อำเภอน้ำปาด
น้ำปาด เป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 9 อำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอน้ำปาด | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Nam Pat |
จากซ้ายไปขวา: | |
คำขวัญ: กระเทียมมีชื่อ เลื่องลือสักใหญ่ ศูนย์รวมใจพญาปาด งามธรรมชาติภูสอยดาว | |
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอน้ำปาด | |
พิกัด: 17°43′42″N 100°41′4″E / 17.72833°N 100.68444°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | อุตรดิตถ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2,089.700 ตร.กม. (806.838 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 36,108 คน |
• ความหนาแน่น | 17.28 คน/ตร.กม. (44.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 53110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5304 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอน้ำปาด ถนนเพชรานุรักษ์ ตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ 53110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอน้ำปาดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 72 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอนาหมื่น (จังหวัดน่าน) อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี (ประเทศลาว)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชาติตระการ (จังหวัดพิษณุโลก) และอำเภอทองแสนขัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่าปลา
ประวัติ
แก้อำเภอน้ำปาด มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่บ้างจนเป็นชุมชนแล้วในสมัยปลายอยุธยา ดังหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ปรากฏคำว่า เมืองน้ำปาด ในบรรดาเมืองที่เจ้าพระฝางสามารถยึดไว้ได้ในอำนาจเมื่อคราวก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว[1]
ชื่อเรียกอำเภอน้ำปาด มีที่มาจากการอพยพของชาวเวียงจันทน์โดยการนำของพญาปาด ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสองคอนริมแม่น้ำในเขตอำเภอฟากท่าในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้นจึงอพยพไปทางใต้ สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลบ้านฝาย แม่น้ำที่นั้นจึงได้ชื่อว่า น้ำปาด ตามชื่อของพญาปาด สำหรับพลเมืองที่บ้านสองคอน เมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ขยายข้ามไปอยู่ฝั่งตรงข้าม เรียกว่า ฟากท่า ซึ่งมีความหมายถึง คนละฝั่ง[2]
น้ำปาดเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดน มีแม่น้ำปาดซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาวอำเภอไหลผ่าน แต่เดิมที่ว่าการอำเภอน้ำปาดตั้งอยู่ ณ บ้านฝาย ซึ่งเป็นเมืองเก่า (ค่ายทหาร) มีพญาปาดเป็นผู้ครองเมืองนี้ ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่แสนตอซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าอำเภอน้ำปาดเพราะชื่อของพญา "ปาด" เมื่อประมาณ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปราบปรามรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก (ซึ่งถูกยึดไว้ได้ก่อนโดยเจ้าพระฝาง ภิกษุจากเมืองสวางคบุรีหรือเมืองฝาง ภายหลังจากที่พ่ายแพ้พระเจ้าตากสิน เจ้าพระฝางได้หลบหนีและหายสาบสูญไป) ด่านซ้าย เลย น่าน แพร่ และสวางคบุรีหรือเมืองฝาง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ไว้ได้หมดทุกหัวเมือง รวมทั้งเมืองน้ำปาดด้วยซึ่งโปรดเกล้าให้ขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) จับพระเจ้าตากสินปลงพระชนม์และได้จับเจ้าหัวเมืองต่าง ๆ ทุกหัวเมืองในเวลาต่อมาไล่ ๆ กัน พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัยถูกจับ แต่มีข้อเสนอว่าจะอยู่รับใช้แผ่นดินต่อไปหรือจะให้ประหาร พระยาพิชัยดาบหักเป็นเจ้าเมืองที่ซื่อสัตย์และมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินตลอดมาจึงขอยอมตายเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี โดยไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย ยอมให้ประหารชีวิตตามพระเจ้าตากสินไป
ตั้งแต่นั้นมาหลังจากพระยาพิชัยดาบหักถูกประหารแล้ว เมืองพิชัยยังคงเป็นเมืองใหญ่ ทำหน้าที่ปกครองและเก็บส่วยจากเมืองใหญ่น้อยในอาณาเขต รวามทั้งเมืองน้ำปาดซึ่งมีเจ้าเมืองปกครองต่อมา คือ พระคันทคีรี ประมาณปี พ.ศ. 2425 และได้ย้ายเมืองเก่าจากบ้านฝายมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณบ้านลุ่ม ปัจจุบันคือบ้านแสนตอ หมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ (ชื่อว่า "เมืองแสนตอ" สมัยนั้นเมื่อประมาณ 111 ปีแล้ว)
ต่อมามีการจัดตั้งมณฑลพิษณุโลกขึ้น เมืองน้ำปาดจึงได้รับการจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอน้ำปาด ขึ้นกับอำเภอท่าปลา และได้ยกฐานะเป็น อำเภอน้ำปาด ในปี พ.ศ. 2440
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอท่าปลากับอำเภอน้ำปาด โดยอำเภอน้ำปาดได้รับโอนตำบลท่าแฝกมาขึ้นในการปกครอง[3] เนื่องจากราษฎรตำบลท่าแฝก (ซึ่งถูกอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ตัดขาดจากพื้นที่อื่นของอำเภอท่าปลา) ได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการต่าง ๆ ที่ตัวอำเภอท่าปลาซึ่งอยู่ห่างออกไป 116 กิโลเมตร ถ้าย้ายมาขึ้นกับอำเภอน้ำปาดซึ่งตัวอำเภอตั้งอยู่ระหว่างทางและมีระยะทางห่างเพียง 59 กิโลเมตร ราษฎรจะได้รับความสะดวกมากกว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอน้ำปาดแบ่งออกเป็น 7 ตำบล 58 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[4] |
