เมืองพวน
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เมืองพวน (ເມືອງພວນ) หรือเมืองพวนเชียงขวาง หรือ ราชรัฐพวน[ต้องการอ้างอิง] เป็นหัวเมืองเก่าแก่ในประเทศลาว เดิมเป็นราชอาณาจักรสำคัญราชอาณาจักรหนึ่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศ
เมืองพวน | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2250–พ.ศ. 2442 | |||||||||
เมืองหลวง | เชียงขวาง | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ลาว | ||||||||
ศาสนา | พุทธ | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• สถาปนาโดยการแยกมาจากอาณาจักรล้านช้าง | พ.ศ. 2250 | ||||||||
• เปลี่ยนแปลงมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส | พ.ศ. 2442 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ลาว เวียดนาม |
ประวัติ
แก้เมืองพวน หรือเมืองพวนเชียงขวาง มีนามเต็มในประวัติศาสตร์ว่า เมืองมหารัตนบุรีรมย์ พรหมจักรพรรดิ ศรีมหานัครตักกะเสลา นครเชียงขวางราชธานี (ມຫາຣັຕນບູຣີຣົມຍ໌ ພຣົຫມຈັກພັດິ ສຣີມຫານັຄຣຕັກກະເສລາ ນຄຣຊຽງຂວາງຣາຊທານີ) คำว่า พวน (ພວນ) ตรงกับคำว่า โพน (ໂພນ) ในภาษาลาวและ พูน ในภาษาไทย หมายถึง เมืองอันตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูงหรือที่ราบสูง[1] เมืองพวนเดิมเป็นเขตการปกครองที่มีสถานะเป็นราชอาณาจักรหนึ่งในดินแดนที่เป็นประเทศลาวปัจจุบัน ประกอบด้วยหัวเมืองน้อยใหญ่หลายหัวเมือง ปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของแขวงเชียงขวาง มีศูนย์กลางการปกครองเมืองที่เมืองเชียงขวาง
ประชากรในเมืองพวนเรียกว่าชาวชาวไทพวน หรือ ชาวลาวพวน ชาวพวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในกลุ่มตระกูลลาว-ไท ที่อพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้เช่นเดียวกับชาติพันธุ์ลาว แล้วตั้งตัวเป็นอิสระตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โดยมีเมืองเชียงขวางเป็นเมืองหลวงหรือราชธานี เมืองพวนมีบทบาทในทางการค้าโลหะและของป่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 เมืองพวนตกอยู่ภายใต้อำนาจการคุ้มครองของอาณาจักรล้านช้างในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณีมหาราช (ราว พ.ศ. 1896-1915)[2][3] ในฐานะเมืองประเทศราช จากนั้นมาราชอาณาจักรพวนก็มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักล้านช้างของชาวลาวมาโดยตลอด นอกจากการเสียส่วยหรือเครื่องมงคลราชบรรณาการให้ราชอาณาจักรล้านช้างแล้ว
เมืองพวนยังคงรักษาการปกครองของตนไว้ได้ มีศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ศิลปะจากเมืองพวนบางส่วนได้เข้ามามีอิทธิพลต่ออาณาจักรล้านช้างแถบนครหลวงพระบางด้วย ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เรียกว่า ศิลปะเชียงขวาง ต่อมาเมื่อสยามได้แผ่อิทธิพลข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้าควบคุมราชอาณาจักรล้านช้าง เมืองพวนกลายเป็นรัฐกันชนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรไดเวียดของชาวญวน ในสมัยหลังรัชกาลเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2348-2371) สยามได้กวาดต้อนชาวพวนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในสยามหลายหัวเมือง ต่อมาในราว พ.ศ. 2413 เมื่อกองทัพฮ่อที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มกบฏไท่ผิงซึ่งถูกทางการจีนปราบปรามลง ได้เข้ามาโจมตีนครหลวงพระบางและราชอาณาจักรล้านช้าง เมืองพวนเองก็ได้ถูกกองทัพฮ่อโจมตีจนเสียหายไปมากเช่นเดียวกัน จากสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 เมื่อ พ.ศ. 2436 นครเชียงขวางซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองพวนได้ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตแดนของอินโดจีนฝรั่งเศส ภายหลังการประกาศเอกราชของราชอาณาจักรลาวนครเชียงขวางจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาว
กษัตริย์พวนและราชวงศ์ขุนบรมราชาธิราช
แก้ตามตำนานพงศาวดารล้านช้าง และพื้นขุนบรมราชาธิราช กล่าวว่า ขุนบูลม หรือขุนบรมราชาธิราช ซึ่งปกครองเมืองแถน (เมืองแถง) ทรงมีพระมเหสี 2 พระองค์ พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระนางเอ็ดแคง ทรงมีพระราชโอรส 4 พระองค์ พระมเหสีอีกพระองค์ชื่อทรงนามว่า พระนางยมพาลา ทรงมีพระราชโอรส 3 พระองค์ รวมแล้วขุนบูลมทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระมเหสีทั้ง 2 ทั้งหมด 7 พระองค์ และขุนบูลมทรงโปรดฯ ให้พระราชโรสทั้ง 7 ไปสร้างและปกครองเมืองต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ขุนลอ ให้ไปสร้างเมืองชวา (เมืองเส้า หรือเมืองหลวงพระบาง)
- ท้าวยี่ผาล้าน ให้ไปสร้างเมืองหัวแต (เมืองหนองแส หรือเมืองประคึง)
- ท้าวสามจูสง ให้ไปสร้างเมืองแกวช่องบัว (เมืองบัวชุม)
- ท้าวไสผง ให้ไปสร้างเมืองยวนโยนกเชียงแสน
- ท้าวงัวอิน ให้ไปสร้างเมืองอโยธยา
- ท้าวลกกลม ให้ไปสร้างเมืองเชียงคม (เมืองอินทปัต)
- เจ็ดเจิง (เจ็ดเจือง) พระราชอนุชาองค์สุดท้อง ให้ไปสร้างเมืองพวนเชียงขวาง
ลำดับกษัตริย์พวนแห่งราชวงศ์เชียงขวาง
แก้ตั้งแต่สมัยเจ้าเจ็ดเจืองหรือท้าวเจ็ดเจิงได้สร้างบ้านแปงเมืองและสถาปนานครเชียงขวางเป็นราชธานีโดยเรียกชื่อของราชวงศ์ที่ปกครองเมืองพวนว่า ราชวงศ์พวนเจ็ดเจือง หรือ ราชวงศ์พวนเชียงขวาง และได้มีกษัตริย์ในราชวงศ์พวนเชียงขวาง ปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับ ดังต่อไปนี้
องค์ที่ 1 เจ้าเจ็ดเจือง (ເຈົ້າເຈັດເຈືອງ) ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองพวน พระราชโอรสในขุนบรมราชธิราช
องค์ที่ 2 เจ้าเจ็ดจอน (ເຈົ້າເຈັດຈອນ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดเจือง
องค์ที่ 3 เจ้าเจ็ดจอด (ເຈົ້າເຈັດຈອດ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดจอน
องค์ที่ 4 เจ้าเจ็ดจิว (ເຈົ້າເຈັດຈິວ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดจอด ในรัชสมัยของเจ้าเจ็ดจิวนี้ พระองค์ได้ทรงแนะนำให้ประชาชนรู้จักประดิษฐ์ไถด้วยเหล็ก และประดิษฐ์คราดด้วยไม้ โดยนำควายมาไถและคราดนา สมัยนี้ยังคงสืบต่อการเซ่นไหว้บวงสรวงเลี้ยงผีตามจารีต (ฮีตคอง) ของลัทธินับถือผีวิญญาณบรรพบุรุษและศาสนาพราหมณ์เช่นเดิม
องค์ที่ 5 เจ้าเจ็ดจัน (ເຈົ້າເຈັດຈັນ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดจิว
องค์ที่ 6 เจ้าเจ็ดยอดยอคำ (ເຈົ້າເຈັດຍອດຍໍຄຳ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดจัน
องค์ที่ 7 เจ้าเจ็ดยี (ເຈົ້າເຈັດຍີ) หรือเจ้าพระยีหิน (ເຈົ້າພຼະຍີຫີນ) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดยอดยอคำ
องค์ที่ 8 เจ้าพระคือ (ເຈົ້າພຼະຄື) พระราชโอรสในเจ้าเจ็ดยี
องค์ที่ 9 เจ้าคำลูน (ເຈົ້າຄຳລູນ) พระราชโอรสในเจ้าพระคือ ในรัชกาลเจ้าคำลูนนี้ พระองค์ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือน (เยี่ยมยาม) ประชาชนในทั่วราชอาณาจักรพวน ทรงได้สั่งสอนชาวพวนและชาวขมุให้สามัคคีและรักกัน (ฮักแพงกัน) ทรงโปรดฯ ให้ชาวเผ่าขมุตัดต้นไม้ถางป่าเพื่อทำไร่ไถนาที่อยู่อาศัย เมื่อทรงเห็นชาวพวนขุดบ่อเหล็กเพื่อผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ก็ทรงแนะนำให้ประชาชชนใช้เหล็กทำพะเนียงไถเพื่อสะดวกในการไถนา เมื่อทรงเห็นว่าบ่อเหล็กนั้นมีผีรักษาตามความเชื่อเดิมเมื่อขุดเอาเหล็กมาแล้วก็ทรงโปรดฯ ให้ฆ่าหมูและควายเพื่อเลี้ยงผีไปพร้อมกัน เมื่อทรงทราบว่ามีบ่อทองคำอยู่ ณ บ้านนาหมื่น จึงโปรดฯ ให้ชาวเมืองเสาะหาประชาชนเพื่อฆ่าคนเลี้ยงผีปีละ 1 คน ณ บ่อทองคำนั้นแล้วขุดเอาแร่มาปั่นเป็นทองคำ เมื่อได้ทองคำเท่าใดโปรดฯ ให้แบ่งเป็น 1/10 มาให้แก่พระองค์เพื่อสร้างท้องพระคลังของเจ้าชีวิตพวน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่า บ่อน้ำเที่ยง หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ท่าพังพาย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (บ่อนเข็ดยำ) ก็โปรดฯ นำพาประชาชนให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปสักการะบูชาในวันสำคัญของชาติ เพื่อความสนุกสนานครื้นเครง (ม่วนชื่น) และเพิ่มเสบียงอาหารให้แก่บ้านเมือง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงชักชวนประชาชนไปตัดคอน วังหลัก ในน้ำงิ้ว ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงขวางเพื่อหาปลาทุกวิธี เมื่อได้ปลามาแล้วก็โปรดฯ ให้นำมารวมกันแล้วแบ่งเป็น 1/10 ของปลาที่จับได้ทั้งหมดนำไปถวายให้แก่เจ้าชีวิต
องค์ที่ 10 เจ้าคำเพ็ง (ເຈົ້າຄຳເພັງ) พระราชโอรสในเจ้าคำลูน
องค์ที่ 11 เจ้าคำขอด (ເຈົ້າຄຳຂອດ) พระราชโอรสในเจ้าคำเพ็ง
องค์ที่ 12 เจ้าคำฮอง (ເຈົ້າຄຳຮວງ) พระราชโอรสในเจ้าคำขอด
องค์ที่ 13 เจ้าคำแจก (ເຈົ້າຄຳແຈກ) พระราชโอรสในเจ้าคำฮอง
องค์ที่ 14 เจ้าคำฝั้น (ເຈົ້າຄຳຝັ້ນ) พระราชโอรสในเจ้าคำแจก เจ้าคำฝั้นทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าคำเฮือ (เจ้าเฮือ) และเจ้าคำพิน (เจ้าพิน) เมื่อเจ้าคำฝั้นผู้เป็นพระราชบิดาเสด็จสวรรคต เจ้าคำเฮือก็ได้ขึ้นเสวยราชย์แทนเป็นการชั่วคราว เมื่อเจ้าคำพินทรงมีพระชนม์มายุครบรอบอันควรแก่การเสวยราชสมบัติแล้ว เจ้าคำเฮือจึงถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าคำพินซึ่งเป็นพระอนุชาครองต่อไป สันนิษฐานว่า อาจมีเหตุมาจากเจ้าคำเฮือมีพระราชมารดาเป็นสามัญชนมิได้มาจากเชื้อสายเจ้า พระราชมารดาของเจ้าคำเฮือนั้นมีฐานันดรศักดิ์หรือพระราชอิสริยยศต่างจากพระราชมารดาของเจ้าคำพิน ซึ่งเป็นพระมเหสีเอกของเจ้าคำฝั้นผู้เป็นพระราชบิดา เจ้าคำเฮือจึงครองเมืองพวนเพียงรักษาราชการแทนพระราชอนุชา เหตุผลอีกประการหนึ่งนั้น เชื่อกันว่าเจ้าคำเฮือทรงมีพระสติไม่สมประกอบ อาจเป็นสาเหตุให้เจ้าคำพินผู้เป็นพระราชอนุชาได้สืบราชสมบัติแทนพระราชบิดาก็เป็นได้
องค์ที่ 15 เจ้าคำพิน (ເຈົ້າຄຳພິນ) พระราชโอรสในเจ้าคำฝั้น
องค์ที่ 16 เจ้าคำทน (ເຈົ້າຄຳທົນ) โอรสในเจ้าคำพิน
องค์ที่ 17 เจ้าคำติดสาก (ເຈົ້າຄຳຕິດສາກ) โอรสในเจ้าคำทน
องค์ที่ 18 เจ้าคำคอน (ເຈົ້າຄຳດວນ) หรือ เจ้าคำควน โอรสในเจ้าคำติดสาก
องค์ที่ 19 เจ้าคำล้วน (ເຈົ້າຄຳລ້ວນ) โอรสในเจ้าคำควน
องค์ที่ 20 เจ้าคำหน้า (ເຈົ້າຄຳໝ້າ) โอรสในเจ้าคำล้วน
องค์ที่ 21 เจ้าคำท้าว (ເຈົ້າຄຳທ້າວ) โอรสในเจ้าคำหน้า
องค์ที่ 22 เจ้าคำเค้า (ເຈົ້າຄຳເຄົ້າ) โอรสในเจ้าคำท้าว
องค์ที่ 23 เจ้าคำผง (ເຈົ້າຄຳຜົງ) โอรสในเจ้าคำเค้า เมื่อถึงเจ้าคำผงนั้น ทางการได้ตรวจสอบและทราบปีศักราชได้ชัดเจนแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปี พ.ศ. 1832 แห่งอาณาจักรสุโขทัย และในช่วงรัชกาลของเจ้าคำผงนั้น ได้มีเหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้หลายเหตุการณ์ ในเวลานั้นที่ประเทศอานนาม(เวียดนาม)ได้มีพระโอรสในจักรพรรดิเวียดนาม(ราชวงศ์เล)ชื่อ เลย์ ยุยมัด (Lê Duy Mật) ที่พยายามแย่งชิงราชสมบัติจากพี่ชายแต่ไม่สำเร็จ จึงได้พาน้องสาวชื่อว่า นางบาโก หนีมาพึ่งบารมีของกษัตริย์พวน และยกน้องสาวของตนให้แก่เจ้าคำผงเพื่อเป็นมเหสี และก็ได้ขอเอากำลังพลของเมืองพวนกลับไปตีเอาราชสมบัติจากพี่ชายของตนที่อานนาม แต่ก็ปราชัยอีกครั้ง จึงกลับคืนมาเชียงขวางแล้วฆ่าตัวตายติดกับข้างคุ้มของเจ้าชีวิต นางบาโกน้องสาวจึงได้ปลูกหอใส่ที่ตรงนั้นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของพี่ชาย แล้วสืบต่อการถวายการสักการะบูชาในกาลต่อมา หลังจากนั้นเจ้าชีวิตแกวก็ได้มาตีเมืองพวน เจ้าคำผงปราชัยต่อแกว จึงยอมเอาเมืองพวนไปขึ้นต่อประเทศแกวอานนาม
องค์ที่ 24 พระเจ้าเขียวคำยอ (ພຼະເຈົ້າຂຽວຄຳຍໍ) หรือเจ้าคำยอยก (ເຈົ້າຄຳຍໍຍົກ) (พ.ศ. 1895-1945) เมื่อเจ้าคำยอยกเติบใหญ่ขึ้นมาได้ลักลอบเล่นชู้ต่อหม่อมของเจ้าคำผงพระราชบิดา เมื่อเจ้าคำผงทราบเรื่องราวจึงได้ขับไล่เจ้าคำยอยกให้ออกจากเมืองพวนไป เจ้าคำยอยกได้ไปอาศัยที่เมืองบอริคัน โดยอาศัยการช่วยเหลือจากประชาชนแขวงคำม่วน,เมืองจำพอนและเมืองเซโปน เป็นผู้พิทักษ์รักษาดูแลและอุปการะ ครั้นตกมาถึง ค.ศ.1349 เจ้าคำยอยกจึงได้กลับคืนเมืองเชียงขวางพร้อมกับกองทัพใหญ่ของพระเจ้าฟ้างุ้ม ตีเมืองพวนชนะผู้เป็นราชบิดา จึงได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากราชบิดา เมื่อได้ครองราชย์แล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าเขียวคำยอ จากนั้นพระเจ้าฟ้างุ้มได้ขอกำลังไพร่พลของเมืองพวนไปรบกับพญาสุวรรณคำผงที่เมืองเชียงดง เชียงทองและตีต่อไปยึดเอาได้เมืองเชียงใหม่,ลำพูน,ลำปางและที่อื่นๆที่มีคนลาวอาศัยอยู่ อีกหนึ่งในบั้นสุดท้ายเมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มเห็นว่าเจ้าเขียวคำยอแห่งเมืองพวน ไม่ได้ส่งกองทัพพวนไปช่วยคราวศึกสงครามครั้งหลังๆ จึงได้ยกกองทัพกลับมาตีเมืองพวน แล้วก็ได้จับเอาธิดาของเจ้าเขียวคำยอสองคนไปกักตัวไว้ที่เมืองเชียงดง เชียงทอง
องค์ที่ 25 พระเจ้าอิสระเชษฐา (ພຼະເຈົ້າອິສຣະເຊດຖາ) หรือเจ้าล้านคำกอง (ເຈົ້າລ້ານຄຳກອງ) (พ.ศ. 1945-1965) โอรสในเจ้าเขียวคำยอ ในรัชกาลนี้ได้ทรงตั้งตนอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงมีเดชานุภาพและมีแต่ประชาชนรักใคร่ได้ปรับปรุงกฎหมายขึ้นมาใหม่ เรียกว่า กฎหมายล้านคำกอง เพื่อปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบเรียบร้อย ได้นำเอาพุทธศาสนาและพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งมาจากเมืองหงสาวดีเพื่ออุปฐาก เพื่อให้พุทธศาสนาได้รับการนับถือ พระองค์จึงได้ส่งคนเฉลียวฉลาดไปเรียนฮีตครองในศาสนาและวิธีการก่อสร้างวัดวาอารามจากเมืองอินทปัตนคร(เขมร) และได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนสร้างวัดสีพม, วัดเพียวัด, วัดบุนกอง, วัดจอมเพ็ด และวัดธาตุฝุ่นขึ้นไว้ที่เมืองเชียงขวาง ในรัชกาลนี้ได้ชักชวนประชาชนให้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังให้ประชาชนจัดตั้งหอมเหสักข์หลักเมืองขึ้น12หอ โดยการฆ่าควายเลี้ยงตามประเพณีดั้งเดิมที่เจ้าชีวิตเก่าเคยนำพาปฏิบัติกันมา เห็นเป็นดังนี้พระสงฆ์ทั้งหลายและเหล่าเสนาอำมาตย์ราชปุโรหิต ได้พร้อมใจกันราชาภิเษกพระองค์ และถวายพระนามว่า พระเจ้าอิสระเชษฐา แล้วตั้งชื่อเมืองเชียงขวางใหม่ว่า นครเชียงขวางราชธานี ในรัชสมัยนั้นเมืองพวนมีความรุ่งเรืองมาก จนเลื่องลือโด่งดังไปถึงเมืองอื่น จนพระเจ้าสามแสนไท(อุ่นเรือน)แห่งอาณาจักรหลวงพระบางทรงทราบ จึงได้ส่งราชทูตมาขอเป็นมิตรไมตรี พร้อมได้ส่งราชธิดาสององค์ของพระเจ้าเขียวคำยอที่พระเจ้าฟ้างุ้มได้นำเอาไปกักขังไว้นั้น คืนมาให้แก่พระเจ้าอิสระเชษฐา และพร้อมเดียวกันก็ได้ขอนำเอากองทัพพวนไปช่วยตีกับเมืองพม่า
องค์ที่ 26 พระเจ้าผ้าขาว (ພຼະເຈົ້າຜ້າຂາວ) หรือเจ้าคำอุ่นเมือง (ເຈົ້າຄຳອູ່ນເມືອງ) (พ.ศ. 1965-ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าล้านคำกอง ทรงถูกถวายนามว่า พระเจ้าผ้าขาวเนื่องจากว่าพระองค์ใจบุญทรงแต่ผ้าขาว ฟังแต่ธรรมจำแต่ศีลกินทานอยู่ไม่ขาด พระองค์มีราชธิดานางหนึ่งนามว่า เจ้าหญิงคำอ่อน และมีโอรสอีกองค์หนึ่งนามว่า เจ้าคำด่อน เมื่อพระเจ้าผ้าขาวสวรรคตแล้ว ราชบุตรทั้งสองยังทรงพระเยาว์ไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ทำให้เมืองพวนไม่มีกษัตริย์สืบแทน จึงมีพญามหาเสนาอำมาตย์ว่าราชการแทน จนเจ้าหญิงคำอ่อนทรงเจริญวัยจึงได้สืบต่อขึ้นปกครองแทนพระราชบิดา
องค์ที่ 27 พระมหาเทพีเจ้าคำอ่อน (ພຼະມຫາເທພີເຈົ້າຄຳອ່ອນ) หรือพระนางผมดำ (พ.ศ.ไม่แน่ชัด-2103) ราชธิดาในเจ้าคำอุ่นเมือง
องค์ที่ 28 เจ้าคำด่อน (ເຈົ້າຄຳດ່ອນ) (พ.ศ. 2103-2193) โอรสในเจ้าคำอุ่นเมือง
องค์ที่ 29 เจ้าคำสั้น (ເຈົ້າຄຳສັ້ນ) (พ.ศ. 2193-ไม่แน่ชัด) เจ้าคำสั้นเป็นราชโอรสในเจ้าคำด่อน เจ้าคำสั้นมีโอรสองค์หนึ่งชื่อ เจ้าคำกิวง และมีธิดาองค์หนึ่งนามว่า เจ้าหญิงแก่นจัน ในขณะนั้นพระเจ้าสุริยะวงศาซึ่งปกครองนครหลวงล้านช้างเวียงจันทน์ อยากได้เจ้าหญิงแก่นจันไปเป็นมเหสี แต่เจ้าคำสั้นไม่ยอมยกให้ พระเจ้าสุริยะวงศาจึงยกทัพไปตีเมืองพวนแต่เจ้าคำสั้นไม่สามารถสู้ศึกจากล้านช้างได้ พระเจ้าสุริยะวงศาจึงได้จับตัวเจ้าหญิงแก่นจันไป และกองทัพล้านช้างเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนเอาครอบครัวชาวพวนหลายพันคนไปไว้ที่เวียงจันทน์ ดังนั้นจึงมีชาวพวนจำนวนมากอาศัยอยู่ในเวียงจันทน์ ซึ่งเรึยกกันว่า ชาวพวนเดิม ส่วนเจ้าคำสั้นหลังพ่ายทัพ ก็ได้มุ่งหน้าสร้างบ้านแปงเฮือนให้เจริญรุ่งเรือง จนเมืองพวนสามารถเข้มแข็งได้ดั่งเดิม
องค์ที่ 30 เจ้าคำทง (ເຈົ້າຄຳຖົງ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำด่อนและเป็นอนุชาในเจ้าคำสั้น
องค์ที่ 31 เจ้าคำภีรวงศ์ หรือ เจ้าคำกิวง (ເຈົ້າຄຳກິວົງ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำสั้น
องค์ที่ 32 เจ้าคำล้อน (ເຈົ້າຄຳລ້ອນ) (พ.ศ. 2230-ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำกิวง เจ้าคำล้อนมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เจ้าคำพุทธา เมื่อเจ้าคำล้อนสวรรคตแล้วเจ้าคำพุทธายังทรงเยาว์วัยไม่สามารถสืบต่อราชสมบัติได้ เหล่าเสนาอำมาตย์จึงได้แต่งตั้ง เจ้าคำเคืองผู้เป็นอนุชาของเจ้าคำล้อนขึ้นเป็นมหาอุปราชว่าราชการแทนจนสวรรคต
องค์ที่ 33 เจ้าคำพุทธา(ເຈົ້າຄຳພຸທທາ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำล้อน
องค์ที่ 34 เจ้าคำศรัทธา (ເຈົ້າຄຳສັທທາ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำพุทธา เจ้าคำศรัทธาได้อภิเษกสมรสกับเจ้านางแว่นแก้วสามผิว ผู้เป็นราชธิดาในพระเจ้าอินทะโสมเจ้ามหาชีวิตนครล้านช้างหลวงพระบาง ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองอาณาจักรจึงผูกมิตรไมตรีที่ดีต่อกันอย่างเหนียวแน่น ในรัชกาลนี้ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและสร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองตลอดรัชกาล เจ้าคำศรัทธามีโอรสสององค์คือ เจ้าบุญลังไท และเจ้าบุญลอด
