พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา)

พระยาวิเชียรปราการ หรือ พระยาจ่าบ้าน (พ.ศ. 2260 – 2325) หรือพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระยาประเทศราชนครเชียงใหม่สมัยกรุงธนบุรี ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2317 - พ.ศ. 2319

พระยาวิเชิยรปราการ (บุญมา)
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
(พระยาประเทศราชนครเชียงใหม่)
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2317 – 2319
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก่อนหน้าโป่มะยุง่วน
(พม่า)
ถัดไปพระยาวชิรปราการ
(ราชวงศ์ทิพย์จักร)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2260
แคว้นเชียงใหม่
เสียชีวิตพ.ศ. 2325 (65 ปี)
กรุงธนบุรี

ประวัติ แก้

เมื่อพระเจ้าอังวะยึดนครเชียงใหม่ได้แล้ว โป่มะยุง่วนแม่ทัพพม่าได้ตั้งพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาสุรสงคราม[1] และมอบหมายให้ไปตีทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นมาตั้งอยู่ที่นครลำพูน แต่พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละกลับเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงสยาม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2317 ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้ตั้งพระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการ[1][2] ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่มีอำนาจปกครองตนเอง ในฐานะเมืองประเทศราชอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งประกอบพิธี ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

เมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยของพระยาวิเชียรปราการ ประสบปัญหาด้านกำลังพลอย่างมาก เนื่องจากบ้านเมืองมีศึกสงครามต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน มีกำลังคนในเมืองเชียงใหม่เพียง 1,900 คน ไม่อาจจะปกป้องรักษาเมืองได้ เมื่อเมืองเชียงใหม่ถูกพม่าล้อมเมืองเป็นเวลา 8 เดือน จนราษฎรประสบภัยอดอยาก จนมีทัพสยามมาช่วยตีจนพม่าแตกพ่ายกลับไป

ราวปี พ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการทรงเห็นว่าเมืองนี้มีไพร่พลน้อยเกินกว่าจะอยู่ยั้งเป็นเมืองต่อไปได้ จึงย้ายไปพำนักที่เมืองลำปาง เพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าเจ็ดตน พระยาวิเชิยรปราการในฐานะที่พระองค์เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พยายามเคลื่อนไหวโดยกลับมาตั้งมั่นในบริเวณรอยต่อระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน จากนั้นได้เคลื่อนไหวจากเมืองลำปางมาที่ท่าวังพร้าว ใน พ.ศ. 2320 ต่อมาจึงมาตั้งมั่นที่เวียงหนองล่อง จากนั้นย้ายไปวังสะแกงสบลี้

ในราว พ.ศ. 2322 พระยาวิเชียรปราการทรงถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีลงโทษให้จำคุกที่กรุงธนบุรีในข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้ว ซึ่งในที่สุดพระยาวิเชิยรปราการก็ทรงถึงแก่พิราลัยที่กรุงธนบุรี เมืองเชียงใหม่ถูกปล่อยร้างไปประมาณอีก 20 ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. 2319- พ.ศ. 2339 พระเจ้ากาวิละจึงได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, ประชุมพงษาวดารภาคที่ 3
  2. วรชาติ มีชูบท (2556) เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค หน้า 4


รัชสมัยก่อนหน้า พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) รัชสมัยถัดไป
โป่มะยุง่วน   เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
(พ.ศ. 2317 - พ.ศ. 2319)
  พระเจ้ากาวิละ
ราชวงศ์ทิพย์จักร