พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์

เจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์[2] หรือ เจ้าฟ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ [3]ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ทรงครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2294[4] และทรงเป็นปฐมบรรพบุรุษแห่งราชสกุล ณ น่าน และราชสกุลเจ้านายเมืองน่าน สาขาอื่น ๆ

เจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์
เจ้าฟ้าหลวงน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และ
ปฐมเจ้าผู้ครองนครน่านแห่ง ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269
ครองราชย์11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2294
รัชกาล25 ปี 36 วัน
ก่อนหน้าพระนาขวา (น้อยอินทร์)
ถัดไปเจ้าอริยวงษ์
ประสูติเมืองเชียงใหม่
พิราลัย16 มิถุนายน พ.ศ. 2294
ณ คุ้มหลวงเมืองน่าน
ถวายเพลิงพระศพ23 มิถุนายน พ.ศ. 2296
ณ พระเมรุ สุสานหลวงดอนชัย
พระชายาแม่เจ้าเมืองเชียงใหม่อรรคราชเทวี
ชายาแม่เจ้านางยอดราชเทวี[1]
พระราชบุตร8 พระองค์
พระนามเต็ม
เจ้าพระยาหลวงติ๋นมหาวงษ์ เจ้าฟ้าหลวงเมืองน่าน
ราชสกุลต้นราชสกุล ณ น่าน
ราชวงศ์ปฐม ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

ประวัติ

แก้

พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มาจากเชียงใหม่[5] ต่อมาพระเจ้ากรุงอังวะโปรดให้พญานาซ้ายให้รวบรวมผู้คนและสร้างเมืองน่านขึ้นมาใหม่และมอบให้พญานาซ้ายดูแล เมื่อพญานาซ้ายดูแลเมืองน่านร่วม 11 ปีได้รับการโปรดให้เป็นพญานาขวาแต่ตัวไม่มีเชื้อเจ้ามาก่อนจึงไม่กล้าขึ้นครองเมือง จึงได้กราบทูลพระเจ้ากรุงอังวะ ขอให้พญาหลวงติ๋นที่อยู่เมืองเชียงใหม่มาครองเมืองน่าน พญาหลวงติ๋นครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2269–2294 ก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าอริยวงศ์ (หวั่นท๊อก) พระโอรสจึงได้ปกครองเมืองน่านต่อมา[6]

พระประวัติในเอกสาร ประวัติศาสตร์เมืองน่าน และตำนานต่างๆ

แก้

ในช่วงปลายของยุคที่เมืองน่านมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ. 2101 - พ.ศ. 2331) ในปี พ.ศ. 2269 พระมหากษัตริย์พม่าได้โปรดให้พญาหลวงตื๋น (เจ้ามหาวงศ์) เชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงใหม่ที่ได้เป็นเจ้าเมืองตื๋นมาเป็นเจ้าเมืองน่าน (พ.ศ.๒๒๖๙ – ๒๒๙๔)21 22 และเป็นปฐมราชวงศ์มหาวงศ์ (ราชวงศ์หลวงติ๋น) ของเจ้าหลวงเมืองน่าน สืบมาจนถึงเมืองนครน่าน เป็นประเทศราชของสยามในปี พ.ศ. 2331

“เจ้าหลวงติ๋น” คือใคร?[7]

 ใน “ราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน ให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง” ระบุถึง “เจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์” ว่า “นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายเรียกว่าเปนปฐมต้นแรก” ของราชวงศ์ใหม่ที่จะปกครองนครน่านสืบต่อไปอย่างยาวนาน น่าเสียดายว่าพงศาวดารเรื่องนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหลวงติ๋นมากนัก นอกจากกล่าวเพียงว่ามาจากเมืองเชียงใหม่ แล้วได้มาเสวยราชสมบัติในนครน่าน เป็น“เจ้าผู้ครองนครน่าน” องค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ในปีรวายซง้า จุลศักราชได้ ๑๐๘๘ ตัว เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เม็งวันจันทร์ไทยเมิงเม้า (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2269) โดยการแต่งตั้งของราชสำนักพม่าซึ่งปกครองล้านนาอยู่ในช่วงเวลานั้น “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” และ “พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน” กล่าวในลักษณะทำนองเดียวกันว่าหลวงติ๋นมีเชื้อเจ้าและได้รับการแต่งตั้งให้ไปกินเมืองน่าน

 คำว่า “เจ้า” ที่เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงนั้นอาจหมายถึงการมีเชื้อสายตระกูลขุนนางเก่าแก่ในเมืองเชียงใหม่ และเป็นไปได้มากว่า การมีเชื้อสายเก่าแก่จึงทำให้หลวงติ๋นคงจะได้รับความนับถือและมีสายสัมพันธ์อยู่ในเมืองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพม่า จึงได้รับความไว้วางใจให้มาปกครองน่าน ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่และเป็นแดนต่อแดนกับอาณาจักรหลวงพระบางและอาณาจักรอยุธยา นอกจากนี้ โอรสองค์โตของเจ้าหลวงติ๋นที่มีพระนามว่า “เจ้าอริยวงษ์” ก็ถูกออกนามในพงศาวดารเมืองน่านว่า “เจ้าอริยวงษ์หวั่นท๊อก” ซึ่งสร้อยพระนาม “หวั่นต๊อก” (Wundauk) นี้ สันนิษฐานว่า หมายถึงตำแหน่งขุนนางพม่า แสดงให้เห็นว่าเจ้าหลวงติ๋นคงมีสถานะขุนนางอยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่พม่าปกครองอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

 การมีเครือข่ายและสถานะอยู่ในเมืองเชียงใหม่นี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าหลวงติ๋นไม่ได้ปรารถนาที่จะปกครองนครน่านมากนัก พงศาวดารเมืองน่าน ได้ระบุว่า “เมื่อ เจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ แต่เมื่อท่านลุกเชียงใหม่มาเสวยเมืองน่านหัวทีวันนั้น ท่านก็มาแต่ท่านตัวเดียวแลเสนาบ่าวไพร่ตามสมควร ดังมเหษีเทวียังบ่เอามาเทือะ“ หมายถึง เจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ มายังเมืองน่านนั้นนำข้ารับใช้มาเพียงไม่กี่คน ไม่ได้นำภรรยาและบุตรของตนมาด้วย ทั้งนี้ คงเนื่องจากระบบการแต่งตั้งขุนนางกินเมืองของราชสำนักพม่าในช่วงเวลาดังกล่าวมักโยกย้ายขุนนางที่ออกไปประจำหัวเมืองต่างๆ เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสั่งสมอำนาจเกิดขึ้น

 แต่กรณีเจ้าหลวงติ๋น การณ์กลับไม่เป็นไปดังนั้น หลังจากที่เจ้าหลวงติ๋นไปครองเมืองน่านได้ราว 1 ปี เมืองเชียงใหม่ก็เกิดจลาจล เทพสิงห์ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ยกเข้าไปปล้นเมืองเชียงใหม่ในเวลากลางคืน และจับมังแรนร่า เจ้าเมืองเชียงใหม่ ขุนนางชาวพม่าได้และเทพสิงห์ก็ได้จัดการฆ่ามังแรนร่าและต่อมาก็ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2270 เมื่อปกครองเมืองเชียงใหม่ได้เเล้วเทพสิงห์ประกาศจะฆ่าล้างพวกมอญพม่าให้หมดเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฎความว่า “ลูกม่านลูกเม็ง […] จักใส่คอกไฟเผาเสีย” การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ฐานอำนาจของพม่าถูกกวาดล้างลง และเป็นไปได้ว่ากลุ่มขุนนางท้องถิ่นที่ฝักใฝ่ฝ่ายพม่าคงโดนหางเลขไปด้วย ซึ่งตระกูลของเจ้าหลวงติ๋นเองคงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็ง ดังปรากฏว่าเจ้าอริยวงษ์ได้นำพระญาติวงศ์ย้ายหนีออกจากเมืองเชียงใหม่มายังเมืองน่านที่พระบิดาของตนปกครองอยู่ ตระกูลของเจ้าหลวงติ๋นจึงหมดบทบาทในเมืองเชียงใหม่ไปโดยปริยาย

 อย่างไรก็ตาม การย้ายหนีออกจากเมืองเชียงใหม่นี้เองได้เปิดทางไปสู่การลงหลักปักฐานและสถาปนาอำนาจใหม่ที่เมืองน่าน และที่เมืองน่านนี้เอง เชื้อสายตระกูลเจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ จะสถาปนาการเป็นเจ้าผู้ปกครองสืบวงศ์ต่อมาอีกอย่างยาวนานจวบจนถึงปี พ.ศ. 2442 อันเป็นยุคสุดท้ายของนครน่านในฐานะรัฐอิสระ

การสร้างอำนาจของเจ้าหลวงติ๋นในนครน่าน

 การเป็น “ขุนนางกินเมือง” ในล้านนาภายใต้การปกครองของพม่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ไม่ได้แปลว่าเจ้าเมืองจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ใต้การปกครอง ราชสำนักพม่าไม่สู้ไว้ใจให้เจ้าเมืองมีอำนาจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานและระวังไม่ให้เกิดการสืบทอดอำนาจในตระกูลเจ้าเมืองนั้นๆ เมืองน่านเองก็มีประวัติไม่ค่อยดีนักในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเคยมีเจ้าเมืองอย่างน้อยสองตระกูลที่ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจในตระกูลของตัวเองและก่อการกบฏต่อราชสำนักพม่า คือใน พ.ศ. 2140 และ พ.ศ. 2167 โดยเชื้อสายของ “เจ้าหน่อคำเสถียรไชยสงคราม” และอีกครั้งใน พ.ศ. 2232 โดยเชื้อสาย “พระยาเชียงของสามพี่น้อง” ดังนั้น ขุนนางที่ราชสำนักพม่าเลือกส่งไปปกครองน่านจึงมักไม่มีอำนาจอยู่ในน่านมาก่อน หรืออาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับน่านด้วยซ้ำ ทำให้อำนาจที่แท้จริงในการปกครองน่านตกอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางท้องถิ่นมากกว่า

 ในช่วง พ.ศ. 2269 ที่หลวงติ๋นได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองน่าน ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในน่านคือ “น้อยอินท์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “นาขวา” ของเมืองน่าน และเป็นขุนนางในตำแหน่งผู้ช่วย–ที่ปรึกษาของเจ้าเมือง นาขวาผู้นี้มีอิทธิพลมากเพราะกินตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2250 ผ่านเจ้าเมืองมาแล้วถึง 2 คน และช่วงเวลาที่เมืองน่านว่างเว้นเจ้าเมืองใน พ.ศ. 2259–2269 นาขวาก็เป็นผู้ดูแลกิจการแทนอยู่ก่อน ภายหลังเมื่อหลวงติ๋นถูกส่งมาเป็นเจ้าเมืองน่านจึงพบว่า เมืองน่านอยู่ภายใต้อิทธิพลของนาขวา และตัวหลวงติ๋นเองแม้จะเป็นเจ้าเมือง แต่ก็อยู่ภายใต้คำแนะนำของนาขวาคนดังกล่าว การที่หลวงติ๋นและคนในตระกูลของหลวงติ๋นจะกลายมาเป็นผู้มีอำนาจในน่านได้จึงย่อมต้องคัดง้างอิทธิพลกันกับเครือข่ายอำนาจของนาขวา

 ความขัดแย้งเพื่อกุมอำนาจในเมืองน่านระหว่างหลวงติ๋นและนาขวาปรากฏในพงศาวดารน่านที่บันทึกว่า หลังหลวงติ๋นมาเป็นเจ้าเมืองน่านไม่นาน นาขวารู้สึกไม่พอใจและวางแผนล้มอำนาจหลวงติ๋นลง แต่หลวงติ๋นทราบข่าวเสียก่อนจึงเรียกนาขวามาพบแล้วตัดพ้อว่าหากนาขวาไม่พอใจก็ขอให้บอก ตนเองพร้อมจะยกเมืองน่านให้แล้วกลับไปเชียงใหม่ นาขวาได้ยินก็รู้สึกเกรงเดชานุภาพของหลวงติ๋น เมื่อกลับไปบ้านแล้วก็เอาปืนกรอกปากฆ่าตัวตายเสีย หลวงติ๋นจึงกลายมาเป็นผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวในเมืองน่าน
 เรื่องเล่าดังกล่าวค่อนข้างยกย่องหลวงติ๋น ยากจะเชื่อได้ว่านาขวาซึ่งมีอำนาจและเครือข่ายในเมืองน่านมานานจะยอมจำนนเพียงเพราะคำพูดของเจ้าเมืองคนใหม่ที่ไม่มีฐานอำนาจใดในเมืองน่าน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่า ช่วงเวลาหลังหลวงติ๋นครองเมืองน่านไม่นานได้เกิดการจลาจลขึ้นที่เชียงใหม่ซึ่งทำให้เจ้าอริยวงษ์บุตรชายของหลวงติ๋นย้ายครอบครัวหนีลงมาที่น่าน อาจสันนิษฐานได้ว่า การย้ายหนีมาน่านของเจ้าอริยวงษ์ ซึ่งคงมาพร้อมกับคนของตนและอาจรวมถึงกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่หนีการไล่ล่าของกลุ่มอำนาจใหม่ในเชียงใหม่ น่าจะทำให้หลวงติ๋นมีคนในบังคับของตนเพิ่มมากขึ้น และมีอำนาจมากพอที่จะขจัดอิทธิพลของนาขวาลงได้ในที่สุด

 การสิ้นสุดอิทธิพลและจบชีวิตลงของนาขวาน้อยอินท์ หมายถึงการที่หลวงติ๋นและเครือข่ายตระกูลของตนเป็นกลุ่มเดียวที่สามารถครองอำนาจในน่านได้ การมีฐานอำนาจใหม่ที่เข้มแข็งในน่านนี้เองที่จะปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจและอิทธิพลอย่างเข้มข้นในน่าน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปให้เชื้อสายตระกูลหลวงติ๋นกลายเป็นผู้นำเพียงหนึ่งเดียวของน่านไปตลอดจวบจนสิ้นสุดยุคสมัยของการเป็นรัฐเอกเทศ

พื้นฐานความสำเร็จของเจ้าหลวงติ๋น

 ล้านนาหลังการจลาจลเทพสิงห์ในเชียงใหม่เข้าสู่ยุคที่ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เรียกว่าเป็นช่วง “บ้านไผเมืองมัน ชิงกันเปนเจ้าเปนใหญ่” กล่าวคือล้านนาเข้าสู่สภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ผู้ปกครองเมืองแต่ละเมืองชิงดีชิงเด่นกัน มีการตีเมืองระหว่างกันและกัน ขณะที่พม่าเองก็ไม่สามารถให้ความคุ้มครองเมืองที่ยังคงภักดีกับตนได้ ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าเมืองท้องที่ต่าง ๆ ในการดูแลเขตปกครองแต่ละเมือง ซึ่งส่งผลให้เจ้าเมืองต่าง ๆ สร้างสมอำนาจภายในเขตปกครองของตนเองไปในตัว และเมื่อพม่ายุคหลังพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลในล้านนาอีกครั้งก็พบว่าบรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นกลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องที่จนขุนนางพม่าต้องโอนอ่อนเพื่อขอความร่วมมือในการปกครองล้านนาไปแทน

 ภายใต้ภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในล้านนานี้เองที่ทำให้มีเพียงตระกูลหลวงติ๋นเท่านั้นที่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองภายในได้ อำนาจจากพม่าไม่อาจแผ่ขยายเข้ามาถึงเมืองน่านได้อีก มีเพียงคนในตระกูลหลวงติ๋นเท่านั้นที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองในน่านได้ภายใต้สภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในล้านนา

 เราจึงพบว่า เมื่อพม่ายุคราชวงศ์คองบองขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ต่าง ๆ ของอดีตอาณาจักรล้านนาและสร้างอำนาจนำภายในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง คนในตระกูลหลวงติ๋นก็ยังคงสามารถดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและส่งต่อตำแหน่งให้กับคนในตระกูลได้ต่อไปแม้นโยบายของพม่าแต่เดิมจะไม่นิยมให้เจ้าเมืองคนใดคนหนึ่งอยู่สั่งสมอำนาจภายในพื้นที่เป็นระยะเวลานานก็ตาม ทั้งนี้ เพราะตระกูลหลวงติ๋นกลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ลงหลักปักฐานและสร้างเครือข่ายในโครงสร้างทางการเมืองของน่านได้โดยเรียบร้อยแล้ว พม่าจำเป็นต้องประนีประนอมกับขุนนางท้องถิ่นเพื่อสร้างเสถียรภาพในการปกครองล้านนาหรือที่พม่าเรียกว่าหริภุญไชยเทศะ

 สภาพของสุญญากาศทางอำนาจนี้เอื้อให้ผู้ปกครองท้องถิ่นมีอิทธิพลสูงและกลายเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จของหลวงติ๋นที่สามารถสั่งสมและส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชายของตนได้สำเร็จ และความสำเร็จดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เชื้อสายของหลวงติ๋นเป็นที่เคารพยำเกรงในฐานะผู้ปกครองน่าน และกลายเป็นรากฐานที่จะทำให้เชื้อสายของหลวงติ๋นกลายเป็นผู้ปกครองน่านสืบทอดต่อเนื่องกันโดยไม่มีใครอื่นแทรกกลาง

พระชายา ราชโอรส ราชธิดา

แก้

พระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ ทรงมีพระชายา 2 องค์ และพระโอรส พระธิดา รวมทั้งสิ้น 8 องค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

  • พระชายาที่ 2 แม่เจ้ายอดราชเทวี ประสูติพระโอรส พระธิดา 4 องค์ ได้แก่
    1. เจ้านางมะลิมาลา เสกสมรสกับเจ้าอิ่นเมือง มีธิดา 3 องค์ ได้แก่
      1. เจ้านางศรีกัญญา
      2. เจ้านางทิพดวง
      3. เจ้านางบัวทิพย์
    2. เจ้านางยอดมโนรา มีโอรส/ธิดา 2 องค์ ได้แก่
      1. เจ้าน้อยอโน ภายหลังเป็น "พระยาสุริยวงษ์เมืองน่าน"
      2. เจ้านางสุคันธา
    3. เจ้านางคำขา เสกสมรสกับพระเจ้านายอ้าย เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 53 (พระโอรสองค์โตในเจ้าไชยราชากับเจ้านางเทพ มีโอรส 1 องค์ ได้แก่
      1. เจ้าน้อยวงษ์ ภายหลังเป็น "พระเมืองแก่นเมืองน่าน"
    4. เจ้านาทราชา

อ้างอิง

แก้
  1. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 147
  2. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 146
  3. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 146
  4. "ประวัติศาสตร์น่าน รูปและข้อมูลท่องเที่ยวน่าน เมืองเก่าน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-08. สืบค้นเมื่อ 2015-04-16.
  5. "เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน...ลมหายใจแห่งนครน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-04-16.
  6. ประวัติน่าน | ล่องน่าน
  7. ความเป็นมาของราชวงศ์หลวงติ๋น

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน

ก่อนหน้า พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ ถัดไป
พระนาขวา
(ครั้งที่ 2)
  เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51
และปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2294)
  พระเจ้าอริยวงษ์