สงครามเชียงตุง
สงครามเชียงตุง เป็นความพยายามของอาณาจักรสยามรัตนโกสินทร์ที่จะเข้าครองครอบรัฐเชียงตุง ซึ่งเป็นรัฐของชาวไทเขินทางเหนือซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าราชวงศ์โก้นบอง สงครามตีเมืองเชียงตุงเกิดจากความขัดแย้งภายในวงศ์เจ้าเมืองอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งสิบสองปันนา เจ้านายไทลื้อเชียงรุ่งเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ฝ่ายสยามเห็นว่าหากจะยกทัพไปโจมตีเมืองเชียงรุ่งได้ต้องครอบครองเมืองเชียงตุงให้ได้เสียก่อน นำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงตุง สงครามตีเมืองเชียงตุงเกิดขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2393 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามให้ฝ่ายอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่จัดทัพขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุงแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามได้จัดทัพขึ้นไปเมืองเชียงตุงอีกสองครั้งในปี พ.ศ. 2395 และพ.ศ. 2396 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน
สงครามพม่า–สยาม (2392–2398) | |||||
---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม | |||||
การเดินทางล้านนา-สยามสู่เชียงตุง พ.ศ. 2393 พ.ศ. 2395-2396 และ พ.ศ. 2396-2397 เขียว เป็นตัวแทนของรัฐฉานภายใต้การปกครองของพม่ารวมถึงเชียงตุง แดง เป็นตัวแทนของล้านนา-สยาม | |||||
| |||||
คู่สงคราม | |||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) | อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) | ||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||
พระเจ้าพุกามแมง พระเจ้ามินดง |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||
กองทัพพม่า | กองทัพไทย | ||||
กำลัง | |||||
3,000+ | ไม่ทราบ | ||||
ความสูญเสีย | |||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ |
เหตุการณ์นำ
แก้ประวัติศาสตร์เชียงตุง
แก้เดิมเมืองเชียงตุงเป็นถิ่นฐานของชาวละว้า พญามังรายส่งเจ้าเมืองมาปกครองเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 1786[1] เมืองเชียงตุงจึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา พญาผายูแห่งล้านนาส่งโอรสคือเจ้าเจ็ดพันตู[1]มาครองเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 1893 หลังจากนั้นวงศ์มังรายจึงปกครองเมืองเชียงตุงมาเป็นระยะเวลาตลอดหกร้อยปีจนถึงเจ้าจายหลวง (Sao Sai Long) เมืองเชียงตุงในบางยุคสมัยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ในบางยุคเป็นอิสระ ชาวเชียงตุงพัฒนาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมกลายเป็นชาวไทเขิน เมื่อล้านนายกทัพมาตีเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2066 ทัพล้านนาพ่ายแพ้สูญเสียมาก ทำให้อำนาจของล้านนาเสื่อมลงเชียงตุงเป็นอิสระจากล้านนา เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมายึดเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า เจ้าเมืองเชียงตุงจึงสวามิภักดิ์ต่อพม่า[1] ทางราชสำนักพม่าแต่งตั้งเจ้าฟ้ามาปกครองเมืองเชียงตุง เรียกว่า เจ้าฟ้าเชียงตุง โดยที่เจ้าฟ้าเชียงตุงนั้นยังคงสืบเชื้อสายมาจากวงศ์มังรายเดิม อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
ในเวลาต่อมาอาณาจักรล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม เจ้าเมืองล้านนาต่างดำเนินนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ยกทัพไปโจมตีหัวเมืองต่างๆทางเหนือของล้านนาหรือเมือง"ลื้อเขิน"เพื่อแสวงหากำลังคน[2] ในพ.ศ. 2345 พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่งพระยาอุปราชน้อยธรรมผู้เป็นน้องชายยกทัพเชียงใหม่มีโจมตียึดเมืองสาด (Mong Hsat) และเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงเสียให้แก่เชียงใหม่ถูกทำลายและว่างร้างลง[2] เจ้าฟ้าสิริไชยโชติสารัมพยะ หรือเจ้ากองไท (Sao Kawng Tai) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป ส่วนเจ้าดวงแสง หรือเจ้ามหาขนาน (Maha Hkanan) อนุชาของเจ้าฟ้ากองไทหลบหนีไปเมืองยาง (Mongyang) พระยาอุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเชียงตุงไปที่เชียงใหม่จำนวนมาก พระเจ้ากาวิละเกลี้ยกล่อมให้เจ้าฟ้ากองไทยอมสวามิภักดิ์เข้ามอบตัวต่อเชียงใหม่ในพ.ศ. 2347[3] เมืองเชียงตุงจึงร้างปราศจากผู้ปกครอง
เจ้ามหาขนานที่เมืองยางพยายามตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใครและฟื้นฟูเมืองเชียงตุงขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าปดุงส่งกองทัพพม่าเข้ามาโจมตีเจ้ามหาขนานหลายครั้งเพื่อดึงเชียงตุงให้กลับไปขึ้นแก่พม่า เจ้ามหาขนานต่อสู้กับทัพพม่าด้วยความช่วยเหลือจากเชียงใหม่ พระยาอุปราชน้อยธรรมนำทัพเชียงใหม่ขึ้นไปช่วยเจ้าดวงแสงในพ.ศ. 2351 แต่ถูกพม่าตีแตกพ่ายกลับมา จนกระทั่งในพ.ศ. 2356 เมื่อเจ้ามหาขนานตระหนักว่าไม่สามารถต้านทานทัพของพม่าได้อีกต่อไป จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อพม่า[2] เจ้าดวงแสงมหาขนานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงภายใต้การปกครองของพม่า เมืองเชียงตุงจึงกลับฟื้นคืนขึ้นเป็นบ้านเมืองอีกครั้ง ฝ่ายเมืองเชียงใหม่เมื่อเห็นว่าเชียงตุงกลับไปขึ้นแก่พม่าแล้ว จึงเห็นว่าเชียงตุงเป็นศัตรู พระยาอุปราชน้อยธรรมตัดสินใจกวาดต้อนชาวเมืองยองที่ยังคงหลงเหลืออยู่ลงไปล้านนาจนหมดสิ้นในพ.ศ. 2356 ทำให้เมืองยองกลายเป็นเมืองร้างจนกระทั่งเจ้าฟ้ามหาขนานเชียงตุงได้ฟื้นฟูเมืองยองขึ้นอีกครั้งอยู่ภายใต้อำนาจของเชียงตุง เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุงยังคงปกครองเมืองเชียงตุงภายใต้อำนาจของพม่ามาเป็นเวลาอีกสามสิบปี จนถึงเหตุการณ์สงครามเชียงตุง
ความขัดแย้งในเมืองเชียงรุ่ง
แก้ขุนเจืองหรือพญาเจืองก่อตั้งอาณาจักรไทลื้อหอคำเชียงรุ่งขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ. 1723 อาณาจักรของชาวไทลื้อนี้แบ่งการปกครองออกเป็นสิบสองส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า “ปันนา” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ"สิบสองปันนา" เชียงรุ้งสิบสองปันนาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยของพญามังราย ในพ.ศ. 1839 จักรพรรดิมองโกลราชวงศ์หยวนส่งทัพเข้ามาบุกยึดอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง ตั้งเมืองเชียงรุ่งกลายเป็นเมืองเชอลี่ (จีนกลาง: 車里 พินอิน: Chēlǐ) เมืองเชียงรุ่งจึงกลายเป็นประเทศราชของจีนนับตั้งแต่นั้น จักรพรรดิจีนส่งตราจุ้มหรือลัญจกรมาเป็นสิ่งรับรองเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรุ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นซวนเหว่ย (จีนกลาง: 宣慰 พินอิน: Xuānwèi) เจ้าประเทศราชของจีน แผลงเป็นคำว่า"แสนหวี" เจ้าเมืองเชียงรุ่งจึงได้รับสมยาว่า"เจ้าแสนหวีฟ้า" ต่อมาในพ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาได้สำเร็จ แต่ทางจักรวรรดิจีนยังอ้างสิทธิอำนาจเหนือสิบสองปันนาอยู่ พม่าและจีนจึงตกลงร่วมกันให้เจ้าเมืองเชียงรุ่งอยู่ภายใต้อำนาจของทั้งพม่าและจีน “ฮ่อเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่” ส่งบรรณาการให้แก่ทั้งสองฝ่ายฟ้า
ในพ.ศ. 2345 เมื่อเจ้าหม่อมมหาวงศ์ (เท่าถ่ายค้อ 刀太和) เจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งถึงแก่อสัญกรรม เจ้ามหาน้อย (เท่าซุ้นวู 刀純武) โอรสของเจ้าหม่อมมหาวงศ์อายุเพียงสองชันษาจึงขึ้นเป็นเจ้าแสนหวีเชียงรุ่งองค์ต่อมา โดยมีเจ้ามหาวัง (เท่าถ่ายคัง 刀太康) น้องชายของเจ้าหม่อมมหาวงศ์ ผู้เป็นอาของเจ้ามหาน้อยเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ในพ.ศ. 2348 เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านยกทัพมาตีเมืองเชียงรุ่ง[4] เจ้ามหาวังยอมจำนนต่อกองทัพเมืองน่านและให้เจ้ามหาพรหมกับเจ้าศรีเดินทางไปกรุงเทพเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ฝ่ายเมืองน่านและสยามไม่ได้เข้าครอบครองเมืองเชียงรุ่งแต่กวาดต้อนชาวไทลื้อไปเป็นจำนวนมาก เมืองเชียงรุ่งและสิบสองปันนากลับเป็นเมืองขึ้นของพม่าดังเดิม
ต่อมาในพ.ศ. 2360 เมื่อเจ้ามหาน้อยเติบโตขึ้นว่าราชการเองได้แล้ว ขึ้นนั่งเมืองเชียงรุ่งด้วยตนเอง เจ้ามหาวังจึงยุติการสำเร็จราชการแทนและไปครองเมืองแช่ พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้เจ้ามหาน้อยไปเข้าเฝ้าที่เมืองอมรปุระ เจ้ามหาน้อยหรือเจ้ามหาขนานแห่งเชียงรุ้งไม่ยอมไปเข้าเฝ้าตามพระราชโองการส่งเจ้ามหาวังผู้เป็นอาไปเมืองอมรปุระแทน พระเจ้าปดุงพิโรธที่เจ้ามหาน้อยไม่ยอมมาเข้าเฝ้าจึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้เจ้ามหาวังขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงรุ้งขึ้นแทนที่เจ้ามหาน้อย ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้ามหาน้อยและเจ้ามหาวังสองอาหลาน
สงครามกลางเมืองสิบสองปันนาระหว่างเจ้ามหาน้อยและเจ้ามหาวังสองอาหลานดำเนินไป จนกระทั่งพ.ศ. 2365 ทัพของเจ้ามหาวังสามารถเอาชนะทัพของเจ้ามหาน้อยได้ เจ้ามหาน้อยแตกพ่ายถูกพม่าจับกุมได้ไปขังไว้เมืองเมืองอมรปุระเป็นเวลาสามปีจึงได้รับการปล่อยตัวกลับไปเชียงรุ่งในพ.ศ. 2368 แต่เจ้ามหาน้อยยังมีความเจ็บแค้นต่อเจ้ามหาวังผู้เป็นอาจึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งในพ.ศ. 2377 ฝ่ายจีนประกาศปลดเจ้ามหาน้อยออกจากราชสมบัติ เจ้ามหาน้อยนำตราจุ้มหลบหนีไปเมืองสอและถึงแก่อสัญกรรม ในพ.ศ. 2379 เจ้ามหาวังเจ้าเมืองเชียงรุ่งถึงแก่อสัญกรรม ฝ่ายจีนตั้งเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรหรือเจ้าสาระวันโอรสของเจ้ามหาวังขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งองค์ต่อมา
สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2393
แก้สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2393 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง | |||||||
แผนที่ภูมิภาคอินโดจีน แดง หมายถึง อาณาเขตพม่า เขียว หมายถึง อาณาเขตสยาม | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) รัฐเชียงตุง |
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) อาณาจักรล้านนา | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเจ้าพุกามแมง เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุง เจ้าเมืองขาก† |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเชียงใหม่มหาวงส์ พระยาอุปราชพิมพิสาร พระยารัตนเมืองแก้ว (หนานสุริยวงศ์) พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ นายน้อยมหาพรหม | ||||||
กำลัง | |||||||
ไม่ทราบ | 7,500 คน |
ความขัดแย้งในเมืองเชียงรุ่ง (ต่อ)
แก้ในพ.ศ. 2379 เจ้ามหาวังเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งถึงแก่อสัญกรรม เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตร (เท่าจิ่นชู่ง 刀正綜) (พงษาวดารเมืองเชียงรุ้งเรียก เจ้าสุจะวรรณคือราชบุตร ไทยรบพม่าเรียก เจ้าสาระวัน จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุงเรียกย่อว่า ราชบุตร) โอรสของเจ้ามหาวังขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งแทน[5] เจ้าสุชาวรรณตั้งน้องชายของตนชื่อว่าออลนาวุธหรืออรำมาวุทะ (เท่าเซิ้นชู่ง) เป็นอุปราชา
ฝ่ายเจ้ามหาน้อยซึ่งไปถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองสอนั้น ยังมีโอรสคือเจ้าหน่อคำ (เท่าข่านเซิ้น) พ.ศ. 2381 เจ้าหน่อคำยกทัพเข้ามาโจมตีเมืองเชียงรุ่งเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ โดยร่วมมือกับพญาหลวงช้าง พญาหลวงชนะฦๅไชย พญาจุ้มคำ เจ้ามหาขนาน เจ้าไชย เจ้ามหาไชยเมือพงพาตัวเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชาไปเมืองลา แล้วทำทีไปต้อนรับเจ้าหน่อคำเข้ามาเมืองเชียงรุ่ง อยู่ได้ 6 วัน เจ้ามหาไชยกับพญาแสนเชียงราจับพญาหลวงช้าง พญาหลวงชนะฦๅไชย พญาจุ้มคำ เจ้ามหาขนาน เจ้าไชยฆ่าเสีย แล้วเชิญเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชากลับมาครองบ้านเมืองตามเดิม แต่เจ้าหน่อคำหนีไปอยู่ข่ากุยที่ผาผึ้ง เกลี้ยกล่อมข่าได้ 2,000 คน จะมาตีเมืองวัง มหาไชยจัดให้นายพรหมวงษ์พี่เขยคุมไพร่เมืองพง 100 เจ้าสุชาวรรณราชบุตรให้พระยาแสนเชียงราเปนแม่ทัพคุมทัพ 6000 ยกไปรบเจ้าหน่อคำ เจ้าหน่อคำพ่ายแพ้หลบหนีไปอยู่เมืองเชียงตุง เจ้าหน่อคำนำกำลังเชียงตุงขึ้นมาตีท่าลอเมืองพาน พญาแสนเชียงราคุมไพร่พลออกมารบตีกองทัพเจ้าหน่อคำแตกกลับไป
เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเมืองเชียงตุงส่งความลงไปบอกแก่พระเจ้าแสรกแมงที่เมืองอังวะ เจ้าหน่อคำมอบเงินให้แก่ทางราชสำนักพม่า พระเจ้าแสรกแมง (Tharawaddy Min) ให้หาตัวเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรมาเข้าเฝ้า แต่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรไม่ยอมไป พระเจ้าแสรกแมงจึงตั้งให้เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งแทน พ.ศ. 2384 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรปรึกษาท้าวพญา ให้อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา และนางแว่นแก้วน้องสาวลงไปเข้าเฝ้าแทน แต่ถูกกักตัวไว้[6]
พระเจ้าแสรกแมงมีพระราชโองการให้จักกายหลวงมองชิณ[5]แห่งเมืองหมอกใหม่ (Mawkmai) แม่ทัพพม่า ณขามมองโซ ณขามเนมโย ณขามจันทบุรี มองตาลียกทัพจำนวน 3,000 คน[7] มาตีเมืองเชียงรุ่งและนำเจ้าหน่อคำขึ้นครองเมืองใน พ.ศ. 2385 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรหลบหนีไป ฝ่ายพม่ากับจีนเจรจาตกลงกันเรื่องจะให้เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งไม่สำเร็จ เมื่อปรึกษาท้าวพญาก็ไม่ยอมให้เป็น พม่าให้ไปจับพญาหลวงสิงหไชยา พญาหลวงวอชูเมืองแสนฆ่าเสีย ฝ่ายจีนจึงสนับสนุนให้เจ้ามหาไชยเมืองพง ยกทัพเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งคืนให้แก่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรได้สำเร็จ เจ้าหน่อคำหลบหนีไปยังเชียงตุง พ.ศ. 2386 เจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง ให้เจ้าเมืองกาศผู้บุตร กับพระยาหลวงราชวัง ณขามจันทบุรีนำกำลังมาตีเมืองลอง มหาไชยยกทัพไปช่วย เจ้าเมืองกาศถูกปืนคาบศิลาทีหนึ่งแตกถอยไป
มองตาลีทูลพระเจ้าแสรกแมงว่า เจ้าเมืองเชียงรุ่ง เจ้าเมืองพงไม่ได้คิดกบฏ แต่เพราะเจ้าหน่อคำกับฝ่ายพม่าจับขุนนางเมืองเชียงรุ่งฆ่าและกดขี่พลเมือง จีนจึงให้เมืองสิบสองปันนาสู้รบกองทัพพม่า พระเจ้าแสรกแมงจึงให้ปล่อยตัวอุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา นางแว่นแก้วน้องสาว แต่ให้อยู่เมืองอังวะก่อน แล้วให้จับตัวจักกายหลวงมองชิณ ณขามมองโซ ณขามเนมโย ณขามจันทบุรี ประหารชีวิตที่เมืองนาย พ.ศ. 2388 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรให้พญาหลวงอจิระปัญญา พญาหลวงไชยสงคราม นำเครื่องราชบรรณาการลงไปถวาย ณ เมืองอังวะ พระเจ้าแสรกแมงจึงยอมรับเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่ง อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา นางแว่นแก้วน้องสาว จึงได้กลับคืนสู่เมืองเชียงรุ่ง ภายหลังเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับเจ้ามหาไชยเกิดขัดแย้งกัน เจ้ามหาไชยตีเมืองเชียงรุ่งแตก เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชาอรำมาวุทะหนีไปอยู่บ้านหว้า ต่อมาเจ้ามหาไชยงาดำ โอรสเจ้ามหาน้อย อ้างว่าจีนให้ตนเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ให้เจ้ามหาไชยเมืองพงไปรับ เจ้ามหาไชยไม่ยอมไป เจ้ามหาไชยงาดำจึงนำทัพข่ากุยมาเมืองเชียงเจิง เมืองเชียงเจิงแต่งขุนนางออกไปรับ เจ้ามหาไชยงาดำจับขุนนางฆ่า 1 คน เจ้าเมืองเชียงเจิงออกสู้รบกับเจ้ามหาไชยงาดำแตกพ่ายไป
พ.ศ. 2390 เจ้ามหาไชยงาดำนำทัพตีเมืองวัง เมืองงาด เมืองเชียงเจิง แล้วไปต่อสู้กับอุปราชาที่บ้านหว้า เจ้ามหาไชยงาดำถอยไปเมืองแช่ เจ้ามหาไชยให้เจ้าพรหมวงษ์นำทัพไปตีเจ้ามหาไชยงาดำแตก แล้วไปเชิญเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตร อุปราชาอรำมาวุทะ กลับมาครองบ้านเมือง พ.ศ. 2391 เจ้ามหาไชยงาดำกับเจ้าหน่อคำร่วมมือกันยกทัพมาเผาเมืองเชียงเหนือ เจ้ามหาไชยกับอุปราชาขึ้นไปรบที่เมืองยางสู้รบจนแตกพ่าย และเข้าพักไปเมืองเชียงเหนือ เมืองเชียงใต้ แต่กองทัพเจ้าหน่อคำ เจ้ามหาไชยงาดำยกทัพเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งได้ เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรหนีมาอยู่เมืองรำ[5] เจ้ามหาไชยพาเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชามาอยู่เมืองพง กองทัพเจ้าหน่อคำ เจ้ามหาไชยงาดำ ตามมาตีเมืองพง[8] เจ้าสุชาวรรณราชบุตรหนีไปเมืองพม่า ส่วนอุปราชอรำมาวุทะ รวมทั้งมารดาคือนางปิ่นแก้วและน้องสาวคือนางแว่นแก้ว เดินทางลี้ภัยมาที่เมืองหลวงพระบาง เจ้าสุกเสริมกษัตริย์แห่งหลวงพระบางจึงส่งตัวอุปราชออลนาวุธ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้ว ลงไปที่กรุงเทพฯเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้ามหาไชยเมืองพงหลบหนีมาอยู่ที่เมืองหลวงภูคา (เวียงภูคา) ซึ่งเป็นเขตแดนของเมืองน่าน เจ้าเมืองน่านจะส่งตัวเจ้ามหาไชยลงมาที่กรุงเทพ เจ้ามหาไชยไม่ยอม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาศรีสหเทพ (ปาน สุรคุปต์) เดินทางขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเจ้ามหาไชยเมืองพง[7] เจ้ามหาไชยเมืองพงจึงยอมเดินทางลงมาที่กรุงเทพฯในที่สุด
การจัดเตรียมทัพ
แก้ก่อนหน้าสงครามเชียงตุง ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นระหว่างเจ้านายล้านนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เมื่อพระยาเชียงใหม่คำฟั่นถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2368 พระเจ้าลำปางดวงทิพย์ได้ยกทัพมาเมืองเชียงใหม่กวาดเอาทรัพย์สินของพระยาคำฟั่นไปเมืองลำปาง เป็นเหตุให้นายพิมพิสารบุตรของพระยาคำฟั่นจำต้องทิ้งงานศพของบิดาเดินทางหลบหนีไปยังกรุงเทพฯ[9] ต่อมาเมื่อพระยาพุทธวงศ์ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ต่อมาแล้วนั้น นายพิมพิสารได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ในที่สุด[9] และต่อมาเมื่อพระยามหาวงส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2390 นายพิมพิสารจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอุปราชพิมพิสารแห่งเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชดำริว่า เจ้านายเมืองไทลื้อเชียงรุ่งสิบสองปันนามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ควรต้องจัดทัพไปยึดเมืองเชียงรุ่งคืนให้แก่เจ้าสุชาวรรณราชบุตร แต่หนทางยกทัพไปเมืองเชียงรุ่งนั้นต้องผ่านเมืองเชียงตุงก่อน หากจะยึดเมืองเชียงรุ่งได้ต้องยึดเมืองเชียงตุงก่อน “เมืองเชียงรุ้ง (เชียงรุ่ง) นี้ถ้าตัดเมืองเชียงตุงเสียได้ก็จะเป็นสิทธิฝ่ายเรา”[7] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรงแต่งทัพกรุงเทพฯเข้าตีเมืองเชียงตุงโดยตรง แต่โปรดฯให้ทางหัวเมืองล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบ จึงทรงมีท้องตรามีพระราชโองการให้พระยาเชียงใหม่มหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่ 5,000 คน เมืองลำพูน 1,500 คน เมืองลำปาง 1,000 คน[7] ขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุง พระยาเชียงใหม่มหาวงส์จึงจัดทัพขึ้นตีเมืองเชียงตุงดังนี้;[7]
- พระยาอุปราชพิมพิสาร พระยารัตนเมืองแก้ว (หนานสุริยวงศ์) นายหนานธรรมปัญโญ และนายน้อยดาวเรืองเมืองลำพูน ยกทัพขึ้นไปทางเชียงราย
- ฝ่ายเมืองเชียงใหม่: พระยาราชบุตร นายน้อยพรหม นายหนานสุริยวงศ์ นายน้อยมหาวงศ์ นายน้อยมหาพรหม นายน้อยเทพวงศ์ (นายหนานสุริยวงศ์ นายน้อยมหาวงศ์ และนายน้อยเทพวงศ์ เป็นบุตรของพระยาเชียงใหม่มหาวงส์) ฝ่ายเมืองลำพูน: พระยาอุปราช พระยารัตนเมืองแก้ว และพระยาราชบุตร ทัพนี้ยกไปทางเมืองสาด (Mong Hsat)
กองทัพเชียงใหม่และลำพูนยกทัพออกไปในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2393 กำหนดถึงเมืองเชียงตุงพร้อมกันในเดือนมีนาคม
เชียงใหม่ตีเมืองเชียงตุง
แก้ทัพของพระยาราชบุตร นายน้อยมหาพรหม และนายหนานสุริวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองสาดได้สำเร็จ จากนั้นนายน้อยมหาพรหมและนายหนานสุริยวงศ์ยกทัพแยกไปตีเมืองก๊ก พระยาราชบุตรและทัพเมืองลำพูนเข้าตีเมืองปางซาได้สำเร็จ ทัพเชียงใหม่ลำพูนแยกย้ายกันไปตีเมืองบริวารต่างๆของเชียงตุงได้แก่ เมืองแจง เมืองมาง เมืองภู เมืองเลน เมืองเพียง ได้จนหมดสิ้นแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีประชิดเมืองเชียงตุง
พระยาอุปราชพิมพิสารนำทัพทางเชียงราย ให้พระยารัตนเมืองแก้วไปตีเมืองพยาก (Mong Hpayak) นายธรรมปัญโญไปตีเมืองเลน ส่วนตัวพระยาอุปราชพิมพิสารเองนั้นไปเกลี้ยกล่อมเมืองยอง (Mong Yawng) ให้เข้าสวามิภักดิ์ เมื่อเมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว อุปราชพิมพิสารจึงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองยอง
ฝ่ายพระยาราชบุตร นายน้อยมหาพรหม และนายหนานสุริยวงศ์ ซึ่งยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงตุงนั้น เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุงยกทัพไทเขินออกมาสู้รบเป็นสามารถ เจ้าเมืองขากบุตรของเจ้ามหาขนานเสียชีวิตในที่รบ ฝ่ายเชียงใหม่ยกทัพเข้าประชิดประตูเมืองเชียงตุง ไม่สามารถทลายประตูเมืองเข้าไปได้เนื่องจากขาดกำลังสนับสนุนทัพของพระยาอุปราชพิมพิสารไม่มาตามนัด พระยาอุปราชยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองยอง นายน้อยมหาพรหมที่เชียงตุงส่งคนมาเร่งให้พระยาอุปราชยกทัพไปหนุนที่เชียงตุง ปรากฏว่าพระยาอุปราชไม่ไป พระยาราชบุตรและนายน้อยมหาพรหมสู้รบกับเมืองเชียงตุงจนหมดสิ้นกระสุนดินดำ ยังไม่ได้เมืองเชียงตุง จึงล่าถอยกลับมา[7]
บทสรุป
แก้แม้ว่าทางฝ่ายล้านนาเชียงใหม่จะเคยมีประสบการณ์การทำสงครามกับเชียงตุงหลายครั้ง เคยตีเมืองเชียงตุงได้เมื่อพ.ศ. 2345 แต่ความขัดแย้งภายในวงศ์เจ้าเจ็ดตนเชียงใหม่เป็นอุปสรรคทำให้การโจมตีเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2393 ในนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับเจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงมีประสบการณ์สงครามกับล้านนาและพม่าหลายครั้ง จึงสามารถป้องกันเมืองเชียงตุงไว้ได้ พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เกรงว่าความผิดจะตกแก่บรรดาบุตรของตน จึงมีใบบอกลงมากรุงเทพฯมากล่าวโทษ[7]พระยาอุปราชพิมพิสารว่าไม่ช่วยเหลือในการทัพ และขอพระราชอภัยโทษว่าพระยาเชียงใหม่จะขอยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงด้วยตนเองอีกครั้ง และขอให้ทางกรุงเทพฯแต่งทัพขึ้นไปสนับสนุนและให้ฝ่ายเมืองน่านเข้าช่วยร่วมด้วย[7] ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระประชวร การจึงระงับไปก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2394
สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2395-2397
แก้สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2395-2397 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง | |||||||
ภาพสีน้ำของทหารราบชาวพม่า 3 นายในปี พ.ศ. 2398 จนกระทั่งทหารแบบนี้ถูกส่งไปต่อสู้กับการรุกรานของสยามที่สยามถูกขับไล่ออกจากพม่าในที่สุด | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) รัฐเชียงตุง |
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) อาณาจักรล้านนา | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเจ้าพุกามแมง มหานอระธา เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุง |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) พระยาเชียงใหม่มหาวงส์ พระยาอุปราชพิมพิสาร พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) เจ้าพระยามงคลวรยศ | ||||||
กำลัง | |||||||
ไม่ทราบ | 10,000 คน |
เหตุการณ์นำ
แก้เมื่อสยามและล้านนาเข้ายึดเมืองเชียงตุงไม่สำเร็จในปีพ.ศ. 2393 จึงไม่สามารถช่วยเหลือกอบกู้เมืองเชียงรุ่งให้แก่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรได้ ฝ่ายจีนยกทัพมาปราบเจ้าหน่อคำที่เมืองเชียงรุ่ง เจ้าหน่อคำหลบหนีไปถูกสังหารถึงแก่กรรมที่เมืองหุน เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรจึงได้กลับมาครองเมืองเชียงรุ่งอีกครั้ง เจ้านายไทลื้อที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯตั้งแต่พ.ศ. 2392 จึงกราบบังคมทูลลาฯกลับไปยังบ้านเมืองเดิมของตน เจ้ามหาไชยเมืองพงกลับไปอยู่เมืองน่าน อุปราชอรำมาวุทะ รวมทั้งมารดาคือนางปิ่นแก้วและน้องสาวคือนางแว่นแก้ว กลับไปอยู่เมืองหลวงพระบาง ในพ.ศ. 2395 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งให้นายพิศวง หรือพิศณุวงศ์ นำศุภอักษรและเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานครอบครัวที่เมืองน่านและหลวงพระบางกลับคืนสู่เมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชดำริว่า เมืองน้อยมาพึ่งเมืองใหญ่ ควรต้องอนุเคราะห์ไปให้ตลอด ปัญหาประการคือเมืองลื้อนั้นขึ้นอยู่กับพม่าและจีนทั้งสองฝ่าย หากพม่าหรือจีนยกทัพเข้ามีตีเมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงรุ่งนั้นระยะทางห่างไกลจากกรุงเทพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทัพสยามจะขึ้นไปช่วยป้องกันได้ลำบาก[10] บรรดาเสนาบดีลงชื่อกราบทูลว่า เมืองน้อยมาพึ่งเมืองใหญ่ควรต้องเป็นธุระ พระเกียรติยศจึงจะแผ่ไปนานาประเทศ[10] ถ้าจะปกครองเมืองเชียงรุ่งต้องยึดเมืองเชียงตุงเสียก่อน ถ้ายึดเมืองเชียงตุงได้พม่าก็จะหมดอิทธิพลไปจากเชียงตุงเชียงรุ่ง จึงจะรักษาเมืองเชียงตุงเชียงรุ่งได้ ประกอบกับในเวลานั้น ทางฝ่ายพม่ากำลังติดพันกับสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง พม่าคงจะไม่สามารถยกทัพมาช่วยเมืองเชียงตุงได้
การจัดเตรียมทัพ
แก้สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งนี้ ต่างจากสงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งก่อนในพ.ศ. 2393 คือ ครั้งนี้ทางกรุงเทพฯจัดทัพเข้าตีเมืองเชียงตุงด้วยตนเองโดยตรง โดยได้รับการสนับสนุนจากหัวเมืองล้านนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงมีพระราชโองการให้จัดทัพสยามจากกรุงเทพฯจำนวนทั้งสิ้น 10,000 คน ขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุงดังนี้;[10][8]
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เสด็จนำทัพหลวงประกอบด้วยทัพจากกรุงเทพ พิษณุโลก สุโขทัย พิชัย พิจิตร เพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี หล่มสัก นครสวรรค์ ไปทางเมืองพิษณุโลก เมืองน่าน ให้อุปราชออลนาวุธและเจ้ามหาไชยเมืองพงไปในทัพนี้ด้วย
- เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) เป็นทัพหน้า ประกอบด้วยทัพจากกรุงเทพ สระบุรี ชัยนาท ตาก กำแพงเพชร สวรรคโลก ยกทัพไปทางกำแพงเพชร เมืองตาก นำทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง ยกทัพไปทางเมืองยอง
ทัพหน้าของเจ้าพระยายมราช (นุช) เดินทางออกจากกรุงเทพก่อนเมื่อขึ้นเก้าค่ำเดือนสิบสอง (21 ตุลาคม พ.ศ. 2395) จากนั้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเสด็จยกทัพหลวงออกจากกรุงเทพเมื่อขึ้นสองค่ำเดือนอ้าย (13 พฤศจิกายน) ทั้งสองทัพมีกำหนดไปพบกันที่เมืองเชียงแสน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีท้องตราถึงพระยามหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาไชยลังกาเจ้าเมืองลำพูน เจ้าพระยามงคลวรยศเจ้าเมืองน่าน และเจ้าสุกเสริมเมืองหลวงพระบาง ให้จัดเตรียมทัพและเสบียงอาหารช้างม้ายุทโธปกรณ์เข้าร่วมกับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยายมราช (นุช) ในการเข้าตีเมืองเชียงตุง[8]
ตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2395-2396
แก้เจ้าพระยายมราช (นุช) ยกทัพทางเมืองกำแพงเพชร เมืองตาก เกณฑ์ทัพหัวเมืองตามรายทาง แล้วเดินทางยกทัพถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อขึ้นเก้าค่ำเดือนยี่ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2395) ในเวลานั้นตรงกับฤดูเกี่ยวข้าว ทางฝ่ายเมืองเชียงใหม่ไม่มีข้าวไว้เลี้ยงกองทัพ พระยาเชียงใหม่มหาวงส์จึงขอข้าวจากเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชแบ่งข้าวให้แก่ทัพเชียงใหม่[8] พระยาเชียงใหม่มหาวงส์แต่งนายน้อยเตชาและอ้ายพันไปสืบราชการลับที่เมืองนาย ได้ข่าวว่าที่เมืองนายพม่ากำลังเกณฑ์คนจัดเตรียมอาวุธไปช่วยป้องกันเมืองเชียงตุง แต่เจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงให้หยุดระงับไว้ก่อน เนื่องจากเสบียงเมืองเชียงตุงมีไม่พอเลี้ยงกองทัพพม่า ฝ่ายเมืองเชียงตุงจะป้องกันเมืองด้วยตนเองไปก่อน เจ้าพระยายมราชพร้อมทั้งพระยาอุปราชพิมพิสาร พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) นายหนานสุริยวงศ์ นายหนานไชยเทพ นายน้อยมหาพรหม และนายอินทนนท์ ยกทัพจากเชียงใหม่ ไปทางเมืองเชียงรายถึงเมืองเชียงแสนเมื่อขึ้นสิบค่ำเดือนสี่ (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2396)
กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2395 เสด็จทางชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เมืองลับแล เมืองแพร่ และเสด็จถึงเมืองน่านเมื่อขึ้นเก้าค่ำเดือนสาม (18 มกราคม พ.ศ. 2396) จากนั้นเสด็จต่อไปทางเมืองปง เมืองสะเลา เมืองเทิง เมืองเชียงของ และถึงเมืองเชียงราย กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเสด็จไปยังเมืองเชียงแสนเมื่อขึ้นเจ็ดค่ำเดือนสี่ (14 กุมภาพันธ์) เมืองเชียงแสนในขณะนั้นเป็นเมืองร้าง ทัพของเจ้าพระยายมราชและทัพของเจ้าพระยามงคลวรยศเมืองน่านยกทัพถึงเชียงแสนอีกสามวันต่อมา เมื่อทัพเมืองเชียงใหม่ไปประจำที่เชียงแสนแล้ว ทรงมีพระบัญชาให้จัดทัพเข้าตีเมืองเชียงตุงใหม่ดังนี้;[8]
- เจ้าพระยายมราช (นุช) พระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) พร้อมทั้งพระยาอุปราชพิมพิสาร พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ และพระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) ยกทัพฝ่ายเชียงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 5,042 คน ไปทางเมืองพยาก (Mong Hpayak) เจ้าตีเมืองเชียงตุง
- เจ้าพระยามงคลวรยศเมืองน่าน พร้อมทั้งเจ้ามหาไชยเมืองพง ยกทัพไปทางเมืองพงไปเมืองเชียงรุ้ง
- พระยาพิมพิสารเมืองแพร่ ยกทัพเมืองแพร่ 1,200 คน เจ้าเมืองหล่มสักยกทัพ 1,300 คน เมืองลำปาง 1,000 คน ไปตีเมืองยอง
การรบที่เชียงตุง
แก้เจ้าพระยายมราช (นุช) และพระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) ทัพเมืองเชียงใหม่และลำพูนออกจากเชียงแสนเมื่อแรมสองค่ำเดือนสี่ (24 กุมภาพันธ์) ไปทางด้านผาช้างไปถึงเมืองพยากเมื่อแรมแปดค่ำ (2 มีนาคม) ตีเมืองพยากได้สำเร็จพญาไชยแสนและท้าวมหาวงษ์ผู้รักษาเมืองพยากหลบหนีไปเชียงตุง เจ้าพระยายมราชยกทัพต่อไปถึงเมืองเชียงตุงเมื่อขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า (10 มีนาคม) นำไปสู่การรบที่เชียงตุง เจ้าพระยายมราชและทัพเมืองเชียงใหม่ตั้งค่ายที่เนินเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงตุง ทัพเมืองลำพูนตั้งค่ายฝั่งเหนือ เจ้ามหาขนานเชียงตุงส่งทัพออกมารบเมื่อขึ้นแปดค่ำ (17 มีนาคม) ฝ่ายเจ้าพระยายมราชและเชียงใหม่ประสบปัญหากำลังพลไม่เพียงพอไม่สามารถโอบล้อมเมืองเชียงตุงได้ทุกด้าน อีกทั้งเมืองเชียงตุงตั้งอยู่บนที่สูงทัพไทยอยู่ที่ต่ำ ยิงปืนใหญ่ไปไม่ถึงเมือง[8]
กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพจากเมืองเชียงแสนเมื่อขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า (10 มีนาคม) ตามมาทางเมืองพยาก ถึงเมืองขอนเมื่อขึ้นสิบเอ็ดค่ำ (20 มีนาคม) กองกำลังเชียงตุงปลอมตัวโพกผ้าแดงเหมือนทหารเชียงใหม่[8] เข้าโจมตีทัพของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงให้ไล่ยิงทหารเชียงตุงเหล่านั้นหนีไป กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จถึงเมืองเชียงตุงเมื่อขึ้นสิบสามค่ำ (22 มีนาคม) เข้าที่ประตูเมืองทัพเชียงตุงวกมาตีสกัดด้านหลัง[8] ทรงให้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงยิงตอบโต้เป็นสามารถต้านทานทัพสยามและล้านนาไว้ได้ หลังจากการรบผ่านไปเจ็ดวัน กรมหลวงวงศาธิราชสนิทมีพระบัญชาให้ถอยทัพกลับไปที่เชียงแสน
เจ้าพระยามงคลวรยศยกทัพออกจากเมืองน่านเมื่อแรมสิบสองค่ำเดือนสาม (5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2396) โดยมีเจ้ามหาไชยเมืองพงเป็นผู้นำทาง ถึงเมืองพงเมื่อขึึ้นเก้าค่ำเดือนสี่ (16 กุมภาพันธ์) ส่งให้ชาวจีนชื่อลีชุงแยและพระยาหลวงพรหมขึ้นไปติดต่อเมืองเชียงรุ่ง พบกับเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเจ้าเมืองเชียงรุ่งและข้าหลวงจีน เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรมีความยินดีที่จะแต่งเครื่องบรรณาการมาถวายฯ ลีชุงแยบอกว่าให้เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรลงไปพบกับเจ้ามงคลวรยศที่เมืองน่าน ฝ่ายข้าหลวงจีนถามลีชุงแยว่าทัพไทยยกมาครั้งนี้มีจุดประสงค์อะไร ลีชุงแยตอบว่าทัพไทยยกมาครั้งนี้ไม่ได้มาตีเมืองแต่มาจัดการปกครองให้เรียบร้อย[8] เจ้าพระยามงคลวรยศถึงเมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาเมื่อแรมสามค่ำเดือนห้า (27 มีนาคม)
กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีพระอักษรมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขอพระราชทานกำลังเสริมจากเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองลาวพุงขาวได้แก่หนองคาย สกลนคร และอุบลราชธานี ทรงโปรดฯไม่ประทานให้เนื่องจากหัวเมืองลาวล้านช้างนั้นคอยรับศึกทางอาจจะมาทางฝั่งเวียดนาม[8] และมีพระราชกระแสให้กรมหลวงวงศาธิราชเข้ายึดเมืองเชียงตุงให้โดยเร็ว เนื่องจากฝ่ายพม่ากำลังเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่อังกฤษ หากอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งหมดอังกฤษจะสามารถเข้าแทรกแซงเมืองเชียงตุงได้ ทำให้การยึดเมืองเชียงตุงยากขึ้นไปอีก[8]
สยามและล้านนาถอยทัพ
แก้ทัพสยามและล้านนาหลังจากสู้รบกับเชียงตุงเป็นเวลาเจ็ดวัน เมื่อไม่สามารถตีหักเอาเมืองเชียงตุงได้จึงล่าถอยลงมาเมื่อขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนห้า (23 มีนาคม) กรมหลวงวงศาธิราชเสด็จถอยทัพมาอยู่เมืองน่าน เจ้าพระยายมราช (นุช) พระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) ถอยทัพมาอยู่ที่เชียงใหม่ จากนั้นเจ้าพระยายมราชถึงเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองตากถึงเมืองตากเมื่อแรมสิบสามค่ำเดือนเจ็ด (4 มิถุนายน พ.ศ. 2396) ให้พระยาสีหราชฤทธิไกรคอยอยู่ที่เชียงใหม่ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงถวายรายงานทัพฯตำหนิฝ่ายล้านนาว่าไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการศึก สนใจเพียงแต่การกวาดต้อนผู้คนไปไว้ที่เมืองของตนเองเท่านั้น ไม่ได้วางแผนที่จะครอบครองเมืองเชียงตุงอย่างจริงจังและถาวร[8] และขอพระราชทานแม่ทัพที่มีความเข้มแข็งกว่าเจ้าพระยายมราชในการบัญชาการทัพ[8] ในเวลานั้นใกล้ฤดูฝนหากจะเตรียมทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งในปีนั้นจะติดฤดูฝน กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงทรงขอพระราชทานยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งในฤดูแล้งปีถัดมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้มีสารตรามาถึงท้าวพระยาฝ่ายล้านนา ทรงชี้ให้เห็นว่าฝ่ายสยามและล้านนายกไปตีเมืองเชียงตุงถึงสองครั้งแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หากปล่อยไว้เช่นนี้ในอนาคตข้างหน้าเชียงตุงและพม่าอาจยกเข้ามาโจมตีหัวเมืองล้านนาได้[8] ขอให้ฝ่ายล้านนาให้ความร่วมมือแก่ฝ่ายสยามในการตีเมืองเชียงตุง เมื่อแรมสิบเอ็ดค่ำเดือนแปด (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2396) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้พระยาสีหราชฤทธิไกรอัญเชิญสุพรรณบัฏขึ้นไปแต่งตั้งพระยาเชียงใหม่มหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระนามว่า พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพิสีมหานคราธิฐาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่
ตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2396-2397
แก้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จากกรุงเทพฯ นำอาวุธขึ้นไปให้ด้วย และเจ้าพระยายมราช (นุช) จากเมืองตาก ไปเข้าเฝ้ากรมหลวงวงศาธิราชสนิทที่เมืองอุตรดิตถ์ ปรึกษาข้อราชการทัพศึกเมืองเชียงตุง จากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเดินทางกลับกรุงเทพ
ในฤดูแล้งพ.ศ. 2396 เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวมาเป็นเสบียงได้แล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จจากอุตรดิตถ์เมื่อขึ้นสิบค่ำเดือนอ้าย (10 ธันวาคม พ.ศ. 2396) ถึงเมืองน่านเมื่อแรมห้าค่ำ (20 ธันวาคม) จากนั้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิทพร้อมทั้งเจ้าเมืองน่านเสด็จยกทัพจากเมืองน่านเมื่อแรมสองค่ำเดือนยี่ (15 มกราคม พ.ศ. 2397) ไปถึงเมืองเชียงรายเมื่อขึ้นหนึ่งค่ำเดือนสาม (29 มกราคม) แต่ทัพฝ่ายเมืองเชียงใหม่และลำพูนยังมาไม่ถึง กรมหลวงวงศาธิราชทรงให้เจ้าพระยายมราชไปเร่งทัพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงให้เจ้าพระยามงคลวรยศเจ้าเมืองน่านยกทัพหน้าไปก่อน แล้วยกทัพหลวงเสด็จออกจากเชียงรายเมื่อแรมสิบสามค่ำเดือนสาม (23 กุมภาพันธ์) และเจ้าพระยายมราชยกทัพจากเชียงรายต่อมาขึ้นสิบสองค่ำเดือนสี่ (10 มีนาคม) เดินทัพทางเมืองพยาก
