กระทรวงกลาโหม (ประเทศไทย)

หน่วยงานราชการ

กระทรวงกลาโหม (อังกฤษ: Ministry of Defence) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางประเภทกระทรวงของไทย มีหน้าที่ป้องกันประเทศ เพิ่มขีดความสามารถ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียน และมิตรประเทศ เพื่อลดความหวาดระแวงสร้างสันติภาพ ให้ความสำคัญในการตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะ และมีหน้าที่พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชประสงค์

ราชอาณาจักรไทย
กระทรวงกลาโหม
Emblem of the Ministry of Defence of Thailand.svg
เครื่องหมายราชการ
ตรากระทรวงกลาโหม.png
ตราพระคชสีห์
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง8 เมษายน พ.ศ. 2430 (135 ปี)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย
เลขที่ 7 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี227,671 ล้านบาท (พ.ศ. 2562)[1]
รัฐมนตรี
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดรัฐบาลไทย
เว็บไซต์https://www.mod.go.th/

ประวัติแก้ไข

กระทรวงกลาโหมตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดิมเป็นโรงช้าง โรงม้า และโรงสีข้าวของทหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างเป็นโรงทหารถาวรขึ้น ต่อมาจึงจัดตั้งเป็นกระทรวงกลาโหม

 
ภาพถ่ายหน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 5

สัญลักษณ์แก้ไข

กระทรวงกลาโหมมีตราที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงอยู่ 2 อย่าง ได้แก่

ตราพระคชสีห์แก้ไข

ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวไว้ว่า ตราพระคชสีห์เป็นตราของเจ้าพระยามหาเสนาบดี ผู้ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมในระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์ มีทั้งตราใหญ่ ตรากลาง และตราน้อย เมื่อมีการจัดรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางเป็น 12 กระทรวงในปี พ.ศ. 2435 ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดูแลกิจการทหารทั้งหมดของประเทศ ตราพระคชสีห์จึงใช้เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสืบมาจนกระทั่งถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีการเปลี่ยนแปลงแบบตราสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ในปี พ.ศ. 2482 (ตามหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา) อย่างไรก็ตาม ตราพระคชสีห์ยังคงนับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหม และถูกใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสีอความหมายถึงข้าราชการฝ่ายทหารสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตราจักรสมอปีกแก้ไข

ตราจักรสมอปีกปรากฏหลักฐานครั้งแรกในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2482 หน้า 2373 ซึ่งบรรยายลักษณะไว้ดังนี้

เครื่องหมายราชการส่วนรวมแห่งกระทรวงกลาโหม

ตราประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรูปจักร มีสมอสอดขัดในวงจักร ด้านซ้ายขวามีรูปปีกนกกางอยู่ภายใต้รูปพระมหามงกุฎ (ไม่จำกัดสีและขนาด)

นอกจากนี้ในประกาศดังกล่าวยังลงภาพเครื่องหมายราชการของกระทรวงกลาโหมในหน่วยที่ไม่ขึ้นหน่วยกองทัพ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2482 หน้า 2375 ซึ่งบรรยายลักษณะของเครื่องหมายไว้ว่า

เครื่องหมายราชการในหน่วยที่ไม่ขึ้นหน่วยกองทัพ เป็นรูปจักรมีสมอสอดขัดในวงจักร ด้านซ้ายขวามีรูปปีกนกกาง (ไม่จำกัดสีและขนาด)

ตราจักรสมอปีกทั้งสองแบบนี้นับเป็นเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมได้ใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบเครื่องหมายราชการประจำสังกัดของตนมาถึงปัจจุบัน

สำหรับความหมายของตราจักรสมอปีก สื่อความหมายถึงเหล่าทัพทั้งสามเหล่าซึ่งรวมกันเป็นกองทัพไทย ได้แก่

  • จักร หมายถึงกองทัพบก
  • สมอ หมายถึงกองทัพเรือ
  • ปีก หมายถึงกองทัพอากาศ

หน่วยงานในสังกัดแก้ไข

 
บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม

กระทรวงกลาโหม มีการแบ่งส่วนราชการระดับกรมออกเป็น 5 หน่วยงาน ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551[2] และพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556[3] ดังนี้

  • สำนักงานรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมืองของรัฐมนตรี และมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานจเรทหารทั่วไป
  • สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่เกี่ยวกับงานนโยบายและยุทธศาสตร์ งานราชการประจำทั่วไปของกระทรวง
  • กองทัพไทย มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพไทย การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ควบคุมการปฏิบัติงานของกองบัญชาการกองทัพไทย

หน่วยงานในกำกับดูแลแก้ไข

กระทรวงกลาโหม มีองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์การของรัฐในความกำกับดูแล ดังนี้

หน่วยงานในอดีตแก้ไข

อ้างอิงแก้ไข

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เล่ม 125 ตอนที่ 26 ก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 35
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เล่ม 130 ตอนที่ 109 ก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 หน้า 1

ดูเพิ่มแก้ไข

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′06″N 100°29′42″E / 13.751683°N 100.494862°E / 13.751683; 100.494862