สงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321

สงครามเวียงจันทน์ หรือ สงครามสยามตีเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรธนบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในสมัยของพระเจ้าสิริบุญสาร ผลของสงครามครั้งนี้ ทำให้อาณาจักรลาวล้านช้างทั้งสามได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ตกเป็นเมืองขึ้นประเทศราชของสยามอาณาจักรธนบุรีและสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา

สงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321

น้ำเงิน หมายถึง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์.
แดง หมายถึง สยามและพันธมิตร
วันที่ธันวาคม พ.ศ. 2321 - มีนาคม พ.ศ. 2322
สถานที่
ผล สยามได้รับชัยชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ เป็นเมืองขึ้นประเทศราชของสยาม
คู่สงคราม
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
กรุงธนบุรี
อาณาจักรหลวงพระบาง
อาณาจักรกัมพูชา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าสิริบุญสาร
เจ้านันทเสน
พระยาสุโพ
เจ้าองค์หลวงไชยกุมาร
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา)
พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ)
พระยาเพชรบูรณ์ (ปลี)
พระเจ้าสุริยวงศ์
พระรามราชาฯนักองค์โนน
กำลัง
30,000 คน 33,000 คน

เหตุการณ์นำ แก้

ความขัดแย้งระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง แก้

หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ปัญหาความขัดแย้งการแย่งชิงราชสมบัติภายในทำให้อาณาจักรล้างช้างแตกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในพ.ศ. 2306 พม่าภายใต้ราชวงศ์คองบองยกทัพเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนา เปิดโอกาสให้พม่าแผ่ขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรลาวล้านช้าง พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ได้ขอให้พม่ายกทัพเข้ารุกรานหลวงพระบาง[1] โปสุพลาเนเมียวสหบดีแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองหลวงพระบางในพ.ศ. 2308 พระเจ้าโชติกะแห่งหลวงพระบางป้องกันเมืองหลวงพระบาง แต่ไม่สามารถต้านทานพม่าได้จนสุดท้ายยอมจำนนต่อพม่า พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าตัดศีรษะเชลยชาวลาวหลวงพระบางจำนวนมาก กองเข้าเป็นเนินสูง[2]สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวลาวหลวงพระบาง พระเจ้าโชติกะจึงจำยอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นประเทศราชของพม่า ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารอ่อนน้อมยอมให้เวียงจันทน์เป็นประเทศของพม่าแต่โดยดี เป็นเหตุให้อาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์ตกกลายเป็นประเทศราชของพม่านับแต่นั้น นอกจากนี้ พระเจ้าโชติกะแห่งหลวงพระบางจำต้องยกธิดาให้แก่พระเจ้ามังระและพม่ายังคุมเจ้าสุริยวงศ์พระอนุชาของพระเจ้าโชติกะไว้เป็นองค์ประกัน

เมื่อได้หลวงพระบางและเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นแล้ว ฝ่ายแม่ทัพพม่าเนเมียวสีหบดีจึงยกทัพลงไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310

พระตาพระวอ แก้

 
อนุเสาวรีย์พระตาและพระวอในเมือง หนองบัวลำภู

ในพ.ศ. 2310 พระตาและพระวอ สองพี่น้องขุนนางเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระเจ้าสิริบุญสารให้ได้ราชสมบัติ[1][3] เกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารเนื่องด้วยพระเจ้าสิริบุญสารไม่ตั้งพระตาให้เป็นอุปฮาด[1][3] พระตาและพระวอจึงออกมาตั้งเมืองใหม่คือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานหรือเมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบัน และประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสารส่งทัพมาตีเมืองนครเขื่อนขันธ์แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าสิริบุญสารสู้รบกับพระตาพระวอเป็นเวลากว่าสามปียังไม่สามารถปราบพระตาพระวอได้ พระเจ้าสิริบุญสารจึงขอความช่วยเหลือจากพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ให่ช่วยยกทัพไปปราบกบฏของพระตาพระวอ

ฝ่ายพระตาพระวอขอความช่วยเหลือจากพม่าในพ.ศ. 2314 ฝ่ายพม่าส่งแม่ทัพพม่าแมละแง[3]ยกมาช่วยพระตาพระวอ แต่ทว่าพระเจ้าสิริบุญสารเจรจากับแม่ทัพพม่า แม่ทัพพม่าจึงหันมาช่วยฝ่ายเวียงจันทน์แทน[1] พระตาพระวอเผชิญกับทัพของเวียงจันทน์ซึ่งมีพม่ามาสมทบ และทัพจากนครราชสีมา จึงพ่ายแพ้พระตาสิ้นชีวิตในที่รบ ในขณะที่เจ้าพระวอหลบหนียังดอนมดแดง ขอพึ่งโพธิสมภารของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักรจำปาศักดิ์เป็นที่พึ่ง ในเวลานั้นพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารเกิดความขัดแย้งกับพระอนุชาคือเจ้าอุปราชธรรมเทโว พระเจ้าองค์หลวงจึงเสด็จจากจำปาศักดิ์มาประทับที่ดอนมดแดง[4] ในพ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารส่งเพี้ยอรรคฮาดยกทัพมาตามตัวพระวอ แต่เจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ห้ามไว้ ฝ่ายเวียงจันทน์จึงยินยอมให้เจ้าพระวออาศัยอยู่ในอาณาจักรจำปาศักดิ์ระยะหนึ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีและเวียงจันทน์ แก้

 
บูรณะพระธาตุหลวง

พระเจ้าสิริบุญสารมีราชสาสน์มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี "ดั่งข้ากะบถในขอบขันธเสมากรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เกิดขัดสนซอกทางมิได้ขาด ถึงเมือเจ้าพญานครราชสิมาก็ได้เข้าชดช่วยกทำการช่วยเอาราชพร้อมกันฟาดตีเสีย ยังข้ากบถฝูงนั้น กจึ่งปราไชยไปยังต้งงอยู่ดอนมดแดง"[5]

ในพ.ศ. 2314 เจ้าสุริยวงศ์ได้ขึ้นครองราชสมบัติหลวงพระบาง พระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางมีความโกรธแค้น[1]ต่อพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ จึงยกทัพจากหลวงพระบางเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์ในพ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารขอความช่วยเหลือจากพม่าที่เชียงใหม่ให้ช่วยยกทัพมาโจมตีเมืองหลวงพระบาง และพระเจ้าสิริบุญสารยังทูลพระเจ้าอังวะคือพระเจ้ามังระว่า ฝ่ายสยามแม้ว่าจะกรุงศรีอยุธยาแตกสลายพ่ายแพ้ให้แก่พม่านั้น กลับตั้งตัวฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกภายใต้การนำของพระยาตากและตั้งราชธานีใหม่ที่บางกอก[6] พระเจ้ามังระจึงทรงจัดทัพพม่าเข้ามาปราบปรามสยามอีกครั้ง โดยมีพระราชโองการให้โปสุพลาเนเมียวสีหบดียกทัพพม่าจากเชียงใหม่เข้าตีเมืองหลวงพระบางแล้วลงต่อไปตีกรุงธนบุรี เนเมียวสีหบดียกทัพพม่าจากเชียงใหม่และน่านเข้าโจมตีเมืองหลวงพระบางอีกครั้งในพ.ศ. 2314 ทำให้พระเจ้าสุริยวงศ์จำต้องถอนทัพจากเวียงจันทน์กลับขึ้นมาป้องกันหลวงพระบาง สุดท้ายพระเจ้าสุริยวงศ์จึงยอมแพ้ต่อเนเมียวสีหบดีพม่าอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้พระเจ้าสิริบุญสารจำต้องส่งธิดาให้แก่พระเจ้ามังระเป็นองค์ประกันด้วย

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพขึ้นตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จในพ.ศ. 2317-2318 เมื่อฝ่ายสยามธนบุรีได้หัวเมืองเชียงใหม่และล้านนาเข้ามาในครอบครองแล้ว ทำให้อำนาจของพม่าในอาณาจักรล้านช้างเสื่อมลง เมื่อครั้งได้เมืองเชียงใหม่นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพบข้าหลวงขุนนางลาวเวียงจันทน์อยู่ในกองทัพพม่า[7] เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงคลางแคลงพระทัย[7]ว่าพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์นั้นให้การสนับสนุนแก่พม่า ในพ.ศ. 2318 ทรงมีพระราชสาสน์ถึงพระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี[8] พระเจ้าสุริยวงศ์มีความยินดีรับเอาพระราชไมตรีจากธนบุรีไว้ และทรงมีพระราชสาสน์ถึงเสนาบดีกรุงเวียงจันทน์ทรงตำหนิฝ่ายเวียงจันทน์ว่าละทิ้งพระราชไมตรีไปเข้ากับฝ่ายพม่า[9] "...สาอไรแก่กรุงบุรัตนอังวะ ปรการไดที่ใหญ่กวากรุงรัตนบุระอังวะกดีทิจงพระไทยแล้ว เหนไม่พ้นเงิอมพระหัษฐ บัดนี้หมายพระไทอาจขึ้นไปเอากรุงรัตนบุระอังวะมาใช้เปนข้า แตกรุงศรีสัตนาคนหุต เปนกัลยานิมิตรสนิดเสน่หากับกรุงเทพ ฯ มาแต่ก่อนแล้ ละคลองราชปรเพณีเสีย เปนไจไปด้วยพม่ากรุงอังวะ..."[5] พระเจ้าสิริบุญสารจึงมีพระราชสาสน์มาแก้ว่า ฝ่ายเวียงจันทน์จำยอมส่งทัพเข้าช่วยฝ่ายพม่า เนื่องจากโปสุพลาแม่ทัพพม่าได้ยกทัพมาข่มเหงเมืองเวียงจันทน์ นำตัวโอรสธิดาของพระเจ้าสิริบุญสารไปเป็นองค์ประกันที่อังวะ และฝ่ายพม่าได้มีคำสั่งให้เวียงจันทน์ยกทัพมาตีสยามทางนครราชสีมาแต่พระเจ้าสิริบุญสารงดไว้เนื่องจากเห็นแก่พระราชไมตรี[9] "...โทรมนัศขัดแค้นกระมลราชหฤๅไทยเปนใหญ่หลวง ว่าต้องข่มเหงเสียราชบุตรราชนัดดาไป ใม่เลิ้ยงดูอดสูแล้วหมี่หนำซ้ำให้ส่งบรรณาการดอกไม้ทองเงินอีกเล่า ถ้ามิใช่พระเจ้านครศรีสัตนาคนหุตก็จะสู้เสียพระชนที่ใหนจะทนทานมาได้ถึงเพียงนี้..."[5] นอกจากนี้ พระเจ้าสิริบุญสารยังเสนอยกพระธิดาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชสาสน์ตอบไปในปีพ.ศ. 2319 "ให้อรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงเทพ ฯ จัดแจงขึ้นไปแห่แหนรับพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริยลงมาในเดือนยี่"[5] แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้มีการไปรับนางแก้วยอดฟ้าฯมาที่ธนบุรีแต่อย่างใด

ตีเมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ. 2320 แก้

 
อนุสาวรีย์ท้าวเซียง เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนที่ 4 พระนัดดาเจ้าแก้วมงคล ผู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เจ้าโอ เจ้าอิน ให้การสนับสนุนกบฎพระยานางรอง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับลาวเป็นครั้งแรก

ความขัดแย้งระหว่างจำปาศักดิ์กับสยามมีมายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี จึงก่อให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ยังคงมีความขัดแย้งกับ เจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ ผู้เป็นพระอนุชา และพระโอรสทั้งสองของเจ้าอุปราชธรรมเทโว คือเจ้าโอและเจ้าอิน ซึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ขณะนั้นมีอำนาจที่อ่อนแอ ไม่สามารถบังคับหรือสั่งการคนในราชวงศ์หรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาได้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่เจ้าเมืองนางรองเกิดความขัดแย้งกับพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) จึงก่อกบฏต่อกรุงธนบุรีโดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ ,เจ้าอิน อุปฮาดเมืองอัตปือ และเจ้าอุปราชธรรมเทโว เจ้าอุปฮาชเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารยังมิได้เห็นชอบให้กระทำ แต่ทั้ง 3 ท่านกลับกระทำโดยพลการ[10] และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจหรือคับแค้นใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองจำปาศักดิ์จึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ ต่อมาพระยานครราชสีมาจึงมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพไปจับกุมตัวพระยานางรองลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พบว่าพระยานางรองมีความผิดจริงจึงลงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยานางรอง และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปสมทบกับเจ้าพระยาจักรีที่นครราชสีมา ทั้งเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ เพื่อเป็นการสั่งสอนและตอบโต้กลับ พระยาสุรสีห์จึงสั่งประหารชีวิต เจ้าโอ ,เจ้าอิน และเจ้าอุปราชธรรเทโวหรือเจ้าอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือกบฎพระยานางรอง และสามารถยึดเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตตะปือได้สำเร็จ ภายหลังเสร็จศึก พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารจึงยอมอ่อนน้อมยอมส่งเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่พระเจ้ากรุงธนบุรี จากสาเหตุที่พระองค์ทรงยอมรับผิดที่คนในบังคับบัญชาของพระองค์กระทำการโดยมิชอบและจากการที่ถูกฝ่ายกรุงธนบุรีบีบบังคับให้เป็นเมืองขึ้น ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2319-2320) จากนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเลิกทัพกลับธนบุรี

หลังจากสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าพระยาจักรีมีความชอบ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2320 นามว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดชฯ[11][10]

บรรดาหัวหน้าชุมชนชาวกูยและชาวเขมรบนในหัวเมืองเขมรป่าดง (ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ซึ่งได้เคยสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในยศระดับพระ[12] มีการยกเมืองขึ้นใหม่ได้แก่เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองปะทายสมันต์หรือเมืองสุรินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ในสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์เมื่อพ.ศ. 2320 นี้ บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี[10] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลื่อนเจ้าเมืองเขมรป่าดงเหล่านั้นขึ้นมาในระดับยศ"พระยา"ในราชทินนามเดิม[12] ในพ.ศ. 2321

  • พระไกรภักดี (ตากะจะ) เป็น พระยาไกรภักดีศรีลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์
  • พระสังขะบุรี (เชียงขะ) เป็น พระยาสังขะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมืองสังขะบุรี
  • พระสุรินทร์ภักดี (เชียงปุ่ม) เป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์ เจ้าเมืองปะทายสมัน (สุรินทร์)

และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นกันระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับอาณาจักร์ของชาวลาวล้านช้าง จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือสาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเริ่มหันเหและให้ความสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง3และหัวเมืองขึ้นอื่นๆอีกมากมาย จากกรณีกบฎพระยานางรอง ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 และรวบร่วมกำลังพล เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งศรีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง(สุวรรณภูมิ) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมส์ทางการเมือง และใช้กรณีพิพาทกันระหว่างพระวอพระตากับเจ้าสิริบุญสารเป็นปัจจัยเสริมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง[13]

พระวอถูกสังหาร แก้

ในปลายปีพ.ศ. 2320 พระวอซึ่งอยู่กับเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่จำปาศักดิ์ เกิดความขัดแย้งระหว่างพระวอและเจ้าองค์หลวงฯ และด้วยความหวาดระแวงของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เนื่องด้วยสาเหตุ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2308 เป็นต้นมา เมืองทุ่ง(สุวรรณภูมิ) ขาดจากอำนาจของเมืองจำปาศักดิ์ ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา และเมืองทุ่งร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีให้เขตปลอดภัยกับกลุ่มพระวอที่แตกทัพมา ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่ากรุงธนบุรีจะขยายอำนาจมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ โดยใช้เมืองทุ่งและกลุ่มพระวอเป็นเครื่องมือทางการเมือง[13] และเนื่องจากพระวอได้สร้างกำแพงของเมืองจำปาศักดิ์ใหม่ให้แก่เจ้าองค์หลวงฯ เพื่อต้องการที่จะประจบหรือเอาใจเจ้าองค์หลวงฯ พระวอจึงถามเจ้าองค์หลวงฯว่าระหว่างผู้สร้างกำแพงเมืองและผู้สร้างหอคำถวาย ใครดีกว่ากัน เจ้าองค์หลวงด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจพระวอเนื่องด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงตรัสตอบไปแบบตรงๆว่า "กำแพงนั้นดีอยู่เป็นที่ป้องการอริราชศัตรูหมูมาร แต่หอคำนั้นยังประเสริฐกว่าสักหน่อย ด้วยได้นั่งนอนตื่นหลับเป็นที่สบาย"[4] พระวอได้ฟังดังนั้นจึงน้อยใจ จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่ดอนมดแดงตามเดิม และส่งบุตรชายคือท้าวก่ำเป็นผู้แทนคุมเครื่องบรรณาการไปยังเมืองนครราชสีมาเพื่อถวายเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี[10]

ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวว่าเจ้าพระวอเกิดความขัดแย้งกับเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ จงส่งพระยาสุโพยกทัพลงมาโจมตีเจ้าพระยาวอ เจ้าพระวอขอความช่วยเหลือจากเจ้าองค์หลวงฯแต่ครั้งนี้เจ้าองค์หลวงไม่ช่วยเหลือพระวอ เป็นผลให้พระวอถูกพระยาสุโพจับได้สังหารสิ้นชีวิตในสนามรบ บุตรของพระวอคือท้าวก่ำได้แจ้งแก่ทางกรมการเมืองนครราชสีมาว่าเจ้าพระวอถูกทัพเวียงจันทน์สังหารในที่รบ

สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงทราบว่าเจ้าพระวอถูกทัพเวียงจันทน์สังหารจึงทรงพระพิโรธ[10] ว่าเจ้าพระวอได้ถวายเครื่องบรรณาการเป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงธนบุรีแล้วพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยังส่งทัพมาสังหารพระวอ จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้าโจมตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในเดือนอ้าย (ธันวาคม) พ.ศ. 2321 โดยมีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯและเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทัพจำนวน 20,000[14] คนไปทางนครราชสีมา

สงครามตีเวียงจันทน์ แก้

 
น้ำตกลิพีหรือน้ำตกตาดสมภามิตร ใน จำปาศักดิ์ ใกล้ชายแดนลาว-กัมพูชา

เกณฑ์ทัพกัมพูชา แก้

เมื่อถึงเมืองนครราชสีมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีคำสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางไปยังกัมพูชา เพื่อไปเกณฑ์ทัพที่กัมพูชา ให้ได้จำนวน 10,000[10] คน จากนั้นยกทัพล่องไปตามแม่น้ำโขงผ่านแก่งหลี่ผี เพื่อเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ต่อไปอีกทางหนึ่ง จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พร้อมทั้งพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ยกทัพสยามจากนครราชสีมา ไปทางเมืองภูเขียวและหนองบัวลำภู เข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์

เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางไปยังกรุงกัมพูชาเมืองอุดงบันทายเพชร ถ่ายทอดคำสั่งให้แก่สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยาม ให้เกณฑ์ทัพชาวเขมรให้ได้หมื่นหนึ่งแล้วยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ พระรามราชานักองค์โนนจึงมีพระราชโองการให้เกณฑ์ไพร่พลเขมรจากเมืองกำปงสวาย เมืองศรีสุนทร เมืองไพรแวง และเมืองตะโบงคมุม[15] จนได้จำนวนหนึ่งหมื่นคน แล้วมอบให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางยกขึ้นไปตามแม่น้ำโขง อีกทั้งพระรามราชานักองค์โนนยังทรงสัญญาว่าจะเกณฑ์เสบียงข้าวส่งให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นไปอีก[15]

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปพบกับทัพลาวที่หนองบัวลำภู[16] นำไปสู่การรบที่หนองบัวลำภู ฝ่ายสยามได้รับชัยชนะ ทำให้พระยาสุโพแม่ทัพลาวจำต้องถอยกลับไปตั้งมั่นที่เวียงจันทน์

ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพจากเมืองอุดงไปตามแม่น้ำโขง ผ่านเมืองสมบุกเมืองสมบูรณ์ จนถึงน้ำตกแก่งหลี่ผี เจ้าพระยาสุรสีห์มีคำสั่งให้เกณฑ์พลชาวเขมรและลาวขุดคลองอ้อมแก่งหลี่ผี[10][14]เพื่อยกทัพเรือขึ้นไปเมืองลาวต่อไป (พงษาวดารกัมพูชาระบุว่าทลายหินแก่งและยกเรือข้ามแก่งไป)[15] เมือขุดคลองเสร็จแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกทัพผ่านทางคลองขุดอ้อมแก่งลี่ผีไป

ตีเมืองจำปาศักดิ์ นครพนม และหนองคาย แก้

เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพเขมรเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์และเมืองโขงสีทันดร เจ้าองค์หลวงไชยกุมารกษัตริย์จำปาศักดิ์เสด็จหลบหนีไปยังเกาะไชย ซึ่งสาเหตุที่ทางกรุงธนบุรีส่งกองทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ ในครั้งที่ 2 แม้ว่าเมืองจำปาศักดิ์จะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรีอยู่ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากสาเหตุมาจากเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ไม่ได้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือพระวอ ซึ่งก็เป็นฝ่ายที่อยู่ภายใต้อารักขาของอาณาจักรกรุงธนบุรีเช่นเดียวกัน[4] ต่อมาฝ่ายสยามสามารถจับกุมเจ้าไชยกุมารได้ส่งลงมายังกรุงธนบุรี จากนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกทัพไปตียึดเมืองนครพนมได้สำเร็จ ในเดือนมีนาคม (เมืองนครพนมเดิมอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ที่เมืองท่าแขกในปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลที่ 1 จึงย้ายมาฝั่งขวาแม่น้ำโขง)[3] พระบรมราชา (กู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนมหลบหนีออกจากเมืองและล้มป่วยถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสุรสีห์ยกต่อไปยึดเมืองหนองคายได้สำเร็จ

ในเวลานั้น พระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบาง ซึ่งมีความแค้นเคืองต่อพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์อยู่เดิม เมื่อทราบว่าฝ่ายสยามยกทัพจำนวนมากขึ้นมีโจมตีเมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยามและมอบกองกำลังจำนวน 3,000[8] คน เข้าช่วยสยามในการตีเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีคำสั่งให้พระยาเพชรบูรณ์[10][14] (ปลี) เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้นำทัพลาวหลวงพระบางเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์ทางเหนืออีกทางหนึ่งเป็นทางที่สาม

