หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา (นามเดิม เจ้าศรี ณ น่าน, 19 มีนาคม พ.ศ. 2431 - 25 กันยายน พ.ศ. 2521) เจ้าธิดาในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครเมืองน่าน กับหม่อมศรีคำ (ชาวเวียงจันทน์) เป็นหม่อมเอกในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทั้งสองท่านได้ออกหนังสือ “กสิกร” มีนักวิชาการ /ผู้รู้ เสนอบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเกษตรมากมาย ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับการทำอาหาร และการถนอมอาหาร โดยหม่อมศรีพรหมา เช่น การคั้นน้ำผลไม้ การหมักดอง การทำแฮมและเบคอน เป็นต้น
ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา | |
---|---|
เกิด | เจ้าศรี ณ น่าน 19 มีนาคม พ.ศ. 2431 นครน่าน |
เสียชีวิต | 25 กันยายน พ.ศ. 2521 (90 ปี) |
คู่สมรส | หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร |
บุตร | หม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี ประดิษฐพงศ์ หม่อมราชวงศ์อนุพร กฤดากร |
บิดามารดา | พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช หม่อมศรีคำ ณ น่าน |
ประวัติ
แก้เจ้าศรีพรหมาเกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2431 มีนามเดิมว่า เจ้าศรี เป็นพระธิดาคนเล็กในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครเมืองน่าน ที่เกิดกับหม่อมศรีคำ หญิงเชลยศึกชาวเวียงจันทน์[1] มีชื่อเล่นที่เจ้าพ่อตั้งให้ว่า จอด ส่วนคนใช้จะเรียกท่านว่า อีนายจอด[2] มีเจ้าพี่ร่วมมารดาเดียวกัน 5 องค์ เป็นชาย 3 องค์ (ถึงแก่กรรมหมด) ส่วนเจ้าพี่ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นหญิงชื่อเจ้าบัวแก้ว[1]
พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรักษ์) และคุณหญิงอุ๊น ภริยา ได้ทูลขอเจ้าศรีพรหมา ณ น่าน กับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นธิดาบุญธรรมเมื่ออายุได้ 3 ปีเศษ ตามบิดาและมารดาบุญธรรมไปกรุงเทพฯ เข้าศึกษาที่โรงเรียนสุนันทาลัย เป็นเวลา 5 เดือน และโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) 8 เดือน
ปี พ.ศ. 2442 พระยามหิบาลฯ และภริยา ต้องเดินทางไปรับราชการที่ประเทศรัสเซีย จึงต้องถวายตัวเจ้าศรีพรหมา ณ น่าน ไว้ในพระอุปการะสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าศรีจึงใช้ชีวิตและทรงเรียนหนังสืออยู่ในวังกับเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ เป็นเวลา 3 ปี ต่อจากนั้นจึงตามพระยามหิบาลฯ และครอบครัวไปอยู่ที่ประเทศรัสเซีย และประเทศอังกฤษ ตามลำดับ หลังจากกลับจากต่างประเทศ ก็กลับเข้ารับราชการ ในพระราชสำนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ ในบางครั้งยังทำหน้าที่เป็นล่ามติดต่อกับชาวต่างประเทศ
มีเรื่องเล่าว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเจ้าศรีพรหมา ณ น่าน ทรงพึงพอพระราชหฤทัย ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ ตรัสขอเจ้าศรีพรหมาด้วยพระองค์เอง ให้รับราชการในตำแหน่งเจ้าจอม เจ้าศรีพรหมาได้กราบบังคมทูลพระกรุณาปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษว่า "I admire you and respect you, but I don't love you"[3] แปลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเทิดทูนและเคารพใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่มิได้รักใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท (ในเชิงชู้สาว)" ในกราบบังคมทูลปฏิเสธ โดยเลี่ยงไม่ใช้ภาษาไทย แต่กลับใช้ภาษาอังกฤษ เป็นการง่ายและไม่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเมตตาให้เป็นไปตามอัธยาศัย เรื่องความกล้าของเจ้าศรีพรหมาครั้งนี้ และพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อเจ้าศรีพรหมาเสมอมา มิทรงได้ถือโทษ ยังพระราชทานเมตตาต่อเจ้าศรีพรหมาเสมอมาตราบจนเสด็จสวรรคต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามเจ้าศรี เป็น "เจ้าศรีพรหมา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ทรงขอเจ้าศรีพรหมาให้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เจ้าศรีพรหมาจึงมีฐานะเป็น “หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา” มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์อนุพร และหม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี หม่อมเจ้าสิทธิพร ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกระทรวงเกษตร ถวายบังคมลาออกจากราชการซึ่งก็ถูกห้ามปรามอย่างมาก ทั้งสองพระองค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บางเบิด (ปัจจุบันคือตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มทำการเกษตรบนที่ดินของหม่อมศรีพรหมาที่ได้รับเป็นมรดกจากท่านเจ้าคุณมหิบาลฯ โดยปลูกผักสวนครัว พืชไร่ เลี้ยงไก่ สุกรพันธุ์เนื้อ และโคนม และต่อมาขยายกิจการเป็นฟาร์ม มีผลผลิตประสบความสำเร็จครั้งแรกของไทย ฟาร์มนี้ยังเป็นสถานีทดลองทางการเกษตรที่มีผลต่อ กสิกรรมในวงกว้าง เป็นผลทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรได้รับยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ของไทย