ฝ่ายพม่าส่งแม่ทัพเมืองนายชื่อว่ามหานอระธา (Maha Nawratha) มาร่วมป้องกันเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงมีกำลังมากกว่าครั้งก่อน กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงยกทัพเข้าประชิดเมืองเชียงตุงโจมตีจนสิ้นเสบียงอาหารและกระสุนดินดำ ไม่สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้จึงถอยทัพออกจากเมืองลวยเมื่อแรมห้าค่ำเดือนสี่ (18 มีนาคม) ถอยทัพไปเมืองเหล็ก จากนั้นสู้รบกับทัพของเชียงตุงที่เมืองเหล็กอีกสิบสี่วันจนถอยทัพจากเมืองเหล็กเมื่อขึ้นสองค่ำเดือนหก (28 เมษายน) กลับมาเมืองน่าน[10] ฝ่ายพม่าเห็นฝ่ายสยามถอยทัพกลับจึงยกทัพออกมาจากเชียงตุงมาโจมตีทัพของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยามงคลวรยศเจ้าเมืองน่านจึงคอยระวังเป็นทัพหลังคุ้มกันให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จมาถึงเมืองน่านอย่างปลอดภัยเมื่อเดือนมิถุนายน ฝ่ายเจ้าพระยายมราชยกทัพไปได้ครึ่งทางทราบว่ากรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงถอยทัพแล้วจึงถอยทัพเช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองเชียงตุงอยู่ห่างไกล ภูมิประเทศเป็นภูเขาเดินทางขนส่งเสบียงและอาวุธลำบาก ทำสงครามต่อเนื่องยาวนานยังไม่สามารถยึดเมืองได้ ทำได้เพียงโจมตีแบบกองโจรเท่านั้น[10] อีกทั้งฝ่ายพม่าเริ่มส่งกองกำลังมาป้องกันเมืองเชียงตุงแล้ว จึงมีพระราชโองการมีท้องตราให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยายมราชยกทัพกลับกรุงเทพฯ เจ้ามหาไชยเมืองพงเดินทางกลับไปยังเมืองพงแล้ว ส่วนเจ้าอุปราชออลนาวุธติดตามเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาที่กรุงเทพด้วย
บทสรุป
แก้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระดำริว่า อุปราชาอรำมาวุทะเมืองเชียงรุ่งมีความภักดีอย่างมาก จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) นำตัวอุปราชอรำมาวุทะกลับไปคืนแก่ครอบครัวที่เมืองหลวงพระบาง ฝ่ายจีนส่งข้าหลวงชื่อว่าตากุนแยมายังเมืองหลวงพระบาง ขอนำตัวอุปราชอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้วกลับไปเมืองเชียงรุ่ง เจ้าสุกเสริมจึงมีใบบอกลงมาที่กรุงเทพฯ ระหว่างที่ตากุนแยเฝ้ารอคำตอบจากกรุงเทพฯนั้น ก็ได้นางสุนทรีน้องสาวของอุปราชาอรำมาวุทะเป็นภรรยา[10] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระบรมราชานุญาตให้อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้วกลับไปอยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง ต่อมาที่เมืองเชียงรุ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก เจ้ามหาไชยเมืองพงสังหารอุปราชอรำมาวุทะถึงแก่กรรม เจ้าสุชาวรรณราชบุตรเจ้าเมืองเชียงรุ่งจึงให้ประหารชีวิตเจ้ามหาไชยเมืองพง เมื่อฝ่ายสยามไม่สามารถยึดเชียงรุ่งได้ และฝ่ายพม่าถูกอังกฤษเข้ายึดครอง เมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของจีนในที่สุด
บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง
แก้ในสงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งแรกพ.ศ. 2393 ทางกรุงเทพฯไม่ได้จัดทัพขึ้นไปเองแต่ให้ฝ่ายล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบในการตีเมืองเชียงตุง แม้ว่าทางฝ่ายล้านนาจะมีประสบการณ์ในการยกทพไปตีหัวเมืองลื้อเขินทางเหนือหลายครั้ง แต่ความขัดแย้งภายในวงศ์เจ้าเจ็ดตนขณะนั้นทำประกอบกับความเข้มแข็งในการศึกของเจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงทำให้ล้านนาไม่ประสบความสำเร็จในการยึดเมืองเชียงตุง
ในสงครามตีเมืองเชียงตุงพ.ศ. 2395 และพ.ศ. 2396 ทางกรุงเทพฯจัดทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงโดยตรงร่วมกับฝ่ายล้านนา ฝ่ายกรุงเทพไม่คุ้นเคยกับลักษณะภูมิประเทศและเส้นทางประกอบกับปัญหาเรื่องความร่วมมือระหว่างสยามและล้านนา อีกทั้งฝ่ายพม่าแม้กำลังอยู่ในช่วงสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สองแต่ยังสามารถแบ่งทัพมาป้องกันเมืองเชียงตุงได้ สงครามตีเมืองเชียงตุงจึงไม่สำเร็จในที่สุด
การศึกเชียงตุงนี้พม่าถือว่าไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จน อูบุญ (ဦးပုည/อูโบนญา นายบุญ) มหากวีของพม่านำเรื่องราวสงครามนี้ไปแต่งเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้ามินดง เรียกว่า ซินเหม่นัยโมโกง (zinnme naing mowgun ဇင်းမယ်နိုင်မော်ကွန်း วรรณกรรมเชียงใหม่พ่าย) ซึ่งภายหลังเรียกว่า โยธยานัยโมโกง (Yodaya Naing Mowgun ယိုးဒယားနိုင်မော်ကွန်း วรรณกรรมอยุทธยาพ่าย)[11]
แต่งตั้งเจ้าล้านนา
แก้พระเจ้ามโหตรประเทศเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ได้ห้าเดือนก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อแรมเก้าค่ำเดือนยี่ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2396) จากนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาอุปราชพิมพิสาร และนายน้อยมหาพรหมซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ามโหตรประเทศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ สิงหเสนี) ขึ้นไประงับวิวาทและปลงศพพระเจ้ามโหตรประเทศ ต่อมาพระยาอุปราชพิมพิสารล้มป่วยถึงแก่กรรมในเดือนเก้า (มิถุนายน พ.ศ. 2399) ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2399 พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากาวิละ พร้อมทั้งนายน้อยมหาพรหมบุตรโอรสของพระเจ้ามโหตรประเทศ เดินทางลงมากรุงเทพฯเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระดำริว่าในสมัยก่อนล้านนาเคยมีเจ้าประเทศราชปกครอง ในตอนนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองล้านนา อุปราช ราชบุตร ราชวงศ์ เมืองแก้ว หรือเจ้าขันห้าใบ (ดู ฐานันดรศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ) นั้น มียศเป็นที่พระยา ในขณะที่หัวเมืองลาวล้านช้างอาญาสี่นั้นมียศเป็นเจ้า จึงมีพระราชโองการให้เลื่อนยศเจ้าเมืองล้านนาตั้งพระยาขึ้นเป็นเจ้า เมื่อเดินกรกฎาคม พ.ศ. 2399 ดังนี้;[12]
- พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) โอรสของพระเจ้ากาวิละ ได้รับโปรดฯแต่งตั้งขึ้นเป็นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นเจ้าประเทศราช พระเจ้ากาวิโลรสฯตั้งนายหนานธรรมปัญโญบุตรของพระยาเชียงใหม่คำฟั่นเป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่
- พระยาไชยลังกา เจ้าเมืองลำพูน เป็นเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ
- เจ้าพระยามงคลวรยศ เจ้าเมืองน่าน เป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาบุรีรัตน์ พระยาราชบุตร ของเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และน่าน ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร[12] ส่วนนายน้อยมหาพรหม โอรสของพระเจ้ามโหตรพระเทศนั้น ให้คุมตัวไว้ทำราชการที่กรุงเทพฯ[12]
เชียงตุงตกเป็นของอังกฤษ
แก้เจ้าดวงแสงมหาขนานดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเป็นเวลายาวนานถึง 44 ปี นับตั้งแต่ได้รับการรับรองจากพม่าเมื่อพ.ศ. 2356 จนถึงช่วงสงครามเชียงตุง เจ้ามหาขนานถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2400 เจ้าหนานมหาพรหม (Sao Maha Pawn) โอรสของเจ้ามหาขนานขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ต่อมา และต่อมาเจ้าโชติกองไท (Sao Kawng Tai) โอรสอีกองค์ของเจ้ามหาขนาน ได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงเมื่อพ.ศ. 2424 ในเวลานั้น บรรดาเจ้าฟ้ารัฐฉานไทใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพม่าในสมัยพระเจ้าสีป้อ กษัตริย์พม่าราชวงศ์คองบององค์สุดท้าย ในพ.ศ. 2425 ทั้งเจ้าฟ้าโชติกองไทแห่งเชียงตุงและเจ้าฟ้าเมืองนาย ต่างเป็นกบฏแข็งเมืองต่อพม่าสังหารข้าหลวงพม่าในเชียงตุงและเมืองนายไปเสีย พระเจ้าสีป้อส่งทัพมาปราบเมืองนายทำให้เจ้าฟ้าเมืองนายต้องลี้ภัยมายังเชียงตุง
เชียงตุงยังคงแข็งเมืองต่อพม่า ในพ.ศ. 2428 เจ้าฟ้าโชติกองไทแห่งเชียงตุง เจ้าฟ้าเมืองนาย และเจ้าฟ้าไทใหญ่อีกหลายเมือง รวมตัวประกาศต่อต้านพระเจ้าสีป้อและทำสงครามเพื่อยกเจ้าชายลิมบินมินตา (Limbin Mintha) เจ้าชายพม่าซึ่งเป็นโอรสของเจ้าชายกะนอง ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์พม่าแทนที่ เรียกว่า ขบวนการลิมบิน (Limbin Confederacy) เจ้าชายลิมบินซึ่งได้ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง เดินทางจากเมืองร่างกุ้งกว่าจะถึงเมืองเชียงตุง พม่าได้เสียเมืองให้แก่อังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สามในพ.ศ. 2428 พม่าสูญเสียเอกราชอังกฤษได้เข้าครองครองพม่าทั้งหมด พระเจ้าสีป้อทรงถูกเนรเทศไปยังอินเดียของอังกฤษ ในระหว่างนี้ เจ้าฟ้าโชติกองไทแห่งเชียงตุงได้ถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2429 เจ้าก๋องคำฟู (Sao Kawn Kham Hpu) ผู้เป็นโอรสของเจ้าโชติกองไท ซึ่งมีอายุเพียงสิบสองปี ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ต่อมา
ในพ.ศ. 2432 เมื่ออังกฤษสามารถปราบปรามและเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าไทใหญ่รัฐฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน (Cis-Salween States) ไว้ได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงมุ่งเป้าหมายไปที่รัฐทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน (Trans-Salween States) แม้ว่าอังกฤษจะยอมรับโดยทางอ้อมให้แม่น้ำสาละวินเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างพม่าและล้านนาในสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2417 ไว้แล้วนั้น[9] รัฐเชียงตุงซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินควรอยู่ภายใต้อิทธิพลของล้านนา แต่ในความจริงล้านนาเชียงใหม่ยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนไม่มีอำนาจปกครองเชียงตุง อังกฤษมีความเห็นว่าเชียงตุงควรเป็นของอังกฤษ เนื่องจากเชียงตุงเป็นประเทศราชส่งบรรณาการให้แก่พม่ามาช้านาน เจมส์ จอร์จ สก็อต (James George Scott) ผู้แทนอังกฤษ เดินทางด้วยล่อโดยมีชาวจีนฮ่อนำทาง เดินทางจากเมืองนายข้ามแม่น้ำสาละวินไปจนถึงเชียงตุงในพ.ศ. 2433 เจ้าฟ้าก๋องคำฟูแห่งเชียงตุงยอมรับอำนาจของอังกฤษแต่โดยดี รัฐเชียงตุงจึงอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษนับแต่นั้น
หลังจาก จากนั้นอังกฤษจึงเข้าครอบครองรัฐไทใหญ่และรัฐเชียงตุง เจ้าฟ้าเจ้าเมืองไทใหญ่ต่างๆและเชียงตุงยังคงมีอำนาจปกครองตนเองภายใต้การดูแลของอังกฤษในฐานะรัฐเจ้าชาย (Princely-state) ในพ.ศ. 2465 อังกฤษจัดตั้งสมาพันธรัฐไทใหญ่ (Federated Shan States) ประกอบไปด้วยรัฐเมืองไทใหญ่ต่างๆและเมืองเชียงตุง อังกฤษส่งข้าหลวงมาปกครองใกล้ชิดมากขึ้น
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 พงศาวดารเมืองเชียงตุง เรียบเรียงโดย นายทวี สว่างปัญญางกูร หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง ณ วัดสวนดอก วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2533.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Grabowsky, Volker. Forced Resettlement Campaigns in Northern Thailand during the Early Bangkok Period. Journal of Siamese Society, 1999.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๙: พงศาวดารเมืองเชียงรุ้ง. พิมพ์แจกในงานปลงศพ พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณมหาไชย). กรุงเทพ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. ปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑.
- ↑ เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา. โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท. พิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ. 2544.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร โปรดให้พิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นของแจกในงานศพนายพลเรือตรี พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ม.ว. พิณ สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ). กรุงเทพ: โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง. ปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 สุรัสวดี อ๋องสกุล, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ. ประวัติศาสตร์ล้านนาฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2361.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) ณวัดประยูรวงศาวาส. พระนคร ท่าพระจันทร์:โรงพิมพ์พระจันทร์. วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗.
- ↑ คณะกรรมการจัดทำหนังสือและของที่ระลึก งาน 200 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท. ศึกเชียงตุง การแผ่แสนยานุภาพของสยามประเทศยุคเปลี่ยนผ่านเมืองอุตมทิศ สงครามจารีตครั้งสุดท้ายของสยามประเทศ. กรุงเทพ: บริษัทประชาชนจำกัด. พ.ศ. 2552.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.