พระเจ้าฟ้างุ้ม
พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช (ลาว: ພະເຈົ້າຟ້າງຸ່ມມະຫາລາດ) หรือ สมเด็จพระเจ้าฟ้าหล้าธรณีศรีสตนาคนหุตมหาราช[1] เอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับบ้างออกพระนามว่าเจ้าฟ้างุ่ม (เจ้าฝ้างู่ม) พระยาฟ้างุ้ม ท้าวฟ้างุ้ม พระยาฟ้า พญาท้าวฟ้างอม[2] ฟ้างู่มกุมาร เป็นต้น มีพระนามตามบาลีว่าปัพพารเทวะ ปัพพารราชา บับพาระเทวะ บับพาระกุมาร เป็นต้น[3] เป็นปฐมมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างและมหากษัตริย์นครเชียงดงเชียงทองหรือเมืองเซ่า (ซวา)[4] องค์ที่ 27 (ครองราชย์ พ.ศ. 1859-1936) ผู้รวบรวมแผ่นดินลาวสองฝั่งโขงให้เป็นปึกแผ่น[5] ได้รับการยกย่องเป็นมหาราชองค์แรกในสมัยล้านช้างของลาว[6][7]
พระเจ้าฟ้างุ้ม | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งล้านช้าง | |||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 1896 – 1915 (19 ปี) | ||||
ราชาภิเษก | พ.ศ. 1896 | ||||
ก่อนหน้า | เจ้าฟ้าคำเฮียว | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าสามแสนไทไตรภูวนาถ | ||||
พระราชสมภพ | พ.ศ. 1859 เมืองซัว, ล้านช้าง | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 1936 (77 พรรษา) เมืองน่าน, น่าน | ||||
คู่อภิเษก | พระนางแก้วเก็งยา (จักรวรรดิเขมร) | ||||
พระราชบุตร | ท้าวอุ่นเฮือน ท้าวคำกอง นางแก้วเกษเกสี | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ขุนลอ | ||||
พระราชบิดา | เจ้าฟ้าเงี้ยว | ||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท วิญญาณนิยม |
พระเจ้าฟ้างุ้มสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ขุนบรมราชาธิราชแห่งนครแถนและเป็นเชื้อสายขุนลอผู้สถาปนานครเชียงดงเชียงทองเป็นราชธานีของชาวลาว เป็นพระราชโอรสของท้าวผีฟ้า[8] และพระราชนัดดาของพระยาสุวรรณคำผงกษัตริย์นครเชียงดงเชียงทอง พระบรมนิพพานบท[9][10] กษัตริย์กรุงอินทปัตถ์ (พระนครหลวง) ในอาณาจักรขอมยกพระนางแก้วเก็งยา (แก้วกันยา) ให้เป็นพระอัครมเหสี ทั้งสองทรงมีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แบบอินทปัตถนครหรือแบบกัมพูชาสมัยพระนครมาเผยแผ่ในราชอาณาจักรล้านช้าง[11] ทรงขยายอิทธิพลเหนือดินแดนต่าง ๆ คือ ล้านนา อยุธยา (ล้านเพีย) สิบสองพันนา สิบสองจุไท เชียงตุง ศรีโคตรบูร ไดเวียด และจามปา นับตั้งแต่ตอนเหนือของกัมพูชาขึ้นไปจรดตอนใต้ของจีนและทางตะวันออกของสยามจนจรดทางตะวันตกของเวียดนามให้ยอมอ่อนน้อมและส่งราชบรรณาการพร้อมพระราชธิดามาถวาย ล้านช้างในรัชสมัยของพระองค์ได้แผ่แสนยานุภาพเหนือแว้นแคว้นต่าง ๆ ในอุษาคเนย์และถือเป็นยุคยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิหรืออาณาจักรล้านช้าง[12][13]
ปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของประองค์ประดิษฐาน ณ เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์[14] ในภาคอีสานประดิษฐาน ณ ดอนเจ้าปู่ฟ้าระงุ้ม (ดอนเมือง) วัดฟ้าระงุ้ม ตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเรียกพระนามว่าเจ้าฟ้าระงุ้มศรีสัตนาคนฮูป ในล้านนาประดิษฐานที่ศาลเจ้าฟ้างุ้มมหาราช บ้านแสนสุข ตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา[15] ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่สวรรคต ในนครหลวงพระบางตั้งชื่อถนนสายหนึ่งเพื่อระลึกถึงพระองค์ว่าถนนเจ้าฟ้างุ่ม (Chaofa ngum Rd) ส่วนศาลสถิตวิญญาณหรือหอผีของพระองค์ปรากฏกระจายทั่วไปทั้งสองฝั่งโขงโดยเรียกพระนามว่าเจ้าฟ้ามุงเมืองบ้าง เจ้าฟ้าระงุ้มบ้าง เจ้าฟ้าระงึมบ้าง[16][17]
พระราชประวัติ
แก้ประสูติ
แก้ยาหลวงโงม (โหง่ม) เสวยราชย์เป็นกษัตริย์ล้านช้างเชียงดงเชียงทองมีพระราชโอรสธิดา 9 องค์ สตรี 4 องค์ บุรุษ 5 องค์ หลังสวรรคตยาคำเฮียวพระราชโอรสองค์โตเสวยราชย์แทน ยาคำเฮียวมีพระราชโอรสธิดา 4 องค์ สตรี 2 องค์ บุรุษ 2 องค์ พระราชโอรสองค์เล็กคือพระยาฟ้างุ้มแรกประสูติมีพระทนต์ (แข้ว) ออกมา 33 เล่มแต่พระครรภ์พระราชมารดา เสนาอำมาตย์เชื่อว่าเข็ดขวงจักแพ้บ้านแพ้เมืองจึงนำพระราชกุมารใส่แพไหลน้ำจากเชียงทองไปและให้ข้อยเลี้ยงจำนวนมากมีบาคุม บากิม บาโบ บาเสียม บาจีแข้ บาลู รวมข้อยหญิงข้อยชาย 33 คนล่องแพไปด้วย ก่อนไหลแพนางยาคำเฮียวพระราชมารดาอุ้มพระราชกุมารไปถึงแพได้ร้องป่าวเทวดาพระยานาคให้รักษาอย่าให้ฉิบหายพร้อมประกาศเหตุจำเป็นที่ต้องกระทำเช่นนี้ว่า "...เสนาทั้งหลายว่าแข้วออกแต่ในท้อง 33 เหล่ม เขาว่าเป็นคนฮ้ายว่าเข็ดว่าขวงแลให้ไหลเสีย ครั้นว่าบุญลูกข้อยยังมีขออย่าให้หล่มให้จมเสีย ให้ได้มาเป็นเจ้าแผ่นดินในเชียงดงเชียงทองด้วยอันชอบโลกชอบธรรม อย่าให้ได้ด้วยหยาบช้าทารุณเทอญ..." พระนางสั่งข้อยเลี้ยงว่าหากพระราชโอรสไปถึงที่ใดให้เรียกว่าพระยาอย่าว่าเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าคำเฮียวแล้วตั้งพระนามพระราชกุมาร พระนางล่องแพไปส่งถึงเมืองขายจึงเสด็จกลับเมื่อคณะพระยาฟ้างุ้มไปถึงบ้านเมืองใดประชาชนก็ถวายข้าวให้เสวยทุกเมือง[18][19]
ประทับที่เมืองพระนครหลวง
แก้เมื่อไหลแพได้ 1 ปีก็ถึงหัวลี (หัวหลี่ผี) บริเวณนี้มีถ้ำมหาเถรเจ้าป่าสมันตั้งอยู่ในเขตเมืองหนึ่ง ข้อยเลี้ยงและชาวบ้านจึงเล่าเหตุการณ์ถวายพระมหาเถรเจ้าป่าสมัน มหาเถระมาอุ้มพระราชกุมารออกจากแพไปอยู่ด้วย ครั้นเจริญพระชนม์ 3 พรรษาจึงมาถึงท่าพระสมัน พระสมันเลี้ยงพระราชกุมาร 3 ปีพระยานครหลวงนำไปเลี้ยง 7 ปีรวม 14 ปี[20] พระยานครหลวงยกพระราชธิดาแก่พระยาฟ้างุ้มได้ 2 ปีจึงให้หมอหูฮา (โหราจารย์) ทำนายชะตาและนักขัตตฤกษ์เมืองล้านช้าง หมอทำนายว่าพระราชบิดามารดาพระยาฟ้างุ้มสวรรคตแล้วเขาเอาอาว (น้องพ่อที่เป็นชาย) เสวยราชย์ที่เชียงดงเชียงทองแทน พระยานครหลวงถามว่าหากแต่งพลให้พระยาฟ้างุ้มไปตีเชียงดงเชียงทองจะได้เสวยราชย์หรือไม่ หมอทำนายว่าอย่าว่าแต่เชียงดงเชียงทองเลย "...ยังจักได้เมืองโยทธิยาทั้งเมืองพิงเชียงใหม่ ทั้งเมืองลื้อเมืองเขิน ทั้งเมืองจุลนีแต่ฟากน้ำแม่แท้มาพี่ต่อเท่าเมืองมีฮ่านก้วนมีเสาหินสุ่มเสาน้ำเต้าแก้วพุ้นดีหลี..." แล้วทำนายต่อว่าพระยาฟ้างุ้มจะไม่สวรรคตในเชียงดงเชียงทองแต่จะสวรรคตในเมืองเบื้องตะวันตกด้วยวุฒิสวัสดี อยู่ได้ปี 1 พระยานครหลวงแต่งช้างม้ารี้พลให้พระยาฟ้างุ้มแล้วราชาภิเษกเฉลิมพระนามว่าพระยาฟ้าหล้าธรณี พร้อมแต่งหมอผาบเสิก 4 คนกับเครื่องผาบเสิก พระราชทานฆ้องไชย 4 ลูก แส่งไชย 4 ลูก จองวองไชย 4 ลูก หอกไชย 4 ดวง ขวนไชย 4 ดวง แพนไชย 4 ดวง คนรักษาเครื่องไชย 400 แก่พระองค์ โปรดฯ ให้หมอดูหาฤกษ์มื้อดียามดีเสร็จแล้วพระยาฟ้างุ้มจึงเสด็จลงจากเมืองนครหลวงพร้อมไพร่พลและนางแก้วกัญญาพระราชธิดาพระยานครหลวงสู่เชียงดงเชียงทอง[21]
พระราชอนุชา
แก้พระเจ้าฟ้างุ้มทรงมีพระราชอนุชา 5 พระองค์คือ
- ท้าวฟ้าเงี้ยว
- ท้าวฟ้ายาน (ฟ้าย่าน)
- ท้าวฟ้าคาน (คานคำ)
- ท้าวฟ้าก่ำ
- ท้าวฟ้าเขียว[22]
การสงคราม
แก้รบได้หัวเมืองแอ่งโคราช
แก้ระหว่างเสด็จยกพลเพื่อชิงนครเชียงดงเชียงทองได้มาถึงเมืองพรหมทัต (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) พระยาพรหมทัตชนช้างแพ้ทรงฆ่าพระยาพรหมทัตกับคอช้างแล้วแบ่งเมืองออกหลายส่วนโดยตั้งพระยาปางกบ (ปากกบ) พระยากุญชร พระยาคำแหง พระยาดอนแดง พระยาโสก พระยาฆ้องทอง พระยาจันทอม และพระยาอ้ายให้เสวยเมืองที่แบ่งออกพร้อมตั้งพระยาองค์หนึ่งเป็นพระยาพรหมทัตเสวยเมืองพรหมทัต ให้เมืองเหล่านี้เป็นเมืองส่วยช้าง ส่วยคำ และส่วยข้อยรวม 9 เมือง[23]
รบได้อาณาจักรศรีโคตรบูรในอีสานเหนือ
แก้จากนั้นยกโยธาขึ้นรบพระยาแปดบ่อเจ้าเมืองกระบอง (ศรีโคตรบูรหรือศรีโคตรบอง เมืองริมโขงในจังหวัดนครพนม และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว) ในอีสานเหนือและลาวกลาง พระยาแปดบ่อขี่ช้างชนไม่ทันถึงพระยาฟ้างุ้มช้างเตลิดเสีย กองทัพพระยาฟ้างุ้มยกตามจับได้แล้วประหารโดยจมน้ำที่ปากทอก พระยาแปดบ่อองค์นี้เป็นบรรพบุรุษพระยาแปดบ่อองค์ที่ 7 ซึ่งพระราชธิดากระโดดน้ำสิ้นพระชนม์แล้วนำกว้าน (แห) ดึงร่างขึ้นมาจึงได้พระหินหรือพระแปดบ่อขึ้นมาด้วย จากนั้นทรงตั้งพระราชอนุชาพระยากระบองคือพระยานันทเสนเป็นเจ้าเมืองแทน[24] โปรดฯ ให้ส่งส่วยช้าง 100 ข้อย 100 ข้อยกับช้าง 200 ส่วยคำ 2,000 ส่วยลั่วส่วยแพรลา 200 ฮำ (ม้วน) และส่วยข้อยหญิงข้อยชาย 200[25][26]
รบได้หัวเมืองลาวใต้และอาณาจักรจามปาในเวียดนามใต้
แก้ต่อมายกพลรบพระยาจำปาธิราชจนได้ชัยฆ่าตายกับคอช้างแล้วตั้งพระยาจำปาธิราชใหม่แทน (แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว) นอกจากนี้ยังตั้งพระยาจำปานคร พระยาจิม พระยาจาม พระยาดอนชัคแค (ดอนซะแค) พระยาสนัง (ข่าชะนัง)[27] พระยาชุง พระยาโสก (เมืองโสกเมืองซุงในแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว) รวม 7 เมือง โปรดฯ ให้เป็นเมืองส่วยสูด (วิสูตร) ส่วยม่าน ส่วยด้าย ส่วยไหม ส่วยคำ ส่วยช้าง ส่วยจำหงาย ส่วยข้อยทุกเมือง[28]
รบได้หัวเมืองลาวกลางฝั่งซ้าย
แก้จากนั้นเสด็จกลับยกพลมาอาณาจักรศรีโคตรบูรที่น้ำหินบูน (เมืองหินบูน แขวงคำม่วน ประเทศลาว และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม) พระยาเวียงออกมารบเห็นพลมากจึงพ่ายหนี ฝ่ายบากิมไล่ฆ่าได้จึงให้ราชอนุชาพระยาเวียงเป็นพระยาเจ็ดเจียงแทน จากนั้นตั้งพระยากว้างเสียม พระยากว้างทง (กวางท่ง) พระยาเมืองหลวง พระยาเมืองมวน (คำม่วน) พระยาวัง (เมืองวัง แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) พระยากระตาก (ข่ากะตาก) พระยาชุมพร (เมืองจำพอนแก้งกอก แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) พระยาชะโปน (ตะโปน) รวม 9 เมือง โปรดฯ ให้ส่งส่วยด้าย ส่วยไหม ส่วยผ้ากั้ง ผ้าพีดาน (เพดาน) และส่วยข้อยทุกปีในเดือน 12 และเดือน 3[29]
รบได้หัวเมืองลาวกลางฝั่งซ้ายและอีสานเหนืออีกครั้ง
แก้จากนั้นยกพลถึงปากชะดิง (ปากกะดิง เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว และจังหวัดบึงกาฬ) พระยาสามค้อมเจ้าเมืองพระน้ำรุ่งดาพล 4 หมื่น ช้าง 500 มารบ โปรดฯ ให้บาจีแข้รบชนะไล่พระยาสามค้อมมาจมน้ำที่ปากบางบาท แล้วพระยาฟ้างุ้มจึงยกพลตั้งอยู่เมืองพระน้ำรุ่งตั้งพระยาพระน้ำรุ่งแทนพระยาสามค้อม[30]
อาณาจักรเชียงขวางยอมอ่อนน้อม
แก้ชัยชนะของพระยาฟ้างุ้มลือถึงพระยาเจ็ดเจียงเจ้าเมืองพวกเชียงขวาง (พวนเซียงขวาง) พระยาจึงแต่งหมื่นหลวงพวนและหมื่นคำมาไหว้พระองค์ที่พระน้ำรุ่งความว่า "...ผู้ข้านี้หากเป็นหลานเป็นเหลนเชื้อแนวขุนบรมราชาธิราชเจ้าทั้งขุนลอแต่บุราณมาดีหลีดาย ในที่นี้แลพระยาฟ้าเจ้าแลจักผาบบ้านผาบเมืองที่ใดก็ดีข้าจักแต่งรี้พลไปส่อยไปเติมสู่แห่งสู่ที่แล..."[31] พระยาฟ้าตรัสว่า "...พี่น้องเฮายังคิดเถิงเฮาดังนั้นก็ชอบดีแล บ้านเมืองอันหลานเฮากับน้องเฮาแต่ก่อนที่ใดก็ดีให้ไว้แก่น้องเฮาเทอญ เครื่องเสิกเครื่องเวียกเครื่องเหล็กอันใดก็ดีเฮาหากจักให้มาเอาดอม อนึ่งบ้านเมืองแต่เฮาผาบได้แต่เมืองชาเมืองมวนก็ให้มาไหว้มานบแก่น้องเฮา..."[32] ชัยชนะต่ออาณาจักรพวนจึงไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่ตำนานขุนบรมบางฉบับระบุว่าทรงนำทัพสะบูหลวง (ปืนใหญ่) เข้ารบเจ้าเมืองพวนนามพระยายี่หีน (ยี่หิน) ทำให้เชื่อว่าลาวรู้จักสร้างปืนใหญ่ตั้งแต่ ค.ศ. 1352 (พ.ศ. 1895) ก่อนชาติยุโรปใน ค.ศ. 1510 (พ.ศ. 2053) หลังสงครามพระยายี่หิน 158 ปี[33]
อาณาจักรไดเวียตยอมอ่อนน้อมและปักปันเขตแดนล้านช้างทิศบูรพา
แก้เมื่อกษัตริย์พวนยอมอ่อนน้อมโดยอ้างความเป็นญาติพระยาฟ้างุ้มจึงนำพลไล่ตีเมืองพระยามีฮ้านกว้านมีเสา (เมืองของกษัตริย์ที่สร้างบ้านเรือนยกถุนสูงและมีชาน) พร้อมไล่เอาเมืองพระยาอ่างสิง (อานสิง) พระยาอ่างหนามรวม 3 เมืองมอบแก่เจ้าบัวหลวงแห่งอาณาจักรไดเวียด (แกว) ซึ่งพระชนม์น้อยกว่า เจ้าบัวหลวงตรัสถามเชื้อสายของพระองค์ทราบว่าเป็นเชื้อขุนบรมราชาธิราชสืบหลายชั่วกษัตริย์จึงเกรงเดชานุภาพยอมอ่อนน้อมแบ่งแดนเมืองแก่พระยาฟ้างุ้มว่า "...ผิว่าแหม่นเชื้อแหม่นแนวเจ้าขุนบรมขุนลอแท้ให้แต่เมืองมีฮ้านกว้านมีเสาแต่หินสามเส้าน้ำเต้าแก้ว บ้านเมืองดินดอนที่ใดก็ดีฟ้าแถนหากแต่งไว้ฝนตกน้ำใหลเมือเมืองลาวให้ไว้เขตต์แดนเมืองลาว ฝนตกน้ำไหลเมือเมืองบัวแต่ใดให้ไว้เป็นเมืองบัว..." แล้วแต่งคำสามหมื่น เงินสามแสน ไม้กำพัก (กลัมพัก) ไม้เกสสนา (กฤษณา) ลั่วแฮแพจีนจำนวนมากพระราชทานนายใช้ของพระยาฟ้างุ้มที่นำเมืองทั้ง 3 มามอบไปถวายพระยาฟ้างุ้มที่แดนเมือง จากนั้นพระยาฟ้างุ้มโปรดฯ ให้เหล่าพระยาเมืองมีฮ้านกว้านมีเสาถวายส่วยคำและส่วยลั่วแฮแพด้ายไหม[34] อาณาจักรของเจ้าบัวหลวงเดิมคืออาณาจักรตงแกงมีศูนย์กลางที่เกาจี๋หรือหยาวจี๋ (Giao-chi) อีเหมาซิน (อ้ายเมืองซัว) พระราชโอรสขุนลอ (โกะล้อฝูงหรือโก๊ะล่อฝง) ยกทัพตีได้ 2 ครั้งใน ค.ศ. 858 (พ.ศ. 1401) และ ค.ศ. 863 (พ.ศ. 1406) ราว 400 กว่าปีตกเป็นของลาวอีกครั้งสมัยพระยาฟ้างุ้ม[35]
อาณาจักรสิบสองจุไทยอมอ่อนน้อม
แก้ต่อมาทรงยกพลตั้งที่นาน้อยอ้อยหนูหรือเมืองแถนสถานที่ขุนบรมและขุนลอราชบรรพบุรุษของพระองค์ทรงประสูติ เหตุที่เรียกเมืองแถนเพราะแถนฟ้าขื่นเป็นผู้สร้างเมืองสืบมาถึงสมัยพระองค์ เมืองนี้มีบ่อเงิน บ่อคำ บ่อแก้ว บ่อทอง บ่อเหล็กทุกประการ ทรงแต่งตั้งพระยาฟ้าใสเป็นพระยาเมืองแถนนาน้อยอ้อยหนู ตั้งพระยาเมืองไชย พระยาเมืองไล (ไล่) พระยาเมืองกว้าง พระยาสามสิบพองเมืองโฮมมา พระยากางล้าน พระยาสิงหาว (สิงห้าว) พระยาเมืองหุม พระยาเมืองวาด พระยาเมืองกว้างทง (กว้างท่ง) ขึ้นเป็นเจ้าเมือง เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ฟากน้ำแท้ซึ่งเจ้าบัวหลวงยกแก่พระยาฟ้างุ้มพระองค์จึงมีอำนาจแต่งตั้งเป็นท้าวพระยาได้ พร้อมให้เจ้าเมืองเหล่านี้ส่งส่วยคำ ส่วยเงิน ส่วยข้อย ส่วยผ้ากั้ง ส่วยผ้าไหม ผ้าพีดาน เครื่องศึก ส่วยม้า อานเงิน อานคำ ลั่วแล หอกแพน แล้วใช้คนไปเล่าแก่เจ้าบัวหลวง เจ้าบัวหลวงตรัสว่า "...ให้พี่เฮาคืนเมืออยู่เชียงดงเชียงทองพุ้นเทอญ..."[36]
อาณาจักรเชียงรุ่งยอมอ่อนน้อมถวายพระราชธิดาและปักปันเขตแดนทิศอีสาน
แก้จากนั้นพระองค์นำพลข้ามน้ำอูไปเมืองบูนใต้บูนเหนือ พระยาบูนใต้พระยาบูนเหนือนำพลออกรบจนแพ้และถูกฆ่า ทรงใช้คนไปหาพระยาเชียงฮุง (เชียงรุ่ง) ว่าจะรบชนด้วยหรือไม่พระยาเชียงฮุงตรัสว่า "...เฮานี้ก็หากเป็นเชื้อเป็นแนวอันเดียวดายเฮาบ่รบบ่เลวพระยาเจ้าแล ให้พระยาเจ้าเอาเขตต์บ้านแดนเมืองแต่บ้านป่งลวงขวงเท่าเมือบูนใต้บูนเหนือพุ้นเป็นเขตต์ของเมืองล้านช้างเทอญ เฮาก็จักให้บัว (บั่วหรือปั่วคือผู้รับใช้) ให้นางแก่เจ้าฟ้าแล บัดนี้ลูกเฮายังน้อยภายหน้าจิงเอาเมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าเทอญ..." เจ้าเชียงฮุงแต่งราชบรรณาการเป็นเงินแสน ม้า 100 อานเงิน อานคำ ฮำแฮแพจีนจำนวนมากมาถวาย จากนั้นพระยาฟ้างุ้มโปรดฯ แต่งตั้งบากิมเป็นเจ้าขวาซึ่งคนเรียกขวากิม[37]
เสวยราชสมบัติ
แก้หลังชนะอาณาจักรเชียงรุ่งทรงล่องพลถึงเมืองน้อยเจ้าเมืองน้อยยอมอ่อนน้อมขอเป็นเมืองกางย่าวกางเฮือน (เมืองลูกหลวง) จึงโปรดฯ ให้เถ้าเสียงเป็นเจ้าเมืองน้อย เถ้าเสียงแต่งที่เข้าขวัญทั้งผอกผีพลีเสื้อถวายพระองค์ตามโบราณราชประเพณีทุกประการ จากนั้นล่องถึงน้ำสบอูเจ้าฟ้าคำเฮียวผู้เป็นอาว (น้องพ่อ) ของพระองค์เป็นกษัตริย์เชียงดงเชียงทองหลังพระราชบิดาของพระองค์สวรรคต เจ้าฟ้าคำเฮียวมีพระราชธิดา 2 องค์แต่ไม่มีพระราชโอรส ทรงทราบว่าพระยาฟ้างุ้มล่องถึงสบอูก็กลัวถูกสังหารจึงเสวยสาน (ยาพิษ) สวรรคตพร้อมพระอัครมเหสีเหลือแต่พระราชธิดาทั้ง 2 หลังเสนาอำมาตย์เมี้ยนคาบส่งซะกาน (ปลงพระบรมศพ) จึงพร้อมใจอัญเชิญพระยาฟ้างุ้มที่สบอูเสด็จสู่นครเชียงดงเชียงทองซึ่งเป็นเมืองแฝด[38] แล้วราชาภิเษกพระองค์กับนางแก้วเก่งกัญญาพระราชธิดาพระยานครหลวงขึ้นเป็นมหากษัตริย์และอัครมเหสี พระยาฟ้างุ้มโปรดฯ แต่งตั้งปู่เลี้ยงเป็นแสนเมือง ตาเลี้ยงเป็นหมื่นหลวง อาวเลี้ยงเป็นพูมเหนือ น้าเลี้ยงเป็นพูมใต้[39] พี่เลี้ยงเป็นพระยากระชักปกครองข้าภูทั้งหมด (ข่ากะสักหรือลาวเทิงːซึ่งอาศัยบนภูกะซักในหลวงพระบาง)[40][41][42] หากบ้านเมืองประกอบพระราชพิธีขึ้นโฮงขึ้นศาลขึ้นฟ้าขึ้นแถนก็ให้พระยากระชักขึ้นก่อน แล้วโปรดฯ สร้างโฮง (วัง) หลังหนึ่งให้พระยากระชักประทับอยู่ท้ายโฮงเชียงทอง ราชบรรณาการใดที่เมืองอื่นนำมาถวายกษัตริย์ให้พระยากระชักรับก่อน ฝ่ายพระยากระชักตกแต่งให้รามราชเป็นหมื่นราชรับแทน จากนั้นยกพลขึ้นไปอาณาจักรล้านนาทางน้ำของ (น้ำโขง) โปรดฯ ให้นางแก้วเก่งกัญญารักษานครหรือสำเร็จราชการแผ่นดินแทนเนื่องจากทรงพระครรภ์ได้ 3 เดือน เมื่อเสด็จถึงท่าหัวเฮือเมืองเลิก (เมืองเลือกหรือเมืองเหลือก) ท้าวอูลองหลานเจ้าฟ้าคำเฮียวซึ่งเป็นลูกอ้ายขี้หูดกับนางแก้วมหาฮีออกมาไหว้พระองค์ ณ ท่าสวงคอคำ พระยาอูลองตรัสว่า "...ข้อยนี้เป็นลูกนางแก้วมหาฮีแม่ข้อยนี้เป็นลูกฟ้าคำเฮียวก็หากเป็นวงศาแห่งเจ้ากูดาย..." ทรงเมตตาตอบว่า "...เมืองเลิกนี้เจ้าจงกินเทอญให้เป็นเมืองกางเฮือนกูเทอญ..." จากนั้นเสด็จถึงสบแบ่งได้ชัยเหนือลามเมืองฮุนกับลามเมืองแบ่งแล้วเสด็จตั้งอยู่สบท่าไปเอาเมืองเชียงของ คกฮำ เชียงทอง ตั้งคนผู้หนึ่งให้กินเมืองเชียงตืนรวม 4 เมืองเป็นสี่หมื่นทางน้ำให้พระยาเชียงตืนเป็นเจ้าสี่หมื่น จากนั้นเสด็จไปเอาเมืองผา เมืองพัว ภูคุบ และเมืองแหงรวม 4 เมืองเป็นสี่หมื่นทางบกให้เจ้าเมืองผาเป็นเจ้าสี่หมื่น[43]
การสงครามและเหตุการณ์หลังเสวยราชย์นครเชียงดงเชียงทอง
แก้อาณาจักรล้านนาและสิบสองพันนายอมอ่อนน้อมถวายพระราชธิดาและปักปันเขตแดนทิศเหนือและพายัพ
แก้หลังสถาปนาเมืองสี่หมื่นทางน้ำและเมืองสี่หมื่นทางบกทรงเสด็จตรวจพลที่สบท่าได้พลลาว 400,000 ยาย (เย้า) และแกว 100,000 ช้าง 500 จึงเสด็จไปเอาเมืองหินและเมืองงาว (อำเภองาว จังหวัดลำปาง) ยกพลตั้งที่คอนมูล (ดอนมูน) ของล้านนา เจ้าเมืองล้านนาคือพระยาสามผยารวมพล 400,000 เอาเมืองเชียงแสนมาขึ้นล้านนาให้เสนาชื่อแสนเมืองถือพลสู้รบ พระองค์ทรงขี่ช้างนามเชียงทองว่ายข้ามน้ำกกเข้ารบ ขวากิมชนช้างชนะแสนเมืองจึงฆ่าตายกับคอช้าง พระยาสามผยาพ่ายหนีเข้าเวียงล้านนาเชียงฮาย (เชียงราย) ทรงไล่ตามถึงเมืองแพว เมืองเลม เมืองไฮ บ้านยู เมืองยอง หัวพวง หัวฝาย จนถึงเมืองลื้อ เมืองเขิน และเมืองเชียงแข็งในสิบสองพันนาและอาณาจักรมาวหลวง (รัฐฉาน เมียนมา) พระยาสามผยาเกรงเดชานุภาพยอมอ่อนน้อมแล้วโปรดฯ ให้หมื่นกุมกาม (เจ้าเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่) หมื่นชูน หมื่นกางเมืองเชียงฮายขอส่งส่วยข้าวพันคานสัญญาว่า "...เมื่อใดลูกผู้ข้านางน้อยอ่อนสอยังใหญ่ได้ 16 ปีจักให้เมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าชะแด บัดนี้ยังน้อยขอแก่เจ้าฟ้าเอาแต่เวียงผาใดไปให้เป็นบ้านเมืองเจ้าฟ้าข้อยท่อน..." พระยาสามผยาถวายเขตแดนแก่ล้านช้างแล้วแต่งคำมาถวาย 20,000 เงิน 200,000 พร้อมแหวนนิลลูกหนึ่งชื่อยอดเชียงแสน แก้วพิฑูรย์ลูกหนึ่งชื่อยอดเชียงฮาย แหวนแดงลูกหนึ่งชื่อมณีฟ้าหลวง (ฟ้าล่วง) ถวายแก่พระองค์ และแต่งเงินคำจำนวนมากให้แก่เสนาผู้ใหญ่ของพระองค์ทุกคน[44] ซึ่งหลักฐานส่วนนี้เอกสารประวัติศาสตร์ฝ่ายล้านนาทั้งพื้นเมืองเชียงแสนและพื้นเมืองน่านละไว้ไม่กล่าวถึง[45]
เสด็จกลับนครเชียงดงเชียงทองและพระราชทานโอวาทแก่ประชาชน
แก้หลังเสร็จศึกกับล้านนาพระยาฟ้างุ้มทรงล่องพลกลับเมืองล้านช้างกวาดข้าเก่า (ข่าที่อาศัยในเมืองซวาตั้งแต่สมัยก่อนขุนลอ) ตั้งแต่หัวน้ำทาถึงเมืองกอ เมืองหลา จนแดนลื้อทุกแห่งมาไว้ในล้านช้างเหลือไว้สืบเชื้อเพียง 4 เมืองเฉพาะที่ภูคุม ภูจอมแลง ภูคางอย่างละ 20 ครัว จากนั้นพระราชทานพระราโชวาทสั่งสอนว่า "...สูอย่าบ่าอย่างานแก่ไทแก่ลาว สูอย่ายาดเอาสิ่งเอาของลาวอันใดก็ดี อนึ่งสูหากผิดกันแลว่าจักไปรบไปเลวกันก็ดีให้สูจื่อความกูสิ่งนี้ มื้อกาบ มื้อฮับ มื้อฮวย มื้อเมิง มื้อเบิก ห้ามื้อนี้ให้เป็นมื้อเสิกสูจักรบจักเลวกันก็ตามสู มื้อกัด มื้อกด มื้อฮ้วง มื้อเตา มื้อกา ห้ามื้อนี้อย่าให้สูรบเลวกัน อย่าให้หยุบเอาควายบายเอาคนกัน ผู้ใดหากบ่ฟังยังความกูสิ่งนี้ หินหน่วยนี้กูเอาแต่สบคานเชียงดงเชียงทองพุ้นมาไว้แก่สูนี้แล้วหินหน่วยนี้หนักสองพันห้าฮ้อยห้าบาท ผู้ใดหากบ่ฟังความกูอันเป็นเจ้าแผ่นดินเชียงดงเชียงทองนี้ให้สูทั้งสี่ขุนราชนี้สั่งเอาเงินท่อหินหน่วยนี้ เล่าเอาควายโตหนึ่งกินแก่สู อย่าให้กันสั่งว่าดังนี้ อย่าฮื้อฮอกคอกครัวกัน..." เสร็จแล้วโปรดฯ นำข้าเหล่านั้นล่องมาไว้บนภูบ่อนโปรดฯ ให้เชียงโปะและเชียงพาปกครอง นาน 2 ปีจึงเสด็จถึงนครเชียงดงเชียงทองพบหน้าพระราชโอรสครั้งแรกพระนามท้าวอุ่นเฮือนซึ่งภายหลังเสวยราชย์เป็นพระยาสามแสนไท รวมข้าเก่าทั้งหญิงชายน้อยใหญ่ได้มา 100,000 โปรดฯ ให้ขวากิมเป็นเจ้าเป็นล่ามแก่ข้าเหล่านั้น[46]
เผด็จศึกนครหลวงเวียงจันทน์และเวียงคำ
แก้จากนั้นทรงยกพลล่องจากเมืองชะวาโปรดฯ ให้บาโบและบาจีแข้เป็นหัวหน้าถือพลไปเมืองซาย (ด่านซ้ายหรือซายขาว) ท้าวไค (ไค้) หลานขุนเค็ดขุนคานเมืองซายถือพลออกรบจนแพ้ จึงโปรดฯ แต่งตั้งบาโบเป็นชาย (พระยาซ้าย) คนเรียกว่าว่าชายโบ (ซ้ายโบ) ต่อมาล่องไปคอแก่ง (คอแก้ง) ชายบาโบและบาจีแข้ถือพลตั้งอยู่ท่านาเหนือเขตนครหลวงเวียงจันทน์ ท้าวเชียงมุงกษัตริย์เวียงจันทน์และพระยาเภากษัตริย์เวียงคำ 2 พ่อลูกถือพล 200,000 ช้าง 500 ออกรบ ท้าวเชียงมุงทรงช้างวังบุรีสูง 8 ศอก พระยาเภาทรงช้างแสนนางคอยสูง 9 ศอก บาโบขี่ช้างแผ่วจักรวาฬและบาจีแข้ขี่ช้างขวานลวงฟ้าตั้งพลอยู่ถินจำปี ส่วนพระองค์ทรงช้างห่มเชียงทองตั้งอยู่ท่านาเหนือ ท้าวเชียงมุงแลพระยาเภาออกรบถูกลวงเข้าชนช้างบริเวณนั้นจึงเรียกว่าหนองลวง ฝ่ายบาจีแข้ชนช้างท้าวเชียงมุงชนะฆ่าตายคาหัวช้าง บาโบและขวากิมชนช้างพระยาเภาช้างพระยาเภาขาแข็งพ่ายหนีกลับเวียงคำพระองค์จึงยกพลเข้าตั้งอยู่เวียงจันทน์ โปรดฯ ให้บากิม บาเสียม บาจีแข้ถือพลตีเอาเวียงคำแต่ไม่ได้ ทั้ง 3 กลับมาเล่าถวายพระองค์ว่า "...เวียงไม้ไผ่ขัดนัก พระยาเภาบ่ออกมาชนเอายากนัก..." พระองค์เห็นว่าไม่ยากทรงใช้พระสติปัญญาให้ตีเงินตีคำทำเกียงปืนแก่ไพร่พลแล้วส่งพระราชสาส์นบอกขุนทั้ง 3 ให้คุมเวียงไว้ใช้ปืนเกียงเงินเกียงคำยิงไปในป่าไม้ไผ่ 3 วันแล้วกลับมาก่อน ขุนทั้ง 3 ทำตามแล้วกลับคืนหาพระองค์ทรงเสด็จประทับกับขุนทั้ง 3 แล้วแต่งพลรบตีเมืองแก่นท้าวถึงเมืองนครไทและเมืองขอบด่านทั้งหมดเพื่อรอเวลาตีเวียงคำ จากนั้นโปรดฯ ให้บาจีแข้เป็นหมื่นแก่ส่วนพระองค์เสด็จมาเวียงจันทน์เพื่อวางแผนตีเวียงคำ ทรงจับพระยาเภาเจ้าเมืองเวียงจันทน์สำเร็จโทษที่เชียงดงเชียงทองโดยใส่ซอง (เครื่องคุมขังชนิดหนึ่ง) มาทางบก แต่สวรรคตที่บ้านถินเมืองวังเวียงก่อนคนจึงเรียกว่าเมืองซองมาถึงปัจจุบัน ส่วนพระองค์เสด็จคืนมาเวียงจันทน์อีกครั้ง[47]
เทครัวข่าเก่าไว้ที่อีสาน
แก้เมื่อเสด็จคืนประทับเวียงจันทน์จึงโปรดฯ รวมช้างรวมพลได้ช้าง 2,000 ม้า 1,000 คน 600,000 พลเหล่านี้รวมมาตั้งแต่เมืองห้วยหลวง (จังหวัดหนองคาย) ไปถึงแดนเหนือคือเวียงผาใด (อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย) โปรดฯ ให้บาเสียมเป็นหมื่นกระบอง (เสวยเมืองศรีโคตรบูร) แล้วรวมพลตั้งแต่พระน้ำฮุงเชียงสาไปถึงทางใต้คือแดนจาม ด่านละแวก (แดนเขมร) และแดนแกวทางใต้ชื่อเมืองปากวางได้พล 400,000 ช้าง 1,000 ม้า 500 โปรดฯ ให้บากุมเป็นหมื่นจันทร์รวมพลไท (ไตและสยาม) อันเป็นเฮือนบองทองได้ 300,000 ลาว 700,000 รวมพลคนเมืองล้านช้างทั้งหมด 1,000,000 โปรดฯ ให้ขวากิมนำข้าเก่าไปเทครัวใส่กระแดฟ้าแตบนอกแดนเวียงจันทน์ 10,000 ครัว เทครัวใส่หนองหานน้อย (อุดรธานี) หนองหานหลวง (สกลนคร) ภูวานเถ้า ภูวานปาว (ทั้ง 2 เมืองอยู่ในภูพานหรือแถบน้ำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์)[48] และเชืองชาย (ไม่ทราบว่าคือที่ใด) รวมได้ 100,000 ครัว[49]
อยุธยายอมอ่อนน้อมถวายราชบรรณาการและพระราชธิดาพร้อมปักปันเขตแดนทิศประจิม
แก้หลังเทครัวข่าเก่าไว้อีสาน (ลาวฝั่งขวา) แล้วทรงยกพลไปแดนเมืองล้านเพียศรียุทธิยาด้วยพล 600,000 ช้าง 500 ไว้พลรักษาเมืองล้านช้าง 400,000 ช้าง 3,000 โปรดฯ ให้หมื่นแก่และหมื่นกระบองถือพลเป็นหัวหน้า ขวากิมเป็นปีกขวา ชายโบเป็นปีกซ้าย หมื่นจันทร์เป็นทัพหลัง ยกพลผ่านทางบัวกองจนถึงเวียงพระงาม (บึงพระงามในจังหวัดพิจิตร) จับได้เจ้าเวียงบึงพระงามเพื่อข่มขวัญอยุธยา แล้วเสด็จมาประทับเวียงฮ้อยเอ็ดประตู (จังหวัดร้อยเอ็ด) จับพระยาฮ้อยเอ็ดประตูผูกไว้ โปรดฯ ให้พลเที่ยวขับเอาท้าวพระยาทั้งหลายในแถบนั้นได้ทั้งเมืองพระสาด (อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์) พระสะเขียน พระลิง (จังหวัดลพบุรี) พระนารายณ์ นางเทียน เชขมาด (เซขะมาด) สะพังสี่แจ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ได้ทั้งพระยาจันทร์และพระยาธรรมเมืองโพนผิงแดด (ฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์) ท้าวพระยาเหล่านี้ล้วนเป็นลูกหลานพระยากูบาหางปกครองเมืองทั่วอีสานกลางและอีสานใต้ต่อแดนอยุธยาเจ้าโยทธิยาจึงเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ ทรงผูกท้าวพระยาที่จับได้ใส่คางวงเหล็กที่เมืองฮ้อยเอ็ดประตู โปรดฯ เทบ้านเทเมืองทำลายศาสนาสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าแล้วให้คนถือสาส์นไปถึงพระยาเมืองสิงอโยทธิยา (ท้าวอู่ทอง) ว่า "...จักรบหรือฮู้ว่าสิ่งใดนั้นจา..." เจ้าโยทธิยาตอบกลับโดยอ้างความเป็นญาติเช่นเดียวกับเมืองอื่นว่า "...เฮาหากเป็นพี่ (น้อง) กันมาแต่ขุนบุรมบุราณปางก่อนพุ้นมาดาย เจ้าอยากได้บ้านได้เมืองให้เอาเขตต์แดนแต่ดงสามเส้าเมือเท่าภูพระยาผ่อแลแดนเมืองนครไทยเป็นเจ้าท้อน อนึ่งลูกข้อยจักส่งอ้อยน้ำตาลสู่ปี อนึ่งลูกหญิงข้านางแก้วลอดฟ้าใหญ่มาแล้วจักส่งให้เมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล..."[50] แล้วแต่งช้างพลาย 50 ช้างพัง 50 รวม 100 คำ 20,000 เงิน 20,000 นอ 100,000 หน่วย พร้อมราชบรรณาการอื่นอย่างละ 100 ส่งถวายแด่พระองค์ อยุธยาจึงไม่ถูกทำลายและส่งราชบรรณาการถวายล้านช้างในฐานะประเทศราชตลอดมาจนเสียกรุงครั้งที่ 2[51] ต่อมาหลังพระเจ้าฟ้างุ้มสวรรคตนางแก้วลอดฟ้าถูกส่งมาอภิเษกกับพระราชโอรสคือพระเจ้าสามแสนไท ทั้ง 2 มีพระราชโอรสคือท้าวล้านคำแดง (ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าล้านคำแดง) ท้าวใส และท้าวคำเต็ม[52]
เหตุการณ์หลังอยุธยายอมอ่อนน้อม
แก้ประกอบพิธีปฐมกรรมกลุ่มเจ้าเมืองลาวฝั่งขวาและแก้ปุจฉาธรรมด้วยพระสติปัญญา
แก้หลังเอาชัยเหนืออยุธยาโดยไม่เสียเลือดเนื้อพระยาทั้งหลายที่ผูกไว้เป็นต้นว่าพระยากูบางหาง พระยาฮ้อยประตู โปรดฯ ให้ประหารทั้งหมด ฝ่ายมหาเถรเจ้าตนหนึ่งพาพลเข้ามาหาพระองค์ชั่ว 5 วาทรงทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่า "...ภันเตข้าไหว้เจ้ากู ๆ มีประโยชน์ด้วยอันใดจิงมาฮอดมาเถิงผู้ข้าในกาลบัดนี้จะ..." มหาเถรเจ้าตอบว่า "...เฮาจักมาถามปัญหานำพระยาแลเฮานี้ก็หากเป็นพ่อครูมหาปาสมันตนอันเลี้ยงพระยาใหญ่มานั้นดาย..." พระยาฟ้างุ้มเห็นดังนั้นก็ปูอาสนะแล้วอาราธนานั่งตรัสว่า "...เจ้ากูจักถามปัญหาดอมผู้ข้าสิ่งใดก็ถามไปข้อยทอน..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...อันแข้วพระยาออกมาแต่ท้องแม่สามสิบสามเหล่มนั้นยังสู่เหล่มเบานั้นจา..." ทรงตอบว่า "...หล่อนเสียหมดแล้ว..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...อันใหม่ยังออกมาแทนท่อเก่าเบาจา..." ทรงตอบว่า "...ยังออกมาทั้งสามสิบสามเหล่มดังเก่าก็ข้าแล..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...แข้วอันออกแต่ท้องมาแล้วนั้นยังเป็นคุณสิ่งใดเล่ายังเป็นโทษสิ่งใดแก่มหาราชนั้นจา..." ทรงตอบว่า "...อันยังเป็นคุณนั้นข้าว่าได้เคี้ยวกินจิงใหญ่อันนั้นข้าว่าเป็นคุณแล อนึ่งโทษนั้นคือว่าแข้วออกมาแต่ท้องคนทั้งหลายว่าเป็นขวงข้อยว่าเป็นโทษเพื่อสิ่งนั้นแล..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...แข้วอันเก่าหล่อนเสียแล้วอันใหม่ออกมาแทนยังเป็นคุณสิ่งใดเล่ายังเป็นโทษสิ่งใด..." ทรงตอบว่า "...อันเป็นคุณมีแวนหลายเพื่อข้อยได้เคี้ยวได้กิน อันเป็นโทษนั้นได้ขบลิ้นขบสบมันเจ็บมันปวดอันนั้นข้อยว่าเป็นโทษเพื่อสิ่งนั้นก็ข้าแล..." มหาเถรเจ้ากล่าวชมว่า "...มหาราชเจ้านี้ได้สร้างโพธิสมภารมากนักแลจิงแก้ปัญหาเฮาได้สิ่งนี้หั้นแล..." จากนั้นมหาเถรเจ้าจึงสั่งสอนพระยาเสนาอำมาตย์มนตรีแล้วขอชีวิตท้าวพระยาที่จองจำทั้งหมด พระยาฟ้างุ้มทรงเมตตาปล่อยกลับไปบ้านเมืองของตน มหาเถรสั่งอำลาแล้วออกไปทางป่องเอี้ยมด้วยอากาศกางหาว (เหาะออกทางหน้าต่าง)[53]
ประกอบพระราชพิธีไชยาภิเษกที่นครหลวงเวียงจันทน์และแต่งตั้งขุนนาง
แก้หลังโปรดฯ ไว้ชีวิตเจ้าเมืองฝั่งขวาทรงยกพลมาตามดาวหาง (ดาวควัน) ถึงเวียงจันทน์ ประทับตกแต่งราชการบ้านเมืองให้เหล่าเสนาอำมาตย์เป็นต้นว่าปู่เลี้ยงซึ่งเป็นแสนเมือง (เทียบเจ้ามหาอุปราช) และหมื่นกระบองเป็นใหญ่กว่าเจ้าหัวเสิกทั้ง 5 หมื่นหลวง เจ้าขวา เจ้าซ้าย พูนเหนือ (พูมเหนือ) พูนใต้ (พูมใต้) 5 ขุนให้เป็นเจ้าหัวเสิกทั้ง 5 มีหมื่นหลวงเป็นใหญ่ หมื่นหน้าและหมื่นแพนเป็นขุนราชวัตรก้ำหน้า หมื่นนาเหนือและหมื่นนาใต้เป็นราชวัตรก้ำหลัง นายหลวงเหนือรักษาคุ้มในก้ำหน้าหาถ้อยความเจ้าพูมเหนือ นายหลวงใต้รักษาคุ้มก้ำหลังหาถ้อยความเจ้าพูมใต้ ขุนทั้งหลายจะไปทำศึกให้มาไหว้สาเจ้าแผ่นดินทุกคน ตั้งหมื่นจันทร์เป็นขุนเจ้าเมืองใหญ่ ให้เจ้าเวียงคำ เจ้าเวียงแก หมื่นพระน้ำฮุง เจ้าปากห้วยหลวง เจ้าเมืองเชียงสา 5 เมืองเป็นขุนใหญ่เชื่อนเมือง (เขื่อนเมือง) เจ้าเมืองแก่นท้าว เจ้าเมืองหนองบัว เจ้าเมืองซายขวา (ซายขาว) ด่านสามหมื่นเป็นขุนใหญ่ขอบเมืองรักษาขอบเมืองล้านช้าง ท้าวพระยาทั้งหลายมีหมื่นจันทร์ หมื่นกระบอง หมื่นหลวงจึงไหว้พระองค์ว่า "...เจ้ากูไปผาบบ้านเมืองได้สู่แห่งสู่ที่แล้วบัดนี้ผู้ข้าทั้งหลายขอกระทำไชยาภิเษกแก่เจ้ากูให้มั่นให้ยืน..." หมื่นหลวงทูลดังนั้นพระองค์เห็นชอบโปรดฯ ให้หาสถานที่มงคลตั้งวัดประสักแล้วสร้างหอสรงทูลพระองค์เสด็จสรงน้ำกระทำไชยาภิเษก เลี้ยงไพร่พล 7 วัน 7 คืน ฆ่าช้างกิน 10 ตัว วัว 1,000 ควาย 2,000 รวมสังเวยสัตว์ 3,010 ที่ตั้งพิธีไชยาภิเษกคือวัดประสักเวียงจันทน์ในปัจจุบัน[54]
พระราโชวาทสำคัญหลังพระราชพิธีไชยาภิเษก
แก้หลังฉลองไชยาภิเษกถึง 7 วัน 7 คืนแล้วทรงพระราชทานพระราโชวาทสั่งสอนขุนนางตามธรรมเนียมกษัตริย์โดยละเอียดดังนี้