ทั้งสองท่านได้ออกหนังสือ “กสิกร” มีนักวิชาการ/ผู้รู้ เสนอบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเกษตรมากมาย นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับการทำอาหาร และการถนอมอาหาร โดยหม่อมศรีพรหมา เช่น การคั้นน้ำผลไม้ การหมักดอง การทำแฮมและเบคอน เป็นต้น ซึ่งหม่อมศรีพรหมานับเป็นคนไทยคนแรกที่ทำหมูแฮมและเบคอนได้ในประเทศไทยในสมัยที่ยังไม่มีตู้เย็น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้หม่อมเจ้าสิทธิพรกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม กระทรวงเกษตร หม่อมศรีพรหมาจึงต้องติดตามมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งในวาระที่หม่อมเจ้าสิทธิพรดำรงตำแหน่งอยู่ กรมตรวจกสิกรรมสามารถส่งข้าวเข้าประกวดได้รางวัลชนะเลิศเป็นที่ 1 ของโลก
แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรต้องออกจากราชการ และเกิดกบฏบวรเดช ซึ่งพระเชษฐาคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงเป็นหัวหน้าในการก่อการแย่งชิงอำนาจกลับคืนจากคณะราษฎรผู้ปกครองแผ่นดิน ซึ่งเปลี่ยนระบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หม่อมเจ้าสิทธิพรได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมก่อการด้วย แต่การก่อการไม่สำเร็จ ทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรต้องโทษจำคุกตลอดพระชนม์ชีพที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่า ภายหลังได้รับพระราชทานนิรโทษกรรม จึงจำคุกเพียง 11 ปี หม่อมศรีพรหมาต้องรับภาระหนักทั้งเลี้ยงดูโอรสธิดา ดูแลกิจการที่อำเภอบางเบิด และ ตามไปส่งอาหารและยาให้หม่อมเจ้าสิทธิพรตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกคุมขังไว้
ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ หลังจากหม่อมเจ้าสิทธิพรพ้นโทษแล้ว ก็ได้ทรงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ถึง 2 สมัย หม่อมศรีพรหมาจึงได้กลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งหม่อมเจ้าสิทธิพรสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514 หม่อมศรีพรหมาจึงได้ผลักดันให้เกิด “มูลนิธิสิทธิพร กฤดากร” เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของหม่อมเจ้าสิทธิพร และส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2521 สิริอายุได้ 90 ปี อัฐิของท่านได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ ณ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ร่วมกับพระอัฐิของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
หนังสืออัตชีวประวัติ
แก้ได้มีการพิมพ์หนังสือ "อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยการจัดทำของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ แบ่งเป็นสี่ภาค คือ ประวัติ, ข้อเขียนของท่าน, บทสัมภาษณ์ และ จาก กสิกร และมีการตีพิมพ์ใหม่ในปี 2550 โดยคงโครงและเนื้อหาเดิมไว้เกือบทั้งหมด แต่ตั้งชื่อหมวดใหม่ คือ “ประวัติเจ้าศรีพรหมา เรียบเรียงโดย ส.ศิวรักษ์” “อัตชีวประวัติ” ” สัมภาษณ์หม่อมศรีพรหมา กฤษดากร” “การถนอมอาหาร จากหนังสือพิมพ์กสิกร” ตามลำดับ และเพิ่มภาคผนวก “เล่าเรื่องแม่” ของ ม.ร.ว. เพ็ญศรี กฤดากร เข้าไว้ด้วย[4] หนังสือ "อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร" ติดอยู่ใน รายชื่อหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน (พ.ศ. 2408-2519)[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2459 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)[6]
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. นนทบุรี : สารคดี, 2562, หน้า 70
- ↑ ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. นนทบุรี : สารคดี, 2562, หน้า 71
- ↑ ส. ศิวรักษ์. รากงอกก่อนตาย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 7
- ↑ "ในแผง-นอกแผง: อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เก็บถาวร 2020-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทสรุปโครงการวิจัย
- ↑ ราชกิจานุเบกษา, รายพระนามและนามสมาชิกสมาชิกา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๗๔, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๕๙