 13 สยามไท.
- ฉวีวรรณ บุญปรก อดีตวงสมาชิก สามบอมบ์ อดีตนางงามสุรินทร์ และดารานักแสดง
- โสภิตา เลิศจงกล (บักเป้า) อดีตขวัญใจช่างภาพ การประกวดนางสาวไทยประจำปี 2537
- นายแพทย์ฤทธ ปกกฤตหริบุญ นายแพทย์/ผู้กำกับภาพยนตร์
บุคคลทางศิลปะวัฒนธรรม
แก้- ครูบาพืด (ครูบาใหญ่) บุญมา แสนดี ปราชญ์หมอช้างเมืองสุรินทร์ พ่อหมอเฒ่าชาวกูย ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- นายหมิว ศาลางาม ปราชญ์หมอช้างเมืองสุรินทร์ พ่อหมอเฒ่าชาวกูย (ตำแหน่งหมอสดัม) ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเซ่นศาลปะกำ และพ่อหมอเฒ่า คนจับช้างป่ารุ่นสุดท้ายแห่ง “สุรินทร์”
- นายบุญเรือง คัชมาย์ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านเขมรศึกษา
- นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้เผยแพร่ผ้าไหมสุรินทร์ ผ้าไหมเอเปค
- นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปการแสดงท้องถิ่น
- นายอธิวัฒน์ บุญชาติ ผู้ก่อตั้งชุมชนบ้านสันปันน้ำ ชายแดนพนมดงรัก สุรินทร์.
- นายเพชร เชิดกลิ่น ศิลปินและจิตรกรผู้มีฝีมือทางด้านงานจิตรกรรม
- พูน สามสี ศิลปินกันตรึม /ปราชญ์ท้องถิ่นด้านประดิษฐ์เครื่องดนตรี
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีราวรรณ ศรีตะลานุคค์ ทูตวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ปี พ.ศ. 2564
บุคคลทางการศึกษา
แก้- วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย กรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
- รองศาสตราจารย์ ดร.พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม นามสกุลกลางพนม ป.ธ.9 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา,เจ้าอาวาสวัดอังกัญโคกบรรเลง ตำบลบุฤาษี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
- กมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาหน่วยงานรัฐทางด้านสิ่งแวดล้อม
นักร้อง/นักดนตรี
แก้- สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) นักร้องนำ/ผู้ก่อตั้งวงคาราวาน/นักแต่งเพลง/นักแสดง/ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวรรณศิลป์
- เกริกกำพล ประถมปัทมะ หรือ อ๊อด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต / เครื่องดนตรี กีตาร์, เบส
- แต้ ศิลา นักร้องเพลงร่วมสมัยชาวกูย เช่น เพลงไฮมักมวง ฯลฯ
- เฉลิมพล มาลาคำ นักร้อง นักแต่งเพลงหมอลำที่มีชื่อเสียง หัวหน้าวงดนตรีคณะ "เฉลิมพล มาลาคำ"
- นุช วิลาวัลย์ อาร์สยาม นักร้องลูกทุ่งหมอลำ
- ศรวณี โพธิเทศ นักร้องหญิงของวงดนตรีสุนทราภรณ์
- น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ นักร้องเพลงพื้นบ้านกันตรึม
- วงวรมันต์ วงเจ้าของเพลงคนสุรินทร์เหลา
- นายสมชาย คงสุขดี (ดาร์กี้กันตรึมร๊อค) ศิลปินเพลงพื้นบ้าน/ปราชญ์ท้องถิ่น /นักแต่งเพลง
- นายพิสิฐพงศ์ กิ่งแก้ว หรือ ไม้ พิสิฐพงศ์ กิ่งแก้ว ศิลปินลูกทุ่งเพื่อชีวิต / นักแต่งเพลง
- กันตรึมคณะพรอีสาน
- กันตรึมวงสมานชัย
- เจน สายใจ กันตรึม
- ป๊อบปี้ ปรัชญาลักษณ์ โชติวุฒินันท์ นักร้องลูกทุ่งสังกัดค่ายยุ้งข้าว เรคคอร์ด ชนะเลิศการประกวดรายการไมค์ทองคำ ครั้งที่ 4
- จตุรพัฒน์ สุรชาติ นักร้องนำวง TAKALOX สังกัดค่ายเพลง SRP LABLE
- มอส รัศมี เสน่หา นักร้องค่ายซาวด์มีแฮง เพลง สมใจอ้ายแล้วบ่
- วงดนตรีกันตรึม วงร็อคคงคย มีนายคง มีชัย เป็นหัวหน้าวง
- ดิด คิตตี้ ไหทองคำ ศิลปินชายที่มาแรงทุกเพลง ใหม่ล่าสุด New Single “บ่ฮักกะเซาเถาะ“ ชาวอำเภอจอมพระ
- วงดนตรี วงบิ๊กสุรินทร์ กันตรึม ลูกทุ่ง หมอลำ สตริง เพื่อชีวิต ผลงานเพลง ภาพถ่าย
- สลัก ศิลาทอง นักร้องเพลงหมอลำ-กันตรึม
- วงรินดาราส (Rin DaRast)
- ดอย อินทนนท์ นักแต่งเพลง
- ซูนิตี้ Sunity (วงไอดอล) สังกัด SS House วงไอดอลศิลปินของจังหวัดสุรินทร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ Virgo,Zorya โดยร่วมงานกับหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ โดยเป็นการต่อยอดจากวง Suramachi32
- สุดารัตน์ พรประถม (เอม) นักร้องหมอลำสาวแห่งคณะประถมบันเทิงศิลป์
- นภาพร พรประถม (แอน) อดีตนักร้องหมอลำสาวแห่งคณะประถมบันเทิงศิลป์ (เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถรถกระบะคว่ำ เมื่อวันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 06.10 น.)[13][14]
- กชกรณ์ อินสำราญ (แตงโม) นักร้องประจำวงศรีนครอัจจะสังขะแบนด์ โรงเรียนสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ศิลปินแห่งชาติ
แก้- สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวรรณศิลป์ และนักร้องนำ/ผู้ก่อตั้งวงคาราวาน/นักแต่งเพลง/นักแสดง
- รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) และเป็นภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ้างอิง
แก้- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 28 มกราคม 2565.
- ↑ ยุพดี จรัณยานนท์ 2522 : 34 - 35
- ↑ (พงศาวดารเมืองประทายสมันต์เลขที่ 001: 3/10)
- ↑ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จ.ศ. 1205 เลขที่ 86)
- ↑ (ธวัช ปุณโณทก 2526 : 82)
- ↑ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จุลศักราช 1856 เลขที่ 86)
- ↑ (หอสมุดแห่งชาติ เลขที่ 4/1 จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จุลศักราช 1205)
- ↑ (หอสมุดแห่งชาติ เลขที่ 3 จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จุลศักราช 1201)
- ↑ (ไพฑูรย์ มีกุศล 2515 : 8-9)
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/y_stat54.html. สืบค้น 16 พฤษภาคม 2555.
- ↑ http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/oldcity.htm
- ↑ https://www.youtube.com/watch?v=wXYWe1kt-qA
- ↑ https://www.youtube.com/watch?v=rmP-70GXiZk
- http://www.industry.go.th/ops/pio/surin/Page/home.aspx
- หนังสือเฉิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวเรื่องวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 1 2544
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2016-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สำนักงานสถิติจังหวัดสุรินทร์ เก็บถาวร 2007-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จังหวัดสุรินทร์ - อีสานร้อยแปด
- ที่ดินสุรินทร์ เก็บถาวร 2021-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน