สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นการอธิบายถึงความแตกแยกระหว่างกลุ่มการเมืองน้อยใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิม ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 โดยในทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สภาวะดังกล่าวแทบจะทำให้รัฐไทยล่มสลายลงไปตามเจตนาของพม่าในการรุกรานอาณาจักรอยุธยาเลยทีเดียว[1] สภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่บ้านเมืองอันเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริงจะถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งหลังจากการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[2]

เบื้องหลัง

แก้

ปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง อาณาจักรอยุธยาเผชิญกับสงครามครั้งใหญ่กับพม่าราวปี พ.ศ. 2308-2310 ผลของการสงครามครั้งนั้นได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาจนไม่อาจตั้งกลับเป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและความไม่ปลอดภัยจากภัยสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้นเมื่อพม่าเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏข้าราชการและราษฎรจำนวนมากหลบหนีไป ซึ่งขณะนั้นได้มีชาวพระนครหลบหนีจากพระนครกว่า 8,000 คน ได้อพยพลี้ภัยไปทางทิศอีสานและทิศตะวันออกซึ่งชาวพระนครได้หลบหนีไปพึ่งเจ้าชุมนุมต่าง ๆ ที่กำลังก่อตัวเป็นอิสระขึ้นเช่น ชุมนุมเจ้าพระฝาง, ชุมนุมเจ้าพิมาย, ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก[3] ซึ่งตามทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บรรยายถึงสภาพจลาจลจากการที่ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวนมากได้พากันหลบหนีออกจากพระนคร ซึ่งมีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น อาจเพื่อเอาชีวิตรอด อาจเพื่อแสวงหาการคุ้มครอง อาจเพื่อเลี้ยงชีพโดยการลักขโมยผู้อื่น[4] แต่ไม่คิดจะรวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาเลย

กรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย

แก้

หลังจากที่พ่ายแพ้ให้แก่พม่าที่ปราจีนบุรีแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระโอรสธิดาและพระยารัตนาธิเบศร์เสด็จไปประทับตั้งหลักที่ด่านโคกพระยาในช่วงกลางปีพ.ศ. 2309 เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียให้แก่พม่า แต่พระยารัตนาธิเบศร์ล้มป่วยถึงแก่กรรมเสียที่ด่านโคกพระยา กรมหมื่นเทพพิพิธจึงประทานเพลิงศพให้กระทำการปลงศพแก่พระยารัตนาธิเบศร์[5] ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พระพิบูลสงครามเจ้าเมืองนครนายกและหลวงนรินทร์นำไพร่ชายหญิงจำนวนประมาณสามร้อยคน หนีพม่าขึ้นไปทางเขาพนมโยงไปตั้งที่ด่านจันทึก เจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งเป็นอริกับพระยาพิบูลสงครามมาแต่ก่อน ส่งทหารมาสังหารพระพิบูลสงครามและหลวงนรินทร์ไปเสีย กวาดต้อนชาวเมืองนครนายกเข้าไปไว้ที่นครราชสีมา

กรมหมื่นเทพพิพิธให้หลวงมหาพิชัยและนายทองคำ นำหมวกฝรั่ง เสื้อแพรกระบวนจีน และผ้าเกี้ยว นำไปประทานให้แก่เจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อขอการสนับสนุนจากเจ้าพระยานครราชสีมา แต่ทว่าต่อมาอีกสิบสี่สิบห้าวัน หลวงพลเมืองนครราชสีมาออกมาทูลกรมหมื่นเทพพิพิธว่า เจ้าพระยานครราชสีมาวางแผนจะส่งกองกำลังชาวเขมรจำนวน 500 คน ลงมาจับองค์กรมหมื่นเทพพิพิธลงไปส่งที่กรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธทรงตกพระทัยเตรียมตัวจะเสด็จหนี แต่หม่อมเจ้าประยงค์พระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธทูลเตือนสติพระบิดาให้ประทับอยู่สู้

หม่อมเจ้าประยงค์ทูลขอประทานเงินจำนวนห้าชั่ง นำไปแจกจ่ายเกลี้ยกล่อมนายบ้านสิบสองตำบล ได้ไพร่พล 550 คน วันพุธขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10[5] (17 กันยายน พ.ศ. 2309) หม่อมเจ้าประยงค์ พร้อมทั้งหลวงมหาพิชัยและหลวงปราบ คุมกำลังจำนวน 30 คน พร้อมทั้งชาวบ้าน เข้าไปซุ่มอยู่ในเมืองนครราชสีมา ต่อมาวันรุ่งขึ้น ขึ้น 15 ค่ำ (18 กันยายน) เป็นวันพระ เจ้าพระยานครราชสีมาออกมาทำบุญที่วัดกลางไม่ทันได้ตั้งตัว หม่อมเจ้าประยงค์จึงนำกำลังเข้าล้อมจวนของเจ้าพระยานครราชสีมา เข้าจับกุมเจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งถูกสังหารเสียชีวิตไป แต่หลวงแพ่งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมาสามารถควบม้าหลบหนีออกไปเมืองพิมายได้ทันแก่เวลา หม่อมเจ้าประยงค์ให้ยิงปื่นใหญ่ขึ้นเป็นสัญญาณฤกษ์และเกณฑ์คนออกมารับเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าไปประทับในเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธจึงสามารถเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ

แต่ทว่าหลังจากนั้นเพียงห้าวัน หลวงแพ่งได้ขอความช่วยเหลือจากพระพิมายเจ้าเมืองพิมาย นำกำลังมาเข้าล้อมเมืองนครราชสีมาเพื่อแก้แค้นให้แก่พี่ชาย ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเกณฑ์คนได้เบาบางขึ้นไม่เต็มเชิงเทินกำแพงเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธป้องกันเมืองนครราชสีมาได้สี่วัน จึงเสียเมืองนครราชสีมาให้แก่หลวงแพ่ง กองทัพของพระพิมายและหลวงแพ่งเข้าเมืองได้ทางวัดพายัพ หลวงแพ่งจับเอาพระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่หม่อมเจ้าประยงค์ หม่อมเจ้าดารา หม่อมเจ้าธารา รวมทั้งขุนนางของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่พระพิชัยราชาและหลวงมหาพิชัย นำไปสำเร็จโทษประหารชีวิตปลงพระชนม์ไปหมดสิ้น[5][6] ยังเหลือแต่พระโอรสที่พระชนม์ยังน้อย หม่อมเจ้าอุบลพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายแก่นลูกน้องของหลวงแพ่ง และหม่อมเสมพระชายาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายย่น ลูกน้องของหลวงแพ่งอีกเช่นกัน หลวงแพ่งต้องการสำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายได้ขอให้ไว้พระชนม์ชีพ กรมหมื่นเทพพิพิธนั้นถูกพระพิมายจับกุมองค์กลับไปยังเมืองพิมาย

ปรากฏว่าพระพิมายนั้นมีความนับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่าเป็นวงศาราชตระกูล จึงทำนุบำรุงยกย่องกรมหมื่นเทพพิพิธไว้เป็นเจ้า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 พระพิมายทราบข่าวว่าพม่าได้กวาดต้อนพระบรมวงศานุวงศ์อยุธยาไปพม่าไปสิ้น[5] พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าแผ่นดินว่าเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายจึงแต่งตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่งตั้งบุตรชายทั้งสองของพระพิมายได้แก่ นายสาและนายน้อย ให้เป็นพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราชตามลำดับ นำไปสู่การกำเนิดของชุมนุมเจ้าพิมาย

พระพิมายและบุตรทั้งสองวางแผนสังหารหลวงแพ่งและยึดเมืองนครราชสีมาคืนให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธ ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระพิมายและบุตรทั้งสองยกกำลังจำนวน 500 คน ไปเยียมพบกับหลวงแพ่งที่เมืองนครราชสีมา หลวงแพ่งมีความไว้วางใจพระพิมายเห็นว่าเคยปราบกรมหมื่นเทพพิพิธมาด้วยกัน หลวงแพ่งจัดละครให้พระพิมายดู ในขณะที่กำลังดูละครกันอยู่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) ลุกขึ้นใช้ดาบฟันหลวงแพ่งเสียชีวิต พระยามหามนตรี (สา) ฟันนายแก่นเสียชีวิต พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) ฟันนายย่นเสียชีวิต เสียชีวิตทั้งสามคน พวกทหารเมืองพิมายฆ่าฟันฝ่ายเมืองนครราชสีมาล้มตายจำนวนมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) จึงสามารถยึดเมืองนครราชสีมาให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ และมอบหมายให้พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) เรียกว่า "พระยาน้อย"[7] ตั้งอยู่ที่ด่านจอหอคอยรักษาเมืองนครราชสีมา[5][6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

แก้

เมื่อพระยาตากเห็นว่าไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาจากการโจมตีของพม่าได้อีกต่อไป ในวันเสาร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ (4 มกราคม พ.ศ. 2310) พระยากตากจึงนำกองกำลังไทยจีนจำนวน 500 คน พร้อมทั้งแม่ทัพนายกองคณะผู้ติดตาม ฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางตะวันออก พระยาตากต่อสู้รบกับทัพพม่าที่ติดตามมาและค่ายชาวบ้านผู้นำท้องถิ่นซึ่งไม่ยอมรับอำนาจของพระยาตาก จนกระทั่งพระยาตากได้เข้าตั้งมั่นที่เมืองระยองในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2310 พระยาตากได้ประกาศตนเป็นเจ้าตาก ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2310 พระยาตากยกทัพเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ พระยาตากใช้เมืองจันทบุรีเป็นสถานที่รวบรวมกำลังพลและต่อเรือเป็นเวลาสามเดือน

ฝ่ายพม่าหลังจากที่ยึดกรุงศรีอยุธยาได้จำต้องโยกย้ายกำลังโดยส่วนใหญ่กลับไปสู้รบในสงครามจีน-พม่า (Sino-Burmese War) โดยที่วางกำลังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (อำเภอบางปะหัน) ทางเหนือของเมืองอยุธยาโดยมีสุกี้พระนายกองหรือนายทองสุกชาวมอญเป็นผู้นำ เพื่อรักษาการณ์ในสยามในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในเดือนตุลาคม พระยาตากยกกองทัพเรือจำนวน 5,000 คน ออกจากจันทบุรีเข้ามาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ยึดป้อมเมืองธนบุรีได้และยกทัพต่อไปโจมตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น นำไปสู่การรบที่โพธิ์สามต้น พระยาตากเข้าตียึดค่ายโพธิ์สามต้นได้เมื่อวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310) มองย่าแม่ทัพพม่าจากโพธิ์สามต้นหลบหนีไปเข้าหากรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย

ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพปรักหักพังเต็มไปด้วยซากศพไม่สามารถใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อตั้งรับการรุกรานของพม่าได้ ในขณะที่เมืองธนบุรีมีป้อมวิชัยประสิทธิ์ตั้งอยู่แล้ว[8] พระยาตากจึงตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองธนบุรีสถาปนาเมืองธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวงพระนครแห่งใหม่ของอาณาจักรธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อวันจันทร์ขี้น 8 เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช 1128 (28 ธันวาคม พ.ศ. 2310) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

ชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

แก้
 
ภาพแสดงที่ตั้งชุมนุมต่าง ๆ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)
1: ชุมนุมพระยาตาก (รวมกับชุมนุมสุกี้พระนายกอง)
2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
3: ชุมนุมเจ้าพระฝาง
4: ชุมนุมเจ้าพิมาย
5: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
ุ6: ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า แนวคิดที่ว่าดินแดนสมัยอาณาจักรอยุธยาเดิมถูกแบ่งออกเป็น 5 ชุมนุม อาจเป็นแนวคิดจากพระวนรัตน์ แต่ชุมนุมที่ถูกนับนี้ เป็นชุมนุมที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากเท่านั้น ซึ่งพระราชพงศาวดารก็ได้บันทึกตามนี้เช่นกัน[9] ส่วน เทพ สุนทรศารทูล แบ่งออกเป็น 8 ชุมนุม[10] เป็นชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม และชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม แต่เนื่องจาก ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ได้ส่งราชสานส์ไปยังจีน ราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์ ต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) ในการสืบทอดสันติวงศ์ ทำให้ราชสำนักชิงไว้วางใจตน จึงนับเป็นชุมนุมใหญ่อีกหนึ่งชุมนุม [11]

  • ชุมนุมของสุกี้พระนายกอง (หรือ ชุกคยี) เป็นชุมนุมของพม่าตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น หลังจากทัพพม่าถอนกำลังกลับกรุงอังวะแล้ว เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งสุกี้พระนายกอง หรือนายทองสุก ชาวมอญ (รามัญ) ต่อมาพระยาตากเข้ายดค่ายโพธิ์สามต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 สุกี้พระนายกองสิ้นชีวิตในที่รบ เป็นการสิ้นสุดชุมนุมของสุกี้พระนายกอง
  • ชุมนุมพิษณุโลก: เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพระพิษณุโลก ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ และ ปากน้ำโพ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสู้รบ จึงมีผู้นับถืออยู่มาก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว ได้มีข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยหลายนาย
  • ชุมนุมเจ้าพระฝาง: พระสังฆราชาในเมืองสวางคบุรี (ฝาง) ได้ตั้งตนเป็นเจ้า ทั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ
  • ชุมนุมภาคใต้นครศรีธรรมราช: ในสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ พระยาราชสุภาวดีได้มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช[12] ในขณะที่หลวงสิทธิ์นายเวร (หนู) ได้มาเป็นปลัดเมือง ในช่วงที่พม่าเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาฯ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พระยาราชสุภาวดี) ได้รับมอบหมายให้นำกำลังไปเข้าร่วมการป้องกันกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาราชสุภาวดีมีความผิดถูกปลดจากตำแหน่งกลับไปที่กรุงศรีฯ[12] ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่างอยู่ยังไม่มีการแต่งตั้งใหม่ โดยมีพระปลัด (หนู) เป็นผู้รั้งเมืองอยู่ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระปลัด (หนู) จึงตั้งตนขึ้นเป็นเจ้านครฯ ตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตที่หัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงเขตแดนหัวเมืองมลายู
  • ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้าฟ้าจุ้ย ได้ส่งราชสานส์ ไปยังราชวงศ์ชิงเพื่อรับรองตัว แม้ว่าจะไปขอความร่วมมือจาก ชุมนุมของพระเจ้าตาก เพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยา แต่พระยาตากพิจารณาขึ้นเป็นชุมนุมใหญ่เสียเอง เจ้าฟ้าจุ้ย จึงไปสร้างฐานกำลังที่เมืองพุทไธมาศ (ห่าเตียน) มีอาณาเขตทั้งกัมพูชาโดยมีเมืองหลักคือ อุดงมีชัย บันทายมาศ และเกาะโดด (เกาะฟู้โกว๊ก)
  • ชุมนุมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่จะตั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาตากพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรบชนะ จึงนำทหารจำนวนหนึ่งไปสร้างฐานกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด

การรบที่เกยไชย

แก้

ในเดือนสิบเอ็ด[8] (ตุลาคม) พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพยกขึ้นไปโจมตีชุมนุมพิษณุโลกของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นแห่งแรก ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลกส่งหลวงโกษา (ยัง) เมืองพิษณุโลกลงมาตั้งรับที่เกยไชย (ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์) ทัพฝ่ายธนบุรีเข้ารบกับฝ่ายเมืองพิษณุโลกในการรบที่เกยไชย ฝ่ายพิษณุโลกยิงปืนมาต้องพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ข้างซ้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายทัพธนบุรีจึงถอยกลับ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าแค่เฉี่ยวพระมังสะ (เนื้อ) ไปเท่านั้น "ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝนต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบติดผิวพระมังสะไป"[6] ในขณะที่จดหมายเหตุทรงจำในกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่า "ไปตีเกยไชยถูกปืนไม่เข้า"[13]

ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เห็นว่าตนเองได้รับชัยชนะเหนือธนบุรี กอปรกับการที่ตนมีขุนนางข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาเข้าด้วยจำนวนมาก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงประกอบพิธีตั้งตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ที่เมืองพิษณุโลกในพ.ศ. 2311[7] แต่งตั้งให้พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เป็นสมุหนายก[14] แต่ทว่าต่อมาไม่นานเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนเดือนสิบเอ็ดปีชวดสัมฤทธิศกตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุว่า "อยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน พระชนมายุได้ 49 ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม" [15] ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า "ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับพระราชโองการ อยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอถึงพิราลัย" [16] ในขณะที่พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ก็ได้ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2311[14] ในเวลาต่อมาไม่นานเช่นกัน พระอินทรอากร (จัน) น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ก็ทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองพิษณุโลกทั้งสองฟากแม่น้ำน่าน พระอินทรอากรต้านทานเจ้าพระฝางอยู่ได้สามเดือน[7] ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมืองพิษณุโลก เปิดประตูเมืองรับทัพเจ้าพระฝางเข้ายึดเมืองพิษณุโลก ในที่สุดเจ้าพระฝางก็สามารถเข้ายึดเมืองพิษณุโลกและผนวกชุมนุมพิษณุโลกเข้ารวมกับชุมนุมพระฝางไปในที่สุด พระอินทรอากรถูกสังหารนำศพขึ้นเสียบประจาน เป็นการสิ้นสุดของชุมนุมพิษณุโลก

เจ้าพระฝางเก็บเอาทรัพย์สินและกวดต้อนผู้คนจากเมืองพิษณุโลกกลับไปที่เมืองสวางคบุรี บรรดาหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพระฝาง ชาวเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตร ได้แตกหนีลงมายังกรุงธนบุรีจำนวนมาก[7]

ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย

แก้

หลังจากที่พระยาตากเข้ายึดค่ายพม่าโพธิ์สามต้นได้ในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2310 มองย่าแม่ทัพพม่าได้เดินทางหลบหนีไปยังเมืองนครราชสีมาเพื่อขอความคุ้มครองจากกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย ในพ.ศ. 2311 หลังจากศึกเกยไชย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปตามตัวมองย่าและเพื่อปราบชุมนุมเจ้าพิมาย โดยมีพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาจึงจัดการป้องกันดังนี้

  • เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) พระยามหามนตรี (สา) และมองย่า ตั้งรับที่ด่านจอหอ
  • พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) หรือพระยาน้อย ผู้รักษาเมืองนครราชสีมา ตั้งรับที่ด่านขุนทด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) โจมตีพระยาวรวงศาธิราชที่ด่านขุนทด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพด้วยพระองค์เองเข้าตีด่านจอหอ ฝ่ายชุมนุมพิมายพ่ายแพ้ จับกุมตัวได้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระยามหามนตรี และมองย่าแม่ทัพพม่า มีพระราชโองการให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตไปทั้งสามคน ส่วนพระยาวรวงศาธิราชนั้นสามารถเดินทางหลบหนีข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปยังเมืองเสียมเรียบกัมพูชาได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้พระราชวรินทร์และพระมหามนตรียกทัพไปติดตามพระยาวรวงศาฯถึงกัมพูชาเมืองเสียมเรียบแต่ไม่พบตัว พระยาวรวงศาธิราชจึงหายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อทราบข่าวว่าเสนาบดีแม่ทัพนายของของชุมนุมพิมายพ่ายแพ้ถูกประหารชีวิตไปหมดแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเตรียมตัวเสด็จหลบหนีไปยังเมืองล้านช้างศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาสามารถจับกุมองค์กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระโอรสธิดากลับมาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงดีพระทัยโสมนัสทรงแต่งตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยากำแหงสงคราม[5]หรือเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาคนใหม่

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำตัวกรมหมื่นเทพพิพิธกลับไปชำระความที่กรุงธนบุรี ทรงให้เบิกตัวกรมหมื่นเทพพิพิธมาเข้าเฝ้าที่หน้าพระที่นั่ง แต่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมกราบถวายบังคม สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสว่า "ตัวจ้าวหาบุญวาศนาบาระมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็ภาพวกพ้องผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงจ้าวไว้ก็จภาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยกัน จ้าวอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถีด อย่าให้จุลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างน่าอีกเลย"[7] แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงลงพระราชอาญาให้สำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี[6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลื่อนพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้มีความชอบในการปราบกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย ให้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์แลัพระยาอนุชิตราชาตามลำดับ[5][6] พระโอรสสองพระองค์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ ได้แก่ หม่อมเจ้ามงคล และ หม่อมเจ้าลำดวน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงชุบเลี้ยงไว้[13]

ปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช

แก้

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระปลัด (หนู) ปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองภาคใต้ เป็นเจ้านครศรีธรรมราชจัดตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราช เจ้านครฯแต่งตั้งให้หลานเขยคือหลวงฤทธิ์นายเวร (จันทร์ จันทโรจวงศ์) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ขึ้นเป็นอุปราชแห่งนครศรีธรรมราช เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว หัวเมืองมลายูปัตตานีไทรบุรีที่เคยส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่สยาม ต่างหลุดพ้นไปจากอำนาจของสยามเป็นเวลาชั่วคราว

ในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งทัพกรุงธนบุรีลงใต้เพื่อปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช นำโดยเจ้าพระยาจักรี (หมุด) และมีแม่ทัพคนอื่นๆได้แก่พระยายมราช (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศระบุว่า คือพระยายมราชบุญมา ในขณะที่พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ระบุว่า เป็นคนละคนกัน) พระยาศรีพิพัฒน์ และพระยาเพชรบุรี นำกองทัพจำนวน 5,000 คนลงใต้ ไปถึงเมืองปะทิว ชาวเมืองปะทิวและเมืองชุมพรต่างหลบหนีเข้าไปในป่า มีนายมั่นชาวเมืองปะทิวเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี[5] สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดฯมีตราออกไปให้ตั้งนายมั่นเป็นเจ้าเมืองชุมพร จากนั้นทัพเดินทางต่อไปยังเมืองไชยา หลวงปลัดเมืองไชยาออกมาสวามิภักดิ์อีกเช่นกัน จึงทรงแต่งตั้งให้หลวงปลัดเมืองไชยาเป็นพระวิชิตภักดีเจ้าเมืองไชยา[5]

การรบที่ท่าหมาก

แก้

ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อทราบว่าฝ่ายธนบุรียกทัพลงมา จึงเรียกหลวงสงขลา (วิเถียน)[17] ซึ่งเป็นญาติกับเจ้านครฯ และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน สามีของคุณหญิงจัน)[18] นำกำลังพลจากเมืองสงขลาและเมืองพัทลุงมาช่วย[17] ร่วมกับทัพเมืองนครฯจัดทัพออกไปตั้งรับที่ท่าหมาก (อำเภอสิชล) ทางเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นำทัพธนบุรีข้ามแม่น้ำบ้านดอนไปสู้กับฝ่ายเมืองนครฯที่ท่าหมาก นำไปสู่การรบที่ท่าหมาก ฝ่ายธนบุรีมีกำลังพลน้อยกว่าและขาดเสบียงอาหาร[17] ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชได้รับชัยชนะ แม่ทัพฝ่ายธนบุรีพระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพชรบุรีสิ้นชีวิตในที่รบ ขุนลักษมณาบุตรของเจ้าพระยาจักรีถูกฝ่ายนครฯจับกุมตัวได้ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) จึงถอยทัพกลับไปที่เมืองไชยา เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว เจ้าพระยานครฯ (หนู) ได้จัดละครให้หลวงสงขลาและพระยาพัทลุงได้ชมเป็นการตอบแทน และอนุญาตให้เจ้าเมืองทั้งสองกลับเมืองของตนไป[17]

การยึดเมืองนครศรีธรรมราช

แก้

พระยายมราชบอกเข้าไปกราบทูลว่า เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นเป็นกบฏ ไม่เป็นใจด้วยราชการ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระวินิจฉัยว่า แม่ทัพนายกองทำสงครามไม่สำเร็จแล้วจึงกล่าวโทษต่อกัน การปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชเป็นศึกใหญ่ หากให้เสนาบดียกทัพลงไปเพียงอย่างเดียวยากที่จะสำเร็จ จำต้องเสด็จยกทัพเรือพยุหยาตราไปด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงจัดเตรียมทัพเรือกำลังพล 10,000 คน กับฝีพายกรรเชียงอีก 10,000 คน พร้อมทั้งอาวุธปืนใหญ่น้อย เสด็จเรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวา ยกทัพออกจากพระนครธนบุรีทางชลมารค ออกจากปากน้ำสมุทรปราการ ถึงบางทะลุ (ตำบลบางทะลุ อำเภอเมืองเพชรบุรี) ในวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือน 9 (20 สิงหาคม พ.ศ. 2312) บังเกิดคลื่นลมพายุรุนแรง เรือกองทัพล่มบ้างแตกบ้าง จนกองเรือหลวงจำต้องจอดหลบพายุอยู่ในอ่าว สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ปลูกศาลเพียงตาขึ้นที่บนชายฝั่งบางทะลุ ตั้งเครื่องสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษามหาสมุทร แล้วทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอให้คลื่นลมทะเลสงบลงในทันที จากนั้นคลื่นลมพายุจึงสงบลง จากนั้นทัพเรือหลวงจึงสามารถเดินทางได้ไปต่อ[5]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จถึงเมืองไชยา เสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าพุ่มเรียงประทับที่พลับพลาในเมืองไชยา มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพิชัยราชาเร่งยกทัพไปทางบก ไปสมทบกับเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เข้าตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชให้จงได้ แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทางชลมารค ยกทัพเรือถึงตำบลปากคูหา ทอดพระเนตรเห็นดาวหางขึ้นทางทิศใต้ เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าเมืองนครฯจะพ่ายแพ้ต่อทัพของธนบุรี[5]

พระยายมราชเป็นทัพหน้ายกข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้ามจนถึงลำพูน เข้ารบกับทัพเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าหมากอีกครั้ง คราวนี้ฝ่ายธนบุรีได้รับชัยชนะ ฝ่ายนครศรีธรรมราชแตกพ่ายหนีไป พระยายมราชยกไปตั้งที่เขาศีรษะช้าง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งเจ้าขรัวเงิน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของอุปราชจันทร์ พร้อมทั้งภรรยาคือท่านผู้หญิงแก้ว เดินทางเข้าไปในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นความลับ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้อุปราชจันทร์ตีตนออกห่างจากเจ้านครฯ[19] พงศาวดารเมืองสงขลาระบุว่า อุปราชจันทร์มีความคุ้นเคยกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงให้คนลักลอบแต่งหนังสือไปถวายว่า ทัพเมืองสงขลาและเมืองพัทลุงกลับไปแล้ว ขอให้รีบเสด็จยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชจะได้เมืองโดยง่ายและเร็ว[17]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จถึงปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช ในวันพฤหัสบดีแรม 6 ค่ำ เดือน 10 (21 กันยายน พ.ศ. 2312) ในเวลาสามโมงเช้า ทัพหลวงก็เข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช นำไปสู่การรบที่นครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (หนู) มอบหมายให้อุปราชจันทร์ยกทัพมาตั้งรับที่ท่าโพธิ์ ปรากฏว่าทัพของอุปราชจันทร์พ่ายแพ้ เจ้าพระยานครฯ (หนู) พร้อมทั้งครอบครัว รวมทั้งบุตรเขยคือเจ้าพัฒน์ เดินทางหลบหนีออกจากเมืองนครศรีธรรมราชไป ทัพฝ่ายธนบุรีจึงสามารถเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ในวันนั้น

นายคง ไพร่คนหนึ่งในกองของพระเสนาภิมุข จับได้ช้างพลายเพชรซึ่งเป็นช้างที่นั่งของเจ้านครฯมีเครื่องยศอยู่นำมาถวาย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงช้างพลายเพชรเสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราชในวันนั้น ฝ่ายธนบุรีจับกุมได้อุปราชจันทร์ พร้อมทั้งญาติวงศ์ของเจ้านครฯ และขุนนางนางในของเจ้านครฯ

ติดตามเจ้านครฯ

แก้

ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมทั้งครองครัวและเจ้าพัฒน์ เดินทางหลบหนีไปยังเมืองจะนะ เมืองเทพา จากนั้นหลบหนีต่อไปยังเมืองสงขลา หลวงสงขลา (วิเถียน) ได้นำพาเจ้านครฯและครอบครัว เจ้าพัฒน์ เจ้ากลาง รวมทั้งพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) เดินหลบหนีไปที่เมืองปัตตานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยกทัพเรือ และเจ้าพระยาพิชัยราชายกทัพทางบก ลงใต้ต่อไปเพื่อติดตามจับกุมตัวเจ้านครฯ ในวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 (6 ตุลาคม พ.ศ. 2312) เสด็จยกทัพเรือจากนครศรีธรรมราชไปประทับที่สงขลา เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาพิชัยราชาติดตามไปถึงเมืองเทพา จับชาวจีนและแขกมาถามได้ความว่าเจ้านครฯหลบหนีไปปัตตานีแล้ว[6] ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เมื่อทราบว่าเจ้านครฯหลบหนีไปพึ่งเมืองปัตตานี จึงมีจดหมายถึงสุลต่านมูฮาหมัด (Muhammad) เจ้าเมืองปัตตานีให้ส่งตัวเจ้านครฯให้แก่ทางธนบุรี ฝ่ายสุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานีไม่ต้องการสู้รบกับสยาม[20]จึงจำยอมส่งตัวเจ้าเมืองทั้งสามได้แก่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองสงขลา และเจ้าเมืองพัทลุง ให้แก่ฝ่ายธนบุรีแต่โดยดี เจ้านครฯพร้อมทั้งครอบครัวจึงถูกเจ้าพระยาจักรี (หมุด) จับกุมนำตัวใส่เรือไปถวายที่สงขลา สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำตัวเจ้านครฯกลับถึงเมืองนครศรีธรรมราชวันศุกร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312)

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาให้เรือสำเภาบรรทุกข้าวเปลือกมาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชบริพารผู้มีความชอบในการตีเมืองนครศรีธรรมราช และให้กรมสังฆการีธรรมการไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช พระราชทานข้าวสารให้พระภิกษุรูปละหนึ่งถัง เงินรูปละหนึ่งบาท และพระราชทานเงินให้แก่ยาจกวนิพกคนละหนึ่งสลึงในทุกวันอุโบสถ โปรดฯให้สมโพชเวียนเทียนพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเวลาสามวัน

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปรึกษาโทษของเจ้าพระยานครฯ (หนู) ขุนนางทั้งปวงกราบทูลให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้านครฯไปเสีย แต่ทรงไม่เห็นด้วย ตรัวว่าทั้งพระองค์เองและเจ้านครฯต่างคนต่างเป็นใหญ่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองคับขัน ยังไม่ได้เป็นข้าของพระองค์ถือว่ายังไม่ใช่กบฏ อีกทั้งเจ้านครฯยังมีความชอบคอยป้องกันขันธสีมาจากปัจจามิตรทางใต้[21] จึงมีพระวินิจฉัยให้งดโทษเจ้านครฯไว้ก่อน แล้วนำตัวเจ้านครฯไปที่กรุงธนบุรีไว้เป็นข้ารับใช้ในพระองค์ต่อไป สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ (บริติชมิวเซียม: หม่อมเจ้าดาราสุริวงษ์พระเจ้าหลานเธ่อ) ขึ้นเป็นเจ้านครศรีธรรมราชองค์ใหม่ โดยให้พระยาราชสุภาวดี (อดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) และพระศรีไกรลาสอยู่ช่วยราชการเมืองนครฯ แต่งตั้งกรมการเมืองนครศรีธรรมราชตามตำแหน่ง ทรงแต่งให้นายโยมเป็นพระสงขลาเจ้าเมืองสงขลาคนใหม่[17] ทรงให้ราชบัณฑิตนำพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช ขนลงเรือไปที่กรุงธนบุรีเพื่อคัดลอกทดแทนพระคัมภีร์ที่สูญไปในสงคราม แล้วจีงนำกลับมาไว้ที่เมืองนครฯตามเดิม และทรงให้นิมนต์พระอาจารย์ศรีวัดพนัญเชิง พระภิกษุอยุธยาซึ่งได้ลี้ภัยพม่ามาอยู่ที่นครศรีธรรมราช กลับไปที่กรุงธนบุรีด้วย

ในเดือนสี่ (มีนาคม) พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกจากเมืองนครศรีธรรมราช นิวัติกลับคืนสู่กรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งพระอาจารย์ศรีวัดพนัญเชิงจากเมืองนครศรีธรรมราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งกรุงธนบุรี

บทสรุป

แก้

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมครอบครัว และหลวงสงขลา (วิเถียน) ถูกนำตัวไปไว้ที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานอภัยโทษให้แก่เจ้าพระยานครฯ (หนู) ให้ถือน้ำพิพัฒนสัตยา[6] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้นายจันมหาดเล็กเป็นพระยาพัทลุงเจ้าเมืองพัทลุง แต่ต่อมาในพ.ศ. 2315 ถูกปลดจากตำแหน่ง[18] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งนายขุน (ขุนคางเหล็ก) บุตรของพระยาราชวังสัน (ตะตา) ให้เป็นพระยาพัทลุงคนใหม่แทนที่[18] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2313 สุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานีส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาถวาย "วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง (20 กันยายน พ.ศ. 2313) เสด็จอยู่ณพระตำหนักค่ายหาดสูง แขกเมืองตานีมาสู่พระบรมโพธิสมภาร ถวายดอกไม้ทองเงิน"[6]

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พำนักอยู่ที่กรุงธนบุรีเป็นเวลาเจ็ดปี บุตรสาวทั้งสองได้แก่ท่านหญิงฉิมและท่านหญิงปรางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนกระทั่งพ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชกำหนดให้ยกอดีตเจ้านครฯเดิมให้เป็นเจ้าขันธสีมาเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช พระนามว่า พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช "เปนเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน"[21] ได้เกียรติยศอย่างเจ้าประเทศราชได้รับพระโองการ ส่วนท่านผู้หญิงทองเหนียวภรรยาของเจ้านครฯเป็นพระมเหสีได้รับพระเสาวณีย์[13] มีขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นของตนเอง ที่ว่าราชการเรียกว่าท้องพระโรง[12] และเจ้าจอมฉิม ธิดาของเจ้านครฯ (หนู) ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระอัครมเหสีเบื้องซ้าย กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ประสูติพระโอรสคือเจ้าฟ้าทัศพงษ์ เจ้าฟ้าทัศไพ เจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร และพระธิดาคือเจ้าฟ้าปัญจปาปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เมืองปัตตานีและไทรบุรีส่งทัพเข้ามาร่วมสู้รบกับพม่า แต่เมืองทั้งสองไม่ได้ส่งกำลังมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งเจ้านครฯให้เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราชนั้น มีพระราชโองการให้พระเจ้านครศรีธรรมราชลองใจเจ้าเมืองปัตตานีและไทรบุรีด้วยการนำตราโกษาธิบดีบัวแก้วออกไปขอยืมเงินเมืองละ 1,000 ชั่ง "เมืองไทร เมืองตานี เปนข้าขัณฑสิมาพระนครศรีอยุทธยา มิได้มาช่วยการสงคราม เสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนปฤกษาให้มีตราโกษาธิบดีออกไปลองใจยืมเงินเมืองละพันชั่งเพื่อจะดูน้ำใจเมืองไทร เมืองตานี แลตราโกษาธิบดีนั้นก็ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาธิบดีคิดอ่านอุบายถ่ายเทว่ากล่าว"[21] ปีต่อมาพ.ศ. 2320 พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีใบบอกขอพระราชทานแต่งทัพไปปราบหัวเมืองมลายูที่แข็งเมืองอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไม่เห็นด้วย ตรัสว่าการศึกพม่ายังติดพัน ให้ศึกพม่าเรียบร้อยแล้วก่อนจึงจะยกทัพไปตีหัวเมืองมลายู[5]

ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง

แก้
 
อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน ในจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการสิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและเหตุการณ์ต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2313

ต้นกำเนิดของเจ้าพระฝาง

แก้

พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ระบุว่า เจ้าพระฝางเดิมชื่อว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ ได้เดินทางมาเล่าเรียนพระไตรปิฎกที่กรุงศรีอยุธยา ได้เป็นพระพากุลเถระเป็นพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสีอยู่ที่วัดศรีอโยธยาในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯให้พระพากุลเถระ (เรือน) ไปเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะที่วัดสวางคบุรีเมืองสวางคบุรี (ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์) เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วมหาเรือนตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าแต่ไม่สึกออกยังคงอยู่ในสมณเพศ นุ่งห่มผ้าจีวรสีแดง คนทั่วไปขนานามว่า "เจ้าพระฝาง" แห่งเมืองฝาง หรือเมืองสวางคบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปถึงน้ำปาดแดนลาว เจ้าพระฝางมีแม่ทัพนายกองเป็นพระสงฆ์หลายรูปได้แก่ พระครูคิริมานนท์ พระครูเพชรรัตน์ พระอาจารย์จัน พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์เกิด ซึ่งพงศาวดารพระพนรัตน์ฯระบุว่า "ล้วนเป็นอาลัชชีมิได้ละอายแก่บาปทั้งนั้น"[7] ในพงศาวดารมักกล่าวถึงชุมนุมของเจ้าพระฝางว่าประกอบด้วย"คนอาสัจอาธรรม"เนื่องจากทำผิดพระวินัยขึ้นมาเป็นผู้นำในทางโลก

ในพ.ศ. 2311 เจ้าพระฝางสามารถขึ้นยึดครองชุมนุมพิษณุโลกได้ ทำให้หัวเมืองเหนือทั้งปวงตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพระฝาง เป็นศัตรูที่สำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เจ้าพระฝางกวาดต้อนกำลังคนและทรัพย์สินจากพิษณุโลกไปที่เมืองฝาง

ติดต่อกับฮอลันดา

แก้

ฮอลันดาได้ปิดสถานีการค้าในอยุธยาไปตั้งแต่พ.ศ. 2038 เนื่องด้วยภัยจากการรุกรานของพม่า[22] ในพ.ศ. 2312 พระยาพิพัฒโกษา (หรือพระยาพิพิธโกษา Pia Pipit Kosa)[23] ผู้ว่าที่พระคลัง ได้มีหนังสือถึงกรมการเมืองฮอลันดาที่เมืองเบตาเวีย เชื้อเชิญให้ฝ่ายฮอลันดาเข้ามาตั้งสถานีการค้าเพื่อทำการค้าขายในสยามอีกครั้ง รวมทั้งขอซื้อปืนคาบศิลามาให้ในการรบกับพม่าด้วย ฝ่ายกรมการฮอลันดาไม่ต้องการเข้ามาตั้งสถานีการค้าในสยาม เนื่องจากการค้ากับสยามในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาฮอลันดาประสบปัญหาภาวะขาดทุน[22] จึงบ่ายเบี่ยงด้วยการตอบว่า ฝ่ายฮอลันดายินดีที่จะมอบปืนคาบศิลาให้แก่กรุงธนบุรี แต่การที่จะกลับไปตั้งสถานีการค้าในสยามนั้น จำต้องกราบทูลขอพระอนุญาตจากเจ้าชายแห่งออเรนจ์และนาสเซา (Prince of Orange and Nassau)[23] เสียก่อน หลังจากนั้นฝ่ายเมืองเบตาเวียจึงส่งปืนคาบศิลามายังธนบุรี แต่สยามและฮอลันดาไม่ได้มีการติดต่อกันอีกอย่างเป็นทางการจนกระทั่งพ.ศ. 2403 ในสมัยรัชกาลที่ 4

การยึดเมืองพิษณุโลก

แก้

ในเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2313 เจ้าพระฝางได้ส่งทัพหัวเมืองเหนือลงมาโจมตีแย่งชิงข้าวปลาอาหาร เผาบ้านเรือนราษฎรลมาจนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้แต่งทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง จำนวนรวม 10,000 คน ดังนี้;[6][7]

สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้เจ้าพระยาพิชัยราชา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพหน้าจำนวน 10,000 ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพหลวงจำนวน 12,000 คน เสด็จออกจางกรุงธนบุรีทางชลมารค ในวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2313) ในเวลานั้นราคาข้าวแพงถึงเกวียนละสามชั่ง บังเอิญมีเรือกำปั่นค้าข้าวสารมาจากทิศใต้ โปรดฯให้ซื้อเกณฑ์ข้าวเข้ากองทัพแล้วจึงแจกจ่ายแก่สมณชีพราหมณ์รวมทั้งยาจกวณิพก รวมทั้งให้แก่ครอบครัวของข้าราชการ ในเวลานั้นแขกเมืองยักกะตรา (จาการ์ตา - นำปืนคาบศิลาของฮอลันดามาถวาย) และแขกเมือตรังกานูนำปืนคาบศิลาจำนวนทั้งสิ้น 2,200 กระบอกเข้ามาถวาย

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพไปถึงเมืองนครสวรรค์ และถึงปากพิงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 9 (8 สิงหาคม พ.ศ. 2313) ฝ่ายเจ้าพระฝางส่งหลวงโกษา (ยัง) แม่ทัพที่เคยสามารถเอาชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เกยไชย มาตั้งรับทัพธนบุรีอยู่ที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพเข้าตีเมืองพิษณุโลกในวันนั้นเวลายามหนึ่งเศษ นำไปสู่การรบที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จ ฝ่ายหลวงโกษา (ยัง) ถอยไปยังตำบลโทก จากนั้นหลวงโกษายังจึงหลบหนีไป สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลกในอีกสองวันต่อมา แรม 4 ค่ำ (10 สิงหาคม) เสด็จนมัสการพระพุทธชินสีห์และพระพุทธชินราช ประทับอยู่ในเมืองพิษณุโลกเป็นเวลาเก้าวันจนกระทั่งทัพของเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราช (บุญมา) มาถึง

มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชเร่งยกทัพขึ้นไปตีเมืองฝางสวางคบุรี ตรัสว่าเวลานั้นน้ำน้อยตลิ่งอยู่สูง ข้าศึกอาจยิงลงมาใส่กองเรือได้ แต่อีกไม่นานน้ำจะสูงขึ้น เวลผ่านไปสามวัน น้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นเสมอตลิ่งดังพระราชดำรัส[7]

การยึดเมืองฝางสวางคบุรี

แก้

ฝ่ายเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชยกทัพถึงเมืองฝางสวางคบุรีแล้วตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ เมืองสวางคบุรีนั้นมีกำแพงเมืองเป็นเพียงแต่ถมเป็นเนินดินขึ้นเท่านั้น[7] เจ้าพระฝางให้คนขึ้นเชิงเทินเตรียมป้องกันเมือง ในเวลานั้นช้างพังเชือกหนึ่งในเมืองสวางคบุรีตกลูกเป็นช้างเผือก เจ้าพระฝางจึงเสี่ยงทายนำหญ้าเมืองเหนือและหญ้าเมืองใต้ให้ลูกช้างเผือกกิน ปรากฏว่าลูกช้างเผือกนั้นเลือกกินหญ้าเมืองใต้[13] เจ้าพระฝางจึงมีความตกใจ คิดว่าลูกช้างเผือกนี้เกิดมาเป็นบุญแก่แม่ทัพจากทิศใต้ไม่ได้เป็นของตนเอง ฝ่ายเมืองสวางคบุรีสู้รบอยู่ได้สามวัน เจ้าพระฝางจึงเดินทางหลบหนีออกจากเมืองสวางคบุรีไปทางเหนือ นำแม่ช้างพังและลูกช้างเผือกไปด้วย ฝ่ายทัพกรุงธนบุรีเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชจึงสามารถเข้ายึดเมืองฝางสวางคบุรีได้ในที่สุด

เจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชมีใบบอกลงมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินว่าได้เมืองสวางคบุรีแล้วแต่นายเรือนเจ้าพระฝางหลบหนีไปได้ จึงมีพระราชโองการให้ติดตามตัวเจ้าพระฝาง (บริติชมิวเซียม: อ้ายเรือนผ์าง) พร้อมทั้งนำช้างเผือกกลับไปให้ได้ ในวันอาทิตย์แรม 7 ค่ำ เดือน 9 (13 สิงหาคม พ.ศ. 2313) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพหลวงออกจากเมืองพิษณุโลก ต่อมาในวันแรม 13 ค่ำ หลวงคชชาติในกองของพระยาอินทรวิชิตเมืองวิเศษไชยชาญ สามารถจับนางพระยาช้างเผือกมงคลเศวตคชสารศรีเมืองตัวประเสริฐ (บริติชมิวเซียม: นางพญามงคลเสวตรคชสารศรีเมืองต่อประเสรีฐ) จากชายป่าแม่น้ำมืด[13]มาถวายได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพถึงแม่น้ำมืดวันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 (30 สิงหาคม) มีพระราชโองการให้เกลี้ยกล่อมกวาดต้อนราษฎรที่กระจัดกระจายหนีภัยสงครามให้กลับเข้ามาอยู่ตามเดิม และทรงให้ตั้งด่านทั้งชั้นในและชั้นนอกดักจับตัวเจ้าพระฝางให้จงได้ แล้วจึงเสด็จไปประทับที่พระตำหนักค่ายหาดสูง (ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์)

ชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ

แก้

วันจันทร์เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ (25 กันยายน พ.ศ. 2313) ได้ตัวแม่ทัพนายกองของพระฝางได้แก่ พระครูคิริมานนท์ อาจารย์จัน อาจารย์ทอง พระอาจารย์เกิด แต่ยังไม่ได้ตัวเจ้าพระฝางและพระครูเพชรรัตน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้สึกพระภิกษุทั้งสี่รูปออกจากสมณเพศ และจองจำทั้งสี่คนลงไปชำระไต่สวนที่กรุงธนบุรี

ในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายหัวเมืองเหนือ มาประชุมพร้อมกันหน้าพระที่นั่งที่ค่ายหาดสูง มีพระราชโองการว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเหนือ ล้วนแต่เป็นพรรคพวกของนายเรือนเจ้าพระฝางทั้งสิ้น ประพฤติผิดศีลจับอาวุธทำสงครามดื่มสุราเสพสีกา จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศต่อไปไม่ได้ อีกทั้งพระสงฆ์ที่ทรงศีลและไม่ทรงศีลก็อยู่ปะปนกันอยู่ไม่สามารถจำแนกแยกได้[6][7] จึงทรงเห็นว่าให้พระภิกษุหัวเมืองเหนือทั้งปวงออกจากสมณเพศ

  • ถ้าภิกษุรูปใดยอมรับผิดออกจากสมณเพศแต่โดยดีจะพระราชทานให้เข้ารับราชการ
  • ถ้าภิกษุรูปใดไม่ยอมรับ ทรงให้ดำน้ำพิสูจน์สู้กับนาฬิกาสามกลั้น
    • หากชนะพิสูจน์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอธิการพระราชาคณะฝ่ายเหนือ
    • ถ้าแพ้พิสูจน์จะลงพระราชอาญาสักข้อมือไม่ให้บวชเป็นพระสงฆ์อีก
    • ถ้าเสมอนาฬิกาจะพระราชทานผ้าไตรจีวรให้บวชใหม่
  • ถ้าแต่เดิมไม่ยอมรับ แต่จะให้ดำนำกลับคืนว่าว่ายอมรับผิด จะลงพระราชอาญาประหารชีวิตเสีย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดาน จัดพิธีพลีกรรมเทพยดาแล้ว ทรงตั้งจิตอธิษฐาน หากพระภิกษุองค์ใดยังทรงศีลมิได้ขาด ขอให้พระบารมีโพธิญาณและอำนาจของเทวดาช่วยปกปักษ์รักษาพระสงฆ์รูปนั้นไม่ให้แพ้แก่นาฬิกา หากภิกษุรูปได้ศีลวิบัติด้วยจตุปาราชิก จงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเป็นประจักษ์แก่ปวงชน ในการดำน้ำพิสูจน์ชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือในครั้งนั้น มีพระภิกษุที่ชนะแก่นาฬิกาบ้าง แพ้แก่นาฬิกาบ้าง ขุนนางข้าราชการจึงตัดสินตามพระราชโองการ บรรดาผ้าจีวรของพระสงฆ์ที่แพ้พิสูจน์นั้น ทรงให้นำไปเผาเพื่อนำสมุกไปทาพระธาตุสวางคบุรี แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เย็บผ้าไตรจีวร 1,000 ผืน[6][7] เพื่อบวชพระสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ทั้งหมด

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะจากกรุงธนบุรี ให้มาเป็นพระราชาคณะฝ่ายเหนือ ได้แก่ พระพิมลธรรมไปอยู่เมืองฝางสวางคบุรี พระธรรมโคดมไปอยู่เมืองพิชัย พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองพิษณุโลก พระพรหมมุนีไปอยู่เมืองสุโขทัย พระเทพกวีไปอยู่เมืองสวรรคโลก พระโพธิวงศ์ไปอยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง[7]

บทสรุป

แก้

ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2313) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงเมืองพิษณุโลก มีพระราชโองการให้สมโภชพระศรีรัตนธาตุเมืองพิษณุโลกเป็นวลาสามวัน แล้วจึงทรงแต่งตั้งปูนบำเหน็จแม่ทัพที่มีความชอบในสงครามให้รั้งเมืองฝ่ายเหนือดังนี้;[6][7]

โดยชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายในอาณาเขตแผ่นดินไทยปัจจุบันหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313[24]

เจ้าพระฝางหลบหนีไปฝ่ายกรุงธนบุรีไม่สามารถตามจับกุมตัวได้ เจ้าพระฝางจึงสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ในที่สุด กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า เจ้าพระฝางอาจหลบหนีขึ้นไปทางเหนือพึ่งพิงโป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่[8] เป็นเหตุให้โป่มะยุง่วนส่งทัพลงมาโจมตีเมืองสวรรคโลกในปีต่อมาพ.ศ. 2314 ฝ่ายพรรคพวกของเจ้าพระฝางยังคงถูกจองจำอยู่ในธนบุรี จนกระทั่งพ.ศ. 2319 ก่อนเสด็จยกทัพไปเมืองพิษณุโลกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้นำอดีตพรรคพวกของเจ้าพระฝางไปสำเร็จโทษประหารชีวิตทั้งหมด

ปราบชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)

แก้

ต้นกำเนิดของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)

แก้

สมเด็จพระโสร์ทศ [25]มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุ้ย หรือ เจ้าจุ้ย[26] ภาษาจีนเอ่ยพระนามว่า เจาจุ้ย [27] (จีน: 昭翠[28]) เป็นพระราชโอรสของเจ้าฟ้าอภัย[29] ส่วน จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง "เกาจงสือลู่" บรรพ ๘๖๔ ว่า เจ้าจุ้ย (เจาชุ่ย) เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์[30] และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองพุทไธมาศ (หรือ ฮาเตียน ปัจจุบันคือ ราชรัฐห่าเตียน)[31] ขณะนั้นเมืองพุทไธมาศอยู่ในอำนาจของจีนกวางตุ้งตระกูลม่อที่มีถิ่นฐานอยู่ที่เกาะโดด (หรือ ปัจจุบันคือ เกาะฟู้โกว๊ก) มีคนไทยจำนวนมากทั้งชายและหญิงไปรวมอยู่กันกว่าสามหมื่นคน จักรพรรดิเฉียนหลงได้ให้การสนับสนุนเจ้าฟ้าจุ้ยให้ขึ้นปกครองกรุงสยาม โดยพระราชทานตราตั้งพระราชลัญจกรตราหยก เมื่อปี พ.ศ. 2310 เพื่อรับรองสถานะความเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรสยาม (เสียมหลอ)

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้าจุ้ย พระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าอภัย กับเจ้าศรีสังข์ พระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หนีรอดจากทัพพม่าแล้วเสด็จลี้ภัยไปเมืองเขมร[32] ณ เมืองพุทไธมาศ มีพระยาราชาเศรษฐี (จีน เรียกว่า ม่อซื่อหลิน หรือ Mac Thien Tu) บุตรของม่อจิ่ว (Mac Cuu)[33] ขุนนางเชื้อสายญวนเป็นเจ้าเมืองอยู่ในขณะนั้น ส่วนพระอุไทยราชา (นักองค์ตน) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้การต้อนรับการเสด็จลี้ภัยด้วยเช่นกัน

การปราบกองทัพเจ้าฟ้าจุ้ยครั้งที่ 1

แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งโปรดให้จัดกองทัพเข้าตีเมืองพุทไธมาศซึ่งที่ประทับของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) โปรดให้พระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) เป็นแม่ทัพใหญ่พร้อมกำลังพล 1,481 นาย กองทัพพระยาพิชัยไอศวรรค์ (หยางจิ้งจง) กำลังพล 1,686 นาย เป็นกองหนุน และกองทัพพระยายมราช (บุญชู) กำลังพล 689 นาย เป็นกองหลัง ครั้นพระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) มีรี้พลไปถึงเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศ[34] แล้ว จึงเกิดการปะทะกับกองทัพญวนและเขมร กองทัพฝ่ายพระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) กำลังไม่แข้มแข็งนักจึงต้องถอยทัพออกมา ส่งผลให้การศึกครั้งแรกจึงไม่สามารถเข้ายึดเมืองได้ แต่หลังจากกองทัพญวนและเขมรถอยทัพกลับไปแล้ว พระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) จึงยกทัพเข้ายึดเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศอีกครึ้งจนสำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งโปรดตั้งขุนนางไทยปกครองเมืองทั้งสอง ส่วนสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) นั้นเสด็จลี้ภัยไปยังเขมรชั่วคราว

เมื่อสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เสด็จลี้ภัยมาถึงเขมรจึงขอความช่วยเหลือโดยให้เจ้าพระยาราชาเศรษฐี (ม่อซื่อเทียน) ให้จัดกองทัพญวนเข้ายึดเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศคืนจนเป็นผลสำเร็จ สมเด็จพระโสร์ทศจึงเสด็จกลับไปประทับที่เมืองพุทไธมาศดังเดิม จึงทรงวางแผนขั้นที่สองเพื่อปราบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

หลังจากนั้นทางเจ้าฟ้าจุ้ยได้มีการขอความร่วมมือกับชุมนุมต่างๆทั้ง เชียงใหม่ พิมาย นครศรีธรรมราช รวมถึงยกทัพด้วยตนเอง เพื่อปราบธนบุรีแต่ไม่สำเร็จ

สงครามสยาม-เวียดนาม การปราบ ชุมนุมเจ้าฟ้าจุ้ยและกัมพูชา

แก้

ดูเพิ่ม: สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 § สยามเข้ายึดเมืองกัมพูชา

เมื่อปี พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริตามล่าเจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ย ทรงแต่งทัพบกทัพเรือตีเมืองกัมพูชานำไปสู่สงครามสงครามตีเมืองกัมพูชาและบันทายมาศ วันอาทิตย์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบสอง (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314) ฝ่ายสยามยกกำลังเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศทั้งทางน้ำทางบก เข้ายึดเมืองบันทายมาศได้สำเร็จ [35][36]

วันพุธเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเรือกำลังพล 5,000 คน ออกจากเมืองบันทายมาศไปตามคลองเพื่อตามหาพระยาราชาเศรษฐี มาถึงเกาะพนมเปญเมื่อวันพุธเดือนสิบสองแรมหกค่ำ (27 พฤศจิกายน) เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นำความมากราบทูลว่า เจ้ากัมพูชาหลบหนีไปอยู่ที่บาพนม[35] นำไปสู่การรบที่คลองมักกะสา ในวันแรมแปดค่ำเดือนสิบสอง (29 พฤสจิกายน)

แม้ทางฝ่ายญวนจะส่งทัพยึดเมืองบันทายมาศ ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2315 แต่ฝ่ายพระยายมราช (ทองด้วง) ที่เมืองอุดง เมื่อทราบข่าวว่าเมืองบันทายมาศเสียให้แก่ญวน จึงเตรียมยกทัพลงมาช่วยพระยาราชาเศรษฐี แต่พระยาราชาเศรษฐีสามารถยึดเมืองคืนได้ก่อน [36]

ในปีต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2316 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนมีคำสั่งให้หมักเทียนตื๊อส่งผู้แทนมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ธนบุรีเพื่อเจรจาสงบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับไมตรีและโปรดฯพระราชทานบุตรหญิงและภรรยาของหมักเทียนตื๊อกลับคืนไป สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริว่า เมืองบันทายมาศนั้นรักษาไว้ได้ยาก[37] จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีถอยทัพออกมาจากบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศลงเรือใหญ่น้อยกลับเข้ามาที่กรุงธนบุรีตามพระราชกำหนดนั้น ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2316 จากนั้นจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราชถอยทัพกลับจากกัมพูชาเช่นกัน พระยายมราชกวาดต้อนชาวกัมพูชาจำนวนประมาณ 10,000 คนเศษกลับไปยังธนบุรีทัพ ฝ่ายญวนจึงถอนกำลังออกไปจากกัมพูชาในเช่นกันในปีนั้นพ.ศ. 2316[38]

บทสรุป

แก้

ดูเพิ่ม: สงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321

สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ถูกจับได้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2314 และเรื่องราวเจ้าฟ้าจุ้ยต่อจากนี้ไม่มีอีกเลยในพงศาวดารไทย[39] ในจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรีระบุว่าเจ้าจุ้ยโดนโทษประหาร และ เอกสารเวียดนามชื่อ Gia Dinh Thong Chi หรือ Gia Dinh Gazetteer (เวียดนาม: Gia Định Thành Thông Chí) เล่ม 5 ฉบับแก้ไขในรัชกาลจักรพรรดิมิญ หมั่ง กล่าวว่า เจ้าจุ้ย (Prince Chui หรือ Chieu Chuy) ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ที่กรุงสยาม เป็นการจบชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)

โดยชุมนุมเจ้าฟ้าจุ้ย เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายของเจ้ามูลนางกรุงศรีอยุธยาเดิม หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำริพระราชภารกิจ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 รวมถึงทำสงครามชนะอังวะถึง 8 ครั้ง [40]

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง

แก้

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงส่งทัพไปตีเมือง สามารถยึดเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตตะปือได้สำเร็จ บรรดาหัวหน้าชุมชนชาวกูยและชาวเขมรบนในหัวเมืองเขมรป่าดง (ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ซึ่งได้เคยสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์และในเมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองปะทายสมันต์หรือเมืองสุรินทร์ ในสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์เมื่อพ.ศ. 2320 นี้ บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี

หลังจากนั้นพระวอแห่งจำปาศักดิ์ ถูกทัพจากเวียงจันทน์สังหาร พระเจ้าตากสินจึงแต่งทัพ ปราบ จำปาศักดิ์ นครพนม และหนองคาย ตีเมืองพะโค เวียงคุก และพานพร้าว และทัพสยามจึงยกข้ามแม่น้ำโขงเข้าล้อมเมืองเมืองเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2322 โดยฝ่ายสยามนำโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์จึงสามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือนสิบ (28 กันยายน พ.ศ. 2322)

แต่ทว่าในปี 2322 กองทัพญวนเข้ายึดอุดังมีชัยสำเร็จ พ.ศ. 2324 ทรงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมืองแล้ว พอจะตีเข้าเมืองหลวงก็พอดีเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจำเป็นต้องยกทัพกลับ

อ้างอิง

แก้
  1. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 3-5
  2. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 506
  3. ศึกเจ้าพระฝาง เมื่อพระเจ้าตากสินปราบ “พวกสงฆ์อลัชชี” ที่เมืองสวางคบุรี ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559
  4. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 32.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตพระธานกรรมการมูลนิธิ"ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริรนทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, ห้องสมุดรัฐสภา. https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/522521
  8. 8.0 8.1 8.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  9. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 40.
  10. เทพ สุนทรศารทูล. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ตอน 8 ก๊กกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : ดวงแก้ว, 2546. 99 หน้า.
  11. https://www.silpa-mag.com/history/article_22953
  12. 12.0 12.1 12.2 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๓ พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
  14. 14.0 14.1 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. สำนักพิมพ์ บันทึกสยาม; กรุงเทพ, พ.ศ. 2564.
  15. พนรัตน์ วัดพระเชตุพน, สมเด็จพระ. (2459). พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธ แลคำแปล. [พจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์), พระยา, ผู้แปล]. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย. หน้า 32-33. [นายเชียร บุนนาค ผู้บุตร พิมพ์แจกในงานปลงศพท่านเลื่อม ต,จ. ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) ม.ส.ม, ท.จ.ว. ฯลฯ ปีมโรง อัฐศก พ.ศ. 2459].
  16. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. (ฉบับพิมพ์ซ้ำ). กรุงเทพฯ : ตั้งท่งฮวด, 2511. 884 หน้า. หน้า 622.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๓: พงษาวดารเมืองสงขลา ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์).
  18. 18.0 18.1 18.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕: พงศาวดารเมืองพัทลุง. พิมพ์แจกในงานปลงศพ พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์แลคุณหญิง ถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๖๒
  19. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 164.
  20. Francis R. Bradley. Forging Islamic Power and Place: The Legacy of Shaykh Daud bin 'Abd Allah al-Fatani in Mecca and Southeast Asia. University of Hawaii Press; พ.ศ. 2558.
  21. 21.0 21.1 21.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
  22. 22.0 22.1 ภาวรรณ เรืองศิลป์, ดร. Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perceptions of the Thai Kingdom, Ca. 1604-1765. BRILL, พ.ศ. 2550.
  23. 23.0 23.1 The Diplomatic Correspondence between The Kingdom of Siam and the Castle of Batavia during the 17th and 18th centuries. Jakarta; Arsip Nasional Republik Indonesia (ANRI), October 2018.
  24. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
  25. Rư̄angdēt ʻAnan (2550). Rātchaphongsāwadān Krung Kamphūchā (Phim khrang thī 2 ed.). Nonthaburī: Samnakphim Sī Panyā. ISBN 978-974-88254-0-3.
  26. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 174.
  27. ต้วน ลี เซิง. พลิกต้นตระกูลไทย: ประวัติศาสตร์ไทยในทัศนะของชาวจีน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2538. 253 หน้า. หน้า 141.
  28. จดหมายเหตุรายวันแห่งไดนัม (大南实录) เล่มที่ 32. "大南寔錄/大南正編列傳初集/卷32 - 維基文庫,自由的圖書館". zh.wikisource.org (ภาษาจีนตัวเต็ม).
  29. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕-๖๖) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี และจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512. 278 หน้า.
  30. กรมศิลปากร. (2565). ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 264Winai Phongsīphīan; Thailand, บ.ก. (2564). Khwāmsamphan Thai-Čhīn čhāk ʻēkkasān samai Rātchawong Yūan, Ming, Ching. Bangkok, Thailand: Krom Sinlapākō̜n. ISBN 978-616-283-585-8. OCLC 1292789479.
  31. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. "พระศรีสรรเพชญ์ สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์," ใน พระศรีสรรเพชญ์ : ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 183 หน้า. หน้า 6 Rungrōt Phiromʻanukūn (2560). Phra Sī Sanphet mai thūk fai lō̜k thō̜ng tō̜n krung tǣk (Phim khrang rǣk ed.). Krung Thēp: Samnakphim Matichon. ISBN 978-974-02-1543-1.
  32. "จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึง มองซิเออร์ดารากองเมืองเขมรวันที่ ๓ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑) ว่าด้วยเจ้าศรีสังข์หนีไปอยู่เขมร," ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙. พระนคร : ศรีหงส์, 2469. "ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ - วิกิซอร์ซ". th.wikisource.org.
  33. คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 470 หน้า. หน้า 399 Baker, Christopher John; Pasuk Phongpaichit (2564). Prawattisāt ʻAyutthayā hā satawat sū lōk mai (Phim khrang thī 3 ed.). Krung Thēp: Matichon. ISBN 978-974-02-1721-3.
  34. บริหารเทพธานี, พระ. ประวัติชาติไทย: ความเป็นมาของชาติไทยตั้งแต่ยุคดึกดําบรรพ์ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ศิลปบรรณาคาร, 2517. หน้ 324–332.
  35. 35.0 35.1 "พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)", วิกิพีเดีย, 2019-01-02, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
  36. 36.0 36.1 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล)
  37. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
  38. Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  39. ปรามินทร์ เครือทอง. (2565, 22 ตุลาคม). "ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา," ใน ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2565. https://www.silpa-mag.com/history/article_41081
  40. "การสงครามสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี", วิกิพีเดีย, 2024-01-25, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้