พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง)

พระยาไชยสงคราม[1] พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม[2][3][4][5] พระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ พ่อเจ้าทิพย์ช้าง () เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางในช่วง พ.ศ. 2275 - 2302 (จ.ศ. 1120) และต้นราชวงศ์ทิพย์จักร

พระยาไชยสงคราม
หนานทิพย์ช้าง
พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม
พระยานครลำปาง
ครองราชย์พ.ศ. 2275 - 2302
รัชสมัย27 ปี
ก่อนหน้าท้าวมหายศ
ถัดไปเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
กษัตริย์พระเจ้าตะนินกันเหว่
พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี
พระเจ้าอลองพญา
ประสูติพ.ศ. 2217
ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
หนานทิพย์ช้าง
พิราลัยพ.ศ. 2302 (85 พรรษา)
เมืองลำปาง
ราชเทวีแม่เจ้าปิมปามหาเทวี
พระราชบุตร
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ศาสนาเถรวาท

พระประวัติ

แก้

พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เดิมเป็นสามัญชนชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันคือตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร) มีนามเดิมว่า "ทิพย์ช้าง" เกิดในราวปี พ.ศ. 2217 ได้บวชเรียนที่วัดปงยางคก และสึกออกมาประกอบอาชีพพรานป่า มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ และมีความสามารถในการขับไล่และตัดหางช้างที่มารบกวนพืชผลของชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงขนานนามว่า "หนานทิพย์ช้าง"[6] หนานทิพย์ช้าง มีภรรยาคนหนึ่งชื่อ "นางปิมปา" ชาวบ้านหนาดคำ แคว้นบ้านเอื้อม (ปัจจุบันคือตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง)

ในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา นครเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของพม่า ส่วนลำปางเป็นนครรัฐอิสระ กระทั่งท้าวหนานมหายศ เจ้าเมืองลำพูนยกทัพมาตีชนะเมืองลำปาง และตั้งศูนย์บัญชาการที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เหล่าบรรดาประชาชนจึงได้ขอให้หนานทิพย์ช้าง นายพรานผู้เก่งกล้าและเชี่ยวชาญอาวุธปืนยาวและหน้าไม้ เป็นผู้นำในการกอบกู้นครลำปาง โดยสามารถรบชนะและสังหารท้าวมหายศได้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ชาวเมืองจึงร่วมกันสถาปนาหนานทิพย์ช้าง ขึ้นครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2275[7] มีพระนามว่า พระญาสุลวะลือไชย

ด้วยล้านนามีคติว่า "บ่ใจ้เจื้อเจ้าก่ออย่าหวังเป๋นพระญา บ่ใจ้เจื้อเสนาก่ออย่าหวังเป๋นอำมาตย์ บ่ใจ้เจื้อคนแกล้วอาจก่ออย่าหวังเป๋นขุนหาญ บ่ใจ้เจื้อนักก๋านก่ออย่าหวังเป๋นเถ้าแก่"[8] หนานทิพย์ช้างซึ่งเป็นเพียงสามัญชนรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิธรรมในการปกครอง จึงต้องอาศัยความชอบธรรมโดยการแต่งตั้งของกษัตริย์พม่า หนานทิพย์ช้างได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ และได้รับการเฉลิมพระนามจากพระเจ้ากรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ในปี พ.ศ. 2278[9] บางตำราจึงมักออกพระนามรวมกันเป็นพระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม พระองค์ปกครองนครลำปางได้ 27 ปี จึงถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2302

พระราชบุตร

แก้
 
อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง

พระยาสุลวะลือไชยสงคราม มีพระราชโอรสและะพระราชธิดา รวม 6 พระองค์ ตามรายพระนามดังนี้

  • เจ้าชายอ้าย
  • เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าฟ้าเมืองลำปาง ในฐานะประเทศราชของพม่า (2302 - 2317) เป็นเจ้าราชบิดาในเจ้าเจ็ดตน
  • เจ้าหญิงคำทิพ
  • เจ้าหญิงคำปา
  • เจ้าชายพ่อเรือน เจ้าราชบิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 เจ้าบุรีรัตน์ (น้อยกาวิละ) และเจ้าราชวงศ์ (คำมูล)
  • เจ้าหญิงกม (กมลา)

อนุสาวรีย์

แก้

อนุสาวรีย์ ณ ตำบลพระบาท

แก้

อนุสาวรีย์พระยาสุลวลือไชยสงคราม ตั้งอยู่ที่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยความดูแลของเทศบาลนครลำปาง ก่อสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติคุณของเจ้าหนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวะลือไชยสงคราม ในปี พ.ศ. 2527 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เสด็จทรงประกอบพิธีเททอง[10] และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527[11]

โดยจะมีการจัดพิธีบวงสรวงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี

อนุสาวรีย์ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง

แก้

วัดพระธาตุลำปางหลวง มีความสำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพระยาสุลวลือไชยสงคราม ดังปรากฏเป็นรอยกระสุนปืนของพระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณรั้วพระธาตุลำปางหลวง จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

อนุสาวรีย์ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

แก้

อนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้าง ภายในบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมืองลำปาง เป็นอนุสาวรีย์รูปปูนปั้นองค์ยืน ขนาดใกล้เคียงองค์จริง สองมือถือปืน ประทับในศาลาบริเวณลานหน้าวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

 
อนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้าง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

อนุสรณ์สถาน

แก้

สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานพระยาสุลวลือไชยสงคราม บริเวณบ้านหนาดคำ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่เจ้าปิมปามหาเทวี ในพระยาสุลวลือไชยสงคราม และเป็นที่พำนักของหนานทิพย์ช้าง ก่อนจะขึ้นครองนครลำปาง

ภายในบริเวณอนุสรณ์สถานประกอบด้วย อาคารเรือนพ่อเจ้าทิพย์ช้าง เป็นอาคารเรือนไม้ยกพื้นสูง และอาคารแสดงนิทรรศการพ่อเจ้าทิพย์ช้าง

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

มีนักแสดงผู้รับบท พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ได้แก่

อ้างอิง

แก้
  1. สรัสวดี อ๋องสกุล. (2554). ประวัติศาสตร์ล้านนา. สำนักพิมพ์อมรินทร์.
  2. ศิลปะวัฒนธรรม. (2020, August 8). “เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” ต้นวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า-สวามิภักดิ์พม่าจริงหรือ? https://www.silpa-mag.com/history/article_35036
  3. กัลยา เกื้อตระกูล. (2552). ต้นตระกูลเจ้าเมือง สายสกุล ณ ในสยาม. กรุงเทพฯ: ยิปวี กรุ๊ป.
  4. Khananāphō̜n, T. (2008). สิงห์ล้านนา. สำนักพิมพ์ ริช.
  5. Wongtāwan, P. (2009). ประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์ยิปซี กรุ๊ป.
  6. สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, อนุสรณ์สถานพ่อเจ้าทิพย์ช้าง, ลำปาง : สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, 2554
  7. วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช. เจ้าหลวงลำพูน กรุงเทพฯ : อัมรันทร์พริ้นติ้ง. 2552
  8. คำสอนพระยามังราย. หน้า 21
  9. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2514, หน้า 88
  10. อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง[ลิงก์เสีย] จาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันที่ ๑๗ - ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗) เล่ม 101 ตอนที่ 26 หน้า 663 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527
ก่อนหน้า พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ถัดไป
พระยานคร   เจ้าผู้ครองนครลำปาง
(พ.ศ. 2275 - พ.ศ. 2302)
  เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว