พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

ผู้ครองน่าน

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช[2] (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461)[3] ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461) เป็นพระโอรสองค์ที่สองในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และเป็นพระนัดดา (หลานปู่) ใน สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และเป็นพระเชษฐาต่างเจ้ามารดากับ เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 ชาวเมืองน่านเรียกพระนามอย่างลำลองว่า "พระเจ้าน่าน" และทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น "พระเจ้าประเทศราช" องค์ที่ 7 (18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
พระเจ้านครเมืองน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 63 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437
ครองราชย์21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461
รัชกาล25 ปี 43 วัน
พระอิสริยยศพระเจ้าประเทศราช
ก่อนหน้าเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
ถัดไปเจ้ามหาพรหมสุรธาดา
ประสูติ2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374
(เจ้าสุริยะ)
พิราลัย5 เมษายน พ.ศ. 2461 (87 ปี)
ณ คุ้มหลวงนครน่าน
อรรคราชเทวีแม่เจ้ายอดหล้า
พระชายา7 องค์
พระราชบุตร41 พระองค์
พระนามเต็ม
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน
ราชสกุลณ น่าน สายที่ 1[1]
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
พระมารดาแม่เจ้าสุนันทาอัครราชเทวี

พระประวัติ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีพระนามเดิมว่า เจ้าสุริยะ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374 (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ จ.ศ. 1193) เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ประสูติแต่แม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี (พระชายาที่ 1) มีพระเชษฐาพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 6 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้ามหาพรหม ภายหลังได้เป็น เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน (เจ้าอุปราช,พิราลัย พ.ศ. 2430)
  2. เจ้าสุริยะ ภายหลังได้เป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 (เจ้าราชวงษ์ พ.ศ. 2398,ว่าที่เจ้าอุปราช พ.ศ. 2431,เจ้านครเมืองน่าน พ.ศ. 2436,พระเจ้านครเมืองน่าน พ.ศ. 2446,พิราลัย พ.ศ. 2461)
  3. เจ้าสิทธิสาร ภายหลังได้เป็น เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน (เจ้าสุริยวงษ์,เจ้าราชวงษ์,เจ้าอุปราช,พิราลัย พ.ศ. 2442)
  4. เจ้าบุญรังษี ภายหลังได้เป็น เจ้าราชบุตร เมืองนครน่าน (เจ้าราชบุตร,พิราลัย พ.ศ. 2431)
  5. เจ้านางหมอกแก้ว ณ น่าน
  6. เจ้านางคำทิพ ณ น่าน

พระอิสริยยศ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ ต่าง ๆ ดังนี้

  1. ในปี พ.ศ. 2398 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้ง เจ้าสุริยะ ขึ้นเป็น เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน
  2. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน ว่าราชการในตำแหน่ง เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน
  3. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน ขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน ได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน"[4]
  4. วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครเมืองน่าน[5] มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน"[6]

ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่านที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดถึง พระเจ้านครเมืองน่าน มีพระสถานะเป็น พระเจ้าประเทศราชล้านนา องค์ที่ 7 (องค์สุดท้าย)[7] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงได้รับพระราชทานมหามงกุฎจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็น พระเจ้าประเทศราชล้านนา พระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศนี้

พระยศพลเรือน แก้

  • เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "มหาอำมาตย์เอก"[8]

เครื่องอิสริยยศ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศต่าง ๆ ดังนี้

1.) เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน

  • เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน[9] ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ดังนี้
  1. พานหมากทองคำ พร้อมเครื่องในทองคำ 1
  2. ประคำทองคำ 1
  3. กระโถนคำ 1
  4. คนโทคำ
  5. กระบี่บั้งทองคำ 1
  6. พระมาลากำมะหยี่เกี้ยวทองคำ 1
  7. ปืนคาบศิลาคร่ำเงิน 1
  8. ปืนคาบศิลาตอลาย 2
  9. หอกตอทองคำ 1
  10. สัปทน 1
  11. โต๊ะเงินท้าวช้าง 1 คู่
  12. เสื้อผ้าต่าง ๆ

2.) เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครเมืองน่าน

  • เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ดังนี้
  1. เสื้อครุย
  2. พระชฎา
  3. สังข์เลี่ยมทองคำ 1
  4. หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำลงยา 1
  5. กากระบอกทองคำ 1
  6. กระบี่ฝักทองคำศีร์ษะนาคลงยา 1
  7. เสื้อเยียรบับ 2
  8. ผ้านุ่งเยียรบับ 1
  9. ผ้านุ่งเขียนทอง 1
  10. เจียรบาต 1

(นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานสิ่งของสำหรับพระเกียรติยศอีกหลายอย่าง เช่น พระชฎา เป็นต้น)

พิราลัย แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ประชวรเป็นพระโรคชรา อาการทรงบ้างทรุดบ้างเสมอมา จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2461 พระอาการได้กำเริบมากขึ้น แพทย์หลวงและแพทย์ชเลยศักดิประกอบโอสถถวายการรักษาโดยเต็มกำลังพระอาการหาคลายไม่ ครั้นถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2461 (เวลา 4.50 น.) พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้เสด็จถึงแก่พิราลัย ณ หอคำหลวงเมืองนครน่าน (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) สิริพระชนมายุได้ 87 ปี 2 เดือน 28 วัน รวมระยะเวลาที่ทรงครองเมืองนครน่าน 25 ปี[10]

พระกรณียกิจ แก้

ด้านการถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ได้เข้าเฝ้าทูลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2416 ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง เจ้าสุริยวงษ์ นครเมืองน่าน ได้คุมนางระมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลาไปกลับ 4 เดือน
  • ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2433 เจ้าสุริยวงษ์ว่าที่เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน ได้นำแสนท้าวพระยาเมืองเชียงแขง ซึ่งมีความยินดีและยอมเป็นขอบขันธสีมาของกรุงเทพฯ แล้วนั้น ลงมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ณ กรุงเทพฯ
  • คร้งที่ 3 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 4 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 ได้เข้าเฝ้าถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ และในคราวนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 5 ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2437 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเครื่องประกอบอิสริยยศ เช่น พานหมากทองคำ, กระบี่บั้งทองคำ, มาลากำมะหยี่เกี๊ยวยอดองคำ, สัปทน ฯลฯ
  • ครั้งที่ 6 ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2440 ได้เข้าเฝ้าถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ
  • ครั้งที่ 7 ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2440 ได้เข้าเฝ้าทูลพระขวัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
  • ครั้งที่ 8 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ณ เมืองพิไชย
  • ครั้งที่ 9 ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ
  • ครั้งที่ 10 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า
  • ครั้งที่ 11 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเครื่องยศและเลื่อนฐานันดรศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 12 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 เวลาบ่าย 5 โมงเศษ ได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา กลับนครเมืองน่าน

ด้านการปกครอง แก้

  • กวาดต้อนและชักชวนให้ชุมชนไทลื้อในเมืองต่าง ๆ ของสิบสองปันนา ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน[11]
  • ยกเลิกอำนาจโทษประหารทางอาญา
  • จัดวางผังเมือง ขยายถนนให้กว้างขวาง สะดวกแก่การสัญจรไปมา
  • เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สร้าง กองเรือนจำเมืองนครน่านขึ้น ดังปรากฏข้อความดังนี้ “การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่นครเมืองน่านนั้น เจ้านครเมืองน่าน (พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ) มีความยินดีเปนอันมาก เจ้านครเมืองน่านได้จัดตั้งที่สำหรับขังนักโทษในที่ว่าการศาลต่างประเทศ 1 หลัง ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายไว้สำหรับราชการสืบไป แลขอให้เจ้านายบุตรหลานมาฝึกหัดในศาลต่างประเทศด้วย”

ด้านการทหาร แก้

  • ทรงทำนุบำรุงกิจการทหาร โดยการรวบรวมกำลังพลเข้าสังกัดมูลนาย ฝึกกำลังพลการรบ จัดตั้งยุ้งฉาง สะสมเสบียงอาหาร กระสุนดินดำ
  • โดยเมื่อปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่เจ้าราชวงศ์นครน่าน ได้ทรงนำกำลังไปสมทบกับทัพหลวง
  • ครั้นปี พ.ศ. 2445 เกิดขบถเงี้ยวที่เมืองแพร่ โดยพวกขบถจะยกทัพมายึดนครน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้ทรงยกกำลังทหารไปขัดตาทัพต่อสู้กับขบถเงี้ยว และได้ร่วมกับกองทัพหลวงตามตีจนได้รับชัยชนะ

ด้านการศึกษา แก้

  • ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยเป็นแห่งแรกในนครน่าน ให้ชื่อว่าโรงเรียนสุริยานุเคราะห์ ปฐมของโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารในปัจจุบัน

ด้านศาสนา แก้

  • ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ บูรณปฏิสังขรณ์วัดและบูชนียวัตถุเป็นอันมาก และเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน จารึกพระธรรมคำสั่งสอนไว้เป็นจำนวนมาก โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฏกหลังใหญ่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร บูรณะวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นต้น