...เจ้าทั้งหลายฮักษาบ้านเมืองอย่าให้มีข้าลักคนโจร อนึ่งอย่าให้ฆ่าฟันกัน แหม่นว่าข่อยตนผิดก็ดี เมียตนผิดก็ดี เสนาแลลูกค้ามาผิดก็ดี ตนอย่าหลอนฆ่าฟันเสีย ให้ผู้อื่นพิจารณาดูก่อน เป็นโทษอันหนักจิงตามเหตุ มันโทษบ่อหนักอย่าได้ฆ่า ท่อว่าให้ใส่คอกขังไว้ สมโทษแล้วให้ป่อยเสียหาเวียกหาการสมบัติอันจักเกิดมาในแผ่นดินนี้ คั้นบ่มีคุณสมบัติก็จิงมี คั้นบ่มีคุณสมบัติเข้าของก็หาบได้แล เหตุเฮาบ่ให้ฆ่าคนเพื่อดังนั้นแล อนึ่งเจ้าทั้งหลายก็อย่าผิดอย่าข้องกัน ให้พร้อมกันดูขอบบ้านขอบเมืองทั้งมวล อนึ่งต่างบ้านต่างเมืองทั้งมวลเขาจักกระทำเบียดเบียฬบ้านเมืองเฮาสิ่งใดก็ให้ฮู้ให้เห็นแจ้ง อนึ่งสองเดือนให้ใซ้เมือไหว้สาหาเฮาสู่บ้านสู่เมืองให้เฮาฮู้อันฮ้ายอันดี สามปีจิงให้ตัวเจ้าทั้งหลายขึ้นเมือไหว้เฮาเมื่อฮอดเซียงดงเซียงทองพุ้นแล้ว เฮาจักได้บูซาแถนฟ้าขื่น ทั้งแถนคม แถนแต่ง แถนซั่ง แถนเถือก ทั้งเถ้าเยอ เถ้าไล แม่ย่างาม แม่มด บนทั้งเทวดาอันฮักษาผาติ่ง แลสบอู ทั้งสบเชือง แลแสนเขาคำ ทั้งสบคาน สบโฮบ สบดง ผากับแก้ ตังนาย ทั้งหลักมั่นท้ายขัน ทั้งนาไฮ่เดียว ภูเขากล้า อ้ายมาท้าวคองอยู่หนองหล่มภูเขากล้าหั้น ทั้งผาหลวง ขวางกอน ฟานเยี่ยม ทั้งก้อนฟ้าอันหมายไว้ที่เซียงดงเซียงทองนั้นเป็นควาย 36 ตัว คั้นเมือฮอดแล้วเฮาจักได้บูซาผีฟ้าผีแถนทั้งหลายฝูงนี้ และคั้นเถิงเดือนเจียงให้ขึ้นสู่บ้านสู่เมือง เดือนสามให้ฮอดเมืองซะวา คั้นผู้ใดบ่ขึ้นเฮาว่าบ่ซื่อต่อเฮาแล อันว่าให้เลี้ยงฟ้าเลี้ยงแถนปู่เจ้าฟ้าหลวงโงมหากได้สั่งเฮาไว้ให้ฮู้จักหัวใจเจ้าขุนทั้งมวลอันอยู่แผ่นดินเมืองล้านซ้างผู้ซื่อแลผู้คดจากเจ้าแผ่นดินหั้นแล ปู่เฮาเจ้าฟ้าหลวงโงมสั่งไว้สืบ ๆ มาดังนี้แล อนึ่งเจ้าทั้งหลายอย่าเอาไพร่เมือเป็นข้อย ไพร่ผิดกันเป็นอันหนักเป็นต้นว่ามีซู้สู่เมียท่านให้ไหมเอาแต่ห้าบาท เขาหากฆ่ากันตายเอาตัวมันแทนผู้หนึ่งอันตายนั้น อนึ่งไปเสิกอย่าเอาค่าหัวไพร่แต่บาทหนึ่งถึงสองบาทต่อเท่าเถิงฮ้อยก็ว่าเป็นค่าหัวแล้ว เจ้าขุนอย่าไหมไพร่กายฮ้อยขึ้นไปเทิง ผู้ใดยังไหมจักเสียหน้า ตัวมันจักเอามาใส่ต่างไพร่...[55]
จากนั้นเจ้าขุนทั้งหลายก็ออกไปกินบ้านกินเมืองของตนฝ่ายพระองค์ยกพลออกทางบกฮวดเสด็จถึงเชียงดงเชียงทองเดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ วันอังคาร มื้อกาบซะง่า นางแก้วฟ้าผู้สำเร็จราชการแทนพร้อมชาวบ้านชาวเมืองประกอบพระราชพิธีบายสีหลวง (สู่เข้าเล่าขวัญ) กระทำราชพิธีอุสาภิเษก (บรมราชาภิเษก) ให้ 2 พระองค์เป็นมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีในเชียงดงเชียงทอง ให้มีพระชนม์มั่นยืนมีพระราชโอรสธิดาสืบสายราชสมบัติไปไม่ขาดสาย[56]
เหตุแห่งการสร้างและเหตุแห่งการอัญเชิญพระบางสู่ล้านช้าง
แก้เมื่อพระยาฟ้างุ้มปราบบ้านเมืองทั้ง 10 ทิศแล้วเสด็จประทับนครเชียงดงเชียงทอง ประชาชนล้านช้างยังนับถือศาสนาเดิมคือศาสนาผีฟ้าผีแถนผีพ่อผีแม่ (ผีบรรพบุรุษ) เป็นที่พึ่ง ไม่รู้คุณพระรัตนตรัยใจหยาบกร้านหาญกล้าชอบใช้หอกดาบ นางแก้วฟ้าพระราชธิดาพระยานครหลวงตรัสกับพระราชสวามีว่า "..เมืองอันใดบ่อมีศาสนาพระเจ้าดังนี้ข้าก็อยู่บ่เป็น ข้าจักคืนเมือหาพ่อข้าชื่อเมืองพระนครหลวงพุ้นแล..." พระองค์เห็นดังนั้นตรัสว่า "...เฮาพาไปไหว้พระนครหลวงขอเอาศาสนาพระพุทธเจ้ามาเทอญ..." ทรงแต่งนายคนใช้นำคำ 30,000 เงิน 300,000 แก้วน้ำดง แก้วภูก่อ และแก้วจอมเพ็ชรเป็นราชบรรณาการถวายกษัตริย์พระนครหลวง พระยานครหลวงรำพันถึงพระราชธิดาว่าอยากให้พระพุทธศาสนาแผ่ทั่วชมพูทวีป จึงโปรดฯ พระมหาเถรปาสมันเจ้าตนพี่กับพระมหาเถรเจ้าเทพลังกาพร้อมศิษย์พระ 20 รูปไปอัญเชิญพระบางเจ้า พระบางเป็นพระพุทธรูปที่ชาวลังการวมเงินคำตั้งที่พระเจดีย์หลวงแล้วบอกพระมหาจุลนาคเถรเจ้าว่าอยากหล่อรูปพระพุทธเจ้าไว้โปรดสัตว์ เรื่องราวตำนานพระบางเจ้าเต็มด้วยปาฏิหาริย์เช่นพระแก้วมรกตซึ่งเป็นจารีตการประพันธ์วรรณกรรมคัมภีร์ทางศาสนาที่นิยมสร้างศรัทธาด้วยการผูกเรื่องกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ คือหลังพระมหาจุลนาคเถรเจ้าทราบความปรารถนาชาวลังกาจึงเข้าสมาบัติทะยานสู่ป่าหิมพานต์ไปถึงก้อนหินเสลาบาทซึ่งมีมาแต่ปฐมกัลป์ก้อนหนึ่ง มหาเถรเจ้าพบเจ้ารัสสี (ฤษี) 20 ตนมีรัสสีทองและรัสสีซาวเป็นประธานจึงกล่าวว่าชาวลังกาอยากหล่อรูปพระพุทธเจ้า เรื่องนี้ร้อนถึงบันฑุกัมพลศิลาอาสน์พระยาอินทร์ พระยาอินทร์พร้อมวิสุกรรมเทวบุตรเทวดาทั้งหลายบนชั้นฟ้าดุสิดา ยามา ตาวติงสา จาตุม (จตุมหาราชิกา) แผ่นดิน และจักรวาฬ มีพระยาอินทร์และพระมหาจุลนาคเถรเจ้าเป็นประธานพร้อมกันให้รัสสี 2 ตนนำเงินคำชาวลังกาจากพระยาลังกามารวมกันเข้ามีขนาดเท่าเม็ดข้าวฝ้างและเม็ดงา[57]
พระยาลังกานำคำ 100 นิกขะร่วมถวายเจ้ารัสสีหล่อเข้าด้วยกันแล้วอธิษฐานว่า "..คำข้านี้ให้เป็นตีนทั้งสองให้เป็นมือทั้งสองให้เป็นหัวใจพระพุทธเจ้าเทอญ..." แล้วสั่งเจ้ารัสสีทั้ง 2 ว่า "...เมื่อใดหล่อพระเจ้าแล้วเจ้ากูจงให้มหานาคเถรเจ้ามาหาผู้ข้าแด่ จักมุทธาภิเสกในเมืองลังกาพี้ให้ลือชาปรากฏทั่วทีปทั้งมวล..." เจ้ารัสสีจึงไปหาพระมหาจุลนาคเถรเจ้า มหาเถรเจ้าเป็นประธานพร้อมพระอินทร์และเทวดาทั้งหลายรวมเงินคำและทองของตนมอบแก่วิสุกรรมเทวบุตรหล่อพระบางเจ้าในเดือน 4 เพ็ง (เพ็ญ) วันอาทิตย์ ยามใกล้รุ่ง เสร็จแล้วพระมหาเถรเจ้าพร้อมพระยาอินทร์และเทวดาทั้งหลายนำไปตั้งไว้ ณ ข่วงหลวงกลางเมืองลังกาให้คนไปเฝ้าพระยาลังกา พระยาลังกาจึงนำราชสมบัติทั้งมวลมาบูชาธาตุพระพุทธเจ้า 5 องค์ ประดิษฐานธาตุเหนือไตคำ (ถาดทองคำ) ตั้งไว้หน้าพระบางเจ้าถวายราชสมบัติทั้งมวลบูชาแล้วอธิษฐานว่า "...ผิว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้จักตั้งอยู่โผดสัตว์ทั้งหลายในลังกาทีปแลชมภูทีปให้แล้วคำมักคำปรารถนาแห่งคนทั้งหลายดังนั้น จงให้ธาตุพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์นี้เสด็จเข้าในตนตัวพระพุทธเจ้าณบัดนี้เทอญ..." ธาตุพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าในพระนลาฏ ต่อมคอ กลางอุระ ฝ่าพระหัตถ์ขวา ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายอย่างละองค์ทั้ง 5 แห่งต่อหน้าพระมหาเถรเจ้า พระยาลังกา และเสนาอำมาตย์ เทวดาหมื่นโลกจักรวาฬถึงชั้นฟ้าดุสสิดาพากันสาธุการโปรยข้าวตอกดอกไม้บูชาประทูปประทีปจำนวนมาก พระยาลังกาประทับที่นั้น 7 วัน 7 คืนแล้วสร้างวิหาร ณ ข่วงหลวงเพื่อประดิษฐานพระบางพร้อมถือนิมิต 3 ประการเรียกนามพระบางดังนี้[58]
1. ข้างข่วงวิหารมีสระใหญ่ชื่อสระบางพุทธาคนทั้งหลายจึงเรียกนามพระพุทธรูปว่าพระบางเจ้า
2. ถือนิมิตครั้งนำเงินคำจากพระยาลังกามาหล่อพระบาง เหล่าเสนาชาวเมืองลังกาทั้งหลายพากันกล่าวโวหารว่า "...เอาของขาใส่บ้าง ๆ..."
3. ผู้ใดได้ไหว้บูชาพระบางแล้วความโกรธกิเลสตัณหาพยาธิในตัวก็ "...ลวดน้อยลวดบางหายเสีย..."[59] ซึ่งนิมิตข้อนี้สอดคล้องกับปรัชญาธรรมในพระพุทธศาสนามากที่สุด
พระบางเจ้าโปรดสัตว์และคนทั้งหลายในลังกา 7 ชั่วพระยาต่อมาพระมหาพุทธโฆษาจารย์เจ้าไปจารหนังสือที่ลังกา กลับถึงนครหลวงจึงเล่าถวายพระยานครหลวงว่า "...ยังมีพระบาท (พระบาง) เจ้าตนหนึ่งอยู่เมืองลังกาวิเศษนัก ย่อมให้แล้วคำมักคำปรารถนาแห่งคนทั้งหลาย องค์พระเจ้านั้นหนักสี่หมื่นสี่พันห้าฮ้อยเป็นปัญจโลหะคำทั้งเงินทั้งทองหล่อกับดอมกัน อนึ่งหากเป็นแต่ตำนานแต่ลังกามากับพระบางเจ้าแล..." พระยานครหลวงใช้ทูตเจริญสัมพันธไมตรีทำมิตรสหายกับพระยาลังกาแล้วขอธรรมไตรปิฏกทั้ง 3 กับพระบางเจ้ามาบูชาโปรดสัตว์ในนครหลวง พระยาลังกาพระราชทานธรรมไตรปิฏกทั้ง 3 มาก่อนส่วนพระบางเจ้าอัญเชิญภายหลังในเดือน 4 เพ็ง พระบางประดิษฐานโปรดสัตว์เมืองนครหลวง 7 ชั่วพระยาจึงมาอยู่เมืองล้านช้าง[60]
การอัญเชิญพระบางและไพร่พลศิลปวิทยาการกัมพูชาหลั่งไหลสู่ล้านช้าง
แก้หลังพระยาฟ้างุ้มและนางแก้วเก่งกัญญาทูลอัญเชิญพระบางจากพระยานครหลวง พระมหาปาสมันเจ้ากับพระเทพมหาลังกาเจ้าเป็นประธานได้ขึ้นมาพร้อมชาวเจ้า (พระสงฆ์) 20 ตน โปรดฯ ตกแต่งคนเป็นผู้ค้ำคง (ดูแล) รักษาพระบางเจ้า ไตรปิฎกทั้ง 3 และพระสังฆเจ้าทั้งหลายจำนวนมากขึ้นมาด้วย ได้แก่ นรสิงห์ นรเดช นรสาด 3 ท่านนี้ประกอบด้วยศาสตร์เพททั้งมวลมีโหราศาสตร์เป็นต้น นอกจากนี้มีช่างศิลป์จำนวนมากคือ ช่างสัก (สลัก) ช่างพระ ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างคำ และเครื่องหลิ้น (เครื่องเล่นศิลปะการแสดง) ทั้งมวล เช่น หนังรามเกียรติ์ ฆ้อง เม็ง คนคุมเครื่องเล่น คนคุมเครื่องเสพ[61] รวมชาวนครหลวงขึ้นมากับมหาเถรเจ้าทั้ง 2 ได้ 4 บ้าน 1,000 คน คนติดตามนรสิงห์ 1,000 นรเดช 1,000 นรสาด 1,000 แม่นมนางเก่งกัญญา 1,000 รวมหญิงชายน้อยใหญ่ 4,000 โปรดฯ ให้เมืองสายเป็นเมืองโอมนาง (สนองราชเสาวนีย์นางแก้วเก่งกัญญา) ครั้นเดินทางถึงเมืองแกแม่นมป่วยเป็นพยาธิเดินทางต่อไม่ได้จึงตั้งอยู่โคบไผ่เมืองแก เถ้าเมืองแกกับเจ้าหมื่นแกวัดเขตดินโคบไผ่ให้แม่นมกว้าง 2,000 วา ยาว 2,000 วา ให้คนติดตามแม่นมตั้งเป็นบ้านขวงเรียกว่าบ้านไผ่แม่นมสืบมา[62]
สืบหาร่องรอยพระพุทธศาสนายุคเก่าก่อนประดิษฐานพระพุทธศาสนาใหม่
แก้ต่อมา 2 เดือนขบวนพระบางเจ้ามาถึงเมืองแกพระยาฟ้างุ้มและนางแก้วเก่งกัญญาจึงแต่งรับ เจ้าหมื่นจันทร์และประชาชนอาราธนาพระสงฆ์พักที่ดอนจันทร์ (นครหลวงเวียงจันทน์) จากนั้นท้าวพระยาประชาชนไปไหว้พระบางและมหาเถรเจ้าทั้ง 2 พระมหาปาสมันเจ้าถามท้าวพระยาถึงสถานที่สำคัญของภูมิสถานบ้านเมืองเวียงจันทน์ว่าที่ใดคือปากบางไซ ปากปาสัก โพนสบก หนองจันทร์ หนองกระแด และพังหมอ (พังหม้อ) เจ้าเมืองเชียงมุงถามเถ้าเมืองเวียงจันทร์และเถ้าเมืองเชียงมุงได้ความแล้วเล่าถวายพระมหาปาสมันเจ้า มหาเถรเจ้านำตำนานล้านช้างจากเมืองนครหลวงมาตรวจอ่านดูก็ตรงตามคำเล่าจึงกล่าวว่า "...อันที่ปากปาสักหั้นเจ้ารัสสีทั้งหลายหมายหลักไม้จันทร์ไว้ในที่นี้แล อันที่สระโพนสูงเบื้องตะวันออกเล่าข้างหนองกระแดมาก้ำตะวันตกเจ้ารัสสียังเอาหลักหินอันหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมหมายไว้แต่ธาตุพระเจ้าทั้งสี่ตนพู้น เป็นต้นว่าพระกุกกุสันโท พระโกนาคม พระกัสสปเจ้ามาใส่สิงคำตัวหนึ่งอธิษฐานจิงเอาหลักหินหมายไว้ อันนี้เป็นธาตุพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ดีหลีแล ธาตุอันมาตกที่ในเมืองสุวรรณภูมิที่หลักหินเป็นเค้าแล เมื่อพระยาศรีธรรมอโศกราชให้อรหันตาเจ้าทั้งหลายเอาธาตุมาตกในเมืองอันนี้ ที่หนึ่งว่ากู่พระหางที่นี้เป็นเค้า ที่หนึ่งพระนาราย ที่หนึ่งพระสาด ที่หนึ่งพระเขียน ที่หนึ่งพระนาเทียนสองที่นี้อยู่ในเมืองขวางโลกบาน ที่หนึ่งว่าพระนม ที่หนึ่งว่าโพนผิงแดด อันที่ปากปาสักก้ำใต้อันเจ้ารัสสีใส่ธาตุอูปไม้จันทน์ไว้นั้น ธาตุพระเจ้าทั้งสี่ใส่อูปแก้วทั้งสี่ลูกจิงอธิษฐานไว้หั้นแล อันนี้เป็นธาตุพระพุทธเจ้าทั้งสี่ตนนี้แล อันว่าเมืองชะวาอันเฮาจักเมืออยู่นั้นอันนั้นตนพระโคดมเจ้าได้มาโผดสัตว์ทั้งหลายตามดังพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนพุ้นดีหลีแล ที่หนึ่งว่าผาบูนฟากน้ำของก้ำเหนือเมือวันตกเหนือคกท่อนหั้น ที่หนึ่งว่าง่อนสบโฮบเบื้องเหนือ ที่หนึ่งว่าภูเขาก้า ที่หนึ่งหลุ่มภูเขาก้าก้ำมาน้ำของเขาว่าก้อนหินหมอโล้น ที่หนึ่งหลุ่มภูเขาก้าก้ำมาวันออกไต่สบห้วยช้างย่านเท็งฝั่งน้ำคานหัวนาเข้าจ้าว อรหันตาเจ้ายังไว้ฮอยตีนสี่อันท่อว่านิ้วตีนบ่สำแดงที่ภูเขาก้าก้ำเมือน้ำคานหั้นแล ศาสนาพระพุทธเจ้าอันมาตั้งอยู่ที่เมืองชะวายังจักเป็นไปเท่าห้าพันวัสสาพุ้นดีหลีดาย..."[63] เนื้อความดังกล่าวจึงชี้ว่าพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานในล้านช้างก่อนสถาปนาอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยศรีโคตรบูรแล้ว
พระบางไม่ยอมเสด็จเพราะอ้างความประพฤติของพระเจ้าฟ้างุ้ม
แก้พระมหาปาสมันเจ้ากล่าวว่าตำนานที่อ่านให้ท้าวพระยาทั้งหลายฟังมีมาแต่ปฐมกัลป์อินทร์พรหมทั้งหลายเขียนไว้ในแผ่นหินเมืองอินทปถนคร มหาเถรเจ้าอยู่เวียงจันทน์ 3 วัน 3 คืนผู้ติดตามรักษาบางคนจึงกลับคืนพระนครหลวงโดยทางน้ำ มหาเถรเจ้าทั้ง 2 อัญเชิญพระบางเจ้ามาเวียงคำːเมืองแฝดของเวียงจันทน์[64] พระยาเวียงคำอาราธนาไว้บูชาพระบางจึงทำปาฏิหาริย์ตลอดราตรี ครั้นรุ่งเช้าจึงใช้ 8 คนหามอัญเชิญไปเมืองชวาก็หามไม่ขึ้น ใช้ 8 คนหามทุกวันก็ยกไม่ได้ด้วยหนักมาก ใช้ 16 คนหรือ 24 คนก็ยกไม่ได้อีก มหาเถรเจ้าทั้ง 2 และนายรักษาทั้ง 3 ซึ่งมาแต่นครหลวงจิงถอดสาก (จับฉลาก) ทายดูปรากฏพระบางชอบอยู่เวียงคำก่อนเพราะเล็งเห็นพระยาฟ้างุ้มประพฤติไม่อยู่ในธรรม ข่มเอาค่าไร่นาลูกหญิงลูกสาวผู้อื่น ข่มเอาภรรยาผู้อื่นมาอยู่มานอนด้วย ข่มเอาบ้านเอาเมืองผู้อื่นพร้อมฆ่าเจ้าบ้านเจ้าเมืองซึ่งจะเป็นเหตุให้ประชาชนขับพระองค์หนีจากล้านช้าง ฝ่ายนางแก้วเก่งกัญญาก็มีอายุไม่มั่นยืน พระบางเห็นเหตุเหล่านี้จึงไม่เสด็จโปรดสัตว์เมืองชวา หากอนาคตลูกหลานของพระองค์ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงดงเชียงทองประพฤติตามทำนองคลองธรรม ผู้มีบุญสมภารมาสร้างเจดีย์ใหญ่ในเชียงดงเชียงทองภายหน้าพระบางจึงจะเสด็จไป[65]
ล้านช้างคือสุวรรณภูมิ
แก้ต่อมามหาเถรเจ้าทั้ง 2 ไว้พระบางที่เวียงคำแล้วนำผู้ติดตามพร้อมนายรักษาพระบางเจ้าทั้ง 3 ขึ้นไปเมืองชวา เล่าเรื่องพระบางไม่ยอมเสด็จถวายพระยาฟ้างุ้มกับเสนาอำมาตย์แล้วนำตำนานที่มาแต่นครหลวงซึ่งกล่าวถึงสถานที่พระพุทธเจ้ามีพุทธทำนายอ่านให้ทุกคนฟังโดยประโยคสำคัญว่า "...อันว่าเมืองล้านช้างชื่อว่าสุวรรณภูมินี้ก็หากมีในตำนานพระยาอินทร์เขียนไว้ที่ก้อนหินในเมืองอินทปถนครพุ้นแล..." แล้วจึงก่อเจดีย์วิหารตามสถานที่พระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์ไว้บาทพระลักษณ์ก้ำซ้าย (รอยพระพุทธบาทข้างซ้าย) ซึ่งไม่ปรากฏนิ้วพระบาทตามตำนานนั้น[66]
พระราชโอรสธิดา
แก้พระเจ้าฟ้างุ้มมีพระราชโอรสธิดา 3 องค์ทั้งหมดประสูติแต่นางแก้วเก่งกัญญาพระราชธิดาพระยานครหลวงคือ[67]
1. ท้าวอุ่นเฮือน ต่อมาเสวยราชย์นครเชียงดงเชียงทองเป็นพระยาสามแสนไทไตรภูวนาถาธิปัตศรีสัตนาคณหุต (ครองราชย์ พ.ศ. 1914-1959) ซึ่งเป็นรัชกาลที่รุ่งเรืองเช่นเดียวกับพระราชบิดา
2. ท้าวคำกอง รับสถาปนาเป็นแสนเมือง (มหาอุปราช) สมัยท้าวอุ่นเฮือนเสวยราชย์
3. นางแก้วเกษเกษี (พระนางแก้วพิมพาหรือพระมหาเทวีอามพัน, ครองราชย์ พ.ศ. 1886-1981) พระราชธิดาองค์เดียวซึ่งต่อมาเสวยราชย์นครเชียงดงเชียงทองและกลายเป็นมหาเทวีผู้ทรงอิทธิพลต่อราชบังลังก์ล้านช้างอย่างสูงถึง 4 รัชกาล
เสด็จสวรรคต
แก้พระเจ้าฟ้างุ่มเสด็จออกจากนครหลวงพระชนม์ 21 พรรษา ใช้เวลาทำศึกปราบบ้านเมืองในอุษาคเนย์เพื่อสถาปนาจักรวรรดิหรือราชอาณาจักรล้านช้าง 4 ปี ปีที่ 5 พระชนม์ 25 พรรษาเสด็จถึงและเสวยราชย์นครเชียงดงเชียงทอง นาน 15 ปีหลังเสวยราชย์นางแก้วเก่งกัญญาสวรรคตจึงไม่ประพฤติในทำนองคลองธรรม ตัดสินความถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ข้อยคนเสนาอำมาตย์ที่มาพร้อมพระองค์แต่นครหลวงก็เลี้ยงดูเขาให้ถูกใจ แม้ทำผิดก็ไม่ตำหนิ กลับข่มเหงเสนามนตรีเก่าสมัยพระราชบิดาที่ไม่ได้ไปนครหลวงด้วย เมื่อเขาผิดน้อยก็ว่าผิดมากแล้วลงโทษ เสนาอำมาตย์ใหญ่ชาวเมืองพระสงฆ์จึงพร้อมกันขับพระองค์หนีจากเมืองเมื่อพระชนม์ 56 พรรษา เสด็จหนีทางตาดน้ำสู่เมืองน่านได้ 21 ปีสวรรคตเมื่อพระชนม์ 77 พรรษา เมื่อใกล้สวรรคตทรงอธิษฐานว่า "...ดูกกูนี้ให้ส่งเมือเมืองล้านช้างแด่..." สวรรคตแล้วพระยาน่านโปรดฯ สร้างวัดสบกระดูกถวายต่อมาเรียกวัดพระยาฟ้า พระยาน่านนำพระบรมอัฐิส่วนพระนลาฏเย็บไว้ในธงดวงหนึ่งเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเขียนข้อความที่พระองค์ตรัสสั่งไว้ในธงแล้วพระยาน่านอธิษฐานว่า ...ธุงตัวนี้แลกระดูกหน้าผากพระยาฟ้านี้ แต่ว่าบุญท่านยังจักได้เลิกศาสนาพระพุทธเจ้าเมื่อส่ำลูกส่ำหลานส่ำเหลนพุ้น จงให้ลมพัดตัดเอาธุงอันนี้เมือฮวดเมืองล้านช้างให้ลูกท่านได้สร้างเจดีย์วิหารไว้ดังท่านอธิษฐานนี้เทอญ... อธิษฐานแล้วเทวดาจึงเนรมิตลมพัดธงไปตกในดอนสูงแห่งหนึ่งต่อมาเรียกว่าดอนวาน เมื่อท้าวอุ่นเฮือนพระราชโอรสเสวยราชย์จึงอัญเชิญธงหน้าผากนั้นมาประดิษฐานที่นครเชียงดงเชียงทองสร้างเจดีย์ชื่อธาตุกู่ไตไว้สักการะ[68] จะสังเกตว่าเมืองน่านไม่ปรากฏชื่อเคยทำศึกกับพระองค์ในสมัยรวบรวมอาณาจักรล้านช้าง คงเนื่องจากความเป็นเครือญาติระหว่างนครจันทบุรี (ลาว) เมืองภูคา เมืองปัว (วรนคร) และเมืองน่าน (ลาวกาวหรือกาวลาว)[69]
ข้อแตกต่างของพระราชประวัติในหลักฐานลายลักษณ์อื่น
แก้ใบลานขุนบูรมฉบับวัดโพทะลาม บ้านม่วงเหนือ เมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี ระบุพระราชประวัติพระเจ้าฟ้างุ้มช่วงต้นว่าเมื่อท้าวผีฟ้าเจริญพระชนม์มีพระราชโอรส 6 องค์ คือฟ้าโง่มหรือฟ้างุ่มมีแข่ว (พระทนต์) ในครรภ์พระราชมารดา ฟ้าเงี้ยว ฟ้ายาน ฟ้าคานคำ ฟ้าก่ำ และฟ้าเขียว ท้าวผีฟ้าเล่นชู้กับนางนักสนมพระราชบิดาคือท้าวคำผง (พระยาคำผง) ท้าวคำผงขับขุนผีฟ้าหนีจากเมืองซวาล้านช้างส่งไปเลยหลี่ผี ท้าวฟ้าโง่มทราบว่าปู่ขับพระบิดาตนหนีจากเมืองก็หนีไปกับพระบิดาถึงเมืองอินทปัฐนครหลวง 2 พ่อลูกได้บรรทมอยู่ใต้กระดี (กุฏิ) เถรเจ้าขวับตน 1 พระกุมารฟ้าโง่มบรรทมเสียงกรนไพเราะดั่งเสียงดนตรีมหาเถรเจ้าจึงทำนายทายว่าท้าวผู้นี้จะได้เป็นท้าวพระยามีชื่อลือชาปรากฏในภายหน้า ความลือถึงพระยาแกกะราช (พระยาแกรก) ซึ่งเสวยราชย์เมืองอินทปัฐนครหลวง พระยาแกกะราชจึงนำราชกุมารฟ้าโง่มไปอุปฐากตน พระยาเห็นพระกุมารรู้หลักนักปราชญ์ดีนักจึงยกพระราชธิดาแก่พระกุมารแล้วกล่าวกับลูกเขือย (ลูกเขย) ว่า "...ดูฮาเจ้ากุมานกูพ่อจักให้เจ้าเมือเป็นพระยาในเมืองซวาล้านซ้างพุ้ร ก็หากเป็นเมืองปู่เมืองตาเจ้าแลยังจักเมือบ่จา..." พระองค์ตรัสตอบว่า "...ผิมหาราซเจ้าจักให้ผู้ข้าเมือแท้ให้ลิพนมหุรลโยทาแก่ผู้ข้าก็จักเมือแล..." พระยาแกกะราชจึงแต่งพลช้างม้าแก่เจ้าฟ้าโง่มขึ้นมาเมืองติโคดตบอง ทรงใช้คนไปหาพระยาติโคดตบองว่าให้พระยาสารนคอรเจ้าเมืองแต่งรี้พลให้พระองค์ โดยชี้แจงว่าพระองค์เป็นเชื้อท้าวพระยาสืบราชวงศ์มาแต่เมืองล้านซ้าง หากอาว (พระยาสารนคร) พร้อมด้วยพระองค์ก็ดีไป หากไม้พร้อมด้วยก็ให้รบกัน[70]
พงษาวดารล้านช้าง (ตามถ้อยคำในฉบับเดิม) บริเฉทที่ 2 ระบุพระราชประวัติเป็นเนื้อความสั้น ๆ ว่าท้าวผีฟ้าเล่นชู้กับนางคำนันสนมพระราชบิดาคือพระยาคำผง จึงถูกขับหนีจากเขตเมืองลาวทั้งหมดเป็นเหตุให้ท้าวผีฟ้าไม่ได้เป็นกษัตริย์แทนพระราชบิดา สันนิษฐานว่าพระเจ้าฟ้างุ้มพระโอรสท้าวผีฟ้าคงถูกขับพร้อมพระราชบิดา พระเจ้าฟ้างุ้มทรงประสูติในปีฮวายสี จ.ศ. 678 ในปีก่าใซ้ จ.ศ. 715 พระชนม์ 37 พรรษาจึงเสวยราชย์เป็นกษัตริย์นครเชียงดงเชียงทองแทนพระราชอัยกา ครั้งเสวยราชย์ 3 ปี ใน จ.ศ. 718 ทรงประสูติพระราชโอรสพระนามว่าท้าวอุ่นเฮือน (อุ่นเรือน) หมอดูทำนายว่าพระราชโอรสจะเอาชนะพระองค์จึงโปรดฯ ให้ฝูงข้อยเลี้ยงนำไปไหลน้ำตามคำพยากรณ์ แต่ปรากฏช่อธงกั้นกางราชกุมารไปจึงมีคนนำเรื่องไปเล่าแก่หอหลวง หอหลวงให้นำพระราชกุมารมาเลี้ยงไว้ในเรือน ครั้นพระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์ 4 ปีก็กระทำผิดทุจริตละธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่พระมหาเถระเจ้าปาสมันต์ผู้เป็นอาจารย์ซึ่งมาจากพระนครหลวงเคยสั่งสอน เสนาอำมาตย์พร้อมกันขับพระองค์หนีจากเมืองลาวในปีก่าเป้า ทรงเสด็จไปประทับอยู่กับพระยาคำที่เมืองน่านและเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์ 58 พรรษาในปีกาบยี่ จ.ศ. 736 ณ เมืองน่าน เมื่อท้าวอุ่นเฮือนพระราชโอรสพระชนม์ 17 พรรษาก็ราชาภิเศกเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าฟ้างุ้มพระราชบิดา[71]
ส่วนพงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุนระบุต่างไปว่า จ.ศ. 678 ปีเถาะ อัฐศก พระยาสุวรรณคำผงพระราชอัยกาของพระเจ้าฟ้างุ้มเสวยราชย์เป็นกษัตริย์เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างฮ่มขาว ทรงมีพระราชโอรสพระนามขุนยักษ์ฟ้าซึ่งทำชู้กับภรรยาตนจึงถูกไล่ออกจากบ้านเมือง ขุนยักษ์ฟ้าพาภรรยากับพระโอรสคือท้าวฟ้างุ้มไปประทับที่เมืองอินทปัตนคร ท้าวฟ้างุ้มได้นางคำยักษ์พระราชธิดาพระยาศรีจุลราชเจ้าเมืองอินทปัตนครเป็นภรรยา ต่อมาเจ้าเมืองอินทปัตนครให้ท้าวฟ้างุ้มเกณฑ์ทัพยกไปเมืองศรีสัตนาคนหุตฯ ฝ่ายท้าวคำย่อ (คำยอ) พระราชโอรสเจ้าเมืองพวนซึ่งทำชู้กับภรรยาพระราชบิดาเกรงพระราชบิดาประหารจึงหนีมาพึ่งท้าวฟ้างุ้มแล้วขอกองทัพไปตีเมืองพวนโดยสัญญาว่าหากตีได้จะยอมเป็นเมืองขึ้น ท้าวฟ้างุ้มยกทัพตีเมืองพวนโดยยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบกันจนทัพเมืองพวนแพ้แตกกระจาย ทรงตั้งท้าวคำย่อเป็นพระยาคำย่อเจ้าเมืองพวนแล้วร่วมกันยกทัพกลับมาเมืองศรีสัตนาคนหุตฯ แต่งคนถือหนังสือถึงพระยาสุวรรณคำผงพระราชอัยกาว่าจะขอราชสมบัติ พระยาสุวรรณคำผงเกณฑ์ทัพออกรบแต่สู้ทัพพระราชนัดดาไม่ได้จึงผูกพระศอสวรรคตท้าวฟ้างุ้มจึงได้เสวยราชย์แทนเป็นพระยาฟ้างุ้ม หัวเมืองใดขัดแข็งทรงยกทัพไปตีเป็นเมืองขึ้นได้หลายเมือง ฝ่ายเมืองไผ่หนามปลูกก่อไผ่เป็นระเนียดยิงปืนเท่าใดก็ทำลายไม่ได้ พระยาฟ้างุ้มให้ทหารทำกระสุนปืนด้วยทองคำยิงเข้าไปในเมืองแล้วเลิกทัพกลับ ราษฎรเมืองไผ่หนามก็พากันถางกอไผ่เก็บกระสุนส่วนพระองค์ยกทัพกลับเข้าตีอีกครั้งก็ไม่แพ้ชนะจนเจ้าเมืองไผ่หนามยอมเป็นทางไมตรี พระองค์จึงเฉลิมพระนามพระยาเภาเจ้าเมืองไผ่หนามเป็นพระยาเวียงคำตามเหตุที่ทำกระสุนปืนทองคำยิงเข้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองอินทปัตนครให้พระยาฟ้างุ้มบุตรเขยเสด็จไปเมืองอินทปัตนครแล้วพระราชทานโอวาทไม่ให้ยกทัพเที่ยวตีนานาประเทศ โปรดฯ ให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมพร้อมรับเบญจศีลในพระวิหารพระบางแล้วยกเขตแดนเมืองอินทปัตนครตั้งแต่หลี่ผี (ลี่ผี) ถึงเมืองศรีสัตนาคนหุตฯ แก่พระยาฟ้างุ้ม พระยาฟ้างุ้มขออัญเชิญพระบางไปประดิษฐานที่เมืองศรีสัตนาคนหุตฯ ครั้นอัญเชิญถึงเมืองเวียงคำพระยาเวียงคำขอพระบางไว้สักการบูชาส่วนพระองค์พาไพร่พลขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุตฯ พระยาฟ้างุ้มมีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามท้าวอุ่นเฮือน ภายหลังพระองค์ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ธรรมข่มเหงภรรยาท้าวพระยามาเป็นภรรยาตน ท้าวพระยาพร้อมกันขับไล่ออกจากเมืองทรงเสด็จหนีไปพึ่งพระยาคำตันที่เมืองน่าน รวมเวลาครองราชย์ 41 พรรษา พระชนม์ได้ 70 พรรษาทรงสวรรคต ณ เมืองน่าน ต่อมา จ.ศ. 735 ปีชวด เบญจศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวอุ่นเฮือนพระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์แทนเฉลิมพระนามว่าพระยาสามแสนไทยไตรภูวนารถธิบดีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างฮ่มขาว[72]
พระราชประวัติเชิงความเชื่อทางศาสนาในคัมภีร์อุรังคธาตุ
แก้เรื่องราวของพระยาฟ้างุ้มในใบลานไม่เพียงชี้ว่าทรงเป็นวีรบุรุษในตำนาน[73] แต่ยังเป็นวีรบุรุษที่มีตัวตนจริงซึ่งพระนามปรากฏในจารึกดังตัวอย่างจารึกเขาสุมนกูฏราว พ.ศ. 1911[74] คัมภีร์อุรังคธาตุระบุพระราชประวัติพระยาฟ้างุ้มต่างจากจารึกและเอกสารทั่วไป คงเพื่ออ้างความชอบธรรมในการครองราชย์และในฐานะองค์ศาสนูปถัมภก เนื้อความปรากฏในพุทธทำนายว่าถิตะกุนปิฤษีอยู่ป่าหิมพานต์มีอายุ 2 กัป ได้พาพระยา 2 องค์ซึ่งปกครองเมืองกุลุนทนครไปบวชเป็นฤษีคืออมรฤษีและโยธิกฤษี พระยาสุมิตตธัมมะวงศากษัตริย์มรุกขนครจุติแล้วเกิดในเมืองพาราณสีบวชเป็นฤษีอาศัยที่เดียวกับอมรฤษีและโยธิกฤษี จากนั้นไปตั้งเมืองที่ดอยนันทกังฮีชื่อเมืองศรีสัตนาคเพราะมีนาค 7 หัวเป็นนิมิต แต่นั้นพระพุทธศาสนาก็ตั้งมั่นอยู่ในเมืองศรีสัตนาคสืบมา อมรฤษีจุติเกิดใหม่เป็นกุมารแล้วนำลูกแมวไปไหลน้ำทิ้งจนตาย เวรกรรมนั้นได้สนองกุมารเมื่อจุติแล้วเกิดในเมืองศรีสัตนาคเป็นพระยาฟ้างุ้มหรือพระยาทุกขตะไหลน้ำ ครั้นกุมารเจริญพระชนม์จึงถูกไหลน้ำเหมือนลูกแมวจนไปถึงที่อยู่มหาเถรโดยมีพวกเทวดาเฝ้ารักษา มหาเถรนำกุมารมาเลี้ยงจนโตและสั่งสอน ฝ่ายกุมารให้คำสัตย์ต่อมหาเถรว่าจะตั้งอยู่ในคำสอน เมื่อเจริญพระชนม์กุมารกลายเป็นผู้มีความรู้ความฉลาดมากจึงมารบเอาบ้านน้อยเมืองใหญ่แล้วตั้งเป็นบ้านเมืองใหญ่โต จากนั้นตั้งพระพุทธศาสนาในดอยนันทกังฮีศรีสัตนาค พระยาทุกขตะมีความปรารถนาเป็นพุทธบิดาในอนาคตแต่มักประพฤติในทางมิจฉาจาร ครั้นสิ้นบุญแล้วเพราะมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวจึงจุติเกิดในเมืองพาราณสีออกบวชเป็นฤษีนามทุกขตะฤษีอาศัยอยู่ในที่เดิม[75][76] พระยาฟ้างุ้มในชาติอมรฤษีเคยสร้างบารมีร่วมกับโยธิกฤษี พระยาสุมิตธัมมะวงศาเมืองมรุกขนคร พระยาปุตตจุลณีพรหมทัตเมืองจุลณีพรหมทัต พระยาจุลอินทปัฐนครเมืองอินทปัฐนคร พร้อมพระอรหันต์ทั้ง 5 โดยร่วมนำอูบมุงหินยอดภูเพ็กมาสถาปนาพระอุรังคธาตุที่ภูกำพร้าแล้วอธิษฐานเป็นพุทธบิดาบวชในพระพุทธศาสนาให้สำเร็จพระอรหันต์ ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง 5 เป็นผู้อวยพรให้สมคำอธิษฐาน[77][78][79] หลังพระยาฟ้างุ้มจุติเกิดเป็นทุกขตะฤษีแล้วอุรังคธาตุนิทานยังระบุต่อไปว่าทรงเกิดเป็นกษัตริย์ล้านช้างอีก 2 ชาติ ฤษี 2 ชาติ คือพระยาสารโพธิ์ (พระเจ้าโพธิสาลราช) สารโพธิ์ฤษี พระยาวงศา (พระวรวงศา) และวงศาฤษีตามลำดับ[80]
สถาปนาพระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์แบบพระนครในล้านช้าง
แก้คัมภีร์พื้นพระบาง ฉบับหอสมุดแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ ระบุว่าพระยาฟ้างุ้ม (ฟ้างู่ม) แรกประสูติมีพระทนต์แต่ในครรภ์พระมารดา 33 เล่ม (ซี่) เสนาอำมาตราชมนตรีเห็นเป็นคนเข็ดขวาง (กาลี) จึงใส่แพไหลน้ำไปถึงท่ามหาปาสมันตเจ้า พระมหาปาสมันตเถระเจ้าถามเหตุการณ์แจ้งแล้วจึงนำคณะพระยาฟ้างุ้มมาอยู่ด้วย ต่อมาพระยาอินถปัตนครหลวงทราบข่าวว่ามหาเถระได้พระราชโอรสกษัตริย์เชียงดงเซียงทองมาเลี้ยงจึงให้คนมาขอเป็นพระราชโอรส เมื่อพระราชกุมารเจริญพระชนม์ 16 พรรษาพระยาอินถปัตนครหลวงยกพระราชธิดาพระนามนางแก้วลอดฟ้าให้เป็นพระชายา ต่อมาโปรดฯ ยกพลให้พระยาฟ้างุ้มมาเสวยราชย์เชียงดงเชียงทอง พระยาฟ้างุ้มเฉลิมพระนามพระอัครมเหสีเป็นนางเทพาตนวิชิตมหิทธิปติราชาเทวี ศรีอินทปัตราชบุตรี จากนั้นเสด็จตีบ้านน้อยเมืองใหญ่แล้วกลับมาเสวยราชย์เชียงดงเชียงทองศาสนาในล้านช้างเจริญรุ่งเรืองไปทุกแห่ง ถัดนั้น 2 พระองค์ส่งคนไปขอพระพุทธศาสนาจากพระราชบิดาที่นครหลวงขึ้นมาประดิษฐานในล้านช้าง พระยาอินถปัตนครหลวงโปรดฯ ให้พระมหาปาสมันต์ 2 พี่น้องคือพระบางเจ้ากับพระมหาปาสมันตเถระเจ้าผู้เลี้ยงพระยาฟ้างุ้มขึ้นมาด้วย ทั้ง 2 เป็นเชื้อชาติอินถปัตนครหลวง โปรดฯ ให้พระมหาพลังกาเจ้าตนพี่ พระมหาเทพลังกาเจ้า และพระมหานมปันยาเจ้าขึ้นมาด้วย ทั้ง 3 เป็นเชื้อชาติลังกา พร้อมจัวเณร 4 ตน พระราชทานพระไตรปิฎกทั้ง 3 พระพุทธรูปพระบางเจ้าซึ่งได้มาแต่ลังกา พระมหาเถระเจ้าทั้ง 4 รู้หลักนักปราชญ์และไตรปิฎกทั้ง 3 จบศาสตราเภทนอกพระพุทธศาสนาคือดูชะตาและโหราศาสตร์ทั้งมวล โปรดฯ ให้คนจำนวนมากติดตามมหาเถระขึ้นมา ได้แก่ ญาติมหาเถระทั้ง 5 มีนายสารนครพวก 1 อาจารย์สุเมธาพวก 1 นายสุเพพวก 1 นายราหุนพวก 1 นายโพทาพวก 1 รวม 500 ครัว นอกจากนี้มีไพร่พลที่โปรดฯ ให้ติดตามมากับนางแก้วลอดฟ้าคือ นรสิงพวก 1 นรสานพวก 1 นรนรายพวก 1 นรเดดพวก 1 ทั้ง 4 รู้หลักนักปราชญ์จบเภทศาสตร์ศิลป์ พร้อมโปรดฯ ให้ช่างศิลป์จำนวนมากขึ้นมาด้วยมีช่างควัด (แกะสลัก) ช่างลาย ช่างแต้ม ช่างเขียน ช่างหล่อพระพุทรูปเจ้าองค์ล้าน องค์แสน ช่างเหล่านี้จบเภททั้งมวลและมีญาติพี่น้องตามมาถึง 1,000 คน คนเหล่านี้ตามมากับนรสิง นรสาน นรราย นรเดด และแม่นมนางแก้วลอดฟ้า ล้วนเป็นคนหลวงที่พระยาอินถปัตนครหลวงให้ตามมาโอมนางแก้วลอดฟ้า ครั้นมหาเถระทั้ง 5 เดินทางถึงเวียงคำนำไพร่พลขึ้นทางบกค้างแรม 7 วันถึงนครหลวงเวียงจันทน์เวลาค่ำ ส่วนพระบางเจ้าอัญเชิญไม่ได้เพราะยกไม่ขึ้นจึงถอดสากเสี่ยงทายได้ความว่าพระบางเจ้าจะอยู่เวียงคำก่อน ครั้นไหว้ลาพระบางเจ้าแล้วพระมหาปาสมันตเถระเจ้านำไพร่พลขึ้นบกเดินทางถึงภูมิ่งเมือง พระยาฟ้างุ้มกับนางแก้วลอดฟ้าเสด็จต้อนรับนิมนต์ประทับที่นาข้าวเจ้า พระมหาปาสมันตเถระเจ้าจึงนำตำนานจากเมืองอินถปัตนครหลวงอ่านให้พระยาฟ้างุ้มพร้อมมหาเสนาฟ้าและคนทั้งหลายฟังว่า[81]
...เมืองซาวล้านซ้างนี้แต่เจ้ารสีมาขอดหลักสีมาไว้เบื้องเหนือเอาภูซ้างนั้นเป็นนิมิตร ก้ำตาวันออกเอาภูซองเป็นนิมิตร ท่ำกลางเมืองเอาภูเขาก้าเป็นนิมิตร ก้ำทักขิณเอาภูซ้างเป็นนิมิตรจิ่งได้ซื่อว่าเมืองล้านซ้าง อันซื่อว่าเมืองลาวนี้คนทั้งหลายอันมาเป็นเจ้าเมืองแต่ก่อนนั้นออกในหมากน้ำเต้าปูงมาเป็นท้าวเป็นพระยา อันเขาว่าท้าวขุนลอนั้นจิ่งได้ซื่อว่าลาวเมื่อนั้นมา อันว่าลาวนั้นบาซีอะถะแปว่าหมากน้ำเต้าปูงหรืออูเสียพ่อนั้นหากเป็นว่าลาว อันว่าคนทั้งหลายอันเกิดในหมากน้ำเต้าปูงนั้นด้วยอะถะว่า ทะระถัง ละวะติติ ลาภุโย วันนิถะโรโล อันว่าหมากเคือไม้อันใด ละวะติลุนาติ ก็ตั้งเสีย ทะระถัง ยังอันฮ้อน อิติตัสมา ตังวันลิถะลัง อันว่าหมากเคือไม้อันนั้น ลาวุ ยังซาติติ ลาวุ โอโย สัดตะนิกาโย อันว่าหมู่สัดตัวใด จายะติ ก็เกิด ลาวุ ยังในน้ำเต้าปูง อิติตัสมา โส สันนิติกาโย อันว่าสัตว์ตัวนั้น ลาพุโซนามมะ ซื่อว่าได้หมู่คนอันเกิดอยู่ในน้ำเต้าปูงนั้น อันนี้ซื่อว่าเมืองซวานี้เป็นเหตุซาติเมือง อันได้ซื่อว่าสุวัณณะภูมีเพื่อว่าพื้นแผ่นดินเขตแดนเมืองอันนั้นมีคำมีเงินมีแก้วมีเหล็กมีทองมีกั่วมีซืนมีน้ำปลามากหนัก จิ่งได้ซื่อว่าเมืองซวาด้วยอะถะว่า ซายะติ เอถาระ เถติ ซื่อว่า สุวัณณาทิวะถัง อันว่าวัตถุอันมีคำเป็นต้น ซาติยาติ ก็เกิดมี เอตะระเถ ในเมืองที่นี้ อิติตัสมา ตังระถัง อันว่าที่นั้น ซานามมะ ซื่อว่า อะทิคะระ สาดใดเมืองอันนี้ตำนาน...[82]
เสร็จแล้วพระสังฆเจ้าทั้งหลายจึงถามถึงภูมิสถานตั้งพระพุทธศาสนาในล้านช้างว่าพูมมะระ พูนางกางลี กกท่อน และเซียงงามอยู่ที่ใด เหล่าท้าวพระยาผู้รู้คือหมอเซียงแพง หมอเสนาเขาคำ หมอเซียงแก้ว หมอหลวง และหมอน้ำเที่ยง เล่าแก่พระสังฆเจ้าทั้งมวลฟัง พระสังฆเจ้าถามอีกว่าเซียงเหล็ก เซียงทอง เซียงหมอก ผาตัดแก่ ผาตั้งนาย สบน้ำดง สบน้ำโฮบ และง่อนโฮบเบื้องเหนืออยู่ที่ใด พระยาฟ้างุ้มก็ตรัสตอบ พระมหาปาสมันตเถระเจ้ากล่าวว่าพระพุทธเจ้าเคยประทับปาทลักขณะ (รอยพระพุทธบาท) ที่ง่อนสบโฮบเบื้องเหนือ พระอรหันตเจ้า 4 ตนก็เคยไว้ฮอยตีน (รอยเท้า) 4 รอยที่หัวภูเขาก้า ล้วนตรงตามตำนานที่มาแต่นครหลวงทุกประการ พระมหาเถระจึงตรัสขออนุญาตตั้งพระพุทธศาสนาแก่พระยาฟ้างุ้ม พระองค์ตรัสพระราชานุญาตว่า
