นครน่าน
นครน่าน เป็นนครรัฐบนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน โดยแยกตัวออกมาจากการปกครองของเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2294) และต่อมาเป็นประเทศราชของอาณาจักรพม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาและอาณาจักรธนบุรีตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2331 สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2353) ได้เสด็จลงมากรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี นครน่านจึงมีสถานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นครน่าน | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2270–พ.ศ. 2442 | |||||||||||||
อาณาเขตนครน่าน (สีม่วงด้านบน) | |||||||||||||
สถานะ | นครรัฐเอกราชโดยพฤตินัย (พ.ศ. 2270 - พ.ศ. 2300) ประเทศราชของราชวงศ์อลองพญา (พ.ศ. 2300 - พ.ศ. 2317) • เมืองเทิง (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2329) ประเทศราชของอาณาจักรธนบุรี (พ.ศ. 2318 - พ.ศ. 2323) ประเทศราชของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2442) | ||||||||||||
เมืองหลวง | นครน่าน (พ.ศ. 2270 - พ.ศ. 2318) เมืองท่าปลา (พ.ศ. 2318 - พ.ศ. 2320) เมืองอวน (พ.ศ. 2320 - พ.ศ. 2321) เมืองงั่ว (พ.ศ. 2321 - พ.ศ. 2323) เมืองเทิง (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2329) เมืองท่าปลา (พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2331) เมืองงั่ว (พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2337) เมืองพ้อ (พ.ศ. 2337 - พ.ศ. 2344) นครน่าน (เวียงใต้) (พ.ศ. 2344 - พ.ศ. 2362) นครน่าน (เวียงเหนือ) (พ.ศ. 2362 - พ.ศ. 2400) นครน่าน (เวียงใต้) (พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2442) | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | คำเมือง , ไทลื้อ | ||||||||||||
ศาสนา | พุทธ (เถรวาท) | ||||||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย ภายใต้อาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน) | ||||||||||||
เจ้าผู้ครองนคร | |||||||||||||
• พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2294 | พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ (องค์แรก) | ||||||||||||
• พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2353 | เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ | ||||||||||||
• พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435 | พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช | ||||||||||||
• พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2461 | พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช | ||||||||||||
• พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2474 | เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (องค์สุดท้าย) | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• พม่าสิ้นอิทธิพลจากดินแดนล้านนาตอนล่าง | พ.ศ. 2270 | ||||||||||||
• สวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี | พ.ศ. 2318 | ||||||||||||
• สวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ | พ.ศ. 2331 | ||||||||||||
• สยามรับรองสถานะประเทศราช | พ.ศ. 2343 | ||||||||||||
• ย้ายเมืองน่านไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง | พ.ศ. 2362 | ||||||||||||
• ตั้งอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน)[note 1] | พ.ศ. 2396 | ||||||||||||
• ย้ายเมืองน่านจากเวียงเหนือ (บริเวณดงพระเนตรช้าง) กลับไปยังเวียงใต้ | พ.ศ. 2400 | ||||||||||||
พ.ศ. 2442 | |||||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||||
พ.ศ.2446[1] | 36,972 ตารางกิโลเมตร (14,275 ตารางไมล์) | ||||||||||||
ประชากร | |||||||||||||
• ประมาณ | 397,326 คน (พ.ศ. 2460)[2] | ||||||||||||
สกุลเงิน | เงินทอกน่าน[3], เงินเจียงน่าน | ||||||||||||
| |||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์
แก้การก่อตัวของรัฐ
แก้ในปี พ.ศ. 2270 กบฏตนบุญเทพสิงห์ โค่นล้มผู้ปกครองพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองในดินแดนล้านนาตอนล่าง แม้ว่าพม่าพยายามที่จะย้ายศูนย์กลางการปกครองไปยังเมืองเชียงแสน[4] แต่หัวเมืองล้านนาตอนล่างต่างแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า ได้แก่ นครเชียงใหม่ นครน่าน นครลำปาง นครลำพูน นครแพร่ หัวเมืองล้านนาเหล่านี้แตกแยกออกเป็นเมืองต่างๆ ปกครองตนเองเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ในลักษณะเดียวกับชุมนุมต่างๆ หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ ผู้ซึ่งถูกสถาปนาแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์ตองอู ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านได้ไม่นาน ได้สั่งสมฐานอำนาจในนครน่าน ทำให้สามารถปกครองเมืองน่านได้อย่างยาวนานโดยไม่ถูกอำนาจพม่าแทรกแซงและสามารถสืบทอดอำนาจการปกครองในนครน่านต่อไปได้ภายใต้ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์[5]
ต่อมาราชวงศ์อลองพญา สามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าให้เป็นปึกแผ่น ได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2300 และทำให้นครต่างๆ ในดินแดนล้านนาต่างส่งบรรณาการมาสวามิภักดิ์[6] ในปี พ.ศ. 2306 กองทัพพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ พร้อมทั้งปราบปรามหัวเมืองอื่นๆ ในดินแดนล้านนา แต่ผู้ปกครองพม่าไม่สามารถควบคุมเมืองต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์[5] นครน่าน ร่วมกับเมืองต่างๆ ก่อกบฏต่อพม่า จนกระทั่งนครน่านถูกตีแตกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311[7]
นครน่านระหว่างสงครามพม่า-สยาม
แก้หลังจากนครน่านถูกตีแตก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 ราชสำนักพม่าได้เข้ามาควบคุมการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่านลำดับถัดมา คือ เจ้านายอ้าย เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 53 และองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และเจ้ามโน เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 54 และองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ หลังจากกรุงธนบุรีได้เมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ได้เกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองน่านให้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี และฝ่ายกรุงธนบุรีได้ตั้งเจ้าวิธูรขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2318 โดยเจ้ามโนราชา ทรงยินยอมสละอำนาจและเดินทางออกจากนครน่านไป ฝ่ายพม่าที่เมืองเชียงแสนเมื่อทราบว่าเมืองน่านหันไปขึ้นกับอาณาจักรธนบุรีแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองน่านในเดือนเมษายนทำให้เจ้าวิธูรต้องอพยพเชื้อพระวงศ์และชาวเมืองน่านหนีออกจากเมือง ต่อมาพระยากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้กล่าวหาว่าเจ้าวิธูร เป็นกบฏต่อกรุงธนบุรีและจับกุมเจ้าวิธูรลงไปยังกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2321 ในปีเดียวกัน เจ้ามโน นำผู้คนเข้ามาตั้งที่เมืองงั่ว กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2323 กองทัพพม่าและเมืองยอง ยกมากวาดต้อนชาวเมืองน่านและเจ้ามโนไปยังเมืองเชียงแสน[7] เมืองน่านจึงกลายเป็นเมืองร้าง
