พระธาตุหลวง
พระธาตุหลวง หรือ พระเจดีย์โลกจุฬามณี (ลาว: ທາດຫລວງ หรือ ลาว: ພຣະທາດຫລວງ) นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งเวียงจันทน์ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศ ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก สถานที่นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างของประเทศลาว[1] ดังปรากฏว่าตราแผ่นดินของลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีรูปพระธาตุหลวงเป็นภาพประธานในดวงตรา
พระธาตุหลวง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | พระธาตุหลวง |
ที่ตั้ง | กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว |
ประเภท | โบราณสถาน |
นิกาย | เถรวาท |
ความพิเศษ | ประดิษฐานพระอุรังธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า |
เวลาทำการ | 8.00-17.00 |
จุดสนใจ | สักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช |
กิจกรรม | นมัสการพระธาตุหลวง ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ คู่กับพระธาตุพนม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ตำนานการสร้างพระธาตุหลวง
แก้ตามตำนานอุรังคนิทานได้กล่าวไว้ว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นคราวเดียวกับการสร้างเมืองนครเวียงจันทน์ หลังจากก่อสร้างพระธาตุพนมแล้ว ผู้สร้างคือ บุรีจันอ้วยล้วย หรือ พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรก พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวเหน่า 27 พระองค์ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย โดยก่อเป็นอุโมงค์หินคร่อมไว้ อุโมงค์นั้นกว้างด้านละ 5 วา ผนังหนา 2 วา และสูงได้ 4 วา 3 ศอก เมื่อได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระเจ้าจันทบุรี จึงได้มีพระราชดำรัสให้เสนาอำมาตย์สร้างวิหารขึ้นในเมืองจันทบุรีหรือนครเวียงจันทน์ 5 หลัง เพื่อให้เป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระอรหันต์ทั้ง 5 องค์นั้นด้วย ตามตำนานดังกล่าวระบุศักราชการสร้างว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 238
ในระยะต่อมาแม้ว่าชื่อของเวียงจันทน์จะไม่ได้ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ใดเลย แต่อย่างไรก็ดี นครเวียงจันทน์ก็ยังคงเป็นเมืองสำคัญอยู่ตลอดมา ดังปรากฏการอ้างถึงชื่อเมืองเวียงจันทน์ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และในพงศาวดาวลาวฉบับต่างๆ ก็ระบุด้วยว่านับตั้งแต่พระเจ้าฟ้างุ้มเสวยราชสมบัติที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ก็ได้มีการส่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางสำคัญมาปกครองเมืองนี้โดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2109 หลังจาก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านช้าง ได้ทรงย้ายราชธานีเมืองเชียงทองหลวงพระบาง ลงมายังนครเวียงจันทน์ได้ 6 ปีแล้ว พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่[2] ในเขตพระราชอุทยานทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเวียงจันทน์ โดยสร้างครอบพระธาตุองค์เก่าที่มีมาแต่โบราณกาล เมื่อสร้างพระธาตุหลวงเสร็จแล้ว จึงทรงขนานนามพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี” หรือ “พระธาตุใหญ่” (แต่คนส่วนมากมักเรียกว่า “พระธาตุหลวง”) และมีพระราชโองการให้อุทิศข้าพระธาตุจำนวน 35 ครอบครัว อยู่เฝ้ารักษาพระธาตุนี้ พร้อมทั้งที่ดินสำหรับให้ครอบครัวของข้าพระธาตุทำกิน
องค์พระธาตุ
แก้องค์พระธาตุมีความสูง 45 เมตร รูปลักษณะคล้ายดอกบัวตูม อันหมายถึงสัญลักษณ์คำสอนของพระพุทธเจ้า มีพระธาตุเล็กอยู่บนพระธาตุใหญ่ชั้นที่สอง รองทั้งสี่ด้าน มี 30 องค์เรียกวา “สัมมติงสบารมี” อยู่ในธาตุองค์เล็กทั้ง 30 องค์นี้ ผู้สร้างได้นำเอาทองคำมาหล่อเป็นรูปพระธาตุเล็ก ๆ 30 องค์ แต่ละองค์หนัก 4 บาท และเอาทองคำมาตีเป็นแผ่น รุปลักษณะเหมือนใบลาน เรียกว่า “ลานคำ” 30 แผ่น แต่ละแผ่นยาวศอกกำมือ (คือวัดศอก โดยกำมือไว้ ไม่วัดจากปลายมือ กำมือแล้วยื่นนิ้วก้อยออกมา วัดที่สุยปลายนิ้วก้อยเท่านั้น) แล้วเขียนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงในใบลานคำทุกใบว่า “เย ธัมมา เหตุปปัพพะวา เตสัง เหตุง ตะถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มะหาสะมะโณ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเพราะเหตุเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสเช่นนี้” แล้วเอาทองคำและใบลานลงไว้ในพื้นธาตุเล็ก ทั้ง 30 องค์ การที่ได้สร้างพระธาตุขนาดเล็กนี้ขึ้นมา มีความหมายว่า “ผู้ที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องได้สร้างคุณงามความดีไว้ให้ถึง 30 ประการ มีทานบารมี เป็นต้น จนถึงอุเบกขา ปรมัตถบารมีเป็นปริโยสาน
รูปชั้นล่างสุดเป็นฐานพระธาตุ 4 เหลี่ยม ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาวด้านละ 69 เมตร[1] ส่วนทางทิศเหนือและทางทิศใต้ยาวด้านและ 68 เมตร ด้านล่างมีใบเสมารอบ 4 ด้าน มีทั้งหมด 323 ใบ มีหอไหว้ทั้ง 4 ด้าน มีบันไดขึ้นหอไหว้ทุกหอ
ที่หอไหว้ทิศตะวันออก ชั้นบนขึ้นไป มีธาตุเล็กองค์หนึ่งที่มีลวดลายสวยงาม และได้สร้างหอครอบไว้อีกชั้นหนอ หอที่สร้างครอบมีลวดลายวิจิตรสวยงามเช่นเดียวกัน ธาตุเล็กนี้เรียกว่า "พระธาตุศรีธรรมทายโลก" ด้านที่สอง ถัดจากหอไหว้ขึ้นไป แต่ละด้านยาว 48 เมตร มีกลีบดอกบัวล้อมรอบ ทั้งหมดมีจำนวน 120 กลีบ ภายในกลีบดอกบัวทำด้วยกระดูกงู (เส้นลวดเป็นขอบล้อมทั้ง 4 ด้าน) แล้วตั้งใบเสมาบนกระดูกงูนั้น ใบเสมาในชั้นนี้ จำนวน 228 ใบ ตรงกลางใบเสมาทุกใบเป็นโพรง (ไม่ทะลุ) สำหรับใส่พระพิมพ์ใบละองค์ บนชั้นนี้มีประตูโขงตรงกับทางขึ้นหอไหว้ทั้ง 4 ด้านพอเข้าไปที่ประตูโขงนั้นก็จะพบพระธาตุบารมีที่กล่าวแล้ว และธาตุบารมีก็มีชื่อเรียกทุกองค์ คือเริ่มแต่ทานบารมี ทานอุปบารมีในจนครบ ทั้ง 30 องค์
ชั้นที่สามสร้างขึ้นถัดจากพระธาตุองค์เล็ก 30 องค์นั้น ขึ้นไปบนชั้นนี้จะเห็นว่า มีความกว้าง ด้านละ 30 เมตร พื้นด้านที่สามนี้ มีรูปลักษณะเป็นหลังเต่า หรือโอคว่ำ (ขันตักน้ำคว่ำ) อยู่บนชั้นหลังเต่า เป็นฐานของยอดพระธาตุ มีรูปเป็นสี่เหลียมล้อมรอบด้วยกลีบดอกบัวใหญ่ ซึ่งมีปลายกลีบเริ่มบานออก ถัดจากดอกบัวไปจึงมีรูปรัดเอว เหนือจากที่รัดเอวไปจะเป็นฐานจอมธาตุ ฐานนี้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหวอ (บาน) ขึ้นด้านบนนิดหน่อย ต่อจากฐานนี้ คนโบราณเรียกว่า “ดวงปี” ดังมีอยู่ในคำกลอนว่า “เจดีย์ดิ้ว ดวงปีพ้นพุ่ง” อยู่บนดวงปี จึงเป็นสเวตฉัตรเป็นยอดพระธาตุที่สูงสุด” อยู่รอบฐานพระธาตุ ก็ได้สร้างบริเวณล้อมรอบติดกันทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้าทั้ง 4 ด้าน ประตูอยู่ระหว่างกลาง บริเวณแต่ละด้านพอดี บริเวณยาวด้านละ 91 เมตร 75 เซนติเมตร
นอกบริเวณทางทิศเหนือ และทางทิศใต้ มีวัดสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัย เรียกว่า “วัดธาตุหลวงเหนือและวัดธาตุหลวงใต้”
ประเพณีนมัสการพระธาตุหลวง
แก้ประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวงนี้ ได้ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมีพระมหากษัตริย์องค์เป็นประมุขของชาติทรงเป็นประธาน จึงนับว่าบุญนมัสการพระธาตุหลวงนี้เป็นบุญของหลวง ในวัน ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ตอนบ่ายประชาชนทุกภาคส่วน มารวมกันที่ วัดศรีสตนาค เพื่อแห่ปราสาทผึ้ง และต้นกัลปพฤกษ์ ไปทอดถวายที่วัดศรีเมืองตอนค่ำมีงานมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ตอนเช้า ทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่สิมวัดองตื้อ ผู้ที่เข้ารับน้ำสาบาน มีตั้งแต่ระดับหัวหน้าขึ้นไป ถึงคณะรัฐมนตรีของประเทศลาว ตอนบ่าย 2 โมง ประชาชนทุกภาคส่วนตั้งขบวนแห่ปราสาทผึ้ง และต้นกัลปพฤกษ์ ออกไปธาตุหลวง เวลาบ่าย 3 โมง ประมุขรัฐ และเจ้านาย ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกไปสู่พระธาตุหลวง เพื่อเป็นเกียรติแห่ปราสาทผึ้งเดินรอบบริเวณพระธาตุหลวงร่วมกับประชาชนที่มาจากทั่วสารทิศ เมื่อเวียนครบ 3 รอบแล้วก็ทำพิธีถวาย ถึงเวลากลางคืนก็มีงานมหรสพสมโภช วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรในบริเวณพระธาตุ แล้วฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ตอนกลางคืนมีงานฉลองเป็นวันสุดท้าย วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เสร็จงานจากพระธาตุหลวงแล้ว ก็มีการแห่ปราสาทผึ้งมาถวายที่วัดองค์ตื้อ และวัดอินแปง อีกจึงจะถืองานนมัสการพระธาตุหลวงเสร็จสิ้นสมบูรณ์[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Half Day Tour In Vientiane". Lasi Global. May 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-02. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
- ↑ "Pha That Luang (built 1566, reconstructed 1930)". Asian Historical Architecture. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
- ↑ สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์, ม.ล. (2535). จากหลวงพระบางถึงเวียงจันทน์ (1 ed.). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. pp. 73–75. ISBN 9789747366716.