ตีเมืองพะโค เวียงคุก และพานพร้าว แก้

ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตีเมืองเมืองพะโค (หรือปะโค ตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย) และเมืองเวียงคุก (ตำบลเวียงคุก) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหน้าด่าน ยังไม่สามารถเข้ายึดเมืองได้ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงมีคำสั่งให้ตัดศีรษะชาวลาวเมืองหนองคายจำนวนมากใส่ลงเรือ[10] แล้วให้หญิงชาวลาวพายเรือไปหน้าเมืองพะโค ป่าวประกาศร้องขายศีรษะชาวลาว ทำให้ชาวลาวเมืองพะโคมีความหวาดกลัวและท้อถอย ทัพฝ่ายไทยจึงสามารถเข้ายึดเมืองพะโคและเมืองเวียงคุกได้ในที่สุดในเดือนมีนาคม

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพเข้าโจมตีเมืองพานพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ซึ่งอยู่ต่อหน้าตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์บริเวณลานช้างข้าม ชาวเมืองพานพร้าวออกสู้รบเป็นสามารถ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสามารถยึดเมืองพานพร้าวได้ชาวลาวถูกสังหารจำนวนมาก[10] แล้วทัพสยามจึงยกข้ามแม่น้ำโขงเข้าล้อมเมืองเมืองเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2322

ล้อมเมืองเวียงจันทน์ แก้

 
พระแก้วมรกต อันเชิญจาก เชียงใหม่ ไปที่ หลวงพระบาง ในปี พ.ศ. 2095 และถึง เวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2107 ซึ่งอยู่มานานกว่า 214 ปี จนถูกยึดไปธนบุรีโดยชาวสยามในปี พ.ศ. 2322 พระแก้วมรกตถูกวางไว้ใน วัดอรุณ[17] และต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ วัดพระแก้วกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2327 นับแต่นั้นมาได้กลายเป็นอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย

เมื่อฝ่ายสยามเข้าล้อมเมืองเวียงจันทน์แล้ว พระเจ้าสิริบุญสารมีพระราชโองการให้ทำการป้องกันเมือง เกณฑ์ไพร่พลขึ้นรักษาเชิงเทนรอบเมือง พระเจ้าสิริบุญสารให้พระโอรสคือเจ้านันทเสนขี่ช้างพลายชื่อคำเพียงสูงหกศอกสามนิ้ว[10][14] ยกทัพลาวเวียงจันทน์ออกมาสู้รับกับทัพไทย แต่ไม่สามารถขับทัพไทยออกไปได้ ทัพไทยได้รับชัยชนะชาวลาวล้มตายจำนวนมาก เจ้านันทเสนจึงถอยทัพกลับเข้าเวียงจันทน์

การล้อมเมืองเวียงจันทน์ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณสี่เดือน จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าสิริบุญสารเห็นว่าเหลือกำลังที่จะต้านทานทัพสยามได้อีกต่อไป จึงเสด็จลงเรือพร้อมกับพระโอรสคือเจ้าอินทรและเจ้าพรหมพร้อมข้าหลวงคนสนิทโดยมิให้ใครล่วงรู้ พระเจ้าสิริบุญสารเสด็จหนีไปถึงเมืองคำเกิด ฝ่ายเจ้านันทเสนเมื่อทราบว่าพระเจ้าสิริบุญสารบิดาของตนได้หลบหนีไปจากเวียงจันทน์แล้ว จึงยอมแพ้และเปิดประตูเมือง[1] ฝ่ายสยามนำโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์จึงสามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือนสิบ[5] (28 กันยายน พ.ศ. 2322)

เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ฝ่ายสยามจึงกวาดต้อนชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ทั้งหมด รวมทั้งพระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ พระธิดาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณี[1] เชื้อพระวงศ์ลาวเวียงจันทน์ นางสนมพระกำนัลท้าวเพี้ยขุนนางใหญ่น้อยและศัสตราวุธทั้งปวง ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาที่เมืองพานพร้าว[10] นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อาราธนาพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานไว้ที่พานพร้าวเป็นการชั่วคราว สร้างพระอารามขึ้นใหม่ที่เมืองพานพร้าวไว้เป็นที่ประดิษฐาน แล้วสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีหนังสือบอกลงมากราบทูลฯที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัสทรงมีท้องตราพระราชกำหนดให้เลิกกองทัพกลับธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตั้งให้พระยาสุโพและขุนนางลาวบางส่วนอยู่รั้งรักษาเมืองเวียงจันทน์ แล้วจึงนำชาวลาวเวียงจันทน์เชื้อพระวงศ์และทรัพย์สินอาวุธกลับมายังกรุงธนบุรี

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นราชรถ มาถึงเมืองสระบุรีในเดือนยี่ (มกราคม) พ.ศ. 2323[10] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนิมนต์พระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวงให้ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่สระบุรี เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์พระโอรสเสด็จไปรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุก เมื่อพระแก้วมรกตมาถึงบางธรณี (ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี) สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมขบวนนาวาพยุหยาตราแห่ไปรับพระแก้วมรกต ทรงให้สร้างโรงประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นริมอุโบสถวัดแจ้ง ตั้งเครื่องสักการะบูชาอย่างมโหฬารมีงานมหรสพถวายพระพุทธรูปเป็นเวลาสามวัน[10]

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง แก้

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รักษาเมืองเวียงจันทน์ภายใต้อำนาจของสยาม อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์จึงขาดกษัตริย์อยู่เป็นเวลาสี่ปี จนกระทั่งพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งหลบหนีไปอยู่เมืองคำเกิดนั้น กลับมายึดอำนาจสังหารพระยาสุโพและตั้งตนขึ้นครองเวียงจันทน์ตามเดิมในพ.ศ. 2324 พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้เจ้านันทเสน พระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสาร ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ต่อมา และในพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯพระราชทานให้เจ้านันทเสนกลับไปครองเมืองล้านช้างเวียงจันทน์สืบไป[18] เจ้านันทเสนได้อัญเชิญพระบางกลับไปเวียงจันทน์ด้วย

สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับไปครองอาณาจักรจำปาศักดิ์ตามเดิม เป็นประเทศเมืองขึ้นของธนบุรี ในขณะที่เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางนั้น เอกสารฝ่ายไทยระบุว่ายินยอมเป็นประเทศราชเมืองขึ้นของไทย ส่วนเอกสารลาวระบุว่าเจ้าสุริยวงศ์ถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้นของธนบุรี[19] อาณาจักรลาวล้านช้างทั้งสามได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาศักดิ์ จึงตกเป็นประเทศราชเมืองขึ้นของสยามนับแต่นั้น

การยึดอำนาจในกัมพูชา แก้

ฝ่ายทางเมืองกัมพูชา เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกทัพข้ามแก่งหลี่ผีไปแล้วนั้น สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชามีพระราชโองการให้ออกญาพระคลัง (ธม) ไปตั้งกองสีข้าวเกณฑ์เสบียงที่เมืองกำปงธม เพื่อส่งให้แก่กองทัพไทย ออกญาพระคลัง (ธม)[15] เกณฑ์ราษฏรกัมพูชาใช้แรงงานสีข้าว และไพร่เกณฑ์บางส่วนจากเมืองกำปงสวายหนีทัพกลับมา ราษฏรเมืองกำปงธมและเมืองกำปงสวายที่ได้รับความเดือดร้อนจึงรวมกันเป็นกบฏเข้าสังหารออกญาพระคลัง (ธม) ไปเสีย สมเด็จพระรามราชาฯทราบความทรงพิโรธให้จับขุนนางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาลงพระอาญา ออกญาเดโช (แทน) เจ้าเมืองกำปงสวาย ตัดสินใจเป็นกบฏต่อพระรามราชา สมเด็จพระรามราชาให้เจ้าฟ้าทะละ (มู) ซึ่งเป็นพี่ชายของออกญาเดโช (แทน) ยกทัพไปปราบกบฏ ปรากฏว่าเจ้าฟ้าทะละ (มู) ไปเข้ากับฝ่ายกบฏเสียเอง[15]

เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ขอความช่วยเหลือจากเหงียนฟุ๊กอั๊ญหรือองเชียงสือ เจ้าญวนใต้ที่เมืองไซ่ง่อนซึ่งกำลังตั้งมั่นต่อสู้กับเต็ยเซินในขณะนั้น องเชียสือส่งกองทัพญวนเวียดนามนำโดยโด๋ทัญเญิน[20] (Đỗ Thanh Nhơn, 杜清仁) เข้ามาสนับสนุนเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนน เสด็จยกทัพจากเมืองอุดงไปสู้รบกับกบฏและทัพญวน ให้ออกญาวิบูลราช (โส) เป็นผู้รักษาเมืองอุดง ปรากฏว่าออกญาวิบูลราชไปสมคบคิดกับญวนให้ยกทัพเข้ามายึดเมืองอุดงได้สำเร็จ ทัพญวนเผาทำลายเมืองอุดง สมเด็จพระรามราชาสู้รบกับทัพญวนที่กำปงฉนังทรงพ่ายแพ้ ทัพญวนเขมรจับองค์พระรามราชานักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาใส่กรงแล้วนำมาสำเร็จโทษประหารชีวิตที่บึงขยอง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2322[15] นั้น ออกญาวิบูลราช (โส) นำพระโอรสสี่องค์ของพระรามราชาที่เมืองอุดงมาพิฆาตเสีย และยกนักองค์เองพระชัณษาเพียง 7 ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมา

กวาดต้อนชาวลาว แก้

 
วัดบางไส้ไก่ ในสมัย ​​อาณาจักรธนบุรี ของกรุงเทพฯ สร้างขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าชาย นันทเสน ระหว่างที่ลี้ภัยตัววัดเองเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนลาวในกรุงเทพฯ

หลังจากยึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จแล้ว ฝ่ายสยามกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์จำนวนกว่าหมื่นคน[9]มาสู่ภาคกลางของสยาม โดยฝ่ายสยามแบ่งชาวลาวออกตามฐานะทางสังคม ชาวลาวฐานะสูงได้แก่เจ้าเชื้อพระวงศ์ได้รับพระราชทานให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางยี่ขัน[21] ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับบ้านของเจ้าพระยาสุรสีห์[21]หรือต่อมาคือพระราชวังบวรสถานมงคล เชื้อพระวงศ์ลาวในกรุงธนบุรียังคงดำรงฐานะเดิมมีข้าหลวงติดตาม บริเวณบางยี่ขันนั้นต่อมาเรียกว่า"วังเจ้าลาว"เนื่องจากเป็นที่ประทับของเจ้านายลาว ได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ และนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีหรือนางเขียวค่อม[21]ธิดาของพระเจ้าสิริบุญสาร

ชาวลาวสามัญชนตั้งถิ่นฐานที่บางไส้ไก่[21]ในธนบุรี และตามหัวเมืองต่างๆได้แก่สระบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี และนครไชยศรี[21] แรงงานชาวลาวมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเมืองกรุงเทพรัตนโกสินทร์ต่อมาในพ.ศ. 2326 โดยพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า มีการเกณฑ์ชาวลาวจำนวน 5,000[18] คนเป็นแรงงานในการก่อสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพ ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในพ.ศ. 2322 นี้ เรียกว่า ชาว"ลาวเวียง"

นอกจากชาวลาวแล้ว หลังจากยึดได้เมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายสยามได้มอบหมายให้ทางเมืองหลวงพระบางยกทัพไปตีเมืองทันต์ หรือเมืองหงีเมืองม่วย[22] ในบริเวณสิบสองจุไท กวาดต้อนชาวไทดำหรือลาวโซ่งมาไว้ที่เมืองเพชรบุรี ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2323

ความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง แก้

 
วัดสีสะเกด ใน เวียงจันทน์ สร้างโดย เจ้าอนุวงศ์ ในปี พ.ศ. 2361 ได้รับอิทธิพลแบบสยาม วัดแห่งนี้รอดจากการถูกทำลายล้อมเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2371

เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2334 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าอนุรุทธขึ้นครองราชสมบัติหลวงพระบางต่อมาโดยได้รับการรับรองจากกรุงเทพฯ นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเจ้าอนุรุทธกับนางแทนคำมเหสีของเจ้าสุริยวงศ์[9] พระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) เหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ) ส่งทัพญวนเข้ารุกรานหลวงพระบางสองครั้งในพ.ศ. 2333 และพ.ศ. 2334[23][24] หลวงพระบางจำยอมต้องส่งบรรณาการให้แก่ญวนเต็ยเซิน[1][9] และในพ.ศ. 2334 แม่ทัพญวนเต็ยเซินชื่อว่า เจิ่นกวางเสี่ยว[9] (Trần Quang Diệu, 陳光耀) ยังยกทัพเข้ารุกรานนครพนมและเวียงจันทน์ เจ้านันทเสนนำทัพลาวออกสู้ญวนที่เมืองพวนได้รับชัยชนะ[18] "ศักราชได้ ๑๕๓ ปีไค้ เจ้าปาสักนิพพาน เมืองเวียงจัน เมืองละคร เจ้าสมพมิตแตกแกวก็แม่นปีนั้นแล"[25] ในพ.ศ. 2334 เจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทน์มีใบบอกลงมากราบทูลที่กรุงเทพฯว่าเจ้าอนุรุทธแห่งหลวงพระบางนั้นเป็นกบฏไปเข้ากับพม่า[18] (หรือเต็ยเซิน)[9] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงพระพิโรธมีพระราชโองการให้เจ้านันทเสนยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบางจับเจ้าอนุรุทธส่งมากรุงเทพฯให้จงได้[18]

เจ้านันทเสนยกทัพเข้าโจมตีล้อมเมืองหลวงพระบาง สู้รบกันเป็นเวลาสิบห้าวัน อุปราชเมืองเวียงจันทน์ถูกปืนถึงแก่กรรมในสนามรบ[8][18] เจ้านันทเสนยังไม่สามารถยึดเมืองหลวงพระบางได้ เจ้านันทเสนจึงมีหนังสือลับถึงเจ้านางแทนคำ ว่าถ้านางแทนคำยอมช่วยเหลือจะตั้งให้เป็นเจ้านางนั่งเมืองกษัตรีหลวงพระบาง[8] นางแทนคำหลงเชื่อเจ้านันทเสนจึงออกอุบายให้ลาวเมืองหัวพันซึ่งรักษาประตูเมืองหลวงพระบางอยู่นั้น เปิดประตูเมืองให้ทัพเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ จับกุมเจ้าอนุรุทธรวมทั้งโอรสคือเจ้ามันธาตุราชมาไว้ที่เวียงจันทน์ แล้วส่งตัวไปกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จองจำเจ้าอนุรุทธไว้ที่กรุงเทพในพ.ศ. 2335[18] อาณาจักรหลวงพระบางจึงขาดเจ้าผู้ครองเมืองอยู่เป็นเวลาสี่ปี

ต่อมาในพ.ศ. 2337 มีผู้ฟ้องว่าเจ้านันทเสน และพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองนครพนม สมคบคิดกันเป็นกบฏไปเข้ากับเวียดนามเต็ยเซิน จึงมีพระราชโองการให้จับเจ้านันทเสนใส่โซ่ตรวนลงมายังกรุงเทพฯ สอบสวนแล้วพบว่าเจ้านันทเสนและพระบรมราชามีความผิดจริง มีโทษถึงประหารชีวิต กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททูลขอพระราชทาน[18]ให้ไว้ชีวิตเจ้านันทเสน จึงมีพระราชโองการให้ถอดเจ้านันทเสนออกจากราชสมบัติแล้วตั้งเจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์องค์ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2338 ต่อมาเจ้านันทเสนถึงแก่พิราลัยที่กรุงเทพฯ[9]

ในพ.ศ. 2338 อุปราชเมืองไชย[8]ซึ่งเป็นเมืองขึ้นหลวงพระบาง ได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าแสนหวีฟ้าเชียงรุ้งสิบสองปันนา ให้ช่วยเจรจาให้เจ้าอนุรุทธกลับมาครองเมืองหลวงพระบาง เจ้าแสนหวีเชียงรุ้งจึงนำความขึ้นทูลพระเจ้าปักกิ่ง[8] (จักรพรรดิเฉียนหลง) พระเจ้าปักกิ่งจึงทรงแต่งให้ขุนนางมณฑลยูนนานชื่อฮ่อพระยาศรีป่องอ้อง[8] ส่วนเจ้าเชียงรุ้งแต่งให้พระยาสินพรหม นำคณะทูตจีนและไทลื้อลงมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ที่กรุงเทพฯ ขอพระราชทานให้เจ้าอนุรุทธกลับขึ้นไปครองหลวงพระบางตามเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าอนุรุทธและบรรดาเชื้อพระวงศ์หลวงพระบางให้กลับคืนเมืองเดิมในพ.ศ. 2338

ทายาทของพระตาพระวอ แก้

 
อนุเสาวรีย์เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) บุตรของพระตา เป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2335