---|---|---|---|---|
1. | แสนตอ | Saen To | 9
|
7,915
|
2. | บ้านฝาย | Ban Fai | 9
|
6,706
|
3. | เด่นเหล็ก | Den Lek | 6
|
4,023
|
4. | น้ำไคร้ | Nam Khrai | 9
|
5,704
|
5. | น้ำไผ่ | Nam Phai | 8
|
3,986
|
6. | ห้วยมุ่น | Huai Mun | 8
|
2,972
|
7. | ท่าแฝก | Tha Faek | 9
|
4,517
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอน้ำปาดประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลน้ำปาด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแสนตอ
- องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนตอ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลน้ำปาด)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านฝาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านฝายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเด่นเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเด่นเหล็กทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำไคร้ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำไผ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำไผ่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยมุ่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยมุ่นทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแฝก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าแฝกทั้งตำบล
การสาธารณสุข
แก้มีโรงพยาบาลชุมชนให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จำนวน 1 แห่ง
- โรงพยาบาลน้ำปาด เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง
มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้บริการจำนวน 12 แห่ง และ สสช. 1 แห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฝาย
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าโพธิ์
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเด่นเหล็ก
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำไคร้
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแมง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยไคร้
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำไผ่
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยเดื่อ
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยมุ่น
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งพาน
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าแฝก
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยผึ้ง
- สถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านส่องสี
หน่วยงานราชการ
แก้- สำนักงานสาธารณสุขอำเภอน้ำปาด
- สำนักงานปศุสัตว์อำเภอน้ำปาด
- สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด
- สำนักงานที่ดินอำเภอน้ำปาด
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอน้ำปาด
- กองร้อยตำรวจตะเวนชายแดนที่ 316
สถาบันการเงินและรัฐวิสาหกิจ
แก้- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาน้ำปาด
- ธนาคารออมสิน สาขาน้ำปาด
- ธนาคารกรุงไทย สาขาน้ำปาด
- ธนาคารกสิกรไทย สาขาน้ำปาด
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอน้ำปาด
- บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สาขาน้ำปาด
- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สาขาน้ำปาด
- บริษัท ศักดิ์สยามพาณิชย์ลิสซิ่ง จำกัด สาขาน้ำปาด
สถานศึกษา
แก้- ระดับมัธยมศึกษา
- โรงเรียนน้ำปาดชนูปถัมภ์ เปิดสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
- โรงเรียนสหคริสเตียน (เอกชน) เปิดสอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
แหล่งท่องเที่ยว
แก้รถโดยสารประจำทาง
แก้รถเมล์บริการ
แก้- อุตรดิตถ์-ฟากท่า (อุตรดิตถ์-อ.ท่าปลา-เขื่อนสิริกิติ์-อ.น้ำปาด-อ.ฟากท่า)
- อุตรดิตถ์-บ้านโคก (อุตรดิตถ์-อ.ท่าปลา-เขื่อนสิริกิติ์-อ.น้ำปาด-อ.ฟากท่า-อ.บ้านโคก)
- อุตรดิตถ์-น้ำปาด (อุตรดิตถ์-แยกน้ำอ่าง -อ.ทองแสนขัน-สักใหญ่-อ.น้ำปาด)
ดูเพิ่ม
แก้- หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) (ชุมชนที่ตั้งศาลเจ้าพ่อพระยาปาด)
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า หวน พินธุพันธ์. (2521). อุตรดิตถ์ของเรา. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก. หน้า 121
- ↑ "ส.ก.น.. ฟากท่า-น้ำปาดไม่มีอะไรจริงหรือ?" อ.ส.ท. หน้า 12."
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนเขตอำเภอท่าปลากับอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๕๕๘" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-02-13. สืบค้นเมื่อ 2016-07-04.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- อุทยานแห่งชาติคลองตรอน เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วนอุทยานสักใหญ่ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย เก็บถาวร 2014-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน