ปฏิทินสุริยคติไทย
ปฏิทินสุริยคติไทย คือปฏิทินอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นระบบปฏิทินสุริยคติอ้างวันเดือนปีตรงตามปฏิทินกริกอเรียนที่มีจำนวนวัน 365 หรือ 366 วันในแต่ละปี โดยปรับเปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติไทยเดิมเมื่อ พ.ศ. 2431 (จุลศักราช 1240) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อเดือนในภาษาไทยทั้งสิบสองในปฏิทินตั้งชื่อโดยกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
พุทธศักราช
แก้ประเทศไทยเริ่มใช้พุทธศักราชในระบบราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2456 โดยนำปฏิทินสุริยคติมาใช้[1]
ต้นยุคอ้างอิงของพุทธศักราชแบบไทยจะช้ากว่าแบบอื่นไป 1 ปี โดยแบบไทยนับปีหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี พ.ศ. 1 คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 545 ปี ก่อน ค.ศ. (เทียบกับประเทศอื่นที่นับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 คือเริ่มจากวันที่ 13 พฤษภาคม 544 ปี ก่อน ค.ศ. หรือขึ้น 15 ค่ำเดือนวิสาขะ อัญจนศก 148)[2] ดังนั้น หากปฏิทินไทยเป็น พ.ศ. 2400 พ.ศ. แบบลังกาจะเป็น 2401
ในสมัยก่อน ปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินสุริยคติสากล นับเดือนที่เปลี่ยนศักราชไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ไทยจะเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน ในขณะที่สากลจะเปลี่ยนในวันที่ 1 มกราคม ทำให้พุทธศักราชและคริสต์ศักราชคาบเกี่ยวกัน โดยที่สามเดือนแรกในคริสต์ศักราช (มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม) จะตรงกับพุทธศักราชก่อนหน้า เช่น ค.ศ. 1900 สามเดือนแรกจะตรงกับ พ.ศ. 2442 และเดือนอื่น ๆ จะตรงกับ พ.ศ. 2443
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไปเป็น 1 มกราคม ให้เทียบเท่ากับสากล โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป จึงทำให้ พ.ศ. 2483 เหลือเพียงแค่ 9 เดือน (เมษายน - ธันวาคม) ดังแสดงในแผนภาพ
เดือน | ม.ค. | ธ.ค. | ม.ค. | ธ.ค. | ม.ค. | ธ.ค. | ม.ค. | ธ.ค. | ||||||||
ลำดับเดือน | 1 | 12 | 1 | 12 | 1 | 12 | 1 | 12 | ||||||||
คริสต์ศักราช | 1939 | 1940 | 1941 | 1942 | ||||||||||||
พุทธศักราช | 2481 | 2482 | 2483 | 2484 | 2485 | |||||||||||
ลำดับเดือนไทย | 12 | 1 | 12 | 1 | 9 | 1 | 12 | 1 | 12 | |||||||
เดือนไทย | มี.ค. | เม.ย. | มี.ค. | เม.ย. | ธ.ค. | ม.ค. | ธ.ค. | ม.ค. | ธ.ค. |
รัตนโกสินทรศก
แก้รัตนโกสินทรศก ตัวย่อ ร.ศ. (อังกฤษ: Rattanakosin era) เป็นศักราชซึ่งมีจุดเริ่มยุคคือปีก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อจุลศักราช 1250[3] (พ.ศ. 2324) และวันเริ่มต้นปีคือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้เป็นวันขึ้นปีใหม่และประกาศใช้รัตนโกสินทรศกอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นประโยชน์และสะดวกในการใช้พุทธศักราชอ้างอิงประวัติศาสตร์ จึงได้มีการยกเลิกการใช้งานรัตนโกสินทรศกตามประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2455 โดยหนังสือราชการทั้งหมดได้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชแทน[3]
เดือน
แก้ในปฏิทินสุริยคติไทยใช้จำนวนเดือน 12 เดือน ตามปฏิทินกริกอเรียน โดยจำนวนวันในแต่ละเดือนได้อ้างอิงตามเช่นเดียวกันโดยในแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันตั้งแต่ปี 28-31 วัน ชื่อเดือนทรงตั้งโดยกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ โดยทรงใช้ตำราจักรราศี ซึ่งแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีตามวิชาโหราศาสตร์ โดยทรงนำคำสองคำมาสนธิกัน คำต้นเป็นชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้นรวมกับคำว่า "อาคม" หรือ "อายน" ที่หมายถึง "การมาถึง" โดยได้ระบุวันอย่างชัดเจนโดยคำว่า "คม" สำหรับเดือนที่มี 31 วัน และคำว่า "ยน" สำหรับเดือนที่มี 30 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 หรือ 29 วัน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน[4]
ชื่อไทย | อักษรย่อ | คำอ่าน | รากศัพท์ | ความหมาย |
---|---|---|---|---|
มกราคม | ม.ค. | มะ-กะ-รา-คม | มกร + อาคม | การมาถึงของราศีมกร |
กุมภาพันธ์ | ก.พ. | กุม-พา-พัน | กุมภ + อาพันธ์ | การมาถึงของราศีกุมภ์ |
มีนาคม | มี.ค. | มี-นา-คม | มีน + อาคม | การมาถึงของราศีมีน |
เมษายน | เม.ย. | เม-สา-ยน | มษ + อายน | การมาถึงของราศีเมษ |
พฤษภาคม | พ.ค. | พฺรึด-สะ-พา-คม | พฤษภ + อาคม | การมาถึงของราศีพฤษภ |
มิถุนายน | มิ.ย. | มิ-ถุ-นา-ยน | มิถุน + อายน | การมาถึงของราศีมิถุน |
กรกฎาคม | ก.ค. | กะ-ระ-กะ-ดา-คม | กรกฎ + อาคม | การมาถึงของราศีกรกฎ |
สิงหาคม | ส.ค. | สิง-หา-คม | สิงห + อาคม | การมาถึงของราศีสิงห์ |
กันยายน | ก.ย. | กัน-ยา-ยน | กันย + อายน | การมาถึงของราศีกันย์ |
ตุลาคม | ต.ค. | ตุ-ลา-คม | ตุล + อาคม | การมาถึงของราศีตุล |
พฤศจิกายน | พ.ย. | พฺรึด-สะ-จิ-กา-ยน | พฤศจิก + อายน | การมาถึงของราศีพิจิก |
ธันวาคม | ธ.ค. | ทัน-วา-คม | ธนู + อาคม | การมาถึงของราศีธนู |
วันในสัปดาห์
แก้ในปฏิทินสุริยคติวันในสัปดาห์ตามปฏิทินกริกอเรียนเช่นกันโดยในแต่ละสัปดาห์จะประกอบไปด้วย 7 วัน ซึ่งเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยวันอาทิตย์
ชื่อไทย | คำอ่าน | ชื่อทางโหร | สีประจำวัน | สีประจำวัน ตามตำราสวัสดิรักษา |
---|---|---|---|---|
อาทิตย์ | อา-ทิด | อาทิจวาร (อ) | ██ สีแดง | ██ สีแดง |
จันทร์ | จัน | จันทรวาร (จ) | ██ สีเหลือง | ██ สีนวลขาว |
อังคาร | อัง-คาน | ภุมวาร (ภ) | ██ สีชมพู | ██ สีม่วงคราม |
พุธ | พุด | วุธวาร (ว) | ██ สีเขียว | ██ สีแสด |
พฤหัสบดี | พะ-รึ-หัด-สะ-บอ-ดี หรือ พฺรึ-หัด-สะ-บอ-ดี | ชีววาร (ช) | ██ สีส้ม | ██ สีเขียวปนเหลือง |
ศุกร์ | สุก | ศุกรวาร (ศ) | ██ สีฟ้า | ██ สีเมฆ |
เสาร์ | เสา | โสรวาร (ส) | ██ สีม่วง | ██ สีดำ |
อ้างอิง
แก้- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ วิธีนับ วัน เดือน ปี ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ ก ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ หน้า ๒๖๔
- ↑ Kala Vol. 1 2006: 38
- ↑ 3.0 3.1 ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ↑ สุชาฎา ประพันธ์วงศ์. "กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อเดือนของไทย". หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10205
ข้อมูลออนไลน์สามารถดูได้ที่ เว็บไซต์ Eduzones เก็บถาวร 2011-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วารสารราชบัณฑิตสภา ฉบับเดือน มิถุนายน และตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