พระศรีนครเตาท้าวเธอ

พระศรีนครเตาท้าวเธอ หรือที่ชาวอำเภอรัตนบุรีเรียกว่า "เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ" เป็นเจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2252–2338 รัชสมัยราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีผลงานสำคัญต่อราชสำนักอยุธยาในการจับพระยาช้างเผือกคืนสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ปกครองบ้านเมืองเตา ณ ปัจจุบันคือ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

พระศรีนครเตาท้าวเธอ
เกิดพ.ศ. 2252
อัตปือ-แสนแป ราชอาณาจักรล้านช้าง
เสียชีวิตพ.ศ. 2338 (86 ปี)
บ้านไพรขลา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ประวัติ แก้

พระศรีนครเตาท้าวเธอ เดิมชื่อ สี หรือเชียงสี (ในภาษากูยเรียก ตากะอาม) เดิมเป็นชาวอัตปือ-แสนแป[1] ราชอาณาจักรล้านช้าง[2] มีอาชีพเป็นนักรบใต้บังคับบัญชาหน้าเผ่าลาว ชื่อขุนเจือง มีความชำนาญในการคล้องช้าง และใช้ช้างในการศึกสงคราม ต่อมาหัวหน้าเผ่าลาวได้สิ้นชีวิต อำนาจกูยแถบบริเวณนั้นเสื่อมอำนาจลง เชียงสีและพวก จึงได้ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ดินแดนอาณาจักรอยุธยา ในปี 2199–2231 โดยมุ่งหน้าสู่ฝั่งขวาแม่นํ้าโขง บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่จะเข้าสู่บริเวณอีสานใต้ในปัจจุบัน และได้แบ่งพวกออกเป็นหลายกลุ่มเพื่อตั้งถิ่นฐาน ดังนี้

  • พวกที่ 1 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงปุม”
  • พวกที่ 2 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกุดหวาย (ตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงสี”[3]
  • พวกที่ 3 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเมืองลีง (เขตอำเภอจอมพระ) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงสง”
  • พวกที่ 4 มาตั้งถื่นฐานที่บ้านโคกลำดวน (เขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงขัน หรือ ตากะจะ”
  • พวกที่ 5 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านอัจจะปะนึง หรือ “โคกอัจจะ” (เขตอำเภอสังขะ) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงฆะ”
  • พวกที่ 6 มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกุดปะไท (บ้านจาระพัตร อำเภอศีขรภูมิ) หัวหน้ากลุ่มชื่อ “เชียงชัย”

พ.ศ. 2302[4] สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) เกิดช้างเผือกแตกโรงออกจากเมืองหลวง เข้าไปทางทิศตะวันออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้เจ้าสองพี่น้อง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช)[5]กับไพร่พล 30 นาย ออกติดตามมาถึงเมืองพิมายและได้ทราบจากเจ้าเมืองพิมายว่า ในดงริมเขามีส่วยซึ่งชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงช้างอยู่ หากสืบหาจากพวกส่วยนี้จะทราบเรื่อง เจ้าสองพี่น้องกับไพร่พลจึงติดตามไป และได้พบกับเชียงสี หัวหน้าบ้านกุดหวาย เจ้าสองพี่น้องจึงขอร้องให้ช่วยจับพระยาช้างคืนราชสำนักอยุธยา เชียงสีเมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้วจึงรับปากที่จะช่วยเหลือ และได้พาไปเข้าพบกับพวกทั้ง4 คือ เชียงปุ้ม เชียงฆะ เชียงขัน

เมื่อพบหัวหน้าทั้งหมดแล้ว เชียงฆะได้แจ้งแก่เจ้าสองพี่น้องและคณะว่า พบช้างพลายที่งา มีเครื่องประดับนำช้างมาเล่นน้ำที่หนองโชคในตอนบ่ายๆ ทุกวัน ทั้งหมดจึงไปที่หนองโชค เมื่อไปถึงก็คอยดูโขลงช้างที่จะมาเล่นน้ำ เมื่อถึงเวลา โขลงช้างประมาณ 50–60 เชือก ก็พากันมาลงเล่นน้ำ ทีแรกไม่ทราบว่าเครื่องไหนเป็นช้างเผือก เพราะช้างเล่นคลุกโคลนตมดำเต็มตัว จึงเหมือนกันหมดโขลง พอช้างลงเล่นน้ำ ช้างเผือก 2 เชือกก็ปรากฏทันที เชียงสีกับพวกจึงใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์จับช้าง

เมื่อเจ้าสองพี่น้องและคณะจับช้างได้แล้ว ได้พากันมาที่บ้านเชียงไชย ได้เวลาสมควรก็อำลากลับ ก่อนกลับได้สั่งพวกทั้งหกว่า ขอให้ไปเยี่ยมบ้างในฐานะเพื่อนฝูงกัน เราจะกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ เพื่อจะได้โปรดฯ พระราชทานความชอบให้ ทั้งหกรับคำและลาจากกัน โดยมีเชียงสีตามส่งจนพ้นเขตแดนเมืองพิมายตามลำดับ ต่อมาเชียงสีและพวกจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้านของตน[6] โดยทำราชการขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย มีดังนี้[5]

  • เชียงสีได้เป็น หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ
  • เชียงฆะ ได้เป็น หลวงสังฆะบุรีศรีอจจะ
  • เชียงปุม ได้เป็น หลวงสุรินทร์เสน่หา (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทร์ภัคดี)
  • เชียงชัย ได้เป็น ขุนชัยสุริยวงศ์

ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองช่วยราชการงานศึกสงคราม มีความดีความชอบและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์เป็น "พระศรีนครเตาท้าวเธอ"[7] ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองรัตนบุรี จนถึงวาระสุดท้าย พระศรีนครเตาท้าวเธอปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุข ร่มเย็นมาโดยตลอด และเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่ได้ทำให้แก่ชาติบ้านเมือง ชาวอำเภอรัตนบุรี จึงรวมใจสร้างอนุสาวรีย์ของพระศรีนครเตาท้าวเธอ ณ สวนสาธารณะศรีนครเตาท้าวเธอ ถนนศรีนคร อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และจัดให้มีงานสมโภชน์ สักการะทุกๆปี

ลุเข้ามาเมื่อใดมิทราบได้ ในช่วงรัชกาลที่ 1 ได้มีพระราชสาส์นเกี่ยวกับการศึก ผ่านเข้ามายังเมืองศรีนครเตา(ขณะนั้นยังไม่เปลี่ยนชื่อนามเมือง) ในขณะนั้นพระศรีนครเตาไม่อยู่ในเมืองไปทำธุระข้างนอก เเต่ภรรยาพระศรีนครเตาเป็นผู้รับหนังสือพระราชสาสน์เเทน มีบางกระเเสว่าภรรยาเป็นผู้เปิดอ่านเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เเต่ก็มีบางกระเเสที่ว่า พระศรีนครชัย (บุญจันทร์) อุปราชเมืองรัตนบุรีเป็นผู้เปิดอ่านเองเเล้วโยนความผิดให้เจ้าเมือง ส่งผลให้พระศรีนครเตาท้าวเธอโดนอาญาเเผ่นดิน ถูกประหารโดยการเอาขวานผ่าอกจนตาย ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2356 ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ท้าวโอ๊ะ หลานของเจ้าแก้วมงคลแห่งเมืองท่ง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองสุวรรณภูมิว่า เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เบียดเบียนข่มเหงประชาชน และบังคับเอาลูกเมียคนอื่น มาเป็นภรรยาของตน ราชสำนักกรุงเทพฯ ได้สอบสวนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (ท้าวอ่อน) พบว่ามีความผิดจริง จึงโปรดฯ ให้ถอดออกจากเจ้าเมือง และทรงตั้งให้ท้าวโอ๊ะเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระรัตนวงศา” อันเป็นปีเดียวกันที่ฝ่ายเจ้าเมืองศรีนครเตา (คนต่อมา) ได้นำความกราบบังคมทูลโดยมีใบบอกไปยังราชสำนักด้วย จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองศรีนครเตาเป็น “เมืองรัตนบุรี” และนามเจ้าเมืองจาก “พระศรีนครเตา” เป็น พระศรีนครชัย” ซึ่งหมายถึงชัยชนะ อาจเป็นไปได้ว่า พระศรีนครชัยเป็นเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคล คือเป็นลูกหลานของเจ้าแก้วมงคลอีกท่านหนึ่ง เจ้าเมืองรัตนบุรีที่ได้เปลี่ยนนามเป็น “พระศรีนครชัย” มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าแก้วมงคลในชั้นหลาน ชาวลาวในเขตเมืองสุวรรณภูมิจึงได้เข้ามาอยู่ในเขตเมืองรัตนบุรีมากขึ้น สังคมและวัฒนธรรมของชาวเมืองสุวรรณภูมิจึงไหลบ่า เข้าสู่เมืองรัตนบุรีและกลายเป็นเมืองของชาวไทยลาวในที่สุด[8][9]

บรรดาศักดิ์ แก้

  • หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ (เชียงสี หรือตากะอาม)
  • พระศรีนครเตาท้าวเธอ (เชียงสี หรือตากะอาม)

พงศาวดารเอกสารประวัติศาสตร์ แก้

ในพงศาวดารภาคอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) แก้ไข ในพงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๒ กล่าวว่า

...ครั้นครบพรรษาหนึ่ง พระเจ้าเวียงจันทน์ จึงพร้อมพระครูทั้งหลายฮดภิกษุบวชใหม่ให้นามว่า พระครูโพนเสม็ดบ้าง บางคนก็เรียกว่าพระครูสีดาตามนามเดิม ท่านพระครูรักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ช้านานเท่าใด ก็ได้อภิญญา ๕ อัฐฐสมาบัติ ๘ ประการ สำเร็จไปด้วยฌาน จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำโดยบารมีธรรม โปรดสำเร็จดังมโนนึกความปรารถนา น้ำมูตรและอาจมก็หอม พระเจ้าเวียงจันทน์จัดให้มีโยมอุปฐากรักษา ท่านพระครูเอานายแก้ว นายหวดมาเลี้ยงไว้ นายแก้ว นายหวด เรียนศิลปวิชชาความรู้มากฉลาดเฉลียว ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ก็บวชเป็นภิกษุให้ทั้ง ๒ คน ครั้นอยู่มาพระเจ้าเวียงจันทน์ มีโอรสองค์หนึ่ง เรียกว่าเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี พระมเหสีมีครรภ์อยู่อีกได้ ๖ เดือน จุลศักราช ๑๐๕๑ ปี พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาราชสมบัติได้ เจ้าองค์หล่อกับบ่าวไพร่ที่สนิทหนีเข้าไปพึ่งญวน ก็ได้เป็นใหญ่อยู่เมืองญวน แต่มเหสีนั้นเมื่อพระยาเมืองแสนจะรับไปอยู่ด้วย นางไม่ยอม จึงหนีเข้าไปพึ่งอยู่กับพระครูโพนเสม็ดๆ กลัวความนินทา จึงส่งนางไปไว้บ้านซ่อง่อหอคำ ครั้นคำรบ ๑๐ เดือน นางประสูติพระโอรสออกมาเป็นชาย มารดาญาติพี่น้องถวายนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ท่านพระยาเมือแสน จึงดำริว่า พระครูมีบุญมาก คนนิยมนับถือกลัวจะชิงเอาราชสมบัติ จึงคิดเป็นความลับจะทำอันตรายแก่ท่านพระครูๆ ก็ล่วงรู้ในความคิดพระยาเมืองแสน ท่านจึงว่ามีมารมาประจญแล้ว จะอยู่มิได้ ต้องหลีกหนีให้พ้นมาร ท่านพระครูจึงใช้ให้คนไปรับเอามารดากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาแต่ซ่อง่อหอคำ แล้วจึงปฤกษากับญาติโยมคนอุปฐากพร้อมกันแล้ว รวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓๓๓๓ คน พาภิกษุแก้ว ภิกษุหวด อุปยกจากเวียงจันทน์ มาถึงงิ้วพลานลำสมสนุก

