สงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317

สงครามเชียงใหม่ หรือ สงครามสยามตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรธนบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพม่าสมัยพระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์โก้นบอง

สงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-พม่า

เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพของพม่า
แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพของสยาม
วันที่พฤศจิกายน พ.ศ. 2317 - มกราคม พ.ศ. 2318
สถานที่
ล้านนา
ผล สยามได้รับชัยชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ล้านนาตอนล่าง รวมถึงเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ขึ้นแก่สยาม
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) อาณาจักรธนบุรี (สยาม)
นครลำปาง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้ามังระ
เนเมียวสีหบดี
โป่มะยุง่วน
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา)
เจ้าพระยาสวรรคโลก
พระยาจ่าบ้าน (บุญมา)
พระยากาวิละ
กำลัง
ไม่ทราบ 35,000 คน[1]

หลังจากที่อาณาจักรล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณ 200 ปี เนื่องจากโป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ชาวพม่า ได้ยกทัพลงมาโจมตีหัวเมืองเหนือหลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2317 เป็นเวลาเดียวกับกบฏมอญต่อพม่า ชาวมอญจำนวนมากหลบหนีเข้าสยามทางด่านแม่ละเมา และทัพฝ่ายพม่ายกติดตามเข้ามา ฝ่ายสยามเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จในพ.ศ. 2318 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของล้านนาจากยุคการปกครองของพม่าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

เหตุการณ์นำ แก้

ล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า แก้

นับตั้งแต่การเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี ในพ.ศ. 2266 เจ้าอินทโฉมชิงราชสมบัติจากเจ้าองค์คำแห่งอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เจ้าองค์คำซึ่งมีเชื้อสายไทลื้อจึงหนีภัยการเมืองมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดบุปผารามเมืองเชียงใหม่ ในพ.ศ. 2270 นายเทพสิงห์นำชาวเชียงใหม่ลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของพม่า จับโป่มังแรนร่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ชาวพม่าสังหารเสีย เทพสิงห์มีคำสั่งให้เที่ยวจับชาวพม่าในเชียงใหม่มาสังหารทั้งหมด ชาวพม่าในเชียงใหม่จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าองค์คำ ซึ่งบวชเป็นภิกษุอยู่ เจ้าองค์คำนำกองกำลังพม่าสามารถขับไล่เทพสิงห์ออกไปจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ เจ้าองค์คำปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ เจ้าชายไทลื้อจากหลวงพระบางจึงได้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ เป็นอิสระขาดจากพม่า พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าองค์คำขับไล่พม่าออกไปได้ เมืองเชียงใหม่จึงเป็นอิสระนับแต่นั้น[2]

การเสื่อมอำนาจของพม่าในยุดท้ายของราชวงศ์ตองอูทำให้หัวเมืองล้านนาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าได้ แต่หัวเมืองล้านนาได้แตกแยกออกเป็นเมืองต่าง ๆ ได้แก่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ต่างเมืองต่างเป็นอิสระต่อกันไม่ขึ้นแก่กัน เจ้าองค์คำครองเมืองเชียงใหม่อยู่ 32 ปี จนถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2302 พระโอรสคือเจ้าองค์จันทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ต่อมา เจ้าองค์จันทร์อยู่ในราชสมบัติได้สองปี ในพ.ศ. 2304 เจ้าปัดซึ่งเป็นอนุชาของเจ้าจันทร์ชิงราชสมบัติจากเจ้าจันทร์ แล้วยกราชสมบัติให้เจ้าขี้หุดอธิการวัดดวงดีเป็นกษัตริย์เชียงใหม่แทน ปีต่อมาพ.ศ. 2305 พระเจ้ามังลอกแห่งพม่าราชวงศ์คองบองส่งแม่ทัพพม่าโป่อภัยคามณี (Abaya Kamani)[3] ยกทัพพม่าจำนวน 7,500 คนมาตีเมืองเชียงใหม่ ล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เจ็ดเดือนพม่าสามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้ในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2306 พม่านำตัวเจ้าจันทร์พร้อมทั้งวงศ์เจ้าเชียงใหม่และกวาดต้อนชาวเชียงใหม่จำนวนมากไปพม่า พระเจ้ามังระทรงแต่งตั้งอภัยคามณีให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่จึงกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอีกครั้งในยุคราชวงศ์คองบอง ในพ.ศ. 2308 บรรดาหัวเมืองล้านนานำโดยลำพูนกบฏขึ้นต่อพม่า จนพม่าอภัยคามณีต้องใช้กำลังปราบปราม[2][3] จากนั้นพม่าจึงใช้ล้านนาเป็นฐานในการโจมตีอยุธยานำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310

ในพ.ศ. 2275 ขณะนั้นกองกำลังเมืองลำพูนได้ยึดครองเมืองลำปางไว้ นายหนานทิพย์ช้างเป็นพรานมีความสามารถ นำทัพเมืองลำปางขับไล่กำลังของลำพูนออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ ชาวลำปางยกหนานทิพย์ช้างให้เป็นพระยาสุละวะลือไชยหรือเจ้าทิพย์จักรเป็นเจ้าเมืองลำปาง เมื่อพระยาสุละวะลือไชย (หนานทิพย์ช้าง) ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2302 ท้าวลิ้นกางซึ่งเป็นบุตรของเจ้าเมืองลำปางคนก่อนได้ชิงเมืองลำปางไป เป็นเหตุให้เจ้าชายแก้วบุตรของหนานทิพย์ช้างจำต้องหลบหนีไปกรุงอังวะขอความช่วยเหลือจากพม่า ฝ่ายพม่าจึงยกทัพมาตีเมืองลำปางสังหารท้าวลิ้นกางไปเสีย แล้วตั้งเจ้าชายแก้วเป็นเจ้าเมืองลำปางในพ.ศ. 2307 ภายใต้การปกครองของพม่า[2]