...ขงเขตดงล้านซ้างทั้งมวลที่ใดก็ดีเป็นที่ตั้งศาสนา ให้เจ้ากูตั้งศาสนาในแผ่นดินเมืองล้านซ้างนี้ก็ข้าเทอญ อันหนึ่งไม้จีงไม้ป้องทั้งมวลที่ใดก็ดีเป็นที่ควรให้เจ้ากูเอาเท่าวันเทอญ เท่าเว้นไว้แต่สวนอุทิยานทั้งมวลนั้นและไม้มิ่งบ้านมิ่งเมืองที่ใดก็ดีอย่าได้เอา ล้ำกว่านั้นให้เจ้ากูเอาเทอญ อันหนึ่งคนผู้ใดก็ดี อาถะหยา ผู้ข้าก็ดี ผิดราชเทวีก็ดี ผิดเสนาอามาตย์ก็ดี ผิดราชเทวีก็ดี ควรจักฆ่านั้นเขาส่องมาเกินเขตแก้วทั้งสามในขงเขตเจ้ากู ผู้ข้าขออภัยซีวิตเขาทั้งมวลก็ข้านั้น...[83]
จากนั้นพระมหาปาสมันตเถระเจ้านำเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายเป็นต้นว่านรสิง นรสาน นรนราย นรเดด มาตั้งที่ง่อนสบโฮบทิศเหนือที่ต่ำอันประดิษฐานรอยพระพุทธบาทส่วนคนโอมนางแก้วลอดฟ้ามอบให้อยู่กับพระนางทั้งหมด พระมหาเถระไปตั้งอยู่ง่อนสบโฮบ 6 วัน ในเดือน 2 ขึ้น 3 ค่ำ วัน 7 จ.ศ. 725 พระสงฆ์พี่น้องจึงเอาหน่อมหาโพธิ์ลังกา (ลูกมหาโพธิสัตว์เจ้าเซื้อลังกา) ปลูกในที่จะตั้งมหาวิหารเจดีย์ก่อนในเดือน 4 ขึ้น 9 ค่ำ วัน 6 พระยาฟ้างุ้มกับนางราชเทวีเสนาอามาตราชมนตรีเศรษฐีพ่อค้าชาวเมืองอยู่บูชาหน่อพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน 7 คืน ครั้นเดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ วัน 1 จ.ศ. 726 จึงก่อมหาเจดีย์ใกล้ที่ปลูกไม้มหาโพธิ์พระมหาปาสมันตเถระเจ้านำพระบรมสารีริกธาตุข้อมือเบื้องขวาและแก้วมณีโชติที่พระยาอินถปัตนครหลวงพระราชทานพระยาฟ้างุ้มสถาปนาไว้ในมหาเจดีย์ นาน 2 ปี 3 วัน จึงสร้างวัดแก้วเสร็จปีเดียว นางแก้วลอดฟ้านำแก้วมรกตส่วนพระองค์ที่ติดพระองค์มาแต่นครหลวงลูกหนึ่งสถาปนาในพระอุระพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าองค์หลวง ถวายทานอุปการะพระรัตนตรัยที่นั้นจำนวนมาก โปรดฯ สละข้อยพระ (ข้าพระ) กับจังหัน 20 คน ทานดินทานบ้านให้ข้าพระ ทานข้อยเสพฆ้องกลอง 5 ครัว ข้อยแต่งกวาดแผ้ว ข้อยรักษาข้าวบูชาพระพุทธเจ้า ข้อยเผิ้ง ข้อยเทียนบูชาข้าวพระ 5 ครัวฟ้า โปรดฯ แม่นมที่มาพร้อมพระมหาปาสมันตเถระเจ้ากับข้อยคนแห่งตนที่มาถึงนครเชียงทองให้อยู่เมืองแก้วหรือโคบไพ่ แดนเมืองนั้นเจ้าหมื่นแก่ได้ถวายดินแก่แม่นมนางแก้วลอดฟ้ากว้าง 1,000 วา ยาว 2,000 พันวา ให้ทำนากินและมาไหว้พระยาฟ้างุ้มกับนางแก้วลอดฟ้า พระยาฟ้างุ้มเห็นว่าเจ้าหมื่นแกให้ดินเป็นบ้านเป็นนาแก่แม่นมชอบควรแล้วจึงพระราชทานบ้านที่ดินแก่พวกแม่นม ข้อยคน และวัดแก้วต่อมาเรียกว่าบ้านไผ่แม่นมและวัดแก้วสืบมา พระพุทธศาสนางก็รุ่งเรืองบ้านเมืองก็กว้างขวางผู้ใดมาเป็นกษัตริย์ก็ให้ทานบ้านทานคนแก่วัดแก้วและให้อาจารย์สิทธิพระพรแก่พระมหาสามีเจ้าเป็นธรรมเนียมสืบมา[84]
เขตแดนลาวหลังสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง
แก้หลังพระเจ้าฟ้างุ้มปักปันเขตแดนแกวที่ภูไม้ล้มแบ่งแดนแกว (สายภูหลวง) จึงยกพลตีเมืองฝ่ายเหนือในเขตสิบสองจุไทและสิบสองพันนาลื้อได้คือ เมืองแถน เมืองไซ เมืองไล่ เมืองกว้าง เมืองโฮม เมืองกางล้าน เมืองสิงห้าว เมืองหุม เมืองวาด ให้เจ้าเมืองถวายราชบรรณาการแล้วเสด็จตีเมืองบูนใต้ เมืองบูนเหนือได้อาณาจักรเชียงรุ่ง เจ้าฟ้าคำเฮียวผู้เป็นอาวทราบข่าวว่าพระองค์ยกทัพตั้งที่ปากน้ำอูจึงเกณฑ์พลออกรบพ่าย 3 ครั้งจึงละอายไพร่เมืองตัดสินพระทัยเสวยง้วนสาร (ยาพิษ) พร้อมพระมเหสีสวรรคต เสนาอำมาตย์ราชมนตรีพร้อมกันอัญเชิญพระเจ้าฟ้างุ้มเสวยราชย์นครเชียงทองในปีมะเส็ง จ.ศ. 715 (ค.ศ. 1353, พ.ศ. 1896) เฉลิมพระนามพระยาฟ้าหล้าธรณีศรีศัตนาคนหุต ส่วนหัวเมืองลาวอีสานแต่หนองหานถึงเมืองร้อยเอ็ดเดิมขึ้นกับเขมร ครั้นสุโขทัยหมดอำนาจพระเจ้าอู่ทองตั้งอยุธยาขึ้นใน ค.ศ. 1350 (พ.ศ. 1893) ก่อนพระเจ้าฟ้างุ่มเสวยราชย์ 3 ปี พระเจ้าฟ้างุ่มจึงลงไปตีเอาเมืองร้อยเอ็ดและเมืองอื่น ๆ ที่เคยขึ้นต่อเขมร หลังครองราชย์ 1 ปีทรงมอบราชการเมืองให้พระนางแก้วเก็งยาส่วนพระองค์ยกพลตีเมืองเชียงแสนทางเรือโดยพายเรือทวนน้ำโขงขึ้นถึงท่าหัวเรือเมืองเหลือกยอมอ่อนน้อม แล้วเสด็จไปเมืองปากแบ่งจับล่ามเมืองลุนและเจ้าเมืองปากแบ่งได้ เสด็จประทับที่ปากทาตีเอาเมืองเซียง เมืองผา เมืองพัว เมืองพูคูน เมืองแหงได้ตั้ง 4 เมืองนี้เป็นเมือง 4 หมื่นทางบก ทรงประทับอยู่เมืองปากทาทรงทำบัญชีชายฉกรรจ์ในเขตที่ตีได้แล้วยกไปตีได้เมืองหิน เมืองงาว เสด็จประทับอยู่เมืองดอนมูนแขวงเมืองเชียงราย ไล่ตีเจ้าสามพระยา (ผายู) กษัตริย์ล้านนาไปถึงเมืองแพว เมืองเล็ม เมืองไร่ บ้านยู เมืองยวง เมืองพวง หัวฝาย ถึงเมืองเชียงแข็ง เจ้าสามพระยาพ่ายยอมอ่อนน้อมส่งส่วยข้าวเปลือกปีละ 1,000 หาบ ล้านนาและบางส่วนของรัฐฉานจึงตกเป็นเมืองส่วย[85] ทรงปักปันเขตแดนล้านนาตั้งแต่ผาไดลงมาเป็นของล้านช้างแล้วจึงยกทัพกลับ พร้อมสั่งให้กวาดพวกขอมเก่าที่หัวน้ำทา เมืองหล้า เมืองกอ ถึงแดนลื้อ (เชียงรุ่ง) 100,000 คนมาไว้แดนนครเชียงทอง เหลือไว้พูคูน พูจอมแจ้ง และพูคาอย่างละ 20 ครัว สงครามกับหัวเมืองเหนือใช้เวลา 2 ปีจึงเสด็จกลับนครเชียงทอง
ต่อมาพระมเหสีประสูติพระราชโอรสพระนามท้าวอุ่นเมือง ค.ศ. 1356 (พ.ศ. 1898) เสด็จทรงยกทัพตีเวียงจันทน์ได้ คราวเสด็จตีเมืองร้อยเอ็ดทรงหยุดประทับเลี้ยงพลที่เวียงจันทน์แล้วกำหนดตีเอาประเทศล้านเพีย (อยุธยา) โดยยกจากเวียงจันทน์ไปทางบึงพระงาม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพิจิตร) ตีได้เวียงบึงพระงามแล้วยกเข้าตีเมืองร้อยเอ็ดและเมืองเล็กเมืองน้อยได้หลายเมือคือเมืองพะสาด เมืองพะสะเขียน เมืองพะลิง เมืองพระนาราย เมืองพะนาเทียน เมืองเซซะนาด (เมืองเหล่านี้คงอยู่แถบร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) เมืองสะพังสี่แจหรือเมืองสระสี่แจ่ง (คงเป็นเมืองสี่เหลี่ยมในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[86] เมืองโพนพิงแดดหรือเมืองโพนผึ่งแดด (คงเป็นเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์) จับเหล่าเจ้าเมืองเหล่านี้มาขังที่ร้อยเอ็ด ต่อมาโปรดฯ ส่งพระราชสารถึงพระรามาธิบดีอู่ทองเจ้าเมืองล้านเพีย (อยุธยา) ว่าจักรบหรือไม่ พระรามาธิบดีอู่ทองเกรงกลัวพระเดชานุภาพตอบพระราชสารยอมอ่อนน้อมถวายราชบรรณาการว่า ...เฮาหากเป็นพี่น้องกันมาตั้งแต่ขุนบรมปางก่อนพุ้นดาย เจ้าอยากได้บ้านได้เมืองให้เอาแต่เขตแดนดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) เมือเท้าภูพะยาผ่อและแดนเมืองนครไทยเป็นเจ้าถ้อน อันหนึ่งข้อยจักส่งน้ำอ้อยน้ำตาลซู่ปี อันหนึ่งลูกหญิงข้าซื่อนางแก้วยอดฟ้าใหญ่มาแล้วจักส่งเมือให้ปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล… ดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ปัจจุบันคือดงพญาเย็นเขตแดนเมืองโคราชกับสระบุรี ภูพญาผ่อ (พญาฝ่อ) และแดนเมืองนครไทยคือเทือกเขาเพชรบูรณ์เส้นแบ่งภาคอีสานกับภาคเหนือและภาคกลางซึ่งลาวเรียกว่าเขาแดนลาว พระเจ้าฟ้างุ้มเมตตาสงสารไม่เสด็จตีอยุธยาเพราะอ้างความเป็นญาติ ต่อมาพระองค์จะทำพิธีปฐมกรรมประหารชีวิตเจ้าเมืองที่จับได้ทั้งหมดเพื่อฉลองชัยปราบดาภิเษกพระมหาปาสมันตเถระเจ้าผู้พระอาจารย์จึงขอบิณฑบาตชีวิตไว้ พระองค์โปรดฯ อภัยโทษปล่อยไปครองเมืองตามเดิมจากนั้นยกทัพกลับเวียงจันทน์[87][88]
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของพระเจ้าฟ้างุ้ม | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ ภาษาอังกฤษเขียนพระนามเต็ม Somdetch Brhat-Anya Great Goose Fights Ladhuraniya Sri Sadhana Kanayudha Maharaja Brhat Rajadharana Sri Chudhana Negara (เขียนตามเสียงภาษาอังกฤษในภาษาลาวเป็น ສົມເດັດພຣະບາດອັນຍາຟ້າລັດທຸຣັນຍາສຣີສັດຕະນາຄະນະຍຸດທາມະຫາຣາຊ ພຣະບາດຣາຊະທໍຣະນາສຣີສັດຕະນະນະຄອນ) ดูรายละเอียดใน Stuart-Fox, Martin, The Lao Goose-Category of Hatching Season Xang: Rise and Decline, (N.p.: White Lotus Press (White Lotus Co Ltd (1900)), 1998), 234 p. ISBN 974-8434-33-8.
- ↑ ภัทรสิริวุฒิ, พระครู (วิทยา สิริภทฺโท, เที่ยงธรรม), "พระพุทธศาสนากับสังคมล้านช้าง", ปัญญาปณิธาน (Pañña Panithan Journal) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559): 53. อ้างใน กรมศิลปากร, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1, (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2515).
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม, ตำนานพระบาง, ปริวรรตและเรียบเรียงโดย สุนันท์ คำลุน, (สกลนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศักดิ์การพิมพ์, 2563), หน้า 34-35.
- ↑ ยศ สันตสมบัติ และคณะ, นิเวศวิทยาชาติพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพ และสิทธิชุมชน, (เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, 2547), หน้า 278.
- ↑ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, " "วีรชน" ลาว: กรณีศึกษาผ่านงานเขียนประเภทชีวประวัติช่วง ค.ศ. 1986-2010", มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์. ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2554): 132-133.
- ↑ ดูรายละเอียดใน อนินทร์ พุฒิโชติ, "จากวีรชนปฏิวัติสู่การเชิดชูวีรกษัตริย์: ศึกษากรณีการเชิดชูเจ้าฟ้างุ่มของรัฐบาลสังคมนิยมลาวในช่วงหลังทศวรรษ 1990", สังคมลุ่มนํ้าโขง (Journal of Mekong Societies). ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2557): 1-24.
- ↑ มหาราชองค์แรกของลาวสมัยก่อนสถาปนาล้านช้างคือขุนบรมราชาธิราช เติม สิงหัษฐิต, ฝั่งขวาแม่น้ำโขง เล่ม 1 (ตำนานการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานกับเหตุการณ์ ร.ศ. 112), (พระนคร: คลังวิทยา, 2499), หน้า 24.
- ↑ พระนามท้าวผีฟ้าเป็นของเจ้าเมืองศรีโสธรปุระพระราชบิดานางเสืองมารดาขุนรามคำแหง (พระยาร่วง) เจ้าเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าผีฟ้าอาจหมายถึงพระราชบิดาของพระยาฟ้างุ้มหรืออาจหมายถึงกษัตริย์นครหลวงหรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชบิดาเลี้ยงและพ่อเขยของพระยาฟ้างุ้มซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ หากผีฟ้าแห่งศรีโสธรปุระหมายถึงพระราชบิดา เจ้าฟ้างุ้มอาจมีสายเลือดเดียวกับขุนรามคำแหง ไพโรจน์ โพธิ์ไทร, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ภาษาไทยสมัยสุโขทัย, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2530), หน้า 129.
- ↑ พรหมคุณาภรณ์, พระ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2555), หน้า 28.
- ↑ ธิดา สาระยา, เมืองศรีสัชชนาลัย: ชุดเมืองประวัติศาสตร์, (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2537), หน้า 70.
- ↑ พรหมคุณาภรณ์, พระ (ป.อ. ปยุตฺโต), กาลานุกรมพระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก (Chronology of Buddhism in World Civilization), พิมพ์ครั้งที่ 3, (นครปฐม: วัดญาณเวศกวัน, 2552), หน้า 120.
- ↑ ดูรายละเอียดใน บุนมี เทบสีเมือง, ความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม 1: การตั้งถิ่นฐานและการสถาปนาอาณาจักร (The Lao Race Volume 1: The home land and establishing of the Kingdoms), แปลโดย ไผท ภูธา, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, สนพ. และตถาตา พับลิเคชั่น, บจก), 328 หน้า. ISBN 9786161400408.
- ↑ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคณะ, อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง (รวมบทปาฐกถาจากการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10), (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2557), หน้า 92.
- ↑ ไมสิง จันบุดดี, "อนุสาวรีย์: ภาพสะท้อนด้านอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ การเมืองและความสัมพันธ์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว", ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559): 84.
- ↑ นิรันต์ บุญแก้ว (บรรณาธิการ), (20 ธันวาคม 2562). "สัมพันธ์ ไทย-สปป.ลาว: นักท่องเที่ยวจากแขวงไชยะบุลีเดินทางกราบสักการะศาลเจ้าฟ้าโง้ม (เจ้าฟ้างุ้ม) กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างในอดีต ซึ่งสวรรคตที่ อ.ปง จ.พะเยา", ข่าวภาคเหนือตอนบน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา และสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://region3.prd.go.th/topic/news/255 เก็บถาวร 2019-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [5 มกราคม 2564].
- ↑ ศุกชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ, โครงการสารคดี ลาวตอนล่าง สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะปือ ห้าแขวงลาวตอนล่าง: เล่มที่ 9 ของ 5 Area studies project เอกสารวิชาชุด "โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค", (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545), หน้า 600.
- ↑ สุรัตน์ วรางค์รัตน์, การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ. สกลนคร: Eco-Tourism in Sakonnakhon, (สกลนคร: โครงการศูนย์รวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร, 2541), หน้า 5.
- ↑ ดูรายละเอียดใน "นิทานเรื่องขุนบรมราชา (ต่อ)", ใน คุรุสภาลาดพร้าว, ประชุมพงศาวดาร เล่ม 44 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 (ต่อ)-71) เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์ (ต่อ) พงศาวดารละแวก, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512 (1969)), 252 หน้า.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484), หน้า 91.
- ↑ เมืองนครหลวงนี้นักวิชาการประวัติศาสตร์ลาวเห็นพร้องกันว่าคือเขมรพระนคร ดูรายละเอียดใน กำพล จำปาพันธ์, นาคยุดครุฑ: "ลาว" การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ), (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558), หน้า 20. และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พูทอง แสงอาคม, ซาดลาว คนลาว อดีตและปัจจุบัน, (เวียงจันทน์: โรงพิมพ์นครหลวง, 2000 (2543))., สิลา วีระวงส์, มหา, พงสาวะดานลาว แต่บูรานเถิง 1946, (เวียงจันทน์: หอสมุดแห่งชาติ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม, 2001 (2544)). และ ดวงไซ หลวงพะสี, คู่มือพงสาวะดานลาว คนลาว แผ่นดินของลาว, (เวียงจันทน์: โรงพิมพ์ดวงมา, 2006 (2549)).
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 92.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1, (2457). "พงษาวดารล้านช้าง (ตามถ้อยคำในฉบับเดิม) บริเฉทที่ 2: คัดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2457", วิกิซอร์ซ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B[ลิงก์เสีย] [29 พฤษภาคม 2563].
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 93.
- ↑ ชื่อคล้ายพระยานันทเสนผู้ร่วมสร้างพระธาตุพนมพระราชอนุชาพระยาศรีโคตรบอง แต่เชื่อว่าเป็นคนละองค์และต่างสมัยกัน ดวงไซ หลวงพะสี, อาณาจักรสีโคดตะบอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (เวียงจันทน์: โรงพิมพ์แห่งรัฐ, 1996 (2539)), หน้า 12.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 93.
- ↑ ผู้สร้างอาณาจักรศรีโคตรบูรเป็นพวกนาค (นาก) หรือลาวจากเมืองหนองแส คำเพาพอนแก้ว, ประวัติศาสตร์ลาวโดยย่อ: ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย คำเพา พอนแก้ว เนื่องในโอกาสงานเฉลิมฉลองวันสร้างตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นนครหลวงของอาณาจักรลาวล้านช้างครบรอบ 450 ปี (1560-2010) บทสอนปี 1997 ที่สถาบันการเมืองและการปกครอง, ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 3, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์สีสะหวาด, 2014 (2557)) หน้า 26-27.
- ↑ สนัง ชะนัง ซะนัง อาจเกี่ยวข้องกับเผ่าสะดางเลียบชายแดนลาว-เวียดนามในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงอัตตะปือ หรืออาจสัมพันธ์กับเมืองกะพงชะนังในกัมพูชา ดูรายละเอียดใน สินไซแก้ว มะนีวง และคณะ, "ชนเผ่าสะดาง", ใน บรรดาชนเผ่าใน สปป ลาว (The Ethnics Groups in Lao P.D.R.) จัดพิมพ์โดยกรมชนเผ่า ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ สนับสนุนโดยกองทุนแคนาดาพื่อการพัฒนา, ตรวจแก้และเรียบเรียงโดยสินไซ แก้วมะนีวง และสอน้อยจันสุกมาลา แสงยะสิด, แปลภาษาลาวเป็นภาษาอังกฤษโดย Eric Devidson, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์มันทาตุลาด, 2005 (2548)), หน้า 99-100. และ องค์การค้าของคุรุสภา, "พงศาวดารเขมร" ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 1 (ประชุมพงศาวดาร ภาค 1 ตอนต้น), (ม.ป.ท.: ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2506), หน้า 289.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 93-94.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 94.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
- ↑ ที่ตรัสเช่นนี้เพราะขุนบรมราชาธิราชบรรพบุรุษของพระเจ้าฟ้างุ้มส่งพระราชโอรสคือขุนเจ็ดเจืองซึ่งเป็นบรรพบรุษของพระยาเจ็ดเจียงมาสร้างเมืองพวน ไม่ปรากฏนาม, บรรพบุรุษลาว, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 1992 (2535)), หน้า 17. (อัดสำเนา)
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 95
- ↑ พอรเพ็ชร์ เพ็ชร์เวียงแก้ว, ตำนานพระบาง (ตำนาล พระบาง พ. เพ็ชเวียงแก้ว), (Rochester, NY, USA: ลาวเสรีชน, 1993 (2536)), หน้า คำนำ จ.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 95.
- ↑ คำผุย สีสวัสดี, ประวัติศาสตร์ลาวบางตอนเกี่ยวกับพระเจ้าฟ้างุ่มมหาราชในสมัยการท้อนโฮมอาณาจักร์พวน การปักปันเขตแดนระหว่งลาวกับเวียดนาม รวมทั้งความสัมพันธ์ลาว ไทย์ และเวียดนามในสมัยศตวรรษที่ 19 และ 20: เพื่อระนึกเถิงคุณงามความดีและวีกรรมอันประเสริฐของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมฉลองอนุสาวรีย์พระเจ้าฟ้างุ่มมหาราชที่สร้างอยู่เวียงจันทน์ 2003, (นครปอร์ดแลนด์: สมาชิกสภาแห่งชาติลาวและสถาบันวิชากฎหมายและการปกครองปี 1974, 2003 (2546)), หน้า 396.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 95-96.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 96.
- ↑ จิรนันท์ พิตรปรีชา, หลวงพระบาง: หัวใจของล้านช้าง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2542), หน้า 72.
- ↑ ตำแหน่งแสนเมือง หมื่นหลวง พูมเหนือ พูมใต้ คงถูกเปลี่ยนแปลงหรือปรับรูปแบบไปหลังรัชกาลพระเจ้าโพธิสาลราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2063-2090) หรือพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2181-2238) ดูรายละเอียดใน สำลิด บัวสีะหวัด, คัมภีร์พระธรรมศาสตร์หลวง กฎหมายบูฮาณลาว, (เวียงจันทน์: มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่น, 1993 (2536)) หน้า 28-35.
- ↑ สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง), ประวัติศาสตร์ลาว (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ), แปลเป็นภาษาไทยโดย สมหมาย เปรมจิตต์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), 2539), หน้า 129.
- ↑ สิลา วีระวงส์, มหา, "กะซัก", ใน วัจนานุกรมภาษาลาวของคณะกรรมการวรรณคดี พุทธศักราช 2503 พระราชอาณาจักรลาว, (เวียงจันทน์: โรงพิมพ์กองแบบเรียนแห่งกระทรวงศึกษาธิการ, 2503), หน้า 3.
- ↑ สุธิดา ตันเลิศ, "ข่า: ทาสในมณฑลลาวตะวันออกและมณฑลลาวตะวันออกเฉียงเหนือระหว่าง ค.ศ. 1779-1904", วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2555): 235.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 96-98.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 98-99.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล, ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ, ประวัติศาสตร์ล้านนา (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม), พิมพ์ครั้งที่ 11, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558), หน้า 239.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 99-100.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 100-101.
- ↑ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545), หน้า 40-41.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484,หน้า 101.
- ↑ เหตุที่เจ้าโยทธิยา (อู่ทอง) อ้างความเป็นญาติเพราะขุนบรมราชาธิราชบรรพบุรุษของพระเจ้าฟ้างุ้มเคยส่งพระราชโอรสนามขุนงัวอิน (งั่วอิน) มาสร้างและปกครองอยุธยา เจ้าโยทธิยาคงเป็นเชื้อสายขุนงั่วอินจึงอ้างต่อพระเจ้าฟ้างุ้มเช่นนั้น พอนเพ็ด เพ็ดเวียงแก้ว, ตับพงศาวดารลาว, พิมพ์ครั้งที่ 4, (Rochester, NY, USA: ลาวเสรีชน, 1994 (2537)), หน้า 30.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 102.
- ↑ หอสมุดภาควิชาภาษาลาว-วรรณคดี, ประวัติศาสตร์ไทลาว, (ม.ป.ท.: หอสมุดภาควิชาภาษาลาว-วรรณคดี, ม.ป.ป.), หน้า 91.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 102-103.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 103-104.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 105-106.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 106.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 106-107.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 107-109.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 109.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 109-110.
- ↑ เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, ดนตรีลาวเดิม, (ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551), หน้า 20.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 110.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 110-112.
- ↑ กรวรรณ ชีวสันต์ และธิตินัดดา จินาจันทร์, ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา-ล้านช้าง: การศึกษาเปรียบเทียบประเพณี 12 เดือน, (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546), หน้า 70.
- ↑ กรมศิลปากร, "เรื่องขุนบรม: นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, หน้า 112-113.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 113.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 113.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 113-115.
- ↑ ราชสมภาร, แสนหลวง, (2461). "ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 10 เรื่อง ราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านยังให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง: พิมพ์ครั้งแรก ในงานปลงศพ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ปีมะเมีย พ.ศ. 2461 พิมพ์ที่โรงโสภณพิพรรฒธนากร กรุงเทพฯ พระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ฯ พระเจ้านครน่าน ปจ. ปม. ทช. พ.ศ. 2374-2461", วิกิซอร์ซ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B[ลิงก์เสีย] [4 มิถุนายน 2563]. ดูรายละเอียดใน ชยานันทมุนี, พระ (ประวิทย์ ตันตลานุกุล) (รวบรวม เรียบเรียงและแปล), พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับวัดพระธาตุแช่แห้ง), พิมพ์ครั้งที่ 2, (เชียงใหม่: โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2014 (2557)), 50 หน้า. ISBN 978-616-321-900-8 และ โบราณคดีสโมสรและกรมศิลปากร, ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 10 เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน, (กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, 2461).
- ↑ คัมภีร์ใบลานเรื่อง ขุนบูรม. วัดโพทะลาม บ้านม่วงเหนือ เมืองปากลาย แขวงไชยบุรี ประเทศลาว. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) PLMP 08031512014_13. 16 ใบ 32 หน้า. หมวดนิทานชาวบ้าน. ผูก 1 ใบ 14 หน้า 28 บรรทัด 3-4, ใบ 15 หน้า 29 บรรทัด 1-4, หน้า 30 บรรทัด 1-4.
- ↑ ประชากิจกรจักร, พระยา (แช่ม บุนนาค), พงศาวดารล้านช้าง: คณะข้าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ ร่วมฉันทกัน พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ ปริก วิเศษภักดี มารดาหลวงรัตนสมบัติ วันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2473, พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร: โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, 2473), หน้า 18-19.
- ↑ "พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน", ใน ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (บรรณาธิการ), ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 5 พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร) รว. มสม. ทวจ. นช. วปร.3 สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ ปีมเสง นพศก พ.ศ. 2460 (หน้า. ก-ด, 232-278), (กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2460), หน้า 234-236.
- ↑ นาตยา กรณีกิจ, "พงศาวดารลาวฉบับมหาสิลา วีระวงส์ ในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติลาว", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา), (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544), หน้า 47.
- ↑ ศิลปากร, กรม, ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548), หน้า 87.
- ↑ อุดร จันทวัน, นิทานอุรังคธาตุ (ฉบับลาว): อุดร จันทวัน ปริวรรตจากอักษรลาว, จัดพิมพ์เผยแพร่โดย วิทยาลัยสงฆ์เลย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (ขอนแก่น: หจก. โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, 2547), หน้า 15-16.
- ↑ พจนีย์ เพ็งเปลี่ยน, นิทานอุรังคธาตุฉบับหลวงพระบาง, (กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2543), หน้า 47.
- ↑ พระครูพุทธวงศ์ และคณะ (คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือในงานฌาปนกิจศพ), หนังสือนิทานอุรังคะทาต: พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานเนื่องในพิธีฌาปนกิจศพอดีตสังฆนายกแห่งพระราชอาณาจักรลาว (พระลูกแก้ว คูน มะนีวงส์) วันที่ 9 กุมภา ค.ศ. 1969 กงกับเดือน 3 แรม 7 ค่ำ ปีระกา พุทธศักราช 2512, (หนองคาย: อักษรสัมพันธ์การพิมพ์, 2512), หน้า 94-96.
- ↑ ธรรมราชานุวัตร, พระ (แก้ว อุทุมมาลา) (รวบรวมและเรียบเรียง), อุรังคนิทาน: ตำนานพระธาตุพนม (พิศดาร), บันทึกท้ายเล่มต่อโดย ธรรมชีวะ (ดร.พระมหาสม สุมโน), พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: นีลนาราการพิมพ์, 2537), หน้า 112-115
- ↑ ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์, อุรังคธาตุ จ.ศ. 1167 (พ.ศ. 2348): เอกสารวิชาการลำดับที่ 28 กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, (มหาสารคาม: หจก. อภิชาติการพิมพ์, 2561), หน้า 211-213.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ, ศรีศักร วัลลิโภดม และพิเศษ เจียจันทร์พงศ์, "ภาคผนวกที่ 7 อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)", ใน หนังสือคู่มือครูสังคมศึกษา รายวิชา ส 021 หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533), (กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2533), หน้า 155.
- ↑ กระทรวงศึกษาธิการ ศิลปากร กีฬาและยุวชน, พื้นพระบาง, ตรวจแก้โดย หอสมุดแห่งชาติ, (เวียงจันทน์: หอสมุดแห่งชาติ, 1969 (2512)), หน้า 1-3.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 4.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-6.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 6-8.
- ↑ ศิลา วีระวงศ์, มหา (เรียบเรียง), พงศาวดานลาว, (เวียงจันทน์: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี, 2496), หน้า 38-42.
- ↑ ขัติยวงษา, พระยา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), (กรุงเทพฯ: ศรีหงส์, 2432), หน้า 8.
- ↑ สมคิด สิงสง, "พรมแดนลาวสมัยเจ้าฟ้างุ่ม", ทางอีศาน. ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 (เมษายน 2556). อ้างใน สมคิด สิงสง, (2 กันยายน 2562). "พรมแดนลาวสมัยเจ้าฟ้างุ่ม", ทางอีศาน: ศิลปวัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ คอลัมน์เดินทวนหนทาง (Back to the Root) [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://e-shann.com/2595/%E0%B8%9E [29 พฤษภาคม 2563].
- ↑ อู่คำ พมวงสา, ความเป็นมาของลาว, พิมพ์ครั้งที่ 3, (เวียงจันทน์: สำนักงานหนังสือพิมพ์ชาติลาว, 2509), หน้า 76-88.