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2325 พม่าให้เจ้ามโนนำชาวเมืองน่านมาตั้งอยู่ที่เมืองเทิง ปีถัดมาสยามสนับสนุนพระยามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองน่าน โดยตั้งอยู่ที่เมืองท่าปลา เจ้ามโนถึงแก่พิราลัยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2327 ฝ่ายพม่าจึงสนับสนุนเจ้าอัตถวรปัญโญเป็นเจ้าเมืองน่านที่เมืองเทิง ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2329 เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาจากเมืองเทิง และปรึกษากับพระยามงคลวรยศที่เมืองท่าปลา ว่าจะขอเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายสยาม พระยามงคลวรยศจึงยกราชสมบัติให้เจ้าอัตถวรปัญโญ[8]
การฟื้นฟูนครน่านและการขยายอำนาจ
แก้ครั้งล่วงมาในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเพื่อขอเป็นข้าขอบขันฑสีมา หลังจากเจ้าอัตถวรปัญโญขึ้นครองเมืองน่าน ก็ยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่านยังรกร้างอยู่ เจ้าอัตถวรปัญโญได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ เมืองงั่วและเมืองพ้อ หลังจากเจ้าอัตถวรปัญโญได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านในปี พ.ศ. 2344
หลังจากได้รับสถานะประเทศราชของสยาม นครน่านร่วมมือกับนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครแพร่ขยายอำนาจสู่ดินแดนของเชียงแสนซึ่งยังคงถูกปกครองโดยพม่า[4] จนในที่สุดก็สามารถทำลายเมืองเชียงแสนได้ในปี พ.ศ. 2347 ทำให้พม่าสูญสิ้นอิทธิพลไปจากล้านนาอย่างถาวร รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงเมืองน่าน มีพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าสมณะ ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ในสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญขึ้นเป็น พระยาอุปราช เมืองน่าน หรือที่ราชสำนักนครน่านเรียกว่า พระยามหาอุปราชา เจ้าหอหน้า ดินแดนของเชียงแสนถูกตัดแบ่งให้กับนครเชียงใหม่และนครน่าน โดยนครน่านได้รับเมืองแก่นท้าว เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองเชียงของ ซึ่งเปิดเส้นทางสู่กลุ่มนครรัฐไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนาให้แก่นครน่าน[5]
พ.ศ. 2348 เจ้าอัตถวรปัญโญยกทัพขึ้นไปโจมตีกลุ่มนครรัฐไทลื้อ ทำให้นครน่านได้เมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาไว้ในอำนาจ เช่น เมืองภูคา รัฐเชียงแขง รวมถึงทำให้เมืองเชียงรุ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อสยาม[9] อย่างไรก็ตาม นครน่านและนครเชียงใหม่ไม่สามารถรักษาอิทธิพลเหนือเชียงรุ่งไว้ได้ แม้ว่าจะพยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในเชียงรุ่งหลายครั้ง จนกระทั่งเลิกล้มความพยายามไปหลังจากสยามตีเชียงตุงไม่สำเร็จในปี พ.ศ. 2397[5]
นครน่านถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรสยาม
แก้ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 สยามเริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตก ในปี พ.ศ. 2434 รัฐเชียงแขงอาศัยปัญหาอำนาจในการปกครองที่ไม่ชัดเจนขอแยกตัวออกจากนครน่านและขึ้นตรงต่อสยาม[5] ต่อมากรณีพิพาทในปี พ.ศ. 2436 ทำให้สยามต้องยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนของนครน่านรวมอยู่ด้วย สยามจึงเร่งผนวกประเทศราชต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ในปี พ.ศ. 2442 สยามประกาศจัดตั้งมณฑลลาวเฉียง ทำให้สถานะประเทศราชของนครน่านสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม เจ้าผู้ครองนครน่านยังคงมีตำแหน่งเจ้าและมีอำนาจในการปกครองบางส่วน[5] จนกระทั่งสยามเริ่มมีนโยบายไม่แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครในปี พ.ศ. 2469[10] ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2474
ความสัมพันธ์กับสยาม
แก้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2331 เป็นต้นมา นครน่าน มีสถานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม พระมหากษัตริย์สยามเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนาแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าหลวง) ให้ดำรงพระยศเป็น "พระเจ้าประเทศราช", "เจ้าประเทศราช", "พระยาประเทศราช" และเจ้าผู้ครองนครน่านมีพระสถานะเป็นกษัตริย์ประเทศราช ในยุคนี้พระมหากษัตริย์สยามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาตั้งเจ้าผู้ครองนครน่านทุกพระองค์สืบมาจนถึง เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 (พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2474) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายแห่งนครน่าน
ถึงแม้นครน่านมีสถานะเป็นประเทศราชเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เจ้าผู้ครองนครน่าน ทรงมีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองอาณาเขตและพลเมืองของตน ถึงแม้ว่าการขึ้นครองนครจะต้องได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้อำนาจเจ้านายบุตรหลานและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักนครน่าน เลือกเจ้านายผู้มีอาวุโสขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง โดยมิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน
เจ้าผู้ครองนครน่าน ในชั้นหลังทุกพระองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเชียงแสนในรัชกาลที่ 1 ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ 3 ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ ทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน ซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ อยู่เป็นนิจ ทำให้เมืองน่านกลับคืนสู่สันติสุข ร่มเย็น ต่างจากระยะแรกๆ ที่ผ่านมา
การปกครอง
แก้ระเบียบบริหารการปกครองภายในนครน่าน แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
- เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ (ฝ่ายเจ้านายบุตรหลานเชื้อพระวงศ์)
- เค้าสนามหลวง หรือ สภาขุนนาง (ฝ่ายขุนนางเสนาอำมาตย์)
- สำนักเจ้าผู้ครองนคร (ฝ่ายขุนนางในราชสำนัก)
เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ
แก้ในปี พ.ศ. 2435 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ได้เสด็จถึงแก่พิราลัย ภายหลังเสร็จงานถวายพระเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชโองการให้ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราชนครน่าน ลงไปเฝ้าที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราชนครน่าน ขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน สืบต่อจากพระบิดา และได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน"
และเนื่องจากได้มีการแก้ไขการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2435 โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้าราชการผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกรรณ มากำกับดูแลการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร และทรงแต่งตั้งเจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนคร ให้เป็นเจ้าศักดินาชั้นสัญญาบัตรลดหลั่นกันลงไปเป็นกรมการพิเศษ ช่วยเหลือการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร
เจ้าขันห้าใบแห่งนครน่าน
แก้ประกอบด้วย 5 ตำแหน่ง ดังนี้
- เจ้าผู้ครองนคร/พระเจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง หรือ กษัตริย์ประเทศราช)
- เจ้าอุปราช (เจ้าหอหน้า) รัชทายาทโดยตำแหน่ง
- เจ้าราชวงศ์
- เจ้าบุรีรัตน์
- เจ้าราชบุตร
เจ้าตำแหน่งรองและเจ้าตำแหน่งพิเศษแห่งนครน่าน
แก้เจ้าตำแหน่งรองแห่งนครน่าน เป็นตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย 10 ตำแหน่ง ดังนี้
- เจ้าสุริยวงษ์
- เจ้าราชสัมพันธวงษ์
- เจ้าราชภาคินัย
- เจ้าราชภาติกวงษ์
- เจ้าอุตรการโกศล
- เจ้าไชยสงคราม
- เจ้าราชดนัย
- เจ้าประพันธ์พงษ์
- เจ้าราชญาติ
- เจ้าวรญาติ
เจ้าตำแหน่งพิเศษแห่งนครน่าน เป็นตำแหน่งเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงพระยศเป็น "พระ" ประกอบด้วย 8 ตำแหน่ง ดังนี้
- พระยาวังขวา (เฉพาะนครน่าน)
- พระยาวังซ้าย (เฉพาะนครน่าน)
- พระวิไชยราชา
- พระเมืองราชา
- พระเมืองไชย
- พระเมืองแก่น
- พระเมืองแก้ว
- พระเมืองน้อย
เค้าสนาม (สภาขุนนาง)
แก้ระเบียบการปกครองฝ่ายธุรการนั้น ได้จัดเป็น “เค้าสนาม” เป็นที่ว่าการบ้านเมือง ซึ่งจะมีขุนนางพญาแสนท้าวกลุ่มหนึ่งเป็นผู้บริหารงานราชการส่วนกลาง การงานได้ดำเนินสำเร็จไปด้วยการประชุมปรึกษาเป็นประมาณ การงานที่ปฏิบัติในสนามนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การงานที่ต้องนำขึ้นทูลเจ้าผู้ครองนครเพื่อทรงวินิจฉัยและบัญชาการอย่างหนึ่ง และการงานที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันไม่มีสารสำคัญสามัญสามารถที่จะกระทำเสร็จไปได้ที่สนาม โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเจ้าผู้ครองนครอีกอย่างหนึ่ง
“ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวง” ของนครน่าน มีทั้งหมดจำนวน 32 ตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “พญาปี๊นทั้ง ๔” (หรือ “พ่อเมืองทั้ง ๔”) คือ พญาผู้เป็นใหญ่ในเค้าสนามทั้ง 4 ท่าน มียศศักดิ์เป็น “พญาหลวง ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี” เป็นขุนนางชั้นสูงสุดมี 1 ตำแหน่ง และ “พญาหลวง อรรคมหาเสนาธิบดี” รองลงมาอีก 3 ตำแหน่ง กับ “ขุนเมืองทั้ง ๘” เป็นขุนนางชั้นรองหัวหน้าและผู้ช่วยกรมการต่างๆ มียศศักดิ์เป็น “พญา, แสน, หลวง, ท้าว” ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ทรงแต่งตั้งให้มียศศักดิ์จัดไว้เป็นทำเนียบ ในรัชสมัย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน มีรายนามดังต่อไปนี้
ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวงนครน่าน
แก้พญาปี๊น หรือ (พ่อเมืองทั้ง ๔)
ลำดับ | ตำแหน่ง | หน้าที่ |
---|---|---|
1 | พญาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาศรีวิสุทธิมงคล ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี |
ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป (ผู้แทนองค์เจ้าผู้ครองนคร) |
ประธานแห่งขุนนางเสนาอำมาตย์ ในเค้าสนามหลวงทั้งปวง (มุขมนตรี) | ||
2 | พญาหลวงราชอามาตย์ อรรคมหาเสนาธิบดี | รองผู้สำเร็จราชการบ้านเมือง |
3 | พญาหลวงราชธรรมดุลย์ อรรคมหาเสนาธิบดี | หัวหน้าฝ่ายตุลาการ |
4 | พญาหลวงราชมนตรี อรรคมหาเสนาธิบดี | หัวหน้าฝ่ายสุรัสวดีและนายทะเบียน สักเลข (ทหาร) |
พญาชั้นรอง (หัวหน้ากรม)
กรม | หัวหน้ากรม | ผู้ช่วย |
---|---|---|
กรมว่าการทั่วไป | พญาหลวงนัตติยราชวงศา | พญาราชเสนา |
พญาไชยสงคราม | ||
พญาทิพเนตร | ||
พญาไชยราช | ||
กรมว่าการฝ่ายโหรหลวงประจำราชสำนัก | พญาหลวงราชบัณฑิต | พญาสิทธิมงคล |
กรมว่าการฝ่ายอักษร | พญาหลวงศุภอักษร | พญาพรหมอักษร |
พญามีรินทอักษร | ||
กรมว่าการฝ่ายพระคลัง (เงิน) | พญาหลวงคำลือ | พญาสิทธิธนสมบัติ |
พญาราชสมบัติ | ||
พญาธนสมบัติ | ||
พญาราชสาร | ||
กรมว่าการฝ่ายรักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง | พญาหลวงราชภักดี | พญาราชโกฏ |
พญาราชรองเมือง | ||
พญาอินต๊ะรักษา | ||
พญานาหลัง | ||
พญาแขก | ||
กรมว่าการฝ่ายตุลาการ | พญาแสนหลวงราชธรรมดุลย์ | พญาสิทธิเดช |
พญานราสาร | ||
พญาไชยพิพิธ | ||
กรมว่าการฝ่ายโยธา | พญาหลวงไชยปัญญา | พญานันต๊ะปัญญา |
กรมว่าการธรรมการ | พญาหลวงธรรมราช | - |
กรมว่าการฝ่ายเหมืองฝาย | พญาหลวงเมฆสาคร | - |
ราชสำนักเจ้าผู้ครองนคร
แก้โดยพระสถานะของเจ้าผู้ครองนคร (เดิม) ทรงเป็นประมุขหรือพระเจ้าแผ่นดินน้อยๆ เป็นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่งที่สำคัญของเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินน้อยๆ จึงไม่ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ในอาณาจักรใหญ่ๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ด้วยความเป็นใหญ่เป็นประธานในเหล่าพสกนิกร ผู้เป็นประมุขจักต้องบริหารการปกครองให้เจริญมั่นคง ดำรงแว่นแคว้นให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ทั่วไป เป็นผู้นำแบบความดีงามทั้งหลายทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนา นอกจากนี้ เพื่อจะยังให้พระเกียรติยศและความร่มเย็นเป็นสุขของราษฎรมีผลอันไพบูลย์ เจ้าผู้ครองนครทรงเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะบำเพ็ญกรณีตามคติธรรมของผู้เป็นประมุขเนื่องในทางศาสนาสืบมาแต่โบราณอันเรียกว่า "ทศพิธราชธรรม" ประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย
ส่วนอิสริยยศประจำตัวเจ้าผู้ครองนครนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามฐานะของบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองใหญ่ก็มีอิสริยยศประดับมาก บ้านเมืองน้อยก็ลดหลั่นกันลงมาตามกำลังแต่อย่างไรก็ดีทาง ราชสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน ก็ได้มีคติประเพณีทางฝ่ายขัตติยสืบกันมาช้านาน กล่าวคือ เมื่อมีเจ้าขึ้นครองนคร ก็จะประกอบพิธีอุสาราชาภิเษก แม้ในชั้นหลังการตั้งเจ้าผู้ครองนครจะได้เป็นโดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง ณ กรุงเทพฯ ก็ดี ก็มิได้ละประเพณีเสียที่มีมาแต่เดิม จึงมีการประกอบพิธีอุสาราชาภิเษกเจ้าผู้ครองนคร ณ ราชสำนักคุ้มหลวงนครน่าน อีกครั้งหนึ่ง “มหาขัติยราชวงษาเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ก็อาราธนาอัญเชิญพระเป็นเจ้าขึ้นสถิตย์สำราญในราชนิเวศน์ หอคำราชโรงหลวง (คุ้มหลวง)” ซึ่งตรงกับคำว่า “การเฉลิมพระราชมณเฑียร” มีการออกพญาแสนท้าว (ขุนนาง) ต้อนรับแขกเมืองด้วยพิธี มีการออกประพาสเมืองโดยอิสสริยศด้วยกระบวนข้าราชบริพารเป็นอาทิ
นอกจากพญาแสนท้าวอันเป็นขุนนางที่เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งขึ้นไว้ เพื่อบริหารกิจการบ้านเมืองยังเค้าสนามหลวง ซึ่งเป็นการภายนอกส่วนหนึ่งแล้ว ยังอีกการภายใน อันเป็นกิจการของราชสำนักของเจ้าผู้ครองนครโดยตรง ก็จะทรงแต่งตั้ง “ขุนใน” ขึ้นไว้รับใช้การงานและประดับพระเกียรติยศของเจ้าผู้ครองนครอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำนองข้าราชการฝ่ายราชสำนัก ซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นส่วนใหญ่ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้
กิจการภายในราชสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ
- แผนกวัง
- แผนกเสมียนตรา
- แผนกมณเฑียรและอาสนะ
- แผนกการกุศล
- แผนกรับใช้
แผนกวัง
แก้มีหน้าที่ควบคุมตรวจตรากิจการภายในคุ้มหลวงทุกอย่าง รักษาความสงบเรียบร้อยภายในคุ้มหลวง พิทักษ์องค์เจ้าผู้ครองนครด้วยกำลังคน “เจ้าใช้การใน” ที่มีประจำอยู่ จัดพิธีออกพญาแสนท้าวในคราวที่ประกอบเป็นพระเกียรติยศ พิธีออกแขกเมือง – ต้อนรับแขกเมือง จัดกองเกียรติยศเมื่อเจ้าผู้ครองนครเสด็จออกประพาส
ขุนในแผนกวัง ประกอบด้วย
- พญาหลวงสิทธิวังราช: หัวหน้าแผนกวัง
- พญาราชวัง: ผู้ช่วยแผนกวัง
- ท้าวอาสา: หัวหน้าคนเจ้าใช้การใน มีหน้าที่จับกุมบุคคลที่ขัดอาชญาตามบัญชาของเจ้าผู้ครองนครและมีหน้าที่ถือมัดหวายนำหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร
- ท้าววังหน้า: หัวหน้าคนเจ้าใช้การใน มีหน้าที่ออกหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร ในอันที่จะประกาศมิให้ผู้คนจอแจข้างหน้าทางหรือตัดหน้าฉาน กับมีคนใช้การในสำหรับที่จะเรียกใช้กระทำกิจการภายในคุ้ม 1,000 คน ในเวลาปกติมีคนเจ้าใช้การในมาเข้าเวรยาม 15 คน พวกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละ 2 วัน 3 คืน หมุนเวียนกันไป
แผนกเสมียนตรา
แก้มีหน้าที่ทำหนังสือของเจ้าผู้ครองนครที่จะมีไปในที่ต่างๆ และรับคำสั่งอาชญาที่จะแจ้งไปให้เค้าสนามหลวงทราบกับมีหน้าที่เก็บสรรพหนังสือภายในหอคำ
ขุนในแผนกเสมียนตรา ประกอบด้วย
- พญาหลวงสิทธิอักษร: หัวหน้าแผนกเสมียนตรา
แผนกมณเฑียรและอาสนะ
แก้มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหอคำหลวงและราชนิเวศน์หอคำของเจ้าผู้ครองนครและบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อชำรุด กับมีหน้าที่แต่งตั้งอาสนะเมื่อเจ้าผู้ครองนครเสด็จออกประพาสไปประทับ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
ขุนในแผนกมณเฑียรและอาสนะ ประกอบด้วย
- พญาหลวงราชมณเฑียร: หัวหน้าแผนกมณเฑียร
- แสนหลวงราชนิเวศน์: ผู้ช่วยแผนกมณเฑียร
- พญาหลวงอาสนมณเฑียร: หัวหน้าแผนกอาสนะ
แผนกการกุศล
แก้มีหน้าที่ประกอบการพระกุศลของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ กระทำพิธีบูชาพระเคราะห์ตามคราวและมีหน้าที่บันทึกเรื่องรายงานการกุศล
ขุนในแผนกการกุศล ประกอบด้วย
- แสนหลวงสมภาร: หัวหน้าแผนกการกุศล
- แสนหลวงกุศล: ผู้ช่วยแผนกการกุศล
- แสนหลวงขันคำ: ผู้ช่วยแผนกการกุศล มีหน้าที่เป็นผู้ถือพานทองนำหน้าเจ้าผู้ครองนครในคราวบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ
แผนกรับใช้
แก้มีหน้าที่รับใช้เจ้าผู้ครองนครในกิจการต่าง ๆ
ขุนในแผนกรับใข้ ประกอบด้วย
- แสนหลวงใน: ผู้รับใช้จับจ่ายอาหารเลี้ยงดูผู้คนในหอคำหลวง
- แสนหลวงต่างใจ: ผู้รับใช้กิจการต่าง ๆ
หัวเมืองขึ้นของนครน่าน
แก้หัวเมืองขึ้นของนครน่าน พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2347
แก้จากจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหัวเมืองขึ้นอยู่ 474 หัวเมือง จารึกดังกล่าวปรากฏอยู่บนคอสองเฉลียงระเบียงล้อมพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งได้จารึกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ระบุถึงเจ้าผู้ครองนครน่าน และหัวเมืองที่ขึ้นกับนครน่าน ดังนี้
จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ ...เมืองเชียงของ ๑ เมืองโปง ๑ เมืองเงิน ๑ เมืองสราว ๑ เมืองปัว ๑ อยู่ทางหนเหนือขึ้นกับเมืองน่าน เมืองหิน ๑ เมืองงั่ว ๑ อยู่ทางหนใต้ ขึ้นกับเมืองน่าน รวมเป็น 7 เมือง ผู้ครองเมืองน่าน มีนามว่า พระยามงคลยศประเทศราช เจ้าเมืองน่าน [12]
หัวเมืองขึ้นของนครน่าน พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2445
แก้นครน่าน เป็นหัวเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวาง จากรายงานทางราชการของนครน่านที่มีไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ปกครองมีหัวเมืองขึ้น 47 เมือง[13] ประกอบด้วย
- เมืองเชียงของ
- เมืองเทิง
- เมืองเชียงคำ
- เมืองเงิน
- เมืองหลวงภูคา
- เมืองไชยพรหม
- เมืองริม
- เมืองแงง
- เมืองเชียงคาน
- เมืองเชียงกลาง
- เมืองและ
- เมืองเปือ
- เมืองงอบ
- เมืองบ่อ
- เมืองปอน
- เมืองปัว
- เมืองย่าง
- เมืองยม
- เมืองอวน
- เมืองพง
- เมืองบ่อว้า
- เมืองควร
- เมืองเชียงฮ่อน
- เมืองเชียงลม
- เมืองคอบ
- เมืองสวด
- เมืองเชียงม่วน
- เมืองเชียงแรง
- เมืองเชียงเคี่ยน
- เมืองสะเอียบ
- เมืองสระ
- เมืองปง
- เมืองออย
- เมืองงิม
- เมืองมิน
- เมืองยอด
- เมืองสะเกิน
- เมืองลอย
- เมืองลี
- เมืองศรีษะเกษ
- เมืองหิน
- เมืองสา
- เมืองท่าแฝก
- เมืองหาดล้า
- เมืองท่าปลา
- เมืองผาเลือด
- เมืองจะลิม
เนื้อหาส่วนนี้เข้าข่ายว่าอาจละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่น โปรดช่วยกันตรวจสอบลิขสิทธิ์ หากคุณเป็นผู้เขียนต้นฉบับเดิมและต้องการเผยแพร่ในวิกิพีเดีย ให้เขียนคำอธิบายในหน้าอภิปรายแล้วนำป้ายนี้ออกได้ กรุณาศึกษาวิธีเขียนไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ หากคุณทราบว่าเนื้อหาส่วนนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ลบเนื้อหาดังกล่าวออก |
พญาผากอง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ. 1904 - พ.ศ. 1929) ได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านทางด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านห้วยไค้ (ที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน) เมื่อ "ปีรวายซง้า จุลศักราชได้ ๗๓๐ ตัวเดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ วันอังคารยามแถหั้นแล" หรือตรงกับวันศุกร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 1911 (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 เหนือ) ในสมัยต่อมานครน่านมีตัวเมือง 2 แห่ง คือ "เวียงน่านเก่า" หรือเรียกว่า “เวียงใต้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่ง กับ "เวียงน่านใหม่" หรือเรียกว่า “เวียงเหนือ” ตั้งอยู่บนดอนข้างหลังเวียงเก่าถัดขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง เหตุที่มีตัวเมืองสองแห่งนั้น กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่พญาผากองได้ย้ายมาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านทางด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) มีกษัตริย์น่านและเจ้าผู้ครองนครน่านได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครองเมืองสืบวงศ์ต่อๆ กันมาหลายชั่วหลายวงศ์ จนมาถึงปี พ.ศ. 2360 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นครน่าน ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ กระแสน้ำได้พัดกำแพงเมืองและวัดวาอารามบ้านเรือนในเวียงน่านเก่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 และองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2368) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครในขณะนั้น จึงโปรดให้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งอยู่ที่บริเวณดงพระเนตรช้าง (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ และบ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองน่าน) อยู่ห่างจากตัวเวียงน่านเก่าขึ้นไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวเมืองทอดไปตามลำแม่น้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำประมาณ 800 เมตร มีเหตุมณฑลแห่งคูเมือง คือ ด้านเหนือจดบ้านน้ำล้อม ด้านตะวันออกยาวไปตามถนนสุมนเทวราชเดี๋ยวนี้ ด้านใต้จดทุ่งนาริน ด้านตะวันตกยาวไปตามแนวของขอบสนามบินด้านนอก และใช้เวลาสร้างอยู่ 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ (พงศาวดารเมืองน่านได้ระบุว่า) “คูเมือง ด้านตะวันออกยาว ๙๔๐ ต่า ด้านตะวันตกยาว ๗๒๘ ต่า ด้านใต้ยาว ๓๙๓ ต่า ด้านเหนือยาว ๖๗๗ ต่า ปากคูกว้าง ๕ ศอก ท้องคูกว้าง ๔ ศอก ลึก ๙ ศอก“ และได้ย้ายขึ้นไปอยู่เมืองใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2362 ปัจจุบันยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่ เจ้าผู้ครองนครน่านประทับอยู่ที่ราชวังหอคำหลวงเวียงเหนือสืบกันมาได้ 4 พระองค์ เป็นระยะเวลา 36 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2397 ในรัชสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครในขณะนั้น จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองกลับมาตั้งอยู่ที่เวียงน่านเก่าดังเดิม โปรดให้ซ่อมกำแพงเมืองให้มั่นคง โดยสร้างเป็นกำแพงอิฐ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2400 ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าออกสู่แม่น้ำน่าน ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมา ตั้งอยู่บนเชิงเทิน ซุ้มประตูและป้อมเป็นทรงเรือนยอด กำแพงสูงประมาณ 6 เมตร เชิงเทินกว้าง 2.20 เมตร ใบเสมากว้าง 1 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 1.20 เมตร ความสูงจากเชิงเทินถึงใบเสมาประมาณ 2 เมตร ตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง 4 แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆ ละ 5 กระบอก
- กำแพงด้านทิศเหนือยาว ยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
- ประตูริม - เป็นประตูเมืองที่เดินทางสู่เมืองขึ้นของนครน่านทางทิศเหนือ เช่น เมืองเชียงคำ เมืองเทิง และเมืองเชียงของ เป็นต้น
- ประตูอมร - เป็นประตูที่เจาะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2450
- กำแพงด้านทิศตะวันออก ยาวประมาณ 650 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
- ประตูชัย - เป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางชลมาร์คไปกรุงเทพฯ
- ประตูน้ำเข้ม - ใช้สำหรับติดต่อค้าขายทางน้ำ และเป็นประตูเข้าออกสู่แม่น้ำน่านของประชาชนทั่วไป
- กำแพงด้านทิศใต้ ยาวประมาณ 1,400 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
- ประตูเชียงใหม่ - เป็นประตูเมืองที่เดินทางไปสู่ต่างเมือง เช่น นครเชียงใหม่
- ประตูท่าลี่ - เป็นประตูที่นำศพออกไปเผานอกเมือง ณ สุสานดอนไชย
- กำแพงด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ 950 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
- ประตูปล่องน้ำ - ใช้ในการระบายน้ำจากตัวเมืองออกสู่ด้านนอก
- ประตูหนองห้า - เป็นประตูสำหรับคนในเมืองออกไปทำไร่ทำนา และใช้ขนผลผลิตเข้ามาในเมือง
ลักษณะของประตูเมือง ทำเป็นซุ้ม บานประตูเป็นไม้ หลังคาประตูเป็นทรงเรือนยอดสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น มีป้อมอยู่เพียงสามป้อมอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นป้อมแปดเหลี่ยม หลังคาทรงเรือนยอดซ้อนกันสองชั้น หลังคาชั้นแรกเป็นทรงแปดเหลี่ยม ชั้นที่สองเป็นทรงสี่เหลี่ยม
เนื้อหาส่วนนี้เข้าข่ายว่าอาจละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่น โปรดช่วยกันตรวจสอบลิขสิทธิ์ หากคุณเป็นผู้เขียนต้นฉบับเดิมและต้องการเผยแพร่ในวิกิพีเดีย ให้เขียนคำอธิบายในหน้าอภิปรายแล้วนำป้ายนี้ออกได้ กรุณาศึกษาวิธีเขียนไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ หากคุณทราบว่าเนื้อหาส่วนนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ลบเนื้อหาดังกล่าวออก |
กำแพงเมือง
แก้ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง 4 ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ 2 วา มีเชิงเทินกว้าง 3 ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง 4 แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ 4 กระบอก มีประตู 7 ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตูท่าลี่ มีคูล้อม 3 ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้นอยู่ การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็นผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย
ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง 7 นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ 22.00 น. และเปิดในเวลาประมาณ 05.00 น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ 1 แคลง (ประมาณ 1 ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย
อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นเจ้าเมืองน่าน
คุ้มหลวง - หอคำ
แก้ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ
บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ
หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน มีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ
หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว 7 หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ
เมื่อเจ้าอนันวรฤทธิเดชถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่อ พ.ศ. 2436 ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แต่ให้กลับเรียกว่า “คุ้มหลวง” เป็นไปตามเดิม ครั้นล่วงเวลามาอีก 10 ปี ถึง พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช จึงรื้อหอคำเก่าไปถวายวัดและสร้างหอคำเป็นตึกขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน
ภายในบริเวณคุ้มแก้ว มีโรงม้า โรงแต๊ก โรงแต๊กนั้นถือเป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอดาบ ง้าวปืนและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในการทัพศึก
ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก
สนาม
แก้ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้ามวัดพรหมมินทร์และที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง
ฉาง
แก้ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ 2 โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”
บ้านเรือน
แก้ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่ เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น
วัด
แก้วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ 2 วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์ แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง
ตลาด
แก้การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย
ถนน
แก้ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง 4 - 5 ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา
เนื้อหาส่วนนี้เข้าข่ายว่าอาจละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่น โปรดช่วยกันตรวจสอบลิขสิทธิ์ หากคุณเป็นผู้เขียนต้นฉบับเดิมและต้องการเผยแพร่ในวิกิพีเดีย ให้เขียนคำอธิบายในหน้าอภิปรายแล้วนำป้ายนี้ออกได้ กรุณาศึกษาวิธีเขียนไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ หากคุณทราบว่าเนื้อหาส่วนนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ลบเนื้อหาดังกล่าวออก |
ลักษณะการจัดการบ้านเมือง ในด้านต่างๆ ของนครเมืองน่าน มีดังนี้
- การทัพ
- ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
- ทาส
- ตุลาการ
การทัพ
แก้หลักการปกครองของบ้านเมืองมีข้อสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ อาชญาของเจ้าผู้ครองนครข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์ให้มาช่วยกันป้องกันบ้านเมืองในเวลามีศึกสงครามข้อหนึ่ง อาชญานั้นมีความหมายตามที่คติปกครองแบบนี้ว่า เป็นคำสั่งคำบังคับบัญชาของผู้เป็นประมุขที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมืองได้โดยใช้สิทธิขาด อย่างที่เรียกว่า “อาชญาสิทธิ์” ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษถึง 2 ประการ คือ โทษอันผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองประการหนึ่ง และโทษอันผิดต่ออาชญาของเจ้าผู้ครองนครอันมีลักษณะคล้ายพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน อีกประการหนึ่ง เหตุที่เจ้าผู้ครองนครทรงไว้ซึ่งอาชญาและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาบ้านเมืองเช่นนี้ หน้าที่ของพลเมืองจึงต้องเจริญรอยโดยบริหารของผู้เป็นประมุขทุกประการ ส่วนที่สำคัญยิ่งก็คือหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้
ฝ่ายชายฉกรรจ์มีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ลูกจุ๊” เข้าสังกัดอยู่ในเจ้านายท้าวพญาคนใดคนหนึ่งจะลอยตัวอยู่ไม่ได้ มีหน้าที่รับใช้สอยกิจการในสังกัดมูลนายของตนไปจนกว่าอายุได้ 60 ปี จึงปลด หรือมิฉะนั้นก็ต่อเมื่อมีบุตรมารับใช้การงานได้ 3 คนแล้ว เมื่อชายฉกรรจ์เข้าสังกัดเป็นลูกจุ๊ของผู้นั้นอยู่ตลอดไป จะย้ายมูลนายผู้ต้นสังกัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสนาม
บรรดาผู้ที่จะรับเป็นลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดในตนได้ โดยเฉพาะต้องเป็นเจ้านายหรือท้าวพญาในสนามเท่านั้น ในเวลาปกติลูกจุ๊ก็อยู่ตามถิ่นฐานบ้านช่องของตนไม่ต้องเข้ามาประจำทำงานในเมืองมีกำหนดเวลาเป็นแน่นอน นอกจากบางคราวจะถูกมูลนายเรียกมาใช้กิจการเป็นครั้งคราว การที่มูลนายจะใช้ลูกจุ๊ให้ทำกิจการนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกิจการฝ่ายบ้านเมืองแต่อย่างเดียว ย่อมใช้ได้ตลอดถึงการส่วนตัวทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เช่น ในการทำนา ปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นต้น อีกประการหนึ่งควรกล่าวได้ว่า พวกลูกจุ๊ที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เป็นมูลนายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของผู้ลูกจุ๊ก็ได้รับผลแต่เพียงได้รับความคุ้มครองของมูลนายในคราวเมื่อมีทุกข์ร้อน เช่น ถูกพวกอื่นรบกวนเบียดเบียนโดยไม่เป็นธรรม หรือในคราวที่มีคดีความเกิดขึ้น เป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่เป็นมูลนายต้องตั้งบุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัวหมวด” ไว้ตามละแวกถิ่นฐานที่ลูกจ๊ะตั้งบ้านเรือน สำหรับเรียกลูกจุ๊ในเมื่อต้องการตัวได้โดยสะดวกและพรักพร้อม
ในเวลามีการทัพศึกเกิดขึ้น เมื่อต้องการกำลังกองทัพเป็นจำนวนคนเท่าใด เจ้าผู้ครองนครก็เกณฑ์คนเอาแก่มูลนายที่มีลูกจุ๊เฉลี่ยเอาตามส่วน ส่วนผู้ที่จะคุมกองทัพนั้น ถ้าเป็นการสำคัญเจ้าผู้ครองนครก็เป็นผู้ไปเอง หรือถ้าไม่สำคัญก็ให้เจ้านายในวงศ์สกุลหรือท้าวพญาผู้ใดผู้หนึ่งควบคุมไป ตามแต่จะเห็นสมควร
เรื่องของลูกจุ๊นี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนครไม่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาได้ เวลาปกติเจ้าผู้ครองนครจึงมีคนอีกจำพวกหนึ่งสำหรับใช้สอยและอยู่เวรยามรักษาคุ้มโดยเฉพาะเรียกว่าคน “เจ้าใช้การใน”
ผลประโยชน์ของบ้าน
