พุทธศักราช

(เปลี่ยนทางจาก ปีพุทธศักราช)

พุทธศักราช ย่อว่า พ.ศ. เป็นชุดปฏิทินสุริยจันทรคติที่ใช้ในประเทศทิเบต กัมพูชา ลาว พม่า บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม ตลอดจนประชากรจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์สำหรับโอกาสทางศาสนาหรือราชการ แม้ศักราชนี้มีที่มาร่วมกัน แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการทดปฏิทิน ชื่อเดือนและเรียงลำดับเดือน การใช้วัฏจักร ฯลฯ ในประเทศไทย พ.ศ. เป็นระบบการนับปีที่ใช้ในปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทยแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า "พุทธกาล" และ "พุทธสมัย" ใช้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พระโคตมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ คือ ช่วงเวลา 80 ปีก่อนพุทธศักราช แต่บางทีก็ใช้คำเหล่านี้หมายถึง ช่วงเวลาที่เชื่อว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่หลังการปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า ฉะนั้น จึงมีการใช้ x ปีก่อนพุทธกาล เพื่อหมายถึง x ปีก่อนพุทธศักราช เป็นต้น

การเริ่มต้นนับ พ.ศ. ของประเทศไทย จะไม่เหมือนกันกับที่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานหรือผ่านไปแล้ว 1 วัน กล่าวคือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือนหก (เดือนสากล) หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือนหก (เดือนสากล) เพราะประเทศไทย จะเริ่มนับ พ.ศ. 1 ภายหลังจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วเกือบ 1 ปี โดยให้เริ่มในเดือนมกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับการติดต่อประเทศตะวันตกและอื่น ๆ ที่นับ ค.ศ. และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่ [ต้องการอ้างอิง] แต่หากเป็นการนับ พ.ศ. แบบโหรไทย จะมีการนับที่แตกต่างออกไป เริ่มในวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย (ไทยโบราณถือว่าหมดฝนมืดครึ้มเข้าสู่แสงสว่าง ส่วนมากตรงกับเดือนธันวาคม) [ต้องการอ้างอิง]

ปฏิทินสุริยจันทรคติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่อิงจากปฏิทินฮินดูแบบเก่ากว่า[1]ที่ใช้ปีดาราคติเป็นปีสุริยคติ ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือระบบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เหมือนกับระบบของอินเดียตรงที่ไม่ใช้การนับแบบชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับปีดาราคติ แต่ใช้วัฏจักรเมตอนนแบบของตนเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัฏจักรเมตอนไม่แม่นยำต่อปีดาราคติมากนัก ทำให้ปฏิทินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากการสอดคล้องกับดาราคติอยู่ที่ประมาณ 1 วันในทุก 100 ปี กระนั้นก็ยังไม่มีการปฏิรูปแบบประสานงานต่อโครงสร้างปฏิทินสุริยจันทรคติ

ปัจจุบันปฏิทินสุริยจันทรคติพุทธโดยหลักใช้ในเทศกาลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนปฏิทินพุทธศักราชไทยที่เป็นปฏิทินกริกอเรียนแบบเรียงลำดับใหม่ เป็นปฏิทินทางการในประเทศไทย

โครงสร้าง

แก้
 
ปฏิทินพุทธศักราชแบบไทย

วิธีการคำนวณปฏิทินพุทธศํกราชของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันส่วนใหญ่อิงจากปฏิทินพม่า ซึ่งอาณาจักรหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้งานภายใต้ชื่อจุลศักราชจนถึงศตวรรษที่ 19 โดยปฏิทินพม่าอิงจากระบบสุริยะสิทธานตะ "ต้นฉบับ" ในอินเดียโบราณ (เชื่อว่ามาจากสำนัก Ardharatrika)[1] ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งกับระบบต่าง ๆ ของอินเดียคือระบบของพม่าตามวัฏจักรเมตอนรูปแบบหนึ่ง ไม่มีความชัดเจนว่ามีการนำเข้าระบบเมตอนจากที่ใด เมื่อใด หรืออย่างไร โดยมีสมมติฐานตั้งแต่จีนไปจนถึงยุโรป[note 1] ทำให้ระบบพม่าและระบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้รูปประสมปีดาราคติที่ "แปลก" จากการผสมปฏิทินอินเดียกับวัฏจักรเมตอนเพื่อหาปีสุริยคติได้ดีกว่า[2]

ต้นยุคอ้างอิง

แก้

ตามธรรมเนียมเถรวาททั้งหมด ต้นยุคอ้างอิง (epoch) ของพุทธศักราชตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทั้งหมดยอมรับว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตอนไหน โดยตามธรรมเนียมพุทธแบบพม่า วันนั้นคือวันที่ 13 พฤษภาคม 544 ปีก่อน ค.ศ. (วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ อัญจนศก 148)[3] แต่ในประเทศไทยระบุเป็นวันที่ 11 มีนาคม 545 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นวันที่ที่ปฏิทินสุริยคติและสุริยจันทรคติแบบไทยใช้เป็นต้นยุคอ้างอิง กระนั้น ปฏิทินไทยได้กำหนดความแตกต่างระหว่างการนับปีพุทธศักราช (พ.ศ.) และการนับปีคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ไว้ที่ 543 ด้วยเหตุผลบางประการ[4] ซึ่งทำให้ต้นยุคอ้างอิงอยู่ที่ 544 ปีก่อน ค.ศ. ไม่ใช่ 545 ปีก่อน ค.ศ. และทำให้ พ.ศ. แบบไทยช้ากว่าของประเทศอื่นอยู่เกือบ 1 ปี

ปี พ.ศ. เทียบกับ
ปี ค.ศ.
เทียบกับ
ปี ค.ศ.
(สุริยคติไทย)
0 544–543 ปีก่อน ค.ศ.
1 543–542 ปีก่อน ค.ศ.
543 1 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 1 ค.ศ. 0–1
544 ค.ศ. 1–2 ค.ศ. 1–2
2484 1940–1941 1940 (เมษายน–ธันวาคม)
2485 1941–1942 1941
2566 2022–2023 2022


เดือน

แก้

ประเภท

แก้

ปฏิทินพุทธศักราชมีเดือนสองประเภท คือ เดือนไซนอดิกและเดือนดาราคติ[5] เดือนไซนอดิกใช้ประกอบเป็นปี ส่วนวันดาราคติทางจันทรคติ 27 วัน (สันสกฤต: ดาวนักขัตฤกษ์) กับ 12 จักรราศี ใช้ในการคำนวณทางโหราศาสตร์[6] (ปฏิทินพม่ามีเดือนสุริยคติที่มีชื่อว่า Thuriya Matha ซึ่งกำหนดเป็น 1/12 ของปี[7] แต่เดือนสุริยคติจะแตกต่างกันไปตามประเภทของปี เช่น ปีสุริยคติ ปีดาราคติ ฯลฯ)

ข้างขึ้น ข้างแรม

แก้

ช่วงวันในแต่ละเดือนแบ่งเป็นสองครึ่ง คือ ข้างขึ้นและข้างแรม วันขึ้น 15 ค่ำเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ส่วนวันดับคือวันสุดท้ายของเดือน (แรม 14 หรือ 15 ค่ำ) เนื่องจากระบบการคำนวณตามปฏิทินไม่แม่นยำ ทำให้จันทร์ดับเฉลี่ยกับจันทร์ดับแท้ (จริง) ไม่ค่อยตรงกัน จันทร์ดับเฉลี่ยมักจะอยู่ก่อนจันทร์ดับจริง[5][6]

ประเภท วัน รายละเอียด
ข้างขึ้น 1 ถึง 15 จากจันทร์ดับถึงจันทร์เพ็ญ
วันเพ็ญ 15 จันทร์เพ็ญ
ข้างแรม 1 ถึง 14 หรือ 15 จากจันทร์เพ็ญถึงจันทร์ดับ
วันดับ 15 จันทร์ดับ

จำนวนวันในแต่ละเดือน

แก้

เนื่องจากเดือนไซนอดิกตามจันทรคติมีประมาณ 29.5 วัน ทำให้ปฏิทินใช้เดือนสลับกันคือ 29 และ 30 วัน[5]

