วิกิพีเดีย:เขียนงานอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

วิกิพีเดีย:เขียนงานอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หน้านี้อธิบายหลักการคร่าวๆ ในการเขียนงานในวิกิพีเดีย สำหรับบทความหลัก ดูเพิ่มเติมที่ วิกิพีเดีย:นโยบาย และ วิกิพีเดีย:ลิขสิทธิ์

สำหรับข้อมูลโดยละเอียดดูได้ที่ โจรกรรมทางวรรณกรรม

ทำไมต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

สาเหตุที่ไม่ควรคัดลอกบทความจากที่อื่น

  1. เคารพ วิกิพีเดียให้ความสำคัญในการเคารพผลงาน และเจ้าของงาน
  2. ลิขสิทธิ์ของผู้เขียนเดิม การคัดลอกงานคนอื่นมาใช้ เหมือนกับการขโมยผลงานคนอื่นมาใช้โดยที่เราไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้เขียนเดิม แทนที่เราจะคัดลอกงานคนอื่นมา เรานำบทความนั้นมาเขียนใหม่ ในคำพูดของเรา ใช้ความสามารถในการเขียนของเรา สรุปเป็นคำพูดใหม่ และอ้างอิงถึงงานเดิม ในส่วนของข้อเท็จจริง
  3. ลิขสิทธิ์ของวิกิพีเดีย ตามนโยบาย ไม่สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งบทความที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะทำให้วิกิพีเดียมีบทความเพิ่มมากขึ้น แต่ทำให้คุณภาพวิกิพีเดียลดลง ซึ่งบทความที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าตรวจพบจะถูกลบทันที
  4. ชื่อเสียง ทั้งชื่อเสียงของวิกิพีเดียเอง และชื่อเสียงของผู้เขียน คงไม่มีใครอยากได้ชื่อว่า ลอกงานคนอื่น
  5. ความน่าเชื่อถือ บทความในเว็บไซต์หลายๆ เว็บไซต์ที่มีการคัดลอกกันต่อๆ กันมา มักจะขาดแหล่งอ้างอิง ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในบทความลดลงไป แทนที่เราจะคัดลอกต่อมา เรามาค้นคว้าหาข้อมูลจริงจะทำให้ความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น
  6. คงไม่มีใครอยากลอกงานคนอื่น หรือถูกคนอื่นลอกงาน แทนที่จะมาลอกงาน เรามาเผยแพร่อย่างเสรีดีกว่า ลองอ่านที่สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และนโยบายด้านลิขสิทธิ์เพิ่มเติม

วิธีเขียนงาน ไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์

เรียบเรียงประโยค และคำพูดใหม่

โดยการนำประโยคที่มีการเขียนไว้แล้ว มาจัดเรียงรูปแบบใหม่ เปลี่ยนคำศัพท์ ตำแหน่งคำ และหน้าที่คำ ซึ่งทำให้ประโยคที่ออกมาใหม่ มีความสวยงามมากขึ้นและยังไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของเดิม แต่คงเดิมถึงข้อเท็จจริงในบทความเดิม ที่สำคัญอย่าลืมที่จะใส่แหล่งอ้างอิง เพื่อเป็นการเคารพผลงานของผู้เขียนเดิม และให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบ และอ้างอิงความถูกต้องได้

ตัวอย่าง

ประวัติ โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ข้อความต่อไปนี้ใช้แสดงแนวทางเพื่อการปรับปรุงเนื้อหาเท่านั้น ข้อความต้นฉบับยังคงเป็นลิขสิทธิ์จากทางเจ้าของ

ต้นฉบับ ในปี พ.ศ. 2474 โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยเริ่มก่อสร้าง โดยคำร้องขอของมิซซังคาทอลิกไทย ผ่านทางคณะชีอุร์สุลิน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 โดยมีการสำรวจพื้นที่โดยเจ้าคณะโรงเรียนมาแตร์เดอี ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือเดียวกัน โรงเรียนเรยีนาเริ่มก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2472 และสร้างเสร็จต้นปี พ.ศ. 2475 โดยลักษณะอาคารในช่วงแรก มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล ยาว 86 เมตร กว้าง 9 เมตร โดยมี ห้องนอนนักเรียนประจำ ห้องน้ำ ห้องอาหาร และ ห้องประชุม
นำมาเรียบเรียงใหม่
 
ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยอธิการเจ้าคณะโรงเรียนมาแตร์เดอีเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ตามความต้องการของมิซซังคาทอลิกไทย ภายใต้คำร้องขอผ่านทางคณะชีอุร์สุลินที่กรุงโรม จากปี พ.ศ. 2472 โรงเรียนเรยีนา ได้ก่อสร้าง ตึกรูปตัวแอล ยาว 86 เมตร กว้าง 9 เมตร ประกอบไปด้วย ห้องนอนนักเรียนประจำ ห้องอาหาร ห้องประชุม และห้องน้ำ โดยแล้วเสร็จต้นปี พ.ศ. 2475
 
ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่
ในปี 2474 โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยได้เริ่มก่อสร้าง โดยคำร้องขอของมิซซังคาทอลิกประเทศไทย ผ่านทางคณะชีอุร์สุลิน ณ เมืองโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 โดยมีการสำรวจพื้นที่โดยเจ้าคณะโรงเรียนมาแตร์เดอี ในกรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือเดียวกัน โรงเรียนเรยีนาเริ่มก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2472 และสร้างเสร็จต้นปี พ.ศ. 2475 โดยลักษณะอาคารในช่วงแรก มีลักษณะเป็นรูปตัว L ยาว 86 เมตร กว้าง 9 เมตร โดยมี ห้องนอนนักเรียนประจำ ห้องน้ำ ห้องอาหาร ห้องประชุม

แปลจากวิกิพีเดียภาษาอื่น

การแปลบทความจากภาษาอื่นโดยตรง อาจมีปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับการคัดลอกบทความมา หากต้องการนำเนื้อหาจากภาษาอื่นมาลงในวิกิพีเดีย ควรนำมาเรียบเรียง และมีการอ้างอิงเสมอ แต่การแปลจากวิกิพีเดียของภาษาอื่น ไม่มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะบทความใดๆ ในวิกิพีเดียนั้นถือว่าเป็นลิขสิทธิ์เสรีภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และอาจจะเป็นสัญญาควบไว้กับสัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนูด้วย อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มแหล่งอ้างอิงที่เป็นภาษาไทยไว้ด้วย เพื่อเพิ่มคุณภาพของบทความ และสามารถอ้างอิงต่อได้ทุกคน

คำถามที่ถามบ่อย

  • ถาม: บทความอย่างชีวประวัติที่มีคนเขียนไว้แล้ว ทำไมเราไม่ลอกมาใช้เลย จะไม่สะดวกและง่ายกว่าหรือ วิกิพีเดียจะได้มีบทความมากๆ
    • ตอบ: มีบทความมากเป็นเรื่องดี แต่การลอกงานเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในวิกิพีเดีย เพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว เนื้อหาที่ลอกมาอาจจะมีลักษณะไม่เป็นสารานุกรม (ดู เงื่อนไขในการนับว่าเป็นสารานุกรม) ลองเรียบเรียงเป็นคำพูดของคุณเอง จะทำให้บทความกระชับ และมีลักษณะเป็นสารานุกรมมากกว่า
  • ถาม: แล้วเรื่องรูปละ ถ้าไม่คัดลอกรูปมาใช้ ก็จะไม่มีรูปเลย พวกรูปจากภาพยนตร์ หรือจากหนังสือต่างๆ