แก้การทำมาหากินของราษฎรในเมืองน่านที่กระทำกันมากและเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ก็คือการทำนา แต่ทางบ้านเมืองมิได้เก็บอากรค่านา ฉะนั้นราษฎรในเขตเมืองชั้นใน เมื่อทำนาได้ข้าวจึงต้องแบ่งข้าวส่งมาขึ้นฉางหลวง เรียกว่า “หล่อฉาง” เพื่อเก็บไว้เป็นเบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในคราวเกิดทัพศึกและต้อนรับแขกเมือง หรือให้พลเมืองยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ข้าว การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางนี้ เก็บแต่ผู้ที่มีครอบครัวแล้ว เป็นข้าวครอบครัวละ 3 หมื่น (สัด) ส่วนราษฎรในเขตเมืองชั้นนอกอันอยู่ไกลจะส่งข้าวมาหล่อฉางเป็นความลำบากมาก แต่เพราะว่าเมืองเหล่านั้นเป็นที่เกิดหรือมีสิ่งของบางอย่างที่บ้านเมืองต้องการใช้ เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง กระดาษ เกลือ ฯลฯ จึงเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่ราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามสมควร ส่งมาแทนข้าว เรียกว่า “ส่วยหล่อฉาง” หรือ “ส่วยบำรุงเมือง” เมืองน่านมีส่วนเกลือมาจากเมืองบ่อปีละ 7 ล้าน 7 แสน 7 หมื่น (น้ำหนัก 310 2/5 หาบ) ส่วนดินประสิวจากเหมืองยอดเมืองสะเกินปีละ 20 หาบ เมืองมิน บ้านหัวเมือง (ท้องที่อำเภอนาน้อย) ปีละ 30 หาบ ส่วนเหล็กจากเมืองอวน ปีละ 30 หาบ บ้านวัวแดง (ท้องที่อำเภอสา) ปีละ 20 บาท (การตีเหล็กเป็นอาวุธหอกและดาบและซ่อมแซมอาวุธเป็นหน้าที่ของราษฎรในบ้านก้นฝาย (ฝายมูล) ท้องที่อำเภอท่าวังผาและบ้านห้วยลับมืนท้องที่อำเภอสา นอกจากนี้ยังมีส่วยขี้ผึ้งจากเมืองขึ้นทางฟากแม่น้ำโขงอีกปีละ 12 หาบ กับคน 300 คน สำหรับทำฝายทุกเมือง
ทาส
แก้ลักษณะการเป็นทาสมีคติสืบเนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันโบราณราชกษัตริย์ได้ทรงบัญญัติไว้เรียกว่านำธงชัยไปรบศึก แล้วได้มาเป็นทาสเชลยหนึ่ง ทาสซึ่งไถ่มาด้วยทรัพย์หนึ่ง ลักษณะทาสที่มีอยู่ในพื้นเมืองน่านก็เป็นอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ดังจะนำมากล่าวพอเป็นเค้า คือ
- ทาสเชลย เป็นคนซึ่งแต่ก่อนมาเจ้านายและกรมการเมืองได้ไปรบตีเมืองสิบสองปันนา เมืองเวียงจันทน์ได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเป็นความชอบของแม่ทัพนายกองเรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง” มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกกันว่า “ค่าหอคนโรง” อันชื่อว่าทาสได้มาแต่ครั้งปู่และบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้มีอายุ 10 ขวบขึ้นไปมีค่าตัวชาย 62 รูเปีย หญิง 62 รูเปีย ถ้าอายุต่ำกว่า 10 ขวบ คิดคนหนึ่งขวบละ 5 รูเปีย ตามจำนวนอายุผู้เป็นนายถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดมีอำนาจที่จะขายทาสเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาสเชลยจะมีบุตรหลานสืบทอดออกไปอีกเท่าใดก็ดีก็คงเป็นทาสเชลยทั้งสิ้น และผู้เป็นนายก็รับมรดกกันสืบมา ผู้ที่เป็นมูลนายจะยกทาสเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้เมื่อทาสเชลยได้นำเงินมาไถ่ค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นความเป็นทาส
- ทาสสินไถ่ คือทาสที่นายเงินได้ออกมาไถ่ ถ้าทาสไม่มีเงินมาให้แก่นายเงินครบค่าแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นยากจากทุกข์เป็นไทยได้ ฝ่ายลูกทาสที่ซึ่งเกิดแต่ทาสสินไถ่นั้น ถ้าเกิดในเรือนเบี้ยพอเกิดมาในเรือนทาสมีค่าตัวอยู่เรื่อยไป
ทาสทั้งสองจำพวกนี้ ได้มีวิธีการลดหย่อนผ่อนผันให้เสื่อมคลายลง นับแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. 119 ในรัชกาลที่ 5 และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง และการที่เป็นทาสได้เลิกเด็ดขาดไปเมื่อหลังแต่ได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในมณฑลพายัพในรัชกาลที่ 6 ร.ศ. 131 แล้วเป็นลำดับมา ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นเกล้าฯ
การตุลาการ
แก้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้ใช้สำหรับภายในบ้านเมืองเรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” แต่เดิมมาได้ทราบว่าเคยใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์และราชศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดียเหมือนกัน อาณาจักรหลักคำเพิ่งจะมาตั้งขึ้นในชั้นหลังโดยถือหลักจากกฎหมายที่กล่าวแล้วบ้าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพบ้านเมืองบ้าง แต่แปลกที่มีบทบัญญัติบทลงโทษและคำสั่งสอนรวมคละปะปนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะแม้แต่ความผิดเล็กน้อยอาจถูกประหารชีวิตได้ ปรากฏว่าเมืองน่านในยุคนั้นสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าได้เป็นนิสัยปัจจัยสืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
วิธีพิจารณาในประเภทความอาชญาอุกฉกรรจ์คงดำเนินอย่างวิธีที่จะแคะไค้เอาความจริงด้วยการทรมานให้สารภาพตามลักษณะที่เรียกว่า “จารีตนครบาล” เหมือนอย่างเมทั้งปวงในสมัยเดียวกัน เมื่อคดีตกถึงสนาม ขุนสนาม 32 นาย พิจารณาเป็นรูปเรื่องเห็นว่าใครผิดใครถูกแพ้ชนะกันอย่างไรแล้ว ก็พร้อมกันลงความเห็นในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามผลที่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติในอาณาจักรหลักคำลงในพับดำ (สมุดดำ) หรือแผ่นกระดาษดำ แล้วนำขึ้นไปอ่านถวายเจ้าผู้ครองนครอันพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาหอคำ เมื่อเจ้าผู้ครองนครและคณะได้พิจารณาเห็นว่าจะควรชี้โดยสถานใดแล้ว เจ้าผู้ครองนครก็ชี้ขาดบัญชาให้บังคับเป็นไปตามด้วยสถานนั้นๆ
ส่วนความแพ่งนั้น วิธีพิจารณาคงดำเนินไปในทางอันเดียวกัน เว้นแต่การไต่สวนไม่ใช่เคี่ยวเข็ญเอาตามจารีตนครบาล แต่ถ้าเป็นความที่กำกวมหรือคลุมเครือซึ่งคณะตุลาการไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกด้วยกฎหมายได้แล้ว ก็มีวิธีตัดสินด้วยการให้คู่ความทนต่อการสาบานหรือการพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งในการพิสูจน์นั้นอาจเป็นด้วยการให้เอานิ้วมือจิ้มตะกั่วที่ละลาย หรือเสี่ยงเทียน หรือวิธีที่จะยังความครั่นคร้ามให้แก่ผู้ทุจริตอื่นใดก็ได้ ซึ่งหวังในความศักดิ์สิทธิ์บันดาลของพระและเทพเจ้าเป็นใหญ่ สุดแล้วแต่ผู้พิพากษาจะเห็นสมควร เมื่อผู้ใดชนะการพิสูจน์ก็ตัดสินให้เป็นผู้ชนะคดี
มีเกร็ดของเรื่องนี้อยู่เรื่องหนึ่งกล่าวกันว่า มีผู้พิพาทกันด้วยเรื่องตู่กรรมสิทธิ์กระบือกันขึ้นเรื่องหนึ่ง ผลของการพิจารณาตุลาการไม่สามารถที่จะชี้ให้ได้ว่ากระบือตัวนั้นเป็นของผู้ใดเพราะน้ำหนักคำให้การของคู่ความรับกันในเรื่องลักษณะของกระบือเท่าๆ กัน ผลที่สุด จึงให้โจทก์จำเลยกระทำพิธีสาบาน และพิสูจน์ด้วยการเสี่ยงเทียนกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ข้อตกลงมีว่า ถ้าเทียนของ ผู้ใดดับก่อนผู้นั้นก็แพ้แก่ความสัตย์จริง และจะตัดสินให้อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เทียนนั้นได้ควั่นขึ้นจากขี้ผึ้งมีน้ำหนักเท่ากัน เส้นด้ายไส้เทียนก็นับมีจำนวนเท่ากัน การพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์ชนะเพราะเทียนจำเลยดับก่อน ตุลาการจึงจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น จำเลยไม่ยอมกลับพูดว่า “พระองค์น้อยเกิดเมื่อวามาเมื่อซืนจะไปฮู้ฮีตบ้านกองเมืองหยัง” เพื่อจะบังคับคดีให้เป็นไปโดยละม่อมและให้จำเลยจำนนแก่การพิสูน์จริงๆ ตุลาการก็ยอม จึงให้คู่ความไปทำการพิสูจน์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เลือกกระทำกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเมืองทีเดียว ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ปรากฏว่าจำเลยชนะ โจทก์กลับมีเสียงขึ้นบ้างว่า “สี่สิบลืมหน้า ห้าสิบลืมหลังเฒ่าชะแร แก่ออกล้ำ เยียใดจักจำได้” ในที่สุดกระบือตัวนั้นเลยตัดสินให้ตกเป็นกระบือของหลวง
รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน
แก้บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ปัญหาเฉพาะคือ: เชื่อว่าการเทียบวันเดือนปีเป็นปฏิทินสุริยคติไม่ถูกต้อง เนื่องจากเดือนเหนือเร็วกว่าเดือนใต้ 2 เดือน ดูเพิ่มเติมที่อภิปราย |
รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน 14 พระองค์ แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2474) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้
ลำดับ | พระรูป | รายพระนาม | ครองราชย์ | ||
---|---|---|---|---|---|
เริ่มรัชกาล | สิ้นสุดรัชกาล | รวมเวลา | |||
1 | พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ (พระเจ้าเมืองน่าน) |
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269 | 16 มิถุนายน พ.ศ. 2294 | 25 ปี | |
2 | เจ้าอริยวงษ์ (เจ้าเมืองน่าน) |
30 กันยายน พ.ศ. 2297 | 4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 | 14 ปี | |
3 | เจ้านายอ้าย (เจ้าเมืองน่าน) |
4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2312 | 1 ปี | |
4 | เจ้ามโนราชา (เจ้าเมืองน่าน) |
10 กันยายน พ.ศ. 2312 | 25 มีนาคม พ.ศ. 2317 | 5 ปี | |
5 | เจ้าวิธูร (เจ้าเมืองน่าน) |
25 มีนาคม พ.ศ. 2317 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2321 | 4 ปี | |
6 | เจ้ามงคลวรยศ (เจ้าเมืองน่าน) |
2 เมษายน พ.ศ. 2326 | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 | 3 ปี | |
7 | เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าฟ้าเมืองน่าน) |
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2353 | 24 ปี | |
8 | เจ้าสุมนเทวราช (พระยานครน่าน) |
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2354 | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2368 | 14 ปี | |
9 | เจ้ามหายศ (พระยานครน่าน) |
6 กันยายน พ.ศ. 2368 | 30 มกราคม พ.ศ. 2378 | 10 ปี | |
10 | เจ้าอชิตวงษ์ (พระยานครน่าน) |
28 มกราคม พ.ศ. 2380 | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2380 | 8 เดือน | |
11 | เจ้ามหาวงษ์ (พระยานครน่าน) |
23 เมษายน พ.ศ. 2381 | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2394 | 13 ปี | |
12 | พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้านครเมืองน่าน) |
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 | 40 ปี | |
13 | พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (พระเจ้านครเมืองน่าน) |
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 | 5 เมษายน พ.ศ. 2461 | 25 ปี | |
14 | เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้านครน่าน) |
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474 | 12 ปี |
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ อาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน) ยกเลิกใช้ในปี พ.ศ. 2451
อ้างอิง
แก้- ↑ "ทริปภาคเหนือ แพร่ น่าน ลำปาง ตอนที่ 5". โฟโต้ออนทัวร์. 2011-07-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-12. สืบค้นเมื่อ 2020-01-14.
- ↑ กระทรวงมหาดไทย (1917), ยอดทะเบียนสำมโนครัวมณฑลต่าง ๆ ในพระราชอาณาเขตร์ พุทธศักราช 2460, กระทรวงมหาดไทย, สืบค้นเมื่อ 2024-10-25
- ↑ "เงินตราสมัยล้านนา". ธนาคารแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-15. สืบค้นเมื่อ 2020-01-15.
- ↑ 4.0 4.1 อ๋องสกุล, สรัสวดี (2003). เอียวศรีวงศ์, นิธิ (บ.ก.). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. pp. 170, 246. ISBN 9742726612.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 อินปาต๊ะ, บริพัตร (2017). การฟื้นฟูรัฐน่านในสมัยราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ. 2329-2442 (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 27, 30, 50–56, 62, 67, 202. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-04-11.
- ↑ Harvey, Godfrey Eric (1925). History of Burma: from the Earliest Times to 10 March, 1824: The Beginning of the English Conquest. United Kingdom: Longmans, Green and Company. p. 241. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
- ↑ 7.0 7.1 โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1919), "ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน" [Ratchawongsapakon Phongsawadan Mueang Nan], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 "ประวัติศาสตร์จังหวัดน่าน" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-19. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25.
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (1901), ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง (บ.ก.), พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ [Royal Chronicle of the Kingdom of Rattanakosin: First Reign] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, pp. 240–242, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
- ↑ ขรัวทองเขียว, เนื้ออ่อน; จุฬารัตน์, จุฬิศพงศ์ (2014). "รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417-2476" [THE SIAMESE STATE AND LANNA, 1874-1933]. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 6: 75. สืบค้นเมื่อ 2024-05-12.
- ↑ สมิธ, เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน (2019) [1898], ห้าปีในสยาม [Five Years in Siam] (PDF), vol. 1, แปลโดย กีชานนท์, เสาวลักษณ์ (2nd ed.), กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
- ↑ "จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ (เมืองเชียงของ เมืองโปง เมืองเงิน เมืองสราว เมืองปัว เมืองน่าน เมืองหิน เมืองงั่ว)". ฐานข้อมูลจารึกแห่งประเทศไทย. 12 March 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-04-14.
- ↑ แสนสา, ภูเดช. "ประวัติศาสตร์เมืองน่าน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-03-29. สืบค้นเมื่อ 2024-10-25.