เหตุการณ์สำคัญในเมืองนครน่าน แก้

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองนครน่าน ในยุคสมัยที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน (พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2461) มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้

1.) นครน่าน เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ประเทศไทยเสียดินแดน ครั้งที่ 11 )

การเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในอาณาเขตเมืองนครน่าน ให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2446 โดยในอดีตพื้นที่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของล้านนา ซึ่งถือกันมาตั้งแต่โบราณว่าเป็นเขตแดนล้านนาจรดกับแม่น้ำโขงโดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) หลักการข้างต้นยังปฏิบัติสืบมาถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เพราะมีหลักฐานกล่าวถึง เมืองเงิน หรือ (เมืองกุฎสาวดี) ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2415 คนในบังคับของอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองเงิน ถูกคนร้ายฆ่าตาย แล้วเหตุการณ์ในครั้งนั่น เจ้าหลวงเมืองนครน่าน เป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้กับคนในบังคับของอังกฤษ หัวเมืองชายแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครน่าน ประกอบด้วย เมืองเงิน (เมืองกุฎสาวดี), เมืองคอบ, เมืองเชียงลม, เมืองเชียงฮ่อน และเมืองหลวงภูคา แม้ว่าทั้ง 5 เมืองนี้จะเป็นเมืองชายขอบของเมืองนครน่าน แต่เจ้าผู้ครองนครน่าน ก็ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเมื่อจักรวรรดินิยมมีความต้องการดินแดนในส่วนนี้ก็เข้าแทรกแซงด้วยกำลังที่เหนือกว่า จนกระทั่งได้ไปในที่สุด

  • สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้แก่จักรวรรดิฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2446 นั้นสืบเนื่องมาจากปัญหา 2 ประการ คือ

- ประการที่ 1 ผลของการตีความในสนธิสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตร

- ประการที่ 2 สืบเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงบ่อเกลือ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณต้นแม่น้ำน่าน เมืองที่มีบ่อเกลือจำนวนมาก ได้แก่ เมืองเงิน (เมืองกุฎสาวดี) จึงเกิดปัญหาโต้เถียงกันบ่อยที่สุด และเป็นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตร ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเงินซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง ประกอบกับเป็นเมืองที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งยั่วยุให้ฝรั่งเศสคิดเข้าครอบครองพื้นที่บริเวณส่วนนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราษฎรส่วนใหญ่ในเมืองเงินมีความจงรักภักดีต่อ เจ้าหลวงเมืองน่าน เป็นอย่างมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกลี้ยกล่อมของฝรั่งเศสไม่น้อย นอกจากเมืองเงินซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตรแล้ว ยังมีเมืองคอบ เมืองเชียงลม และเมืองเชียงฮ่อน ล้วนต้องประสบปัญหาการเข้าแทรกแซงของฝรั่งเศสทั้งสิ้น

เหตุผลที่ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น เพราะไทยต้องการยุติปัญหาการแย่งชิง เมืองเงินระหว่างเมืองนครน่าน กับ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองเมืองได้เข้ามาแย่งกันปกครองในพื้นที่จนเกิดการวิวาทถกเถียงกันเสมอ โดยทุกครั้งสยามต้องพยายามอดกลั้นไม่ใช้กำลังโต้ตอบตลอดมา เพราะไม่ปรารถนาประจัญหน้ากับฝรั่งเศส ผู้ที่สนับสนุนการกระทำของเมืองหลวงพระบาง ฉะนั้นเพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อสยามจึงต้องยอมยกเมืองเงินและเมืองอื่น ๆ ในเขต 25 กิโลเมตร (พื้นที่ 25,500 ตร.กม.) ให้แก่จักรวรรดิฝรั่งเตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลให้การคุกคามของจักรวรรดิฝรั่งเศสในหัวเมืองมณฑลพายัพ ด้านทิศตะวันออก ยุติลงด้วย จึงทำให้ฝ่ายสยามเห็นโอกาสที่จะผนวกหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม จึงจัดการปฏิรูปการปกครองภายในมณฑลพายัพทั้งหมดในปี พ.ศ. 2458 นอกจากนั้นการสูญเสียดินแดนดังกล่าว เพื่อแลกกับการยึดครองเมืองจันทบุรีที่จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเอาไว้เป็นประกันซึ่งเป็นเมืองไทยแท้กว่าเมืองประเทศราช .

2.) จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล

- ในปี พ.ศ. 2437 จากการที่หัวเมืองประเทศราชล้านนา 5 หัวเมือง ถูกจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศสขนาบโอบล้อมทั้ง 2 ด้าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวม 5 หัวเมืองประเทศราชล้านนา ซึ่งประกอบด้วย เมืองนครเชียงใหม่ , เมืองนครลำปาง , เมืองนครน่าน , เมืองนครลำพูน และเมืองนครแพร่ จัดตั้งเป็นมณฑลลาวเฉียง

- ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยก เมืองนครลำปาง , เมืองนครน่าน และเมืองนครแพร่ จัดตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ตั้งสำนักข้าหลวงใหญ่มณฑลที่เมืองนครแพร่

- ในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบมณฑลมหาราษฎร์ แล้วให้มารวมกับมณฑลพายัพตามเดิม

รับราชการพิเศษ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ในวาระโอกาศต่าง ๆ ดังนี้

  1. เมื่อปี พ.ศ. 2395 ได้เป็นหัวหน้าสร้างพลับพลาประทับแรมที่ตำบลนาริน ท้องที่อำเภอเมืองน่าน จังหวัดนครเมืองน่าน รวมเวลาทำจนเสร็จ 1 เดือน แล้วลงไปรับเสด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ที่อำเภอท่าอิฐ เมืองพิไชย ที่เสด็จขึ้นมาเมืองนครน่าน คราวเสด็จไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมระยะเวลา 10 วัน
  2. เมื่อปี พ.ศ. 2396 ได้ตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมระยะเวลา 7 เดือนเศษ
  3. เมื่อปี พ.ศ. 2398 ได้นำตัวพระยาหลวงบังคม พระยาเมืองเชียงรุ้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือนเศษ
  4. เมื่อปี พ.ศ. 2399 ได้ยกทัพเมืองน่านขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัว ชาวไทลื้อ เมืองพง เขตสิบสองปันนา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการบังคับของฮ่อ ให้เข้ามาอยู่ในเขตของเมืองนครน่าน คราวนั้นได้ครอบครัวชาวไทลื้อ ประมาณ 1,000 คน และทรงโปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชียงม่วน และเมืองเชียงคำ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดพะเยา) รวมระยะเวลา 5 เดือน
  5. เมื่อปี พ.ศ. 2406 ได้คุมนางรมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  6. เมื่อปี พ.ศ. 2411 ได้คุมช้างพลายสีปลาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  7. เมื่อปี พ.ศ. 2416 ได้คุมนางรมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 5 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  8. เมื่อปี พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปจัดรวบรวมเสบียงอาหารที่ เมืองเชียงคำ ส่งกองทัพของ นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทรงเป็นแม่ทัพ นำกองทัพสยามขึ้นมาปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง และได้เข้าร่วมไปในกองทัพด้วย รวมระยะเวลาที่จัดการลำเลียงส่งเสบียงอาหาร 4 เดือน

ราชโอรส ราชธิดา แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีพระชายา 7 องค์ และพระโอรสพระธิดา รวมทั้งสิ้น 41 พระองค์ (อยู่ในราชสกุล ณ น่าน สายที่ 1) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

พระชายาที่ 1 แม่เจ้ายอดหล้าอัครราชเทวี (ชายาเอก) ประสูติพระโอรส พระธิดา 13 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าคำบุ ณ น่าน
  2. เจ้าคำเครื่อง ณ น่าน ภายหลังเป็น พระยาวังขวา (เจ้าคำเครื่อง ณ น่าน) พระยาวังขวา นครเมืองน่าน เสกสมรสกับเจ้านางภูคา ณ น่าน มีโอรส/ธิดา หนึ่งในนั้นคือแม่เจ้าศรีโสภา อัครชายาในเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64
  3. เจ้าน้อยยศ ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าบุรีรัตน์ นครเมืองน่าน
  4. เจ้านางอัมรา ณ น่าน
  5. เจ้าน้อยบุญรัตน์ ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชวงศ์ นครเมืองน่าน
  6. เจ้าน้อยบริยศ ณ น่าน
  7. เจ้านางบัวเขียว ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าบุรีรัตน์ (น้อยบรม ณ น่าน) พระโอรสองค์ที่ 1 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 กับแม่เจ้าปาริกาเทวี (พระชายาที่ 7)
  8. เจ้าสุทธิสาร ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชวงศ์ นครเมืองน่าน เสกสมรสกับเจ้านางบัวเขียว ณ น่าน (พระธิดาองค์ที่ 2 ในเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 กับแม่เจ้าศรีโสภา อัครชายา (ชายาที่ 1)
  9. เจ้าหนานจันทวงษ์ ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชภาติกวงษ์ นครเมืองน่าน
  10. เจ้าหนานบุญรังษี ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชบุตร นครเมืองน่าน
  11. เจ้าน้อยมหาวงษ์ ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชภาคินัย นครเมืองน่าน
  12. เจ้าน้อยยอดฟ้า ณ น่าน ภายหลังเป็น เจ้าราชดนัย นครเมืองน่าน เสกสมรสกับเจ้านางสุพรรณวดี เทพวงศ์ ราชธิดาในเจ้าพิริยเทพวงษ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 26
  13. เจ้านางสมุท ณ น่าน

