ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

หรือ ราชวงศ์เมืองน่าน หรือ ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ เป็นราชวงศ์ลำดับที่สองต่อจากราชวงศ์ภู

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ หรือ ราชวงศ์น่าน หรือ นันทราชวงศ์ เป็นราชวงศ์ลำดับที่สองต่อจากราชวงศ์ภูคา ที่ปกครองนครน่าน เริ่มปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2269 จนถึงปี พ.ศ. 2474 รวมระยะเวลา 205 ปี มีเจ้าผู้ครองนคร 14 พระองค์

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระราชอิสริยยศกษัตริย์
กษัตริย์ประเทศราช
พระเจ้าประเทศราช
เจ้าประเทศราช
พระยาประเทศราช
ปกครองนครน่าน
และหัวเมืองขึ้นอีก 45 เมือง
เชื้อชาติไทลื้อ , ไทยวน
สาขาราชสกุลสาย ณ น่าน
สายที่ 1 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ
สายที่ 2 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ
สายที่ 3 เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ
จำนวนพระมหากษัตริย์14 พระองค์
ประมุขพระองค์แรกพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบันอ้างสิทธิ : เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน
ประมุขพระองค์สุดท้ายเจ้ามหาพรหมสุรธาดา
ช่วงระยะเวลา11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474
(205 ปี 2 เดือน 6 วัน)
สถาปนา11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269
สิ้นสุด17 สิงหาคม พ.ศ. 2474
ราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์ภูคา

การสถาปนา

แก้

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ หรือ ราชวงศ์เมืองน่าน ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2269 โดย พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ โดยทรงสืบเชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงใหม่[note 1] ได้รับการราชาภิเษกขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครน่าน" เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2269 และมีการสืบสันตติวงศ์กันต่อ ๆ

พระนาซ้าย (น้อยอินทร์) เป็นคนเมืองน่าน อาศัยอยู่ที่บ้านฝายแก้ว ต่อมาพม่าได้แต่งตั้งให้ดูแลรักษาเมืองน่าน และในปี พ.ศ. 2269 หลังจากที่ดูแลเมืองน่านมาได้ 10 ปี จึงได้กราบทูลขอให้ราชสำนักพม่าส่งให้เจ้ามาปกครองเมืองน่าน เพราะในเวลานั้นเชื้อสายเจ้าเมืองน่านแต่เดิมนั้นไม่มีแล้วประกอบกับพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มีเชื้อสายเจ้าบ้านผ่านเมืองมาก่อนและส่วนตัวของพระนาซ้ายไม่มีเชื้อสายเจ้าเมืองมาก่อนจึงไม่กล้าครองเมืองจึงได้เชิญพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มาครองเมืองน่านและมีเจ้าผู้ครองนครสืบลงมา จนกระทั่งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีมหากรุณาธิคุณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องเป็นเจ้าฟ้าเป็นครั้งแรกคือ "เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ" เหมือนตำแหน่งเจ้าฟ้าไทใหญ่ในพม่า

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ภายใต้การปกครองของพม่า

แก้

ต่อมานครน่าน ได้เป็นประเทศราชรวมอยู่ในราชอาณาจักรสยาม โดยในช่วง พ.ศ. 2297 – 2327 หัวเมืองล้านนาต่าง ๆ พยายามแข็งข้อต่อพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสามารถโจมตีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2317 แต่นครน่านยังตกอยู่ในฝ่ายพม่า เจ้าน้อยวิฑูร เจ้านครน่านถูกจับและถูกคุมตัวส่งไปยังกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2321) เมืองน่านจึงขาดเจ้าผู้ปกครอง พม่าได้ยกทัพกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เชียงแสน ทำให้เมืองน่านถูกทิ้งร้างว่างเปล่า จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้ามงคลวรยศ หลานเจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ มาปกครองนครน่านที่รกร้างว่างเปล่า และในปี พ.ศ. 2328 กองกำลังพื้นเมืองล้านนาโดยการสนับสนุนของกองทัพสยาม ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ นครน่านจึงรวมเข้าอยู่ในราชอาณาจักรสยาม และเจ้ามงคลวรยศได้ยกนครน่านให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญปกครองสืบไป

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (ภายใต้การปกครองของอาณาจักรรัตนโกสินทร์)

แก้

หลังจากเมืองนครน่าน ขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2331 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน และแต่งตั้งเจ้าสุมนเทวราช ขึ้นเป็นเจ้าพระยาหอหน้า พ.ศ. 2343 นครน่านจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญมีความสามารถในการปกครองและบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง นับแต่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองน่านมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจสิทธิเด็ดขาด ในการปกครองพลเมือง การขึ้นครองนครแม้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรุงรัตนโกสินทร์ แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ทรงให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองน่านเลือกตัวเจ้านายผู้มีอาวุโสเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง มิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน

เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ต่างจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญ ๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงแสนในรัชกาลที่ 1 ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ 3 ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้น

สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขวิธีการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2435 โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ทรงส่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนต่างพระเนตร พระกรรณมากำกับดูแล การบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร เรียกชื่อตามตำแหน่งทำเนียบว่า 'ข้าหลวงประจำเมือง'

จวบจนมาถึงสมัยเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2445 เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน มีความชอบในการช่วยปราบกบฎเงี้ยวที่ปล้นเมืองแพร่ สนองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระทัยยิ่ง ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่าเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ประกอบคุณงามความดี แก่ราชการบ้านเมือง เป็นที่รักใคร่นับถือของเจ้านายท้าวพระยาและพลเมืองโดยทั่วไป จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุระมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ วิบูลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน

หลังจาก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงถึงแก่พิราลัยเมื่อปี พ.ศ. 2461 เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าอุปราช) ได้ขึ้นครองเมืองน่าน ในสมัยนี้อำนาจของเจ้าผู้ครองนครลดน้อยลงทางกรุงเทพฯ ได้จัดส่งข้าราชการ เช่น ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด คลังจังหวัด และสรรพากรจังหวัด ฯลฯ มาประจำหน่วยงานเรียกกันว่า 'เค้าสนามหลวง' ส่วนตัวเจ้าผู้ครองนครได้กำหนดรายได้เป็นอัตราเงินเดือน ส่วยสาอากรต่าง ๆ ต้องเก็บเข้าท้องพระคลังทั้งสิ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2475 ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยุบเลิกแต่นั้นมา[1]

ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ปกครองเมืองนครน่านรวมระยะเวลา 205 ปี มีเจ้าผู้ครองนครน่านสืบสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ต่อเนื่องกันมาถึง 14 รัชกาล นับเป็นบรรพบุรุษแห่งราชสกุล ณ น่าน , มหายศนันทน์ , มหาวงศนันทน์ , พรหมวงศนันทน์ และราชสกุลอื่น ๆ ในปัจจุบัน[2]

รายชื่อนามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน แก่เจ้านายนครเมืองน่าน

แก้

นามสกุลเจ้านายนครเมืองน่าน ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้านายนครเมืองน่าน มีดังนี้

รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน

แก้

รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน 14 พระองค์ แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2474) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

ลำดับ พระรูป รายพระนาม ครองราชย์
เริ่ม สิ้นสุด รวมเวลา
1
 
พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์
(พระเจ้าเมืองน่าน)
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269 16 มิถุนายน พ.ศ. 2294 25 ปี
2
 
พระยาอริยวงษ์
(เจ้าเมืองน่าน)
30 กันยายน พ.ศ. 2297 4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 14 ปี
3
 
พระยานายอ้าย
(เจ้าเมืองน่าน)
4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2312 1 ปี
4
 
พระยามโนราชา
(เจ้าเมืองน่าน)
10 กันยายน พ.ศ. 2312 25 มีนาคม พ.ศ. 2317 5 ปี
5
 
พระยาวิธูร
(เจ้าเมืองน่าน)
25 มีนาคม พ.ศ. 2317 31 มีนาคม พ.ศ. 2321 4 ปี
6
 
พระยามงคลวรยศ
(เจ้าเมืองน่าน)
2 เมษายน พ.ศ. 2326 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 3 ปี
7
 
เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ
(เจ้าฟ้าเมืองน่าน)
19 สิงหาคม พ.ศ. 2331 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2353 23 ปี
8
 
พระยาสุมนเทวราช
(พระยานครน่าน)
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2354 26 มิถุนายน พ.ศ. 2368 14 ปี
9
 
พระยามหายศ
(พระยานครน่าน)
6 กันยายน พ.ศ. 2368 30 มกราคม พ.ศ. 2378 10 ปี
10
 
พระยาอชิตวงษ์
(พระยานครน่าน)
28 มกราคม พ.ศ. 2380 11 ตุลาคม พ.ศ. 2380 8 เดือน
11
 
พระยามหาวงษ์
(พระยานครน่าน)
23 เมษายน พ.ศ. 2381 23 ตุลาคม พ.ศ. 2394 13 ปี
12
 
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช
(เจ้านครเมืองน่าน)
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 40 ปี
13
 
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
(พระเจ้านครเมืองน่าน)
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 5 เมษายน พ.ศ. 2461 25 ปี
14
 
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา
(เจ้านครน่าน)
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474 12 ปี

ผู้สืบสกุลเจ้าผู้ครองนครน่าน ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย

แก้

เจ้านายผู้สืบสกุลเจ้าผู้ครองนครน่าน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ลำดับ รูป รายนาม ดำรงตำแหน่ง รวมระยะเวลา ความสัมพันธ์
1   เจ้าราชบุตร
(หมอกฟ้า ณ น่าน)
พ.ศ. 2474 - พ.ศ. 2501 27 ปี พระโอรสใน
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา
เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64
2   เจ้าโคมทอง ณ น่าน พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2542 41 ปี ธิดาใน เจ้าราชบุตร
(หมอกฟ้า ณ น่าน)
3   เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน พ.ศ. 2542 - ปัจจุบัน 25 ปี 314 วัน ธิดาใน
เจ้าโคมทอง ณ น่าน

การขอแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่านไม่สำเร็จ

แก้

ในปี พ.ศ. 2476 มีจดหมายจากเจ้านายและราษฎรเมืองน่านร้องขอให้รัฐบาลสยามแต่งตั้ง "เจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าราชวงศ์ นครเมืองน่าน" ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครน่าน" เนื่องจากเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2474 ทางรัฐบาลสยามยังไม่ได้แต่งตั้งเจ้านายองค์ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 อาณาจักรสยามได้เกิดการปฎิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครอง การนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา กล่าวว่าเห็นควรยึดตามนโยบายของรัฐบาลสยามเดิมที่ไม่ให้ตั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป แต่รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าเมืองนครน่านเป็นหัวเมืองชายแดนที่เสี่ยงต่อการถูกยุยงให้ข้อหาจักรวรรดิฝรั่งเศส อีกทั้งสถานการณ์ปลี่ยนไปเนื่องจากอาณาจักรสยามไม่ได้ปกครองโดยกษัตริย์เหมือนแต่ก่อน คณะราษฎรจึงส่งพระยาจ่าแสนยบดีให้ขึ้นมาสืบข่าวในเมืองนครน่าน และพบว่า เจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร ณ น่าน) มีชนมายุ 70 ปี และเป็นพระโอรสในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 และเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล "ณ น่าน" ซึ่งมีความดีความชอบไม่ยุ่งยากเหมือนวงศ์ตระกูล "ณ ลำปาง" จึงเห็นควรให้มีการตั้งขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านได้ ครั้นเมื่อพระยาจ่าแสนยาบดีเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้เกิดรัฐประหารจนทำให้พระยาจ่าแสนยาบดีเสียชีวิตโดยไม่ได้เสนอ เรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ท้ายที่สุดทางรัฐบาลสยามเห็นว่าไม่ควรให้มีตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าในเวลานั้นไม่มีราษฎรเลื่อมใสในเจ้านายแล้ว จึงทำให้ "เจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าราชวงศ์ นครเมืองน่าน" มิได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 65 ต่อจาก เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 จึงถือเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองของเจ้านายเมืองนครน่านนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา[3]

หมายเหตุ

แก้
  1. พระเจ้านครน่านหลวงติ๋นมหาวงศ์ ปฐมเจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (บางตำรา[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]ระบุว่า) พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าศรีสองเมือง กษัตริย์แห่งแคว้นล้านนา และเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 42

อ้างอิง

แก้
  1. "ราชวงศ์ภูคา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-29. สืบค้นเมื่อ 2020-01-08.
  2. "ราชวงศ์ภูคา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-29. สืบค้นเมื่อ 2020-01-08.
  3. หนังสือ พระราชทานเพลิงศพ เจ้าศรีพรหมา ณ น่าน /บันทึกหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา

แหล่งข้อมูลเพิ่ม

แก้
  1. การวิเคราะห์สังคมเมืองน่าน จากกฎหมายอาณาจักรหลักคํา (พ.ศ.2395-2451)[ลิงก์เสีย]
  2. ตระกูลหลวงติ๋นและจุด เริ่มต้นของการสร้าง “น่านใหม่” พ.ศ. 2267-2331 เก็บถาวร 2022-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. “เส้นทางสายเจ้าฟ้า” เที่ยวน่านตามรอยราชวงศ์หลวงติ๋น
ก่อนหน้า ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ถัดไป
ราชวงศ์ภูคา   ราชวงศ์ที่ปกครองนครน่าน
(พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2475)
  ยกเลิกเจ้าผู้ครองนคร
(พ.ศ. 2475)