พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายในคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน (หอคำ) ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่านตั้งอยู่ในจังหวัดน่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ที่ตั้งในจังหวัดน่าน
ก่อตั้ง14 สิงหาคม 2530 (2530-08-14)
ที่ตั้งตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
พิกัดภูมิศาสตร์18°46′35″N 100°46′15″E / 18.77627110313929°N 100.77087639169675°E / 18.77627110313929; 100.77087639169675
ประเภทพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เจ้าของ กรมศิลปากร
เว็บไซต์www.finearts.go.th/nanmuseum

ประวัติ

แก้

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน มีอาณาเขตทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา รายล้อมด้วยถนนที่สำคัญ ได้แก่ ถนนผากอง ด้านทิศตะวันออก ถนนสุริย พงษ์ ด้านทิศใต้ และถนนมหาพรหม ด้านทิศเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตรี มุขหรือรูปตัวที รูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยล้านนา โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตคุ้มหลวงนครน่าน ซึ่งในอดีตใช้เป็นที่ประทับ เสด็จออกว่าราชการ ประกอบรัฐพิธีและพระราชพิธี ของเจ้าผู้ครองนครน่าน
 สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2446 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2461) โดยสร้างขึ้นในบริเวณคุ้มหลวงหอคำนครน่าน เดิมทีเป็นเรือนไม้สักผสมไม้ตะเคียน จำนวน 7 หลังใหญ่ ซึ่งสร้างในรัชสมัยพรเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ผู้เป็นพระบิดาของพระองค์
 รูปแบบสถาปัตยกรรมของคุ้มหลวงหอคำนครน่าน สันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมจากคุ้มหลวงเมืองแพร่ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 โดยในขณะนั้นพระโอรสในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน ได้เสกสมรสกับเจ้านางสุพรรณวดี พระธิดาในเจ้าพิริยเทพวงษ์ฯ เจ้านครมืองแพร่ และได้รับราชการอยู่ที่เมืองนครแพร่ในตำแหน่งเจ้าราชบุตร ต่อมาหลังจากเหตุการณ์กบฏเงี้ยว ในปี พ.ศ. 2445 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน ผู้เป็นพระบิดาได้ขอย้ายเจ้าราชบุตรมารับราชการที่เมืองนครน่าน และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าราชดนัย ในปี พ.ศ. 2446 จึงอาจเป็นได้ว่าเจ้าราชดนัยได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมของคุ้มหลวงเมืองแพร่มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างหอคำนครน่าน ในปี พ.ศ. 2446 เช่น การสร้างอาคารเป็นอาคารตึก 2 ชั้น ทรงตรีมุขหรือรูปตัวที (T) ด้านในประกอบด้วยห้องหลายห้อง โดนมีเฉลียงแล่นกลางมุขด้านหน้า หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องไม้แป้นเกล็ด ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตามแบบศิลปะพื้นเมืองน่าน โดยหน้าบันหอคำทั้ง 3 ด้าน ประดับด้วยไม้สลักลายรูปพญานาคสองตัวหันหน้าตรงข้ามกัน ส่วนหางเกี้ยวรัดกันขึ้นไปตรงกลาง ล้อมรอบด้วยลายช่อกนกประกอบพื้นช่องไฟ ส่วนตรงกลางระหว่างพญานาคเป็นรูปโคอุสุภราชในกรอบวงกลมซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำนครน่าน ที่ใช้ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ และมีบันไดขึ้นทั้งสองข้าง
 คุ้มหลวงหอคำนครน่าน ได้รับความช่วยเหลือในการก่อสร้างจากบริษัท กิมเซ่งหลี โดยหลวงจิตรจำนงวานิช (จีนบุญเย็น) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจการป่าไม้ในเขตเมืองนครน่าน จากพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน โดยบริษัท กิมเซ่งหลี ได้ช่วยเหลือในเรื่องการก่อสร้างคุ้มหลวงหอคำ และต่อมาได้มีการเฉลิมฉลองคุ้มหลวงหอคำหลังนี้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2454 ตามบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองน่าน
 คุ้มหลวงหอคำนครน่าน ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐทึบทั้งสี่ด้าน กำแพงด้านหน้าอยู่บริเวณหลังต้นโพธิ์ อันเป็นที่ตั้งของ วัดน้อย (วัดน้อยเดิมอยู่ด้านนอกหน้าหอคำ ปัจจุบันอยู่ในเขตรั้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) ด้านหน้าหอคำมีศาลารายยาวตลอดแนวกำแพงและมีประตูทางเข้าเป็นซุ้มเรือนยอด ปัจจุบันสภาพหอคำเปลี่ยนแปลงไป แต่ลักษณะประตูและหน้าต่างยังเป็นของเดิม คือ เป็นแบบบานเกล็ดมีกรอบและลายปูนปั้นประดับตามแบบศิลปะตะวันตก บันไดด้านข้างทั้งสองด้านถูกรื้อออกไป กำแพงทึบสามด้านถูกรื้อออกเหลือเพียงด้านหลังด้านเดียว
 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2461 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน เสด็จถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศและบรรดาศักดิ์ เจ้าอุปราชมหาพรหม เจ้าอุปราชนครน่าน ขึ้นเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน ในปี พ.ศ. 2462 เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2474) ก็ได้เสด็จเข้ามาประทับในคุ้มหลวงหอคำ ตามราชประเพณี จนเสด็จถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2474 รวมระยะเวลา 12 ปี และเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลสยามที่จะไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป บรรดาเจ้านายผู้เป็นบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่าน จึงร่วมใจกันมอบคุ้มหลวงหอคำนครน่านพร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2476 โดยพื้นที่โดยรอบอาคารหอคำถูกใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานหน่วยราชการต่างๆ ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปี พ.ศ. 2517 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530

การจัดแสดง

แก้

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จัดแสดงในลักษณะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง เนื้อหาการจัดแสดงมุ่งเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิหลัง และภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมุษย์ในพื้นที่แถบจังหวัดน่าน สมัยประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะล้านนาและศิลปะสุโขทัย ที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางรูปแบบศิลปะสกุลช่างเมืองน่าน และจัดแสดงเรื่องราวการสร้างบ้านแปงเมืองของชาวน่าน และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้นำเสนอเรื่องราวทางชาติพันธุ์วิทยา แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยพื้นเมืองทางภาคเหนือ และชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดน่านทั้ง 5 ชนเผ่า พร้อมทั้งประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้าน ต่อมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงและพื้นที่ภายในอาคาร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 เพื่อพัฒนาให้มีความทันสมัยรองรับการใช้บริการ และส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัด โดยดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงโถงนิทรรศการหมุนเวียนชั้นล่าง และห้องนิทรรศการชั้นบน จำนวน 5 ห้อง ประกอบด้วย

  • ห้องนิทรรศการชั้นล่าง

 ห้องนิทรรศการชั้นล่าง ได้แก่ ห้องโถงบรรยายสรุปและนิทรรศการหมุนเวียน พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมและบรรยายสรุปการนำชมพิพิธภัณฑ์ โดยมีวีดีทัศน์เรื่อง “กรมศิลปากรกับการอนุรักษ์และสร้างสรรค์หอคำเมืองน่าน” ใช้ประกอบการบรรยาย สำหรับนิทรรศการหมุนเวียน ปัจจุบันจัดแสดงเรื่อง การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดน่าน เช่น ลัวะ มลาบรี ขมุ ม้ง เมี่ยน โดยนำเสนอภาพลายเส้นการแต่งกาย ประกอบกับลวดลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนแผนผังแสดงการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดน่าน