พระชายาที่ 2 แม่เจ้าคำปลิวราชเทวี ประสูติพระธิดา 4 พระองค์ (ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัยทั้งหมด ไม่ปรากฏพระนาม)

พระชายาที่ 3 แม่เจ้าจอมแฟงราชเทวี ประสูติพระโอรส พระธิดา 3 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านางบัวแว่น ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าราชบุตร (น้อยอนุรศรังษี ณ น่าน) (พระโอรสองค์ที่ 1 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 กับแม่เจ้าสุคันธาเทวี (พระชายาที่ 8)
  2. เจ้าแห้ว ณ น่าน
  3. เจ้าน้อยครุธ ณ น่าน

พระชายาที่ 4 แม่เจ้าคำเกี้ยวเทวี ประสูติพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านางเกี๋ยงคำ ณ น่าน
  2. เจ้านางคำอ่าง ณ น่าน

พระชายาที่ 5 แม่เจ้ายอดหล้าเทวี (คนละองค์กับชายาเอก) ประสูติพระโอรส พระธิดา 7 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านางเทพมาลา ณ น่าน
  2. เจ้านางเทพเกสร ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ราชโอรสองค์ที่ 7 ในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 26 กับแม่เจ้าบัวไหลราชเทวี (ชายาที่ 2)
  3. เจ้าน้อยอินทแสงสี ณ น่าน
  4. เจ้านางจันทวดี ณ น่าน
  5. เจ้านางศรีสุภา ณ น่าน
  6. เจ้านางดวงมาลา ณ น่าน
  7. เจ้านางประภาวดี ณ น่าน

ชายาที่ 6 หม่อมศรีคำชายา ประสูติพระโอรส พระธิดา 5 พระองค์ (พระโอรส 3 พระองค์/พระธิดา 2 พระองค์) พระโอรสถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัยเหลือแต่พระธิดา ดังนี้

  1. เจ้านางบัวแก้ว ณ น่าน
  2. เจ้านางศรีพรหมา ณ น่าน ภายหลังเป็น หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา หม่อมในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

ชายาที่ 7 หม่อมบัว ประสูติพระโอรส พระธิดา 7 พระองค์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย 4 พระองค์) ส่วนที่ยังพระชนย์ชีพอยู่ ดังนี้

  1. เจ้านางต่อมแก้ว ณ น่าน
  2. เจ้าก่ำ ณ น่าน
  3. เจ้านางเกียรทอง ณ น่าน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ ดังนี้

เหรียญราชอิสริยาภรณ์ แก้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงได้รับพระราชทาน เหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ ดังนี้

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม แก้

  1. โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน เดิมมีชื่อว่า “ โรงเรียนสุริยานุเคราะห์ ” ด้วยความอุปถัมภ์ของ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน
  2. โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์
  3. ค่ายสุริยพงษ์ หรือ มณฑลทหารบกที่ 38
  4. ถนนสุริยพงษ์

ราชตระกูล แก้

อ้างอิง แก้

  1. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)
  2. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 10[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 10
  4. ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2436
  5. ราชกิจจานุเบกษา,การตั้งพระเจ้านครเมืองน่าน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446
  6. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการประกาศตั้งพระเจ้านครเมืองน่าน, เล่ม 20, ตอน 35, 29 พฤศจิกายน ร.ศ. 122, หน้า 610
  7. "เมืองน่านขึ้นกับอาณาจักรล้านนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-25. สืบค้นเมื่อ 2007-11-20.
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานยศแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454
  9. เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพิลาไลย เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2461
  11. สิบสองปันนา ดินแดนบรรพบุรุษคนไทย หรือ?[ลิงก์เสีย]
  12. ราชกิจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2436
  13. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดุษฎีมาลา เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2440 เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2444

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ถัดไป
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช   เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63
และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2461)
  เจ้ามหาพรหมสุรธาดา