องค์ที่ 35 เจ้าบุญลังไท (ເຈົ້າບູນລັງໄທ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำศรัทธา เจ้าบุนลังไทมีโอรสองค์หนึ่งนามว่าเจ้าบุญคง เมื่อเจ้าบุญลังไทสวรรคตแล้ว เจ้าบุญคงยังทรงพระเยาว์ เหล่าเสนาอำมาตย์จึงแต่งตั้งเจ้าบุญลอดพระอนุชาในเจ้าบุญลังไทขึ้นปกครองแทน
องค์ที่ 36 เจ้าบุญลอด (ເຈົ້າບູນລອດ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าคำศรัทธา
องค์ที่ 37 เจ้าบุญคง (ເຈົ້າບູນຄົງ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าบุญลังไท เมื่อเจ้าบุญคงสวรรคตแล้ว มีโอรสองค์หนึ่งนามว่าเจ้าบุญจันทร์ซึ่งยังทรงพระเยาว์ พญาคำเทโวซึ่งเป็นเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ในขณะนั้นได้ว่าราชการแทนจนเจ้าบุญจันทร์บรรลุนิติภาวะ
องค์ที่ 38 เจ้าบุญจันทร์ (ເຈົ້າບູນຈັນທຣ์) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าบุญคง
องค์ที่ 39 เจ้าคำอุ่นเมือง (ເຈົ້າຄຳອູ່ນເມືອງ) (ไม่แน่ชัด) โอรสในเจ้าบุญจันทร์ ในรัชกาลนี้ได้ทรงแต่งตั้งพระอนุชาคือ เจ้าคำเหม้น (ເຈົ້າຄຳເໝັ້ນ) ขึ้นเป็นมหาอุปราช(รองเจ้าชีวิต) ทั้งสองพี่น้องได้ทรงปกครองเมืองพวนให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจ้าคำอุ่นเมืองมีโอรสสามองค์คือ เจ้าองค์หล่อ เจ้าองค์สีพรม และเจ้าองค์บุญ (ເຈົ້າອົງບູນ) ส่วนเจ้าคำเหม้นนั้นมีโอรสหนึ่งองค์นามว่า เจ้าหน่อเมืองหรือเจ้าองค์โตน
องค์ที่ 40 เจ้าองค์หล่อ (ເຈົ້າອົງຫຼໍ່) หรือเจ้าองค์ทง (ເຈົ້າອົງຖົງ) (ไม่แน่ชัด ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองพวนของเจ้าคำหลวง กล่าวไว้ว่า จ.ศ.1113 หรือ ค.ศ.1751) โอรสในเจ้าคำอุ่นเมือง เจ้าองค์หล่อได้แต่งตั้งเจ้าองค์บุญพระอนุชาขึ้นเป็นมหาอุปราช ในรัชกาลนี้ได้เกิดศึกสงครามขึ้นระหว่างกองทัพของเมืองพวนนำโดยเจ้าองค์หล่อ และกองทัพของนครหลวงล้านช้างเวียงจันทน์ซึ่งนำโดยเจ้าไชยองค์เว้ เจ้าองค์หล่อได้ปราชัยต่อเจ้าไชยองค์เว้ จึงได้มอบราชสมบัติให้แก่เจ้าองค์บุญผู้เป็นอนุชา แล้วให้อาณาจักรพวนขึ้นต่อล้านช้างเวียงจันทน์ เจ้าองค์หล่อได้เสด็จหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่หัวพันห้าทั้งหกและได้เกลี้ยกล่อมเอาราษฎรได้เยอะพอสมควร จึงได้นำพาไพร่พลยกทัพไปเพื่อจะตีกองทัพของเจ้าแก้วที่เวียงจันทน์ แต่พอถึงเชึยงขวางเมืองพวน เจ้าองค์บุญได้ออกมาสู้รบกับเจ้าองค์หล่อ เพื่อต้านกองทัพของเจ้าองค์หล่อไม่ให้ไปตีเวียงจันทน์ แต่ทัพเจ้าองค์บุญพ่ายต่อเจ้าองค์หล่อ จึงยอมแพ้แต่โดยดีแล้วมอบคืนราชสมบัติต่อเจ้าองค์หล่อ และยอมส่งส่วยต่อเวียงจันทน์แต่โดยดี เพื่อให้ราษฎรอยู่ร่วมกันโดยสามัคคี เจ้าองค์หล่อจึงได้สั่งราษฎรชาวเมืองสูยย้ายมาอยู่ฟากน้ำงึมทั้งหมด(ใกล้กับคังหมาแล่น) ในเวลานั้นแขวงหัวพันได้ขึ้นแก่เมืองพวน ครั้นถึงปี จ.ศ.1118 หรือปี ค.ศ.1756 เพี้ยแสนคิดกบฏต่อเมืองพวน เจ้าองค์หล่อจึงได้ให้นำตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษพร้อมลูกชาย เจ้าองค์หล่อมีโอรสสององค์คือ เจ้าชมภู และเจ้าเชียง ซึ่งหลังจากเจ้าองค์หล่อสวรรคต ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ในวัยเยาว์ เหล่าเสนาอำมาตย์จึงถวายราชสมบัติให้แด่เจ้าองค์สีพรมอนุชาในเจ้าองค์หล่อ เสวยราชย์ปกครองเมืองพวน