  • ห้องนิทรรศการชั้นบน ประกอบด้วย 5 ห้อง ดังนี้
    • ห้องที่ 1 คือ ห้องเครื่องพุทธบูชา จัดแสดงโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ได้แก่ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จากโบสถ์วัดท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แผงพระพิมพ์ ปัญจรูป และเรือเงินจากพระธาตุจอมแจ้ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งถูกพบบรรจุอยู่ในภาชนะใบเดียวกันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระธาตุจอมแจ้ง โดยเรือเงินส่วนใหญ่ที่พบมีการจารึกชื่อผู้ถวาย คำอธิษฐานหรือคำผาถนา ตลอดจนศักราชที่สร้าง
    • ห้องที่ 2 คือ ห้องเครื่องพุทธบูชา จัดแสดงโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ประกอบด้วย หีบพระธรรม พระพุทธรูปบุเงิน และแผ่นเงินจารึก มีการตกแต่งบรรยากาศของห้องนิทรรศการด้วยโมบายแขวนอักษรธรรมล้านนาโดยนำมาจากเอกสารโบราณที่เก็บรักษาอยู่ในห้องคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เรื่อง คาถาบูชาท้าวทั้งสี่ (ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ของล้านนา)
    • ห้องที่ 3 คือ ห้องเครื่องพุทธบูชา จัดแสดงโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อาทิ พระวิหารจำลอง โดยมีการตกแต่งบรรยากาศของห้องนิทรรศการด้วยโคมล้านนา และมีวีดีทัศน์นำเสนอโบราณวัตถุ 360 องศา ที่จัดแสดงในส่วนของห้องพุทธบูชาทั้ง 3 ห้อง พร้อมข้อมูลบรรยายประกอบ จำนวน 6 จอ นอกจากนั้นยังมีการจำลองภาพวาดเจ้าผู้ครองนครน่านชมการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชา ในงานประเพณีหกเป็ง นมัสการพระบรมธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง
    • ห้องที่ 4 คือ ห้องเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครน่าน จัดแสดงลำดับเจ้าผู้ครองนครน่าน ทั้ง 64 พระองค์ ประกอบกับโบราณวัตถุจัดแสดง อาทิ ดาบฝักเงิน กระบี่พร้อมฝัก ของเจ้าอุตรการโกศล (มหาไชย มหายศนันทน์) นอกจากนั้นยังมีวีดีทัศน์ เรื่อง “เฮือนเจ้านายเมืองน่าน” และ เรื่อง “ลำดับเจ้าผู้ครองนครน่าน” ประกอบในการจัดแสดง
    • ห้องที่ 5 คือ ห้องหอคำนครน่าน จัดแสดงเรื่องราวของหอคำนครน่าน อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ในปัจจุบัน โดยมีการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าของอาคารหอคำ เจ้าผู้ครองนครน่าน การขุดแต่งแนวกำแพงเดิมของหอคำในอดีตประกอบกับการจัดแสดงอิฐแนวกำแพงเก่าของหอคำที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อพุทธศักราช 2547 และเครื่องถ้วยซึ่งเป็นสมบัติเดิมของเจ้าผู้ครองนครน่าน นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงโมเดลจำลองแผนผังเมืองเก่าน่านเพื่อให้เห็นถึงขอบเขตพื้นที่และสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองน่านในอดีต

โบราณวัตถุที่สำคัญ

แก้

โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุชิ้นเด่นที่มีความสำคัญและน่าสนใจของเมืองน่าน ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้แก่

  • งาช้างดำ

 งาช้างดำ [1]เป็นโบราณวัตถุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เดิมเป็นสมบัติของเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่รักษาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีลักษณะเป็นงาปลี (งาที่มีความยาวไม่มากนัก แต่มีวงรอบขนาดใหญ่) สีน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ถอดความได้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" หรือประมาณ 18 กิโลกรัม ขนาดของงายาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนที่กว้างที่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีโพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงาชัดเจน ชาวจังหวัดน่านถือว่า งาช้างดำเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่านและถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันงาช้างดำเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

  • ความเป็นมาของงาช้างดำ ไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง
    • เรื่องที่ 1 ในสมัยพรเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2368) มีนายพรานคนเมืองน่านได้เข้าป่าล่าสัตว์ และได้เข้าไปถึงเขตแดนระหว่างน่านกับเชียงตุงและได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายในห้วย พอดีกับนายพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วยพรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าผู้ครองนคร ต่อมาเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ได้ส่งสารมาทูลพระเจ้าสุมนเทวราชว่า "…ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป…"
    • เรื่องที่ 2 ในคราวที่เมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่า "…เป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน…" จึงนำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่านแล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พระเจ้าการเมือง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองราชย์ พ.ศ. 1898 - พ.ศ. 1905) ได้ทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ว่า "…ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น…"

ในส่วนของครุฑ ที่แบกรับงาช้างดำไว้นั้น แกะสลักจากไม้สักทั้งท่อนโดยช่างสกุลเมืองน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีข่าวว่าเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือ บางเมืองคิดแข็งข้อก่อการกบฏต่อราชวงค์จักรี เจ้าผู้ครองนครน่าน จึงโปรดให้ทำพระครุฑพ่าห์ ขึ้นมาแบกรับงาช้างดำซึ่งเป็นวัตถุคู่บ้านคู่เมืองไว้ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า "…นครน่านในยุคนั้นยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย…"

๒. อาณาจักรหลักคำ หรือ กฎหมายเมืองน่าน เขียนขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๖ โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๒ เพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะของเมืองน่าน และเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับเมืองน่าน

๓. พระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามเพื่อเลื่อนฐานันดรศักดิ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๓ ผู้สร้างหอคำหรือคุ้มหลวงเมืองน่าน

๔. ตราประทับรูปโคอุสุภราช ทำจากงาช้าง ใช้เป็นตราเมือง สำหรับประทับในหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานและหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ

๕. ศิลาจารึกหลักที่ ๖๔ จากวัดพระธาตุช้างค้ำฯ กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรไมตรีต่อกันระหว่างเจ้าผู้ครองนครน่านและกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

๖. ศิลาจารึกหลักที่ ๗๔ กล่าวถึงการบูรณะซ่อมแซมวัดหลวงกลางเวียงหรือวัดพระธาตุช้างค้ำฯ โดยพญาพลเทพฤาชัย

๗. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ศิลปะอยุธยา อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทำจากไม้ ลงรักปิดทอง ได้จากโบสถ์วัดท่าปลา บริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

๘. พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน ศิลปะล้านนา อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง จากวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สันนิษฐานว่าเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ คงให้สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับวิหารวัดบุญยืน

๙. หีบพระธรรม จากวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา ทำจากไม้ลงรักปิดทอง สลักภาพนูนต่ำเรื่องพระเจ้าสิริจุฑามณี มีจารึกระบุว่าพระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ) ให้สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๑๑๕๗ หรือ พ.ศ. ๒๓๓๘

๑๐. ปัญจรูป สัตว์ในความเชื่อของพม่า มีลักษณะเป็นสัตว์ผสม ๕ ชนิด ได้แก่ มีหัวเป็นสิงห์ มีงวงและงาเป็นช้าง มีขาและเขาเป็นกวาง มีปีกเป็นหงส์ มีลำตัวและหางเป็นปลา บ้างก็ว่าลำตัวเป็นพญานาค

๑๑. หน้ากากฝาโลงไม้ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีลักษณะพิเศษของส่วนฝาโลง ซึ่งแกะสลักเป็นรูปนูนต่ำคล้ายคนหรือสัตว์ ไม่เคยพบที่ใดมาก่อนในประเทศไทย ได้จากถ้ำผาเวียง ๓ หรือถ้ำหีบ ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

๑๒. กลองมโหระทึก สำริด อายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบจำนวน ๒ ใบ ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

๑๓. ซิ่นลายน้ำไหล มีลักษณะลวดลาย ที่จำลองภาพของสายน้ำหรือคลื่นน้ำ ซึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวา เป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นเมืองน่านรูปแบบหนึ่ง


  • งาช้างดำ
  • หีบพระธรรมไม้แกะสลัก ฝีมือช่างสกุลน่าน
  • สมุดข่อยอาณาจักรหลักคำกฎหมายเมืองน่าน
  • ครุฑยุคนาค ฝีมือช่างล้านนา
  • ศิลาจารึกหลักที่ 64 อักษรสุโขทัย กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดศึกสงครามระหว่างเจ้าพระยาผากอง เจ้าผู้ครองนครน่าน และพระมหาธรรมราชาที่ 2 กษัตริย์แห่งสุโขทัย
  • ศิลาจารึกหลักที่ 74 อักษรธรรมล้านนา กล่าวถึงพญาพลเทพกุรไชย เจ้าเมืองน่าน ได้ทำการบูรณะพระมหาวิหารให้วัดหลวงกลางเวียง (วัดช้างค้ำ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. งาช้างดำ