สุทิน คลังแสง
สุทิน คลังแสง (เกิด 9 มีนาคม พ.ศ. 2504) เป็นนักการเมืองชาวไทย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดมหาสารคาม ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน) อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย และ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จังหวัดมหาสารคาม
สุทิน คลังแสง ม.ป.ช., ม.ว.ม. | |
---|---|
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม | |
อยู่ในวาระ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 มีนาคม พ.ศ. 2504 เชียงยืน มหาสารคาม ประเทศไทย |
พรรค | เพื่อไทย |
คู่สมรส | ฉวีวรรณ คลังแสง |
บุตร | รัฐ คลังแสง ฐาธิปัตย์ คลังแสง |
ที่อยู่ | มหาสารคาม ประเทศไทย |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
อาชีพ | อาจารย์ นักการเมือง |
ศาสนา | พุทธ |
ประวัติแก้ไข
ดร. สุทิน คลังแสง เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2504 ที่อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม สมรสกับ ดร.ฉวีวรรณ คลังแสง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ มีบุตร 2 คน คือ นายรัฐ คลังแสง และ นางสาวฐาธิปัตย์ คลังแสง
ดร. สุทิน คลังแสง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ระดับปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ Doctor of Philosophy Magadh University ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย จากสถาบันพระปกเกล้า
การทำงานแก้ไข
ดร. สุทิน คลังแสง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2544 และ 2548 ต่อมาจึงได้มาสมัครในระบบเขตเลือกตั้งที่จังหวัดมหาสารคาม ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23[1] ในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน[2] ดร. สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดร. สุทิน คลังแสง เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำหน้าที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของเมืองไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจการตรวจสอบและการทำงานของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลายครั้ง เช่น การอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การกล่าวอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 การอภิปรายระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การอภิปรายพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ ในปี 2563 ดร.สุทิน คลังแสง ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ กมธ.องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส.ผ. เลือก นายสุทิน คลังแสง เป็นประธาน[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๖, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๑, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