องค์ที่ 41 เจ้าองค์สีพรม (ເຈົ້າອົງສີພົມ) (พ.ศ. 2322-2324) โอรสในเจ้าคำอุ่นเมือง ในรัชกาลนี้กองทัพสยามที่บัญชาการโดยพระยาจักรี(ทองด้วง)เป็นแม่ทัพบก และพระยาสุรสีห์(บุญมา)เป็นแม่ทัพเรือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตีเวียงจันทน์แตก แล้วจึงเลยขึ้นมาตีเมืองเชียงขวางเมืองพวนแตก พร้อมทั้งเผาทำลายบ้านเมืองกวาดต้อนผู้คนและข้าวของ ทำให้เมืองพวนเสียหายย่อยยับ
องค์ที่ 42 เจ้าหน่อเมือง (ເຈົ້າໜໍ່ເມືອງ) (เจ้าบุตรราช) หรือเจ้าองค์โตน (ເຈົ້າອົງໂຕນ) (พ.ศ. 2324-2325) โอรสในเจ้าคำเหม้น เป็นนัดดาในเจ้าคำอุ่นเมือง ในรัชกาลนี้หลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน อยู่ๆ พระองค์ทรงเกิดมีสติวิปลาสและได้หนีเข้าป่าไป เหล่าเสนาอำมาตย์จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าชมภูขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อไป เจ้าองค์โตนมีโอรสชื่อ เจ้ากาง (ເຈົ້າກາງ) กับ เจ้าหล้า (ເຈົ້າຫຼ້າ หรือเจ้าโพธิสาร ເຈົ້າໂພທິສາຣ) ต้นราชตระกูล "ตุนาลม" และ "อุดมปาระมี"
องค์ที่ 43 เจ้าชมภู (ເຈົ້າຊົມພູ) (พ.ศ. 2325-2344) โอรสในเจ้าองค์หล่อ ในปี จ.ศ.1144 หรือ ค.ศ.1782 คนแกวอานนามชื่อ กวานฮับ ได้ก่อกบฎต่อเจ้าฟ้าแกวชื่อ เยีย ลอง หรือเหงียนอัน และได้ไปขอกองทัพต่อเจ้าเมืองหลวงพระบางผ่านไปทางเชียงขวาง แต่ถูกสกัดกั้นตีแตกโดยกองทัพพวนที่อยู่เมืองเคิง(โดนภูหม้าย) ในปี จ.ศ.1148 หรือปี ค.ศ.1784 เจ้าชมภูได้สร้างหอคำขึ้นใหม่ทีเชียงขวาง และคิดอยากเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อล้านช้างเวียงจันทน์ เจ้าองค์ลอง ผู้ปกครองเวียงจันทน์ก็ได้นำทัพโดย เจ้าแก้ว และเจ้านันทะเสน ได้เอาทหาร 3,000คน ขึ้นไปตีเมืองเชียงขวาง ทัพของเจ้าชมภูเมืองพวนสู้ต่อทัพของเวียงจันทน์ไม่ไหว เจ้าชมภูจึงได้หลบไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองฮังในแขวงหัวพัน หลังจากได้ตีเชียงขวางแตกแล้ว กองทัพเวียงจันทน์จึงได้ไปตีเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีเจ้าอนุรุทธปกครองในขณะนั้นแตกอีก ในขณะนั้นที่เมืองเชียงขวาง เจ้ากาง และเจ้าหล้า (เจ้าโพธิสาร) ซึ่งเป็นโอรสในเจ้าหน่อเมือง ได้เกิดแย่งชิงราชสมบัติกันเอง เจ้าหล้าได้แต่งให้นายใช้ไปหาเจ้านันทะเสนแห่งเวียงจันทน์ เจ้านันทะเสนจึงให้เจ้าแก้วยกทัพมาตีเจ้ากางที่เชียงขวางจนแตก จากนั้นเจ้าแก้วก็ได้ขึ้นไปเมืองสูย ตั้งทัพอยู่ที่ภูทงบ้านแลอยู่ได้หนึ่งเดือน จึงยกทัพขึ้นไปแขวงหัวพันเพื่อตามจับตัวเจ้าชมภู พร้อมด้วยตัวเพียเมืองกัดและเพียเมืองเส็ง เจ้าแก้วเกลี้ยกล่อมเจ้าชมภูให้ยอมสวามิภักดื์ เจ้าชมภูจึงให้ท้าวเพี้ยนำน้องสาวและช้างไปถวายเวียงจันทน์ เมื่อมาถึงเมืองหั่ง เจ้าแก้วให้จับตัวเจ้าชมภูไว้ หลังจับตัวได้จึงคุมตัวไปที่เวียงจันทน์ ครั้นไปถึงน้ำงึม ท่าข้าม ช้างสมดี เจ้าแก้วก็ได้ประหารชีวิตเพียเมืองกัดและเพียเมืองเส็งทิ้ง ส่วนเจ้าชมภูซึ่งเป็นกษัตริย์พวน เจ้าแก้วจึงต้องทำพิธีตามโบราณราชประเพณีของการประหารชีวิตกษัตริย์ หลังจากเริ่มทำพิธีก่อนจะลงมือประหารเจ้าชมภู ทันใดนั้นฟ้าได้มืดครึ้มลงทันที มีฝนตกฟ้าคะนอง เกิดฟ้าผ่าลงมาที่เพชรฆาตตายคาที่และดาบที่จะใช้ประหารได้หักเป็นท่อน เห็นเป็นดังนั้นเจ้าแก้วได้สั่งเลิกพิธีประหาร สั่งให้นำตัวเจ้าชมภูไปคุมขังที่เวียงจันทน์เป็นเวลาสามปี และตั้งเจ้าโพธิสารเป็นเจ้าเมืองพวน หลังเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ในปี จ.ศ.1153 หรือ ค.