กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

(เปลี่ยนทางจาก ดงพญาเย็น)

กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 และเป็นลำดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อวันที่ 10–17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขนานนามว่าเป็น ผืนป่าตะวันออก เพื่อเทียบเคียงกับ "ผืนป่าตะวันตก" บริเวณภาคตะวันตกของไทย

กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ผืนป่าเขาใหญ่
พิกัด14°19′48″N 102°3′0″E / 14.33000°N 102.05000°E / 14.33000; 102.05000
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(x)
อ้างอิง590
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2548 (คณะกรรมการสมัยที่ 29)
พื้นที่615,500 เฮกตาร์
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ที่ตั้งกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในประเทศไทย
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

สถานที่ที่ประกอบเป็นแหล่งมรดกโลก

แก้

ประวัติ

แก้

ป่าดงพญาไฟ

แก้

แหล่งมรดกโลกผืนนี้ตั้งอยู่บริเวณทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าดงดิบที่ทึบหนา มีสัตว์มากมาย เช่น เสือ กระทิง ช้าง ชุกชุมไปด้วยไข้มาลาเรีย ไม่มีถนนหนทางตัดฝ่าผืนป่าดังเช่นในปัจจุบัน การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปภาคอีสานจึงยากลำบาก หลายคนต้องเสียชีวิตด้วยไข้ป่าหรือสัตว์ป่า จนไม่ค่อยจะมีใครกล้าเข้ามาในดินแดนนี้ ผู้คนจึงตั้งชื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ว่า ป่าดงพญาไฟ

 
ช่องหินลับ ในเขตป่าดงพญาเย็น ปัจจุบันมีโรงงานปูนซีเมนต์ไปตั้งอยู่ภายใน

ป่าดงพญาเย็น

แก้

ชื่อ ป่าดงพญาเย็น ได้รับการกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานจากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ได้ทรงเล่าถึงป่าดงพญาไฟไว้ว่า

"ดงพญาไฟนี้ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมา ระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาแต่โบราณ ไปได้แต่โดยเดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน ถึงจะพ้น"

"สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก ดงพญาไฟ เป็น ดงพญาเย็น แต่หลายคนยังคงเรียกว่า ป่าดงพญาไฟอยู่ดั้งเดิม"

ภายหลังเมื่อมีการสร้างทางรถไฟและถนนมิตรภาพจากภาคกลางไปสู่ภาคอีสาน ผู้คนเริ่มที่จะอพยพเข้าไปแล้วถากถางป่าทำไร่ทำนา โดยเฉพาะบริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

เขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

แก้
 
ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จากอวกาศ

ภายหลังชาวบ้านจากบ้านท่าชัยและบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก ได้อพยพมาบุกเบิกพื้นที่ทำกันบริเวณริมหนองขิง กลางผืนป่าเขาใหญ่ อันเป็นทำเลที่ดีอุดมสมบูรณ์ ถากถางเพื่อทำไร่พริกและนาข้าว เมื่อเห็นว่าสถานที่ดีจึงมีการอพยพเข้ามาถากถางมากขึ้นจนกลายมาเป็นชุมชนกลางป่าที่มีราว 40 หลังคาเรือน กระทั่งพื้นที่ราว 18,750 ไร่ หรือราว 30 ตารางกิโลเมตรได้ถูกถากถางไป

ราว พ.ศ. 2465 ชุมชนได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชื่อ "เขาใหญ่" จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นมา ทั้งที่ไม่มียอดเขาแห่งใดที่มีชื่อคำว่าเขาใหญ่

ด้วยเหตุที่ว่าตำบลเขาใหญ่นี้อยู่กลางใจป่า ไม่มีถนนที่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก จึงทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งซ่อนสุมของเหล่าโจรผู้ร้าย ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ทางจังหวัดนครนายกจึงได้ส่งคนนามว่า ปลัดจ่าง มาปราบกวาดล้างโจรบนเขาใหญ่ และก็สามารถปราบได้โดยใช้เวลานับเดือน แต่ตัวปลัดนั้นก็ต้องมาเสียชีวิตด้วยไข้ป่า ผู้คนจึงเชิดชูด้วยความกล้าหาญของท่าน โดยการสร้างศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ขึ้นเป็นศาลที่ให้ผู้คนกราบไหว้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปราบปรามโจรเสร็จ ทางจังหวัดนครนายกเห็นว่าหากปล่อยให้มีการตั้งตำบลเหมือนเดิม นานเข้าก็จะกลายเป็นชุมโจรอีก จึงมีคำสั่งให้อพยพชาวบ้านกว่า 1,000 คนลงมายังพื้นราบและสั่งให้ยกเลิกตำบลเขาใหญ่ ปล่อยให้กลายเป็นทุ่งหญ้ารกร้างและป่าดังปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการในบริเวณดังกล่าวโดยนั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่า ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นห่วงเรื่องการทำลายป่าซึ่งมีมากขึ้นทุกวัน จึงมีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันสำรวจเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งถือกำเนิดอุทยานแห่งชาติเป็นแห่งแรกของไทย