เมื่อพระตาสิ้นชีวิตในสนามรบเมื่อพ.ศ. 2314 นั้น บุตรของพระตาได้แก่ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าได้ติดตามพระวอไปอยู่ที่จำปาศักดิ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ในพ.ศ. 2321 ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าได้เข้าร่วมรบช่วยฝ่ายจำปาศักดิ์สู้กับสยาม ต่อมาท้าวคำผงแต่งงานกับนางตุ่ยซึ่งเป็นธิดาของอุปราชธรรมเทโว อนุชาของเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ เจ้าองค์หลวงฯเห็นว่าท้าวคำผงเกี่ยวดองเป็นญาติ มีกำลังไพร่พลอยู่ จึงตั้งให้เป็นนายกองคุมไพร่พลอยู่ที่บ้านดู่บ้านแก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งเจ้าคำผงให้เป็นพระปทุมสุรราชภักดี[12] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 พระปทุมสุรราชภักดี (คำผง) ขอพระราชทานไปตั้งเมืองใหม่ที่ห้วยจาระแม และท้าวฝ่ายหน้าขอตั้งเมืองใหม่ที่บ้านสิงห์โคกสิงห์ท่า

ในพ.ศ. 2323 เจ้าองค์หลวงฯเมืองจำปาศักดิ์ เกิดความขัดแย้งกับเจ้าอินอุปฮาด และเจ้าโอเจ้าเมืองอัตตะปือ จึงส่งเจ้าเชษฐ์และเจ้านูไปตามจับกุมตัวเจ้าโอเจ้าอิน เจ้าเชษฐ์และเจ้านูจะจับเจ้าโอเจ้าอินฆ่าเสีย เจ้าอินหลบหนีไปถึงแก่กรรมในป่า ส่วนเจ้าโอกอดคอพระพุทธรูปไว้[4][12] เจ้าเชษฐ์และเจ้านูสังหารเจ้าโอไปในที่สุด ในพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้นำตัวเจ้าองค์หลวงฯมาสอบสวนหรือเจ้าโอเจ้าอิน ระหว่างทางเจ้าองค์หลวงฯล้มป่วยจึงพระราชทานอนุญาตให้เจ้าองค์หลวงกลับไปเมืองจำปาศักดิ์ นำแต่ตัวเจ้าเชษฐ์ เจ้านู และเจ้าหมาน้อยมาที่กรุงเทพ ต่อมาในพ.ศ. 2334 เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้ว[4][12]ที่เมืองโขง อ้ายเชียงแก้วยกทัพเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าองค์หลวงฯแห่งจำปาศักดิ์ถึงแก่พิราลัยหลังจากครองอาณาจักรจำปาศักดิ์มาได้ 53 ปี เจ้าหน่อเมืองขึ้นรักษาเมืองจำปาศักดิ์แต่สู้อ้ายเชียงแก้วไม่ได้หลบหนีจากเมืองไป พระปทุมสุรราชภักดี (คำผง) และท้าวฝ่ายหน้าจึงยกทัพมาปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วและสังหารอ้ายเชียงแก้วได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงยกเมืองห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี และทรงแต่งตั้งให้พระประทุมฯ (คำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์[12] เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก รวมทั้งทรงแต่งตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าน้องชายของพระประทุมฯเป็น"พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"ครองเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์ของพระตาจึงได้ปกครองนครจำปาศักดิ์แทนที่วงศ์เจ้าจำปาศักดิ์เดิมของพระเจ้าองค์หลวงฯ นอกจากนี้ทางกรุงเทพยังส่งตัวเจ้าเชษฐ์และเจ้านูให้มาทำราชการรับใช้พระวิไชยราชขัติยวงศาอีกด้วย

ต่อมาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2353 ทางกรุงเทพแต่งตั้งให้เจ้านูโอรสของเจ้าหน่อเมืองเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์องค์ต่อมา เจ้านูอยู่ในราชสมบัติได้สามวันถึงแก่พิราลัย ทางกรุงเทพฯจึงแต่งตั้งเจ้าหมาน้อยขึ้นแทน วงศ์ของพระเจ้าองค์หลวงฯจึงได้กลับมาครองจำปาศักดิ์อีกครั้ง ฝ่ายวงศ์ของพระตาคือท้าวคำสิงห์เมืองโขงบุตรของเจ้าฝ่ายหน้าจึงไม่สมัครใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของจำปาศักดิ์อีกต่อไป ในพ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโองการให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง"ยศสุนทร"หรือยโสธร และทรงแต่งตั้งท้าวคำสิงห์เป็นพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Peter Simms, Sanda Simms. The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History. Psychology Press, 2001.
  2. Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Journal of Siam Society: Bangkok; February 25, 1916.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์ลาว. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์; สิงหาคม 2530.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร).
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
  6. Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Journal of Siam Society.
  7. 7.0 7.1 Marc Askew, Colin Long, William Logan. Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. Routledge: 7 Dec 2006.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๑: พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 Mayoury Ngaosyvathn, Pheuiphanh Ngaosyvathn. Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Cornell University Press, 6 Aug 2018.
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  11. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เมษายน พ.ศ. 2546.
  13. 13.0 13.1 "พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว". silpa-mag.com. 2022-08-04.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉะบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ตอน ๒.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
  16. ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
  17. Van Beek, Steve (2 July 2012). Arts of Thailand. Tuttle Publishing.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 18.7 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  19. David K Wyatt. Siam and Laos, 1767-1827. Journal of Southeast Asian History. กันยายน พ.ศ. 2506.
  20. D.G.E. Hall. History of South East Asia. Macmillan International Higher Education, พ.ศ. 2524.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Edward Van Roy. Under Duress: Lao war captives at Bangkok in the nineteenth century. Journal of the Siam Society, 2009.
  22. "กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทดำ". www.sac.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-17.
  23. George E. Dutton. The Tay Son Uprising: Society and Rebellion in Eighteenth-Century Vietnam. University of Hawaii Press, 31 ส.ค. 2549.
  24. Ben Kiernan. Viet Nam: A History from Earliest Times to the Present. Oxford University Press, 10 ก.พ. 2560.
  25. พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์.