ในพ.ศ. 2312 โป่อภัยคามณีเจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรม โป่มะยุง่วนได้มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คนใหม่ สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วนเป็นสมัยแห่งการกดขี่ โป่มะยุง่วนมีนโยบายกลืนล้านนาให้เข้าสู่วัฒนธรรมพม่าอย่างเต็มที่ โป่มะยุง่วนให้เจ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปางมาอยู่ที่เชียงใหม่ นายกาวิละโอรสของเจ้าชายแก้วจึงทำหน้าที่ปกครองเมืองลำปางแทนบิดา

ตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. 2314 แก้

 
พระเจ้ากาวิละแห่งลำปางมีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านอาณาจักรล้านนาต่อการปกครองของพม่าและการโอนล้านนาจากพม่าไปสู่การปกครองแบบสยาม พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "พระมหากษัตริย์เชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2346 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีลงได้สำเร็จในพ.ศ. 2313 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2314 โป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพลงมาตีและล้อมเมืองสวรรคโลก เจ้าพระยาสวรรคโลกบอกลงมาธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้หัวเมืองเหนือประกอบด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เมืองพิษณุโลก พระยาพิชัย (ทองดี) พระยาสุโขทัย (พระเชียงเงิน) ยกไปตีกระหนาบหลังทัพพม่าของโป่มะยุง่วนที่สวรรคโลกได้สำเร็จ โป่มะยุง่วนแตกพ่ายกลับคืนไปเมืองเชียงใหม่[4][1]

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริที่จะตีเมืองเชียงใหม่ จึงเสด็จเรือพระที่นั่งยกทัพเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคขี้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2314 ไปประทับที่เมืองพิชัย พระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่มาขอสวามิภักดิ์ ทรงแต่งตั้งพระยาแพร่มังไชยเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์มาเข้าร่วมทัพด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมกำลังพลที่เมืองพิชัยได้ 15,000 คน[1] มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) และพระยามหาราชครูฯอยู่รักษาเรือพระที่นั่งและเรือทั้งปวงที่เมืองพิชัย ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพหัวเมืองเหนือไปเป็นทัพหน้าก่อน จากนั้นเสด็จยกทัพทางบกไปเมืองเชียงใหม่ ยกไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน และเมืองลี้ จนเสด็จกยกทัพถึงเมืองลำพูน

โป่มะยุง่วนตั้งค่ายรับทัพไทยอยู่ที่นอกเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกเข้าตีค่ายของโป่มะยุง่วนแตกพ่ายถอยเข้าเมืองไป ฝ่ายพม่าสละกำแพงดินเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก เข้าไปขึ้นเชิงเทินรักษากำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นใน ฝ่ายธนบุรีเข้าไปตั้งที่กำแพงเมืองชั้นนอกล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ ในเวลากลางคืนมีพระราชโองการให้แม่ทัพนายกองทั้งหลายยกกำลังเข้าโจมตีกำแพงเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า ฝ่ายธนบุรีมี"พระโกษาปาน"[5]เป็นทัพหน้า นำกำลัง 7,000 คน เข้าประชิดประตูไลแกง (ประตูหล่ายแกง หรือ ประตูระแกง) ในวันเดือนห้าขึ้นสามค่ำ (18 มีนาคม พ.ศ. 2314) ฝ่ายพม่ายิงปืนตอบโต้อย่างสามารถทำให้ฝ่ายไทยถอยออกมา หลังจากสู้รบกันเก้าวัน[2] สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระดำริว่าเมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการที่มั่นคง ดังคำปรัมปราที่กล่าวกันมาแต่สมัยอยุธยาว่า กษัตริย์พระองค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งแรกจะไม่สำเร็จต้องยกมาตีครั้งที่สองจึงจะสำเร็จ การรบครั้งนี้ฝ่ายพม่ามีกำลังเข้มแข็งเกินกว่าจะเอาชนะได้ หลังจากประทับที่เมืองเชียงใหมได้เก้าวัน จึงมีพระราชโองการให้ถอยทัพกลับ[4][1] ในวันขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนห้า (26 มีนาคม พ.ศ. 2314)

ฝ่ายโป่มะยุง่วนเมื่อเห็นว่าฝ่ายไทยถอยทัพกลับแล้ว จึงให้ทัพพม่ายกติดตามหลังมา ระดมยิงปืนใส่กองทัพหัวเมืองเหนือทัพหลัง จนแตกพ่ายถอยลงมาถึงทัพหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหยุดทัพถอดพระแสงดาบ ทรงพระแสงดาบขับไล่ข้าศึกด้วยพระองค์เอง ไล่ต้อนพลทั้งหลายให้กลับขึ้นสู้กับพม่าใหม่อีกครั้ง เข้าสู้รบถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ถอยกลับไปเชียงใหม่[4][1]