แหล่งมรดกโลก

แก้

กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีสภาพป่าแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า

พื้นที่ตรงผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้นเคยได้รับการเสนอชื่อขึ้นไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ พ.ศ. 2533 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอแหล่งธรรมชาติอีก 3 แหล่งสู่ที่ประชุมยูเนสโกเพื่อพิจารณา คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และปรากฏว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเพียงแห่งเดียว ด้วยเหตุที่ว่าอุทยานแห่งชาติที่เหลือทั้ง 2 แห่งนั้นเล็กเกินไป และยังมีนโยบายที่ไม่แน่นอนและไม่เพียงพอ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีชนิดพันธุ์ของพืช และสัตว์ที่ไม่สามารถพบได้ที่อื่นเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนพืชราว 15,000 ชนิดที่พบในประเทศไทย สามารถพบในแหล่งมรดกโลกนี้ถึง 2,500 ชนิด มีพืชเฉพาะผืนป่านี้ถึง 16 ชนิด มีสัตว์ป่ากว่า 800 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 112 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 209 ชนิด นกกว่า 392 ชนิด และนกเงือก 4 ชนิด ใน 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก

แก้

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยใช้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 29 เมื่อ พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้

  • (x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

ข้อที่ควรจะปรับปรุง

แก้

ยูเนสโกได้เสนอข้อเสนอแนะตามมาอีก 7 ข้อ หลังจากได้ลงทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ได้แก่

  1. ให้มีการจัดระบบการจัดผืนป่าทั้งหมดแบบบูรณาการ ไม่ใช่แยกจัดแบบต่างคนต่างดูแลเหมือนเช่นที่ผ่านมา
  2. รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณ และทรัพยากรบุคคล เพื่อการบริหารจัดการพื้นป่าอย่างเต็มที่
  3. ดูแลนโยบายและการปฏิบัติให้สอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  4. ต้องให้การส่งเสริมการสำรวจและวิจัยสถานภาพของป่าและสัตว์ป่าอย่างจริงจัง
  5. จะต้องหาหนทางเชื่อมผืนป่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยการเชื่อมต่อกับป่าอนุรักษ์ในกัมพูชา
  6. ต้องหาทางแก้ปัญหาถนนที่ตัดแยกผืนป่าออกจากกัน โดยจะต้องศึกษาและหามาตรการให้ผืนป่าเชื่อมต่อกันภายใน พ.ศ. 2550
  7. ดำเนินกิจกรรมที่เสริมสร้างความร่วมมือจากชาวบ้านและชุมชนในการอนุรักษ์ผืนป่า เพื่อเป็นหลักประกันในสถานภาพแหล่งมรดกโลก

ปัญหา

แก้

จากกรณีที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม มีโครงการที่จะขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ถนนที่ผ่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน จาก 2 ช่องทางจราจร เป็น 4 ช่องทางจราจร โดยได้ไถพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 4 กิโลเมตร ทางด้านกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชซึ่งมีหน้าที่ดูแลผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ว่า เป็นแผนเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคมที่นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2548

กรมอุทยานยังมีความเห็นอีกว่า ทางหลวงหมายเลข 304 ที่ผ่านระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและเขาใหญ่ โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 27–29 และกิโลเมตรที่ 42–48 มีความเหมาะสมที่จะทำให้ป่าเชื่อมต่อกันได้ และควรสร้างเป็นสะพานยกสูงสำหรับให้รถวิ่งด้านบน ส่วนด้านล่างก็ปลูกป่า ทำแนวรั้วถนนเพื่อให้สัตว์อพยพเคลื่อนย้ายหากันได้ อีกทั้งเรื่องนี้ยังเป็นไปตามแผนงานที่รัฐบาลไทยต้องนำเสนอความคืบหน้าให้คณะกรรมการมรดกโลก (ยูเนสโก) ใน พ.ศ. 2550 หลังการเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย

ทางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ยังได้รับงบสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 60 ล้านบาท สำหรับจัดทำแนวเชื่อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเชื่อมผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน-ตะวันตก ทิวเขาตะนาวศรี เพื่อศึกษาการเดินทางของสัตว์ที่เดินทางข้ามระหว่างป่าไทยกับป่าพม่าด้วย

กรมอุทยานยังได้ทำหนังสือมาที่กรมทางหลวงเพื่อให้ทำเป็นสะพานยกสูง เพื่อแบ่งพื้นที่ข้างบนให้รถผ่าน ด้านล่างให้เป็นทางสัตว์ผ่าน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่กรมทางหลวงมีงบประมาณน้อย และจำเป็นขยายถนน 4 เลน ซึ่งรวมแล้วมีความกว้างเพียง 17-18 เมตร เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีรถบรรทุกหนักวิ่งผ่านกว่า 5,000 คันต่อวัน และลดปัญหาอุบัติเหตุเนื่องจากเกาะกลางเป็นการทำชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องรอคณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโกทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่เชื่อมผืนป่าบนถนน 304 เพื่อพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาเห็นชอบโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตรที่ 42–47 ซึ่งตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมทางหลวงเตรียมขยายเส้นทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร แต่ต้องออกแบบอุโมงค์ให้รถลอดใต้อุโมงค์เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถข้ามไปมาระหว่างป่าได้ โดยกรมทางหลวงเตรียมขออนุมัติงบประมาณปี 2558 จำนวน 2,900 ล้านบาท เพื่อเตรียมการก่อสร้างและทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป [1]

ปัญหาเรื่องเขื่อน

แก้

อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในขณะนั้น กล่าวว่า การที่กรมชลประทานยังไม่ยกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งในพื้นที่แหล่งมรดกโลกแห่งนี้นั้นทำให้น่าเป็นห่วงว่าแหล่งมรดกโลกแห่งนี้อาจถูกถอนออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งแหล่งมรดกโลกที่เคยถูกถอดถอนและถูกปลดมาอยู่ในภาวะอันตรายนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เพราะจะทำให้มีปัญหาขยะ น้ำเสีย โดยในการประชุมประจำปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการมรดกโลกได้ลงมติให้หมู่เกาะกาลาปาโกส ประเทศเอกวาดอร์ ถูกปลดสถานภาพไปอยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาตินียอกอโล-กอบา ประเทศเซเนกัล ซึ่งมีปัญหาการก่อสร้างเขื่อน

ด้านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ กล่าวว่า จะสอบถามไปยังกรมชลประทานว่า ยังมีโครงการนี้อยู่หรือไม่ ยอมรับว่าคงไม่สามารถสั่งระงับโครงการได้ หากกรมชลประทานจะเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมก็ถือว่าทำได้ ส่วนจะก่อสร้างได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง [2]

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณพื้นที่ป่า ห้วยโสมง ใสน้อย และใสใหญ่ เป็นเพียง 3 ใน 12 โครงการ ที่กรมชลประทานเคยได้รับอนุมัติตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ก่อนที่จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ที่ระบุให้ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548 หลังจากดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ในวันที่ 14 กรกฎาคมปีเดียวกัน และล่าสุด กรมชลประทานได้ให้ทีมอาจารย์จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ศึกษาทางด้านวิศวกรรม[3]

การฟื้นฟูป่า

แก้

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และทางเทสโก้โลตัส ได้ร่วมลงนามการดำเนินโครงการ ๙ ล้านกล้า ๘๐ พรรษามหามงคล โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกป่าให้ครบ 90 ล้านต้น บนเนื้อที่ 25,000 ไร่ ภายในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2555 โดยจะดำเนินการปลูกในเขตพื้นที่ของป่าดงพญาเย็น บริเวณ 5 จังหวัด [4]

อ้างอิง

แก้
  1. http://hilight.kapook.com/view/105585 เก็บถาวร 2014-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนฝฝ
  2. http://webboard.mthai.com/52/2007-07-10/333914.html เก็บถาวร 2007-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เขาใหญ่เสี่ยง!! ถูกถอดมรดกโลก
  3. http://news.sanook.com/social/social_154667.php อดุลห่วงยูเนสโกถอดแหล่งมรดกโลก จี้กรมชลฯยุติสร้างอ่างเก็บน้ำเขาใหญ่
  4. http://www.dnp.go.th/fp_public/file/5July18.pdf

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้