ศ.1791 เจ้าเชียงอนุชาในเจ้าชมภู ได้แต่งหนังสือไปหาเจ้าฟ้าแกวเพื่อยกทัพไปช่วยตีเวียงจันทน์ เจ้าโพธิสารไม่ได้แจ้งเรื่องให้เวียงจันทน์ เจ้านันทะเสนพิโรธจึงให้จับเจ้าโพธิสาร เมืองเวียงจันทน์แตก สามารถช่วยเจ้าชมภูออกมาได้ เจ้าชมภูและเจ้าเชียงจึงรีบนำพาไพร่พลชาวพวนหนีไปเชียงขวาง แล้วพาครอบครัวหนีไปหลบซ่อนตัวที่เมืองแถง(แถน)ในปีเดียวกันนั้น เจ้านันทะเสนขอกองทัพกรุงเทพมาช่วย นำโดยพระยาศรีอัครราช ขณะยังเป็นจมื่นเสมอใจ ร่วมกับเจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์รบกับทัพญวนและทัพเชียงขวาง และกวาดต้อนชาวพวนลงมายังกรุงเทพฯ ส่วนเจ้าชมพูนั้นถูกจับได้พร้อมกับชายาในช่วงเจ้าอินทวงศ์ครองเมืองเวียงจันทน์ และถูกกักขังจนสิ้นพระชนม์
องค์ที่ 44 เจ้าเชียง (ເຈົ້າຊຽງ) (พ.ศ. 2344-2345) โอรสในเจ้าองค์หล่อ
องค์ที่ 45 เจ้าสุทธกะสุวรรนะกุมาร (ເຈົ້າສຸທະກະສູວັນນະກຸມາຣ) หรือ เจ้าน้อยเมืองพวน (ເຈົ້ານ້ອຍ) (พ.ศ. 2345-2374) โอรสในเจ้าเชียง ภายหลังถูกจักรพรรดิมิญ หมั่งประหารด้วยการเฉือนเนื้อทีละชิ้น เจ้าน้อยมีโอรสห้าองค์คือ เจ้าโป้ เจ้าอึ่ง เจ้าอ่าง (ເຈົ້າອ່າງ หรือเจ้าก่ำ ເຈົ້າກ່ຳ) เจ้าทับ (ເຈົ້າທັບ) และเจ้าพรมมา (ເຈົ້າພຼົມມາ) ต้นราชตระกูล "สุทธกะกุมาร", "คำแย้ม" และ "เรืองสกุล"
องค์ที่ 46 เจ้าสาน (ເຈົ້າສາຣ) (พ.ศ. 2374-2391) โอรสเจ้ากาง ถูกกองทัพสยามจับลงมากรุงเทพ
องค์ที่ 47 พระเจ้าอิสระเชษฐา (ພຼະເຈົ້າອິສຣະເຊດຖາ) หรือ เจ้าโป้ (ເຈົ້າໂປ້) (พ.ศ. 2391-2408) โอรสในเจ้าน้อย เจ้าโป้มีโอรสสององค์คือ เจ้าเกส (ເຈົ້າເກສ) เจ้าเพ็ง (ເຈົ້າເພັງ)
องค์ที่ 48 พระเจ้าอึ่ง (ພຼະເຈົ້າອື່ງ) (พ.ศ. 2408-2419) โอรสในเจ้าน้อย เจ้าอึ่งมีโอรสเจ็ดองค์ คือ เจ้าอู่แก้ว (ເຈົ້າອູ່ແກ້ວ) เจ้าสุวรรณ (ເຈົ້າສຸວັນ) เจ้าบุญคง (ເຈົ້າບູນຄົງ) เจ้าดวงดี (ເຈົ້າດວງດີ ) เจ้าขันตี เจ้าทองอินทร์ (ເຈົ້າທອງອິນທຣ์) เจ้าคำเฮือง (ເຈົ້າຄຳເຮືອງ) ต้นราชตระกูล "หน่อคำ"
องค์ที่ 49 เจ้าขันตี (ເຈົ້າຂັນຕີ) (พ.ศ. 2419-2436) โอรสในพระเจ้าอึ่ง เจ้าขันตีทรงสวรรคตที่กรุงเทพมหานคร ในคราวที่สยามได้จับกุมพระองค์ไปพร้อมกับเชื้อพระวงศ์พวนบางส่วน เจ้าขันตีมีโอรสสององค์ คือ เจ้าหน่อคำ (ເຈົ້າໜໍ່ຄຳ) เจ้าทอน (ເຈົ້າທອນ) ทายาทต่อมาใช้ราชตระกูล "หน่อคำ" และ "อินท(ร)ขันตี ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรพวนเชียงขวางราชธานี
...หลังจากรัชกาลเจ้าขันตีแล้ว นครพวนเชียงขวางเกิดปัญหาขัดแย้งกันหลายฝ่าย จนภายหลังทางการฝรั่งเศสได้ทูลเชิญเชื้อสายกษัตริย์พวนมาปกครองนครพวนอีกครั้ง ดังนี้
องค์ที่ 50 เจ้าคำโง่น (ເຈົ້າຄຳໂງ່ນ) โอรสเจ้าอ่าง เจ้าผู้ครองเมืองคูน เมืองเอกของนครเชียงขวางราชธานี (พ.ศ. 2436-2473)
องค์ที่ 51 สาธุบาท เจ้าไชยวงศ์ สุทธกะกุมาร (ສາທຸບາທ ເຈົ້າໄຊຍ໌ວົງສ໌ ສຸທະກະກຸມາຣ) โอรสเจ้าอ่าง อดีตอุปราชเมืองคูนในรัชกาลเจ้าคำโง่น และหลังจากเจ้าคำโง่นถึงแก่พิราลัยแล้ว สาธุบาทเจ้าไชยวงศ์จึงได้เป็น เจ้าผู้ครองเมืองคูนสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระเชษฐา ทายาทบางส่วนใช้สกุล "ไชยวงศ์"
องค์ที่ 52 เจ้าสายคำ สุทธกะกุมาร (ເຈົ້າສາຢຄຳ ສຸທະກະກຸມາຣ) เจ้าผู้ปกครองแขวงเชียงขวางในยุคที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และทรงได้แต่งตั้งให้ สาธุบาทเจ้าไชยวงศ์ พระบิดา เป็นเจ้าเมืองกิตติมศักดิ์
อ้างอิง
แก้- ↑ ประวัติศาสตร์เมืองพวน ของเจ้าคำหลวง หน่อคำ
- ↑ Provincial Tourism Department Xieng Khouang, A Guide to Xieng Khouang
- ↑ <Martin Stuart-Fox The Lao Kingdom of Lao Xang: Rise and Decline, White Lotus Press, 1998
- คำหมั้น วงกตรัตนะ,เจ้า.พงศาวดารเมืองพวน ลำดับกษัตริย์เมืองพวน และผู้สืบสายสกุล.