ความขัดแย้งระหว่างโป่มะยุง่วนและพระยาจ่าบ้าน แก้

สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วน มีนโยบายลดทอนอำนาจของขุนนางล้านนาท้องถิ่นเดิม[1] ในพ.ศ. 2313 พม่ามีคำสั่งให้ชายล้านนาทุกคนสักขา หญิงล้านนาทุกวันเจาะหูใส่ม้วนลาน[2] ดังธรรมเนียมพม่า ขุนนางเชียงใหม่ประกอบด้วยพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) และนายกาวิละเมืองลำปาง เดินทางไปเมืองอังวะกราบทูลร้องเรียนต่อพระเจ้ามังระ ว่าโป่มะยุง่วนใช้อำนาจบาตรใหญ่ พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการให้โป่มะยุง่วนเคารพสิทธิอำนาจของขุนนางล้านนาเดิม แต่พระราชโองการของพระเจ้ามังระไม่ได้กำหนดระบุขอบเขตอำนาจระหว่างโป่มะยุง่วนและขุนนางล้านนาให้ชัดเจน[3] เมื่อพระยาจ่าบ้านกลับจากเมืองอังวะมาเชียงใหม่แล้ว ใช้ให้นายหม่องน้องชายของตนไปวางตราของพระเจ้ามังระที่สนามหลวง โป่มะยุง่วนไม่ยอมรับท้องตราด้วยเหตุผลว่าพระยาจ่าบ้านไม่มาวางตราเองให้น้องชายมาวางแทนผิดกฏ[3][1] โป่มะยุง่วนเรียกตัวพระยาจ่าบ้านให้มาพบแต่พระยาจ่าบ้านขัดขืนไม่มา โป่มะยุง่วนจึงส่งกองกำลังไปจับกุมตัวพระยาจ่าบ้าน เกิดการสู้รบขึ้นใหญ่โตในเมืองเชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2314 นายหม่องน้องชายของพระยาจ่าบ้านเสียชีวิตในที่รบ[3] พระยาจ่าบ้านมีกำลัง 300 คน[5] ไม่อาจต้านทานพม่าได้พ่ายแพ้ พระยาจ่าบ้านหลบหนีไปพึ่งโปสุพลาหรือเนเมียวสีหบดีที่เมืองหลวงพระบาง

ในพ.ศ. 2315 พระเจ้าศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศราชของพม่า ทูลพระเจ้ามังระว่าฝ่ายสยามหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกสลายพ่ายแพ้ให้แก่พม่านั้น กลับตั้งตัวฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกภายใต้การนำของพระยาตากและตั้งราชธานีใหม่ที่บางกอก พระเจ้ามังระมีพระราชดำริว่าหากปล่อยให้สยามฟื้นฟูขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นมาจะเป็นภัยอันตรายในอนาคต สมควรที่จะจัดทัพพม่าเข้าไปปราบสยามให้ราบคาบอีกครั้ง พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้เนเมียวสีหบดีหรือโปสุพลายกทัพไปเชียงใหม่ล้านนา เพื่อเตรียมทัพสำหรับเข้าโจมตีกรุงธนบุรี ในเวลานั้นเนเมียวสีหบดียกทัพไปหลวงพระบาง พระยาจ่าบ้านเข้าหาเนเมียวสีหบดี เมื่อเนเมียวสีหบดียกทัพกลับเชียงใหม่ โป่มะยุง่วนเรียกร้องให้เนเมียวสีหบดีส่งตัวพระยาจ่าบ้านมาให้โป่มะยุง่วนลงโทษ แต่เนเมียวสีหบดีไม่ทำตามและปกป้องพระยาจ่าบ้าน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเนเมียวสีหบดีและโป่มะยุง่วน

พม่าตีเมืองพิชัย แก้

 
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ซ้าย) และพระยาพิชัย (ขวา) ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ พระยาพิชัยเป็นหนึ่งในแม่ทัพมือขวาของเจ้าตากและเป็นที่รู้จักในนามพระยาพิชัยดาบหัก

หลังจากเสร็จศึกเมืองหลวงพระบางแล้ว ในพ.ศ. 2315 เนเมียวสีหบดีจึงส่งชิกชิงโบ[1]แม่ทัพพม่ายกทัพจากเชียงใหม่ลงมาโจมตีเมืองลับแล พม่ายึดเมืองลับแลได้แล้วยกต่อลงมาโจมตีเมืองพิชัย ชิกชิงโบตั้งค่ายอยู่ที่วัดเอกา พระยาพิชัย (ทองดี) ป้องกันรักษาเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยเหลือเมืองพิชัย จนฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ถอยไปในที่สุด[4][1]

ปีต่อมา ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2316 โปสุพลาหรือเนเมียวสีหบดียกทัพลงมาโจมตีเมืองพิชัยอีกครั้ง พระยาพิชัยและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพขึ้นไปรบกับพม่าที่กลางทางก่อนถึงเมืองพิชัย จนฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ไปในวันอังคารแรมเจ็ดค่ำเดือนยี่ (4 มกราคม พ.ศ. 2317) พระยาพิชัย (ทองดี) ถือดาบสองมือเข้าต่อสู้กับพม่าด้วยตนเองจนดาบหัก ได้รับสมยานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"[4][1]

กบฏมอญต่อพม่า พ.ศ. 2317 แก้

ในพ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้ปะกันหวุ่นหรือแมงยีกามะนีจันทา (Mingyi Kamani Sanda) เจ้าเมืองเมาะตะมะให้จัดเกณฑ์ทัพเข้ารุกรานสยาม ในพ.ศ. 2317 ปะกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตะมะ สั่งให้หัวหน้าชาวมอญได้แก่พระยาเจ่ง (Binnya Sein) ตละเสี้ยง ตละเกล็บ ยกทัพหน้าชาวมอญเข้ารุกรานสยาม ปรากฏว่าเจ้าเมืองเมาะตะมะได้ขูดรีดทรัพย์สินจากชาวมอญเมืองเมาะตะมะ ได้รับความเดือดร้อน เหตุรู้ไปถึงพระยาเจ่งและบรรดาหัวหน้าชาวมอญ มีความขุ่นเคืองต่อพม่า[3] จึงกบฏขึ้นต่อมายกทัพกลับมายึดเมืองเมาะตะมะและยกทัพต่อไปยึดเมืองย่างกุ้งได้ ฝ่ายพม่ายึดเมืองย่างกุ้งกลับคืนได้ ทำให้พระยาเจ่ง ตละเกล็บ และผู้นำชาวมอญทั้งหลายรวมทั้งชาวมอญจำนวนมาก ต่างอพยพลี้ภัยเข้าในสยามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านแม่ละเมา

สงครามตีเมืองเชียงใหม่ แก้

ในพ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริที่จะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุว่าฝ่ายพม่าในล้านนายกทัพลงมาโจมตีหัวเมืองเหนือเช่นสวรรคโลก พิชัย บ่อยครั้ง และมีข่าวว่าฝ่ายพม่าที่ล้านนาจะยกลงมาโจมตีในอีกไม่ช้า มีพระราชโองการให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองเหนือสิบเมือง จำนวน 20,000 คน ไปชุมนุมไว้ที่เมืองตาก และเกณฑ์ทัพจากกรุงธนบุรีเป็นจำนวน 15,000 คน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพออกจากพระนครธนบุรี พร้อมทั้งช้างม้าสรรพาวุธต่าง ๆ ในวันอังคารแรมสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบสอง (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2317) เสด็จยกพยุหยาตราทัพเรือทางชลมารค ขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วเสด็จไปประทับที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพหน้าจากกรุงธนบุรีขึ้นไปเมืองเถิน

ในเวลานั้น โป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ถวายรายงานเข้าไปที่กรุงอังวะว่าพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละเป็นกบฏ ทางกรุงอังวะจึงมีท้องตราเรียกตัวพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละไปเมืองอังวะ แต่เนเมียวสีหบดีได้ปกป้องพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละตั้งทัพอยู่ที่ประตูท่าแพ ไม่ยอมให้โป่มะยุง่วนจับตัวพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละไป[3] พระยาจ่าบ้านเมื่อเห็นว่าฝ่ายธนบุรียกทัพขึ้นมาโจมตีเมืองเชียงใหม่ จึงมีความคิดที่จะย้ายไปสวามิภักดิ์ต่อสยามกรุงธนบุรี พระยาจ่าบ้านส่งสารลับถึงพระยากาวิละที่ลำปางว่า ขอให้ร่วมมือกันปลดปล่อยตนเองจากอำนาจพม่าและไปเข้ากับฝ่ายสยาม[2] พระยากาวิละเห็นชอบด้วย พระยาจ่าบ้านจึงบอกแก่เนเมียวสีหบดีว่า ขอรับอาสาเป็นกองหน้ายกทัพลงไปขุดลอกแม่น้ำปิงซึ่งเต็มไปด้วยหินเกาะแก่งและเศษดินโคลน เพื่อให้สะดวกแก่ทัพเรือพม่าในการยกลงมา เนเมียวสีหบดีจึงมีคำสั่งให้พระยาจ่าบ้านยกกองกำลังประกอบด้วยชาวพม่าและไทใหญ่ 70 คน และชาวล้านนา 50 คน[2] ลงมาตามแม่น้ำปิงก่อนเพื่อทำความสะอาดแม่น้ำ เมื่อพระยาจ่าบ้านเดินทางลงมาถึงเมืองฮอต พระยาจ่าบ้านได้สังหารชาวพม่าและไทใหญ่ 70 คน และเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรีที่เมืองเถิน เจ้าพระยาจักรีจึงส่งตัวพระยาจ่าบ้านลงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองตาก

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับอยู่เมืองตากนั้น ชาวมอญได้เริ่มอพยพลี้ภัยจากพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ขุนอินทคีรีนายด่านเมืองตากนำชาวมอญและสมิงสุหร่ายกลั่นหัวหน้าชาวมอญมาเข้าเฝ้า

ฝ่ายเมืองลำปาง พระยากาวิละและพี่น้องรวมกันเจ็ดคนคิดออกอุบายกำจัดพม่าออกไปจากเมืองลำปาง พระยากาวิละให้พระยาคำโสมแสร้งยกทัพออกไปตั้งรับฝ่ายไทย เหลือกองกำลังพม่ารักษาเมืองลำปางอยู่จำนวนหนึ่ง พระยากาวิละยกกองกำลังเข้าสังหารทหารพม่าในเมืองลำปาง ทหาารพม่าจากลำปางหลบหนีไปฟ้องพระยาคำโสม พระยาคำโสมจึงว่าพระยากาวิละเป็นกบฏต่อพม่า เป็นความคิดของพระยากาวิละคนเดียวพี่น้องคนอื่นไม่เกี่ยวข้อง บรรดาทหารพม่าไม่เชื่อนำความไปแจ้งแก่โป่มะยุง่วนที่เมืองเชียงใหม่ โป่มะยุง่วนตระหนักว่าพระยากาวิละและพี่น้องเมืองลำปางเป็นกบฏต่อพม่า จึงจับกุมเจ้าชายแก้วบิดาของพระยากาวิละที่เชียงใหม่จำคุกไว้ พระยาคำโสมจึงรีบมีหนังสือถึงโป่มะยุง่วน กล่าวว่าพระยากาวิละเป็นกบฏคนเดียวคนอื่่นไม่เกี่ยวข้อง โป่มะยุง่วนตอบว่าจะยังไม่ประหารเจ้าชายแก้วแต่จำคุกไว้รอสอบสวน[2]

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยากำแหงวิชิต คุมทัพ 2,000 คน คอยรับชาวมอญและรักษาด่านแม่ละเมาไว้ที่เมืองตาก สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทรงช้างต้นพังเทพลีลา เสด็จออกจากเมืองตากทางสถลมารคในวันศุกร์เดือนอ้ายแรมห้าค่ำ (23 ธันวาคม พ.ศ. 2317) ไปเมืองลำปาง เจ้าพระยาจักรีแบ่งทัพจำนวน 5,000 คน ให้พระยากำแพงเพชร (บุญมี) ยกทัพขึ้นไปทางเมืองลี้อีกทาง[2] โดยมีพระยาจ่าบ้านเป็นผู้นำทาง ปรากฏว่าพระยาจ่าบ้านและพระยากำแพงเพชรพบกับทัพของฝ่ายพม่าที่ท่าวังตาล นำไปสู่การรบที่วังตาล พระยากำแพงเพชรพ่ายแพ้แตกพ่ายลงมา

เจ้าพระยาจักรียกทัพจากเมืองเถินขึ้นไปเมืองลำปาง พระยากาวิละส่งน้องชายคือพระยาดวงทิพย์ออกมาต้อนรับเจ้าพระยาจักรี และพระยากาวิละเองออกไปรับเสด็จต้อนรับสมเด็จพระเจ้าตากสิน[2] พระยากาวิละนำทางทัพหลวงจากลำปางไปลำพูนทางดอยดินแดงและดอยขา ฝ่ายพระยากำแพงเพชรและพระยาจ่าบ้านยกทัพเข้าโจมตีพม่าที่วังตาลอีกครั้ง จนได้รับชัยชนะ พม่าถอยจากวังตาลกลับไปเชียงใหม่

ฝ่ายพม่าตั้งค่ายขุดสนามเพลาะรับฝ่ายไทยที่ริมแม่น้ำปิงเหนือเมืองลำพูน เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าพระยาสวรรคโลก ยกทัพเข้าสู้กับพม่าที่เมืองลำพูน นำไปสู่การรบที่ลำพูน เจ้าพระยาจักรียังติดพันค่ายพม่าไม่สามารถข้ามแม่น้ำปิงไปได้ เจ้าพระยาจักรีให้หมื่นศรีสหเทพลงมากราบทูลที่ลำปางว่ายกข้ามแม่น้ำปิงไปไม่ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริ ว่าฝ่ายพม่าอาจยกติดตามชาวมอญเข้ามาทางด่านแม่ละเมาหรือด่านเจดีย์สามองค์ได้ทุกเมื่อ การศึกตีเมืองเชียงใหม่ไม่ควรรั้งรอเนิ่นช้า ควรรีบสำเร็จโดยเร็ว[1] จึงพระราชทานปื่นใหญ่จ่ารงค์ให้หมื่นศรีสหเทพนำพระราชโองการไปถ่ายทอดให้แก่เจ้าพระยาจักรี ให้ทำนั่งร้านเอาปืนใหญ่จ่ารงค์ขึ้นยิงพม่าที่ลำพูน เจ้าพระยาจักรีถึงสามารถเอาชนะพม่าได้ที่ลำพูน ให้พระยาธิเบศร์บดีลงมากราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัส พระราชทานพระแสงปืนสั้นให้เจ้าพระยาจักรีสองกระบอก ให้เจ้าพระยาสุรสีห์หนึ่งกระบอก ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกหนึ่งกระบอก[4] จากนั้นแม่ทัพทั้งสามจึงยกทัพเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่

การล้อมเมืองเชียงใหม่ แก้

 
กำแพงเมืองทางเหนือของเชียงใหม่และประตูช้างเผือก ซึ่งชาวพม่าบุกออกจากเชียงใหม่ในการล่าถอยและพ่ายแพ้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2318

หลังจากเอาชนะพม่าที่ลำพูนได้แล้ว เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าพระยาสวรรคโลก ยกทัพเข้าประชิดล้อมเมืองเชียงใหม่ ตั้งค่าย 34 ค่าย ล้อมเมืองเชียงใหม่ชักปีกกาถึงกันตลอดสามด้าน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพหลวงมาประทับที่ลำพูนในวันอังคารเดือนยี่ขึ้นสองค่ำ (3 มกราคม พ.ศ. 2318) ชาวล้านนามากราบทูลว่า กองทัพพม่าจำนวน 2,000 คนเศษ จากเมืองเมาะตะมะ ยกติดตามชาวมอญเข้ามาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ ยกทัพ 1,800 คนเศษไปทางบ้านจอมทอง ไปตีพม่าที่บ้านนาเกาะดอกเหล็กนั้น[4]

เนเมียวสีหบดีและโป่มะยุง่วนป้องกันเมืองเชียงใหม่ ยกเข้าโจมตีฝ่ายไทยที่ล้อมไว้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ[1] ชาวล้านนาเมืองเชียงใหม่หลบหนีออกจากเมืองจำนวนมาก ฝ่ายพม่ายิงปืนใหญ่ใส่ค่ายของเจ้าพระยาสวรรคโลกทางเหนือ เจ้าพระยาสวรรคโลกเดินทางมาเข้าเฝ้าที่ลำพูนนำกระสุนปืนใหญ่ทองคำสองลูกมาถวาย และเสมียนตราของเจ้าพระยาสวรรคโลกถวายรายงานว่าได้เกลี้ยกล่อมชาวล้านนาซึ่งลี้ภัยอยู่ในป่าเขา เป็นชาวเชียงใหม่และชาวลำพูน ให้เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวน 5,000 คนเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พราหมณ์นำลูกกระสุนปืนทองคำทั้งสองลูกนั้น ไปทำพิธีฝังไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองลำพูน และทรงแต่งตั้งเสมียนตราคนนั้นของเจ้าพระยาสวรรคโลกให้เป็นพระยาอักษรวงศ์[4] ควบคุมชาวล้านนาชายฉกรรจ์ที่เกลี้ยกล่อมมาได้ไปเข้ากับทัพของเจ้าพระยาจักรี

พระยากำแหงวิชิตที่เมืองตากส่งพระราชฤทธานนท์มากราบทูลที่ลำพูนว่า นายสุวรรณเทวะกับทามุมวยหัวหน้าชาวมอญ สู้รบกับพม่าหลบหนีเข้ามาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก มีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ยกทัพกลับมา แล้วให้พระยากำแหงวิชิตแบ่งกำลังจากเมืองตากยกไปรักษาที่บ้านนาเกาะดอกเหล็กแทน

ทางฝั่งเหนือของเมืองเชียงใหม่เจ้าพระยาสวรรคโลกมีความล่าช้าในการตั้งค่าย ตั้งค่ายไม่ตลอดถึงกัน[1] เจ้าพระยาจักรีให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่า ถ้าเจ้าพระยาสวรรคโลกตั้งค่ายทางเหนือเรียบร้อยเมื่อใดจะให้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทุกด้าน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงห้ามไว้ มีพระราชโองการไม่ให้เข้าตีเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทุกด้าน ให้เข้าตีทีละด้าน เพราะหากฟากไหนเสียทีข้าศึกจะทำให้ฟากอื่นทั้งหมดพ่ายแพ้ไปด้วย[4][1] มีพระราชโองการให้ขุดคูเป็นทางเข้าประชิดเมืองเชียงใหม่ ให้คนเดินเลี่ยงทางปืนเข้าไป และวางปืนจุกช่องเตรียมทุกค่าย พระยาวิจิตรนาวีนำพระราชโองการมาถ่ายทอดให้แก่เจ้าพระยาจักรี

ในวันเสาร์ เดือนยี่ขึ้นสิบสามค่ำ (14 มกราคม พ.ศ. 2318) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทรงช้างต้นพลายคเชนทร์บรรยงค์ เสด็จยกทัพหลวงจากลำพูน ไปทอดพระเนตรค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ เพื่อเร่งให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว[1] ในวันเดียวกันนั้น เจ้าพระยาจักรียกทัพเข้าตีค่ายพม่าทางตะวันออกของเมืองเชียงใหม่แตกพ่ายไปหมดสิ้น เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าตีค่ายพม่าสามค่ายที่ประตูท่าแพแตกพ่ายไป ตำรวจนำความากราบทูล สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัส ยกพระหัตถ์ตบที่พระเพลาทั้งสองข้าง ตรัสว่า "จะว่าพี่ฤาน้องดีไฉนในครั้งนี้"[4]

ในคืนวันนั้น เนเมียวสีหบดีและโป่มะยุง่วนสละเมืองเชียงใหม่ ยกทัพฝ่าวงล้อมของฝ่ายไหนหนีไปทางประตูช้างเผือกทางทิศเหนือ ซึ่งเจ้าพระยาสวรรคโลกตั้งค่ายไม่ชิดกันตลอดเปิดช่องให้พม่าฝ่าออกไปได้ ฝ่ายพม่ากรูแย่งกันออกทางประตูท่าแพเหยียบกันเสียชีวิตประมาณสองร้อยคนเศษ[4] วันรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ขึ้นสิบสี่ค่ำ (15 มกราคม พ.ศ. 2318) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาทอดพระเนตรค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่แม่ทัพนายกองท้าวพระยาทั้งหลายเข้าเฝ้าพร้อมกัน ตรัสถามว่าการที่พม่าปราชัยถอยทัพหนีไปครั้งนี้เป็นผลงานของผู้ใด แม่ทัพขุนนางทั้งปวงตอบว่า เป็นเพราะพระราชกฤษดาเดชานุภาพ[4] ในวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกพยุหยาตราเข้าเมืองเชียงใหม่ พระราชทานฉลองพระองค์เข้มขาบและผ้าส่านให้แก่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นรางวัลเสมอกัน และปรึกษาโทษของเจ้าพระยาสวรรคโลกที่ตั้งค่ายไม่ตลอดถึงกันเป็นเหตุให้พม่าสามารถฝ่าหนีออกไปได้ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนเจ้าพระยาสวรรคโลก 50 ทีแล้วกุมขังไว้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพิชัยราชายกทัพไปตีเมืองพะเยาของพม่าเพื่อชดใช้ความผิด แต่เจ้าพระยาพิชัยราชาปฏิเสธทูลขอให้ลงพระราชอาญาตนแก่เองให้ถึงสิ้นชีวิต[6]

หลังจากที่ฝ่ายไทยได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ปืนใหญ่น้อย 2,110 กระบอก ม้า 200 ตัว ชาวมอญ 500 คน และชาวสยามเมืองสวรรคโลก 500 คน สมเด็จพระเจ้าตากสินพิโรธชาวเมืองสวรรคโลก ที่นำทางทัพพม่าให้มาเมืองเชียงใหม่ ให้ลงพระราชอาญาคลอกไฟเสียสิ้น แม่ทัพนายกองขอพระราชทานอภัยโทษ ให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างแทน[4]

เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระยากาวิละมีความกังวลถึงบิดาของตนเจ้าชายแก้ว นายน้อยวิธูรและนายน้อยสุภมิตต์ชายเชียงใหม่ได้บอกแก่พระยากาวิละว่า เจ้าชายแก้วยังมีชีวีตอยู่ปลอดภัยดีในที่กุมขัง[5] พระยากาวิละจึงใช้คนให้ง้างคุกนำเจ้าชายแก้วบิดาของตนออกมาได้สำเร็จ ในขณะพงศาวดารพม่าระบุว่า โป่มะยุง่วนจับกุมเจ้าชายแก้วและครอบครัวของพระยากาวิละไปเมืองอังวะ พระยากาวิละจึงต้องนำกำลังไปช่วยบิดาของตนและครอบครัวคืนมา[3][1]

ฝ่ายโป่มะยุง่วนและเนเมียวสีหบดีถอยทัพไปทางเมืองหางและเมืองนาย[3] จากนั้นไปเมืองเชียงแสน เมื่อพม่าเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่ไทยแล้ว พม่าจึงจำต้องย้ายฐานอำนาจในล้านนาจากเชียงใหม่ไปอยู่ที่เชียงแสน โป่มะงุง่วนได้เป็นเมี้ยวหวุ่นหรือเจ้าเมืองเชียงแสน

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง แก้

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนมัสการพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่ และเสด็จทอดพระเนตรเรือนของโป่มะยุง่วน[6] วันรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือนยี่แรมสามค่ำ (19 มกราคม พ.ศ. 2317) สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่ ทรงแต่งตั้งขุนนางเข้าปกครองหัวเมืองล้านนาดังนี้;[2][5][6]

  • พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่
    • พระยาวังพร้าว หรือ นายน้อยก้อนแก้ว หลานของพระยาจ่าบ้าน เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่
    • นายน้อยโพธิ์ เป็นราชวงศ์เมืองเชียงใหม่
  • จักกายแคง เป็นพระยาอภัยวงศ์ เจ้าเมืองลำพูน
    • นายน้อยต่อมต้อ น้องชายของจักกายแคง เป็นอุปราชเมืองลำพูน
  • นายน้อยโพธิ์ก้อนทอง เป็น พระยาสุรวงศ์

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี นำกำลัง 3,000 คน[3] อยู่รักษาการเมืองเชียงใหม่ คอยระวังพม่าที่อาจยกทัพมารุกรานอีก จากนั้นจึงเสด็จจากเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง พระยากาวิละนำพี่น้องรวมกันเจ็ดคนเข้าเฝ้าฯ ทรงแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง นายน้อยธรรมน้องชายของพระยากาวิละเป็นอุปราชเมืองลำปาง ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง เจ้าพระยาสุรสีห์ ได้สู่ขอนางศรีรจจาผู้เป็นน้องสาวของพระยากาวิละ แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเดินทางกลับพิษณุโลกทางเมืองสวรรคโลก[2][5]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จจากลำปางไปทางเมืองตาก กลับคืนสู่พระนครธนบุรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2317 ในเวลานั้น อะแซหวุ่นกี้ส่งทัพเข้ารุกรานสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ นำไปสู่สงครามบางแก้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีที่เชียงใหม่เร่งยกทัพลงมาช่วยรบพม่าที่บางแก้วราชบุรี

เกลี้ยกล่อมเมืองน่าน แก้

ในระหว่างการล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น เจ้าน้อยวิธูรแห่งเมืองน่านอยู่ภายในเมืองเชียงใหม่ เมื่อฝ่ายธนบุรีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว เจ้าพระยาจักรีได้เกลี้ยกล่อมเมืองน่าน ให้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม[4] ฝ่ายธนบุรีตั้งให้เจ้าน้อยวิธูรเป็นเจ้าเมืองน่านในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318 เจ้าหนานมโนเจ้าเมืองน่านองค์เดิมจึงสละราชสมบัติให้เจ้าน้อยวิธูรมาเป็นเจ้าเมืองน่านแทนตามการแต่งตั้งจากธนบุรี เมื่อเจ้าพระยาจักรียกทัพลงไปที่ศึกบางแก้วได้นำขุนนางเมืองน่านไปเข้าเฝ้าฯด้วย อีกสองเดือนต่อมา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2318 ฝ่ายพม่าที่เมืองเชียงแสนเมื่อทราบว่าเมืองน่านหันไปขึ้นกับธนบุรีแล้ว จึงยกทัพลงมาโจมตีเมืองน่านผ่านทางปากงาว เจ้าน้อยวิธูรพาชาวเมืองน่านอพยพหนีพม่าลงมาอยู่ที่ท่าปลา แล้วยกทัพขึ้นไปรบพม่าสามารถขับไล่พม่ากลับไปได้ เจ้าน้อยวิธูร พร้อมทั้งบิดาคือเจ้าอริยวงษ์ นำชาวเมืองน่านไปลี้ภัยพม่าอยู่ที่บ้านนาพัง แล้วเจ้าน้อยวิธูรจึงเดินทางไปยังเมืองลำปางเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระยากาวิละ[7]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2319 ในขณะที่เจ้าน้อยวิธูรกำลังอยู่ที่เมืองลำปาง เจ้าอริยวงษ์ตัดสินใจนำชาวเมืองน่านทั้งหมดอพยพไปพึ่งพระเจ้าศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ เจ้าอริยวงษ์และชาวเมืองน่านทั้งหมดจึงอาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์ ในพ.ศ. 2320 เจ้าน้อยวิธูรเดินทางจากลำปางมาก่อตั้งเมืองน่านขึ้นใหม่ที่เมืองอวน พระยากาวิละกล่าวว่าเจ้าน้อยวิธูรเป็นกบฏต่อธนบุรี[7] เรียกตัวให้เจ้าน้อยวิธูรมาพบที่เมืองงั่ว เมื่อเจ้าน้อยวิธูรมาพบกับพระยากาวิละที่เมืองงั่วแล้ว พระยากาวิละให้จับกุมเจ้าน้อยวิธูรพร้อมทั้งครอบครัวใส่ขื่อคาลงไปยังกรุงธนบุรี เจ้าน้อยวิธูรถึงแก่พิราลัยที่กรุงธนบุรี เมืองน่านจึงกลายเป็นเมืองร้างนับแต่นั้น

ต่อมาในสงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จในพ.ศ. 2322 ฝ่ายธนบุรีกวาดต้อนชาวเวียงจันทน์รวมทั้งเจ้าอริยวงษ์และชาวเมืองน่านในเวียงจันทน์ลงไปอยู่ที่ธนบุรี เจ้าอริยวงษ์แห่งเมืองน่านถึงแก่พิราลัยที่กรุงธนบุรีในพ.ศ. 2324[7]

พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2320 แก้

 
วัดพระธาตุลำปางหลวงในจังหวัดลำปาง ที่ซึ่งพิธีดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ากาวิละและพี่น้องของเขาเพื่อสาบานตนต่อพระเจ้าตากสินได้ร่วมสวามิภักดิ์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2318

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2318 โป่มะยุง่วนและเนเมียวสีหบดีที่เมืองเชียงแสน ยกทัพพม่าจากเชียงแสนเข้าประชิดเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) จึงบอกลงไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพหัวเมืองเหนือขึ้นมาช่วยเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายโป่มะยุง่วนและเนเมียวสีหบดีเมื่อฝ่ายไทยยกทัพมาช่วยเชียงใหม่จึงถอยทัพกลับไป อะแซหวุ่นกี้อาศัยจังหวะที่เจ้าพระยาทั้งสองอยู่ที่เชียงใหม่ ยกทัพเข้าทางด่านแม่ละเมาเข้าโจมตีหัวเมืองเหนือของไทย นำไปสู่สงครามอะแซหวุ่นกี้

พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) กษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่ ทรงเห็นว่าดินแดนแคว้นล้านนาเดิมเป็นของพม่า ต้องการที่จะยึดล้านนากลับไปเป็นของพม่าดังเดิม ในวันราชาภิเษกของพระเจ้าจิงกูจาในเดือนมกราคมพ.ศ. 2320 พระเจ้าจิงกูจามีพระราชโองการให้แม่ทัพพม่าอำมะลอกหวุ่นเนเมียวสีหสุ (Amyauk Wun Nemyo Thihathu) และพระยาอู่ (Binnya U) แม่ทัพชาวมอญ ยกทัพพม่าจำนวน 15,000 คน[3] ลงมาโจมตีล้อมเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่ มีกำลังไม่เพียงพอที่จะสู้รบกับทัพพม่าขนาดใหญ่ได้ พระยาวิเชียรปราการและอุปราชผู้เป็นหลานจึงสละเมืองเชียงใหม่ถอยลงมาอยู่ที่เมืองระแหง ฝ่ายพม่ายกทัพต่อไปโจมตีเมืองลำปาง พระยากาวิละและพี่น้องไม่สามารถต้านทานพม่าได้เช่นกัน ถอยลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก[2]

หลังจากสงครามพม่าตีเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2320 ชาวเมืองเชียงใหม่ออกจากเมืองกระจัดกระจาย เมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างนับตั้งแต่นั้น "เวียงเชียงใหม่เปนป่ารุกขะอุกต้นด้วยคุ่มไม้เครือเขาเถาวัลลิ์ เปนที่อยู่แรดช้างเสือหมี ผู้คนค็บ่หลาย"[5] หลังจากที่พม่าถอยทัพกลับไปแล้วพระยาวิเชียรปราการและอุปราชขึ้นมาตั้งหลักที่วังพร้าว ปรากฏว่าพระยาวิเชียรปราการเกิดความขัดแย้งกับอุปราชเรื่องการสะสมเสบียง พระยาวิเชียรปราการจึงสังหารอุปราชเสียชีวิตไป พระยากาวิละและพี่น้องสามารถกลับขึ้นไปอยู่เมืองลำปางได้ดังเดิม ในขณะที่พระยาวิเชียรปราการไม่สามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาได้ ในพ.ศ. 2322 พระยาวิเชียรปราการเดินทางลงไปเข้าเฝ้าฯที่ธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิพากษาโทษของพระยาวิเชียรปราการซึ่งได้สังหารอุปราชผู้เป็นหลานของตนเอง ทรงลงพระราชอาญาจำคุกพระยาวิเชียรปราการไว้ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ถึงแก่กรรมในคุกนั้น[2][5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ โปรดให้พิมพ์คราวแรก ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงปลื้มจิตร ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๑ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; February 15, 1916.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.
  6. 6.0 6.1 6.2 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  7. 7.0 7.1 7.2 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐. เรื่อง ราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน ให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. พิมพ์ครั้งแรก ในงานปลงศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑. พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร กรุงเทพฯ.