บาลี สันสกฤต พม่า เขมร ลาว สิงหล ไทย[8] จำนวน
วัน
กริกอเรียน
(ประมาณ)
จิตฺต ไจตฺร ดะกู้ (တန်ခူး) Chêtr (ចេត្រ) ຈິຕ Bak (බක්) จิตร 29 มีนาคม–เมษายน
วิสาข ไวศาข กะโซน (ကဆုန်) Pĭsakh (ពិសាខ) ວິສາຂະ Vesak (වෙසක්) วิสาข 30 เมษายน–พฤษภาคม
เชฏฺฐ เชฺยษฺฐ นะโยน (နယုန်) Chésth (ជេស្ឋ) ເຊດ Poson (පොසොන්) เชษฐ 29 [30] พฤษภาคม–มิถุนายน
อาสาฬฺห อาษาฒ วาโซ (ဝါဆို) Asath (អាសាឍ) ອາສາລະຫະ Æsala (ඇසළ) อาสาฬห 30 มิถุนายน–กรกฎาคม
สาวน ศฺราวณ วากอง (ဝါခေါင်) Srapôn (ស្រាពណ៍) ສາວະນະ Nikini (නිකිණි) สาวน 29 กรกฎาคม–สิงหาคม
โปฏฺฐปท ภาทฺรปท หรือ โปฺรษฐปท ตอตะลี่น (တော်သလင်း) Phôtrôbât (ភទ្របទ) ພັດທະຣະບົດ Binara (බිනර) ภัทรบท 30 สิงหาคม–กันยายน
อสฺสยุช อาศฺวิน ตะดี้นจุ (သီတင်းကျွတ်) Âssŏch (អស្សុជ) ອັດສະວະຍຸດ Wap (වප්) อัศวยุช 29 กันยายน–ตุลาคม
กตฺติก การฺตฺติก ดะซองโม่น (တန်ဆောင်မုန်း) Kâtdĕk (កត្តិក) ກັດຕິກາ Il (ඉල්) กัตติกา 30 ตุลาคม–พฤศจิกายน
มาคสิร มารฺคศีรฺษ นะดอ (နတ်တော်) Mĭkôsĕr (មិគសិរ) ມິຄະສິນ Undhuvap (උඳුවප්) มิคสิร 29 พฤศจิกายน–ธันวาคม
ปุสฺส เปาษ ปยาโต (ပြာသို) Bŏss (បុស្ស) ປຸສສ Dhuruthu (දුරුතු) ปุสส 30 ธันวาคม–มกราคม
มาฆ มาฆ ดะโบ่-ดแว (တပို့တွဲ) Méakh (មាឃ) ມາດ Navam (නවම්) มาฆ 29 มกราคม–กุมภาพันธ์
ผคฺคุณ ผาลฺคุน ดะบ้อง (တပေါင်း) Phâlkŭn (ផល្គុន) ຜັກຄຸນ Mædhin (මැදින්) ผัคคุณ 30 กุมภาพันธ์–มีนาคม

ลำดับเดือน

แก้

ปฏิทินจุลศักราช/ปฏิทินพม่าที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่หลายแบบ ในขณะที่ระบบปฏิทินพม่าจะอ้างอิงเดือนต่าง ๆ ตามชื่อเดือน ระบบปฏิทินจุลศักราชของสิบสองปันนา เชียงตุง ล้านนา ล้านช้าง และสุโขทัย จะอ้างถึงเดือนต่าง ๆ ด้วยเลขลำดับเดือนแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาเอกสารและจารึกโบราณในประเทศไทยต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ กล่าวคือ นอกจากจะต้องแน่ใจว่าวันที่ปรากฏในเอกสารจารึกเป็นวันที่ใช้ตามระบบปฏิทินท้องถิ่นต้นกำเนิดเอกสารแล้ว ยังต้องระวังถึงแบบแผนการใช้ปฏิทินที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของท้องถิ่นนั้น ๆ เองอีกด้วย[9][10]

เดือน เขมร, ล้านช้าง สุโขทัย และพม่าเก่า เชียงตุง, สิบสองปันนา เชียงใหม่
จิตฺต 5 6 7
วิสาข 6 7 8
เชฏฺฐ 7 8 9
อาสาฬฺห 8 9 10
สาวน 9 10 11
ภทฺทปท 10 11 12
อสฺสยุช 11 12 1
กตฺติก 12 1 2
มิคสิร 1 2 3
ปุสฺส 2 3 4
มาฆ 3 4 5
ผคฺคุณ 4 5 6