...ท่านพระครูกลัวญาติโยมจะได้ความเดือดร้อน จึงพาครอบครัวหนีขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง แล้วก็เดิรเลยต่อๆ ถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ขณะนั้นนางเพาแม่นางแพงบุตร กับพระยาคำยาด พระยาสองฮาด ไปนิมนต์พระครูให้อยู่รักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร อนุญาตทั้งพุทธจักร์อาณาจักร์ให้แก่ท่านพระครูปกครองรักษา ต่อๆ มาประชาชนพลเมืองมีน้ำใจวิหิงสาบังเบียดแลลักทรัพย์สิ่งของ ช้าง ม้า โค กระบือ เนืองๆ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ครั้นท่านพระครูจะจับตัวมาลงโทษจำขังเฆี่ยนตี ก็จะผิดบาลีสิกขาบท มีความมัวหมองแก่ท่านพระครูต่อไป ท่านพระครูจึงพร้อมกันปรึกษาเสนากรมการ เห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์สมควรจะครอบครองบ้านเมืองได้ จึงแต่งให้จารแก้ว ท้าวเพี้ยไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาลงมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ในจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบ็ญจศก อัญเชิญขึ้นครองเมือง ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุล เป็นเจ้าเอกราช ครองราชสมบัติณกรุงกาลจำบากนาคบุรีศรี ตามราชประเพณีกษัตริย์มาลาประเทศแต่กาลปางก่อน จึงผลัดนามเมืองใหม่ว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี ท่านพระครูและเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ จัดแจงตั้งแต่งบ้านเมือง คือให้ตั้งบ้านโขงเป็นเมืองโขง จารหวดเป็นเจ้าเมือง ยกบ้านหางโขงขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง ให้พ่อเชียงแปลงเป็นเจ้าเมือง แล้วจัดให้ จารเสียงสางไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอนเตา เรียกว่าเจ้าเมืองรัตนบุรี[10] ให้จารแก้วเป็นเจ้าเมืองทุ่ง เรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิบัดนี้ ปันอาณาเขตต์ให้ปกครองรักษาฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยัง ข้างตะวันออกถึงเขาประทัด ต่อแดนกับอ้ายญวน ข้างตะวันตกถึงลำน้ำพังชู ทิศใต้ถึงห้วยลำคันยุงเป็นแดน จารแก้วออกจากนครจำปาศักดิ์มาตั้งเมืองในระหว่างจุลศักราช ๑๐๘๐ ปี มีไพร่พลชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐๐ คนเศษ จารแก้วเจ้าเมืองทุ่ง มีบุตรชาย ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อท้าวมืด คนที่ ๒ ชื่อท้าวทน คนที่ ๓ ชื่อท้าวเพ จารแก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๖ ปี ระหว่างจุลศักราช ๑๐๙๖ ปี จารแก้วถึงแก่กรรม ท้าวมืดผู้พี่ได้ครองเมืองแทนบิดา ท้าวทนเป็นอุปฮาด ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราช ไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กัน จึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่

 
แผนผังของพระศรีนครเตาท้าวเธอ ที่เกี่ยวข้องกับล้านช้างจำปาศักดิ์


สถานที่รำลึกถึง แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ข้อมูลตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี สุรินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
  2. ประวัติเมืองรัตนบุรี
  3. "เมืองนครเตา หรือเมืองรัตนบุรี เดิมเป็นหมู่บ้าน ชื่อว่า "บ้านบุ่งหวาย หรือ บ้านหวาย"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-24. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
  4. ประวัติศาสตร์อำเภอรัตนบุรี
  5. 5.0 5.1 ช้างเผือกหาย กลับได้ขยายดินแดน! ผลงานของ ๒ พี่น้องผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์!!
  6. ประวัติเมืองรัตนบุรี ประวัติหลวงศรีนครเตา ประวัติพระศรีนครเตาท้าวเธอ เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก แผนที่เก่ารัตนบุรี
  7. ประวัติหลวงศรีนครเตา เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก
  8. "ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(3)". baanjomyut.com. สืบค้นเมื่อ 2023-05-25
  9. "เขมรป่าดง ทุ่งกุลาร้องไห้ และเจ้าพ่อศรีนครเตา ตอนที่ 3 เมืองรัตนบุรี 2". baanmaha.com. สืบค้นเมื่อ 2023-05-25
  10. https://www.finearts.go.th/surinmuseum/view/22299-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C
  11. สถานที่ ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ
  12. "ชาวอำเภอรัตนบุรี จัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ เจ้าเมืองคนแรกของอำเภอรัตนบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.