ปีใหม่

แก้

เนื่องจากจุดประสงค์หลักของปฏิทินพุทธศักราชคือให้ทันกับปีสุริยคติ ทำให้ปีใหม่จึงเขียนอยู่ในปีสุริยคติเสมอ ซึ่งตกอยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์เข้าไปยังราศีเมษ[5] วันที่นั้นเลื่อนไปอย่างช้า ๆ มาหลายศตวรรษ โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 วันปีใหม่อยู่ในวันที่ 15 หรือ 16 เมษายน แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 วันนั้นอยู่ในวันที่ 9 หรือ 10 เมษายน (ปัจจุบันอยู่ที่ 17 เมษายน)[11] ประเทศไทยและกัมพูชาไม่ใช้ปฏิทินสุริยจันทรคติในการระบุวันปีใหม่แล้ว

ธรรมเนียม วันที่ใน ค.ศ. 2013 หมายเหตุ
พม่า/สิงหล 17 เมษายน หลายแบบ; จะเลื่อนไปเรื่อย ๆ
เขมร 14 เมษายน หลายแบบจาก 13 ถึง 14 เมษายน
ไทย 13 เมษายน ยึดตามปฏิทินสุริยคติ

วัฏจักร

แก้

ระบบของกัมพูชา ลาว และไทยใช้ปีนักษัตรทั้ง 12 ปี[12] ธรรมเนียมนี้เคยมีในพม่าสมัยอาณาพุกามแต่ภายหลังเลิกใช้งาน[13]

ปี สัตว์ เขมร ลาว ไทย
1 หนู ជូត (ชวด) ຊວດ (ซวด) ชวด
2 วัว ឆ្លូវ (ฉลูว) ສະຫລູ (สะหลู) ฉลู
3 เสือ ខាល (ขาล) ຂານ (ขาน) ขาล
4 กระต่าย ថោះ (เถาะ) ເຖາະ (เถาะ) เถาะ
5 นาค រោង (โรง) ມະໂລງ (มะโลง) มะโรง
6 งู ម្សាញ់ (มสัญ) ມະເສງ (มะเสง) มะเส็ง
7 ม้า មមី (มมี) ມະເມັຽ (มะเมีย) มะเมีย
8 แพะ មមែ (มแม) ມະແມ (มะแม) มะแม
9 ลิง វក (วก) ວອກ (วอก) วอก
10 ไก่ตัวผู้ រកា (รกา) ລະກາ (ละกา) ระกา
11 สุนัข ច (จอ) ຈໍ (จอ) จอ
12 หมู កុរ (กุร) ກຸນ (กุน) กุน

ความแม่นยำ

แก้

ปฏิทินพุทธศักราชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เดือนจันทรคติ แต่พยายามทำให้สอดคล้องกับปีสุริยคติโดยแทรกเดือนและวันในวัฏจักรเมตอน (ในกรณีของปฏิทินพม่าคือวัฏจักรเมตอนแบบดัดแปลง) อย่างไรก็ตาม ปีสุริยคติตามที่ใช้งานในปฏิทินพุทธศักราชคือปีดาราคติ ซึ่งมีเวลายาวกว่าปีสุริยคติเฉลี่ยที่แท้จริงเกือบ 24 นาที ทำให้ปฏิทินสุริยจันทรคติเลื่อนห่างจากฤดูกาลต่าง ๆ อย่างช้า ๆ เหมือนกันปฏิทินที่อิงดาราคติทั้งหมด[14] ปฏิทินเคลื่อนที่ไปหนึ่งวันทุก ๆ ประมาณ 60 ปี 4 เดือน

การเคลื่อนห่างจากฤดูกาลอย่างต่อเนื่องหมายความว่าวันขึ้นปีใหม่ที่เคยอยู่ในวันที่ 22 มีนาคม (ใกล้วสันตวิษุวัต) ใน ค.ศ. 638 ปัจจุบันอยู่ที่วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2013 โดยไม่มีการร่วมมือกันในระดับนานาชาติเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนห่างนี้ ประเทศไทยย้าย "พุทธศักราช" ของตนเองเข้ากับปฏิทินกริกอเรียนภายใต้ชื่อปฏิทินสุริยคติไทย ส่วนในประเทศพม่า นักปฏิทินชาวพม่าพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยปรับเปลี่ยนตารางการแทรกในวัฏจักรเมตอนเป็นระยะ ๆ ข้อเสียสำคัญประการหนึ่งของวิธีนี้คือ ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่ปฏิทินในอนาคตได้ล่วงหน้ามากกว่าสองสามปี (บ่อยครั้งแม้แต่หนึ่งปี)[note 2]

ประวัติ

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. (Ohashi 2001: 398–399): Astronomers of ancient India certainly knew of the Metonic cycle, and may have introduced the concept to Southeast Asia. However, the Metonic cycle, which employs tropical years, is incompatible with sidereal based Hindu calendars, and thus was not (and still is not) used in Hindu calendars. Chatterjee (1998: 151) suggests that the Metonic system was introduced to Burma by Europeans. Ohashi (2001: 398–399) rejects Chatterjee's hypothesis saying that "no other trace of European influence is found in South-East Asian astronomy." Instead, Ohashi (2001: 401–403) suggests that China may have been the source of the Metonic cycle.
  2. (Irwin 1909: 26–27): In the mid-19th century, the Burmese Konbaung Dynasty tried to address the issue by introducing a new calculation methodology. However, the new solar year it chose was actually 0.56 second a year less accurate than the version still prevalent in the rest of Southeast Asia. The Konbaung court also modified the Metonic cycle, which did more to re-synchronize the calendar with the seasons than the less accurate solar year.

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Ohashi 2007: 354–355
  2. Ohashi 2001: 398–399
  3. Kala Vol. 1 2006: 38
  4. Eade 1995: 15–16
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Clancy 1906: 56–57
  6. 6.0 6.1 Irwin 1909: 8–9
  7. Irwin 1909: 5
  8. Busyakul, 2004: 476.
  9. Eade 1989: 9–10
  10. Eade 1995: 28–29
  11. Eade 1989: 135–145, 165–175
  12. Eade 1995: 22
  13. Luce 1970: 330
  14. Irwin 1909: 26–27

บรรณานุกรม

แก้
  • Busyakul, Visudh (April–June 2004). ปฏิทินและศักราชที่ใช้ในประเทศไทย [Calendar and era in use in Thailand] (PDF). Journal of the Royal Institute of Thailand (ภาษาไทย และ อังกฤษ). 29 (2): 468–478. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-01-16.
  • Chatterjee, S.K. (1998). "Traditional Calendar of Myanmar (Burma)". Indian Journal of History of Science. 33 (2): 143–160.
  • Clancy, J.C. (January 1906). T. Lewis; H.P. Hollis (บ.ก.). "The Burmese Calendar: A Monthly Review of Astronomy". The Observatory. XXIX (366).
  • Eade, J.C. (1989). Southeast Asian Ephemeris: Solar and Planetary Positions, A.D. 638–2000. Ithaca: Cornell University. ISBN 978-0-87727-704-0.
  • Eade, J.C. (1995). The Calendrical Systems of Mainland South-East Asia (illustrated ed.). Brill. ISBN 9789004104372.
  • Htin Aung, Maung (1959). Folk Elements in Burmese Buddhism. Rangoon: Department of Religious Affairs.
  • Irwin, Sir Alfred Macdonald Bulteel (1909). The Burmese and Arakanese calendars. Rangoon: Hanthawaddy Printing Works.
  • Kala, U (1724). Maha Yazawin Gyi (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2006, 4th printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.
  • Luce, G.H. (1970). Old Burma: Early Pagan. Vol. 2. Locust Valley, NY: Artibus Asiae and New York University.
  • Ohashi, Yukio (2001). Alan K. L. Chan; Gregory K. Clancey; Hui-Chieh Loy (บ.ก.). Historical Perspectives on East Asian Science, Technology, and Medicine (illustrated ed.). World Scientific. ISBN 9789971692599.
  • Ohashi, Yukio (2007). "Astronomy in Mainland Southeast Asia". ใน H. Selin (บ.ก.). Encyclopaedia of the History of Science, Technology, and Medicine in Non-Western Cultures (2, illustrated ed.). Springer. ISBN 9781402045592.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้